ภาษาช้างกลาง ความหมายและคุณค่าของท้องถิ่นนครศรีธรรมราช

ภาษาช้างกลาง
ความหมายและคุณค่า
ของท้องถิ่นนครศรีธรรมราช

โดย วรรณดี สรรพจิต

ภาษาเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่แสดงอัตลักษณ์ของคนแต่ละท้องถิ่น ซึ่งใช้แตกต่างกันไป บางคำใช้พูดเป็นสื่อให้เข้าใจกันระหว่างหมู่คณะ บางคำใช้พูดและเข้าใจกันเฉพาะในถิ่นหนึ่ง ๆ เท่านั้น สำเนียงใต้ของชาวช้างกลางก็ไม่ได้แตกต่างไปจากสำเนียงใต้ของคนอำเภออื่นในจังหวัดนครศรีธรรมราชเท่าใดนัก แต่ก็ถือได้ว่าอำเภอช้างกลางร่ำรวยทางภาษามาก ทั้งนี้เพราะในอดีตมีชนต่างชาติซึ่งส่วนมากเป็นคนจีนได้เข้ามาค้าขายทางน้ำ ได้นำภาษาจีนและมะลายูเข้ามาด้วย ประกอบกับในช่วงต่อมามีชาวปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่ย้ายถิ่นมาอยู่ร่วมมากที่สุด ได้นำเอาสำเนียงภาษาในถิ่นเดิมมาใช้ผสมกับสำเนียงของคนในถิ่น และที่สำคัญยังได้สมรสกันระหว่างคนต่างถิ่นด้วย ก่อให้เกิดภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ชองชาวช้างกลางโดยเฉพาะ ดังจะยกตัวอย่าง
.

คำที่แปลว่า “ตาย”

คำนี้ท้องถิ่นอื่นมีไม่มาก แต่ที่อำเภอช้างกลางมีมากมายได้แก่ “พลิกอีตุก, พลิกตุก, เพล้ง, แพล็ด,ปัดซิเหนียงเกียงกล้อง,ม่องเท่ง,ดับเกียง,เหมี่ยง, ปับปะชิค๊อง, พระยิ้ม (มักใช้พูดล้อเลียนกับคนที่ไม่ควรขึ้นต้นไม้ เช่น คนชราว่า เดี๋ยวตกลงมาพระยิ้มแหละ นั่นหมายถึงตายพระได้สวด)
.

คำที่แปลว่า “หมด”

พวกเราพูดกันหลายคำ เช่นว่า แหม็ด, เกลี้ยงแผ็ก, แวววับ แหม็ดฉ๊าดคือหมดไม่เหลือ
.

คำที่หมายถึง ยุยง, แหย่, แยง,แทง, ทิ่ม, ยุให้รำตำให้รั่ว พูดให้สองฝ่ายทะเลาะกัน

คนช้างกลางพูดคำเดียวว่า “ยอน” เช่นประโยคว่า “แกอย่ายอนให้เขาแตกกัน” นั่นหมายความว่า อย่ายุยง แต่ถ้าพูดว่า “วันนี้ไปยอนบึ้ง” หมายถึงว่า ไปแยงในรูของตัวบึ้งเพื่อดึงไข่บึ้งมากิน (บึ้งคือแมงมุมชนิดหนึ่งที่ชื่อ ทารันทูล่า ภาษาไทยเรียกว่า บึ้ง ตัวโตมาก เป็นสัตว์มีพิษ แต่ไม่ร้ายแรงนัก ยกเว้นคนแพ้พิษมีมากในอำเภอช้างกลาง )

.

คำที่หมายถึง “สวยมาก”

เช่น “เฉ้งวับ สวยเฉ้ง”
.

คำนามที่ไม่ค่อยมีพูดในท้องถิ่นอื่น เช่น

“นายหมรูน” (อ่านว่า หมฺรูน)
คือคนที่ขึ้นไปตีผึ้งบนต้นไม้ หรือหน้าผา เรียกว่า นายหมรูน
.

