เรืออากาศโท สมพร ปานดำ อาชีวะสร้างคน คนสร้างเมือง ฅนต้นแบบ งานต้นแบบเมืองนคร
- เกียรติรัตน์ จินดามณี
- August 21, 2021
- 1:49 am
การเรียนสายอาชีวศึกษาหรือสายอาชีพมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศเช่นเดียวกับสายอื่น การที่จะผลักดันให้เด็กไปได้ไกลในสายอาชีพของตนเอง ครูผู้สอนมีบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุนเช่นกัน ทางนครศรีสเตชั่นมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับฅนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ บุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต ครูผู้สร้างโอกาสให้นักเรียนอาชีวศึกษา เรืออากาศโท สมพร ปานดำ ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม (นักวิชาการศึกษาทรงคุณวุฒิ) กับงานต้นแบบอาชีวะสร้างคน คนสร้างเมือง
สร้างคุณค่า สร้างตัวตน บนเส้นทางชีวิตที่กำหนดเอง
เรืออากาศโทสมพรใช้ชีวิตโดยถือคติที่ว่า “คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้” บ้านเกิดอยู่ที่อำเภอหัวไทร นครศรีธรรมราช ช่วงชีวิตในวัยเด็กมีความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก เมื่อในชุมชนมีงานอะไรก็ตามมักจะอาสาช่วยเหลืออยู่เสมอ รับจ้างทำงานต่างๆ ประสบการณ์ในวัยเด็กจึงหล่อหลอมให้เรืออากาศโทสมพรเติบโตมาเป็นคนที่เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ ในชีวิต
เมื่อเรียนจบ มศ.5 ก็มีเจตจำนงค์ว่าจะเป็นทหารให้ได้ เพราะเป็นทหารจะได้รับเงินเดือนตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรียน จึงตัดสินใจเดินทางไปกรุงเทพฯ เรียนในโรงเรียนจ่าอากาศ ในที่สุดก็ได้เข้ารับเรียนในสาขา เหล่าทหารถ่ายรูป รุ่นที่ 26 ชีวิตราชการที่ต้องประจำการอยู่ต่างจังหวัด ทำให้เรืออากาศโทสมพร ย้อนกลับมาถามตัวเองว่า จะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อเป็นการสร้างคุณค่าให้แก่ตัวเองและหน่วยงานที่สังกัด จึงได้อุทิศตนทำงานที่เป็นประโยชน์ต่างๆเพื่อหน่วยงาน จนมีผลงานได้รับเลือกให้เป็นบุคคลดีเด่นของกองทัพอากาศ จากนั้นได้รับการทาบทามให้ไปเป็นอาจารย์สอนระดับมัธยม แต่ด้วยวุฒิการศึกษาในระดับนั้นเรืออากาศโทสมพรมองว่า หากจะไปเป็นอาจารย์ควรมีวุฒิการศึกษาที่สูงกว่านี้
ด้วยความคนที่มีผลงานดีเยี่ยม และมีความกตัญญูรู้คุณ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรืออากาศโทสมพร มีติดตัวมาตั้งแต่เริ่มจำความได้ ร่วมกับการที่มีจิดสาธารณะ จึงได้รับโอกาสจากผู้บังคับบัญชาส่งเสริม ให้การอนุเคราะห์นักเรียนทุนของกองทัพอากาศ ได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพฯ สาขาเทคโนโลยีการถ่ายภาพและภาพยนตร์ จากนั้นสอบเทียบได้เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร หนึ่งในผลงานที่ได้ทำระหว่างรับราชการเป็นอาจารย์สอนที่โรงเรียนจ่าอากาศ คือ การมีส่วนร่วมในการ รับสมัครนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าศึกษาต่อ ของโรงเรียนจ่าอากาศได้รับการเทียบวุฒิในระดับ ปวช.ของอาชีวศึกษา
ด้วยผลงานนี้เอง เรืออากาศโท สมพร ได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาสนับสนุนให้เข้ารับการศึกษาที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 62 ซึ่งถือเป็นความภูมิใจสูงสุดอย่างหนึ่งในชีวิตของ เรืออากาศโท สมพร
จากนั้นจึงตัดสินใจไปเป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช ทำให้มีโอกาสพบปะกับผู้คนหลายสาขาอาชีพ นอกจากนี้เรืออากาศโทสมพรยังมีผลงานต่างๆ มากมาย ทั้งด้านปฏิบัติงาน ด้านสังคม ด้านศาสนา เช่น มีส่วนช่วยในการก่อตั้งสมาคมสื่อมวลชนนครศรีธรรมราช ในแวดวงศิลปหัตถกรรมได้รวบรวมบรรดาศิลปินพื้นบ้านก่อตั้งเป็นสมาคมศิลปินพื้นบ้านนครศรีธรรมราช ส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาในการเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันต่างๆ เป็นต้น
สร้างคน สร้างงาน เชื่อมโยงผ่านวิถีชีวิต
เมื่อได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยการอาชีพพรหมคีรี เรืออากาศโทสมพรมีแนวคิดการทำงานที่ว่าโลกของการศึกษากับอาชีพต้องเชื่อมโยงกัน การศึกษาที่แท้จริง คือ การช่วยเหลือให้นักเรียน นักศึกษานำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปประกอบอาชีพได้ หากสามารถสร้างรายได้ระหว่างเรียน ก็จะเป็นแรงจูงใจให้เยาวชนหันมาเข้าสู่ระบบการศึกษามากขึ้น
จึงเกิดแนวคิดที่ว่า จะสร้างโรงงานในโรงเรียน ทำโรงเรียนให้เป็นโรงงาน เชื่อมโยงการเรียนรู้ของนักเรียนผ่านการทำงานกับบริษัทในการผลิตรถราง เกิดเป็นโครงการที่ชื่อว่า “เล่ารถชมเมือง เล่าเรื่องพระเจ้าตากสิน” ประกอบด้วยครู นักเรียนช่าง นักเรียนแผนกการโรงแรมและการท่องเที่ยวที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องราวของพระเจ้าตากสินที่เกี่ยวข้องกับอำเภอพรหมคีรีและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเพื่อทำหน้าที่เป็นไกด์ ขับรถแวะไปตามสถานที่สำคัญ สวนผักผลไม้ ร้านอาหาร
เมื่อเริ่มต้นโครงการได้ไม่นานก็ต้องย้ายไปเป็นผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคสิชล ริเริ่มให้มีการซื้อเครื่องมือช่างประจำตัวให้กับนักเรียนนักศึกษา สร้างหลักสูตรระยะสั้นให้บุคลากรเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นให้มีรายได้เพิ่ม เน้นพัฒนาทักษะสำคัญในอนาคต โดยเฉพาะทักษะด้านภาษาอังกฤษเพื่อให้ร้านค้าในชุมชนสามารถสื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้
จากนั้นเรืออากาศโทสมพรได้ย้ายไปเป็นผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช ด้วยจำนวนนักเรียนที่มากขึ้นเมื่อเทียบกับวิทยาลัยก่อนหน้านี้ ทำให้ต้องมาคิดทบทวนใหม่ว่า ทำอย่างไรจึงจะพัฒนาศักยภาพของเด็กแต่ละคนให้เก่งขึ้น “จิตอาสา” จึงเป็นสิ่งที่ทางเรืออากาศโทสมพรอยากให้นักเรียนอาชีวศึกษาทุกรุ่นพึงมี เมื่อใดที่เกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ นักเรียนอาชีวศึกษามักจะเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการช่วยเหลือ
