Skip to content

ประวัติอำเภอสิชล ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอสิชล
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

 

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอสิชลนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

จอมเมืองหาญ และ จอมเมืองศรีศาสนา

เมื่อราว พ.ศ. 2300 ตัวเมืองเดิมคือบริเวณตั้งอำเภอในปัจจุบันในครั้งโบราณ หัวหน้าผู้นำชุมชนของท้องถิ่นมีอยู่ด้วยกันสองคน คือ “จอมเมืองหาญ” และ “จอมเมืองศรีศาสนา” บุคคลทั้งสองมีความนิยมนับถือทางไสยศาสตร์อย่างเคร่งครัด และเป็นที่ยำเกรงของคนทั่วไป

.

ครั้งหนึ่งเมื่อกองทัพพม่าเดินทางมาถึงเขาหัวช้าง และได้เข้ามาจับกุมบุคคลในปกครองของสองจอมเมืองทั้งชายและหญิงไว้เป็นเชลยจำนวนหนึ่ง เชลยที่เป็นชายนั้นแม่ทัพพม่าก็ได้สั่งให้นำไปฆ่าเสีย โดยใช้วิธีการจับโยนบ่อ ห้วย และเหว ทำให้ราษฎรในชุมชนนั้นตกใจแตกตื่นหลบหนีเพื่อเอาตัวรอดไปคนละทิศคนละทาง ทิ้งทรัพย์สมบัติไว้ให้แก่พม่าเป็นจำนวนมาก

.

ต่อมาพม่าได้สืบทราบว่า ในชุมชนนี้จอมเมืองหาญและจอมเมืองศรีศาสนาเป็นหัวหน้า จึงได้สั่งให้ทหารติดตามจับกุมบุคคลทั้งสอง ทหารพม่าที่ติดตามจับกุมได้ฆ่าคนของจอมเมืองทั้งสองเสียเป็นจำนวนมาก และเกิดการรบพุ่งขึ้น ในที่สุด พม่าก็สามารถจับกุมทั้งสองจอมเมืองได้ และนำตัวไปประการชีวิตโดยวิธีใช้เหล็กตอกขมับจนตาย

.

ทุ่งหัวนา

แม่ทัพพม่าได้สั่งให้ทหารตั้งทัพอยู่ที่นั้น และให้ทหารทำนาเป็นเสบียงสำหรับส่งให้กองทัพหลวงต่อไป เรียกที่ตั้งทัพว่า “ทุ่งหัวนา” ซึ่งยังมีที่นาและคันนาปรากฏเป็นหลักฐานอยู่จนบัดนี้ (ปัจจุบันอยู่ในตำบลสี่ขีด)

.

ทุ่งพลีเมือง

ต่อมามีชายคนหนึ่งชื่อเจ้าจอมทอง ได้ทำการรวบรวมพวกที่หลบหนีหม่ากระจัดกระจายทั่วไป เมื่อได้สมัครพรรคพวกพอสมควรแล้ว ได้จัดตั้งชุมชนขึ้นใหม่ที่ทุ่งพลีเมือง (ปัจจุบันคือบ้านห้วยถ้ำ) เจ้าจอมทองได้ตั้งตัวเป็นหัวหน้าชุมชน ทำการรวมผู้คนได้จำนวนหนึ่ง จึงได้ทำพิธีปลูกศาลเจ้าและทำพิธีบนบานว่าหากกองทัพพม่าแตกพ่าย ได้อิสรภาพและราษฎรอยู่อย่างสงบสุขแล้วจะสร้างวัดถวายให้อยู่

.

ฝ่ายพม่าเมื่อได้สืบทราบว่าคนไทยจัดตั้งสมัครพรรคพวกขึ้นต่อต้าน ก็นำทหารมาปิดล้อมและได้ต่อสู้กันเป็นสามารถ ผลคือทัพทหารพม่าแตกกระจัดกระจายไป เจ้าจอมทองจับเชลยและอาวุธได้จำนวนมาก กองทัพพม่าถอยร่นไปทางบ้านยางโพรง ผ่านตำบลฉลอง ไปสมทบกับกองทัพหลวงที่เมืองนครศรีธรรมราช

.

วัดจอมทอง

ต่อมาอีกประมาณสองปี พม่าได้ยกทัพมาทางทะเลถึงปากน้ำสุชน ได้ส่งทหารขึ้นไปเจรจากับเจ้าจอมทองให้เป็นเมืองขึ้นโดยดี แต่เจ้าจอมทองไม่ยอม จึงได้รบกันทางเรือที่ปากน้ำสุชนเป็นสามารถ ก่อนการสู้รบต่อกันเจ้าจอมทองได้บวงสรวงเทพเจ้าขอความช่วยเหลือและคุ้มครอง พอดีกับขณะที่รบกันนั้นเกิดคลื่นลมจัดขึ้นทันที ทำให้ทัพพม่าแตกกระจายไม่เป็นกระบวน เจ้าจอมทองจึงได้ยกทัพและกำลังเข้าโจมตี จับกุมเชลยและอาวุธได้เป็นจำนวนมาก เมื่อสงบศึกกับพม่าเรียบร้อยแล้ว ทางเจ้าจอมทองจึงได้สร้างวัดตามที่ได้บนบานไว้ เรียกว่า “วัดจอมทอง”

.

เมื่อได้มีการปกครองบ้านเมือง โดยแบ่งการปกครองเป็นมณฑลและมีเทศาภิบาลปกครอง จึงได้ตั้งเป็นอำเภอขึ้น เรียกว่า “อำเภอสุชน” มีตำบลขึ้นอยู่กับอำเภอนี้ 9 ตำบล คือ สุชน ทุ่งปรัง ฉลอง เสาเภา เปลี่ยน ขนอม ท้อนเนียน ไชยคราม และดอนสัก

.

ต่อมาในปี พ.ศ.2502 ได้มีการโอนตำบลดอนสักและไชยคราม ไปขึ้นกับอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโอนตำบลขนอมและท้อนเนียน มาจัดตั้งเป็นอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

.

จากสุชน เป็นสิชล

ชื่อ “สุชน” นั้น เมื่อสมัยท่านเจ้าคุณรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ไปตรวจราชการฝ่ายสงฆ์ที่อำเภอนี้ ได้พิจารณาเห็นว่าที่สุชนนี้น้ำดี ใสสะอาด บริสุทธิ์ และจืดสนิท จึงได้เปลี่ยนชื่อจาก “สุชล” เป็น “สิชล” และทางราชการก็ได้ใช้ชื่อว่าอำเภอสิชลตั้งแต่นั้นมา โดยมีหลวงอนุสรสิทธิกรรม (บัว ณ นคร) เป็นนายอำเภอคนแรกฯ

___

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.