“ม็อง”

คือคบเพลิงที่ทำด้วยต้นลังตังช้าง(ตะรังตังช้างเป็นภาษามลายู) สำหรับใช้ควันไล่ตัวผึ้งออกจากรัง
.

“โคร๊ะ”

คือภาชนะใส่รังผึ้ง
.

“ไม้ตรี”

คือไม้กวาดตัวผึ้งและใช้สำหรับแซะรังผึ้ง
.

“ชะนั่งได้”

คือเครื่องมือดักปลาที่ด้านในมีเงี่ยงดัก ปลาเข้าแล้วออกไม่ได้
.

“หนะหวายพวน”

คือส่วนที่เป็นหนามยาวของหวายพวน บางเส้นยาวถึง ๒ เมตร เป็นหนามแหลมทวนทางปลาย ถ้าแหย่เข้าไป เวลาดึงออกตัว “หนะหวาย” จะกระชากสิ่งกีดขวางขาดกระจุยได้ หวายพวนเป็นหวายป่าขนาดใหญ่และยาวมาก ในเพลงยาวเรื่องโองการขับผีของนายเอียด สันตจิต ใช้ “หนะหวายพวนขับผี” ตอนหนึ่งว่า “….กูจะคุ้ย กูจะควัก กูจะชักเอาหัวใจ แล้วเอาหนะหวายพวนเส้นใหญ่ยอนเข้าไปในปาก กูจะชากเอาลิ้น กูจะกินเอาตับ กูจะสับเอาฟัน….”
.

“เหล็กดอกบอน”

คือเครื่องมือเจาะฝีมือภูมิปัญญาท้องถิ่น
.

“ขวานถาจีน”

ขวานของพวกคนจีนที่ใช้สับกระดูกชิ้นใหญ่ของวัว ควาย หมูที่แล่เนื้อแล้ว
.

“เอ็นหมายุก”

คือเอ็นร้อยหวาย หลังข้อเท้า
.

“เฌอ”

ภาชนะใส่ของหนัก
.

“แสก”

คือ สาแหรกที่ทำจากหวาย มี ๔ สาย ด้านบนรวบปลายหวายเป็นหูสำหรับสอดไม้คาน ด้านล่างขัดกันเป็นสี่เหลี่ยมสำหรับวางกระจาด มี ๒ ชุด เพื่อให้สมดุลย์เวลาหาบหาม
.

“ม่า”

ภาชนะใช้ตักน้ำจากบ่อซึ่งทำด้วยกาบหมาก มาจากคำว่า “ทิม่า”ในภาษามลายู เดี๋ยวนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว
.

“ตูด”

เครื่องมือเป่าที่ทำด้วยเขาควาย ใช้สำหรับเป่าเป็นสัญญาณบอกเวลา หรือเหตุการณ์ต่าง ๆบ่งหมายให้มาร่วมประชุม เวลาเป่าจะออกเสียง ปูด ๆ ดังกังวานออกไปไกล
.

“ครกบด”

เครื่องมือสำหรับโม่แป้ง ทำด้วยหินหรือปูนซีเมนต์ รูปทรงกลม ฐานข้างมีรางโดยรอบ ฝาบนเจาะเป็นรูใส่ไม้แขนไว้เพื่อใช้จับขณะบด ครกบดโดยทั่วไปมีขนาด ฐานครกประมาณ ๑.๕ – ๕.๕ ฟุต
.

“ลูกประ”

หรือลูกกระเกิดจากไม้ประ นำมาแปรรูปเป็นลูกประดอง ลูกประคั่ว เคยลูกประ มีมากที่เทือกเขาเหมน เขาหลวง รสออกหวานมันอร่อยลิ้น
.

“ไม้ตราด”

คือไม้กวาดที่ทำจากไม้ไผ่แก่จัด ตัดยาว ๒ เมตร ด้านโคนผ่าเป็นซีกเล็ก ๆ แล้วกรองด้วยหวาย ใช้สำหรับกวาดใบไม้ ใบหญ้า
.

