ฅนต้นแบบเมืองนคร คุณนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ประธานกรรมการ มูลนิธินครอาสา
- admin
- June 25, 2021
- 12:42 pm
ปากพนัง เมืองแห่งวิถีชีวิตชาวประมง อดีตเมืองท่าที่สำคัญของเมืองนครศรีธรรมราช ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของความเจริญแห่งหนึ่งของภาคใต้ ปากพนังถูกแบ่งออกเป็นฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกตามลำน้ำปากพนังที่ไหลผ่าน ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนและเป็นเส้นทางคมนาคม เมื่อความรุ่งเรืองในอดีตค่อยๆ เลือนลางสวนทางกับเวลาที่ดำเนินไปเรื่อยๆ จนมาถึงจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่าเศษเสี้ยวหนึ่งในอดีตยังคงหลงเหลืออยู่ และควรค่าแก่การอนุรักษ์ อยากที่จะทำบางอย่างเพื่อเป็นการช่วยเหลือชุมชน เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ คุณนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ประธานกรรมการมูลนิธินครอาสา กับงานต้นแบบ “นครเกษตรกรรม ร่วมสร้างฐานความสุข ลุ่มน้ำปากพนัง”
จากร่องรอยในอดีต สะท้อนให้เห็นถึงยุคเฟื่องฟูของลุ่มน้ำปากพนัง
ในอดีตลุ่มน้ำปากพนัง มีความอุดมสมบูรณ์ทางเกษตรกรรม เป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราช เปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ แต่เดิม “ลุ่มน้ำปากพนัง” ประกอบด้วย 7 อำเภอ คือ ปากพนัง เชียรใหญ่ หัวไทร ชะอวด เฉลิมพระเกียรติ จุฬาภรณ์ และร่อนพิบูลย์ กลุ่มลุ่มน้ำปากพนังใช้ประโยชน์จากแม่น้ำร่วมกัน ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาบรรทัด ในเขตอำเภอวังอ่าง อำเภอชะอวด ไหลผ่านอำเภอเชียรใหญ่ อ.ปากพนัง ลงสู่อ่าวไทยบริเวณลุ่มน้ำปากพนัง แหลมตะลุมพุก เป็นบริเวณที่มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติ
นักเดินเรือมักจะเดินทางหลบคลื่นลมทะเลอยู่บริเวณหมู่เกาะกระ ก่อนจะเทียบท่าที่ปากพนัง หนึ่งในคู่ค้าสำคัญของนครศรีธรรมราชคือ ชาวจีน ที่ไม่เพียงมีบทบาททางการค้าเท่านั้น แต่ยังมีความสัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐานและชุมชนหลายแห่งในเมืองนคร ปัจจุบันข้าวของเครื่องใช้ ร่องรอยเรื่องราวต่างๆ ของเหตุการณ์ในอดีต ถูกจัดเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดศรีสมบูรณ์ (วัดหอยราก พ่อท่านเจิม) อีกหนึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ แสดงให้เห็นถึงยุคทำนาข้าวอันรุ่งโรจน์ของปากพนังคือ โรงสีข้าว (โรงสีไฟ) จำนวนมากถึง 14 โรง “โรงสีเตาเส็ง” เป็นโรงสีแรกของปากพนัง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาทรงเปิดกิจการ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2448
เพราะทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยเบื้องต้นในการกำหนดวิถีชีวิตมนุษย์
ไม่มีอะไรยั่งยืนและคงอยู่ได้ตลอดไป ในอดีตที่ครั้งหนึ่ง พื้นที่แห่งนี้เคยมีความเจริญรุ่งโรจน์มาก ผลผลิตข้าวในอำเภอนี้เคยเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ สร้างรายได้จำนวนมาก เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนผ่านในแต่ละยุคสมัย สิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไปตามเช่นกัน กิจการโรงสีไฟที่เคยรุ่งเรืองในอดีต เหลือเพียงซากปล่องไฟที่ตั้งตระหง่านไว้เป็นอนุสรณ์แห่งความภาคภูมิใจ
