ประวัติศาสตร์ จากวรรณกรรมเมืองนครศรีธรรมราช

ประวัติศาสตร์
จากวรรณกรรมเมืองนครศรีธรรมราช

เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 2 เมษายน 2561 ได้มีโอกาสไปร่วมเสวนาว่าด้วยวรรณกรรมเมืองนครศรีธรรมราช ที่หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช ถ้าจำไม่ผิดคงเป็นห้วงสัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย ในกำหนดการปลายเปิดไว้สำหรับการแสดงทัศนะของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้ร่างทัศนะประพันธ์เป็นร้อยกรองและร้อยแก้วแล้วขึ้นแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งยังหลวมๆ ไม่วิชาการ อาจดูทะเล่อทะล่าแสดงความเขลาตามประสาเด็กซนบ้างก็กราบขออภัย มีว่าดังนี้

                                              เดียวเดียวโดดเดี่ยวด้อย               ความเดียว

                                    สืบสายสาวความเหลียว                            จึ่งแจ้ง

                                    แดดบ่แค่แผดเกี้ยว                                  สว่างเคียง มานา

                                    ใคร่แดดฤาแดดแกล้ง                                ใคร่สว่าง สว่างมา

                                                ในหนึ่งมีที่สองมองให้ถ้วน             คลี่สำนวนพบเท็จจริงทิ้งปุจฉา

                                    ความสำคัญในบรรทัดคือวิสัชนา                ปริศนาใดด้อยค่อยคลี่คลาย

                                                เอาความงามได้งามตามที่ว่า          เอาภาษาได้กลเม็ดเด็ดดังหมาย

                                    เอาเนื้อความได้ตามหวังตั้งอภิปราย           เอาเกร็ดกรายประวัติศาสตร์มิพลาดเอย

นอกจากการศึกษาวรรณกรรมเพื่อสุนทรียรส คุณค่าสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือแง่งามของเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ทิ้งไว้ในแต่ละวรรค ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากการค้นคว้าข้อมูลทางโบราณคดีจากหลักฐานชั้นต้นและหลักฐานชั้นรองต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ข้อมูลที่ได้จากงานวรรณกรรมร่วมสมัยหรือเกี่ยวข้อง กลับเป็นสารสนเทศที่สังเคราะห์คำตอบในมุมที่อาจจะค้นหาไม่ได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น

.

จังหวัดนครศรีธรรมราช มีวรรณกรรมที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะทะเล ภูเขา ผืนป่า หรือทุ่งนา ทั้ง เขา ป่า นา เล ล้วนมีการบันทึกภาพจำในมิติของประวัติศาสตร์ไว้กับ เพลงกล่อมเด็ก ซึ่งบ้างเรียก “ร้องเรือ” หรือบ้างก็เรียก “ช้าน้อง”

.

ตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า “เพลงช้าน้อง” ให้คุณค่าในมิติทางประวัติศาสตร์ควบคู่ไปกับสุนทรียรสทางด้านภาษา เช่น

                                                ลูกสาวเหอ        ลูกสาวชาวปากพนัง

                                    เอวกลมนมตั้ง                 นั่งทำเคยแผ่น

                                    ปั้นให้กลมกลม               ข่มให้แบนแบน

                                    นั่งทำเคยแผ่น                ให้แบนเหมือนเหรียญเงิน

.

การใช้พรรณนาโวหาร อธิบายลักษณะของหญิงสาวชาวปากพนังในยุคหนึ่ง และกรรมวิธีการทำ “เคยแผ่น” ซึ่งหาเห็นได้ยากแล้วในปัจจุบัน ผนวกเข้ากับอุปมาโวหารในบาทสุดท้ายที่เปรียบความแบนของเคยแผ่น ไว้เท่ากับเหรียญเงิน ทำให้สามารถจินตนาการภาพลักษณ์ของมรดกทางวัฒนธรรมที่เกือบสูญหายไปแล้วนี้ได้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญคืออาจตีความได้ว่าในยุคที่มีการทำเคยแผ่นนั้นเป็นยุคเดียวกันกับที่มีการใช้เหรียญเงินในพื้นที่ปากพนัง ดังนั้น นอกจากฉันทลักษณ์ของเพลงช้าน้อง ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว เราแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทนี้ให้คุณค่าในมิติประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน