เมื่อความต้องการบริโภคอาหารทะเลสูงขึ้น ส่งผลให้ทรัพยากรทางทะเลนับวันจะยิ่งลดลงและถูกทำลายไปเรื่อยๆ การฟื้นฟูทรัพยากรทางธรรมชาติที่ต้องอาศัยระยะเวลานาน จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องจัดการให้เร็วที่สุด เช่นเดียวกับที่บุคคลต้นแบบเมืองนครท่านนี้ได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่า จากบทบาทการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูชายฝั่ง จนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้าและประมงชายฝั่งบ้านในถุ้ง เพื่อให้ลูกหลานได้มีทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์บริโภคกันต่อไป คุณเจริญ โต๊ะอิแต (บังมุ) ผู้นำชุมชนอนุรักษ์ พิทักษ์สัตว์ทะเล
ผู้อนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาประมงพื้นบ้าน
ครอบครัวของคุณเจริญอพยพมาจากรัฐตรังกานู หนึ่งในรัฐของประเทศมาเลเซีย ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดนครศรีธรรมราช คุณเจริญเกิดที่อำเภอท่าศาลาเติบโตมากับวิถีชาวประมงพื้นบ้าน เมื่ออายุประมาณ 10-11 ปี มีโอกาสได้ออกทะเล จากนั้นจึงชื่นชอบการออกทะเล อยากรู้ว่าทะเลที่กว้างใหญ่นั้นมีอะไรบ้าง คุณเจริญเล่าว่า การที่จะออกทะเลได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องทำความคุ้นชินกับทะเลก่อน อย่างน้อยก็ต้องไม่เมาคลื่น จากนั้นก็เรียนรู้เรื่องกระแสน้ำ กระแสลม สภาพอากาศ อย่างศาสตร์ในการฟังเสียงปลา ที่เรียกว่า “ดูหลำ” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ในการตรวจจับหาฝูงปลา ต้องอาศัยความชำนาญและการฝึกฝน อย่างทิศทางลมของนครศรีธรรมราชมี 8 ทิศ ธรรมชาติของลมจะเปลี่ยนทิศทางทุก 3 เดือน
คนสมัยก่อนจะออกเรือโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ อาศัยแรงลมในการพาเรือเข้าและออกจากฝั่ง ทรัพยากรสัตว์น้ำมีเยอะมาก สามารถจับปูได้บริเวณหน้าหาด ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำประมงเพื่อยังชีพ นำสัตว์น้ำที่จับได้ไปแลกกับข้าวสารหรือสิ่งของอื่นๆ จากประสบการณ์ที่สะสมมาเรื่อยๆ และความชื่นชอบเกี่ยวกับทะเล ทำให้คุณเจริญไม่อยากที่จะไปทำอาชีพอื่น เมื่อการทำประมงเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องใช้เครื่องมือเพื่อให้จับสัตว์น้ำได้มากขึ้น หากขาดการควบคุมและระบบการจัดการที่ดี จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในท้องทะเลและทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว
บทบาทการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูชายฝั่ง และการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้าและประมงชายฝั่งบ้านในถุ้ง
คุณเจริญเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนงานการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เพราะเห็นว่ามีการลักลอบทำประมงอย่างผิดกฏหมายในเขตพื้นที่ ต้องการเพียงแค่หอยลาย แต่กลับใช้เครื่องมือที่กอบโกยเอาทรัพยากรอื่นๆ ทางทะเลไปด้วย การใช้ตะแกรงเหล็กกวาดเอาทุกอย่างออกไป ทำให้หน้าโคลนถูกขุดขึ้นมา เกิดแก๊สไข่เน่าบนผิวน้ำ สัตว์น้ำบริเวณนั้นจึงไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ต้องอพยพไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่ ชาวบ้านแถวนั้นจึงไม่สามารถทำประมงได้ ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนานหลายปี จึงอยากให้ชาวบ้านทุกคนตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและจะส่งผลอย่างไรในอนาคตหากไม่ร่วมมือกัน น่าเศร้าที่เสียงของชาวบ้านไม่ดังพอที่จะเรียกความสนใจจากหน่วยงานรัฐให้เข้ามาช่วยเหลือ ชาวประมงท้องถิ่นจึงประสบกับปัญหาเรื่อยมา
