Skip to content

ผศ.เฉลิมพล จันทรโชติ ส่งเสริมงานศิลป์ สืบทอดวัฒนธรรมประเพณี

ศิลปะการแสดงพื้นบ้านสะท้อนให้เห็นถึงวิธีคิด ความเชื่อ ชีวิตความเป็นอยู่ และอัตลักษณ์ของผู้คนในท้องถิ่น มรดกทางภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่าที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์ ท่วงท่าการร่ายรำที่สอดคล้องไปกับจังหวะดนตรี ทำให้ผู้ชมอย่างเราไม่อาจละสายตาขณะรับชมไปได้ เช่นเดียวกับที่คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้ที่ได้พัฒนาต่อยอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านให้เข้ากับยุคสมัย เข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ผ่านงานต้นแบบที่แฝงมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นเอาไว้ ผศ.เฉลิมพล จันทรโชติ อาจารย์ประจำสาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม

ความชื่นชอบในการร่ายรำ กับการฝึกฝนอย่างหนัก

            ผศ.เฉลิมพล พื้นเพเป็นคนสงขลา เริ่มเรียนนาฏศิลป์ตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษา มีความชื่นชอบในการร้องรำ จึงตัดสินใจเข้าเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช สาขาวิชาโขนพระ สำเร็จการศึกษาคณะศิลปนาฏดุริยางค์ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เรียกได้ว่าอาจารย์อยู่ในสายศิลปินตั้งแต่วัยเด็ก อาจารย์เฉลิมพล เล่าว่า การฝึกซ้อมร่ายรำต้องอาศัยความพยายามและความอดทนอย่างมาก ในขณะที่ครูบาอาจารย์ค่อนข้างเคี่ยวเข็ญอย่างหนักเช่นกัน เพราะช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาในการปั้นแต่ง เพื่อให้การแสดงออกมาดีที่สุด แต่ละคนจึงมีคาแรกเตอร์แตกต่างกันไปตามตัวละครที่ได้สวมบทบาท

            ซึ่งวิชานาฏศิลป์ที่สอนกันตามโรงเรียนทั่วไปไม่เฉพาะเจาะจงว่าใครต้องรำเป็นตัวละครใด มีอิสระในการเลือก แต่สำหรับวิทยาลัยนาฏศิลปไม่เป็นเช่นนั้น ผู้เรียนจะได้รับการคัดเลือกว่าควรเรียนสาขาใด โดยดูจากลักษณะทางกายภาพของแต่ละบุคคลว่าเหมาะสมกับตัวละครใด ให้ความสำคัญตั้งแต่การปูพื้นฐานท่ารำของตัวละครในสาขาวิชาเอกที่เราเรียน เพื่อที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้ อาจารย์เฉลิมพล เล่าว่า ตัวพระกับตัวนาง นอกจากท่วงท่าการร่ายรำที่ต่างกันแล้ว การใช้พละกำลังก็ต่างเช่นกัน ตัวนางมีการเคลื่อนไหวที่ดูอ่อนโยนจึงใช้พลังน้อยกว่าตัวพระที่ต้องดูสง่างามเข้มแข็งตลอดเวลา  อาจารย์เฉลิมพล มองว่า การทำงานในอนาคตไม่จำกัดแค่ความสามารถด้านใดด้านหนึ่ง เด็กรุ่นใหม่จำเป็นจะต้องมีความรู้ที่หลากหลายเพื่อนำไปใช้ในการทำงาน ในฐานะที่เป็นอาจารย์จำเป็นจะต้องสอนทั้งตัวพระและตัวนาง จึงอยากให้เด็กๆ มีพื้นฐานที่แน่นก่อน แล้วค่อยๆ ต่อยอดไปฝึกฝนตามตัวละครที่ชื่นชอบ

จากศิลปินกับการก้าวไปสู่เส้นทางการเป็นอาจารย์

หลังจากจบการศึกษาระดับชั้นปริญญษตรี อาจารย์เฉลิมพลได้ทำงานเป็นนักวิชาการการศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  จากนั้นได้ผันตัวมาเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มีโอกาสได้รับทุนจากรัฐบาลประเทศอินโดนีเซีย เป็นช่วงเวลาที่ได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ในชีวิต ได้เรียนรู้วิธีการร่ายรำใหม่ๆ จากเจ้าของวัฒนธรรม อาจารย์เฉลิมพล เล่าว่า ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่อยู่บาหลี ตัวเองต้องพยายามเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับกลับมาสอนลูกศิษย์ จากนั้นอาจารย์ได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโท ควบคู่กับการเรียนภาษาอังกฤษ และเดินทางไปบาหลีเพื่อไปเรียนรู้นาฏศิลป์บาหลีจากศิลปินที่นั่นจนมีความรู้ในระดับนึง หลังจากที่สำเร็จการศึกษาสาขาศิลปการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เข้าทำงานในมหาวิทยาลัย จนมีโอกาสสอบในตำแหน่งอาจารย์ และเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชานาฏศิลป์ศึกษา วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช

