Skip to content

ฅนต้นแบบเมืองนคร อ.พัชรี สุเมโธกุล พัฒนาชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว

 

ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สั่งสมและถ่ายทอดสืบต่อกันมา เมื่อนำมาผสมผสานกับความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ปรับให้เข้ากับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ไม่เพียงแต่พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเท่านั้น แต่สามารถนำเอาทรัพยากรท้องถิ่นมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ ส่งเสริมให้ชุมชนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่มีความน่าสนใจ ใครกันจะเป็นผู้ที่มองเห็น เข้าใจและเข้าถึงวิถีชีวิตชุมชน ผลักดันองค์ความรู้ชาวบ้านผ่านกระบวนการสร้างมูลค่าออกสู่ตลาดสากล ทางเรารู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหลายโครงการชุมชนท้องถิ่น บุคคลที่เป็นฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ อาจารย์พัชรี สุเมโธกุล  

เริ่มต้นจากงานอาสาสมัครสู่งานพัฒนาชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว

            ก่อนที่จะมาเป็นหัวหน้าโครงการพัฒนาชุมชน อาจารย์พัชรีย์มีความฝันอยากเป็นนักข่าว ชื่นชอบศาสตร์ด้านการเขียน จบปริญาตรีครุศาสตร์บัณฑิต สาขาอุตสาหกรรมศิลป์ ปริญญาโท ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร ปริญญาเอก tourism management and hospitality

ปัจจุบันท่านเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ อาจารย์ทำงานด้านส่งเสริมพัฒนาชุมชนมาเป็นเวลา 12 ปี  พื้นเพเดิมอาจารย์เป็นคนสตูล เนื่องจากทางบ้านทำงานด้านการท่องเที่ยวชุมชน จึงมีความรู้เกี่ยวกับข้อมูลท้องถิ่น อาจารย์ทำงานเชิงพื้นที่เป็นอาสาสมัครช่วยเครือข่ายท้องถิ่นจังหวัดสตูล ควบคู่กับงานด้านวัฒนธรรม จนได้มีโอกาสช่วยราชการกองทัพภาค 4 ร่วมพัฒนาท้องถิ่นตามชายแดนภาคใต้ใน 7 จังหวัด ซึ่งทำร่วมกับนักศึกษา อยากที่จะใช้องค์ความรู้ของตัวเองและนักศึกษา เข้าไปพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง

อย่างกลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชนในปัจจุบัน ซึ่งเมื่อก่อนเป็นแค่ชมรม กลุ่มอาชีพในชุมชน  ก็ผลักดันให้กลุ่มเหล่านี้พัฒนาตัวเองและเป็นที่รู้จักมากขึ้น  อาจารย์มีความคิดว่าถ้าต้องการพัฒนาด้านนี้อย่างจริงจัง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ การเข้าถึงพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เข้าไปพูดคุยกับผู้คนในชุมชน สอบถามเกี่ยวกับวิถีชีวิต ปัญหาที่พวกเขาพบซึ่งกระทบต่อการดำรงชีพ  เมื่อเก็บข้อมูลมากพอแล้วจึงใช้งานวิจัยเป็นตัวขับเคลื่อน

เพราะแต่ละชุมชนมีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมต่างกัน

            ก่อนที่จะเข้าถึงชุมชน ต้องเข้าใจในความต่างของแต่ละชุมชนก่อน เพราะบางพื้นที่ไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยว ต้องดูบริบทของแต่ละพื้นที่ว่า พื้นที่ไหนควรจะใช้ผลิตภัณฑ์นำการท่องเที่ยว หรือใช้การท่องเที่ยวนำผลิตภัณฑ์ บางชุมชนสามารถจัดสรรในสัดส่วนที่เท่ากันได้ ยกตัวอย่างกรณีศึกษา วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวป่าชายเลนบ้านแหลมโฮมสเตย์ อำเภอท่าศาลา เป็นชุมชนแรกที่อาจารย์เข้าไปเป็นที่ปรึกษาถึง 8 ปี ในฐานะวิทยากรของกรมการท่องเที่ยว แม้สภาพแวดล้อมของชุมชนในตอนนั้นไม่เหมาะที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว และยังได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับยาเสพติดสูงอีกด้วย แต่อาจารย์ก็เห็นถึงพลังการร่วมมือของผู้คนในชุมชน

