ประวัติอำเภอนาบอน ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอนาบอน
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอนาบอนนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

ครั้งรัชกาลที่ 2

ความเป็นมาท้องที่อำเภอนี้ มีปรากฏตามทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งรัชกาลที่ 2 ว่าในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เคยเป็นแขวงหรือที่เรียกกันว่า “ที่นาบอน” มีนายที่ชื่อ “ขุนโจมธานี” รองนายที่ชื่อ “ขุนศักดิ์” ที่ทุ่งสงมีนายที่ชื่อ “หมื่นอำเภอ” ซึ่งอยู่ในความปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช

.

ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2440 ได้มีการจัดการปกครองแผนใหม่ “แขวงนาบอน” และ “แขวงทุ่งสง” ได้ตั้งขึ้นเป็น “ตำบลนาบอน” และ “ตำบลทุ่งสง” ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

.

กิ่งอำเภอนาบอน

จนกระทั่งวันที่ 9 มิถุนายน 2518 จึงได้รวมพื้นที่ของตำบลนาบอนและตำบลทุ่งสง รวมสองตำบลตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอนาบอน” ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2518

.

ขณะนั้นยังมิได้ก่อสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอ ได้อาศัยเรือนแถวบ้านเลขที่ 210-211 หมู่ที่ 2 ตำบลนาบอนของนายยศ พันธ์พิพัฒน์ ใช้เป็นที่ทำการชั่วคราว ได้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2518 โดยนายจาด อุรัสยะนันท์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี นายชลิต พิมลศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้กล่าวรายงาน

.

ที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราว

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2520 ได้เกิดเพลิงไหม้ที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราว จึงได้ย้ายที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราวไปอาศัยทำงานที่โรงเรียนสหมิตรบำรุง (โรงเรียนราษฎร์) ในหมู่บ้านเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2520 เป็นต้นมา จนกระทั่งในปีงบประมาณ 2521 กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติงบประมาณให้ทำการก่อสร้างที่ว่าการอำเภอ 1 หลัง บ้านพักข้าราชการปกครอง 3 หลังเป็นเงิน 1,011,500 บาท ได้ดำเนินการก่อสร้างในที่ดินซึ่งนายบุญทอง สันติกาญจน์ อุทิศให้เนื้อที่ 25 ไร่ คิดเป็นเงิน 375,000 บาท ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 ตำบลนาบอน ได้ทำการก่อสร้างโดย บริษัท มิตรไทย จำกัด เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง และได้ดำเนินการสร้างเสร็จในเดือนตุลาคม 2522 จึงได้ย้ายที่ทำการกิ่งอำเภอมาทำงานที่ที่ทำการอำเภอถาวร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2522

.

นายอำเภอคนแรก

กิ่งอำเภอนาบอน ได้ยกฐานะเป็นอำเภอนาบอน ตามพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอนาบอน พ.ศ. 2524 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 115 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 โดยมีนายจำเริญ ภูมิมาส ดำรงตำแหน่งนายอำเภอนาบอนคนแรก

ตำนาน “นางโดย” เรื่องเล่าท้องถิ่นตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ตำนาน “นางโดย”
เรื่องเล่าท้องถิ่นตำบลคลองน้อย

อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

เรื่องเริ่มที่เพชรบุรี

ณ หมู่บ้านหนึ่งในเมืองเพชรบุรี ปรากฏครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งมีตาม่องล่ายเป็นหัวหน้าครอบครัว ภรรยาชื่อนางรำพึง โดยที่ “แม่นางโดย” เป็นลูกสาวหนึ่งเดียวที่ด้วยความน่ารัก ผิวพรรณผ่องใส มีความงามจนเป็นทีหลงไหลของบุรุษเพศผู้พบเห็นจึงได้รับทั้งความรักและการทะนุถนอมจากพ่อคือตาม่องล่ายเป็นพิเศษเพราะเป็นคนใจร้าย โผงผาง ขี้โมโห ไม่เคยเกรงกลัวใคร

.

บนบานตาขุนเล

อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าลายบุตรชายเจ้าแฮเจ้าเมืองเชื่อสายจีนซึ่งอยู่ในทิศอีสาน ได้เกิดนิมิตฝันเห็นหญิงงามนางหนึ่ง ด้วยความมหัศจรรย์ใจเมื่อตื่นจากฝันได้ลงเรือเดินทางออกตามหาด้วยความหลงไหล ขณะเดินทางมาในทะเล เจ้าลายได้บนบานศาลกล่าวต่อ “ตาขุนเล” เทวดาประจำท้องทะเลว่า ขอให้ได้พบนางดังปรารถนา ครั้นตกกลางคืนตาขุนเลศักดิ์สิทธิ์ก็มาเข้าฝัน ตาขุนเลช่วยชี้ทางให้พร้อมกับบอกคาถามหาเสน่ห์ไปบทหนึ่งติดตัวไปกับเจ้าลายด้วย

.

เมื่อเจ้าลายเดินทางไปตามเส้นทางที่ตาขุนเลเข้ามาบอกในฝันแล้ว ก็ได้พบกับบ้านของตาม่องล่ายเข้าจริงๆ แต่วันนั้นตาม่องล่ายเข้าไปทำเพชร ทำพลอยในป่า คงพบแต่นางรำพึง แม่นางโดย และนางสาย หลานสาว เจ้าลายจึงได้ว่าคาถาสะกดนางรำพึงให้บังเกิดเมตตารักใคร่ ด้วยอิทธิ์ฤทธิ์ของคาถามหาเสน่ห์ นางรำพึงจึงได้ยกแม่นางโดยให้กับเจ้าลายตั้งแต่นั้น

.

