จุดเริ่มต้นจากคนตัวเล็กที่ชื่นชอบการทำกิจกรรมตั้งแต่วัยเด็ก ผสมผสานวิทยาการความรู้อันหลากหลายของคนในชุมชน บวกกับทักษะด้านภาษาของตนเอง เชื่อมโยงการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนผ่านประเพณีวัฒนธรรม จนเกิดเป็นหลายโครงการที่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในชุมชน ทางนครศรีสเตชั่นมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับคนต้นแบบเมืองนคร ผู้ที่อยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังโครงการชุมชนท่องเที่ยวบ้านบางดี คุณแสนภูมิ กล้าอยู่ ผู้นำชุมชนยุคใหม่ พัฒนาความร่วมมือสร้างรายได้ชุมชน
บทบาทของนักคิด นักกิจกรรม สานต่องานที่ทำตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน
ช่วงชีวิตในวัยเด็กของคุณแสนภูมิ เรียกได้ว่าเป็นกิจกรรมตัวยง ไม่ว่าจะเป็นนักกลอนประจำโรงเรียนที่เข้าร่วมการประกวดต่างๆ คณะกรรมการนักเรียน กิจกรรมสภาเด็ก จนเมื่อเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ยังคงทำงานในรูปแบบเดิมอยู่ มีโอกาสได้เป็นผู้นำนักศึกษา ทำกิจกรรมเกี่ยวกับค่ายอาสา ภาคีเครือข่ายที่สร้างสัมพันธภาพกับทางชุมชน รวมถึงงานของสภาเด็กและเยาวชนตำบลเสาเภาที่ทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี เด็กๆ ต่างเรียกขานคุณแสนภูมิว่า “ป้าแสน” ซึ่งโครงการแต้มสีแต้มใจน้อง เป็นกิจกรรมแรกของคุณแสนภูมิที่ทำร่วมกับทางสงขลาฟอรั่ม ในตอนนั้นถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับชุมชน ซึ่งได้รับความสนใจและความร่วมมือจากเด็กๆ และผู้ปกครองเป็นอย่างดี
ในช่วงชั้นปีที่ 3 ขณะกำลังศึกษาอยู่ระดับปริญญาตรี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาต้องฝึกงาน คุณแสนภูมิเลือกฝึกงานที่โรงเรียนที่ตัวเองเคยเป็นนักเรียนมาก่อน ฝึกสอนนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 – 6 และดูแลในส่วนของคณะกรรมการนักเรียน ช่วยไกด์ไลน์กิจกรรมต่างๆ อย่างกิจกรรม Zero Project เริ่มจากการทาสีชั้นวางหนังสือของห้องสมุดโรงเรียน เปลี่ยนโฉมห้องสมุดให้น่าเข้ามากขึ้น กิจกรรมสภาเด็กที่ทำให้นักเรียนเข้าใจ และเข้าถึงชุมชนที่ตัวเองอยู่อาศัยมากขึ้น เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวัด โรงเรียน และชุมชน วาดกำแพงวัดผ่านการทำกิจกรรมและใช้สื่อการเรียนรู้ต่างๆ เช่น กิจกรรมเขียนฝันวรรณศิลป์ ที่คุณแสนภูมิใช้ความถนัดส่วนตัวอย่างการเขียนกลอนมาฝึกสอนนักเรียน กิจกรรมวาดฝันวรรณทัศน์ สร้างสรรค์ผลงานศิลปะผ่านกำแพงวัดและกิจกรรมคหกรรมนำอาชีพ การทำผ้ามัดย้อมที่สกัดสีจากต้นปอทะเล การทำเรือพนมพระ โดยแบ่งหน้าที่ให้เด็กๆ แต่ละคนรับผิดชอบ จากนั้นเด็กๆ ต้องหาทีมงานและบริหารจัดการงานที่ได้รับมอบหมายด้วยตัวเอง เป็นการฝึกทักษะการเป็นผู้นำ ทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
ผู้นำชุมชนยุคใหม่ พัฒนาความร่วมมือสร้างรายได้ชุมชน
การที่จะชักชวนให้คนในชุมชนร่วมกันทำกิจกรรมอะไรสักอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย กิจกรรมการเข้าร่วมการประกวดขบวนแห่เรือพนมพระในนามวัดขรัวช่วย ตำบลเสาเภา ในครั้งแรกนั้นเรียกได้ว่าติดขัดแทบทุกเรื่อง ซึ่งคุณแสนภูมิมีความตั้งใจว่าจะเข้าไปขอความร่วมมือจากทุกกลุ่มชุมชน ทั้งช่างศิลป์ ช่างไม้ นางรำ ผู้สูงอายุ กลุ่มเด็กและเยาวชน เมื่อคนในชุมชนทยอยกันช่วยงาน บวกกับการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง ทำให้คนอื่นๆ ในชุมชนเกิดการตื่นตัวและสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนไม่น้อย