อย่างประเพณีสารทเดือนสิบก็มีบริการปะยางฟรี 24 ชม. เป็นไอเดียที่สร้างสรรค์และช่วยสร้างความอุ่นใจให้ชาวบ้านที่มาร่วมงานได้ดีทีเดียวเมื่อใดที่สถานศึกษาเห็นความสำคัญของเยาวชน รวมถึงบุคลากรเป็นตัวอย่างที่ดี เยาวชนเหล่านั้นก็จะถูกรายล้อมไปด้วยสภาพแวดล้อมที่ดี มีจิตสาธารณะที่อยากส่งต่อสิ่งดีๆ ให้แก่ชุมชน
ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี ที่จะช่วยสร้างคนดีคืนสู่สังคม
หนึ่งในหลักคิดหลักการทำงานของ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ คือ การที่ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง และยึดหลักความกตัญญูเป็นที่ตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการกตัญญูต่อพ่อแม่ กตัญญูต่อหน่วยงาน กตัญญูแต่ชุมชน รวมถึงกตัญญูต่อประเทศชาติ ความกตัญญูนี้จะช่วยให้เราทำงานประสบความสำเร็จ เป็นที่รักใคร่ของคนที่ได้มีโอกาสได้ร่วมงาน
ความกตัญญูนี่เอง เรืออากาศโท สมพร พยายามถ่ายทอดให้กับลูกศิษย์ ผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยการสั่งสอนแนะนำ รวมถึงทำให้เห็นเป็นแบบอย่าง เพื่อหวังที่จะสร้างคนดีคือสู่หน่วยงาน สร้างลูกหลานอาชีวะที่ดีคืนสู่สังคม
การบูรณาการทางการศึกษาและการสร้างความร่วมมือกับชุมชน คือความอยู่รอดของประเพณี
เรืออากาศโท สมพร ได้ให้ข้อคิดและตั้งข้อสังเกตุสำหรับการดำรงไว้ซึ่งเรื่องของ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ของชาวนครศรีธรรมราช คือ ภาคการศึกษาจำเป็นที่จะต้องมีการบูรณาการ ศาสตร์ที่เรียนรู้เพื่อให้มีความเชื่อมโยงประสานกันชุมชน งานศิลปะ ประเพณี หลายอย่างกำลังจะถูกลืมเลือนไป ขาดคนรุ่นใหม่รับมรดกวัฒนธรรม เช่น การทำเครื่องเงิน หนังตะลุง เหลงบอก การรำมโนราห์ ฯ เป็นต้น
ภาคการศึกษาควรหยิบยก ศิลปะ วัฒนธรรมชุมชน มาเป็นหนึ่งในหลักสูตรเพื่อสืบสานสิ่งมีค่าทางชุมชนให้ดำรงไว้ เช่นการทำหลักสูตร การแกะหนังตะลุง สานกระเป๋าย่านลิเภา หรือ การทำคณะมโนราห์ เป็นต้น สอนทั้งในมิติการภาคการผลิต คือ ผลิตบุคลากรในเรื่องเหล่านี้ รวมทั้งเพิ่มเติมมิติทางการตลาดเพื่อให้ผลิตผลที่ทางระบบการศึกษาผลิตคนออกมาแล้วทำให้เกิดเป็นอาชีพ มีรายได้
ทำได้อย่างนี้ ของดี ของมีค่า ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี ก็ยังคงอยู่ไม่ถูกทิ้งให้สูญหายไปกลับกาลเวลา และคนรุ่นใหม่ก็ได้เห็นคุณค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างและถ่ายทอดกันมา
วัฒนธรรม ศิลปะ ในอนาคต
ผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 กับวิถีชีวิตและการปรับตัวของนักเรียนอาชีวศึกษา
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลงเมื่อใด สำหรับนักเรียนอาชีวะซึ่งเน้นภาคปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่ วิกฤตโควิด-19 นั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่อการศึกษา การประเมินในภาคปฏิบัติจึงทำได้ยาก ช่วงเวลาที่ต้องหยุดเรียนทำให้นักเรียนห่างเหินจากการฝึกใช้เครื่องมือต่างๆ ที่จำเป็นต่อวิชาชีพ
