หงส์หามเต่า บนพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร

หงส์หามเต่า
บนพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร

แถบสีแดงบนองค์พระบรมธาตุเจดีย์
หลักฐานชี้ความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนา
ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.

มาลัยก้านฉัตร

แถบสีแดงที่ว่านี้เรียกว่า “มาลัยก้านฉัตร”
ปรากฏ ณ ตำแหน่งขอบล่างสุดของปล้องไฉน
เหนือพระเวียนที่เสาหารหน้ากระดาน
เมื่อสังเกตอย่างตั้งใจจะเห็นได้ชัดขึ้นว่า
คล้ายกับเป็นรูปของสัตว์ปีกในอากัปกิริยาต่างๆ วนไปโดยรอบ
.
พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช มีลักษณะเฉพาะที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับเจดีย์รูปทรงเดียวกันในประเทศไทยโดยเฉพาะคาบสมุทรมลายู อาจเพราะการเป็นต้นแบบทางความคิดประการหนึ่ง นัยยะทางคติความเชื่อพื้นถิ่น และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์บางประการ อาทิ การประดับเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์และสังคโลก เสายูปะ การหุ้มปลียอดด้วยทองคำ และการประดับสาแหรกแก้วหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ที่ส่วนยอดสุด จึงอาจกล่าวได้ว่าลักษณะพิเศษจำเพาะเหล่านี้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญประการหนึ่งอันเป็นเอกลักษณ์
.

กัจฉปชาดก

เมื่อวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๐ ข้าพเจ้าได้ร่วมสังเกตการณ์กับคณะสำรวจโครงสร้างภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์ด้วยเครื่อง GPR จึงได้เก็บข้อมูลรูปภาพ ณ ตำแหน่งมาลัยก้านฉัตรโดยรอบมาเพื่อศึกษา พบว่า ภาพเหล่านั้นเป็นตอนหนึ่งของนิทานปัญจตันตระ เรื่องหงส์หามเต่า หรือในพระพุทธศาสนารู้จักกันดีในชื่อ “กัจฉปชาดก”
.
ฉากสำคัญของเรื่องคือฉากที่มีหงส์สองตัวคาบกิ่งไม้อยู่ซ้ายขวา แล้วมีเต่าคาบกิ่งไม้อีกทอดหนึ่งตรงกลางลำ ซึ่งฉากนี้พบที่ผนังเชิงบันไดของวิหารจันทิเมนดุด ใกล้บุโรพุทโธ แถบชวากลาง ประเทศอินโดนีเซีย และฐานของมหาวิหารนาลันทา ประเทศอินเดีย
.
หากให้พระบรมธาตุเจดีย์เป็นตัวแทนของเมืองนครศรีธรรมราช มหาวิหารนาลันทาของอินเดีย และจันทิเมนดุดของชวา สังเกตวิธีการจับกิ่งไม้ของหงส์ ๓ พื้นที่ได้ว่า นครศรีธรรมราชใช้ปากคาบ อินเดียใช้ปากคาบ ชวาใช้กรงเล็บเหนี่ยว ซึ่งอาจชี้ว่า คตินี้นครศรีธรรมราชอาจรับมาจากแหล่งกำเนิดของคติโดยตรง และเป็นคติร่วมกันของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะพบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีนิทานนางตันไตเป็นวรรณกรรมท้องถิ่น จึงมักพบหน้าบันของศาสนสถานแสดงภาพตอนนกหรือหงส์คาบกิ่งไม้นี้อยู่ด้วย
.
ส่วนถ้าจะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างจันทิเมนดุตกับพระบรมธาตุเจดีย์ อาจต้องศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ราชวงศ์ไศเลนทร์” ผู้ก่อตั้งอาณาจักรศรีวิชัย ซึ่ง ณ จุดเวลาหนึ่ง นครศรีธรรมราชเป็นส่วนหนึ่งของสมาพันธรัฐ เพราะกษัตริย์พระองค์หนึ่งในราชวงศ์ดังกล่าวนั้น เป็นผู้สร้างบุโรพุทโธกับทั้งจันทิเมนดุต โดยอาจใช้ภาพกัจฉปชาดกที่เป็นรอยร่วมกันนี้ประกอบการศึกษา
.
ความในกัจฉปชาดก ภาพ กับข้อสังเกตอื่น
อ่านเพิ่มเติมใน

เทศกาลเดือนหก วันเพ็ญ ปีใหม่ ทำขวัญพระธาตุ

เทศกาลเดือนหก
วันเพ็ญ ปีใหม่ ทำขวัญพระธาตุ

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน
เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย
เพลาชายแล้วสองยาม สร้างตรหลบหกสู่ยอดพระเจ้าหั้นแล
เมื่อทำการนั้น เดือนสิบ วันศุกร์เพลาเช้าขึ้นถึงสิบชั้นเป็นสุดเอย”

ข้อความนี้ เป็นการปริวรรตจารึกที่แกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช โดย ก่องแก้ว วีระประจักษ์ และ เทิม มีเต็ม ก่อนที่จะวิเคราะห์เนื้อความในจารึก จะกล่าวถึงตำแหน่งที่พบจารึกตามการบันทึกไว้ในฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ว่าอยู่ในช่วงใต้กลีบบัวหงายต่ำลงไป ประมาณ 1.80 เมตร เป็นการจารึกรอบแกนปลีจำนวน 2 บรรทัดแต่ปัจจุบันถูกหุ้มด้วยแผ่นไฟเบอร์กลาส เพื่อเสริมความมั่นคงให้แก่ โครงสร้างยอดเจดีย์ จารึกดังกล่าวจึงถูกปิดทับไปด้วย จึงมีการอ่านแปลจารึกในบริเวณดังกล่าวจากภาพถ่าย และตีพิมพ์ในวารสารศิลปากร ปีที่ 37 ฉบับ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม, 2537) ในบทความชื่อ “จารึกแผ่นทองหุ้มปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช”

ต้นจารึกเป็นอักษรขอมอยุธยา ภาษาไทย มีด้านเดียว 2 บรรทัด จารึกลงบนโลหะ กำหนดอายุสมัยในพุทธศักราช 2190 จัดเรียงบรรทัดใหม่เพื่อวิเคราะห์ความได้ 4 บรรทัดข้างต้น ส่วนบรรทัดสำคัญซึ่งชี้ว่าเมืองนครศรีธรรมราช ใช้วันวิสาขปุรณมี เป็นวันขึ้นปีใหม่นั้น คือ 2 บรรทัดแรก ดังจะได้ขยายความต่อไป

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน
เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย

“พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน” และเศษของสี่วันนั้นตรงกับ “วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย” ประเด็นคือ มีข้อพิจารณาอย่างหนึ่งเกี่ยวกับวิธีนับพุทธศักราช ในที่นี้จะเห็นว่าหากย้อนหลับไปสี่วัน วันขึ้นปีใหม่จะตรงกับ “วันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนหก” ซึ่งตรงกับวัน “วิสาขปุรณมีบูชา”

“วิสาขปุรณมีบูชา” วันขึ้นปีใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราช

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า “วันวิสาขบูชา” ถูกยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากลมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2542 ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา ทั้ง 3 เหตุการณ์ของพระโคตมพุทธเจ้า คือการประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน, ตรัสรู้  ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา และดับขันธปรินิพพาน ณ ควงไม้สาละ ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เมื่อพระชนมายุ 80 พรรษา ซึ่งทุกเหตุการณ์ล้วนเกิดขึ้นในวันเพ็ญ เดือน 6 ทว่าต่างปีกัน การรำลึกถึงความสำคัญเหล่านี้จึงเรียกให้พ้องไปตามกาลว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” ซึ่งแปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ หรือเดือน 6

ดังนั้น หากพุทธศักราชเป็นการสมมตินับเอาวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานเป็น พ.ศ. 1 ตามอย่างประเทศศรีลังกาและพม่า หรือหลังจากเหตุการณ์นั้นแล้ว 1 ปีตามอย่างประเทศไทย วันซึ่งจะเป็นหมุดหมายเปลี่ยนศักราช จึงควรเป็นวันวิสาขบูชา และใช้สืบเนื่องมาแต่โบราณก่อนจะปรับเปลี่ยนไปตามสากล

แล้วเมืองนครศรีธรรมราชเอาอย่างใคร ?

จารึกที่ฐานพระลาก วัดศรีทวี อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีข้อความระบุว่า “…วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ปีกุน สัตตศก เพลาชาย 3 ชั้น พุทธศักราชได้ 2277…” พระครูเหมเจติยาภิบาลสอบพุทธศักราชกับจุลศักราชแล้วพบว่า เป็นการนับศักราชมากกว่าพุทธศักราชปัจจุบัน 1 ปีอย่างศรีลังกา ข้อนี้อาจแสดงให้เห็นการยึดถือระเบียบวิธีดั้งเดิมของแหล่งซึ่งเป็นต้นทางของพระพุทธศาสนาที่ประดิษฐานอยู่ ณ เมืองนครศรีธรรมราชและสยามประเทศ

อย่างไรก็ดี เมื่อย้อนไปสอบทานปีพุทธศักราชและปีนักษัตรกลับพบว่า พุทธศักราช 2190 ไม่ตรงกับปีมะเมีย ดังที่ระบุในจารึก

เหตุและปัจจัยที่นักษัตรกับปีเคลื่อนกัน

เหตุการณ์สำคัญในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองที่ระบุไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) คือเมื่อ จุลศักราช 1000 ปีขาล (พุทธศักราช 2181) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีลบศักราช เพื่อเสี่ยงพระบารมีแก้กลียุค แม้ในพระราชพงศาวดารจะระบุว่าพระเจ้าอังวะปฏิเสธที่จะใช้ตามพระราชสาส์นที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองส่งไป ในส่วนของเมืองนครศรีธรรมราช มีจารึกที่ระฆังวัดท้าวโคตร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า “พุทธศักราชได้ 2183 ปีมะโรง เลิกว่าฉลู ตรีนิศก วันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน ๔” คำว่า “ปีมะโรง เลิกว่าฉลู” เป็นหลักฐานยืนยันว่า เมืองนครศรีธรรมราชยอมรับอำนาจของกรุงศรีอยุธยาโดยสมบูรณ์ในฐานะเป็นขอบขัณฑสีมา จึงได้ย้อนปีนักษัตรขึ้นปี 2 ปีตามพระราชประสงค์

ส่วนจารึกแกนปลีใต้กลีบบัวหงายพระบรมธาตุเจดีย์ ระบุว่า “พระพุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบ…วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย…” กลับมีปัญหาเพราะเมื่อคำนวณทั้งตามการนับศักราชธรรมดาและลบศักราช กลับไม่ตรงทั้ง 2 วิธี กล่าวคือ

ธรรมดา            : พุทธศักราช 2190 ตรงกับจุลศักราช 1009 ปีกุน
ลบศักราช         : พุทธศักราช 2190 ตรงกับจุลศักราช 1009 ปีวอก

