โนรามดลิ้น ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ยอดระบำ”

โนรามดลิ้น
ผู้รับพระราชทานนามสกุล “ยอดระบำ”

 

โนรา : มรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

ท่ามกลางการร่วมเฉลิมฉลองและชื่นชมยินดีในโอกาสที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ครั้งที่ 16 ณ สำนักงานใหญ่ยูเนสโก กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้ประกาศขึ้นทะเบียน“โนรา : Nora, dance drama in southern Thailand” เป็นรายการตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity)หลายส่วนฝ่ายต่างแสดงบทบาทเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับเหตุการณ์ได้อย่างน่าสนใจ

.

โนราประกอบขึ้นได้ด้วยหลายองค์ประกอบ ทั้งผู้แสดง เครื่องแต่งกาย นักดนตรี เครื่องดนตรี ผู้ชม เจ้าภาพ วาระและโอกาส รวมถึงองค์ความรู้ในองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง อาจกล่าวได้ว่า โนราเป็นผลรวมของสหวิทยากรที่ผ่านการสั่งสมภูมิปัญญาและมีพลวัตอย่างต่อเนื่องยาวนาน โนราจึงไม่อาจมองหรืออธิบายได้โดยสรุปเพียงแค่แง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง และเชื่อว่าหลังจากนี้ เมื่อยูเนสโก้ได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการให้โนราเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติแล้ว เราจะได้ศึกษาและคลี่มองโนรากันอย่างรอบขึ้น

.

หอสมุดแห่งชาติ นครศรีธรรมราช เปิดให้บริการภายใต้ภาพลักษณ์และรูปโฉมใหม่ หลายวันก่อนมีโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยียน โดยเฉพาะห้องศรีวิชัย ที่รวบรวมข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ไว้อย่างหลากหลาย หนึ่งในนั้นมีหนังสือชื่อ “นครศรีธรรมราช” ที่ประกอบด้วยหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับเมืองนครศรีธรรมราชไว้ในหลายมิติ ทั้งสังคม ภูมิศาสตร์ และวัฒนธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับบรรยากาศที่ชุดความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโนรามีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการศึกษาอย่างเป็นระบบ จึงจะขอคัดที่เกี่ยวข้องกับอัตชีวิประวัติของโนรารุ่นเก่าของนครศรีธรรมราช นาม “มดลิ้น ยอดระบำ” มาให้ได้อ่านกันในที่นี้ (โดยจะขอปรับคำเรียกให้พ้องตามสากลว่า “โนรา” กับทั้งชั้นนี้จะเว้นการวิเคราะห์และตีความใด ๆ ไว้ เว้นแต่ข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายทำท่ารำในหนังสือตำรารำไทย ที่ระบุว่าโนราที่ปรากฏรูปคู่กับหมื่นระบำบรรเลงนั้น อาจคือ “โนราเย็น” ดังจะได้สืบความต่อไป)

.

“โนรามดลิ้น เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมาก เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไปทั้งที่เมืองนครศรีธรรมราชและจังหวัดอื่น ๆ แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร โนรามดลิ้นก็เคยเข้าไปรำเผยแพร่หน้าพระที่นั่งหลายครั้งหลายคราวจนเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป และเนื่องจากความสามารถในการรำโนรานี้เอง ท่านผู้นี้จึงได้รับพระราชทานพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “ยอดระบำ”

.

ชาตกาล

โนรามดลิ้น ยอดระบำ เกิดเมื่อวันเสาร์ ที่ 11 พฤษภาคม 2421 ตรงกับเดือน 6 ขึ้น 10 ค่ำ ปีขาล เป็นบุตรนายทอง นางนุ่ม เป็นหลานปู่ของนายบัวจันทร์ และย่าชุม เกิดที่บ้านหัวสะพานขอย หมู่ที่ 4 ตำบลควนเกย อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 4 คน คือ นางบึ้ง นายมดลิ้น นางลิบ และนางลม

.