แม้ว่าครั้งแรกที่เปิดเวทีเสวนามีชาวบ้านมานั่งฟังแค่ 4 คน แต่หลังจากนั้นชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สิ่งที่อาจารย์ให้ความสนใจคือ ชาวบ้านทำการประมงจับปลาได้ในปริมาณที่เยอะมาก แต่ไม่สามารถจัดการกับจำนวนปลาที่เหลือจากการบริโภคและจำหน่ายในพื้นที่ได้ นอกจากนำไปแปรรูปเป็นปลาเค็มเพียงอย่างเดียว แม้พยายามจะอธิบายถึงแนวทางการแก้ปัญหา แต่ในตอนนั้นชาวบ้านก็ไม่เข้าใจในสิ่งที่อาจารย์กำลังจะทำ เป็นระยะเวลาถึง 4 ปีที่อาจารย์เก็บรวมรวบข้อมูล เพื่อขอทำวิจัยให้ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพราะชาวบ้านที่นั้นรักป่าชายเลนมาก

โปรเจคแรกคือ ปลูกป่าสปาโคลน มีการส่งผลงานเข้าประกวดและได้รับรางวัลกลับมา ทำให้ชุมชนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ปีที่ 5 อาจารย์ได้ทำเรื่องของบวิจัย เพื่อยกระดับเป็นโมเดลบ้านแหลมโฮมสเตย์ เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบของประเทศ ผลิตภัณฑ์ของที่นี่คือ ใบโกงกางทอด โลชั่นใบโกงกาง และชาใบโกงกาง ซึ่งผลิตภัณฑ์ทุกตัวของชุมชนบ้านแหลมมีงานวิจัยรองรับและผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์

ทำให้ชื่อเสียงของชุมชนโด่งดังไกลไปถึงระดับโลก จนสำนักข่าว CNN มาขอสัมภาษณ์ถึงชุมชน หนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชนแห่งนี้คือ โคลนจากป่าชายเลน เนื้อโคลนสีดำละเอียดที่อยู่ลึกลงไปจากผิวดินกว่า 1 ฟุต นำมาผ่านกระบวนการวิจัยเพื่อรับรองว่าไม่มีสารตกค้าง ผลิตภัณฑ์มาสก์โคลน ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งของประเทศ ที่น่าภาคภูมิใจคือ สินค้ามีการนำไปจำหน่ายในต่างประเทศ ในปัจจุบันการจัดจำหน่ายสินค้าดำเนินการโดยชุมชน มีช่องทางการขายเป็นของตนเอง

ค้นหาอัตลักษณ์ ก่อนที่จะถอดอัตลักษณ์

            ก่อนที่จะนำเสนอและสร้างโปรเจคขึ้นมา ต้องทำให้คนในชุมชนมองเห็นภาพและเข้าใจก่อน การทำงานเพื่อชุมชน ไม่ต้องคิดไปก่อนว่าจะเอาโปรเจคอะไรไปนำเสนอชุมชน อย่าไปคิดแทนชาวบ้าน แค่พาตัวเองเข้าไปอยู่ในชุมชนในฐานะที่ปรึกษา แน่นอนว่าการที่จู่ๆ มีคนแปลกหน้าเข้าไปคลุกคลี สอบถามข้อมูล พูดคุยกับชาวบ้านในชุมชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งถ้าไปยัดเยียดความคิดของตัวเองให้ชาวบ้าน อาจเกิดข้อโต้แย้งได้ ต้องเปิดใจรับฟัง เรียนรู้ และมีความบริสุทธิ์ใจ

เรื่องนี้ถือเป็นความตั้งใจเบื้องต้นของอาจารย์ การเข้าไปในฐานะที่ปรึกษา ต้องค้นหาเพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงในสิ่งที่ชุมชนเป็น เพราะมุมมองแต่ละคนต่างกัน นักวิชาการอยากให้เพิ่มมูลค่าสินค้า แต่ชาวบ้านบางคนอาจไม่สนใจ เพราะพึงพอใจกับวิถีชีวิตนี้อยู่แล้ว และที่สำคัญที่สุดคือ ต้องให้เกียรติชุมชนที่เราเข้าไป ให้เกียรติชาวบ้านในฐานะคณะกรรมการดำเนินงาน หรือผู้ช่วยนักวิจัยชุมชน เพราะพวกเขาคือ เจ้าขององค์ความรู้ นักวิชาการมีหน้าที่แค่นำเอาทฤษฎี เครื่องมือต่างๆ เข้าไปช่วยเหลือในการพัฒนาชุมชน

