Skip to content

๗ เรื่องแปลกเมื่อแรกเสด็จฯ ตามรอยกรมพระยาปวเรศฯ ที่เมืองนคร

การเสด็จเมืองนครศรีธรรมราชของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2407 ซึ่งขณะนั้นยังคงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ เจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุติกนิกาย มีการสันนิษฐานว่าการเสด็จเมืองนครฯ ครานั้น คงเนื่องมาจากรัชกาลที่ 4โปรดให้เสด็จมานมัสการพระบรมธาตุเมืองนครฯ ซึ่งรัชกาลที่ 4 ได้เสด็จมานมัสการแล้ว เมื่อ พ.ศ. 2402 และอาจเป็นการเสด็จไปศึกษารูปแบบของพระเจดีย์ที่มีฐานขนาดใหญ่ เพื่อนำมาปรับใช้ในการซ่อมแซมองค์พระปฐมเจดีย์ที่พังทลายลง เมื่อ พ.ศ. 2403

พระองค์ได้พระนิพนธ์เรื่องราวของการเสด็จครานั้นไว้ใน “กลอนกาพย์พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เสด็จเมืองนครศรีธรรมราช”

โดยจุดเริ่มต้นแรกนั้นพระองค์เสด็จออกจากกรุงเทพฯ (ไม่ได้ระบุว่าคือที่ใด แต่คาดว่าน่าจะเสด็จจากวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ประทับ) เมื่อปี จ.ศ. 1226 (ตรงกับ พ.ศ. 2407) เรือล่องมาถึงด่าน (น่าจะหมายถึงด่านพระสมุทรเจดีย์ สมุทรปราการ) ผ่านกุยบุรี เกาะหลัก อ่าวชุมพร เกาะสมุย อ่าวไชยาพิไสย อ่าวท่าทอง จนกระทั่งเดินเรือมาถึงที่ปากน้ำปากนคร พวกขุนนางได้นำเรือมาดเก๋งออกมารับเสด็จ แต่เนื่องจากทางคดโค้งและตื้นเขินจึงต้องใช้เวลามากกว่าจะมาถึงท่าโพธิ์ ถัดจากนั้นจึงขึ้นฝั่งบริเวณท่าวัง เพื่อเสด็จไปยังพระบรมธาตุเจดีย์นครฯ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระองค์ให้การสนใจมากเป็นพิเศษ

นอกจากนั้นพระองค์ทรงพระนิพนธ์เรื่องราวเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ด้วย ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้พระองค์ได้สดับรับฟังและเห็นมา เช่น สวนพระบริเวณพระบรมธาตุนครฯ ที่เต็มไปด้วยต้นมะพร้าวลำต้นสูงยาวกว่าต้นตาลเกือบวา มีต้นจำปาสูงมากผิดปกติ ต้นยอขนาดใหญ่สูงกว่ายอดไผ่ที่วัดดิงดง ต้นเตยที่มียอดสูงยอดต้นตาล ต้นจำปีที่มีลำต้นเกือบเท่ากะบุง ตลอดการชื่นชมและตำหนิผลไม้ที่ได้เสวย คือ แตงโมอร่อย แต่ทุเรียนกลิ่นไม่น่าพิสมัย ในด้านทรัพยากรน้ำ ผู้คนชาวเมืองนครได้กินน้ำที่สะอาดจากบ่อน้ำใต้ดินที่ถูกขุดขึ้นบริเวณต่าง ๆ ภายในตัวเมือง จึงทำให้คนนครฉลาดว่องไว มีไหวพริบปฏิภาณ ทำการงานชัดเจน และสร้างสรรค์งานช่างที่แปลกตาออกมาได้ดี

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ประทับอยู่เมืองนครฯ เป็นระยะเวลา 3 วัน จึงเสด็จกลับทางชลมารคผ่านเส้นทางเดิม

จากการศึกษากลอนกาพย์พระนิพนธ์ฯ ข้างต้นอย่างละเอียด ทำให้ทราบถึงลักษณะสภาพความเป็นอยู่และศิลปวัฒนธรรมของชาวเมืองนครในอดีตได้เป็นอย่างดี นับว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าชิ้นหนึ่งสำหรับชาวนครที่ควรแก่การศึกษาค้นคว้า

 

อ้างอิงข้อมูล

ธีรยุทธ บัวทอง. ย้อนรอยเส้นทางเสด็จของกรมพระยาปวเรศฯ ณ เมืองนคร. สานครศรีธรรมราช ปีที่ 48

ฉบับที่ 12 เดือนธันวาคม 2561, หน้า 31-41

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์. กลอนกาพย์พระนิพนธ์สมเด็จ