Skip to content
ตำนานพระธาตุ

ตำนานพระธาตุเมืองนคร เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ?

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เป็นพื้นความรู้ที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ศึกษาให้รอบด้าน เพราะนอกจากจะให้คุณค่าทางวรรณศิลป์แล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์เพื่อสกัดเอาภาพสะท้อนทางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาของเมืองนครศรีธรรมราช รวมถึงอำนาจครอบงำความเชื่อและวิถีคิดของคนท้องถิ่น ณ จุดเวลาหนึ่งได้เป็นอย่างดี การทำความเข้าใจตำนานพระธาตุ จึงควรก้าวให้พ้นจากการพิสูจน์จริงเท็จ ถอยออกมามองให้เห็นความหมายแฝงซึ่งซ่อนปนอยู่ในเนื้อหาแต่ละวรรค 

Nakhon Si sTation Platform (NSTP) ได้นำเสนอต้นฉบับตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับกระดาษฝรั่งไปแล้ว (สามารถติดตามอ่านได้ที่ https://nakhonsistation.com/ต้นฉบับ-ตำนานพระธาตุเมื/ )และมีความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับนครศรีธรรมราชอย่างต่อเนื่อง ผ่านการกระตุ้นความสนใจด้วยข้อสังเกตที่อาจมีแรงบันดาลใจมาจากสภาวการณ์ทางสังคมปัจจุบัน คำถามในหัวหรือพิรุธบางประการในหลักฐานที่เคยคุ้นชินกันอยู่แล้ว 

ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช เขียนขึ้นเมื่อไหร่ ? เป็นส่วนของคำถามที่เกิดขึ้นในหัว ซึ่งความจริงก็ไม่ถูกนักที่จะเค้นเอาคำตอบจากสิ่งที่สืบเนื่องกันเป็นมุขปาฐะ แต่ด้วยว่าเมื่อคำพูดถูกถ่ายทอดเป็นงานเขียน ย่อมทิ้งร่องรอยให้คิด ให้พอชวนตั้งคำถามอยู่ได้บ้าง

เขียนเมื่อไหร่ ?

๑.พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ได้ตั้งข้อสันนิษฐานเอาไว้เป็นประเดิมด้วยการอาศัยศักราชท้ายสุดที่ปรากฏในปีพุทธศักราช ๒๑๙๗ ว่า “สันนิษฐานว่าแต่งในแผ่นดินพระนารายณ์ ศักราชในที่สุดบอกปีในปลายแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง”

๒.หากใช้ศักราชสุดท้ายเป็นเหตุผลในการสันนิษฐาน มีข้อให้คิดได้อย่างหนึ่งว่าอาจเขียนขึ้นในปี พ.ศ.๒๑๙๗ ในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองนั่นเอง เพราะช่วงท้ายของตำนานตั้งแต่ พ.ศ.๑๘๖๑ เรื่อยไป เป็นการเขียนในลักษณะเรียงลำดับเหตุการณ์ผู้ปกครองประหนึ่งแสดงทำเนียบเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่

“อยู่มาพระศรีมหาราชาถึงแก่กรรม ศักราช ๑๘๖๑ ปี โปรดให้ข้าหลวงออกมา เป็นศรีมหาราชาแต่งพระธรรมศาลา ทำระเบียงล้อมพระมหาธาตุ และก่อพระเจดีย์วัศสภ มีพระบัณฑูรให้พระศรีมหาราชาไปรับเมืองลานตกา ศรีมหาราชาถึงแก่กรรมเอาศพมาไว้วัศศภ แล้วเอามาก่อเจดีย์ไว้ในพระเดิม ๙ ยอด

เมื่อศักราชได้ ๑๙๑๙ ปี โปรดให้หลวงศรีวราวงษมาเป็นเจ้าเมืองมาทำวิหารฝ่ายอุดรพระธาตุ ทักษิณพระโพธิมณเฑียร ก่อพระสูง ๗ ศอก หล่อพระสำมฤฐองค์หนึ่งไว้ปัจจิม เมียหล่อองค์หนึ่งไว้ฝ่ายบูรรพ์ชื่อว่าเพหารเขียน แล้วอุทิศข้าหญิงชายไร่นาไว้สำหรับรักษาพระ โปรดให้หลวงพิเรนทรเทพมาเป็นเจ้าเมือง พระทิพราชาน้องพระญาสุพรรณเป็นปลัด ศึกอารู้ยกมาตีเมืองแล้วไปตีเมืองพัทลุงได้ ทิพราชาเป็นแม่ทัพไปตีได้คืนเล่า