ส่งผลให้เรือพระของวัดขรัวช่วยมีจำนวนคนในขบวนเยอะที่สุด และได้รับรางวัลขบวนแห่ยอดเยี่ยม คุณแสนภูมิมองว่า จุดเริ่มต้นจากพลังของเด็กๆ ส่งต่อไปยังผู้ปกครอง จนเกิดการชักชวนต่อไปยังคนรู้จัก เกิดเป็นภาคีเครือข่ายในชุมชนขึ้นมา ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา จากจุดเริ่มต้นของความร่วมมือกันของคนในชุมชน เมื่อถึงงานประเพณีชักพระ กลายเป็นว่าร้านค้าในชุมชนต่างพากันปิดร้านเพื่อไปร่วมงาน แทบทุกบ้านร่วมมือร่วมใจกัน
กลุ่มชุมชนท่องเที่ยวบ้านบางดี ตำบลเสาเภา อำเภอสิชล ที่คุณแสนภูมิเป็นประธานกลุ่ม จุดเริ่มต้นจากการที่มีโอกาสได้พูดคุยกับอาจารย์พัชรี สุเมโธกุล (หนึ่งในคนต้นแบบนครศรีสเตชั่น) บอกเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวของชุมชนในโครงการที่อาจารย์เข้าไปเป็นที่ปรึกษา การพูดคุยในตอนนั้นคุณแสนภูมิมีความรู้สึกว่าอยากที่จะทำชุมชนการท่องเที่ยวมาก แต่ยังไม่รู้ว่าจะประสานงานกับคนในชุมชนได้อย่างไร คุณแสนภูมิให้เหตุผลว่าถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับชุมชน เมื่อทางอาจารย์พัชรีเข้ามาให้ความช่วยเหลือ คุณแสนภูมิจึงระดมกลุ่มคนที่รู้จัก ดึงแต่ละเครือข่ายในชุมชนมาเข้าร่วม เพื่อวางแผนเส้นทางการเดินทาง พัฒนาอาหารท้องถิ่น กิจกรรมพายเรือคายัคชมอุโมงค์โกงกางบ้านบางดี กินอาหารท้องถิ่นประจำฤดูกาล ซึ่งบางดีมีทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม และเป็นแหล่งอาหารทะเลอันอุดมสมบูรณ์ อย่างฤดูฝนต้องกินข้าวมันมะพร้าวกับพร้าวคั่ว และน้ำพริกส้มขามอ่อน ฤดูร้อนก็ต้องกินข้าวมันทะเล เป็นต้น
เอกลักษณ์ของคนบ้านบางดีจะเป็นคนที่สนุกสนาน ชอบกิจกรรมร้องรำทำเพลง มีความใกล้ชิดกับศิลปวัฒนธรรมอย่างโนราห์และหนังตะลุง เป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมหลากหลาย เมื่อเปิดตัวโครงการชุมชนท่องเที่ยวบ้านบางดีให้คนในพื้นที่รู้จัก ก็ได้รับความร่วมมือจากหลายสื่อในการช่วยเหลือประชาสัมพันธ์โครงการ มีคณะทัวร์ให้ความสนใจ แต่โชคไม่ดีนักที่จังหวะนั้นทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่คุณแสนภูมิมองว่าอย่างน้อยก็ได้เริ่มลงมือทำ คนในชุมชนเริ่มตื่นตัวกันมากขึ้นกว่าเดิม ทุกฝ่ายมีเวลาได้เตรียมตัวกันมากขึ้น ทั้งการปรับปรุงภูมิทัศน์ เตรียมผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าในการจำหน่าย ได้รื้อฟื้นงานหัตถกรรมประจำท้องถิ่น เมื่อถึงเวลาที่สถานการณ์ดีขึ้น ทางชุมชนก็พร้อมที่จะเปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว
แน่นอนว่าแต่ละชุมชนมีต้นทุนทางทรัพยากรและวัฒนธรรมที่ต่างกัน อย่างโครงการชุมชนท่องเที่ยวซึ่งเป็นการนำเสนอเอกลักษณ์ของชุมชน จำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเก็บรายละเอียดให้ได้มากที่สุด แล้วนำมาปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตของคนในชุมชน การที่คนในชุมชนจะร่วมมือกันได้ต้องอาศัยความเชื่อใจกัน ความเคารพซึ่งกันและกัน ผู้นำจึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงคนทุกวัยเข้าหากัน แม้ต้องเจอกับอุปสรรค ความท้าทายต่างๆ แต่เมื่อก้าวแรกได้เริ่มต้นแล้ว ก้าวต่อไปย่อมเกิดขึ้นเสมอ แม้เป็นก้าวเล็กๆ ก็อาจนำไปสู่การเดินทางที่เราเองคาดไม่ถึงก็เป็นได้
ชมรายการ Live สด “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่
*****************************************
ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