วังวัว • จานเรียว • ในเหลิง • วัวหลุง
เรื่องเล่าภูมินามที่มาจาก “วัว” ตัวเดียวกัน
เรื่องเล่าเป็นงานสร้างสรรค์อันมีผู้สร้าง
ใน “เรื่องเล่า” จึงมี “ผู้เล่า” ปรากฏตัวอยู่ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งหรือทั้งหมด
สิ่งที่ถูกส่งออกมาพร้อมกับภาษาคือ “สาร” และ “ความหมาย”
ซึ่งอนุญาตให้ผู้อ่านมีเสรีภาพในการ “ตีความ”
เรื่องเล่าหนึ่ง ๆ จึงมีได้มากกว่าหนึ่งความหมาย
เพราะทันทีที่เรื่องถูกเล่า หน้าที่ของผู้เล่าก็จบลง
.
บ้านวังวัว
ปัจจุบัน วังวัว เป็นชื่อบ้านในเขตอำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนอีกสามบ้าน ได้แก่ จานเรียว ในเหลิง และวัวหลุง ติดเขตอำเภอร่อนพิบูลย์ ทั้งสี่บ้านอยู่คนละปละ แต่ยังพอทำเนาได้ว่าเป็นหยอมเดียวกัน
.
เรื่องเล่าของทั้งสี่บ้านถูกเคล้าให้อยู่ในนิทานพื้นถิ่นเรื่องเดียวกัน โดยมี “วัว” เป็น “ตัวเดินเรื่อง” อากัปกิริยาและพฤติการณ์ในนั้นเป็นเหตุของชื่อบ้าน ดังจะเล่าตามที่ ดิเรก พรตตะเสน เล่าไว้ในสารนครศรีธรรมราช ต่อไปนี้
.
“เล่ากันว่า วันดีคืนดี จะมีวัวตัวผู้สีทองตัวหนึ่งผุดจากส่วนลึกของวังน้ำขึ้นมาร้องอย่างคึกคะนองอยู่บนฝั่ง ถ้าใครพบเห็น เจ้าวัวตัวนั้นก็จะหันบั้นท้ายของมันให้ แล้วยกหางขึ้นสูง แย้มลิ่มทองสุกปลั่งออกมาให้เห็นทางรูทวารหนัก และทันทีมันจะกระโจนตูมลงในวังน้ำ ดำมุดหายไปต่อหน้าต่อตา ตำแหน่งนั้นรู้จักกันในชื่อ “วังวัว” “วัง” ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงวังเจ้านาย หากหมายถึงแหล่งน้ำลึกของลำคลอง หรือแม่น้ำลำธารต่าง ๆ ส่วน “วัว” ก็คืออย่างเดียวกับที่คนนครออกเสียงว่า “งัว”
.
เมื่อเจ้าวัวสีทองประพฤติในทางยั่วมนุษย์ให้เกิดโลภะโทสะอยู่เป็นนิจดังนี้ ชาวบ้านก็เกิดกระตือรือร้นที่จะจับวัวสีทองตัวนั้นเอาทองมาให้ประโยชน์ให้ได้ จึงรวมกันเข้าเป็นหมู่ใหญ่ วางแผนพิชิตวังทองอย่างรัดกุม แผนสำคัญที่จะพลาดไม่ได้คือ เมื่อเจ้าวัวสีทองปรากฏตัวขึ้นบนฝั่ง คนหมู่หนึ่งจะต้องรวมกำลังกันขึงพืดริมฝั่ง พยายามกันไม่ให้เจ้าวัวสีทองกระโจนกลับลงวังน้ำของมัน ซึ่งถ้ากันให้เจ้าวัวสีทองค้างอยู่บนบกได้ ถึงมันจะเตลิดไปไหน ๆ ก็ตามจับได้เป็นแน่นอน
.
ครั้นแล้ววันหนึ่ง เจ้าวัวสีทองปรากฏตัวขึ้นบนฝั่งตามเคย และแล้วความพยายามของมนุษย์ในอันที่จะกันไม่ให้เจ้าวัวสีทองกระโจนกลับลงวังน้ำก็สำเร็จตามแผน แต่เจ้าวัวสีทองตัวนั้นไม่ใช่วัวธรรมดาที่จะจับกันได้ง่าย ๆ เมื่อหนทางที่มันจะกระโจนกลับวังน้ำถูกกีดกัน มันก็แหวกวงล้อมเตลิดไปทางตะวันตก ข้างชาวบ้านก็ฮือไล่ตามอย่างกระชั้นชิด
.