เรียนขอม

เมื่ออายุประมาณ 7 ขวบ พ่อท่านทวดด้วงได้พาให้ไปศึกษาหนังสือไทยสมัยเรียน นอโม-พุท-ท่อ และเรียนเวทมนต์คาถากับพ่อท่านคงที่วัดเนกขัมมาราม (หน้ากาม) อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อเรียนหนังสืออ่านออกเขียนได้ดีแล้ว ท่านอาจารย์คงได้ฝากให้ไปเล่าเรียนวิชาไสยศาสตร์เพิ่มเติมกับท่านอาจารย์เกิดที่วัดป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง กระทั่งมีความรู้อ่านออก เขียนหนังสือขอมได้

.

อุปสมบท

ครั้นอายุ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ จำพรรษาอยู่ที่วัดมัชฌิมภูผา อำเภอร่อนพิบูลย์ 1 พรรษา สมัยพระอาจารย์ภู่เป็นสมภาร และได้ศึกษาเล่าเรียนเวทมนต์คาถาเพิ่มเติมด้วย ต่อมาอายุ 22 ปี ได้สมรสกับนางทิม บุตรโนราปลอด-นางศรีทอง บ้านวังไส ตำบลสามตำบล มีบุตรด้วยกัน 7 คน คือ นายกลิ้ง นายคล่อง นายสังข์ นายไว นางพิน นางพัน และนายเจริญ

.

โนรามดลิ้น

โนรามดลิ้นได้ฝึกหัดรำโนราเมื่ออายุ 14 ปี โดยฝึกหัดกับโนราเดช บ้านหูด่าน อำเภอร่อนพิบูลย์ ซึ่งเป็นอาจารย์เดียวกันกับโนราหมื่นระบำบรรเลง (คล้าย พรหมเมศ หรือ คล้ายขี้หนอน) เมื่อรำเป็นแล้วได้เที่ยวรำกับอาจารย์ หมื่นระบำบรรเลง และโนราเถื่อน บ้านทุ่งโพธิ์ อำเภอร่อนพิบูลย์ ในสมัยก่อนโนราส่วนมากไม่ค่อยมีสตรีร่วมแสดงเหมือนอย่างทุกวันนี้ เมื่อจะแสดงเรื่องก็ใช้ผู้ชายแสดงแทน โนรามดลิ้นซึ่งกล่าวได้ว่าสมัยนั้นรูปหล่อ สุภาพ อ่อนโยน ก็ทำหน้าที่แสดงเป็นตัวนางเอกแทบทุกครั้ง และแสดงได้ถึงบทบาทจนกระทั่งคนดูสงสารหลั่งน้ำตาร้องไห้เมื่อถึงบทโศก

.

โนรามดลิ้นเที่ยวแสดงในงานต่าง ๆ แทบทั่วทั้งภาคใต้ จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย นอกจากนี้เคยไปแสดงในงานสำคัญ ๆ ในกรุงเทพฯ หลายครั้ง ได้แก่

.

รำถวายหน้าพระที่นั่ง

ครั้งแรก ได้ไปรำถวายในพระบรมมหาราชวังเนื่องในงานราชพิธีหน้าพระที่นั่ง มีโนราคล้าย ขี้หนอน เป็นหัวหน้าคณะ เดินทางไปทางเรือรวมทั้งหมด 13 คน ในการรำถวายครั้งนี้ โนราคล้าย ขี้หนอน แสดงเป็นตัวพระ ส่วนโนรามดลิ้น แสดงเป็นตัวนาง หลังจากแสดงแล้วเสร็จ โนราคล้าย ขี้หนอน ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นระบำบรรเลง โนรามดลิ้นได้รับพระราชทานนามสกุล “ยอดระบำ” และในโอกาสเดียวกันเจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปินในสำนักพระราชวัง ได้จดบทกลอนท่ารำโนราและบทต่าง ๆ ไว้หลายบท เพื่อถือเป็นแบบฉบับสำหรับการศึกษาต่อไป

.

ครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ.2466 ได้ไปรำในงานพระราชพิธีที่ในพระบรมมหาราชวัง สมัยรัชกาลที่ 6 โดยหมื่นระบำบรรเลงเป็นหัวหน้า พร้อมด้วยโนรามดลิ้น ยอดระบำ โนราเสือ (ทุ่งสง) โนราพรัด (ทุ้งไห้ฉวาง) โนราคลิ้ง ยอดระบำ โนราไข่ร็องแร็ง (สามตำบล) พรานทองแก้ว พรานนุ่น กับลูกคู่รวม 14 คน

.

เมื่อกลับจากการแสดงครั้งนี้ชั่วระยะไม่ถึง 2 เดือน ทางราชการได้เรียกโนราให้ไปแสดงอีก แต่เนื่องจากครั้งนั้นโนรามดลิ้นได้นำคณะโนราส่วนหนึ่งเดินทางไปแสดงที่จังหวัดกระบี่ พังงา และอำเภอตะกั่วป่า (เดินเท้า) จึงไม่สามารถกลับมาและร่วมไปแสดงได้ หมื่นระบำบรรเลง จึงรวบรวมบรรดาศิษย์ไปแสดงเอง การแสดงครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายศิลปากรได้ถ่ายรูปท่ารำโนราต่าง ๆ ของหมื่นระบำบรรเลงกับโนราเย็นไว้เป็นแบบฉบับเพื่อการเผยแพร่และการศึกษาของอนุชนรุ่นหลัง ดังปรากฎในหนังสือว่าด้วยตำรารำไทยในหอสมุดแห่งชาติ

.

ครั้งที่สาม เมื่อ พ.ศ. 2473 ได้ไปรำถวายในพระบรมมหาราชวังเนื่องในงานพระราชพิธีหน้าพระที่นั่งรัชกาลที่ 7 ครั้งนี้หมื่นระบำบรรเลงแก่ชรามาก จึงไม่ได้เดินทางไป มอบให้โนรามดลิ้น ยอดระบำ เป็นหัวหน้าคณะ นำโนรา 12 คนไปรำถวายแทน

.

เข้ากรมศิลปากร

ปลายปี พ.ศ. 2479 ครั้งหลวงวิจิตวาทการเป็นอธิบดีกรมศิลปากร ได้ริเริ่มปรับปรุงฟื้นฟูมหรสพพื้นเมืองทั่วไป ถึงได้เดินทางมาขอชมการรำโนราแบบโบราณที่เมืองนครศรีธรรมราช โนรามดลิ้น ยอดระบำ ได้นำคณะแสดงให้ชมที่เรือนรับรองของข้าหลวงประจำจังหวัดในสมัยนั้น ผู้แสดงมีโนราคลิ้ง อ้น เจริญ ปุ่น และพรานบก การแสดงเป็นที่พึงพอใจของอธิบดีเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ขอตัวโนราเจริญและปุ่นไปอยู่ที่กรมศิลปากร เพื่อถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับโนราแบบโบราณให้แก่นักเรียนของโรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากรได้ศึกษา และได้ให้โนราทั้งสองได้เล่าเรียนหนังสือไทยเพิ่มเติม พร้อมทั้งศึกษาท่ารำแบบต่าง ๆ ของกรมศิลปากรให้มีความรู้ความชำนาญยิ่งขึ้น โนราเจริญและปุ่น ศึกษาอยู่ที่กรมศิลปากรเป็นเวลา 1 ปี จึงได้กลับมายังนครศรีธรรมราช

.

ครั้งที่สี่ เมื่อ พ.ศ. 2480 ได้ไปรำในงานวันชาติที่ท้องสนามหลวงอีกครั้งหนึ่ง แต่คราวนี้ โนรามดลิ้นไปในฐานะหัวหน้าคณะเท่านั้น เพราะแก่ชรามากแล้ว รำไม่ได้ จึงให้โนราคลิ้ง ยอดระบำ ซึ่งเป็นบุตร แสดงแทน

.

