ประวัติอำเภอนาบอน ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอนาบอน
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอนาบอนนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

ครั้งรัชกาลที่ 2

ความเป็นมาท้องที่อำเภอนี้ มีปรากฏตามทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งรัชกาลที่ 2 ว่าในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เคยเป็นแขวงหรือที่เรียกกันว่า “ที่นาบอน” มีนายที่ชื่อ “ขุนโจมธานี” รองนายที่ชื่อ “ขุนศักดิ์” ที่ทุ่งสงมีนายที่ชื่อ “หมื่นอำเภอ” ซึ่งอยู่ในความปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช

.

ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2440 ได้มีการจัดการปกครองแผนใหม่ “แขวงนาบอน” และ “แขวงทุ่งสง” ได้ตั้งขึ้นเป็น “ตำบลนาบอน” และ “ตำบลทุ่งสง” ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

.

กิ่งอำเภอนาบอน

จนกระทั่งวันที่ 9 มิถุนายน 2518 จึงได้รวมพื้นที่ของตำบลนาบอนและตำบลทุ่งสง รวมสองตำบลตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอนาบอน” ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2518

.

ขณะนั้นยังมิได้ก่อสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอ ได้อาศัยเรือนแถวบ้านเลขที่ 210-211 หมู่ที่ 2 ตำบลนาบอนของนายยศ พันธ์พิพัฒน์ ใช้เป็นที่ทำการชั่วคราว ได้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2518 โดยนายจาด อุรัสยะนันท์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี นายชลิต พิมลศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้กล่าวรายงาน

.

ที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราว

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2520 ได้เกิดเพลิงไหม้ที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราว จึงได้ย้ายที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราวไปอาศัยทำงานที่โรงเรียนสหมิตรบำรุง (โรงเรียนราษฎร์) ในหมู่บ้านเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2520 เป็นต้นมา จนกระทั่งในปีงบประมาณ 2521 กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติงบประมาณให้ทำการก่อสร้างที่ว่าการอำเภอ 1 หลัง บ้านพักข้าราชการปกครอง 3 หลังเป็นเงิน 1,011,500 บาท ได้ดำเนินการก่อสร้างในที่ดินซึ่งนายบุญทอง สันติกาญจน์ อุทิศให้เนื้อที่ 25 ไร่ คิดเป็นเงิน 375,000 บาท ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 ตำบลนาบอน ได้ทำการก่อสร้างโดย บริษัท มิตรไทย จำกัด เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง และได้ดำเนินการสร้างเสร็จในเดือนตุลาคม 2522 จึงได้ย้ายที่ทำการกิ่งอำเภอมาทำงานที่ที่ทำการอำเภอถาวร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2522

.

นายอำเภอคนแรก

กิ่งอำเภอนาบอน ได้ยกฐานะเป็นอำเภอนาบอน ตามพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอนาบอน พ.ศ. 2524 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 115 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 โดยมีนายจำเริญ ภูมิมาส ดำรงตำแหน่งนายอำเภอนาบอนคนแรก