เครื่องถมนคร หนึ่งในงานหัตถศิลป์ชั้นสูงที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักตั้งแต่อดีต ลวดลายที่เกิดจากการสลักด้วยมือ ซึ่งต้องอาศัยเวลาและฝีมือชั้นสูง ทำให้ชิ้นงานหัตถศิลป์นี้มีความเป็นปัจเจก ปัจจุบันหลายคนแทบจะไม่รู้จักเครื่องถมกันแล้ว คนต้นแบบเมืองท่านนี้เป็นหนึ่งในช่างทำเครื่องถมที่มีจุดเริ่มต้นจากความรักในงานศิลปะอยากที่จะส่งต่อกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่านี้ไปสู่คนรุ่นใหม่ คุณ พชรกร บุษบรรณ และ คุณ รัตนนิธิ์ ทองเสน จากแบรนด์เครื่องถมนคร by green ผู้สืบสานงานศิลป์ อนุรักษ์เครื่องถมเมืองนคร
ความชื่นชอบด้านศิลปะ เสน่ห์ของงานเครื่องถม สู่อาชีพที่ทำด้วยใจรัก
คุณพชรกร เล่าว่า ชื่นชอบงานศิลปะตั้งแต่วัยเด็ก ในละแวกที่อยู่อาศัยซึ่งอยู่ใกล้กับโรงเรียนสอนศิลปหัตถกรรม ทำให้มีผู้ที่เรียนด้านศิลปะค่อนข้างเยอะ ช่วงประถมศึกษาปีที่ 1 คุณพชรกรสามารถสร้างรายได้ให้กับตัวเองด้วยการวาดตุ๊กตากระดาษขายให้กับเพื่อนที่โรงเรียน เมื่อไรก็ตามที่ทราบข่าวว่ามีการประกวดแข่งขันวาดภาพ คุณพชรกรมักจะไม่พลาดเข้าร่วมกิจกรรมและได้รางวัลกลับมา เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ทางบ้านไม่ต้องการให้เรียนด้านศิลปะ อยากให้คุณพชรกรเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมปลายสายสามัญ ด้วยความที่ชื่นชอบด้านศิลปะ เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 คุณพชรกรจึงตัดสินใจสอบเข้าที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ทำให้ทางบ้านกังวลว่าจะเรียนได้หรือไม่ เรียนจบแล้วจะทำงานอะไร แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคสำหรับคุณพชรกร แต่กลับกลายเป็นแรงผลักดันในการมุ่งมั่นที่จะประสบความสำเร็จในสายอาชีพนี้ให้ได้ ขณะที่กำลังศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) คุณพชรกร เล่าว่า ตัวเองติดศูนย์วิชาเครื่องถมถึง 3 เทอมซ้อน แม้จะเกิดปมในใจ แต่ท้ายที่สุดเครื่องถมคือ สิ่งที่คุณพชรกรรักและยึดถือเป็นอาชีพในปัจจุบัน เมื่อศึกษาจบ คุณพชรกรเริ่มทำชิ้นงานเครื่องถมเป็นเครื่องประดับ นั่นคือ กำไล ในตอนนั้นใช้วิธีนำเสนอขายผ่านร้านค้า แต่ไม่มีร้านไหนเลยที่รับสินค้าชิ้นนี้ไปวางจำหน่าย เนื่องจากร้านส่วนใหญ่มีช่างประจำอยู่แล้ว คุณพชรกรจึงนำกำไลไปให้คุณอาซึ่งเป็นอาจารย์โรงเรียนมัธยม เมื่อสวมใส่กำไลไปทำงาน เพื่อนร่วมงานต่างพากันสอบถามและสั่งซื้อ ลูกค้ากลุ่มแรกคือ คนใกล้ชิด ญาติพี่น้อง จากนั้นค่อยขยับขยายฐานลูกค้าไปยังเพื่อนของลูกค้ากลุ่มแรก
ผลักดันงานหัตถศิลป์ล้ำค่า สู่การทำธุรกิจบนโลกออนไลน์