นอกจากที่กล่าวมาแล้ว โนรามดลิ้น ยอดระบำ ได้เคยนำคณะไปรำในงานของทางราชการบ้านเมืองอีกหลายครั้ง ที่สำคัญ เช่น รำถวายรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสภาคใต้ ซึ่งได้ทรงเสด็จในงานยกช่อฟ้าพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช และรำในงานต้อนรับพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งเดินทางมาตรวจเยี่ยมราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช

.

ส่วนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงานของเพื่อนฝูงและญาติพี่น้อง ในอำเภอหรือในจังหวัดใกล้เคียง โนรามดลิ้นได้นำคณะไปช่วยเหลืออยู่เป็นประจำเสมอ ในชีวิตของท่านจึงนับได้ว่าท่านใช้ความสามารถได้เกิดประโยชน์อย่างมาก

.

แพทยศาสตร์

นอกจากความสามารถของการรำโนราแล้ว โนรามดลิ้นยังสามารถบริการประชาชนในเรื่องยากลางบ้านอีกด้วย กล่าวคือท่านได้ศึกษาหาความรู้ทางแพทย์แผนโบราณ เป็นหมอรักษาผู้ที่ถูกยาสั่ง ถูกคุณไสยต่าง ๆ ตามหลักวิชาไสยศาสตร์อีกด้วย จึงนับได้ว่าท่านผู้นี้เป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างกว้างขวางจนตลอดชีวิต

.

โนรามดลิ้น ยอดระบำ ถึงแก่กรรมเมื่อวันอังคารที่ 9 มกราคม 2511 เวลา 10.00 น. ด้วยโรคชรา ที่บ้านเลขที่ 181 หมู่ที่ 7 ตำบลร่อนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช สิริอายุได้ 92 ปี”

____

คัดจาก
วิเชียร ณ นคร. (2521). นครศรีธรรมราช. กรุงเทพมหานคร: อักษรสัมพันธ์.

ภาพปก
ถ่ายโดย KARPELÈS Suzanne ช่างภาพชาวฝรั่งเศษ
เมื่อเดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๗
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖)

คุณ สหธัญ กำลังเกื้อ  ผู้นำพลิกนาร้าง เป็นนารักษ์ คนต้นแบบเมืองนคร

เราสามารถทำประโยชน์อะไรได้บ้างกับผืนดินที่เรามีอยู่? เราสามารถพัฒนาอะไรให้ดีขึ้นได้จากสิ่งที่เรากำลังทำอยู่? สิ่งที่คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ได้ลงมือทำ โดยยึดมั่นในหลักการทำงานที่ไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม ต้องเข้าไปคลุกคลี เรียนรู้ด้วยตัวเอง และทำงานให้เป็นทุกอย่าง เปลี่ยนจากผืนดินอันว่างเปล่าให้กลายเป็นนาข้าวอันอุดมสมบูรณ์ เกิดการสร้างเครือข่ายกลุ่มชาว นา ณ คอน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นคำตอบที่แทบไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย เชิญทุกท่านทำความรู้จักกับคุณ สหธัญ กำลังเกื้อ  ผู้นำพลิกฝืนผืนนาร้าง สร้างนารักษ์