            อย่างบางชุมชนมีทรัพยากรทางธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ประเด็นคือ สถานที่ท่องเที่ยวหรือผลิตภัณฑ์ใดที่เป็นจุดเด่นของชุมชน บางสิ่งที่ชุมชนนำเสนอไป นักท่องเที่ยวอาจไม่ต้องการก็ได้ หน้าที่ของนักวิชาการคือ ต้องค้นหาสิ่งนั้นให้เจอ ก่อนที่จะนำมาพัฒนาต่อยอด เพื่อผลิตสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ท้องถิ่น สำคัญคือ อย่าสร้างความหวังให้ชุมชน เพราะสิ่งที่กำลังทำคือต้นแบบเพื่อที่จะพัฒนาต่อ ต้องอธิบายให้คนในชุมชนเข้าใจถึงเป้าหมายแต่ละขั้น

ยกตัวอย่าง โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มี 2 ชุมชนที่ในตอนนี้อาจารย์เข้าไปดูแล คือ ชุมชนท่าดี อ. ลานสกา ซึ่งอาจารย์สนใจผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผักกูดและแตงโม และชุมชนขอนหาด อ. ชะอวด เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรมชุมชน ที่ให้ทุกครัวเรือนเป็นฐานการเรียนรู้ เน้นพัฒนากลุ่มอาชีพOTOP และผู้ประกอบการท้องถิ่น ในสองชุมชนนี้อาจารย์เน้นในเรื่องผลิตภัณฑ์นำการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านสร้างขึ้นต้องเกิดประโยชน์กับพวกเขา

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนบนพื้นฐานองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

            หนึ่งในเป้าหมายพัฒนาเครือข่ายชุมชน นอกจากผลิตสินค้าและบริการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้ งานวิจัย การสร้างสรรค์งาน ที่เชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรมท้องถิ่นแล้ว สินค้าทุกชนิดต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาด เพิ่มโอกาสขายในระดับสากล และขายได้ในราคาที่สูงขึ้น ซึ่งในตอนนี้ทางโครงการกำลังดำเนินการอยู่  แน่นอนว่าเบื้องหลังการพัฒนาชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งมาจากทีมงานที่ต้องเข้าใจและมองเห็นในสิ่งเดียวกัน

เกณฑ์ในการคัดเลือกทีมงานของอาจารย์ เน้นในเรื่องการปรับตัวเข้าหาชาวบ้าน เพื่อการเข้าถึงชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องยอมรับในกฎกติกาของชุมชน ทีมงานโครงการมีทั้งฝ่ายการตลาด เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ฝ่ายการจัดการ ฝ่ายบัญชี การท่องเที่ยว มาตรฐานผลิตภัณฑ์ และฝ่ายดูแลมาตรฐานการส่งออก หลังจบงานวิจัยของแต่ละชุมชน ทางทีมงานจะทำหน้าที่เป็นโค้ชคอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง

เป้าหมายหลักของโครงการคือ ชุมชนที่ได้เข้าไปพัฒนาแล้วต้องยืนได้ด้วยตัวเอง เมื่อไหร่ก็ตามที่สามารถพัฒนาชุมชนให้กลายมาเป็นชุมชนต้นแบบแล้ว พวกเขาต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เพื่อพาคนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วม ชุมชนที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเองได้ก็จะเป็นรากฐานในการพาชุมชนอื่นๆ ขับเคลื่อนไปด้วยกัน เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นเครือข่ายชุมชนที่แข็งแกร่ง

ไม่ว่าอาจารย์จะไปพื้นไหนก็ต้องเข้าให้ถึงหัวใจของผู้คนในพื้นที่นั้น ดึงเอาคุณค่าและเอกลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ออกมา เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าจากองค์ความรู้ที่สั่งสมและส่งผ่านจากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ ผสานกับงานวิจัย เทคโนโลยีสมัยใหม่ และความรู้ทางธุรกิจ โครงการนี้จึงไม่แค่พัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมท่องเที่ยวเพื่อยกระดับชุมชนเท่านั้น แต่เป็นการยกระดับจิตวิญญาณ ความคิด ถ่ายทอดความเป็นชุมชนออกมาได้อย่างงดงามและภาคภูมิใจ