การจัดการศึกษาของอาชีวศึกษาในตอนนี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและความพร้อมของผู้เรียน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าในยุคก่อนหน้านี้นักเรียนที่เข้ามาเรียนหลักสูตรอาชีวศึกษา มีทั้งนักเรียนที่อยากจะเรียนสายอาชีพอยู่แล้ว และก็มีบางส่วนไม่รู้ว่าจะเลือกเรียนอะไร สายวิชาการก็ไม่ถนัดจึงตัดสินใจมาเลือกเรียนอาชีวะ
อย่างการเรียนออนไลน์ใช่ว่าจะตอบโจทย์ทุกระบบการศึกษา มีนักเรียนอาชีวะจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหานี้ บุคลากรเองก็ไม่ถนัดสอนออนไลน์ มักจะเกิดปัญหาบ่อยเมื่อต้องเช็คชื่อ เมื่อครั้งที่เป็นผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช มีเด็กไม่ผ่านกิจกรรมจำนวนหนึ่ง
หลายคนมักจะตัดสินว่าเด็กเหล่านั้นไม่สนใจเรียน แต่สำหรับเรืออากาศโทสมพรไม่ได้คิดเช่นนั้น กลับมองว่าต้องค้นหาคำตอบให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น ปรากฏว่าเมื่อทางบุคลากรไปสืบหาข้อมูลก็ได้คำตอบว่า บางคนต้องช่วยงานที่บ้าน บางคนต้องทำงานส่งเสียตัวเองเรียน จึงขาดเช็คชื่อในคาบเรียน ทำให้เด็กเสียโอกาสครั้งสำคัญ ครูจึงต้องสร้างสื่อการสอนที่นักเรียนสามารถเรียนเวลาใดก็ได้ แต่จะทำอย่างไรให้มีการวัดผลได้ วิธีการวัดผล ต้องมีความยืดหยุ่น ดึงเอาสาระการเรียนรู้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพมาใช้ในการวัดผล
สำหรับเด็กฝึกงานที่ต้องหยุดชะงักในช่วงโควิด-19 ทางโรงเรียนไม่สามารถหาที่ฝึกงานได้เทียบเคียงเท่าโรงงาน การวัดผลจึงทำไม่ได้ จึงได้แก้ปัญหาให้นักเรียนทำโครงงานที่เกิดจากการบูรณาการหลายวิชาที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานการอาชีพ อย่างบางวิชาที่ไม่อยากทำโครงงาน เช่น การก่อสร้าง ครูจะทำหน้าที่เป็นโค้ชพานักเรียนไปซ่อมแซมบำรุงอาคารบ้านเรือนในชุมชน เพื่อทดแทนวิชาฝึกงาน
แม้วิกฤตนี้จะจบลง แน่นอนว่าหลายอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปโดยเฉพาะด้านอาชีพ สิ่งที่เรืออากาศโทสมพรกังวลคือ การที่นักเรียนจบไปแล้วแต่ไม่มีงานทำ เด็กอาชีวะจะต้องปรับตัวในเชิงของการสร้างสรรค์ สนใจใฝ่รู้ด้วยตัวเองให้มากขึ้นทั้งเรื่องเทคโนโลยีและภาษาต่างประเทศ เข้าใจเรื่องมาตรฐานอาชีพ และศักยภาพของพนักงานที่บริษัทมองหาในอนาคต
อาชีพของคนเป็นครู มักจะมีจิตวิญญาณของการเป็นครูตลอด 24 ชม. การสอนของเรืออากาศโทสมพรมุ่งเน้นให้เด็กได้ลองผิดลองถูก แล้วนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปวิเคราะห์เพื่อเป็นต้นทุนในการตั้งต้นชีวิต ด้วยความที่ท่านมีสำนึกรักษ์บ้านเกิด การพัฒนาการศึกษาต้องทำให้นักเรียนรับรู้ในหลายมิติของชุมชนที่อยู่อาศัย สามารถบูรณาการทุกศาสตร์เข้าด้วยกันได้ ผ่านการเรียนรู้จากสิ่งของ ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิต และจิตอาสา ถ่ายทอดให้ผู้อื่นได้เห็นคุณค่าของดีเมืองนครให้ได้รับการสืบทอดต่อไป
ติดตามชมคลิปสัมภาษณ์ เรืออากาศโท สมพร ปานดำ ย้อนหลังได้ ที่นี่
ชมรายการ Live สด “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่
*****************************************
ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ
- เกียรติรัตน์ จินดามณี
- August 21, 2021
- 1:49 am