จึงดูเหมือนว่า ศักราชที่ปรากฏที่แกนปลีนี้ ใช้หลักการลบศักราชถึง 2 ครั้ง คือย้อนกลับขึ้นไปถึง 4 ปีนักษัตร ความคลาดเคลื่อนข้อนี้เป็นปัญหาที่ยังไม่พบข้อสรุป นอกจากการสันนิษฐานว่า อาจเป็นเพราะผู้จารึกที่รับข้อความให้จารึกซึ่งระบุศักราชที่ลบแล้ว แต่กลับลบซ้ำเป็นกำลัง

ย้อนกลับมาที่เรื่อง “ปีใหม่”

 

ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันเรื่อง “ปีใหม่” ก่อนว่า
“ปี” กำหนดชั่วโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครั้งหนึ่ง
ใช้เวลาราว 365 วัน หรือ 12 เดือน
เมื่อยึดเอาดวงอาทิตย์ฉะนี้ จึงเรียก “สุริยคติ”
.
จึงหมายความว่าเมื่อโลกเริ่มต้นวนอีกครั้ง
ก็จะเท่ากับว่ากำลังเริ่ม “ปีใหม่” เนื่องต่อกันไป
.
แต่ก่อนมีหมุดหมายกำหนดวันขึ้นปีใหม่หลายระลอก
ได้แก่ แรมค่ำหนึ่ง เดือนอ้าย, ขึ้น 1 ค่ำเดือนห้า
1 เมษายน และ 1 มกราคม ที่ใช้อยู่เป็นปัจจุบัน
.
จะเห็นว่ามีทั้งการยึดทั้งตามสุริยคติและจันทรคติ
ซึ่งเป็นการยึดโยงกับสิ่ง “นอกโลก”
.
ตานี้ย้อนกลับมาในโลก
อันมีศาสนาเป็นเครื่องยึดโยงจรรโลงใจ
หมุดหมายของวันขึ้นปีใหม่
ที่ตรงกับเหตุการณ์สำคัญของศาสนาใด
ก็จะแปรผันตรงกับศักราชในศาสนานั้น
.
เช่นว่า อิสลามคติ ที่ใช้เดือนมุฮัรรอม
ประกอบกับการมองเห็นดวงจันทร์
เป็นวันจบปีจบเดือนเริ่มฮิจเราะห์ศักราชใหม่
หรือ พุทธคติ ก็เปลี่ยนพุทธศักราช
โดยใช้วันเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นอาทิ
.

“…ครั้นถึงเทศกาลเดือนหก
วันเพ็ญ ปีใหม่ ทำขวัญพระธาตุ…”

 

ข้อความนี้คัดจากเอกสารเลขที่ 164
หอจดหมายเหตุแห่งชาติ (ท่าวาสุกรี)
ซึ่งพระครูเหมเจติยาภิบาลได้กำหนดนับจัดหมวดใหม่เป็น
พงศาวดารเมืองนครศรีธรรมราช หมายเลข 2
.
มีข้อบ่งชี้บางประการถึงอิทธิพลของพระพุทธศาสนา
ที่แพร่และเจริญอยู่ในดินแดนนี้
คือการใช้วันขึ้นปีใหม่เป็นวันเพ็ญ เดือนหก

.

“วิสาขปุรณมีบูชา”
จึงคือวันขึ้นปีใหม่ของเมืองนครศรีธรรมราช

 

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า “วันวิสาขบูชา”
ถูกยกย่องให้เป็นวันสำคัญสากล
มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2542
ตามมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ
เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง
ทั้ง 3 เหตุการณ์ของพระโคตมพุทธเจ้า
คือการประสูติ ณ สวนลุมพินีวัน,
ตรัสรู้ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ
และดับขันธปรินิพพาน ณ ควงไม้สาละ
ในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ
.

ความน่าสนใจอีกประการนอกจากคำตอบว่า ชาวนครศรีธรรมราช ใช้วันใดเป็นหมุดหมายขึ้นปีใหม่ คือการค้นคว้าเพิ่มเติมว่ามีการเฉลิมฉลองกันอย่างไรในเมืองนี้
.

ทำขวัญพระธาตุ

แน่นอนว่ามี “ทำขวัญพระธาตุ” แล้วอย่างหนึ่งตามจารึกข้างต้น ในภาพปกซึ่งคัดต้นฉบับจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ปรากฏเสาต้นไม้เพลิงและมีคำอธิบายเขียนไว้กำกับต้นฉบับว่า “พระเจดีย์พระมหาธาตุ (คราวมีงาน)” แต่ไม่ระบุว่างานอะไร อาจกล่าวโดยกว้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเฉลิมฉลองในวาระใดวาระหนึ่ง
.
จึงเป็นเรื่องของอนาคตที่คงต้องอาศัยหลักฐานประกอบเพื่อทำหน้าที่ให้ปากคำจนจิ๊กซอว์ภาพนี้ต่อกันบริบูรณ์

ป้าคร ถานีทุ่งหล่อ ขวัญใจสาวกหนมบ้านเมืองนคร

ป้าคร ถานีทุ่งหล่อ
ขวัญใจสาวกหนมบ้านเมืองนคร

ใจหนึ่งไม่คิดว่าป้าครจะเป็นที่พูดถึงและรู้จักกันมากขนาดนี้ แต่อีกหนึ่งใจก็พอจะทำเนาได้ เพราะค่อนชีวิตของแกไม่เคยทำอย่างอื่นเลย ลงหลักปักฐานกับอาชีพนี้จนเป็นภาพจำติดตา บางคนถึงขั้นแซวว่าน้ำเสียงติดหู ส่วนถ้าแกไม่ออกปากว่า “ลงเฟซให้กัน” ผมคงไม่กล้าล่วงเกินด้วยความทรงจำส่วนตัว ที่มาพร้อมภาพและคำอธิบายจนถูกส่งต่อกันหลายแชร์ หลายไลก์ หลายความคิดเห็น ลองเข้าไปทวนไปส่องกันตรงโพสต์นี้ https://www.facebook.com/imvanpra/posts/10209819742846225

.

เริ่มหาบเริ่มคอน

กว่า 36 ปีแล้วที่สองบ่าของป้าครสลับกันหาบ “หนมบ้าน” เที่ยวเร่ขายไปตามสองข้างทางถนนราชดำเนิน เมืองนครศรีธรรมราช แกจำทุกความเปลี่ยนแปลงที่เคยผ่านตาและผ่านมาได้แม่นยำ รวมถึงคำยืนยันจุดเริ่มต้นของอาชีพนี้ ว่าเกิดขึ้นในพุทธศักราช 2529

.

บ้านทุ่งหล่อ

ที่น่าสนใจคือ ป้าคร ไม่ได้มีภูมิลำเนาในเขตตัวเมืองนครศรีธรรมราช ในที่นี้คือละแวกเทศบาลหรือตรงไหนสักที่ใกล้ๆ อย่างที่เคยคิด แกอยู่ “บ้านทุ่งหล่อ” ข้างสถานีรถไฟทุ่งหล่อ อำเภอร่อนพิบูลย์โน่นเลยครับ

แกเล่าให้ฟังต่อว่า มีแม่ค้ารวมกันราวสิบคน บ้านอยู่ติดๆ กัน แต่ละคนทำหนมบ้านกันเอง คนละอย่าง สองอย่าง สามอย่างว่ากันไป แล้ว “ปันกัน” ทั้ง “หนม” ทั้ง “เบี้ย”

.

รถผูก

แรกก่อนนั่งรถไฟกันมาลงสถานีปลายทางนครศรีธรรมราช แล้วแยกย้ายกันต่อรถสองแถว กระจายไปตามแต่ละพื้นที่ขายของใครของมัน แล้วก็นั่งรถไฟกลับ เดี๋ยวนี้มี “รถผูก” บริการรับ-ส่งถึงที่ สิริค่าเดินทางวันละ 60 บาท

.

“หนมบ้าน” ที่ว่านี้ ได้แก่ หนมชั้น หนมขี้มัน หมี่ผัด หม้อแกง เหนียวหน้าต่างๆ หนมปากหม้อ สาคู หนมโคหัวล้าน เหนียวห่อกล้วย หนมคุลา มัน-ถั่ว-ไข่นกกระทาต้ม และอีกนานามีตามแต่จะ “รวน” กันทำ จะยกเว้นเสียก็แต่ ”หนมโรง” ที่ป้าครบอกว่าไม่เคยขาย

.

หนมไหรมั้งอะนุ้ย ?

ทุกเช้า ราว 7 โมง ป้าครจะนั่งดับชะอยู่ตรงหน้าร้านข้าวขาหมูท่าม้าใกล้แยกศาลากลาง จากนั้นก็หาบขายไปรายทางมีพระธาตุเป็นหมุดหมาย ใครได้ยินเสียง “หนมไหรมั้งอะนุ้ย ?” อย่าลืมแวะอุดหนุนป้าครกันนะครับ หรือถ้าจะเที่ยวตามสืบ คงต้องแนะนำว่าควรจะเป็นก่อนบ่ายโมง เพราะแกบอกว่า “พอหวันช้ายกะขายหมดทุกวัน”

.

ผมกับป้าครเรียกว่ารู้จักกันก็คงจะไม่ถูกมากนัก เพราะเป็นแต่เห็นกันตอนแกนั่งดับร้าน หรือตอนผมไปทำอะไรที่พระธาตุ เคยยืมคานแกมาหาบถ่ายรูปครั้งหนึ่ง ตอนนั้นหนมกำลังจะหมดก็เลยเบาหน่อย วันที่ขอแกถ่ายรูปเป็นตอนที่ดับเสร็จใหม่ ๆ โอ้โห ยกไม่ขึ้นสิครับ หนัก และ หนักมากกกก ผมโอดครวญจนป้าแกยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เหมือนจะพูดในใจว่า “รำโนราไปตะ อย่ามาเที่ยวราร่าเรื่องเพื่อน”

.

ป้าครจำตอนผมรำโนราที่พระธาตุได้ ก็เลยกลายเป็นใบเบิกทางให้กระแซะถามอะไรอีกหน่อยสองหน่อย แกย้ำว่าแม่ค้าในรุ่นแกมีอีกราวสิบคน ที่น่าแปลกคือผมไม่เคยเห็นใครเลยนอกจากแก อาจคงเพราะแต่ละคนกระจายกันไปขายและมีเส้นทางเป็นของตัวเอง ไว้หากพบใครจะลองสืบลองถามเพื่อมาปะติดปะต่อเรื่องราวของชาว “หาบคอน” ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

.

นึกไปถึงว่า หากมีกัลยาณมิตรกระซิบถามว่ามีอะไรของชุมชนน่าสนใจจะเป็นเป้าหมายในการส่งเสริมบ้าง ในหัวตอนนี้คือมีบ้านทุ่งหล่อกับเรื่องราวของป้าครและคณะแล้วหนึ่ง กับอีกหนึ่งที่ยังคิดและแก้กันไม่ตก คือ แม่ค้าดอกไม้วัดพระธาตุ ซึ่งมีหลายกลุ่ม หลายแนว กลุ่มกวักรถริมราชดำเนิน กลุ่มในวัดหน้าพระธาตุ กลุ่มลานจอดรถศาลาร้อยปี สามกลุ่มนี้ยืนและเดินไปมา ส่วนอีกกลุ่มนั่งตามซุ้มประตู มีหน้าร้านเล็กๆ บนเก้าอี้หัวล้าน ทุกกลุ่มคุ้นหน้าหมด แต่เมื่อวานได้คุยแค่กับกลุ่มหลังนิดหน่อย

.

