Skip to content

อ. บุญเสริม แก้วพรหม ปั้นเยาวชนเป็นคนดี กวีน้อยเมืองนคร ฅนต้นแบบเมืองนคร แต่งกลอนสอนคน

            ถ้อยคำที่นำมาร้อยเรียงเกิดเป็นสุนทรียภาพทางภาษา ผลงานสร้างสรรค์จากกวีที่มีมาแต่ครั้งอดีตได้เดินทางมาถึงปัจจุบัน ในยุคที่ความทันสมัยของเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตแทบจะทุกมิติ กวีนิพนธ์อาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก หรือไม่ก็เลือนลางไปจากความทรงจำของใครหลายคน นับว่าโชคดีที่ยังมีกลุ่มอนุรักษ์สมบัติทางปัญญานี้ไว้ เช่นเดียวกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ ที่เรารู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งในการส่งเสริมและอนุรักษ์บทร้อยกรองของ อาจารย์บุญเสริม แก้วพรหม ผู้ก่อตั้งสำนักกวีน้อยเมืองนคร แต่งกลอนสอนคน ปั้นเยาวชนเป็นคนดี

ที่มาและแรงบันดาลใจในการก่อตั้งสำนักกวีน้อยเมืองนคร

            ก่อนจะมาเป็นสำนักกวีน้อยเมืองนครนั้น ต้องย้อนกลับไปในอดีตของเมืองนครศรีธรรมราชที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน เมื่อดูจากร่องรอยทางประวัติศาสตร์ จะเห็นว่าเป็นเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเมืองแห่งนักปราชญ์ เมืองแห่งบทกลอน คำว่า “เมืองนครศรีธรรมราช” ในอดีตไม่ได้หมายถึงจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน แต่หมายถึงอาณาจักรนครศรีธรรมราช หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในสมัยสุโขทัย บนหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ปรากฏร่องรอยที่สำคัญที่มีการกล่าวถึงสิ่งที่จัดเป็นศาสนประวัติ “เบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัยนี้ มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทาน แก่พระมหาสังฆเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจกปิฎกไตรหลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราช”

            อีกหนึ่งตำนานในสมัยกรุงศรีอยุธยา คือ “ศรีปราชญ์” กวีเอกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยในสมัยของพระองค์นั้นถือได้ว่าเป็น “ยุคทองของวรรณคดี” เรื่องที่เป็นประเด็นน่าขบคิด คือ ทำไมศรีปราชญ์ถูกเนรเทศไปเมืองนครศรีธรรมราช แทนที่จะเป็นเมืองอื่น? ในมุมมองของ อ. บุญเสริม นี่อาจจะเป็นเหตุผลประการหนึ่งของสมเด็จพระนารายณ์ที่อยากให้ศรีปราชญ์ไปอาศัยในที่ที่เหมาะสมกับตัวเอง จากความสามารถในการแต่งโคลงกลอน นี่จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าเมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองแห่งนักปราชญ์

            หรืออย่างบทกลอนบางตอนที่ปรากฏอยู่ในเพลงยาวถวายโอวาทของสุนทรภู่ ก็ได้มีการกล่าวถึงเมืองนครเช่นกัน อย่างหม่อมฉันอันที่ดีและชั่ว ถึงลับตัวแต่ก็ชื่อเขาลือฉาว เป็นอาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว เขมรลาวลือเลื่องถึงเมืองนคร ดังนั้นความเป็นสำนักกวีน้อยเมืองนคร จึงเป็นการเดินทางต่อเนื่องตามร่องรอยในอดีตที่บรรพชนได้สร้างสรรค์ผลงานและสืบทอดกันมา

