เรื่องวัดร้าง ในนครศรีธรรมราช

เรื่องวัดร้าง
ในนครศรีธรรมราช

หลายวันมานี้ ได้ยินคำว่า “เหลียวหลัง-แลหน้า” ค่อนข้างถี่ ความจริงสำนวนนี้ไม่ใช่ของใหม่ เท่าที่สังเกตมักมีปกติใช้กับอะไร ๆ ที่สมาคมเห็นพ้องกันว่าเป็น “มรดก” แล้วต้องการที่จะสืบกลับไปเรียนรู้ และแสวงหาทางเลือก ทางรอดต่อไปในอนาคต ส่วนตัวเห็นว่าระหว่างสองคำนี้ ควรมีบางอย่างบางคำแทรกอยู่ด้วยในระหว่างนั้น

“เหลียวหลัง” ให้อารมณ์ของการหวนกลับไปมอง ไปรู้สึกย้อนอดีต เอาเข้าจริงหากหลักในการมองย้อนไม่ชัดพอ การเหลียวหลังที่ว่าอาจทำได้เพียงอาการโหยหาอาลัยอาวรณ์ เพ้อร่ำพร่ำพรรณนาเท่านั้น เช่นเดียวกับ “แลหน้า” ที่ควรต้องแสดงจุดยืนไว้ให้หนักแน่นพอที่จะป้องกันความเพ้อพกเลื่อนลอย

คำที่ควรแทรกอยู่กลางนั้น ยังคิดเร็ว ๆ ไม่ออกว่าจะเป็นอะไร แต่หาก “เหลียวหลัง” = “อดีต” และ “แลหน้า” = “อนาคต” แล้ว แน่นอนว่าคำกลางก็จะควรคือคำที่สื่อแสดงถึงการมองและเห็น “ปัจจุบัน” ฉะนี้

เมื่อราว 3 ปีก่อนเคยเข้าไปหารือกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครศรีธรรมราชเรื่องการทำภูมิสถานของเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณว่าร่างเป็นแผนที่เดิม ณ ยุคใดยุคหนึ่งที่ปรากฏความเป็นนครศรีธรรมราชชัดเจนและเจริญที่สุด ท่านรับหลักการไว้ แต่ติดด้วยหลายเหตุผลจึงไม่ได้ขวนขวายดำเนินการต่อ ในระหว่างนั้น ได้ลองค้นดูโดยเฉพาะ “วัดร้าง” ก็พบว่าเอกอุในเรื่องนี้คืออาจารย์บัณฑิต สุทธิมุสิก ซึ่งได้ลองเทียบวัดร้างกับที่ตั้งปัจจุบันเอาไว้ในสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ 

จึงอยากจะลองชวนกันเหลียวหลัง ให้เห็นปัจจุบันกันดังนี้
ส่วนว่าข้างหน้าจะแลไปเห็นอะไรนั้น สุดรู้ฯ

ลำดับ 

ชื่อ

ที่ตั้งปัจจุบัน

๑. วัดกุฏ หรือวัดป่าสุด โรงเรียนอำมาตย์พิทยานุสรณ์
๒. วัดประตูโกบ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช
๓. วัดชุมแสง วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช
๔. วัดมะขามชุม โรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา (แผนกอนุบาล)
๕. วัดโพธิ์มอญ ชุมชนนอกโคก (ข้างวัดศรีทวี)
๖. วัดเท หน้าวัดศรีทวี
๗. วัดสมิท หน้าห้างสรรพสินค้าสหไทย
๘. วัดชมภูพล ห้างสรรพสินค้าสหไทยพลาซ่า
๙. วัดเจดีย์ยักษ์ เทศบาลนครนครศรีธรรมราชและวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช
๑๐. วัดพระเงิน หลังวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช
๑๑. วัดหูน้ำ บ้านพักข้าราชการกระทรวงการคลังและสุสานคริสเตียน
๑๒. วัดท่าช้าง มัสยิดซอลาฮุสดีน(ท่าช้าง) และสถานีตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช
๑๓. วัดพระวิหารสูง พระวิหารสูงและโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชฝั่งสนามหน้าเมือง
๑๔. วัดชายตัง หลังพระวิหารสูง
๑๕. วัดประตูขาว โรงเรียนอนุบาลจังหวัดนครศรีธรรมราช
๑๖. วัดหน้าพระคลัง สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครศรีธรรมราช
๑๗. วัดเสมาชัย โรงเรียนเทศบาลวัดเสมาเมือง
๑๘. วัดโรงช้าง บ้านพักผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต ๑
๑๙. วัดดิ่งดง ตรงข้ามโรงเรียนวัดพระมหาธาตุ
๒๐. วัดธะระมา ตรงข้ามโรงเรียนวัดพระมหาธาตุ ติดกับวัดสระเรียง
๒๑. วัดป่าขอม โรงเรียนจรัสพิชากร
๒๒. วัดสิงห์ หน้าวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
๒๓. วัดหลังพระ ถนนหลังวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
๒๔. วัดหอไตร วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช
๒๕. วัดสวนหลวงตะวันออก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
๒๖. วัดพระเสด็จ หอสมุดแห่งชาติ นศ., สนง.ตรวจเงินแผ่นดิน และสนง.โทรศัพท์จังหวัด
๒๗. วัดกุฏ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (ตรงข้าม สนง.ตรวจเงินแผ่นดิน)
๒๘. วัดบ่อโพง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (ตรงข้าม สนง.ตรวจเงินแผ่นดิน)
๒๙. วัดเพชรจริกตะวันออก สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช
๓๐. วัดพระเวียง สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านศรีธรรมราช
๓๑. วัดเจดีย์เอน ปั๊ม ปตท. หัวถนน
๓๒. วัดสารีบุตร ไม่แน่ชัด (มีแต่ชื่อถนน)
๓๓. วัดคิด ไม่แน่ชัด (มีแต่ชื่อถนน)
๓๔. วัดสระเกษ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช
๓๕. วัดโมฬี หรือ วัดเมาลี วัดชะเมา
๓๖. วัดประตูเขียน วัดชะเมา
๓๗. วัดสมิทฐาน วัดชะเมา
๓๘. วัดพระขาว วัดชะเมา
๓๙. วัดพระเดิม วิหารโพธิ์พระเดิม วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
๔๐. วัดมังคุด ทิศเหนือของวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
๔๑. วัดไฟไหม้ วัดท้าวโคตร (ด้านทิศตะวันตก)
๔๒. วัดสพ วัดท้าวโคตร (ด้านทิศตะวันออก)
๔๓. วัดท่าโพธิ์เก่า โรงเรียนเทศบาลวัดท่าโพธิ์