เมื่อศักราช ๒๐๓๙ ปี โปรดให้พระยาพลเทพราชมาเป็นเจ้าเมือง เกนให้ตกแต่งทำกำแพงกำชับไว้ แล้วเข้าไปกรุงไปทางเมืองสระ

เมื่อศักราช ๒๑๔๑ ปี โปรดให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะมาเป็นเจ้าเมือง อุชงคนะให้ลักปหม่าหนาเป็นแม่ทัพเรือมารบเสียขุนคำแหงปลัด ณ รอปากพระญา ข้าศึกรุกเข้ามาถึงตีนกำแพงฝ่ายอุดร พระยาศรีธรรมราชออกศึกหนีไป

เมื่อศักราช ๒๑๔๔ ปี โปรดให้พระรามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง เอาขุนเยาวราชมาเป็นปลัด รู้ข่าวศึกอุชงคนะจึงพระยาให้ขุดฝ่ายบูรรพ์แต่ลำน้ำท่าวังมาออกลำน้ำฝ่ายทักษิณ

เมื่อศักราช ๒๑๗๑ ปี ศึกอุชงคนะยกมา พระญาก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดร แลแต่งเรือหุมเรือหายพลประมาณห้าหมื่นเศษ รบกันเจ็ดวัดเจ็ดคืนขุนพัญจาออกหักทัพกลางคืนศึกแตกลงเรือศึกเผาวัศท่าโพเสีย พระญาถึงแก่กรรม พระญาแก้วผู้หลานก่อพระเจดีย์บรรจุธาตุไว้ในพระธรรมศาลา

ศักราช ๒๑๙๗ ปี มีพระบรรทูลโปรดให้พระญาบริบาลพลราชเจ้าเมืองตะนาวศรีมหานครมาเป็นเจ้าพระญานครศรีธรรมราช เดชไชยอภัยพิรีบรากรมพาหุเจ้าพระญานครศรีธรรมราช”

ซึ่งในปีท้ายที่สุดนี้ก็อาจเป็นข้อพินิจในประเด็นที่ว่า “ใครเขียน” ดังจะได้อธิบายต่อไป ส่วนหลักฐานประกอบที่น่าสนใจอีกประการคือ ในช่วงก่อนปีท้ายสุดที่มีการลงศักราชไว้นั้น มีเหตุการณ์สำคัญมากเกิดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช นั่นคือ กรณียอดพระธาตุหักในปีพุทธศักราช ๒๑๙๐ แต่ไม่มีการระบุไว้ทั้งที่เกี่ยวข้องกับตำนานโดยตรง อาจด้วยจงใจอำพรางลางเมืองเพราะต้องการดำรงพระเกียรติยศของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ผู้ซึ่งยังคงดำรงอำนาจเหนือนครศรีธรรมราชอย่างสมบูรณ์อยู่ในขณะนั้น

๓.อาจต้องขอให้ลองสังเกตจากสิ่งต่อไปนี้

๓.๑ แผนผังการวางตำแหน่งศาสนสถานสำคัญตามขนบของอยุธยาตอนต้น คือ เจดีย์ประธานอยู่ตำแหน่งกลาง ทิศตะวันออกเป็นพระวิหารหลวง ทิศตะวันตกเป็นพระอุโบสถ

๓.๒ ตำแหน่งปัจจุบัน เจดีย์ประธานคือพระบรมธาตุเจดีย์ พระวิหารหลวงคือวิหารพระธรรมศาลา พระอุโบสถเป็นมุขของพระระเบียงคดที่ถูกดัดแปลงตัดช่องผ่ากลางให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพระระเบียง

๓.๓ องค์พระบรมธาตุเจดีย์ยังคงตำแหน่งเดิมเช่นเดียวกันกับวิหารพระธรรมศาลา ยกเว้นตำแหน่งพระอุโบสถด้านทิศตะวันตก ที่กล่าวถึงการดัดแปลงไปแล้วในข้อที่ ๒

๓.๔ ตำแหน่งที่ควรจะเป็นพระอุโบสถมีหลักฐานระบุว่าเป็น “พระธรรมรูจี” ตามใบบอกของพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวงเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช เรื่อง ส่งรายงาน ศก ๑๑๖ ลงวันที่ ๔ ตุลาคม ร.ศ.๑๑๗ กราบทูลพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย กรณีบูรณะศาสนสถานต่างๆ รอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ความว่า