ทั้งสอง บ้านอยู่ชายแพงออก(ชายกำแพงทิศตะวันออก) ตรงหลังวัดหน้าพระธาตุ แกบอกว่าช่วงนี้รายได้ลด ไม่ได้ตั้งใจจะซักอะไรมาก ที่ติดใจคงเป็นวิธีขาย คือซุ้มประตูนี้มี 2 เจ้า ลูกค้าซื้อเจ้าไหนจะไม่แย่งไม่ยื้อกัน ถ้าซื้อของเจ้าหนึ่งมาก เจ้าที่ได้มากก็จะไปซื้อของอีกเจ้ามาเติมของตัว

.

เพราะต่างตกลงกันว่า

แต่ละวัน จะ “ปันกัน-แบ่งกัน”

.

เป็นที่ทราบดีว่า แม่ค้าดอกไม้เป็นปัญหาในการจัดการบริเวณวัดดังที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวสนใจปรากฏการณ์นี้มาก และถ้าความสนใจนี้ยังไม่ซาลง คิดว่าคงต้องหยิบจับมาศึกษาวิจัยกันจริงจัง เมื่อเรียนไปถึงชั้นปริญญาเอก

.

ส่วนเรื่องราวของป้าคร
ใจจริงยกให้แกเป็นขวัญใจสาวกหนมบ้านนะครับ
หากได้คุยกับแกเพิ่ม
ค่อยส่งข่าวครับฯ

ประวัติอำเภอนาบอน ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอนาบอน
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอนาบอนนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

ครั้งรัชกาลที่ 2

ความเป็นมาท้องที่อำเภอนี้ มีปรากฏตามทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ครั้งรัชกาลที่ 2 ว่าในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เคยเป็นแขวงหรือที่เรียกกันว่า “ที่นาบอน” มีนายที่ชื่อ “ขุนโจมธานี” รองนายที่ชื่อ “ขุนศักดิ์” ที่ทุ่งสงมีนายที่ชื่อ “หมื่นอำเภอ” ซึ่งอยู่ในความปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช

.

ครั้นต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2440 ได้มีการจัดการปกครองแผนใหม่ “แขวงนาบอน” และ “แขวงทุ่งสง” ได้ตั้งขึ้นเป็น “ตำบลนาบอน” และ “ตำบลทุ่งสง” ซึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช

.

กิ่งอำเภอนาบอน

จนกระทั่งวันที่ 9 มิถุนายน 2518 จึงได้รวมพื้นที่ของตำบลนาบอนและตำบลทุ่งสง รวมสองตำบลตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอนาบอน” ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย  ลงวันที่ 19 พฤษภาคม 2518

.

ขณะนั้นยังมิได้ก่อสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภอ ได้อาศัยเรือนแถวบ้านเลขที่ 210-211 หมู่ที่ 2 ตำบลนาบอนของนายยศ พันธ์พิพัฒน์ ใช้เป็นที่ทำการชั่วคราว ได้กระทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2518 โดยนายจาด อุรัสยะนันท์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี นายชลิต พิมลศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้กล่าวรายงาน

.

ที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราว

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2520 ได้เกิดเพลิงไหม้ที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราว จึงได้ย้ายที่ว่าการกิ่งอำเภอชั่วคราวไปอาศัยทำงานที่โรงเรียนสหมิตรบำรุง (โรงเรียนราษฎร์) ในหมู่บ้านเดียวกัน ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2520 เป็นต้นมา จนกระทั่งในปีงบประมาณ 2521 กระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติงบประมาณให้ทำการก่อสร้างที่ว่าการอำเภอ 1 หลัง บ้านพักข้าราชการปกครอง 3 หลังเป็นเงิน 1,011,500 บาท ได้ดำเนินการก่อสร้างในที่ดินซึ่งนายบุญทอง สันติกาญจน์ อุทิศให้เนื้อที่ 25 ไร่ คิดเป็นเงิน 375,000 บาท ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 2 ตำบลนาบอน ได้ทำการก่อสร้างโดย บริษัท มิตรไทย จำกัด เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง และได้ดำเนินการสร้างเสร็จในเดือนตุลาคม 2522 จึงได้ย้ายที่ทำการกิ่งอำเภอมาทำงานที่ที่ทำการอำเภอถาวร เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2522

.

นายอำเภอคนแรก

กิ่งอำเภอนาบอน ได้ยกฐานะเป็นอำเภอนาบอน ตามพระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอนาบอน พ.ศ. 2524 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 115 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2524 โดยมีนายจำเริญ ภูมิมาส ดำรงตำแหน่งนายอำเภอนาบอนคนแรก

ตำนาน “นางโดย” เรื่องเล่าท้องถิ่นตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ตำนาน “นางโดย”
เรื่องเล่าท้องถิ่นตำบลคลองน้อย

อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

เรื่องเริ่มที่เพชรบุรี

ณ หมู่บ้านหนึ่งในเมืองเพชรบุรี ปรากฏครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวหนึ่งมีตาม่องล่ายเป็นหัวหน้าครอบครัว ภรรยาชื่อนางรำพึง โดยที่ “แม่นางโดย” เป็นลูกสาวหนึ่งเดียวที่ด้วยความน่ารัก ผิวพรรณผ่องใส มีความงามจนเป็นทีหลงไหลของบุรุษเพศผู้พบเห็นจึงได้รับทั้งความรักและการทะนุถนอมจากพ่อคือตาม่องล่ายเป็นพิเศษเพราะเป็นคนใจร้าย โผงผาง ขี้โมโห ไม่เคยเกรงกลัวใคร

.

บนบานตาขุนเล

อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าลายบุตรชายเจ้าแฮเจ้าเมืองเชื่อสายจีนซึ่งอยู่ในทิศอีสาน ได้เกิดนิมิตฝันเห็นหญิงงามนางหนึ่ง ด้วยความมหัศจรรย์ใจเมื่อตื่นจากฝันได้ลงเรือเดินทางออกตามหาด้วยความหลงไหล ขณะเดินทางมาในทะเล เจ้าลายได้บนบานศาลกล่าวต่อ “ตาขุนเล” เทวดาประจำท้องทะเลว่า ขอให้ได้พบนางดังปรารถนา ครั้นตกกลางคืนตาขุนเลศักดิ์สิทธิ์ก็มาเข้าฝัน ตาขุนเลช่วยชี้ทางให้พร้อมกับบอกคาถามหาเสน่ห์ไปบทหนึ่งติดตัวไปกับเจ้าลายด้วย

.

เมื่อเจ้าลายเดินทางไปตามเส้นทางที่ตาขุนเลเข้ามาบอกในฝันแล้ว ก็ได้พบกับบ้านของตาม่องล่ายเข้าจริงๆ แต่วันนั้นตาม่องล่ายเข้าไปทำเพชร ทำพลอยในป่า คงพบแต่นางรำพึง แม่นางโดย และนางสาย หลานสาว เจ้าลายจึงได้ว่าคาถาสะกดนางรำพึงให้บังเกิดเมตตารักใคร่ ด้วยอิทธิ์ฤทธิ์ของคาถามหาเสน่ห์ นางรำพึงจึงได้ยกแม่นางโดยให้กับเจ้าลายตั้งแต่นั้น

.

กำเนิดเขานมเชือด-นมไต-ขุนนม

ฝ่ายตาม่องล่ายกลับมาจากป่า พร้อมกับเจ้าหมวกบุตรชายท้าวโคตรบอง ซึ่งบังเอิญเจอกันในป่าและเห็นว่าเจ้าหมวกนี้มีรูปร่างหน้าตาและความเหมาะสมด้วยชาติตระกูล จึงตั้งใจจะยกแม่นางโดยให้ เมื่อทราบความว่านางรำพึงได้ยกแม่นางโดยให้แก่เจ้าลายเสียแล้ว ทำให้ตาม่องล่ายโกรธจัด คว้าดาบพุ่งตรงเข้าไปหานางรำพึงหวังจะฟัน แต่นางสาย หลานสาวได้เข้ามาขวาง ผลคือถูกคมดาบตายทั้งสองคน เท่านั้นยังไม่พอ ตาม่องล่ายยังไม่หายโกรธ ใช้ดาบเล่มเดียวกันนั้นเชือดเต้านมของทั้งสองคนจนขาดแล้วโยนทะเล เต้านมข้างหนึ่งลอยไปติดที่เมืองญวน กลายเป็นเขานมยาย อีกสามข้างลอยมาทางใต้กลายเป็นเขาพนมเชือด (อำเภอร่อนพิบูลย์), เขาพนมไต(อำเภอสิชล) และเขาขุนพนม(อำเภอพรหมคีรี) จากสถานการณ์นี้ทำให้ตาเพชรไม่พอใจตาม่องล่ายเป็นอย่างมากถึงขั้นตัดขาดความเป็นเพื่อน ไม่ไปมาหาสู่คบหากันต่อไปอีก ตาเพชรใช้ไม้หลักปักเขตแดนระหว่างบ้านทั้งสองคน ต่อมาไม้หลักนั้นกลายเป็นภูเขาเรียกว่า “เขาหลัก” (อำเภอทุ่งใหญ่)

.

หลังจากที่เหตุการณ์ยุติลง ตาม่องล่ายค่อยทุเลาความโกรธลงกลายเป็นความอับอายเข้ามาแทนที่จนต้องหนีออกจากบ้านไปอยู่แถวเมืองสองแควหรือพิษณุโลก

.

สมโภชพระบรมธาตุ

รุ่งปีถัดมา เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ได้จัดให้มีการสมโภชพระบรมธาตุและแห่ผ้าขึ้นธาตุ ได้ประกาศให้ชาวเมืองทั่วทุกสารทิศมาร่วมการกุศล แม่นางโดยทราบข่าวจึงได้จัดแต่งเรือบรรทุกทรัพย์สินมาเองพร้อมด้วยบริวารมากมายอาทิตาหวังกับตาวัง ๒ คนพี่น้อง เคราะห์ร้ายที่เมื่อเรือเดินทางมาถึงอ่าวปากพนังก็ได้เกิดคลื่นลมขนาดใหญ่พัดเอาเรือไปชนกับเกาะหนึ่งเข้า ทำให้เรือจมลงและทุกคนในเรือเสียชีวิตหมดรวมถึงแม่นางโดยด้วย จึงพากันเรียกเกาะนั้นว่า “เกาะนางโดย” มาจวบจนปัจจุบัน

.

