เรื่องเล่าชาวเชียรใหญ่ ว่าด้วย “กาบดำ” พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

เรื่องเล่าชาวเชียรใหญ่
ว่าด้วย “กาบดำ” พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

โดย ปรมัตถ์ แบบไหน

 

ข้าวกาบดำ

ข้าวกาบดำเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่สามารถพบได้แพร่หลายแถบอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียงก็อาจจะพบได้ แต่ด้วยผมเป็นคนอำเภอเชียรใหญ่จึงรับรู้และสัมผัสกับข้าวพันธุ์นี้ตั้งแต่เด็ก

.

เชียรใหญ่

เรื่องราวความทรงจำของผมกับข้าวกาบดำคงจะเริ่มที่เห็นยายปลูกในตอนเด็ก ๆ และผู้คนละแวกบ้านก็ปลูกข้าวพันธุ์นี้ไว้กินกัน แต่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจแบบเงินตราที่เน้นกำไรสูงสุดในระยะเวลาที่เร็วที่สุด ชาวนาแถวบ้านเลยต้องหันไปปลูกข้าว กข.15 , หอมปทุม ซึ่งเป็นข้าวไวแสงที่ใช้ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวเพียงแค่ 100 – 120 วัน ที่กรมส่งเสริมวิชาการเกษตรสนับสนุน แทนการปลูกข้าวกาบดำ ซึ่งข้าวพันธุ์นี้เป็นข้าวนาปีที่ใช้เวลาในการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวนานเกือบค่อนปี โดยอาศัยฤดูกาลเป็นตัวกำหนดการเพาะปลูก

.

จากประสบการณ์ที่เคยเห็นยายปลูกข้าวพันธุ์นี้ ยายจะเริ่มหวานข่าวช่วงเข้าพรรษา ยายจะบอกว่า “หว่านข้าวรับหัวษา” ความหมายคือหว่านข้าว ช่วงต้นของการเข้าพรรษา ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงที่จะมีฝนโปรยพอให้หน้าดินชุ่มชื้นหลังจากที่ฝนทิ้งช่วงมาหลายเดือน แต่จะเป็นฝนจากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมาจากทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ชาวบ้านละแวกนี้จะเรียกฝนที่ตกในช่วงนี้ว่า “ฝนพลัด” ผมสันนิฐานที่มาของชื่อฝนนี้ว่า เพราะเป็นฝนที่ตกเพียงเล็กน้อย และเป็นฝนที่หลงเหลือจากการตกในฝั่งภาคใต้ตะวันตกที่มีเทือกเขานครศรีธรรมราช เป็นตัวแบ่ง หรือเขตเงาฝนของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้นั้นแหละ

.

ฝนพลัด ฝนออก

เมื่อข้าวที่หวานไว้ได้ความชื้นจาก “ฝนพลัด” ก็เติบโตขึ้น แต่ในช่วง 1-2 เดือนแรก ข้าวจะสูงประมาณหัวเข่า ความสูงระดับนี้ถ้าเป็นข้าวไวแสงถือว่าสูงมากแล้วนะ แต่สำหรับข้าวกาบดำถือว่ายังเตี้ยมาก ๆ เพราะ หลังจากฝนพลัดหมดไป ทิศทางลมของภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะเปลี่ยนไป โดยในช่วงเดือน 11 เดือน 12 ชาวบ้านจะเรียกฝนที่ตกช่วงนี้ว่า “ฝนออก” ความหมายคือฝนที่มาทางทิศตะวันออกเป็นฝนจากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนในช่วงนี้จะทำให้เกิดปริมาณน้ำที่มาก และท่วมได้แล้วแต่ปี

.

ถึงตอนนี้การที่ข้าวกาบดำจะทำตัวเองให้เตี้ยไม่ยอมสูงก็จะจมน้ำตายไป ข้าวกาบดำเลยยืดลำต้นสูงขึ้นสูงที่สุดอาจจะสูงถึง 150 ซม. ประมาณจากส่วนสูงของยายที่ต้นข้าวสูงถึงระดับศีรษะของท่าน ยายก็สูงประมาณ 150 – 160 ซม. ครับ

.

แกะ รวง เลียง ลอม

กว่าจะได้เก็บข้าวก็โน้นเดือน 4 กว่าจะเสร็จก็เดือน 5

เพราะยายเก็บกับ “แกะ”

เก็บที่ละ “รวง”

หลายๆรวงมัดรวมเป็น “เลียง”

หลายๆเลียงกองรวมกันเป็น “ลอม”

.

สุดท้ายนี้จะบอกว่า

ผมยุให้แม่ปลูกข้าวกาบดำ

แม่ใช้วิธีเพาะข้าวในที่ดอนก่อน

แล้วเอาไปดำ

แม่ดำนาเสร็จไปช่วงก่อนออกพรรษา

ตอนนี้ข้าวได้น้ำจาก “ฝนออก” คงกำลังเติบและโต

ปัญหาที่แม่บ่นให้ฟังคือ….

“มึงยอนให้กูปลูกข้าวกาบดำเวลาเก็บไม่รู้เก็บพรือเวทนาจัง”

___

ภาพปก
เพจ ไร่ ณ นคร – Na Nakhon Integrated Farming.

พระนามพระเจ้าแผ่นดินเมืองนคร บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์

พระนามพระเจ้าแผ่นดินเมืองนคร
บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์

นครศรีธรรมราช มีสถานะซึ่งพัฒนาการจากมหานครสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย สิ่งนี้นำมาสู่มรดกทางศิลปวัฒนธรรมจำนวนมหาศาล ต้องอาศัยการค้นคว้าเพื่อนำไปสู่การตีความหลักคิด วิเคราะห์รูปการณ์ และเชื่อมเหตุโยงผลกันด้วยทฤษฎีต่างๆ
.