            ปัจจุบันความเป็นกวี นักแต่งกลอน ได้ถูกถ่ายทอดโดยศิลปินผ่านทางศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ เช่น โนราห์ เพลงบอก หนังตะลุง ที่มีการขับร้องออกมาเป็นบทกลอน ซึ่งต้องใช้ไหวพริบและปฏิภาณ ช่วงปีพ.ศ. 2509 – 2512  ยุคที่ “ชมรมนักกลอนนครศรีกวีศิลป์” เฟื่องฟู  มีการประชันแข่งกลอนในงานประจำปีและงานอื่นๆ อยู่บ่อยครั้ง นักกลอนจากเมืองนครที่แข่งขันประชันกลอนในยุคนั้น เช่น อาจารย์เอื้อม อุบลพันธุ์ (จากฉวาง) อาจารย์ตรึก  พฤกษะศรี (จากปากพนัง) คุณอรรถกร  ถาวรมาศ (จากพรหมคีรี) เป็นต้น แต่ละท่านล้วนมีผลงานเป็นที่ปรากฏและรู้จักในระดับประเทศ

บทบาทครูและความเคลื่อนไหวทางด้านกวีศิลป์ของนครศรีธรรมราช

            ทางด้านอาจารย์บุญเสริม เริ่มฝึกเขียนกลอนตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ชั้นประถม จากการคลุกคลีกับหนังสือและเรียนรู้เกี่ยวกับบทกลอนในห้องเรียน แต่มาเริ่มเขียนอย่างจริงจังในระดับชั้นมัธยมศึกษา ได้ส่งผลงานเข้าประกวดและผ่านการคัดเลือกลงหนังสือพิมพ์ ออกอากาศทางวิทยุ แนวที่เขียนเป็นเรื่องเกี่ยวกับความรักและสะท้อนสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่นิยมของนักกลอนในสมัยนั้น

            ช่วงที่เป็นนักศึกษาวิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช (มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช-ปัจจุบัน) อาจารย์ได้ไปเจอบทหนึ่งในกลอนที่เขียนเอาไว้ว่า “…แม้ที่นี่ ไม่มีฟ้าสีสวย แต่ครูขออยู่ด้วย ช่วยสอนหนู ด้วยอยากเห็น ดอกไม้ป่าน่าเชิดชู ครูจะอยู่จนที่นี่..ฟ้าสีทอง” กลอนบทนี้จึงกลายมาเป็นเจตนารมณ์ของอาจารย์ในการยึดมั่นในวิชาชีพครูนาน 10 ปี ก่อนที่เปลี่ยนสายงานไปทางศึกษานิเทศก์

            กิจกรรมหนึ่งที่สำคัญในจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ เวทีกลอนเดือนสิบ ที่มีการจัดประกวดแข่งขันกลอนสดในงานประเพณีวันสารทเดือนสิบที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2512  อ. บุญเสริมเองก็เป็นหนึ่งในนักกลอนที่เข้าร่วมการแข่งขันนี้เช่นกัน และได้ทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องจนได้รับมอบหมายงานจากครูบาอาจารย์ให้มาช่วยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ

จุดเริ่มต้นและการเดินทางของสำนักกวีน้อยเมืองนคร

            ในอดีตได้มีการตั้งกลุ่มต่างๆ  เช่น “ชมรมดอกไม้นครศรีธรรมราช” ทำกิจกรรมทางด้านภาษาและวรรณศิลป์ “กลุ่มนาคร” กลุ่มศิลปะ-วรรณกรรมแห่งหัวเมืองปักษ์ใต้ เกิดจากการรวมตัวกันของคนที่สนใจเรื่องสั้น บทกวี นวนิยาย สำนักกวีน้อยเมืองนคร เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2542  ในชื่อ “โครงการกวีน้อยเมืองนคร” จัดกิจกรรมภายใต้การดำเนินงานของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช ดำเนินการต่อเนื่องจนกลายมาเป็นสำนักกวีน้อยเมืองนคร วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการอ่าน อนุรักษ์การเขียนบทร้อยกรอง สนับสนุนส่งเสริมกันตั้งแต่ระดับชั้นประถมที่สามารถอ่านออกเขียนได้อย่างคล่องแคล่ว จนถึงระดับอุดมศึกษา ตลอดการเดินทางกว่า 20 ปีของสำนักกวีน้อยเมืองนคร หลายคนเมื่อเติบโตขึ้นก็ยังคงสานต่อ ทำงานอยู่ในแวดวงนี้ มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศอยู่ไม่น้อย

