เรื่องเล่าชาวเชียรใหญ่ ว่าด้วย “กาบดำ” พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

เรื่องเล่าชาวเชียรใหญ่
ว่าด้วย “กาบดำ” พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

โดย ปรมัตถ์ แบบไหน

 

ข้าวกาบดำ

ข้าวกาบดำเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่สามารถพบได้แพร่หลายแถบอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียงก็อาจจะพบได้ แต่ด้วยผมเป็นคนอำเภอเชียรใหญ่จึงรับรู้และสัมผัสกับข้าวพันธุ์นี้ตั้งแต่เด็ก

.

เชียรใหญ่

เรื่องราวความทรงจำของผมกับข้าวกาบดำคงจะเริ่มที่เห็นยายปลูกในตอนเด็ก ๆ และผู้คนละแวกบ้านก็ปลูกข้าวพันธุ์นี้ไว้กินกัน แต่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจแบบเงินตราที่เน้นกำไรสูงสุดในระยะเวลาที่เร็วที่สุด ชาวนาแถวบ้านเลยต้องหันไปปลูกข้าว กข.15 , หอมปทุม ซึ่งเป็นข้าวไวแสงที่ใช้ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวเพียงแค่ 100 – 120 วัน ที่กรมส่งเสริมวิชาการเกษตรสนับสนุน แทนการปลูกข้าวกาบดำ ซึ่งข้าวพันธุ์นี้เป็นข้าวนาปีที่ใช้เวลาในการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวนานเกือบค่อนปี โดยอาศัยฤดูกาลเป็นตัวกำหนดการเพาะปลูก

.

จากประสบการณ์ที่เคยเห็นยายปลูกข้าวพันธุ์นี้ ยายจะเริ่มหวานข่าวช่วงเข้าพรรษา ยายจะบอกว่า “หว่านข้าวรับหัวษา” ความหมายคือหว่านข้าว ช่วงต้นของการเข้าพรรษา ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงที่จะมีฝนโปรยพอให้หน้าดินชุ่มชื้นหลังจากที่ฝนทิ้งช่วงมาหลายเดือน แต่จะเป็นฝนจากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมาจากทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ชาวบ้านละแวกนี้จะเรียกฝนที่ตกในช่วงนี้ว่า “ฝนพลัด” ผมสันนิฐานที่มาของชื่อฝนนี้ว่า เพราะเป็นฝนที่ตกเพียงเล็กน้อย และเป็นฝนที่หลงเหลือจากการตกในฝั่งภาคใต้ตะวันตกที่มีเทือกเขานครศรีธรรมราช เป็นตัวแบ่ง หรือเขตเงาฝนของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้นั้นแหละ

.

ฝนพลัด ฝนออก

เมื่อข้าวที่หวานไว้ได้ความชื้นจาก “ฝนพลัด” ก็เติบโตขึ้น แต่ในช่วง 1-2 เดือนแรก ข้าวจะสูงประมาณหัวเข่า ความสูงระดับนี้ถ้าเป็นข้าวไวแสงถือว่าสูงมากแล้วนะ แต่สำหรับข้าวกาบดำถือว่ายังเตี้ยมาก ๆ เพราะ หลังจากฝนพลัดหมดไป ทิศทางลมของภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะเปลี่ยนไป โดยในช่วงเดือน 11 เดือน 12 ชาวบ้านจะเรียกฝนที่ตกช่วงนี้ว่า “ฝนออก” ความหมายคือฝนที่มาทางทิศตะวันออกเป็นฝนจากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนในช่วงนี้จะทำให้เกิดปริมาณน้ำที่มาก และท่วมได้แล้วแต่ปี

.

ถึงตอนนี้การที่ข้าวกาบดำจะทำตัวเองให้เตี้ยไม่ยอมสูงก็จะจมน้ำตายไป ข้าวกาบดำเลยยืดลำต้นสูงขึ้นสูงที่สุดอาจจะสูงถึง 150 ซม. ประมาณจากส่วนสูงของยายที่ต้นข้าวสูงถึงระดับศีรษะของท่าน ยายก็สูงประมาณ 150 – 160 ซม. ครับ

.

แกะ รวง เลียง ลอม

กว่าจะได้เก็บข้าวก็โน้นเดือน 4 กว่าจะเสร็จก็เดือน 5

เพราะยายเก็บกับ “แกะ”

เก็บที่ละ “รวง”

หลายๆรวงมัดรวมเป็น “เลียง”

หลายๆเลียงกองรวมกันเป็น “ลอม”

.

สุดท้ายนี้จะบอกว่า

ผมยุให้แม่ปลูกข้าวกาบดำ

แม่ใช้วิธีเพาะข้าวในที่ดอนก่อน

แล้วเอาไปดำ

แม่ดำนาเสร็จไปช่วงก่อนออกพรรษา

ตอนนี้ข้าวได้น้ำจาก “ฝนออก” คงกำลังเติบและโต

ปัญหาที่แม่บ่นให้ฟังคือ….

“มึงยอนให้กูปลูกข้าวกาบดำเวลาเก็บไม่รู้เก็บพรือเวทนาจัง”

___

ภาพปก
เพจ ไร่ ณ นคร – Na Nakhon Integrated Farming.