นิทานเรื่อง ตำนาน “นางโดย” นี้ปรากฏคุณค่าทางวรรณกรรมหลายส่วน ทั้งคุณค่าทางสุนทรียะที่เมื่อได้อ่านได้ฟังแล้วเกิดจินตนาการและความสนุกสนานเพลิดเพลิน จัดนิทานลักษณะนี้อยู่ในรูปแบบนิทานท้องถิ่น (Legend) ประเภทนิทานอธิบายเหตุ (Explanatory Tale) ซึ่งหมายถึงนิทานที่มุ่งอธิบายความเป็นมาของปรากฎการณ์ธรรมชาติ เทพเจ้า คน สัตว์ พืช สถานที่และถ้อยสำนวน (อ.วิเชียร ณ นคร) ซึ่งเป็นนิทานเก่าแก่ประเภทหนึ่งที่แพร่หลายกันมาก แก่เรื่องคือการมุ่งให้คำตอบเกี่ยวกับความเป็นมาของสิ่งและสภาพต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับมนุษย์ สัตว์ พืชและธรรมชาติต่าง ๆ โดยการใช้วิธีการเล่าที่เรียบง่าย ไม่สลับซับซ้อน บางครั้งจะพบว่ามีการให้รายละเอียดของฉาก สถานที่ ตัวเดินเรื่องเป็นสภาพจริงทางภูมิประเทศที่ปรากฎและประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้น

ผู้ให้สัมภาษณ์ : นายพริ้ม มาสิงห์ บ้านคลองน้อย อำเภอปากพนัง
ผู้สัมภาษณ์และจดบันทึก : นายศุภฤกษ์ โรจนธรรม (2537)
ผู้เรียบเรียงความ/เผยแพร่ : นายวันพระ สืบสกุลจินดา

ประวัติอำเภอพรหมคีรี ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอพรหมคีรี
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอพรหมคีรีนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

อำเภอพรหมคีรี เดิมเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีเขตการปกครอง 3 ตำบลคือตำบลพรหมโลก ตำบลบ้านเกาะ และตำบลอินคีรี ในแต่ละตำบลมีหมู่บ้านมากน้อยต่างกันคือตำบลพรหมโลก มี 8 หมู่บ้าน ตำบลบ้านเกาะ มี 6 หมู่บ้าน และตำบลอินคีรี มี 12 หมู่บ้าน

.

รวมตำบล ตั้งกิ่งอำเภอ

ต่อมาใน พุทธศักราช 2517 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้ 3 ตำบลดังกล่าวเป็นกิ่งอำเภอ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2517 เรียกว่า “กิ่งอำเภอพรหมคีรี” สังกัดอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช มีที่ทำการชั่วคราวอยู่ที่วัดพรหมโลก โดยมี นายสมนึก ฉวีภักดิ์ เป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งคนแรก

.

พุทธศักราช 2518 นายสมนึก ฉวีภักดิ์ ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งใหม่ที่จังหวัดสิงห์บุรี และได้แต่งตั้งให้นายประกอบ ดุลย์ไพรี มาเป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอคนต่อไป ครั้นในพ.ศ. 2519 นายประกอบ ดุลย์ไพรี ได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งใหม่ที่อำเภอหัวไทร และได้แต่งตั้งให้นายประภาส อ่อนจันทร์ มาดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอพรหมคีรี

.

ตั้ง “ตำบลทอนหงส์”

ใน พ.ศ. 2519 ทางกิ่งอำเภอได้ขอขยายเขตการปกครองเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตำบล และได้รับอนุมัติให้ขยายเขตได้ในต้น พ.ศ. 2520 โดยแยกหมู่บ้านจากตำบลอินคีรีหมู่ที่ 7 8 9 10 11 และ 12 ไปตั้งเป็นตำบลใหม่เรียกว่า “ตำบลทอนหงส์” โดยรวมกับพื้นที่ของตำบลโมคลาน และตำบลหัวตะพาน บางส่วนเข้ามาด้วย และได้ขยายหมู่บ้านในเขตพื้นที่ตำบลพรหมโลกเพิ่มขึ้นอีกสองหมู่บ้าน คือหมู่ที่ 9 แยกจากหมู่ที่ 5 เดิม  และหมู่ที่ 10 แยกจากหมู่ที่ 6 เดิม ส่วนในตำบลบ้านเกาะก็แยกหมู่บ้านเพิ่มอีกสองหมู่บ้าน คือหมู่ที่ 7 แยกจากหมู่ที่ 3 เดิม และหมู่ที่ 8 แยกจากหมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 4 เดิม ในปีนี้ได้ย้ายที่ทำการกิ่ง มาอยู่ที่ทำการกิ่งอำเภอ ณ หมู่ที่ 9 ตำบลพรหมโลก ถนนสายนคร-นบพิตำ (ทางหลวงหมายเลข 4016)

.

ต่อมาใน พ.ศ. 2521 นายประภาส อ่อนจันทร์ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน ทางราชการได้แต่งตั้งนายนฤชิต พรหมสุทธิ์ มาดำรงตำแหน่งแทน และใน พ.ศ. 2522 นายนฤชิต พรหมสุทธิ์ ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งใหม่ ณ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช และทางราชการได้แต่งตั้งนายไชยยศ สุวรรณฤทธิ์ มาดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอพรหมคีรีต่อไป

.

สร้าง “ศาลาประชาคม” ด้วยเงิน “ประชาชน”

ในปีนั้น ได้แยกหมู่บ้านของตำบลบ้านเกาะเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหมู่บ้าน โดยแยกจากหมู่ที่ 4 ตำบลบ้านเกาะ ไปตั้งใหม่อีกหนึ่งหมู่บ้าน เป็นหมู่ที่ 9 ตำบลบ้านเกาะ และในปลาย พ.ศ. 2522 คณะข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พ่อค้า ประชาชน โดยการนำของนายไชยยศ สุวรรณฤทธิ์ ได้จัดสร้างศาลาประชาคมขึ้นหลังหนึ่งราคาประมาณ 200,000 บาทเศษ และโรงรถหลังหนึ่งราคาประมาณ 20,000 บาท โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด และได้ย้ายที่ทำการสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอพรหมคีรี มาอยู่รวมกัน ณ ที่ว่าการกิ่งอำเภอพรหมคีรี และใน พ.ศ. 2522 ระยะต้นปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดงบประมาณให้ก่อสร้างสำนักงานเกษตรขึ้นหลังหนึ่ง โดยใช้เป็นสำนักงานเกษตรอำเภอโดยเฉพาะ

.

นายอำเภอคนแรก

พ.ศ. 2523 นายไชยยศ สุวรรณฤทธิ์ ได้รับการคัดเลือกให้เข้าเรียนในโรงเรียนนายอำเภอ ทางราชการได้แต่งตั้งให้นายเสวียง สุวรรณา เป็นผู้รักษาราชการแทน จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2524 ทางราชการได้แต่งตั้งให้นายถาวร บุญยะวันตัง มาเป็นปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอพรหมคีรีคนต่อไป และในเดือนกรกฎาคม 2524 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอพรหมคีรี เป็นอำเภอพรหมคีรี ตามพระราชกฤษฎีกา เล่ม 98 ตอนที่ 115 ให้ไว้ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2524 และได้แต่งตั้งนายถาวรบุญวรรณตังค์รักษาการในตำแหน่งในอำเภอพรหมคีรีเป็นอันดับแรก

ประวัติศาสตร์ จากวรรณกรรมเมืองนครศรีธรรมราช

ประวัติศาสตร์
จากวรรณกรรมเมืองนครศรีธรรมราช

เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 2 เมษายน 2561 ได้มีโอกาสไปร่วมเสวนาว่าด้วยวรรณกรรมเมืองนครศรีธรรมราช ที่หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช ถ้าจำไม่ผิดคงเป็นห้วงสัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย ในกำหนดการปลายเปิดไว้สำหรับการแสดงทัศนะของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้ร่างทัศนะประพันธ์เป็นร้อยกรองและร้อยแก้วแล้วขึ้นแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งยังหลวมๆ ไม่วิชาการ อาจดูทะเล่อทะล่าแสดงความเขลาตามประสาเด็กซนบ้างก็กราบขออภัย มีว่าดังนี้

                                              เดียวเดียวโดดเดี่ยวด้อย               ความเดียว

                                    สืบสายสาวความเหลียว                            จึ่งแจ้ง

                                    แดดบ่แค่แผดเกี้ยว                                  สว่างเคียง มานา

                                    ใคร่แดดฤาแดดแกล้ง                                ใคร่สว่าง สว่างมา

                                                ในหนึ่งมีที่สองมองให้ถ้วน             คลี่สำนวนพบเท็จจริงทิ้งปุจฉา

                                    ความสำคัญในบรรทัดคือวิสัชนา                ปริศนาใดด้อยค่อยคลี่คลาย

                                                เอาความงามได้งามตามที่ว่า          เอาภาษาได้กลเม็ดเด็ดดังหมาย

                                    เอาเนื้อความได้ตามหวังตั้งอภิปราย           เอาเกร็ดกรายประวัติศาสตร์มิพลาดเอย

นอกจากการศึกษาวรรณกรรมเพื่อสุนทรียรส คุณค่าสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือแง่งามของเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ทิ้งไว้ในแต่ละวรรค ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากการค้นคว้าข้อมูลทางโบราณคดีจากหลักฐานชั้นต้นและหลักฐานชั้นรองต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ข้อมูลที่ได้จากงานวรรณกรรมร่วมสมัยหรือเกี่ยวข้อง กลับเป็นสารสนเทศที่สังเคราะห์คำตอบในมุมที่อาจจะค้นหาไม่ได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น

.

จังหวัดนครศรีธรรมราช มีวรรณกรรมที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะทะเล ภูเขา ผืนป่า หรือทุ่งนา ทั้ง เขา ป่า นา เล ล้วนมีการบันทึกภาพจำในมิติของประวัติศาสตร์ไว้กับ เพลงกล่อมเด็ก ซึ่งบ้างเรียก “ร้องเรือ” หรือบ้างก็เรียก “ช้าน้อง”

.

ตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า “เพลงช้าน้อง” ให้คุณค่าในมิติทางประวัติศาสตร์ควบคู่ไปกับสุนทรียรสทางด้านภาษา เช่น

                                                ลูกสาวเหอ        ลูกสาวชาวปากพนัง

                                    เอวกลมนมตั้ง                 นั่งทำเคยแผ่น

                                    ปั้นให้กลมกลม               ข่มให้แบนแบน

                                    นั่งทำเคยแผ่น                ให้แบนเหมือนเหรียญเงิน

.

