ศุขาภิบาลเมืองนครศรีธรรมราช และตำบลตลาดเมืองสงขลา

ศุขาภิบาลเมืองนครศรีธรรมราช และตำบลตลาดเมืองสงขลา

ธีรยุทธ บัวทอง

ศุขาภิบาลเป็นองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นสำหรับท้องถิ่นที่ยังไม่พร้อมที่จะจัดตั้งเป็นเทศบาล โดยมีนายอำเภอเป็นประธาน กำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นกรรมการ มีรายได้จากการเก็บภาษีโรงเรือนในท้องถิ่นนั้นๆ ศุขาภิบาลแห่งแรกในประเทศไทย คือ ศุขาภิบาลกรุงเทพฯ จัดตั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2440 ตามพระราชกำหนดศุขาภิบาลกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2440 หาใช่ศุขาภิบาลท่าฉลอม ตำบลท่าฉลอม เมืองสมุทรสาคร อย่างที่หลายคนเข้าใจไม่ เนื่องจากศุขาภิบาลท่าฉลอมได้จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2448 และเป็นเพียงศุขาภิบาลส่วนภูมิภาคเท่านั้น หลังจากนั้นจึงเริ่มกระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งในบทความนี้ขอกล่าวถึงศุขาภิบาล 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลนครศรีธรรมราช

 

1.ศุขาภิบาลตำบลตลาดเมืองสงขลา

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2452 พระยาชลบุรานุรักษ์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ได้มีใบบอกเข้ามายังกระทรวงมหาดไทยระบุว่าเมืองสงขลานั้นเป็นสถานที่ตั้งของย่านการค้า และบ้านเรือนของราษฎรจำนวนมาก สมควรแก่การจัดตั้งเป็นศุขาภิบาลตามพระราชบัญญัติศุขาภิบาล แต่ควรเริ่มจัดตั้งในบริเวณตำบลตลาดเสียก่อน ดังนั้นจึงได้เรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคฤหบดีในตำบลตลาดมาปรึกษาร่วมกัน จากนั้นจึงได้กำหนดเขตสุขาภิบาลดังนี้คือ

ด้านตะวันตกของถนนนคร ถนนวิเชียรชม ต่อจากถนนพัทลุงไปจรดถนนไทรบุรีที่ป่าสน ยาวประมาณ 44 เส้น 18 วา กับถนนริมน้ำเคียงถนนนคร ยาวประมาณ 16 เส้น

ด้านเหนือถนนไทรบุรีจากฝั่งทะเลสาบริมโรงตำรวจภูธรไปตามป่าสนผ่านหน้าสงขลาสโมสร เลี้ยวไปทางตะวันออกผ่านบ้านข้าราชการไปจรดประตูไชยใต้ ยาวประมาณ 83 เส้น 12 วา

ด้านใต้ถนนพัทลุงจากถนนไทรบุรีผ่านถนนจนถึงฝั่งทะเลสาบ ยาวประมาณ 5 เส้น 5 วา ระหว่างถนนไทรบุรีด้านเหนือถึงถนนพัทลุงด้านใต้ มีถนนซอยอีก 3 สาย คือ ถนนตรังกานู ยาวประมาณ 12 เส้น ถนนนกลันตัน ยาวประมาณ 13 เส้น และถนนบ้านใหม่ ยาวประมาณ 5เส้น รวมทั้งสิ้นยาวประมาณ 30 เส้น

 

2.ศุขาภิบาลเมืองนครศรีธรรมราช

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2453 สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ได้มีใบบอกเข้ามายังกระทรวงมหาดไทยระบุว่า เมืองนครศรีธรรมราชนั้นเป็นที่ตั้งของย่านการค้า และบ้านเรือนราษฎรจำนวนมาก สมควรแก่การจัดตั้งเป็นศุขาภิบาล

