Skip to content

ป้าคร ถานีทุ่งหล่อ ขวัญใจสาวกหนมบ้านเมืองนคร

ป้าคร ถานีทุ่งหล่อ
ขวัญใจสาวกหนมบ้านเมืองนคร

ใจหนึ่งไม่คิดว่าป้าครจะเป็นที่พูดถึงและรู้จักกันมากขนาดนี้ แต่อีกหนึ่งใจก็พอจะทำเนาได้ เพราะค่อนชีวิตของแกไม่เคยทำอย่างอื่นเลย ลงหลักปักฐานกับอาชีพนี้จนเป็นภาพจำติดตา บางคนถึงขั้นแซวว่าน้ำเสียงติดหู ส่วนถ้าแกไม่ออกปากว่า “ลงเฟซให้กัน” ผมคงไม่กล้าล่วงเกินด้วยความทรงจำส่วนตัว ที่มาพร้อมภาพและคำอธิบายจนถูกส่งต่อกันหลายแชร์ หลายไลก์ หลายความคิดเห็น ลองเข้าไปทวนไปส่องกันตรงโพสต์นี้ https://www.facebook.com/imvanpra/posts/10209819742846225

.

เริ่มหาบเริ่มคอน

กว่า 36 ปีแล้วที่สองบ่าของป้าครสลับกันหาบ “หนมบ้าน” เที่ยวเร่ขายไปตามสองข้างทางถนนราชดำเนิน เมืองนครศรีธรรมราช แกจำทุกความเปลี่ยนแปลงที่เคยผ่านตาและผ่านมาได้แม่นยำ รวมถึงคำยืนยันจุดเริ่มต้นของอาชีพนี้ ว่าเกิดขึ้นในพุทธศักราช 2529

.

บ้านทุ่งหล่อ

ที่น่าสนใจคือ ป้าคร ไม่ได้มีภูมิลำเนาในเขตตัวเมืองนครศรีธรรมราช ในที่นี้คือละแวกเทศบาลหรือตรงไหนสักที่ใกล้ๆ อย่างที่เคยคิด แกอยู่ “บ้านทุ่งหล่อ” ข้างสถานีรถไฟทุ่งหล่อ อำเภอร่อนพิบูลย์โน่นเลยครับ

แกเล่าให้ฟังต่อว่า มีแม่ค้ารวมกันราวสิบคน บ้านอยู่ติดๆ กัน แต่ละคนทำหนมบ้านกันเอง คนละอย่าง สองอย่าง สามอย่างว่ากันไป แล้ว “ปันกัน” ทั้ง “หนม” ทั้ง “เบี้ย”

.

รถผูก

แรกก่อนนั่งรถไฟกันมาลงสถานีปลายทางนครศรีธรรมราช แล้วแยกย้ายกันต่อรถสองแถว กระจายไปตามแต่ละพื้นที่ขายของใครของมัน แล้วก็นั่งรถไฟกลับ เดี๋ยวนี้มี “รถผูก” บริการรับ-ส่งถึงที่ สิริค่าเดินทางวันละ 60 บาท

.

“หนมบ้าน” ที่ว่านี้ ได้แก่ หนมชั้น หนมขี้มัน หมี่ผัด หม้อแกง เหนียวหน้าต่างๆ หนมปากหม้อ สาคู หนมโคหัวล้าน เหนียวห่อกล้วย หนมคุลา มัน-ถั่ว-ไข่นกกระทาต้ม และอีกนานามีตามแต่จะ “รวน” กันทำ จะยกเว้นเสียก็แต่ ”หนมโรง” ที่ป้าครบอกว่าไม่เคยขาย

.

หนมไหรมั้งอะนุ้ย ?

ทุกเช้า ราว 7 โมง ป้าครจะนั่งดับชะอยู่ตรงหน้าร้านข้าวขาหมูท่าม้าใกล้แยกศาลากลาง จากนั้นก็หาบขายไปรายทางมีพระธาตุเป็นหมุดหมาย ใครได้ยินเสียง “หนมไหรมั้งอะนุ้ย ?” อย่าลืมแวะอุดหนุนป้าครกันนะครับ หรือถ้าจะเที่ยวตามสืบ คงต้องแนะนำว่าควรจะเป็นก่อนบ่ายโมง เพราะแกบอกว่า “พอหวันช้ายกะขายหมดทุกวัน”

.