การใช้พรรณนาโวหาร อธิบายลักษณะของหญิงสาวชาวปากพนังในยุคหนึ่ง และกรรมวิธีการทำ “เคยแผ่น” ซึ่งหาเห็นได้ยากแล้วในปัจจุบัน ผนวกเข้ากับอุปมาโวหารในบาทสุดท้ายที่เปรียบความแบนของเคยแผ่น ไว้เท่ากับเหรียญเงิน ทำให้สามารถจินตนาการภาพลักษณ์ของมรดกทางวัฒนธรรมที่เกือบสูญหายไปแล้วนี้ได้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญคืออาจตีความได้ว่าในยุคที่มีการทำเคยแผ่นนั้นเป็นยุคเดียวกันกับที่มีการใช้เหรียญเงินในพื้นที่ปากพนัง ดังนั้น นอกจากฉันทลักษณ์ของเพลงช้าน้อง ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว เราแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทนี้ให้คุณค่าในมิติประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน

ประกาศมหาสงกรานต์: ๒๑๐ ปี ท้องตราถึงพระยาศรีธรรมโศกราช

ประกาศมหาสงกรานต์:
๒๑๐ ปี ท้องตราถึงพระยาศรีธรรมโศกราช

ไม่มีวัฒนธรรมใดในโลกเกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวปราศจากความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมอื่น เช่นเดียวกับ การถือกำเนิดโดยไร้หลักคิด คติ คุณค่าและความหมายแก่ผู้คน ก็ยอมรับว่าสิ่งนั้นเป็นวัฒนธรรมได้ยาก เพราะวัฒนธรรมเป็นเรื่องของคน คนจึงทำหน้าที่ตัดสินใจว่า วัฒนธรรมใดควรสืบทอดคงรูปอยู่ต่อ หรือยินยอมให้เลื่อนไหลพลวัตไปตามเหตุ ตามปัจจัย หมายความว่า บรรดาวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน ล้วนเป็นผลจากการเลือกแล้วของผู้คนในอดีต ความยากง่ายของการศึกษาเรื่องวัฒนธรรม จึงอยู่ที่ ร่องรอยของหลักคิด คติ คุณค่าและความหมายแก่ผู้คนเหล่านั้น จะปรากฏเหลืออยู่ให้สืบความสักกี่มากน้อย

.

กัลยาณมิตรใน Facebook หลายท่าน แชร์และให้ความเห็นกรณีการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ของเมืองนครศรีธรรมราชเปรียบเทียบกับเมืองอื่น ๆ ทำนองว่า สามารถเติมคุณค่าและขับเน้นความสำคัญของการมีพระพุทธสิหิงค์องค์สำคัญของท้องถิ่นและไทยได้อีก ในขณะที่การจัดสงกรานต์หลายแห่ง มีการแทงหยวกทำเบญจา รำโนราโรงดิน เหล่านี้คล้ายกับว่า วิถีอยู่-กินของชาวนครศรีธรรมราชและชาวใต้ ซึ่งเคยถูกทบทวนและเริ่มอนุรักษ์ผ่านงานสงกรานต์แต่แรกที่วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารเมื่อสามสี่ปีก่อนต่อกันนั้น อาจเป็นเชื้อไฟส่องให้เห็นทางที่เราเคยผ่านมา จุดที่กำลังยืนร่วมกัน และอนาคตของมรดกทางวัฒนธรรมได้ดี ส่วนการเลือกทางเหล่านั้น ก็สุดแต่บริบทจะเอื้อ

.

เคยเขียนเรื่อง “บุญเดือนห้า เมืองนครศรีธรรมราช” เผยแพร่ไว้ในสารนครศรีธรรมราชความยาว ๕๐ หน้ากระดาษ A๔ ท้ายบทความนั้นคัดเอาจดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒ ส่วนที่เป็นท้องตราจากเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ว่าด้วยการประกาศสงกรานต์ลงไว้ หยิบมาลงไว้อีกทีเพื่อจะได้เห็นได้ชวนกันพิจารณาในวงที่กว้างขึ้น แม้ว่าเป็นลักษณะของการสั่งการมาจากส่วนกลางถึงท้องที่ แต่ก็พอเห็นบทบาทของทั้งสองแห่งต่อสงกรานต์และภาพของมหาสงกรานต์ครั้งต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้ดี (ทั้ง ๔ ฉบับคัดสำเนามาจากหอสมุดแห่งชาติ)

.

โครงของทั้งสี่ฉบับคล้ายกันต่างกันที่รายละเอียด คือตอนต้นระบุสถานะของหนังสือว่ามีมาจากใครถึงใคร “พระยาศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชไชย มหัยสุริยาธิบดี อภัยพิริยะปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช” เมื่อพุทธศักราช ๒๓๕๕ ได้แก่ “เจ้าพระยานครน้อย” ซึ่งถือเป็นสงกรานต์แรกในฐานะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ถัดนั้นแจ้งฎีกามหาสงกรานต์ของพระโหราธิบดี ความเรียงไปตั้งแต่เวลาที่พระอาทิตย์ย้ายราศี นางสงกรานต์และกระบวนแห่พระเศียรท้าวกบิลมหาพรหม พิธีทักษิณาทาน ประกาศวันมหาสงกรานต์ วันเนา วันเฉลิงศกหรือพระยาวัน ทำนายข้าว นา ธัญญา-พลา-มังสาหาร และพิธีสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีเผด็จศก ส่วนตอนท้ายเป็นความสั่งให้เผดียงแก่พระสงฆ์และราษฎร

.

จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒
ชื่อ เรื่องท้องตราเจ้าพระยาอัครมหาเสนาถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ประกาศมหาสงกรานต์
ปีวอก จัตวาศก จ.ศ. ๑๑๗๔ ฉบับ ณ วันเสาร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีวอกจัตวาศก
เลขที่ ๑๙ ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย

หนังสือ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดี อภัยพิริยะปรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม มาถึงพระยาศรีธรรมโศกราช ชาติเดโชไชย มหัยสุริยาธิบดี อภัยพิริยะปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีมีชื่อ ทำฎีกามหาสงกรานต์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ศุภมัสดุ วรพุทธศาสนาสองพันสามร้อยห้าสิบห้าพระวัสสา กาลกำหนดเจตมาส สุกรปักข์ เอการัสมี ดิถีระวีวาร ตัสสทิวากาล เพลาเช้าย่ำรุ่งแล้วสองโมง บรมเทพทินกรเสด็จจากมีนราศีประเวศสู่เมษราศีทางโคณวิถีใกล้พระเมรุราช ขณะนั้นมีนางเทพดาองค์หนึ่ง ทรงนามชื่อว่าทุงษมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกา กระทำกฤษฎาพิมล ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม ทรงเครื่องอาภรอันแล้วด้วยแก้วปัทมราช พระหัตถ์ขวาทรงสังข์ พระหัตถ์ซ้ายทรงจักร ภักษาหารผลอุทุมพร เสด็จโคจรยืนไปเหนือหลังครุฑหาหนะ เป็นมรรคนายกนำอมรคณะเทพดาแสนโกฏิ ประชุมชวนกันมารับพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหม อันใส่พานทองประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลีที่เขาไกรลาสแดนพิมพานต์ประเทศ ขณะนั้นเทพยดาทำคารวะดุษฎี ชำระสุคนธวิเลปนะบูชายาควิธีอันควรด้วยดีตามวิสัยจารีตบุราณ แล้วก็แห่ทักษิณาวรรตเขาพระเมรุราชคำรบหกสิบนาที แล้วก็เชิญเข้าไปไว้ในถ้ำคันธุมาลีดังเก่า จึงเทพยุดาเจ้านำมาซึ่งลดาวัลย์อันชื่อชมนาด ใส่สุวรรณภาชน์ทอง เอาไปล้างน้ำในอโนดาตสระเจ็ดแถว เถาชุมนาดก็ละลายออกไปดังน้ำมันเนย แล้วพระเวษณุกรรมเทวบุตรจึงเนรมิตโรงอันหนึ่งชื่อภัควดี ให้หมู่เทพนิกรอัปษรกัญญาเข้านิสีทนาการพรั่งพร้อมกัน จึงสมาทานรักษาศีล เอาน้ำชมนาดเป็นทักษิณาทานแจกกันสังเวยทุกๆ พระองค์ ก็ชวนกันชื่นชมโสมนัส เดชกุศลได้กระทำนั้นก็บรรเทาโทษแห่งมหาสงกรานต์ให้อันตรธานสูญไป ความจำเริญฑีฆายุศม์สิริสมบัติก็มีแก่เทพยุดาทั้งปวง รวิวารเป็นวันมหาสงกรานต์ จันทวารเป็นวันเนา ภุมวารเป็นวันเฉลิงศก หรือพระยาวัน ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เพลาบ่าย ๔ โมง สิ้นกปิถสังวัจฉระ เป็นกุกกุฏสังวัจฉระจุลศักราชขึ้นเป็น ๑๑๗๕ ปีระกานักษัตรเบญจศก เนาวันหนึ่งเป็นสงกรานต์ ๓ วัน ผลทำนายพสุสังกรานต์ อจีนตะสังกรานต์ สามัญสังกรานต์เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญโลกทั่วทุกประเทศในสกลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณศาสตร์ พระจันทร์เป็นอธิบดี นาคราช ๔ ตัว บันดาลให้ฝน ๕๐๐ ห่า อุบัติดลยังเขาจักรวาล ๒๐๐ ห่า อรญิกาปิพิมพานต์ ๑๕๐ ห่า มหาสมุทร ๑๐๐ ห่า มนุษย์โลก ๕๐ ห่า ฝนต้นมือมัธยม กลางมือปลายมืออุดม เกณฑ์ธาราธิคุณลง ณ ราศมีนอโปธาตุ น้ำงามกว่าปีหลังศอกหนึ่ง นาลุ่มดี นาดอนทราม พอดีเหณฑ์ธัญญาหาร ออกเศษศูนย์ ชิวราภรณ์ข้าวกล้าในภูมินาได้ผล ๑๐ ส่วน เสียส่วนหนึ่ง ธัญญาหาร พลาหาร มังสาหารอุดม

.

ครั้น ณ วันเดือน ๕ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ๓ โมง ๖ บาท เสร็จการพระราชพิธีเผด็จศก พนักงานชาวเครื่องต้นจะได้ตั้งเครื่องพระมุรธาภิเษก ชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำกลดน้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตร พระพุทธิเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้าที่สรงสนานทรงเครื่องพระมุรธาภิเษกตามราชประเพณี สมเด็จบรมกษัตริย์สืบๆ มา เพื่อทรงพระจำเริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล เมทนีดลศัตรูกระษัย แลให้เผดียงพระสงฆ์ราชาคณะเจ้าอธิการและราษฎรให้รู้จงทั่วตามรับสั่ง ครั้นหนังสือมาถึงวันใดก็ให้กระทำตามจงทุกประการ

.

หนังสือมา ณ วันเสาร์แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ จุลศักราช ๑๑๗๔ ปีวอก จัตวาศก
วันพุธ เดือน ๕ ปีระกาเบญจศก หลวงเทพรามรฏก ขุนอักษรขาน ถือมาด้วยเรื่องมหาสงกรานต์

เทิม คัด / ศักดา พิมพ์ / อรรัตน์ ทาน ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓

.

จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒
ชื่อ ท้องตราถึงพระยาศรีธรรมโศกราช เรื่องประกาศสงกรานต์ ปีจอ จ.ศ.๑๑๗๖ เลขที่ ๑
ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย พ.ศ.๒๔๕๘

หนังสือเจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ สมุหพระกลาโหม มาถึงเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราชชาติเดโชชัยมหัยสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุพระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีโหรมีชื่อพร้อมกันทำดิถีมหาสงกรานต์ ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ศุภมัศดุวรพุทธศักราช ๒๓๕๖ พระพรรษา การกำหนดเจตมาส กาฬปักษ์สัตมีดิถีฉันทวาร ทสทีวากรเพลาบ่าย ๓ โมง บรมทินกรเสด็จจากมีนประเวศสู่เมศราศี ทางโคณวิถีไกลพระเมรุมาช ขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทงนามชื่อนางโคราคมหาสงกรานต์มาแต่จาตุมหาราชิกา กระทำกฤษฎาพิมล ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ ทรงเครื่องอาภรณ์อันแล้วด้วยแก้วมุกดา พระหัตถ์ขวาทรงธนู พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ ภักษาหารน้ำมันงา เสด็จนิสีทนาการนั่งเหนือหลังพยัคฆพาหนะ เป็นมัคนายก นำอมรคณาเทพยดาแสนโกฏิประชุมชวนกันมารับพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหมอันใส่พานทอง ประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธุลีที่เขาไกรลาสแดนหิมะภารตะประเทศ ขณะนั้น เทพยดากระทำคารวะดุษฎีชำระสุคนธวิเลปนะชูชายาควิธี อันควรด้วยดีตามวิสัยจารีตบุราณ แล้วก็แก่ทักษิณาวัตรเขาพระเมรุราชคำรบหกสิบนาที แล้วก็เชิญเข้าไว้ในถ้ำคันธุลีดังเก่า จึงเทพยดาเจ้านำมาซึ่งลดาวัลย์อันช่อชะมุนาฏใส่สุวรรณภาชนะทองไปล้างน้ำในอโนดาษสระ ๗ ท่า เถาชะมนาฏก็ละลายออกไปไสดุจน้ำมัน ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดมีชาติดวงแล้งได้ผลกึ่งเสียกึ่ง เกณฑ์ธัญญษหารผลาหาร มัจฉมังสาหารมัธยมในปีจอ ฉศกนี้มีอาทิกวาร เดือน ๗ เป็นเดือนถ้วน พระสงฆ์ได้ลงกระทำอุโบสถกรรมเข้าพรรษาปวารณาออกพระวรรษาตามพระอาทิตย์พระจันทร์ถ้วนเป็นประธานโลก ตามขนบธรรมเนียมราชประเพณีสมเด็จพระบรมกษัตริย์สืบๆ มา ครั้น ณ วันพุธเดือน ๖ แรม ๙ ค่ำ เพลาเช้า ๓ โมง ๖ บาท เสร็จการพระราชพิธีเผด็จศก ให้พระยานครกรมการเผดียงพระสงฆ์ราชาคณะ เจ้าอธิการและอาณาประชาราษฎรให้ทั่ว ครั้นหนังสือมาถึงวันใดก็ให้ทำตาม หนังสือมา ณ วันอังคารเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๗๖ ปีจอนักษัตร ฉศก

ชูศักดิ์ คัด / ศักดา พิมพ์ / วชิระ ทาน ๒๒ มกราคม ๒๕๑๓

.

จดหมายเหตุ รัชกาลที่ ๒
ชื่อ ท้องตราถึงเมืองนครศรีธรรมราช เรื่องประกาศสงกรานต์
ปีขาล สัมฤทธิ์ศก จ.ศ. ๑๑๘๐ ปีฉลู จ.ศ.๑๑๗๙
เลขที่ ๑๔ ประวัติ ได้มาจากกระทรวงมหาดไทย

หนังสือ เจ้าพระยาอัครมหาเสนาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุสมุหพระกลาโหมมาถึงพระยาศรีธรรมโศกราชชาติเดโชชัยมหัยสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุพระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่าพระโหราธิบดีหลวงโลกธีปโหรมีชื่อพร้อมกันหาฤกษ์ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายศุภมัศดุมวรพุทธศักราชสองพันสามร้อยหกสิบพระวัสสา กาลครั้นเจ็ดมาสสุกรปักษมีดิถี โสรวารตัสสทิวากาลเพลาบ่ายสองโมงแปดบาท บรมทินกรเสด็จโคจรจากมีนาประเวศสู่เมษาราศีทางโค ณ วิถีใกล้พระเมรุราช ขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทรงนามชื่อมโหธรรมมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกากระทำกฤษฎาพิมล ทรงพาหุรัดทัดทอดสามหาว ทรงอาภรณ์อันแล้วไปด้วยแก้วนิลรัตน์ พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล พระหัตถ์ขวาทรงจักร ภักษาหารมังสังทราย เสด็จทรงนั่งไปเหนือหลังมยุรปักษาพาหนะเป็นมัคนายก นำอมรคณาเทพยุดาแสนโกฏมารับเศียรท้าวกบิลมหาพรหมอันอุสภสังวัจฉนิรจุลศักราชขึ้นอีกพันแปดร้อยสิบปีขาล นักษัตร สัมฤทธิศก เนาวันหนึ่ง เป็นวันสงกรานต์สามวัน ผลทำนายพสุวาจินตะสามัญสงกรานต์เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญโลกทั่วทุกประเทศในสกลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณสารทพระเสาร์เป็นอธิบดีนาคราชสามตัวบันดาลให้ฝนสี่ร้อยห่า อุบัติดลยังเขาจักรวาลร้อยหกสิบห่า อรัญญิกหิมพานต์ร้อยยี่สิบห่า มหาสมุทรแปดสิบห่า มนุษย์โลกสี่สิบห่า ฝนต้นมืออุดม กลางมือมัธยม ปลายมือเป็นอวสาน เกณฑ์ธาราธิคุณลงปัควราศรีสิงหเตโชธาตุน้ำน้อยกว่าปีหลังสองศอก นาลุ่มดี นาดอนทรามพอดี เกณฑ์ธัญญาหารออกเศษศูนย์เป็นปาปะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผลส่วนหนึ่งเสียสิบส่วน เกณฑ์ธัญญผลามัจฉมังสาหารเป็นมัธยมเดือนแปดแรมค่ำหนึ่งพร้อมด้วยอาสาหพฤกษ์พระบวรชีโนรศมหานาคจะได้เข้าพระวัสสาตามพระอาทิตย์ พระจันทร์อันเป็นประธานแห่งโลกตามขนบธรรมเนียมประเพณีฯ สืบๆ มา ครั้นวันจันทร์ เดือนห้า ขึ้นแปดค่ำ เพลาเช้าสามโมงหกบาท เสร็จการพระราชพิธีเผด็จศก เจ้าพนักงานชาวพระเครื่องต้นจะได้ตั้งเครื่องมุรธาภิเษก ชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำกรด น้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนาถ บรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าที่สรงสนานทรงเครื่องพระมุรธาภิเษกตามราชประเพณีสืบมา เพื่อทรงพระจำเริญราชศรีสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเมทนีดลสกลศัตรูกระษัยนั้น ให้เจ้าเมืองกรมการเผดียงพระสังฆราชา ท่านเจ้าอธิการ แล้วป่าวร้องประกาศแก่อาณาประชาราฎรในแขวงจังหวัดเมืองนครให้จงทั่วเหมือนอย่างมหาสงกรานต์ทุกปี ครั้งหนังสือนี้มาถึงวันใด ก็ให้กระทำตาม

.

หนังสือมา ณ วันพฤหัสบดี เดือนสี่แรมห้าค่ำปีฉลูนพศก เมืองนครศรีธรรมราช

ตราพระคชสีห์วังหลวง นายช่วยถือมา ตรามหาสงกรานต์ ตราพระคชสีห์น้อยประจำผนึก วันพฤหัสบดี แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ ปีขานสัมฤทธิศก นายช่วยถือมา ตรา ๒ ฉบับ

ตรารูปคนถือปืนประจำครั่ง

.

ประเสริญ คัด ศักดา พิมพ์ วชิร ทาน ๒๘ มกราคม ๒๕๑๓

.

จดหมายเหตุรัชกาลที่ ๒
ท้องตรา ถึงเมืองนครศรีธรรมราช เรื่องประกาศมหาสงกรานต์ ปีเถาะ เอกศก จ.ศ. ๑๑๘๑ เลขที่ ๑
วัน เสาร์ ขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีเถาะ จ.ศ. ๑๑๘๑
ประวัติ กระทรวงมหาดไทย ถวาย หอวชิราวุธ พ.ศ. ๒๔๕๘

.

หนังสือพระเจ้าอัคมหาเสนาบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุสมุหะพระกลาโหม มาถึงเจ้าพระยาศรีธรรมาราชชาติเดโชไชยมหัยสุริยาธิบดีอภัยพิริยปรากรมพาหุ พระยานครศรีธรรมราช ด้วยทรงพระกรุณาตรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า พระโหราธิบดีหลวงโลกธีปโหรมีชื่อ ทำฎีกาทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายสุพมัศดุศักราชสองพันสามร้อยหกสิบเอ็ดพรรษา กาละครั้นเจตรมาสกาลปักษทุติยะ ดิถีรวีวาระตัดราตรีกาลเพลาย่ำค่ำแล้ว สองทุ่มแปดบาทบรมเทพทินกร เสร็จโคจรจากมีนยะประเวษสู่เมศราศีทางโค ณ วิถีใกล้พระเมรุราชขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทรงนามชื่อทุงษมหาสงกรานต์ มาแต่จาตุมหาราชิกากระทำฤกษกาพิมลทรงพาหุรัตทัดดอกทับทิมทรงอาภรอันแล้ว ไปด้วยแก้วปัทมราช พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ ภักษาหารผลอุทุมพร เสด็จทรงไสยาสน์ไปเหนือหลังครุฑเป็นพาหนะ รวีวาระเป็นวันมหาสงกรานต์ จันทรวาระภูมวาระเป็นวันเนาว์ พุทวาระเป็นวันเถลิงศก ศรีพระยาวัน ครั้น ณ วันพุธ เดือนห้าแรมห้าค่ำ เพลาเข้าสองโมงแปดบาทสื้นพยัคสังวัจฉระเป็นสัสสะสังวัจฉรศักราชขึ้น เป็นพันร้อยแปดสิบเอ็ด ปีเถาะนักษัตรเอกศกเนาว์สองวัน เป็นวันมหาสงกรานต์สี่วัน พลทำนายพสุสงกรานต์ อาจินสงกรานต์ สามัญสงกรานต์ เป็นสามประการ อธิบายเป็นสามัญโลกทั่วทุกประเทศในสกลชมพูทวีป เกณฑ์พิรุณสารทพระอาทิตย์เป็นอธิบดี นาคราชสองตัว บัลดาลฝน สี่ร้อยห่า อุบัตดลยังเขาจักรวาลร้อยหกสิบ อรัญยิกาพิมพานร้อยยี่สิบห่า มหาสมุทรแปดสิบห่า มนุษย์โลกสี่สิบห่า ฝรตกมือกลางมืออุดมปลายมือ มัธยมเกณฑ์ธาราธิคุณลงปัศวราศรีซึ่งพระเตโชธาตุพินชนน้ำงามน้อยกว่าปีหลังศอกหนึ่ง นาลุ่มดีนาดอนทรามพอดี เกณฑ์ธัญญาหารออกเศษสองชื่อวิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผลกึ่งเสียกึ่ง ธัญญาหารมัชมังสาหาร พลาหารมัธยมในปีเถาะ นักษัตรเอกศกนี้มีอธิมวาระเดือนเจ็ดเป็นเดือนถ้วนเดือนแปดแรมค่ำหนึ่ง พระบวรชิโนรถมหานาคจะได้กระทำชำระกุฎี ลงพระอุโบสถทวิกรรมเข้าพระพรรษาปวารณาออกพระพรรษาตามวินัยพุทธบัญญัติ ให้ชอบด้วยปีเดือน ค่ำวันเทศกาล ดูพระอาทิตย์ พระจันทร์เป็นประธาน แห่งโลกตามขนบธรรมเนียมประเพณีแผ่นดินสืบๆ มา ครั้น ณ วันพุธเดือนแรมห้าค่ำเพลาเช้าสามโมงหกบาท เจ้าพนักงานจะได้ตั้งเครื่องพระมลธาภิเศกชีพ่อพราหมณ์จะได้ถวายน้ำรดน้ำสังข์ ขอเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนาถบรมบพิธพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จเข้าที่สรงสนามทรงพระมูรธาภิเศก เพื่อจะชำระพระองค์ตามพระราชประเพณีสืบๆ มา เพื่อทรงพระจำเริญพระราชศรีสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเมทนีดลสกลศัตรูกระไสยนั้น ให้เจ้าเมืองกรมการพเดียงอาราธนาพระสงฆ์ราชาคณะ เจ้าอธิการและเป่าร้องอาณาประชาราษฎรให้รู้จักทั่ว

