“ไดโนเสาร์” เรื่องเล่าชาวกรุงหยัน

ไดโนเสาร์นับเป็นสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งเชื่อได้เลยว่ามีมนุษย์จำนวนไม่น้อยที่ปรารถนาใคร่อยากจะประสบพบเจอ เพื่อสัมผัสกับความยิ่งใหญ่และท้าทายดังเช่นที่ปรากฏในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง สำหรับประเทศไทยนั้นมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น โดยเฉพาะอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่นนั้นมีซากดึกดำบรรพ์มากมาย เช่น สยามโมรันนัส อิสานเอนซิส, ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน, สยามโมซอรัส สุธีธรณี ฯลฯ

หากพิจารณาจากลักษณะทางธรณีของนครศรีธรรมราช พบว่าชั้นหินบางแห่งจัดอยู่ในยุค Triassic, Upper Triassic, Lower Jurassic, Jurassic, Cretaceous ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์ได้มีชีวิตอยู่บนโลก

ถ้าอย่างนั้นในพื้นที่ของนครศรีธรรมราชต้องมีซากไดโนเสาร์?

ข้อสงสัยนี้ปรากกฎอยู่ ณ ถ้ำเพดาน (ถ้ำกระดูก) บริเวณทะเลสองห้อง (ทะเลปรน) มีลักษณะเป็นถ้ำที่ตั้งอยู่ภายในภูเขาขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยสวนยางพารา สวนผลไม้ของชาวบ้าน และภูเขาหินปูนลูกโดดสลับกับที่ราบลุ่ม โดยมีเขาหน้าแดงอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งใกล้กับคลองสังข์ซึ่งไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกลงไปสู่ทะเลปรนทางทิศเหนือ

ภายในถ้ำพบเศษซากกระดูกสัตว์จำนวนมหาศาลที่กระจัดกระจาย ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด เนื่องจากชาวบ้านได้กะเทาะเพื่อเอาชิ้นส่วนของกระดูกออกด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และนำเศษกระดูกบางส่วนมากองไว้ที่พื้นถ้ำปะปนกับหินปูนและก้อนแร่

บริเวณพื้นที่แห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็นหลายถ้ำ ปรากฏทางน้ำโบราณ และร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ชาวบ้านในพื้นที่ (บางส่วน) มีความเชื่อว่าซากกระดูกสัตว์ที่ปรากฏอยู่ภายในถ้ำ คือ ซากกระดูกของไดโนเสาร์

แต่หาเป็นความจริงไม่ เนื่องจากการสำรวจของนักโบราณคดีและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่ากระดูกสัตว์ที่พบเป็นกระดูกของวัว/ควาย กวาง ละอง/ละมั่ง เนื้อทราย และเก้ง และได้พบฟันสัตว์กินเนื้อซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่าหมื่นปี

ผนวกกับข้อมูลจากนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่าเขาหินปูนแห่งนี้เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาน้ำทะเลในยุค Permian เมื่อประมาณ 230 ล้านปีมาแล้ว เมื่อเขาหินปูนเกิดการยกตัวขึ้นจะเกิดเป็นโพรงหรือซอกหลืบมากมายภายใน ส่วนสัตว์ป่าที่อาศัยบริเวณโดยรอบซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อได้นำชิ้นส่วนของสัตว์มาทิ้งไว้ ต่อมาเกิดฝนตกหนักทำให้กระดูกสัตว์และตะกอนทับถมรวมกัน และเนื่องจากน้ำที่ไหลผ่านถ้ำหินปูนจะมีตะกอนของแคลเซียมคาร์บอเนตมากไม่นานก็จับตัวกันเป็นแผ่นแข็ง กำหนดอายุคร่าว ๆ ได้ประมาณ 100,000 – 10,000 ปีมาแล้ว ไม่ใช่ชิ้นส่วนของสัตว์ที่มีชีวิตร่วมกับไดโนเสาร์ ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 65 ล้านปี อย่างที่ชาวบ้านเข้าใจ

ดังนั้นถึงแม้ว่าชั้นหินในบางพื้นที่ของนครศรีธรรมราชจะอยู่ร่วมสมัยกับไดโนเสาร์ก็ใช่ว่าจะมีไดโนเสาร์อาศัยอยู่ เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้มีการพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นเชิงประจักษ์ ไดโนเสาร์ที่เราปรารถนาให้มีอยู่จริงหลังบ้านก็ไม่มีทางเป็นไปได้