กำเนิดเขานมเชือด-นมไต-ขุนนม

ฝ่ายตาม่องล่ายกลับมาจากป่า พร้อมกับเจ้าหมวกบุตรชายท้าวโคตรบอง ซึ่งบังเอิญเจอกันในป่าและเห็นว่าเจ้าหมวกนี้มีรูปร่างหน้าตาและความเหมาะสมด้วยชาติตระกูล จึงตั้งใจจะยกแม่นางโดยให้ เมื่อทราบความว่านางรำพึงได้ยกแม่นางโดยให้แก่เจ้าลายเสียแล้ว ทำให้ตาม่องล่ายโกรธจัด คว้าดาบพุ่งตรงเข้าไปหานางรำพึงหวังจะฟัน แต่นางสาย หลานสาวได้เข้ามาขวาง ผลคือถูกคมดาบตายทั้งสองคน เท่านั้นยังไม่พอ ตาม่องล่ายยังไม่หายโกรธ ใช้ดาบเล่มเดียวกันนั้นเชือดเต้านมของทั้งสองคนจนขาดแล้วโยนทะเล เต้านมข้างหนึ่งลอยไปติดที่เมืองญวน กลายเป็นเขานมยาย อีกสามข้างลอยมาทางใต้กลายเป็นเขาพนมเชือด (อำเภอร่อนพิบูลย์), เขาพนมไต(อำเภอสิชล) และเขาขุนพนม(อำเภอพรหมคีรี) จากสถานการณ์นี้ทำให้ตาเพชรไม่พอใจตาม่องล่ายเป็นอย่างมากถึงขั้นตัดขาดความเป็นเพื่อน ไม่ไปมาหาสู่คบหากันต่อไปอีก ตาเพชรใช้ไม้หลักปักเขตแดนระหว่างบ้านทั้งสองคน ต่อมาไม้หลักนั้นกลายเป็นภูเขาเรียกว่า “เขาหลัก” (อำเภอทุ่งใหญ่)

.

หลังจากที่เหตุการณ์ยุติลง ตาม่องล่ายค่อยทุเลาความโกรธลงกลายเป็นความอับอายเข้ามาแทนที่จนต้องหนีออกจากบ้านไปอยู่แถวเมืองสองแควหรือพิษณุโลก

.

สมโภชพระบรมธาตุ

รุ่งปีถัดมา เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ได้จัดให้มีการสมโภชพระบรมธาตุและแห่ผ้าขึ้นธาตุ ได้ประกาศให้ชาวเมืองทั่วทุกสารทิศมาร่วมการกุศล แม่นางโดยทราบข่าวจึงได้จัดแต่งเรือบรรทุกทรัพย์สินมาเองพร้อมด้วยบริวารมากมายอาทิตาหวังกับตาวัง ๒ คนพี่น้อง เคราะห์ร้ายที่เมื่อเรือเดินทางมาถึงอ่าวปากพนังก็ได้เกิดคลื่นลมขนาดใหญ่พัดเอาเรือไปชนกับเกาะหนึ่งเข้า ทำให้เรือจมลงและทุกคนในเรือเสียชีวิตหมดรวมถึงแม่นางโดยด้วย จึงพากันเรียกเกาะนั้นว่า “เกาะนางโดย” มาจวบจนปัจจุบัน

.

นิทานเรื่อง ตำนาน “นางโดย” นี้ปรากฏคุณค่าทางวรรณกรรมหลายส่วน ทั้งคุณค่าทางสุนทรียะที่เมื่อได้อ่านได้ฟังแล้วเกิดจินตนาการและความสนุกสนานเพลิดเพลิน จัดนิทานลักษณะนี้อยู่ในรูปแบบนิทานท้องถิ่น (Legend) ประเภทนิทานอธิบายเหตุ (Explanatory Tale) ซึ่งหมายถึงนิทานที่มุ่งอธิบายความเป็นมาของปรากฎการณ์ธรรมชาติ เทพเจ้า คน สัตว์ พืช สถานที่และถ้อยสำนวน (อ.วิเชียร ณ นคร) ซึ่งเป็นนิทานเก่าแก่ประเภทหนึ่งที่แพร่หลายกันมาก แก่เรื่องคือการมุ่งให้คำตอบเกี่ยวกับความเป็นมาของสิ่งและสภาพต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับมนุษย์ สัตว์ พืชและธรรมชาติต่าง ๆ โดยการใช้วิธีการเล่าที่เรียบง่าย ไม่สลับซับซ้อน บางครั้งจะพบว่ามีการให้รายละเอียดของฉาก สถานที่ ตัวเดินเรื่องเป็นสภาพจริงทางภูมิประเทศที่ปรากฎและประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้น

ผู้ให้สัมภาษณ์ : นายพริ้ม มาสิงห์ บ้านคลองน้อย อำเภอปากพนัง
ผู้สัมภาษณ์และจดบันทึก : นายศุภฤกษ์ โรจนธรรม (2537)
ผู้เรียบเรียงความ/เผยแพร่ : นายวันพระ สืบสกุลจินดา