ครั้งหนึ่ง วัวสีทองไปจนมุมที่ซอกเขาแห่งหนึ่ง ริมริมจะจับได้แล้วทีเดียว แต่เนื่องจากชาวบ้านที่ตามประชิดติดพันในตอนนั้นน้อยตัวเกินไป จึงไม่สามารถจะตีวงล้อมเข้าถึงตัวมันได้ สิ่งสำคัญที่จะใช้จับวัวคือเชือกก็ไม่ติดมา หลังจากเล่นเอาเถิดเจ้าล่อชุลมุนกันพักใหญ่ ก็ตกลงใจกันจะจับตาย ชาวบ้านคนหนึ่งมีฝีมือในทางเขวี้ยงพร้า ก็เขวี้ยงพร้าในมือหวือไปทันที หมายตัดขาหน้าเจ้าวัวทองให้ขาดหกคะเมนตีแปลงลงตรงนั้น แต่ก็อัศจรรย์ ฝีมืออันเคยฉมังกลับพลาด พร้าหมุนติ้วตัดอากาศเหนือหลังวัวสีทอง หวือหายไปในความลึกของซอกเขา เจ้าวัวสีทองสบโอกาสแหวกวงล้อมหลุดออกไปได้อีก เล่นเอาพวกตามพิชิตวัวเกือบสิ้นพยายาม ต่างทรุดลงนั่งลงอย่างหมดแรง และทั้งนี้ เพื่อจะรอเพื่อนคนเขวี้ยงพร้า ซึ่งเดินดุ่มเข้าไปเก็บพร้าของตนในซอกเขาลึกด้วย
.
เกือบหนึ่งชั่วยาม กะทาชายนายเจ้าของพร้าจึงได้พร้าของตนกลับมา เพื่อน ๆ ที่นั่งรอจนหายเหนื่อยตั้งนานแสนนานและกำลังร้อนใจจะแกะรอยวัวทองต่อไป พากันกระชากเสียงถามด้วยความขุ่นเคืองเป็นเสียงเดียวกันว่า
“เข้าไปถึงไหนวะ”
“ถึงเหลิงเว้ย” เจ้าของพร้าตอบแล้วชวนกันแกะรอยวัวทองต่อไป
.
บ้านในเหลิง
เหตุนี้เอง ซอกเขาแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “เหลิง” หรือเขียนตามสำเนียงใต้ได้เป็น “เลิ่ง” หมายถึง ที่สุดแห่งความลึกเว้าของซอกเขา ในที่นี้คือในวงโอบของเขาหมากกับเขาแดง
.
เนื่องจากทิ้งระยะกันนานเกินไป จากในเหลิงพวกชาวบ้านต้องวกไปวนมา หาเส้นทางเดินของเจ้าวัวทองหลายตลบ จนกระทั่งพบรอย “จานเยี่ยว” ของมันเข้ารอยหนึ่ง จึงแกะรอยตามติดไปตามเส้นทางอันถูกต้องได้ต่อไป
.
บ้านจานเรียว
ที่เจ้าวัวทอง “จานเยี่ยว” แห่งนี้ ในสภาพภูมิประเทศปัจจุบันก็คือตรงที่ตั้งที่ว่าการอำเภอร่อนพิบูลย์นั้นเอง หมู่บ้านแถบนี้ชื่อหมู่บ้าน “จานเรียว” ว่ากันว่า “เยี่ยว” ถูกแปลงให้สุภาพเป็น “เรียว” ความหมายเลยวิบัติไปจากเดิม
.