ผมกับป้าครเรียกว่ารู้จักกันก็คงจะไม่ถูกมากนัก เพราะเป็นแต่เห็นกันตอนแกนั่งดับร้าน หรือตอนผมไปทำอะไรที่พระธาตุ เคยยืมคานแกมาหาบถ่ายรูปครั้งหนึ่ง ตอนนั้นหนมกำลังจะหมดก็เลยเบาหน่อย วันที่ขอแกถ่ายรูปเป็นตอนที่ดับเสร็จใหม่ ๆ โอ้โห ยกไม่ขึ้นสิครับ หนัก และ หนักมากกกก ผมโอดครวญจนป้าแกยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ เหมือนจะพูดในใจว่า “รำโนราไปตะ อย่ามาเที่ยวราร่าเรื่องเพื่อน”

.

ป้าครจำตอนผมรำโนราที่พระธาตุได้ ก็เลยกลายเป็นใบเบิกทางให้กระแซะถามอะไรอีกหน่อยสองหน่อย แกย้ำว่าแม่ค้าในรุ่นแกมีอีกราวสิบคน ที่น่าแปลกคือผมไม่เคยเห็นใครเลยนอกจากแก อาจคงเพราะแต่ละคนกระจายกันไปขายและมีเส้นทางเป็นของตัวเอง ไว้หากพบใครจะลองสืบลองถามเพื่อมาปะติดปะต่อเรื่องราวของชาว “หาบคอน” ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

.

นึกไปถึงว่า หากมีกัลยาณมิตรกระซิบถามว่ามีอะไรของชุมชนน่าสนใจจะเป็นเป้าหมายในการส่งเสริมบ้าง ในหัวตอนนี้คือมีบ้านทุ่งหล่อกับเรื่องราวของป้าครและคณะแล้วหนึ่ง กับอีกหนึ่งที่ยังคิดและแก้กันไม่ตก คือ แม่ค้าดอกไม้วัดพระธาตุ ซึ่งมีหลายกลุ่ม หลายแนว กลุ่มกวักรถริมราชดำเนิน กลุ่มในวัดหน้าพระธาตุ กลุ่มลานจอดรถศาลาร้อยปี สามกลุ่มนี้ยืนและเดินไปมา ส่วนอีกกลุ่มนั่งตามซุ้มประตู มีหน้าร้านเล็กๆ บนเก้าอี้หัวล้าน ทุกกลุ่มคุ้นหน้าหมด แต่เมื่อวานได้คุยแค่กับกลุ่มหลังนิดหน่อย

.

ทั้งสอง บ้านอยู่ชายแพงออก(ชายกำแพงทิศตะวันออก) ตรงหลังวัดหน้าพระธาตุ แกบอกว่าช่วงนี้รายได้ลด ไม่ได้ตั้งใจจะซักอะไรมาก ที่ติดใจคงเป็นวิธีขาย คือซุ้มประตูนี้มี 2 เจ้า ลูกค้าซื้อเจ้าไหนจะไม่แย่งไม่ยื้อกัน ถ้าซื้อของเจ้าหนึ่งมาก เจ้าที่ได้มากก็จะไปซื้อของอีกเจ้ามาเติมของตัว

.

เพราะต่างตกลงกันว่า

แต่ละวัน จะ “ปันกัน-แบ่งกัน”

.

เป็นที่ทราบดีว่า แม่ค้าดอกไม้เป็นปัญหาในการจัดการบริเวณวัดดังที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่อง ส่วนตัวสนใจปรากฏการณ์นี้มาก และถ้าความสนใจนี้ยังไม่ซาลง คิดว่าคงต้องหยิบจับมาศึกษาวิจัยกันจริงจัง เมื่อเรียนไปถึงชั้นปริญญาเอก

.

ส่วนเรื่องราวของป้าคร
ใจจริงยกให้แกเป็นขวัญใจสาวกหนมบ้านนะครับ
หากได้คุยกับแกเพิ่ม
ค่อยส่งข่าวครับฯ