ด้วยความที่ทำเลที่ตั้งของลุ่มน้ำปากพนัง อยู่บริเวณปากอ่าวของแหลมตะลุมพุก ทำให้มีน้ำทะเลรุกล้ำเข้าไป พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ของปากพนังที่เคยปลูกข้าวได้จึงได้รับผลกระทบ เปลี่ยนสภาพไปเป็นนากุ้ง จนเกิดเป็นยุคที่การทำนากุ้งเฟื่องฟู แต่ก็มีชาวบ้านบางส่วนที่หันไปประกอบอาชีพทำการประมง จนมาถึงในสมัยรัชกาลที่ 9 พระองค์มีพระราชดำริในการสร้างประตูระบายน้ำ “โครงการอุทกวิภาชประสิทธิ” เพื่อช่วยเหลือบรรเทา ความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ช่วยแก้ปัญหาน้ำเค็ม น้ำท่วม น้ำแล้ง ทำให้ความเจริญรุ่งเรืองเกี่ยวกับการทำเกษตรเริ่มกลับมา
แรงบันดาลใจในการเริ่มต้นทำมูลนิธินครอาสา
คุณนนทิวรรธน์ นนทภักดิ์ ลูกหลานชาวนคร อ.ปากพนัง ซึมซับการทำงานสายการเมืองและจิตอาสามาจากบิดาที่เคยเป็นอดีตเทศมนตรีเทศบาลเมืองปากพนัง หลังจากจบการศึกษาในวัย 25 ปี ได้มีโอกาสเข้าสู่การเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองปากพนัง จากนั้นได้ขึ้นมาเป็นรองนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปากพนัง คลุกคลีอยู่ในแวดวงการเมืองหลายสิบปี นอกจากมุมการเมือง อีกมุมหนึ่งคุณนนทิวรรธน์ได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ มูลนิธินครอาสา ที่ผ่านมาได้ทำหลากหลายกิจกรรมร่วมกับชาวนครศรีฯ ทั้งกิจกรรมทางพุทธศาสนาและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น
มูลนิธินครอาสา ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2557 โดยกลุ่มคนหนุ่มสาวในพื้นที่ตลาดปากพนัง เพื่อทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ช่วยเหลือสังคม ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงพระราชทานโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อความกินดีอยู่ดีของราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังและพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหาเรื่องน้ำ และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ในช่วงที่กระแสการปั่นจักรยานกำลังถูกพูดถึงอย่างมาก ทางมูลนิธิได้จัดกิจกรรม “ปั่นจักรยานบ้านพ่อ สู่อ้อมกอดแม่” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เมืองปากพนัง กิจกรรมนี้ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี ยกเว้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
งานต้นแบบ นครเกษตรกรรม ร่วมสร้างฐานความสุข ลุ่มน้ำปากพนัง
คุณนนทิวรรธน์ได้นำเอาคำสอนตามหลักศาสนาพุทธที่ตัวเองนับถือ มาเป็นตัวตั้งในการดำเนินชีวิตและการทำงาน อยากให้ทุกคนร่วมกันสร้างฐานความสุขจากการประกอบอาชีพในท้องถิ่นของตนเอง อยากเห็นนครศรีธรรมราชเป็นนครเกษตรกรรม เพราะลุ่มน้ำปากพนังที่มีพื้นที่ในการทำเกษตร ปัจจุบันมีการปลูกข้าวกันเยอะขึ้น มีข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่นที่น่าสนใจ ในอดีตเกษตรกรมีข้อจำกัดในเรื่องต้นทุนที่จะใช้ในการพัฒนาแปลงเกษตร แต่ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต อย่างที่อำเภอหัวไทร เกษตรกรใช้โดรนในการฉีดพ่นยาแทนการใช้แรงงานคน ช่วยประหยัดเวลา ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในระยะยาว และลดการสูญเสียผลผลิต อย่างส้มโอทับทิมสยาม อีกหนึ่งความภูมิใจของคนลุ่มน้ำปากพนัง แม้ไม่ใช่พันธุ์ส้มโอดั้งเดิมในพื้นที่อำเภอปากพนัง แต่ก็กลายเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ
เมื่อเรามองย้อนไปในอดีตก็จะเจอร่องรอยที่คนรุ่นเก่าได้สร้างไว้ เรื่องราวของชาวลุ่มน้ำปากพนังแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่ต้องปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ แม้ในช่วงที่เผชิญปัญหา แต่เมื่อได้รับการแก้ไข และเรียนรู้เพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่เพียงเป็นการสร้างฐานความมั่นคงต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น ยังเป็นการสร้างฐานความสุขให้กับตัวเองและชุมชนเช่นกัน
- admin
- June 25, 2021
- 12:42 pm