จากงานสายวิชาการ มุ่งหน้าสู่งานเกษตรอินทรีย์

คุณสหธัญ เกิดในครอบครัวที่มีคุณพ่อเป็นกำนัน อาชีพหลักของทางบ้านคือ ทำนา ชีวิตในวัยเด็กของคุณสหธัญ จึงคุ้นชินกับการทำนา ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว อย่างในช่วงวันหยุดมักจะวิ่งเล่นตามท้องนา จนกระทั่งเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ทางบ้านจึงเลิกทำนาไปในที่สุด แต่ยังคงมีเครือญาติที่ทำอาชีพนี้อยู่ คุณสหธัญเล่าว่า แม้จะคลุกคลีอยู่กับท้องนาตั้งแต่เด็ก โดยส่วนตัวนั้นไม่ชอบอาชีพนี้สักเท่าไหร่ เพราะมีความคิดว่าเป็นอาชีพที่ทำแล้วเหนื่อยมาก เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทำงาน คุณสหธัญมีโอกาสได้ทำงานกับนักวิชาการ จึงตัดสินใจเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท แต่ยังไม่ทันจะได้เรียน ก็มีโอกาสได้ทำงานเป็นเลขานุการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งเป็นงานที่คุณสหธัญไม่คาดฝันว่าจะมีโอกาสได้ทำ ในขณะที่ทำงานคุณสหธัญได้แบ่งเวลาไปเรียนทางด้านสาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ควบคู่ไปด้วย จากนั้นได้เข้าทำงานฝ่ายวิชาการที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และได้รับโอกาสชักชวนให้ไปทำงานกับทางเทศบาล บริหารจัดการด้านศูนย์การเรียนรู้กับโจทย์ “แหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตสำหรับเยาวชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช” และต้องผลักดันให้หน่วยงานนี้มีที่ยืนในระดับประเทศไปจนถึงนานาชาติ

ในปีแรกถือเป็นช่วงที่กำลังล้มลุกคลุกคลาน เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับทีมงานและทางเทศบาล เมื่อเข้าสู่ปีที่สองเริ่มมีเครือข่ายจากกรุงเทพฯ เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งคุณสหธัญเป็นผู้ติดต่อประสานงาน จนเข้าสู่ปีที่ 3 เริ่มมีหน่วยงานจากนานาชาติเข้ามาร่วมทำกิจกรรม เมื่อโครงการบรรลุผลตามเป้าหมาย คุณสหธัญตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาดูแลสวนยางของตัวเอง ด้วยเวลาที่ว่างมากขึ้นก็เริ่มหาพืชพันธุ์มาปลูกแสมในสวนยาง ซึ่งเป็นไม้เศรษฐกิจ เช่น ต้นจำปาทอง ต้นตะเคียน ต้นมะฮอกกานี การปลูกต้นไม้ทำให้ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นเรื่องดิน ปุ๋ยหมัก วัสดุคลุมดิน คุณสหธัญจึงเกิดไอเดียว่าน่าจะทำนาเพื่อต้องการนำฟางมาใช้สำหรับทำปุ๋ย เริ่มจากพื้นที่ขนาด 5 ไร่ ปลูกข้าวสังข์หยด เมื่อเพื่อนทราบข่าวว่าทำนาจึงขอสั่งจองล่วงหน้า ปรากฏว่าข้าวสารล็อตแรกขายหมดเกลี้ยง จากเดิมที่ต้องการแค่ฟาง เป้าหมายจึงเปลี่ยนไปที่การปลูกข้าวให้ได้คุณภาพ จึงขยายพื้นที่ทำนาจาก 5 ไร่เป็น 20 ไร่ ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ทั้งหมด ในขณะที่การปลูกข้าวของคุณสหธัญเป็นแบบเกษตรอินทรีย์ ผืนนาบริเวณโดยรอบที่ให้คนอื่นเช่านั้นใช้สารเคมี แน่นอนว่าสารเคมีนั้นปนเปื้อนไปยังดินและน้ำ คุณสหธัญจึงตัดสินใจทำนาในพื้นที่ตัวเองทั้งหมด 50 ไร่โดยไม่ให้ใครเช่า เพราะต้องการจะพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำนาโดยไม่ใช้สารเคมีก็สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้

ผู้นำพลิกนาร้าง เป็นนารักษ์ เรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการแรกและลงมือทำให้เป็น