โดยเริ่มจากตำบลท่าวัง ตำบลคลัง ตำบลประตูไชยเหนือและตำบลพระเสื้อเมืองก่อน ดังนั้นจึงรับสั่งให้พระยาศิริธรรมบริรักษ์ ผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช เรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคฤหบดีทั้ง 4 ตำบลมาปรึกษาหารือร่วมกัน จากนั้นจึงได้กำหนดเขตศุขาภิบาลดังนี้คือ ด้านเหนือ จรดถนนซอยริมกำแพงด้านใต้ของวัดประดู่ ไปจนถึงคลองไปท่าแพและทุ่งนาฝ่ายตะวันออกกว้างประมาณ 15 เส้น ด้านใต้ จรดกำแพงเมืองด้านใต้จนถึงคลองบ้านหัวท่า และมุมกำแพงตะวันออก กว้างประมาณ 13 เส้น 14 วา ด้านตะวันออก จรดกำแพงเมืองและทุ่งนาหยาม ยาวประมาณ 110 เส้น 18 วา และด้านตะวันตก จรดคลองท่าดีฝั่งตะวันตกยาวประมาณ 107 เส้น 15 วา

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2474 ได้มีการปรับปรุงเขตศุขาภิบาลเมืองนครใหม่ เพื่อความเป็นระบบและชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้คือ

ด้านเหนือ ตั้งแต่หลักเขตหมายเลขที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ริมคลองเตยฝั่งตะวันตก เป็นเส้นขนานจากริมถนนวัดมะขามชุมฟากเหนือตรงไปตัดกับริมคลองที่นั้น และเลียบริมถนนวัดมะขามชุมฟากเหนือกับริมถนน ซอยฟากเหนือ ซึ่งตรงข้ามกับถนนวัดมะขามชุมไปทางทิศตะวันออกโดยวัดจากปากถนนซอยนี้ออกไปประมาณ 450 เมตร จนจรดหลักเขตหมายเลขที่ 2

ด้านตะวันออก ตั้งแต่หลักเขตหมายเลขที่ 2 เป็นเส้นตรงไปทางทิศใต้ จนจรดหลักเขตหมายเลขที่ 3 บริเวณริมคลองหน้าเมืองฝั่งใต้ห่างจากมุมตะวันออกเฉียงเหนือของกำแพงเมืองไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 250 เมตร จรดริมคลอง จากหลักเขตหมายเลขที่ 3 เป็นเส้นตรงไปทางทิศใต้จรดหลักเขตหมายเลขที่ 4 บริเวณมุมกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้

ด้านใต้ ตั้งแต่หลักเขตหมายเลขที่ 4 เลียบริมกำแพงเมืองด้านทิศใต้ไปทางทิศตะวันตก จากแนวกำแพงออกไปถึงคลองท่าดีฝั่งตะวันตกจรดหลักเขตหมายเลขที่ 5

ด้านตะวันตก ตั้งแต่หลักเขตหมายเลขที่ 5 เลียบคลองท่าดี คลองท้ายวัง คลองทุ่งปรัง และคลองเตยฝั่งตะวันตกไปทางเหนือจนกระทั่งบรรจบกับหลักเขตหมายเลขที่ 1

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าศุขาภิบาลในระยะเริ่มแรกในมณฑลนครศรีธรรมราชมีการกำหนดอาณาเขตเพื่อบริหารจัดการอย่างชัดเจน แม้ว่าบางพื้นที่อาจถูกเปลี่ยนชื่อหรือถูกทำให้ลบเลือนไปแล้วก็ตาม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการจัดตั้งศุขาภิบาลเมืองสงขลาและเมืองนครฯให้พร้อมในอดีตเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนมาเป็นเทศบาล ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจ ยังผลให้บ้านเมืองพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างทั่วถึง

 

อ้างอิง

ธีรยุทธ บัวทอง. มณฑลนครศรีธรรมราช เกร็ดประวัติศาสตร์ในราชกิจจานุเบกษา. นครศรีธรรมราช: เสือฟิน         การพิมพ์. 2561, 184.

ประกาศใช้พระราชบัญญัติศุขาภิบาลตำบลท่าวัง ตำบลคลัง ตำบลประตูไชยเหนือ ตำบลพระเสื้อเมือง

ท้องที่อำเภอเมือง ๆ นครศรีธรรมราช. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 27 วันที่ 4 กันยายน ร.ศ. 129,

หน้า 62 – 64.

ประกาศใช้พระราชบัญญัติศุขาภิบาลในตำบลตลาดเมืองสงขลามณฑลนครศรีธรรมราช. ราชกิจจานุเบกษา           เล่ม 26 วันที่ 5 กันยายน ร.ศ. 128, หน้า 62 – 64.

____

ขอบพระคุณภาพจาก https://www.gotonakhon.com