“พระธรรมรูจี ต่อพระระเบียงด้านตะวันตก ทำแล้วยาว ๖ วา กว้าง ๑ วา ๓ ศอก สูง ๓ วา ๔ ห้อง พระพุทธรูป ๘ องค์ ๑ หลัง” 

๓.๕ คำว่า “ต่อ” และ “ทำ” ชี้ไปในประเด็นว่า “สร้าง” ไม่ใช่ “บูรณะ” ก็จริง แต่พบว่าในใบบอกฉบับเดียวกันมีการกล่าวถึงวิหารพระธรรมศาลาก่อนในลักษณะเดียวกัน ความว่า “พระธรรมศาลา เป็นมุขต่อพระระเบียงด้านตะวันออกพระบรมธาตุ” ซึ่งพระธรรมศาลามีประวัติการสร้างในปีพุทธศักราช ๑๙๑๙ ก่อนการบูรณะในครั้งนี้ ก็พอจะเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่า พระธรรมรูจีนี้ มีมาก่อน การ “ต่อ” และ “ทำ” จึงเป็นการ “บูรณะ” ไม่ใช่ “สร้าง”

ภาพถ่ายองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช จากทิศตะวันตก
สังเกตเห็นอาคารตรงกับองค์พระบรมธาตุมีช่องประตู

๓.๖ หลักฐานแสดงการมีมาก่อนของพระธรรมรูจีคือภาพถ่ายในปีพุทธศักราช ๒๔๔๒ ที่ยังคงใช้ประตูด้านทิศตะวันตกเป็นทางเข้าออก 

๓.๗ ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ไม่ได้กล่าวถึงส่วนที่เป็น “พระธรรมรูจี” ไว้ และจากความสำคัญของแผนผังตามขนบอยุธยาที่ต้องมีพระอุโบสถด้านทิศตะวันตกของเจดีย์ประธานแต่ไม่ได้มีการกล่าวถึงการใช้สอยพื้นที่ดังกล่าวเลยในตำนานข้างต้น จึงอาจพอสันนิษฐานได้ว่า

“ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราชแต่เดิมอาจมีการถ่ายทอดต่อในลักษณะมุขปาฐะ ต่อมาเมื่อมีการเขียนบันทึกไว้ จึงอ้างอิงจากโบราณสถานที่ยังพบเห็นอยู่ เมื่อพระธรรมรูจีได้ถูกดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของวิหารพระระเบียงคดไปแล้ว จึงไม่ได้กล่าวถึง จึงเป็นไปได้อีกทางหนึ่งว่า ตำนานพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช (ฉบับกระดาษฝรั่ง) น่าจะมีการจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในยุคหลังจากปีพุทธศักราช ๒๔๔๑ แต่ไม่เกินการพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี ๒๔๗๑”

ทั้งนี้ อาจต้องพึ่งการวิเคราะห์จากหลักฐานและข้อสังเกตอื่นๆ ประกอบ ทั้งสำนวนที่ใช้ เทียบกับสำนวนของเอกสารโบราณอื่นที่ระบุเวลาในการเขียนและร่วมสมัย การขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณที่เคยเป็น “พระธรรมรูจี” ว่าในปี ศก ๑๑๖ นั้น “สร้าง” หรือ “บูรณะ”

ในท้ายที่สุด แม้การสันนิษฐานทั้ง ๓ ข้อ จะมีส่วนเป็นไปได้ในข้อใดข้อหนึ่ง หรือเป็นไปไม่ได้ทั้งหมด ตำนานก็ได้ทำหน้าที่ของตำนานอย่างสมบูรณ์แล้ว นั่นคือการชวนคนอีกรุ่นหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียบเรียงและผู้ที่อ่านมาถึงวรรคนี้ มาจับเขาคุยกันอย่างจริงจัง ว่าเมื่อไหร่ ? เราควรจะเขียนตำนานฯ

____
ภาพจากปก : สำเนาภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หมายเลขกำกับ na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๔๕

 

ชาวสวน ชาวไร่ ติดต่อบริการ Nakhonsistation ช่วยขาย ได้ที่ Line @nakhonsistation หรือโทร 0926565298