เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวนานาสารพัน ทั้งดีและร้าย เราทุกคนต่างล้วนย้อนกลับไปนึกถึงภาพในวัยเด็กอันแสนสุข (และแสนเศร้า) บ้างก็นำมาเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างยุคสมัย หากย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา ช่วงที่สื่อเทคโนโลยียังไม่ได้ส่งถึงมือเด็ก ไม่มี Social Media ไม่มีความห่างไกลที่เกิดจากเทคโนโลยี มีเพียงการเล่นรูปแบบต่างๆ ที่ทำให้ช่วงชีวิตในหมู่เพื่อนไม่เคยห่างการเล่นที่ต้องใช้ไหวพริบปฏิภาณ การเล่นที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์การเล่นที่เสี่ยงอันตราย การเล่นที่ส่อถึงอบายมุข ซึ่งทุกการเล่นมันมีนัยสำคัญที่ซ่อนเร้นและมีส่วนหล่อหลอมให้เราเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่แตกต่างกัน ซึ่งตัวอย่างการเล่นที่เป็นที่นิยมของเด็กกึ่งเมืองกึ่งชนบทอย่างเช่นผู้เขียน เช่น
(1) เข้หยบ หรือที่ภาษากลางเรียกกันว่า “ซ่อนแอบ” เป็นการเล่นยอดฮิตในบรรดาเด็ก ๆ แทบทุกพื้นที่ สามารถเล่นได้ตั้งแต่สองคนขึ้นไป ยิ่งเยอะคนยิ่งสนุก รวมทั้งสามารถเล่นได้แทบจะทุกสถานที่ก็ว่าได้
(2) เข้ยิก หรือที่ภาษากลางเรียกกันว่า “วิ่งไล่จับ” เป็นการเล่นยอดฮิตในบรรดาเด็กๆแทบทุกพื้นที่ แต่จำต้องกำหนดขอบเขตพื้นที่ในการวิ่งสักหน่อยว่ามีขนาดกว้างเพียงใด
(3) ซัดมอ เป็นการเล่นซึ่งต้องอาศัยอุปกรณ์สองอย่าง คือ ลูกเทนนิส และกระป๋องนม (ยี่ห้อใดก็ได้)จากนั้นให้แบ่งออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายละเท่า ๆ กัน โดยฝ่ายหนึ่งต้องเป็นฝ่ายวิ่ง (ฝ่ายเรียง) และอีกฝ่ายต้องเป็นฝ่ายซัด (ฝ่ายทำลาย) จากนั้นฝ่ายซัดต้องส่งตัวแทนมาจัดเรียงกระป๋องนม ให้ลดหลั่นกันไป โดยชั้นล่างจะต้องมีกระป๋องนมเยอะที่สุด ชั้นถัดไปมีจำนวนลดลงอย่างน้อยหนึ่งกระป๋อง เมื่อจัดเรียงเสร็จแล้ว ให้ส่งตัวแทนออกมาซัดกระป๋องนมให้ล้ม เพื่อส่งสัญญาณเริ่มเกมที่แท้จริง ฝ่ายวิ่งต้องหาวิธีเข้ามาเรียงกระป๋องนมให้มี ลักษณะเหมือนเดิมให้ได้ เมื่อเรียงเสร็จให้พูดคำว่า “มอ” ก็จะกลายเป็นผู้ชนะ
(4) นาฬิกาเข้าแล้วเป็นการเล่นชนิดหนึ่ง ไม่ทราบว่าชื่อจริง ๆของมันเรียกว่าอย่างไร แต่ผมและเพื่อน ๆ มักเรียกกันว่า “นาฬิกาเข้าแล้ว” ตามคำพูดที่ต้องใช้เมื่อเวลาเล่น วัสดุอุปกรณ์ในการเล่น ประกอบไปด้วยสายเชือก และวัสดุถ่วงน้ำหนัก เช่น ขวดพลาสติกใส่น้ำหรือทราย ท่อนไม้ ก้อนหิน เป็นต้น เมื่อได้วัสดุทั้งสองพร้อมแล้ว ให้นำปลายเชือกข้างหนึ่งมาผูกติดไว้กับวัสดุถ่วงน้ำหนัก
