คุณ สุภาวดี ขำเกิด รักษาวัฒนธรรม นำความทันสมัย มาใช้ส่งต่อคุณค่า
นับเป็นเรื่องดีที่เยาวชนไทยเริ่มหันมาสนใจอนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น หลายคนมีจุดเริ่มต้นจากความชอบสู่การประกวดแข่งขัน บางคนสามารถต่อยอดสร้างอาชีพและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนอื่นๆ ได้ คนต้นแบบเมืองนครที่ทางนครศรีสเตชั่นอยากแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จัก เป็นคนรุ่นใหม่ที่สืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของบ้านเกิด การันตีด้วยรางวัลระดับประเทศ คุณ สุภาวดี ขำเกิด รักษาวัฒนธรรม นำความทันสมัย มาใช้ส่งต่อคุณค่า
จุดเริ่มต้นจากความรักในการร้องเพลงลูกทุ่ง สู่เล่านิทานพื้นบ้าน การร้องเพลงบอก และเพลงร้องเรือ
คุณสุภาวดี หรือน้องเตย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5โรงเรียนปากพนัง เยาวชนที่มีความสามารถในการแสดงและสืบสานศิลปวัฒนธรรม จุดเริ่มต้นจากครอบครัวที่มีเชื้อสายมโนราห์ ทำให้น้องเตยค่อยๆ ซึมซับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นตั้งแต่เด็ก ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง น้องเตยมักจะเปิดดูซีดีการแสดงมโนราห์จากศิลปินที่ชื่นชอบ เมื่อเข้าสู่วัยประถมศึกษาได้รับเลือกจากคุณครูที่โรงเรียนให้ร้องเพลงหน้าชั้นเรียน พรสวรรค์ด้านการร้องที่ฉายแววออกมาทำให้น้องเตยได้เป็นนักร้องของโรงเรียน โดยมีคุณครูช่วยฝึกสอนร้องเพลงมาเรื่อยๆ
จนมีโอกาสได้เข้าประกวดร้องเพลงเป็นครั้งแรก แม้จะไม่ชนะการประกวดแต่ก็ไม่รู้สึกเสียใจ จากเวทีแรกน้องเตยได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการประกวดร้องเพลงมาโดยตลอด จนถึงวัยมัธยมก็ได้เป็นนักร้องประจำโรงเรียนปากพนัง ได้รับการชักชวนจากคุณครูวิชาภาษาไทยให้ไปฝึกซ้อมเพื่อแข่งขันเล่านิทานพื้นบ้าน เมื่อน้องเตยเห็นว่ามีรุ่นพี่กำลังซ้อมเพลงบอกเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน (เพลงบอกเป็นการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ) ก็เกิดความสนใจขึ้นทันที ซึ่งส่วนตัวน้องเตยรู้จักกับเพลงบอกเพียงแต่ทอกเพลงไม่เป็น (ทอก หมายถึง การทำซ้ำ การย้ำ เพลงบอกคือการร้องแบบซ้ำๆ)
จากวันนั้นน้องเตยเริ่มศึกษาการร้องเพลงบอกผ่านช่อง Youtube จนเมื่อโอกาสมาถึงน้องเตยเริ่มแข่งเพลงบอกในขณะที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และไม่ว่าทางคุณครูจะเสนอกิจกรรมอะไรก็ตาม น้องเตยมักจะตอบรับเสมอ เรียกได้ว่าเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง ซึ่งน้องเตยมองว่าการที่ได้ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ ทำให้มีประสบการณ์มากขึ้นทั้งในด้านการทำงาน การใช้ชีวิต เรียนรู้ที่จะวางตัวตัวให้เหมาะสม
ก้าวสู่เวทีการประกวดแข่งขันระดับประเทศ
จากจุดเริ่มต้นของการประกวดในระดับท้องถิ่นตั้งแต่วัยประถมจนถึงปัจจุบัน น้องเตยได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ นำเอาข้อผิดพลาดมาปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น ความกระตือรือร้นในการฝึกซ้อม บวกกับการขอคำแนะนำจากผู้อื่น ช่วยเพิ่มพูนทักษะในการร้องให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาน้องเตยเคยก้าวสู่เวทีการประกวดร้องเพลงในรายการไมค์ทองคำ (รายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง) ซึ่งตัวเธอเองมีดีกรีเป็นถึงแชมป์ 2 สมัยในการแข่งขันเพลงร้องเรือ ที่จัดขึ้นในงานทำบุญสารทเดือนสิบของนครศรีธรรมราช ในส่วนของเพลงบอก ซึ่งเป็นการละเล่นประเภทการขับร้องที่ต้องใช้สำเนียงภาษาถิ่นใต้ในการร้องบท