บทบาทของหัวหน้างานวิจัยสร้างสรรค์ที่อาจารย์เฉลิมพลได้รับ ทำหน้าหน้าที่หลักในการผลิตผลงานให้กับทางวิทยาลัย มีทั้งศิลปนิพนธ์ในเรื่องของงานอนุรักษ์ ซึ่งอยู่ในรูปแบบของงานวิจัย เช่น ศึกษากลวิธีการรำของครูอาจารย์รุ่นเก่า เพื่อบันทึกเก็บเป็นข้อมูล  วิเคราะห์กระบวนการรำว่าเทคนิควิธีการของครูสมัยก่อนเป็นอย่างไร และในส่วนของงานสร้างสรรค์ เป็นงานที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ครีเอทงานนาฏศิลป์ตามความต้องการของตนเอง

ส่งเสริมงานศิลป์ สืบทอดวัฒนธรรมประเพณี ผ่านการแสดงที่แฝงอัตลักษณ์ท้องถิ่น

อาจารย์เฉลิมพล เล่าว่า การแสดงแต่ละชุดใช้ระยะเวลากว่า 1 ปีในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยที่นักเรียนมีส่วนร่วมในชิ้นงานนั้น อย่างนาฏศิลป์สร้างสรรค์ชุด “ลายถมเมืองนคร” แรงบันดาลใจเกิดจากลวดลายที่สวยงามของเครื่องถม นำเสนอความงามของลายถมผ่านเครื่องแต่งกายของนักแสดง เปรียบเหมือนเป็นเครื่องถมชิ้นหนึ่ง อาศัยแนวคิดจากศาสตร์ 4 DNA  ซึ่งก็คือ ศาสตร์ที่ช่วยดึงจุดเด่นของจังหวัด มาต่อยอดพัฒนาสินค้าและศิลปวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชนให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น การแสดงชุด “ลายถมเมืองนคร” ผสมผสานการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมของเมืองนคร โดยนำท่ารำโนราห์กับนาฏยลักษณ์ของวังเจ้าพระยานครมาผสมกัน มีการใช้ดนตรีไทยและดนตรีภาคใต้ในการให้จังหวะ ซึ่งท่ารำถอดแบบมาจากลวดลายเครื่องถมเช่นกัน เป็นผลงานที่แฝงไว้ด้วยอัตลักษณ์ท้องถิ่นและความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

ระบำสร้างสรรค์ชุด “สราญราษฎร์สักการะ” แนวคิดมาจากพิธีการสักการะพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช (ปฐมกษัตริย์ต้นราชวงศ์ปทุมวงศ์ แห่งอาณาจักรตามพรลิงก์ ผู้สร้างเมืองนครศรีธรรมราช) แน่นอนว่าใช้คอนเซปท์ถอด DNA เมืองนคร ส่วนงานสร้างสรรค์การแสดงชุด “สาวปากใต้” คำว่า ปากใต้ เป็นคำโบราณก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้คำว่า “ปักษ์ใต้” การแสดงชุดนี้ไม่ได้สื่อถึงวิถีชีวิต แต่สื่อถึงความเป็นผู้หญิง ความคาดหวังที่มีต่อผู้หญิง ภายใต้แนวคิดที่แสดงให้เห็นถึงความนุ่มนวลและความแข็งแกร่ง โดยพูดในองค์รวมของความเป็นผู้หญิงภาคใต้ ผสมผสานท่ารำท้องถิ่นแบบองค์รวมของวัฒนธรรมชาวใต้และชาวมลายู เช่น โนราห์ รองเง็ง ให้เกิดความกลมกลืนกัน ในส่วนของเครื่องแต่งกายใช้ผ้าพื้นเมือง ลายผ้า สีสัน ทรงผม เครื่องประดับ ดอกไม้ และองค์ระกอบอื่น ทุกอย่างล้วนแฝงไปด้วยความหมายที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์สาวปากใต้

การถ่ายทอดองค์ความรู้ของอาจารย์มักจะบอกแนวคิดและวิธีการเอาไว้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่เข้าใจและสามารถสืบสานต่อยอดผลงานได้ เมื่อเราเห็นถึงคุณค่าของงานที่ทำและได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ก็จะเกิดความภาคภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง อยากที่จะส่งต่อความงดงามของสุนทรียศาสตร์ที่ไม่อาจประเมินค่าได้

ชมคลิป VDO

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