ถึงตอนนี้ เห็นจะต้องทำความเข้าใจ “จาน” กันสักหน่อย “จาน” ที่ประกอบ “เยี่ยว” ไม่ได้หมายถึงภาชนะหรือคำกร่อนจาก “ประจาน” ที่บ่นถึงการประกาศความชั่ว “จาน” เป็นคำไทยโบราณที่ชาวปักษ์ใต้ออกเสียงใกล้เคียงสำเนียงภาคกลางอย่างที่สุด และยังใช้ติดปากอยู่ในความหมายเดิมไม่ลืมเลือน โดยแปลว่า “เจือด้วยน้ำ” เช่นหากคนภาคกลางพูดว่า “ขอน้ำแกงราดข้าว” คนปักษ์ใต้ก็จะพูดเป็น “ขอน้ำแกงจานข้าว” ใช้ “จาน” แทน “ราด” เพราะมันเป็นคำติดปาก ที่อำเภอร่อนพิบูลย์นี้ ยังมีทุ่งกว้างแห่งหนึ่งเรียกกันว่า “ทุ่งน้ำจาน” เพราะว่าทุ่งแห่งนั้นมีน้ำเอิบซึมเปียกอยู่เป็นนิจ
.
บ้านวัวหลุง
กลุ่มชาวบ้านตามวัวทองซึ่งบ่ายหน้าไปตะวันตกจนกระทั่งทัน และล้อมติดจับได้ที่บ้าน “วัวหลุง” อีกครั้งหนึ่ง “หลุง” คือคำกร่อนจาก “ถลุง” พวกชาวบ้านจับวัวทองได้ก็จัดแจงหาฟืนมาติดไฟขึ้นคิดจะเผาวัวเอาทอง หรือ “ถลุงวัว” ให้เป็นทองกันโดยไม่ชักช้า แต่ก็ไม่สำเร็จ วัวทองเจ้ากรรมหลุดไปได้ บ้าน “วัวหลุง”
.
วัวทองดิ้นหลุดมือมนุษย์ได้อย่างหวุดหวิดแล้วก็มุ่งกลับไปตะวันออก นัยว่าจะกลับวังน้ำของมัน แต่ชาวบ้านรู้จึงสกัดไว้ วัวทองบ่ายหน้าขึ้นเหนือ ในที่สุดก็ถูกล้อมจับได้อีกที่บ้าน “หลุงทอง” ครั้งนี้วัวทองถูกล้อมตีด้วยไม้กระบองสั้นยาวจนตาย แต่แล้วในขณะที่พวกชาวบ้านบ้างหาฟืนบ้านติดไปชุลมุนอยู่นั้นเอง เจ้าวัวทองซึ่งถูกรุมตีจนน่วมขาดใจตายไปแล้วกลับฟื้นขึ้นและเผ่นหนีไปได้อีก แต่พวกมนุษย์ก็ยังหายอมแพ้เดียรัจฉานวิเศษตัวนี้ไม่ กรูเกรียวกันตามกันต่อไปอีกอย่างไม่ลดละ ในที่สุดก็ไปถึงภูเขาสูงชันในถ้ำแห่งหนึ่ง วัวทองพรวดพราดเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่งในเชิงภูเขานั้น ชาวบ้านก็ตามติดเข้าไปด้วย แต่เมื่อก้นถ้ำซึ่งทึบตัน เข้าไปทางไหนก็ต้องออกทางนั้นทุกซอกทุกมุม จนอ่อนใจไม่หาวัวทองตัวนั้นไม่ วัวทองสูญหายไร้ร่องรอยไปอย่างอัศจรรย์” เรื่องก็จบลงแต่เท่านี้
.
มีข้อสังเกตน่าสนใจเกี่ยวกับ “บ้านวังวัว” อยู่สองประการ อย่างแรกคือการมีทำเลอยู่ในกลุ่มชุมชนพราหมณ์โบราณเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่ บ้านหนองแตน บ้านพระเพรง และบ้านแพร่ ละแวกนี้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพราหมณ์หลายชิ้น รวมถึงซากที่เข้าใจกันว่าเป็นเทวสถานหลายจุด สอดคล้องกับข้อสังเกตประการที่สอง คือเรื่องเล่าว่า เทวาลัยแห่งหนึ่งมี “วัวทองคำ” เป็นเครื่องมหรรฆภัณฑ์ นัยว่าจะนับถือเป็นโคนนทิพาหนะพระอิศวร ครั้นเมื่อห่าลงเมือง บรรดาพราหมณ์ทั้งหลายได้อัญเชิญวัวทองจำเริญลงฝากไว้กับพระแม่คงคา ส่วนจะเป็นวัวเดียวกับที่มีในนิทานดังเล่ามาแล้วหรือไม่นั้น คิดว่าคงเข้าเค้าฯ