.

หนังสือมา ณ วัน เสาร์ เดือนห้า ขึ้นสองค่ำจุลศักราชพันร้อยแปดสิบเอ็ดปีเถาะเอกศก
(คนถือปืนประจำครั่ง) ตราพระคชสีห์น้อยประจำผนึก
วันจันทร์ ขึ้นสามค่ำ เดือนหก ปีเถาะเอกศก หมื่นสนิทข้าในกรมถือมาตรา ๓ ฉบับ
สุเทพ คัด / พิมพ์ / วชิระ ทาน ๒๗ ม.ค. ๒๕๑๓

โนราจำเนียร คำหวาน: ลูกหนังร่าน หลานหนังเรื้อย เหลนหนังรอด

โนราจำเนียร คำหวาน

ลูกหนังร่าน หลานหนังเรื้อย เหลนหนังรอด

โนราเป็นภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีความเป็นพลวัตสูงมาก การศึกษาโนราจึงสามารถพลิกจับและคลี่มองกันได้หลายมิติ ล่าสุดรับชม Live : รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว  ตั้งชื่อตอนว่า นาฏศิลป์ไทย ไม่อินเดีย “โนรา” ละครอยุธยาลงใต้ ออกอากาศเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 31 มีนาคม 2565 เวลา 20.00 น. ชื่อตอนเป็นทั้งข้อเสนอและสรุปอยู่ในตัวว่า “โนรา” เป็นละครอยุธยาที่แพร่กระจายลงมาสู่คาบสมุทร ในรายการอธิบายเพิ่มเติมว่ามีเพชรบุรีเป็นจุดพักและนครศรีธรรมราชเป็นจุดหมาย สุจิตต์ วงศ์เทศ เกริ่นนำข้อเสนอเหล่านั้นว่าอภิปรายกันบน “หลักฐาน” ไม่ใช่ “ความรู้สึก” ในขณะที่เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ผู้ดำเนินรายการกล่าวเชื้อเชิญให้ “เปิดใจรับฟัง” คล้ายกับว่าทั้งสองท่านอาจจะเคยได้ยินได้ฟังเสียงที่แตกต่างในประเด็นเดียวกันนี้มาบ้างแล้ว (สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/KhanchaiSujit/videos/5306028399427586 )
.
ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยได้เสวนากับหนังกุ้ง พงศธร ว่าด้วยเรื่องราวของโนราจำเนียร คำหวาน ผู้เป็นทั้งครูโนราและครูหนังตะลุงอาวุโสของเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนี้อายุ 83 ปี มาลงเอยกันที่บทความที่อาจารย์บุญเสริม แก้วพรหม ท่านโพสต์ไว้เมื่อสองสามปีก่อน จึงขออนุญาตคัดมาไว้เพื่อเผยแพร่สมทบภาพที่ได้โพสต์ผ่านเพจไปก่อนหน้านี้แล้ว ดังนี้ (ในนี้ แม้ความจะออกไปยืนเล่าที่ข้างหนังเป็นหลัก แต่ก็สะท้อนลักษณะบางประการของโนราและหนังลุงให้มองต่อได้ดี จึงขอคงต้นฉบับไว้ทั้งความ ตัวอักษร และตัวเลข)
.

หนังจำเนียร เล่าว่า…

.
หนังจำเนียร คำหวาน ศิลปินหนังตะลุงต้นแบบอาวุโส วัย ๘๐ ปี (๒๕๖๒) เล่าถึงต้นเค้าสายตระกูลศิลปินโนรา-หนังลุงว่า…
.

“หนังรอด”

เป็นทวดของหนังจำเนียร มีภรรยา ๒ คน คนแรกจำไม่ได้ คนที่สองชื่อ ทุ่ม (ทวดหญิงของหนังจำเนียร)
หนังรอดบ้านอยู่ที่ทุ่งนาลาน ทางตะวันออกของวัดด่าน (วัดสโมสร) ตำบลหัวตะพาน อำเภอท่าศาลา
หนังรอดมีลูก ๔ คน คือ หนังจาบ หนังเรื้อย หนังริ่น และหนังเริ่ม (หนังเริ่มเป็นหนังหญิงที่ฝึกเล่นหนังได้แต่ไม่ได้ออกโรงแสดงทั่วไป)
.

“หนังจาบ”

ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีลูกชายเป็นหนังคนหนึ่งชื่อ หนังรุ่น
.

“หนังเรื้อย”

เป็นปู่ของหนังจำเนียร ฝึกเล่นหนังกับหนังทองมี ซึ่งอยู่ที่บ้านข้างวัดขุนโขลง ตำบลหัวตะพาน อำเภอท่าศาลา
หนังเรื้อยมีภรรยาหลายคน มีลูกหลายคน เป็นหนังตะลุงและโนรา ได้แก่ หนังร่าน หนังรุ่ม หนังชุ่ม โนราถนอม หนังดอกไม้ โนราปลีก โนราอิ่ม โนรารอบ โนราจำรัส หนังนุกูล
หนังเรื้อยแสดงทั้งหนังตะลุงและโนราควบคู่กันไป
.

“หนังริ่น”

เป็นตาของหนังจำเนียร นอกจากแสดงหนังแล้ว ยังมีความสามารถในการตัดรูปหนังด้วย
หนังริ่นมีลูกหญิงเป็นยิ่เกป่าและโนรา ได้แก่ ยี่เกเปลี่ยว โนราเวด โนราวาด โนราสายชล
หนังริ่นมีลูกศิษย์หนังตะลุงหลายคน เช่น หนังขำ หนังจวน (เพลงบอกจวน จะนะดิษฐ์ บ้านทุ่งชน หัวตะพาน)
.

“หนังร่าน”

เป็นพ่อของหนังจำเนียร มีลูกคนเดียวคือ หนังจำเนียร หนังร่านเป็นทั้งหนังตะลุงและโนรา
.

“หนังจำเนียร”

อยู่กับปู่ (หนังเรื้อย) มาตั้งแต่เด็กๆ ไปไหนมาไหนก็ขี่คอปู่ไป หนังเรื้อยไปแสดงที่ไหนก็พาหลานรัก (หนังจำเนียร) ไปด้วย และถ่ายทอดวิชาหนัง-โนราให้หลานรักมาตลอดเวลาที่ไปไหนมาไหนด้วยกัน หลานรักอยู่บนคอปู่่ ปู่ก็พาเดินและฝึกให้ขับบทกลอนไปด้วย หนังเรื้อยแสดงหนังบนโรง หลานรักก็นอนซุกตัวหลับอยู่ข้างๆปู่ เป็นอย่างนี้จนซึมซับซาบซึ้งอยู่ในวิถี

เรียนหนังสือ

หนังจำเนียร เรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนวัดด่าน (วัดสโมสร) ข้างบ้าน เริ่มแสดงโนราก่อน เพราะปู่ยังไม่ให้เล่นหนัง บอกว่า “ให้โปตายก่อนแล้วมึงค่อยเล่นหนัง สี่ปีกะดัง” แต่หลานรักก็ไปแอบปู่ไปฝึกเล่นหนังกับคนข้างบ้านก่อนตั้งแต่อายุ ๑๒ ขวบ
ครั้นอายุ ๑๔ ปี ปู่ (หนังเรื้อย) เสียชีวิต จึงได้เริ่มแสดงหนังตะลุง โดยแสดงครั้งแรกที่วัดท่าสูง อำเภอท่าศาลา เพื่อเป็นมหรสพให้ชาวบ้านที่มาช่วยกันถากหญ้าในวัดได้ชม แสดงติดต่อกันหลายคืน ทั้งนี้โดยการอุปถัมภ์ของพ่อท่านคช (พระครูอาทรสังฆกิจ) เจ้าอาวาสวัดท่าสูง ตามที่หนังเรื้อยผู้เป็นปู่ได้ฝากฝังพ่อท่านคชไว้ให้ช่วยดูแลหลานด้วย