จากการที่ได้เห็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนฝึกซ้อมเพลงบอก บวกกับความสนใจส่วนตัว ทำให้น้องเตยมีโอกาสได้ฝึกซ้อมเป็นลูกคู่ ความยากอยู่ตรงที่คีย์ร้องที่ต่างกันระหว่างเสียงของผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งเพลงบอกส่วนใหญ่จะร้องโดยผู้ชาย เป็นเสียงต่ำกว่าผู้หญิง น้องเตยจึงต้องปรับเสียงคีย์ร้องของตัวเองให้ต่ำลงกว่าเสียงปกติ และอีกหนึ่งผลงานที่น่าภาคภูมิใจของน้องเตยและสมาชิกในทีมคือ การได้เข้าร่วมการแข่งขันเพลงบอกเยาวชนโล่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี น้องเตยเล่าว่า บรรยากาศการแข่งขันในตอนนั้น ทางกรรมการมีญัตติมาให้ (ได้ญัตติหัวข้อ “ถ้าฉันได้เป็นนายกรัฐมนตรี”) ซึ่งทีมผู้เข้าแข่งขันต้องเตรียมเนื้อร้องกันเอง การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 รอบ คัดเหลือ 5 ทีมสุดท้ายเพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ผลการตัดสินทีมของน้องเตยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1
รักษาวัฒนธรรม นำความทันสมัย มาใช้ส่งต่อคุณค่า
น้องเตยเล่าว่า ทางครอบครัวน้องเตยมีเชื้อสายมโนราห์มาตั้งแต่รุ่นปู่ทวดยายทวด จากจุดนี้ทำให้ตัวเธอมีความชื่นชอบศิลปการแสดงภาคใต้ แม้ไม่เก่งในศาสตร์มโนราห์ แต่ทุกครั้งที่มีโอกาสได้แสดงความสามารถ น้องเตยมักจะนำเสนอศิลปะการแสดงท้องถิ่นใต้สอดแทรกเข้าไปด้วย การที่เติบโตมากับศิลปวัฒนธรรม น้องเตยจึงรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะทอดทิ้งสิ่งเหล่านี้ไปได้ และอยากที่จะอนุรักษ์ไว้ เธอจึงรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ อย่างโนราห์นั้นเพิ่งจะได้รับการขึ้นทะเบียนจาก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ สร้างความภูมิใจให้กับชาวไทยทั่วทุกภาคไม่เฉพาะแค่ภาคใต้เท่านั้น
ส่วนในอนาคตหลังจากเรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษา น้องเตยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะศึกษาต่อทางครุศาสตร์ เอกภาษาไทย เธอให้ความเห็นว่าอย่างน้อยก็มีในเรื่องของกาพย์ โคลง กลอน ซึ่งเป็นสิ่งที่น้องเตยคุ้นเคยสามารถนำไปถ่ายทอดสู่นักเรียนของเธอได้ โดยผ่านการทำกิจกรรม เป็นการช่วยให้คนรุ่นใหม่ต่อจากนี้รับรู้ถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมภาคใต้
ไม่ใช่แค่ความชื่นชอบเท่านั้นที่จะพาเราไปสู่โอกาสในชีวิต แต่การเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่เข้ามาในชีวิต ฝึกฝนทักษะให้กับตัวเองอยู่เสมอต่างหากที่เป็นแรงผลักดันให้เราอยากที่จะแสวงหาโอกาสนั้น ซึ่งน้องเตยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพรสวรรค์ ความชอบ บวกกับความทุ่มเทนั้น ทำให้เธอเดินทางมาไกลแค่ไหน ที่สำคัญคือ การไม่ลืมที่จะระลึกถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเอง ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ และอยากที่จะรักษาของเก่าไว้ นำเสนอให้เข้ากับยุคสมัย พร้อมที่จะส่งต่อคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่านี้สู่คนรุ่นหลังสืบไป
ชมรายการ Live สด “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่
*****************************************
ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