มรดกคณะราษฎรในเมืองนครศรีธรรมราช

มรดกคณะราษฎรเป็นผลผลิตภายหลังจากการปฏิวัติในช่วง พ.ศ. 2475 ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยระยะแรกการดำเนินงานนั้นต้องอยู่ภายใต้กรอบของหลัก 6 ประการ ได้แก่ หลักเอกราช หลักความปลอดภัย หลักเศรษฐกิจ หลักเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา ซึ่งมรดกคณะราษฎรถูกสร้างขึ้นในรูปลักษณ์ที่สามารถจับต้องได้ และแอบแฝงอยู่อย่างมีนัยยะ กระจายไปเกือบทั่วทุกพื้นที่ของสังคมไทย

“จังหวัด” นครศรีธรรมราชถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งได้มีการจัดระเบียบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ ทำให้ระบบมณฑลเทศาภิบาลทั่วประเทศเป็นอันต้องถูกยกเลิกเสีย

นอกจากนี้การจัดตั้งโรงเรียนหรือสถานศึกษาบางแห่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชก็มีความเกี่ยวเนื่องกับคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการตั้งกระทู้ถามของนายน้อม อุปรมัย ในช่วง พ.ศ. 2498 ต่อความไม่เสมอภาคของการจัดการศึกษาในภาคใต้ จนกระทั่ง พ.ศ. 2500 รัฐบาลจึงอนุมัติให้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นที่นครศรีธรรมราช และสำหรับโรงเรียนชุมชนพิบูลสงคราม แม้จะถูกตั้งขึ้นมาจากพระในพื้นที่ แต่ภายหลังก็ถูกเปลี่ยนแปลงชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ในด้านเอกราชและความปลอดภัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้จัดหน่วยทหารในภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา และได้ย้ายมณฑลทหารบกที่ 5  กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 15  จากจังหวัดราชบุรี มาตั้งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อครั้งญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่นครศรีธรรมราช ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็นค่ายวชิราวุธและกองทัพภาคที่ 4 ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของรำวงเวียนครก รำโทน รำนกพิทิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรื้อฟื้นและสร้างขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน และในด้านความเสมอภาคและเสรีภาพมองเห็นได้ชัดจากกรณีของการยกเลิกพิธีไล่แม่มด ดังนั้นหากเราลองพิจารณาแล้วก็จะพบว่าคณะราษฎรได้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมากมายในจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงอุดมการณ์การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน การสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ จึงต้องยึดโยงกับประชาชน เพื่อประชาชนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการทำลายมรดกคณะราษฎรอย่างใดอย่างหนึ่ง (อย่างเช่นหอนาฬิกาเก่าที่ทุ่งสง) จึงอาจเทียบได้กับการปฏิเสธอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยและเป็นการกระทำที่พยายามปกปิดประวัติศาสตร์บางส่วนของประชาชน ทำให้ประวัติศาสตร์เกิดความบิดเบือนและคลาดเคลื่อนอย่างไม่น่าให้อภัย

____

ขอบพระคุณภาพจากปก www.nstru.ac.th