            กิจกรรมหลักของสำนักกวีน้อย คือ การจัดอบรมและให้แนวทางกับครูที่จะนำไปสู่การสอนลูกศิษย์เกี่ยวกับการเขียนบทร้อยกรองในห้องเรียน และกิจกรรมเข้าค่าย ซึ่งมีอาจารย์และรุ่นพี่คอยให้คำแนะนำแก่เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม กลุ่มคนที่สนใจเข้าร่วมมีทั้งผู้เริ่มต้นและผู้ที่ต้องการต่อยอดเพิ่มเติม สำนักกวีน้อยเมืองนครมีหลักในการสอน คือ “เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ” ก่อนที่จะเริ่มเขียน ต้องรู้จักคำ เพราะเวลาเขียนเราต้องใช้คำ เวลาคิดก็คิดเป็นคำ และต้องรู้จักสัมผัส อย่างเด็กๆ ระดับประถมจะให้เริ่มต้นฝึกเขียน “กาพย์ยานี” เพราะเขียนง่าย มีข้อบังคับไม่มาก จากหนึ่งคำให้ขยายความเป็นหนึ่งวรรค (ข้อความช่วงหนึ่งของบทร้อยกรอง) แล้วค่อยไต่ระดับความยากขึ้นเรื่อยๆ

แต่งกลอนสอนคน ปั้นเยาวชนเป็นคนดี กับทิศทางของภาษาและการก้าวหน้าของเทคโนโลยี

            การก้าวหน้าของเทคโนโนโลยี ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลและแหล่งเรียนรู้ง่ายขึ้นกว่าเมื่อก่อน ส่งผลให้ทุกช่วงวัยหันมาเสพสื่อออนไลน์กันมากขึ้น แย่งชิงพื้นที่และเวลาส่วนตัวจากกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน อย่างการอ่านหนังสือก็ดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจลดลง ในมุมมองของ อ. บุญเสริม ท่านเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ถ้ามองในมุมของคนที่ยังมีความสนใจเรื่องการอ่านและเขียนอยู่ ก็จะเห็นการพัฒนาความคิดและรูปแบบที่ต่างไป กิจกรรมของสำนักกวีน้อยเมืองนครไม่ได้ฝึกแค่การอ่านและเขียนเท่านั้น แต่ยังฝึกฝนเรื่องทักษะความคิด ทักษะการใช้ชีวิต ความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมอีกด้วย

            การเขียนกลอนของ อ. บุญเสริม ไม่ได้เน้นการสอนคนโดยตรง ส่วนใหญ่มักจะบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดของตัวเองต่อสถานการณ์หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะถูกหรือผิดนั้นไม่อาจทราบได้ แต่แฝงไปด้วยประเด็นบางอย่างที่ผู้อ่านสามารถนำไปขบคิดและประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต การสื่อสารกับเยาวชนรุ่นใหม่ มีการปรับตัวโดยใช้สื่อออนไลน์เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ เนื้อหามีการเติมเต็มความรู้สึกเข้าไป กิจกรรมก็มีรูปแบบที่หลากหลายขึ้นเช่นกัน

            ถ้าเราเห็นคุณค่าของอะไรสักอย่าง เราจะทำสิ่งนั้นด้วยใจรัก การที่จะส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่สนใจเรื่องวัฒนธรรม สานต่อวรรณกรรมไทย ต้องเริ่มจากการให้พวกเขาเข้าใจและเห็นคุณค่าของวัฒนธรรม วรรณกรรม จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสูญเสียสิ่งนั้นไป กวีนิพนธ์แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่เป็นเลิศทางการใช้ภาษา วัฒนธรรมจึงเปรียบเสมือนรากของสังคม ภาษาก็เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ไม่ได้ใช้เพียงเพื่อสื่อสารเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความเป็นมา เอกลักษณ์ และความผูกพันธ์ของคนในสังคมเช่นกัน

ชมคลิปสัมภาษณ์ อ.บุญเสริม แก้วพรหม ได้ที่นี่

ติดตามรายได้ “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ” ได้ทุกคืนวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น.