โนรา หรือมโนราห์ มรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ศิลปะการแสดงที่มีมานานกว่าร้อยปี โดดเด่นด้วยท่วงท่าที่อ่อนช้อยแต่แฝงไปด้วยความแข็งแกร่ง กว่าที่จะเป็นโนราได้นั้นต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อให้การแสดงออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด คนต้นแบบเมืองนครที่ทางนครศรีสเตชั่นอยากแนะนำให้ทุกท่านรู้จัก เป็นผู้ก่อตั้งคณะโนราเยาวชนในนครศรีธรรมราช คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับรางวัลการันตีความสามารถ มากมาย ศิลปินรางวัลพระราชทาน “เยาวชนแห่งชาติ” ประจำปี 2562 คุณ จิรเดช เพ็งรัตน์ กับบทบาทในการสืบสานมโนราห์ ดำรงคุณค่าศิลปเมืองนคร
พรสวรรค์ด้านการขับร้อง และความชื่นชอบที่มีต่อศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้
ช่วงเวลาในวัยเด็ก บ่อยครั้งที่คุณแม่มักจะร้องเพลงลูกทุ่งให้ฟัง ทำให้คุณจิรเดชค่อยๆ ซึมซับและชื่นชอบในการร้องเพลง เมื่อแถวบ้านมีการจัดงานรื่นเริงต่างๆ มักจะได้รับโอกาสให้ร้องเพลงเป็นประจำ จนทำให้กลายเป็นคนที่กล้าแสดงออกตั้งแต่เด็ก เมื่อคุณตาเห็นพรสวรรค์ทางด้านนี้ก็อยากที่จะพาคุณจิรเดชไปฝากตัวกับคณะมโนราห์ที่รู้จักกัน ทั้งที่ในตอนนั้นคุณจิรเดชก็ไม่รู้ว่ามโนราห์คืออะไร
จนวันหนึ่งมีโอกาสได้ดูเทปการแสดงของคณะมโนราห์เพ็ญศรี ยอดระบำ ก็รู้สึกชื่นชอบการแสดงนั้นทันที จนต้องขอยืมเทปกลับมาดูที่บ้านซ้ำๆ หลายรอบ สามารถจดจำเนื้อร้องได้ขึ้นใจทั้งๆ ที่ตัวเองก็พูดภาษาใต้ไม่ได้ ช่วงที่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ขณะที่คุณจิรเดชกำลังร้องเพลงโนราห์ในคาบพักกลางวันของโรงเรียนอยู่นั้น
คุณครูที่ได้ยินจึงเดินตามหาเจ้าของเสียง และชักชวนให้คุณจิรเดชเข้าชมรมนาฏศิลป์ เมื่อทางโรงเรียนได้รับเชิญให้ไปร่วมงานที่จังหวัดกาญจนบุรี ชมรมนาฏศิลป์จึงทำการคัดตัวนักเรียนเพื่อเข้าร่วมการแสดง ในครั้งนั้นคุณจิรเดชไม่ได้รับการคัดเลือกเนื่องจากยังรำมโนราห์ไม่เป็น จึงได้เริ่มแกะท่ารำมโนราห์จากเทปการแสดงแล้วฝึกฝนด้วยตนเอง พร้อมทั้งฝึกรำกับทางชมรมนาฏศิลป์ที่ได้เชิญวิทยากรมาเป็นผู้ฝึกสอน และมีโอกาสได้ขึ้นเวทีร่วมกับเพื่อนๆ ในชมรม
ทักษะการร้องอันเป็นพรสวรรค์ของคุณจิรเดช จึงได้รับการชักชวนจากคณะมโนราห์ให้ไปทำการแสดงตามงานต่างๆ นอกเหนือจากการแสดงของทางโรงเรียน ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสพูดคุยทักทายกับโนราห์แม่เพ็ญศรี ศิลปินที่คุณจิรเดชชื่นชอบเป็นการส่วนตัวและยังเป็นญาติของตัวเองอีกด้วย
จนมาถึงโอกาสครั้งสำคัญที่สร้างความตื่นเต้นให้คุณจิรเดชอย่างมาก เมื่อรู้ว่ากำลังจะได้ทำการแสดงบนเวลาเดียวกันกับโนราห์แม่เพ็ญศรี บทกลอนที่ใช้ขับร้องในวันนั้นแน่นอนว่าเป็นของศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ
หลังจากนั้นไม่นานคุณจิรเดชก็ได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมกับทางคณะมโนราห์เพ็ญศรี ซึ่งงานแรกที่ได้ร่วมแสดงจัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา การที่ได้ดูการแสดงของแต่ละคณะบนเวทีทำให้คุณจิรเดชค่อยๆ ซึมซับบทกลอนทีละน้อย ความพิเศษของบทกลอนมโนราห์อยู่ตรงที่ภาษาถิ่นที่ใช้จะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