จากนั้นให้เลือกคนแกว่งเชือกมาคนหนึ่ง ที่เหลือเป็นผู้เล่น เกมจะเริ่มขึ้นก็ต่อเมื่อคนแกว่งทำการแกว่งเชือกและร้องตะโกนว่า “นาฬิกาเข้าแล้ว”เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้เลนวิ่งเข้ามาภายในบริเวณศูนย์กลางของเชือก และเมื่อผู้เล่นเข้ามาครบทุกคน คนแกว่งต้องร้องตะโกนอีกครั้งว่า “นาฬิกาออกแล้ว” เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้เล่นวิ่งออกจากวง หากผู้เล่นคนใดวิ่งเข้า-ออก แล้วโดนเชือกหรือวัสดุถ่วงน้ำหนักปะทะกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย จะกลายเป็นผู้แพ้และต้องมาเป็นคนแกว่งแทน
(5) ปลาเป็นปลาตาย มีลักษณะการเล่นที่คล้ายกับโพงพาง แต่ตอนเด็กผมไม่รู้หรอกว่าโพงพางคืออะไร มีแต่จะเล่นปลาเป็นปลาตายตามประสาเด็กบ้าน ๆ กึ่งเมืองกึ่งชนบท กติกาการเล่นมีอยู่ว่า ให้ผู้เล่นกำหนดเขตพื้นที่ที่ใช้สำหรับเล่นตามความเหมาะสม หากคนน้อยพื้นที่จะแคบ แต่หากคนเยอะพื้นที่ก็จะกว้างขึ้น จากนั้นให้ทำการคว่ำหมาย เพื่อหาคนที่ต้องถูกปิดตา เมื่อได้คนที่ถูกปิดตาเรียบร้อยแล้ว ผู้เล่นที่เหลือต้องช่วยกันนำผ้ามาปิดตาคน ๆ นั้นเอาไว้ ต่อจากนั้นให้ช่วยกันหมุนตัวของผู้ที่ถูกปิดตา ประมาณ 5-10 ครั้ง และร้องพร้อมกันว่า “ปลาเป็น ปลาตาย ปลาร้องไห้ หรือปลาหัวเราะ”
เมื่อร้องเสร็จ ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องรีบวิ่งออกไปให้ห่างที่สุด ก่อนคำสั่งของผู้ที่ถูกปิดตาจะเอ่ยออกมา (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ซึ่งความหมายของคำทั้ง 4 คือ ปลาเป็น = ผู้เล่นสามารถเดินได้แต่ต้องอยู่ภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ ปลาตาย = ให้ผู้เล่นหยุดอยู่กับที่ ปลาร้องไห้ = ให้ผู้เล่นหยุดอยู่กับที่และส่งเสียงร้องไห้ และปลาหัวเราะ = ให้ผู้เล่นหยุดอยู่กับที่และส่งเสียงหัวเราะ หลังจากนั้นผู้ที่ถูกปิดตาต้องเดินไปรอบ ๆ วง โดยใช้มือในการไขว่คว้า ลูบคลำร่างกายคน ๆ นั้นและทายชื่อว่าเป็นใคร หากทายถูกต้อง คน ๆ นั้นจะกลายมาเป็นผู้ถูกปิดตาแทน แต่หากทายผิดจะต้องเป็นซ้ำอีกรอบ
นอกจากนี้ยังมีการเล่นอื่น ๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นกระโดดยาง ปางนูซัดลิง ทอยเส้น ซัดดินน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งการเล่นทั้งหลายล้วนมีส่วนเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต กระชับความสัมพันธ์กับหมู่เพื่อน และพัฒนาสติปัญญาทั้งทางตรงและทางอ้อมได้เป็นอย่างดี หากเราลองเฝ้านั่งคิดทบทวนหวนถึงอดีต และรื้อฟืนเรื่องราวความทรงจำผ่านการเล่น ก็จะทำให้เกิดความคงอยู่ของความสุขในวัยเด็กและกลายเป็นความทรงจำระยะยาวในอนาคต