อุดมการณ์ที่อยากจะปกป้องท้องทะเลของคุณเจริญ จึงทำให้หาวิธีการเพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ จนมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาแนะนำว่าให้ไปเรียนรู้งานจากพื้นที่อื่น คุณเจริญและชาวบ้านคนอื่นๆ ได้เดินทางไปเรียนรู้เกี่ยวกับงานอนุรักษ์ฟื้นฟูที่จังหวัดสตูล ซึ่งได้มีการนำไม้ไผ่ไปปักในทะเล หลังจากนั้นก็จะมีสัตว์น้ำเข้ามาอาศัย ทำให้ชาวบ้านสามารถหากินบริเวณนั้นได้ จึงนำวิธีนี้มาปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง เป็นกิจกรรมทำบ้านปลาที่ทำในช่วงต้นเดือนมีนาคม เมื่อจำนวนสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ผู้คนที่เคยไปทำงานที่อื่นก็เริ่มทยอยกลับสู่ชุมชน คุณเจริญเล่าว่า เราต้องปกป้องแหล่งอาหารของบ้านเรา ทำแนวเขตอนุรักษ์ เริ่มลงมือทำตั้งแต่ปี 2545 เรื่อยมา ซึ่งชาวบ้านในกลุ่มอนุรักษ์บางคนมีหนี้นอกระบบ จึงเกิดความคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้ปลดภาระหนี้สิน สามารถบริหารจัดการเงินได้ง่ายขึ้น ช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบกับปัญหาทางการเงิน ทางกลุ่มจึงจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา โดยฝากเงินเดือนละ 50 บาท ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 200 คน มีเงินหมุนเวียนล้านกว่าบาท
คุณเจริญเล่าว่า ในช่วงปี 2535 – 2540 จำนวนปูม้าเยอะมาก สามารถจับได้ถึง 100 กิโลกรัมต่อวัน ราคาสูงสุดในตอนนั้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 16 บาท จนมาถึงปี 2548 จำนวนปูม้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปในอนาคตอาจไม่มีปูม้าให้กิน คุณเจริญจึงตัดสินใจหาข้อมูลและไปดูงานที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในช่วง 2-3 ปีแรกที่ทำกระชังปูลอยน้ำ แม้ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดไว้แต่คุณเจริญก็ไม่ย่อท้อ จากนั้นมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และหน่วยงานรัฐเข้ามาให้การช่วยเหลือในการทำธนาคารเลี้ยงปูมา ช่วงแรกค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร ต้องใช้อุปกรณ์ค่อนข้างเยอะ ต้องใช้เวลากว่าที่ชาวบ้านจะเข้าใจแนวคิดนี้ เมื่อธนาคารปูม้าเริ่มไปได้ดี ทำให้คุณเจริญมีกำลังใจในการที่จะขับเคลื่อนงานมากขึ้น ปัจจุบันมีเครือข่ายธนาคารปูม้า 22 จังหวัด การทำธนาคารปูม้า ทำให้มีจำนวนปูม้าเพิ่มขึ้น เมื่อชาวประมงจับปูได้ก็สร้างรายได้ให้กับครอบครัว
ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้าและประมงชายฝั่งบ้านในถุ้ง เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการให้ความรู้เชิงวิชาการ และประสบการณ์ของชาวบ้านที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำประมง อย่างโรงเรียนชาวประมงในหมู่บ้าน เกิดจากแนวคิดที่อยากให้เด็กๆ รู้จักสัตว์น้ำ เรียนรู้เรื่องลม การใช้เครื่องมือต่างๆซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่มีสอนในห้องเรียน ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปเรียนรู้วิถีชาวประมง ท่องเที่ยวเที่ยวเชิงนิเวศน์ได้เช่นกัน โดยที่ทางศูนย์การเรียนรู้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์แหล่งอาหารมาเป็นอันดับแรก ในอนาคตมีโครงการเปิดร้านอาหารลุยเล เพื่อให้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองรู้จักตัวตนของชุมชนมากขึ้น อยากให้ผู้บริโภคทานอาหารทะเลอย่างปลอดภัยและมีความสุข
ชาวประมงพื้นบ้านเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ทะเล แต่ทรัพยากรทางทะเลเป็นของเราทุกคน ดังนั้นทุกคนควรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในฐานะผู้บริโภคสามารถมีส่วนช่วยในการปกป้องทะเลด้วยการไม่สนับสนุนสัตว์น้ำวัยอ่อน งดการกินปูไข่นอกกระดอง เป็นการส่งสารจากคนกินถึงผู้ขายกลับไปสู่ชาวประมง และที่สำคัญควรบริโภคแต่พอดี เพื่อรักษาสมดุลในระบบนิเวศ และส่งต่อทรัพยากรทางทะเลไปสู่คนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน
ชมรายการ Live สด “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่
*****************************************
ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