ปาฏลีบุตร

สมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรวบรวมบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้ว นครศรีธรรมราชถูกยกให้เป็นเมืองประเทศราช มีนามเรียกขานในโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ปาฏลีบุตร” ช่วงปลายรัชสมัยทรงสถาปนาผู้ครองใหม่แทนที่เจ้านราสุริยวงศ์ที่สวรรคาลัย มีฐานะตามปรากฎในสำเนากฏเรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรีว่าให้เป็นผู้ “ผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสีมา” หรืออีกวรรคหนึ่งว่า “ผ่านแผ่นดินเมืองนครเป็นกษัตริย์ประเทศราช” ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “ขัติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช” กับทั้งในกฎดังกล่าว มีพระบรมราชโองการกำชับเรื่องการบริหารเมือง ธรรมนิยมเกี่ยวกับการอัญเชิญตราตั้ง และเครื่องประกอบพระอิสริยยศ เป็นต้น

.

หากจะลองแจกแจงพระนามในพระสุพรรณบัฏ จะได้ว่า

ขัตติยะ
แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน, พระเจ้าอยู่หัว, กษัตริย์, เป็นชาตินักรบ, เป็นวรรณะที่ ๑ ใน ๔ วรรณะ หรือเจ้านาย

ราชะ
แปลว่า พระราชา (รากศัพท์มาจากคำว่า รช แปลว่าพอใจ)

นิคม
แปลว่า ย่านการค้า, หนทางพ่อค้า, ตลาด, หมู่บ้าน, หมู่บ้านใหญ่ , ตำบล, บาง หรือ นคร

สมมติ
แปลว่า ต่างว่า, ถือเอาว่า หรือ ที่ยอมรับกันเองโดยปริยาย

มไหสวรรย์
แปลว่า อำนาจใหญ่, สมบัติใหญ่ หรือ ความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

พระเจ้า
หมายถึง คำนำหน้านามของผู้เป็นใหญ่

นครศรีธรรมราช
หมายถึง เมืองนครศรีธรรมราช

พระเจ้านครศรีธรรมราช

อาจแปลรวมความได้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวผู้ยังความพึงใจให้แก่แผ่นดิน อำนาจบารมี(ของพระองค์)เป็นที่ยอมรับ (ทรง)เป็นใหญ่ในเมืองนครศรีธรรมราช”

เมืองนครศรีธรรมราช พบจารึกพระนามของเจ้าประเทศราชพระองค์นี้ บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ เลขที่ จ.๑๕ ซึ่งเป็นอักษรขอมธนบุรี ภาษาไทย ดังที่ คุณก่องแก้ว วีระประจักษ์ และคุณเทิม มีเต็ม ได้ปริวรรตไว้ ความว่า

“ศุภมัศดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๒๑ พระวัสสา
วันศุกร์ เดือนแปด แรมสองค่ำ ปีจอ สัมฤทธิ์ศก
สมเด็จเจ้าพระสังฆราชาคณะลังกาชาด ว่าที่คณะลังการาม วัดประตูขาว
แลสมเด็จพระเจ้าขัตติยประเทศราชฐานพระนคร
แลเจ้ากรมฝ่ายในราชเทวะ
ได้ชักชวนสัปปุรุษ ทายก เรี่ยไร ได้ทองชั่งเศษ
หุ้มลงมาถึงบัวได้รอบหนึ่ง วงลวดอกไก่บัวรอบหนึ่งเป็นสองรอบพลอยด้วยแหวน”

จารึกระบุพระนามแตกต่างจากในพระสุพรรณบัฏ คือมีคำนำหน้าพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้า” ตามอย่างที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ได้ให้ความเห็นว่าเป็นคำทางการที่ใช้นำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์ในสมัยธนบุรี และคำต่อท้ายว่า “ประเทศราชฐานพระนคร” ซึ่งระบุฐานะของเมืองนครศรีธรรมราชว่าเป็น “ประเทศราช” กับทั้งตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ “ฐานพระนคร”

ซึ่งหากเป็นไปตามทฤษฎีของอาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ที่ว่าพระนามนั้นมักปรากฏ ๓ ส่วน คือส่วนที่เป็นพระนามเดิม สร้อยพระนาม และ พระนามแผ่นดิน ในที่นี้ ตรวจดูอย่างง่ายอาจได้ว่า สมเด็จพระเจ้าขัตติยราชนิคม เป็นพระนามเดิม สมมติมไหศวรรย์ เป็นสร้อยพระนาม และ พระเจ้านครศรีธรรมราช (ประเทศราชฐานพระนคร) เป็นพระนามแผ่นดิน

ส่วนของพระนามเดิมนี้ ปรากฏเหมือนกันทั้งในพระสุพรรณบัฏกับจารึก คือคำว่า “ขัตติยะ” แต่ด้วยคำแปลที่มีความหมายว่าพระเจ้าแผ่นดิน กับทั้งหลักฐานว่าทรงมีพระนามว่า “หนู” แล้ว ในชั้นนี้จึงสันนิษฐานไว้พลางก่อนว่า พระนามที่ปรากฏทั้งสองแห่งนี้ เป็นสมัญญานามที่ล้วนไม่ระบุพระนามเดิม

___

ภาพจากปก :
ส่วนหนึ่งของภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติหมายเลข na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๔๕