เมื่อพูดถึงงานเครื่องถม ซึ่งเป็นงานที่มีลวดลายเอกลักษณ์ มีเสน่ห์ในตัว ในมุมมองของคนทำธุรกิจที่ไม่ได้จบด้านศิลปะ คุณรัตนนิธิ์ ให้ความเห็นว่า นอกจากการอนุรักษ์ชิ้นงานแล้ว ยังต้องมีการพัฒนาควบคู่กันไปด้วย ภาพลักษณ์ของกลุ่มลูกค้าที่คนส่วนใหญ่นึกถึงมักจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีอายุ แต่คุณรัตนนิธิ์ ไม่คิดเช่นนั้น การที่จะทำเครื่องประดับขึ้นมาสักชิ้น ต้องเข้าถึงกลุ่มตลาดสากลให้ได้ ไม่จำกัดวัยลูกค้า เครื่องถมนคร by green จึงไม่ยึดติดอยู่แค่ลวดลายดั้งเดิม มีการออกแบบลวดลายใหม่ๆ ออกแบบลวดลายตามที่ลูกค้าต้องการ และทำเองทุกขั้นตอนเพื่อควบคุมคุณภาพ การตลาดเป็นสิ่งที่คุณรัตนนิธิ์ให้ความสำคัญเช่นกัน เลือกช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้าช่วยให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของประเทศหรือต่างประเทศก็สามารถสั่งซื้อได้ ทำให้ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าเช่าสถานที่ ไม่ต้องไปขายแข่งกับใคร ทำให้มีเวลามาโฟกัสและพัฒนางานในส่วนอื่นมากขึ้น
สืบสานงานศิลป์ อนุรักษ์เครื่องถมเมืองนคร งานหัตถศิลป์ชั้นสูงคู่เมืองนครศรีธรรมราช
นอกจากรับหน้าที่ในการผลิตเครื่องถมของธุรกิจตัวเองแล้ว คุณพชรกร ยังทำหน้าที่ในการช่วยอนุรักษ์งานหัตถศิลป์ชั้นสูงคู่เมืองนครศรีธรรมราชผ่านการเผยแพร่ความรู้ให้กับคนรุ่นใหม่ สาธิตการทำเครื่องถมตามงานวัฒนธรรมต่างๆ ที่ได้รับเชิญ มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยมาศึกษาดูงานเกี่ยวกับขั้นตอนการทำเครื่องถม หรือบุคคลใดที่สนใจอยากรู้กระบวนการทำ ในอนาคตคุณพชรกร คาดว่าอาจจะเปิดให้เข้าไปดูงานที่บ้านได้ ซึ่งคุณพชรกรคิดว่า จะทำอย่างไรให้ชาวนครศรีธรรมชาติรู้จักเครื่องถมมากขึ้น ซึ่งมีบางคนไม่รู้จักงานหัตถศิลป์นี้เช่นกัน ปัจจุบันคุณพชรกรได้มีการปลูกฝังลูกหลานของตนเองให้รู้จักขั้นตอนการทำ และอยากที่จะเปิดเพจให้ความรู้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเครื่องถมเมืองนคร
คุณรัตนนิธิ์ ให้ความเห็นว่า การที่จะให้ใครสักคนสนใจเครื่องถม ต้องเริ่มจากการสร้างแรงจูงใจ อย่างกระบวนการทำเครื่องถมเป็นการนำเสนอได้อย่างตรงจุดและดึงดูดความสนใจได้เป็นอย่างดี แต่ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน หากจะทำเป็นอาชีพต้องเข้าใจทั้งกระบวนการทำเครื่องถมซึ่งต้องใช้ระยะเวลาและความพยายามในการทำชิ้นงาน เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อพัฒนาตัวเอง และเข้าใจการทำธุรกิจ ปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของตลาดในอนาคต คุณรัตนนิธิ์ มองว่า หากต้องการอนุรักษ์งานเครื่องถมให้คงอยู่ และคนรุ่นใหม่สามารถสร้างอาชีพได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการสนับสนุนส่งเสริม และช่วยผลักดัน
งานหัตถศิลป์ชั้นสูงคู่เมืองนครศรีธรรมราชที่มีมานานกว่า 400 ปี หนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวนคร ที่ต้องอาศัยความอดทน ความพยายาม และฝีมือเพื่อสร้างชิ้นงานอันประณีต คำถามคือ จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจ เห็นความสำคัญ และอยากที่จะอนุรักษ์และพัฒนาต่อยอดให้คงอยู่สืบต่อไป
ดูคลิปสัมภาษณ์