คุณจิรเดชเล่าว่า ช่วงแรกที่เข้าสู่วงการมโนราห์ ตนเองไม่ได้รับการยอมรำในเรื่องของการร่ายรำสักเท่าไหร่ คนส่วนใหญ่มักจะโฟกัสไปที่เสียงร้องมากกว่า เรียกได้ว่าในตอนนั้นยังไม่มีต้นแบบในการรำ จนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนต้น มีโอกาสได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์กับ “แม่สำเนา” ครูคนแรกที่ฝึกสอนการร่ายรำให้กับคุณจิรเดช ซึ่งการร่ายรำมโนราห์ไม่ใช่แค่ท่วงท่าที่ต้องตรงตามจังหวะเท่านั้น
แต่ต้องรำแบบมีจริตจะก้าน เพื่อให้แสดงออกมาได้อย่างสวยงาม จากนั้นได้แสดงคู่กับแม่สำเนาตามงานต่างๆ คุณจิรเดชให้ความเห็นว่าโนราห์พัทลุงและสงขลามีท่ารำที่งดงามอ่อนช้อย ส่วนโนราห์นครศรีธรรมราชจะเด่นทางด้านบทกลอน จากนั้นจึงเริ่มฝึกฝนการร่ายรำอย่างจริงจัง
สืบสานมโนราห์ ดำรงคุณค่าศิลปเมืองนคร
เมื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาสักระยะ คุณจิรเดชตัดสินใจตั้งคณะโนราเยาวชนในนครศรีธรรมราช (คณะโนรามอส ยอดระบำ) ซึ่งนักแสดง นักดนตรี เป็นเยาวชนทั้งหมด นอกจากการแสดงตามงานต่างๆ ที่ได้รับเชิญแล้ว คุณจิรเดชได้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากในการเผยแพร่วัฒนธรรมการแสดงมโนราห์ อย่างการลงคลิปใน TiKTok และ Facebook มีคนเข้ามาชมและคอมเม้นต์กันไม่น้อย
การชมมโนราห์ให้สนุกนั้น คุณจิรเดชแนะนำว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการรำมโนราห์ ท่วงท่าการร่ายรำจะผสมผสานระหว่างความอ่อนช้อยและความแข็งแรงทะมัดทะแมง ถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะการแสดงชนิดนี้ เครื่องดนตรีโนราห์ที่ให้จังหวะหนักแน่น โดยเฉพาะเสียงปี่ที่สามารถสะกดผู้ฟังได้อยู่หมัด ใช่ว่าคนใต้ทุกคนจะฟังมโนราห์กันรู้เรื่อง แต่อยากให้เปิดใจรับชมด้วยความเพลิดเพลิน ไม่ต่างกับการฟังเพลงของศิลปินต่างประเทศทั้งที่บางทีเราเองก็ไม่เข้าใจความหมายของเนื้อร้องด้วยซ้ำ แต่กลับชื่นชอบในท่วงทำนองและการแสดงได้แม้รับชมแค่ครั้งแรกเท่านั้น
คุณจิรเดชให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้คนดูมโนราห์กันน้อยลง จำนวนนักแสดงมีสัดส่วนมากกว่าผู้ชมเสียอีก จึงอยากให้ศิลปะการแสดงของภาคใต้อย่างมโนราห์เป็นที่รู้จักในภาคอื่นๆ เช่นกัน ปัจจุบันการแสดงมโนราห์มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีการสอดแทรกมุกตลกผ่านทางบทกลอน เพื่อเพิ่มความสนุกสนานให้แก่ผู้ชม ในแง่ของการแสดงโนราห์ในยุคนี้ผู้ชมสามารถเข้าใจได้ง่ายกว่าในอดีต ในส่วนของพิธีกรรมยังคงแบบฉบับดั้งเดิมไว้อยู่
ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรที่สังคมมีการรับวัฒนธรรมต่างชาติ ในขณะที่การแสดงพื้นบ้านบางอย่างได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ จำนวนผู้สืบทอดก็ลดลงเช่นกัน คงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจและน่าเสียดายอย่างมาก หากปล่อยให้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านอย่างมโนราห์สูญหายไปจากวัฒนธรรมไทย เราทุกคนควรช่วยกันส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนี้ไว้ให้คงอยู่สืบทอดต่อไป
ชมรายการ Live สด “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่
*****************************************
ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