“กุนหยี” คือดอกบานมิรู้โรย มาจากภาษามะลายูในคำว่า “เบอระกุนี”

ส่วนคำนามที่มาจากภาษาจีนก็มี โกปี้ เล่าเต้ง โอยั๊วะ ฯลฯ ที่มาจากภาษามลายู ได้แก่ ลังตัง ภาษามลายูว่า “ตะรังตัง” มี ๓ ชนิด คือลังตังไก่ ลังตังกวาง ลังตังช้าง
.

“มะม่วงหิมพานต์”

ที่นี่พูดได้หลายคำ เช่นว่า เม็ดท้ายล่อ, ย่าหมู,ย่าโห้ย, ยาร่วง,เม็ดม่องล่อ
.
ส่วนที่มาจากภาษาเขมร ก็มี เช่นชื่อปี ชวด ฉลู ขาล เถาะ มะโรง มะเส็ง มะเมีย มะแม วอก กา จอ กุน ชาวช้างกลางเรียกชื่อ ชวด หลู ขาล โถง โรง สิง เมีย แม วอก กา จอ กุน
.
คำกริยาที่ใช้พูดเฉพาะในถิ่น ตัวอย่างได้แก่

“สีน”

คือ ตัด หรือ หั่น เป็นชิ้น เช่นประโยคว่า “กูจะสีนด้วยมีดโต้” หรือบทโนราโกลนที่ว่า “ นั่ง ๆ ผันหน้าไปปลากออก แกงคั่วรอกสับให้เนียน ตัดตีนสีนเศียรผ่าหลอดท้าย เอาใส้โยน”
.

“กาศ”

คำกล่าวประกาศ อัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์
.

“แหม็ด”

คือ กด หรือหยิก เช่น “ฉันจะแหม็ดแกให้เจ็บจนตาย”
.

“แหม๊ด”

หมดเกลี้ยงไม่เหลือ เช่น “แกงนี้หรอยเกินกินจนแหม๊ดฉาด”
.

“ขบ”

กัด
.

“สี”

ทา หรือขยี้
.

“ชังกั้ง”

คำพูดแผลง ๆ เรียกว่าพูดชังกั้ง
.

“ล้มยักหาย”

คือล้มหงายหลัง
.

“น้ำพ่ะ”

ฝนตกติดต่อกันนาน ๆ จนน้ำนองตลิ่ง เรียกว่า “น้ำพ่ะ” คำนี้มาเพี้ยนมาจากภาษามลายูว่า ““เบอรฺพะ”
.
คำพูดแสดงคุณลักษณะ เรามักใช้คำพูดของชาวกะเหรี่ยงเข้าประกอบ เช่น

“จั๊วะ”

ขาว เรามักพูดว่าขาวจั๊วะ คำว่าจั๊วะ เป็นภาษากะเหรี่ยง
.

“ปื๊ด”

ดำ คือดำปื๊ด
.

“แจ๊ด”

แดง
.

“จ๋อย”

คือสี เหลือง
.

“ปื๋อ”

คือสีเขียว
.

“ปี๋”

คือเค็ม ถ้าพูดว่าเค็มปี๋ หมายถึงเค็มมาก
ห้าคำนี้ที่จริงเป็นภาษากะเหรี่ยง ใช้พูดกันทุกภาค ชาวช้างกลางนำมาใช้พูดด้วย เพื่อเป็นการเน้นในลักษณะนั้น ๆ เช่น แดงแจ๊ด เหลืองจ๋อย เค็มปี๋ฯลฯ เป็นต้น
.
นอกจากตัวอย่างที่ยกมาแสดงนี้แล้ว
ยังมีคำอื่น ๆ อีกมากมายที่ใช้พูด
ซึ่งสามารถประมวลเป็นพจนานุกรมภาษาถิ่นช้างกลางได้