นางโนรา

เมื่อเริ่มต้นแสดงหนังนั้นไม่มีรูปหนังเป็นของตัวเอง ต้องยืมรูปหนังของหนังขำมาใช้ เป็นครั้งคราว
เรื่องที่แสดงในครั้งแรกๆนั้น เช่นเรื่อง “นางโนรา” (จำมาจากปู่-หนังเรื้อย) เรื่องสังข์ศิลป์ชัย เรื่องโคคาวี เรื่องแก้วหน้าม้า เรื่องโกมินทร์ เรื่องปลาบู่ทอง เป็นต้น ส่วนหนึ่งอาศัยเรื่องราวจาก “หนังสือวัดเกาะ” ที่พิมพ์จำหน่ายอยู่ในเวลานั้น
หลังจากที่แสดงหนังที่วัดท่าสูงอยู่ ๒-๓ ปี ต่อมาก็ได้ไปแสดงประจำที่โรงก๋งท่าศาลา ในช่วงประเพณีไหว้ก๋งประจำปี (ก่อนหน้านั้นหนังเรื้อย และหนังดอกไม้ แสดงมาก่อน) ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เป็นไปตามคำสั่งของปู่หนังเรื้อยที่ว่า “สี่ปีกะดัง”
หนังจำเนียรแสดงหนังตะลุงที่โรงก๋งท่าศาลาเป็นประจำทุกปี แต่ละปีแสดงติดต่อกันทุกคืนเป็นเวลาแรมเดือน ใช้เวลาแสดงตั้งแต่หัวค่ำจนถึงเที่ยงคืน ได้ค่าราดโรงตั้งแต่คืนละ ๓๕ บาท จนค่าราดโรงขึ้นเป็นหลายพันบาท ติดต่อกันเป็นเวลาร่วม ๔๐ ปี
ชื่อเสียงของหนังจำเนียรเป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ครั้งที่โด่งดังที่สุดครั้งแรกๆก็คือ การประชันโรงและชนะหนังหมุนนุ้ย จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นหนังรุ่นใหญ่มีชื่อเสียงทั่วภาคใต้ แข่งขันกันที่วัดศรีทวี อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช นอกนั้นก็คือการแสดงแข่งขันประชันโรงในงานเทศกาลเดือนสิบแทบทุกปี ที่ผู้จัดงานต้องรับหนังจำเนียรไปแสดงเพื่อดึงดูดผู้คนจากท่าศาลาให้ไปเที่ยวชมงาน
สำหรับผู้แต่งเรื่องหนังตะลุงให้หนังจำเนียรแสดงมีหลายคน เช่น ครูริ่น บัณฑิต ลุงข้ำ ชื่นชม ลุงเขียน บ้านหนองหว้า เป็นต้น
หนังจำเนียรมีลูก ๙ คน ลูกชายฝึกเล่นหนัง ๒ คน คือ “เณรหมู-สมรักษ์ และ เณรนก-จุลทอง” แต่ไม่ได้ยึดเป็นอาชีพ โดยลูกทุกคนเป็นโนรา และต้องทำพิธีไหว้ครูเป็นประจำ
.
เรื่องราวจากคำบอกเล่าของ “หนังจำเนียร คำหวาน” ยังไม่จบ ยังมีอีกมากมายที่พรั่งพรูออกมาจากความทรงจำที่บอกเล่าโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย..
ค่อยๆทยอยเก็บมาบอกเล่ากันไปเรื่อยๆนะครับ…
ลุงบุญเสริม
๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๒
(เก็บความจากการตั้งวงเสวนากับหนังจำเนียร คำหวาน เมื่อ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ณ เรือนสัมมนาในสวนขวัญ จิรวรรณ แก้วพรหม)
.
เมื่อวัฒนธรรมเป็นพื้นที่แห่งการช่วงชิงความหมายอย่างไม่รู้จบ
โนราจึงเป็นโนราทั้งในแบบที่โนราเป็น ต้องเป็น และจำเป็นต้องเป็น
สายธารเรื่องราวของโนราที่ทยอยไหลบ่าเข้าหากัน
เป็นผลให้เกิดการผนวกผสาน เรียงลำดับ และจัดกลุ่มองค์ความรู้
ที่สำคัญคือ โนราเป็นวัฒนธรรมที่ยังมีลมหายใจและผู้เป็นเจ้าของ
เจ้าของวัฒนธรรมโนรานับได้ตั้งแต่ตัวโนรา นักดนตรี เจ้าภาพ ผู้ชม
หรือไปกว้างสุดที่คนใต้ทั้งหมดก็ไม่น่าจะผิด
ไม่ว่าจะด้วยการผนวกตัวเองเข้าเป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมฝ่ายบรรพชนหรืออย่างไรก็ตามแต่
เหล่านั้นทำให้โนราไม่เคยถูกตัดขาดออกจากวิถีชีวิตของผู้คนได้เลย
อีกจะเห็นได้ว่า บทบาทหน้าที่ของผู้ที่นิยามและถูกนิยามว่าเป็นโนรา
มักเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในกระบวนการเข้าใกล้ความรู้ว่าด้วยโนราอยู่เนือง ๆ
.
อย่างที่เกริ่นแล้วว่าโนรามีความเป็นพลวัตสูงในหลายมิติ ประกอบกับการเป็นวัฒนธรรมที่ยังคงมีชีวิตชีวาและผู้ร่วมเป็นเจ้าของ การสถาปนาความใดๆ ให้กับโนรา นอกจากเกิดส่วนได้ในวงนั้นๆ แล้ว ผลกลับกันที่จะมีต่อผู้ที่ถูกกีดออกนอกเกณฑ์ นอกย่าน นอกโยด เป็นสิ่งที่ควรต้องระแวงระวัง หรือไม่ก็ต้องจัดหาที่ทางและคำตอบไว้รองรับอย่างเหมาะสมฯ

เรื่องวัดร้าง ในนครศรีธรรมราช

เรื่องวัดร้าง
ในนครศรีธรรมราช

หลายวันมานี้ ได้ยินคำว่า “เหลียวหลัง-แลหน้า” ค่อนข้างถี่ ความจริงสำนวนนี้ไม่ใช่ของใหม่ เท่าที่สังเกตมักมีปกติใช้กับอะไร ๆ ที่สมาคมเห็นพ้องกันว่าเป็น “มรดก” แล้วต้องการที่จะสืบกลับไปเรียนรู้ และแสวงหาทางเลือก ทางรอดต่อไปในอนาคต ส่วนตัวเห็นว่าระหว่างสองคำนี้ ควรมีบางอย่างบางคำแทรกอยู่ด้วยในระหว่างนั้น

“เหลียวหลัง” ให้อารมณ์ของการหวนกลับไปมอง ไปรู้สึกย้อนอดีต เอาเข้าจริงหากหลักในการมองย้อนไม่ชัดพอ การเหลียวหลังที่ว่าอาจทำได้เพียงอาการโหยหาอาลัยอาวรณ์ เพ้อร่ำพร่ำพรรณนาเท่านั้น เช่นเดียวกับ “แลหน้า” ที่ควรต้องแสดงจุดยืนไว้ให้หนักแน่นพอที่จะป้องกันความเพ้อพกเลื่อนลอย

คำที่ควรแทรกอยู่กลางนั้น ยังคิดเร็ว ๆ ไม่ออกว่าจะเป็นอะไร แต่หาก “เหลียวหลัง” = “อดีต” และ “แลหน้า” = “อนาคต” แล้ว แน่นอนว่าคำกลางก็จะควรคือคำที่สื่อแสดงถึงการมองและเห็น “ปัจจุบัน” ฉะนี้

เมื่อราว 3 ปีก่อนเคยเข้าไปหารือกับสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครศรีธรรมราชเรื่องการทำภูมิสถานของเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณว่าร่างเป็นแผนที่เดิม ณ ยุคใดยุคหนึ่งที่ปรากฏความเป็นนครศรีธรรมราชชัดเจนและเจริญที่สุด ท่านรับหลักการไว้ แต่ติดด้วยหลายเหตุผลจึงไม่ได้ขวนขวายดำเนินการต่อ ในระหว่างนั้น ได้ลองค้นดูโดยเฉพาะ “วัดร้าง” ก็พบว่าเอกอุในเรื่องนี้คืออาจารย์บัณฑิต สุทธิมุสิก ซึ่งได้ลองเทียบวัดร้างกับที่ตั้งปัจจุบันเอาไว้ในสารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๑ 

จึงอยากจะลองชวนกันเหลียวหลัง ให้เห็นปัจจุบันกันดังนี้
ส่วนว่าข้างหน้าจะแลไปเห็นอะไรนั้น สุดรู้ฯ

ลำดับ 

ชื่อ

ที่ตั้งปัจจุบัน

๑. วัดกุฏ หรือวัดป่าสุด โรงเรียนอำมาตย์พิทยานุสรณ์
๒. วัดประตูโกบ วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช
๓. วัดชุมแสง วิทยาลัยเทคนิคนครศรีธรรมราช
๔. วัดมะขามชุม โรงเรียนศรีธรรมราชศึกษา (แผนกอนุบาล)
๕. วัดโพธิ์มอญ ชุมชนนอกโคก (ข้างวัดศรีทวี)
๖. วัดเท หน้าวัดศรีทวี
๗. วัดสมิท หน้าห้างสรรพสินค้าสหไทย
๘. วัดชมภูพล ห้างสรรพสินค้าสหไทยพลาซ่า
๙. วัดเจดีย์ยักษ์ เทศบาลนครนครศรีธรรมราชและวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช
๑๐. วัดพระเงิน หลังวิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช
๑๑. วัดหูน้ำ บ้านพักข้าราชการกระทรวงการคลังและสุสานคริสเตียน
๑๒. วัดท่าช้าง มัสยิดซอลาฮุสดีน(ท่าช้าง) และสถานีตำรวจภูธรนครศรีธรรมราช
๑๓. วัดพระวิหารสูง พระวิหารสูงและโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราชฝั่งสนามหน้าเมือง
๑๔. วัดชายตัง หลังพระวิหารสูง
๑๕. วัดประตูขาว โรงเรียนอนุบาลจังหวัดนครศรีธรรมราช
๑๖. วัดหน้าพระคลัง สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครศรีธรรมราช
๑๗. วัดเสมาชัย โรงเรียนเทศบาลวัดเสมาเมือง
๑๘. วัดโรงช้าง บ้านพักผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต ๑
๑๙. วัดดิ่งดง ตรงข้ามโรงเรียนวัดพระมหาธาตุ
๒๐. วัดธะระมา ตรงข้ามโรงเรียนวัดพระมหาธาตุ ติดกับวัดสระเรียง
๒๑. วัดป่าขอม โรงเรียนจรัสพิชากร
๒๒. วัดสิงห์ หน้าวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
๒๓. วัดหลังพระ ถนนหลังวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
๒๔. วัดหอไตร วิทยาลัยศิลปหัตถกรรมนครศรีธรรมราช
๒๕. วัดสวนหลวงตะวันออก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช
๒๖. วัดพระเสด็จ หอสมุดแห่งชาติ นศ., สนง.ตรวจเงินแผ่นดิน และสนง.โทรศัพท์จังหวัด
๒๗. วัดกุฏ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (ตรงข้าม สนง.ตรวจเงินแผ่นดิน)
๒๘. วัดบ่อโพง การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (ตรงข้าม สนง.ตรวจเงินแผ่นดิน)
๒๙. วัดเพชรจริกตะวันออก สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช
๓๐. วัดพระเวียง สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านศรีธรรมราช
๓๑. วัดเจดีย์เอน ปั๊ม ปตท. หัวถนน
๓๒. วัดสารีบุตร ไม่แน่ชัด (มีแต่ชื่อถนน)
๓๓. วัดคิด ไม่แน่ชัด (มีแต่ชื่อถนน)
๓๔. วัดสระเกษ จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช
๓๕. วัดโมฬี หรือ วัดเมาลี วัดชะเมา
๓๖. วัดประตูเขียน วัดชะเมา
๓๗. วัดสมิทฐาน วัดชะเมา
๓๘. วัดพระขาว วัดชะเมา
๓๙. วัดพระเดิม วิหารโพธิ์พระเดิม วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
๔๐. วัดมังคุด ทิศเหนือของวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
๔๑. วัดไฟไหม้ วัดท้าวโคตร (ด้านทิศตะวันตก)
๔๒. วัดสพ วัดท้าวโคตร (ด้านทิศตะวันออก)
๔๓. วัดท่าโพธิ์เก่า โรงเรียนเทศบาลวัดท่าโพธิ์