กระท่อมมา ฝิ่นหาย :
เปิดไทม์ไลน์จากรายงานข้าหลวงเทศาภิบาลณฑลนครศรีธรรมราช
โดย ธีรยุทธ บัวทอง
เมื่อแรกฝิ่นยังถูกกฏหมาย
ฝิ่นเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายในหลายพื้นที่เมื่อครั้งอดีต ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย เพราะฝิ่นสามารถสร้างรายได้ให้กับรัฐโดยการผูกขาดอำนาจทางธุรกิจและระบบการจัดเก็บภาษีจากผู้ค้า
ฝิ่นมีมูลค่าสูงยังผลให้มนุษย์ต้องเข่นฆ่ากันเพื่อช่วงชิงผลประโยชน์ ดังจะเห็นได้ชัดจากสงครามฝิ่นในช่วงปี พ.ศ. 2382 – 2403 ระหว่างอังกฤษกับจีน จนนำมาสู่ความสั่นคลอนของราชวงศ์ชิง
แต่ถึงกระนั้น ฝิ่นก็ไม่ได้เป็นสารเสพติดและยารักษาโรคเพียงชนิดเดียวที่สามารถสร้างความสุขแก่ผู้ใช้และสร้างรายได้ให้กับรัฐเพียงสิ่งเดียว หากแต่มีพืชทำนองเดียวกันหลายชนิด และหากกล่าวถึงภาคใต้ของประเทศไทยแล้วล่ะก็ คงหนีไม่พ้นกะท่อม ซึ่งกะท่อมนี้นี่เองที่มีส่วนทำให้รายได้ของรัฐจากฝิ่นหดหายไป ดังรายงานข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราช ระบุว่า “…นายอากรยาฝิ่นได้จำหน่ายอยู่ในศก 116 อากรฝิ่นมณฑลนี้ คงมีกำไร แต่ไม่สู้มากนัก เหตุที่ฝิ่นมณฑลนครศรีธรรมราชขายไม่สู้จะดีนั้นเพราะมีจีนน้อย พวกไทยที่สูบก็เป็นคนขัดสน มักจะถุนเสียมาก ใช่แต่เท่านั้นยังซ้ำพวกราษฎรปลูกต้นกระท่อมขายใบด้วยอีกส่วนหนึ่ง จึงทำให้ฝิ่นจำหน่ายได้น้อยไป ในศก 117 ได้ออกประกาศ ห้ามไม่ให้ราษฎรปลูกต้นกระท่อมและที่มีอยู่แล้ว ก็ให้ตัดพ้นเสียให้หมด และที่ประกาศห้ามเสียอย่างนี้ คงจะเป็นปากเสียงร้องว่าเดือดร้อนกันบ้างเป็นแน่”
กระท่อม
กระท่อม เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง สูง 10 -15 เมตร อยู่ในตระกูล Mitragyna speciosa มีชนิดก้านใบแดงและใบเขียว ดอกกลมโตขนาดเท่าผลพุทรา ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม พบมากบริเวณทางภาคใต้ของประเทศไทย ผู้คนมักนำมาเคี้ยวใบสดหรือบดใบแห้งให้เป็นผง ละลายน้ำดื่ม บางรายเติมเกลือด้วยเล็กน้อยเพื่อป้องกันท้องผูก นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยาเป็นตัวยาในตำรับพวกประเภทยาแก้ท้องเสีย แม้ใบกระท่อมให้ผลการออกฤทธิ์ที่อาจมีประโยชน์ทางยาได้ แต่ทำให้เสพติดและมีผลเสียต่อสุขภาพ หากใช้ติดต่อกันนานๆ
เนื่องจากพืชกระท่อมมีสารเสพติดที่พบในใบ คือ ไมทราไจนีน (Mitragynine) เป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง (CNS depressant) แต่เมื่อหยุดเสพจะเกิดอาการ เช่น ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและกระดูก แขนขากระตุก ก้าวร้าว นอนไม่หลับ อยากอาหารยาก มีอาการไอมากขึ้น เป็นต้น
ปลดล็อคกระท่อม
พืชกระท่อมจึงถูกควบคุมโดยกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดหลายฉบับมานานนับหลายทศวรรษ จนกระทั่งในช่วงปี พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา สภาได้มีมติเอกฉันท์ผ่านร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ให้สามารถปลูกและใช้ได้อย่างเสรี ส่วนการนำเข้าและส่งออกต้องขออนุญาต
โดยหลังการยกเลิกพืชกระท่อมจากยาเสพติดประเภท 5 ประชาชนสามารถครอบครอง บริโภค และใช้ประโยชน์จากพืชกระท่อมได้ จึงควรส่งเสริมและให้มีการพัฒนาเป็นพืชทางเศรษฐกิจ กำหนดมาตรการดูแลโดยเฉพาะการนำเข้าและการส่งออกเท่านั้นที่ต้องขอรับใบอนุญาตก่อน ส่วนการเพาะ การปลูก และการขายใบพืชกระท่อม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการบริโภคใบกระท่อมมากเกินควรอาจก่อให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร จึงกำหนดมาตรการกำกับดูแลการขาย การโฆษณา และการบริโภคใบกระท่อมในบางประการ เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้บริโภคและกลุ่มบุคคลดังกล่าว แต่ไม่ควรกำหนดข้อบังคับที่กระทบกับวิถีชีวิตและชุมชน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่ากระท่อมไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย เพราะความรุนแรงของสารภายในเพียงประการเดียว แต่ผิดกฎหมายเพราะขัดแย้งกับผลประโยชน์ที่รัฐสูญเสีย การผสมสูตรร้อยแปดของบรรดาวัยรุ่นเป็นเพียงแรงสนับสนุนเหตุผลว่าใบกระท่อมนั้นไม่ควรเปิดเสรี แต่หากพิจารณาเฉพาะใบกระท่อมแล้วกลับหาเป็นเช่นนั้นไม่ (และถึงแม้มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทและกดระบบประสาทก็ดูจะไม่ได้มีความรุนแรงดังเช่นสุราเมรัย หนทางเดินไปข้างหน้าคือการสนับสนุนให้มีการศึกษาพืชใบกระท่อม เพื่อการใช้ประโยชน์ที่ถูกต้องทางการแพทย์มากกว่าผลประโยชน์ทางธุรกิจ
อ้างอิง
https://mnfda.fda.moph.go.th/narcotic/?p=6063
https://mgronline.com/politics/detail/9640000089093
ภาพปก : https://www.prachachat.net/general/news-26363