คุณสหธัญศึกษาและเรียนรู้การทำนาผ่านการลงมือทำด้วยตัวเอง ตั้งแต่เตรียมเมล็ดข้าว เตรียมดิน การหว่านเมล็ด ใส่ปุ๋ย การดูแล และเก็บเกี่ยว การทำนาปลอดสารเคมีในแบบของคุณสหธัญ เรียกได้ว่าอาศัยสารพัดวิธี มีทั้งการหว่านถั่วเขียว แล้วรอให้งอกขึ้นมาพร้อมข้าว ธรรมชาติของถั่วเขียวนั้นไม่ทนต่อสภาพที่มีน้ำขัง ถั่วเขียวที่ตายก็จะกลายเป็นปุ๋ยให้แก่ต้นข้าว เป็นแหล่งไนโตรเจนที่ดี มีการใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ใช้มูลสัตว์เท่าที่มีในท้องถิ่น ในส่วนของศัตรูพืชใช้วิธีจ้างคนมาถอนหญ้า แต่ละปัญหาที่เจอล้วนมีเทคนิคในการแก้ไข ส่วนตัวคุณสหธัญต้องการทำนาโดยรักษาผืนดินให้อยู่ในสภาพที่ดี ทำนาโดยไม่ทำลายดิน จำนวนผลผลิตเป็นคำตอบให้กับชาวบ้านว่าแม้ไม่ใช้สารเคมีก็สามารถได้ผลผลิตตามที่คาดหวังได้ คุณสหธัญขายข้าวกล้องไม่ได้ส่งโรงสี มีโรงสีในเครือข่าย บรรจุภัณฑ์สวยงาม สามารถมอบให้เป็นของขวัญได้ จึงเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าทางการเกษตร

สำหรับแนวคิดแบบเกษตรเชิงพานิชย์ของคุณสหธัญ เริ่มจากทำนา 50 ไร่แล้วประสบความสำเร็จ จึงขยับขยายพื้นที่ไปจนถึง 1,700 ไร่ (รวมเครือข่าย) คุณสหธัญเล่าว่า แม้ขนาดของพื้นที่ต่างกัน แต่ใช้ระยะเวลาในการทำนาไม่ต่างกัน ใช้เครื่องจักรชุดเดียวกันไม่ว่าข้าวจะเป็นสายพันธุ์ใดก็ตาม ต้องใช้ระยะเวลาในการเพาะปลูก 4-5 เดือน ดังนั้นหากทำน้อยจะเสียเปรียบ หากทำมากเราได้เปรียบ การจะส่งข้าวสารเข้าโรงสีได้ก็ต้องมีผลผลิตอย่างน้อย 50 ตัน ซึ่งการรวมกลุ่มกันของเครือข่ายช่วยให้ชาวนาคนอื่นๆ แม้มีพื้นที่ทำนาแค่ไม่กี่ไร่ก็สามารถมีอำนาจในการต่อรองกับโรงสีได้ ในส่วนของการควบคุมคุณภาพ คุณสหธัญเป็นผู้ควบคุมกระบวนการผลิตเอง ช่วยจัดการและประสานงานทุกอย่าง เมื่อแต่ละแปลงเริ่มอยู่ตัวแล้ว คุณสหธัญก็เริ่มมองหาที่ดินรกร้างเพื่อสร้างประโยชน์ จึงเป็นที่มาของโครงการ “พลิกนาร้าง สร้างนารักษ์” โครงการที่ช่วยอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง เช่น ข้าวเมล็ดฝ้าย ข้าวเล็บนก ข้าวช่อหลุมพี ข้าวไข่มดริ้น และยังเป็นการช่วยพลิกฟิ้นผืนนาที่รกร้างให้กลับมาเป็นผืนนาข้าวที่อุดมสมบูรณ์ได้

ผืนนา ณ เมืองคอนเป็นตัวแทนของภาคการเกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่แสดงให้เห็นว่าหากมีความมุ่งมั่นตั้งใจ และอาศัยความร่วมมือซึ่งกันและกัน เรื่องที่หลายคนคิดว่าเป็นไปไม่ได้ก็สามารถทำให้เป็นไปได้และเป็นไปได้ด้วยดี เริ่มต้นจากการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง จนเกิดการรวมกลุ่มช่วยเหลือกันของเกษตรกร เพื่ออนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองและพลิกฟื้นพื้นแผ่นดินบ้านเกิดให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เพราะการทำนาไม่ใช่แค่การเรียนรู้ภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้การพัฒนาชุมชนและสังคมเช่นกัน เมื่อชุมชนแข็งแกร่งก็จะนำมาซึ่งความสุขของคนในชุมชนนั่นเอง

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