Skip to content
พระห้ามสมุทร

ความเชื่อเรื่อง พระห้ามสมุทรเมืองนครศรีธรรมราช

พระห้ามสมุทรเมืองนครศรีธรรมราชนั้น มีความเชื่อที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ ว่าสามารถขจัดภยันตรายที่เกิดจากวาตภัยในท้องสมุทรได้อย่างพิศดาร และมักประดิษฐานให้หันพระพักตร์ออกสู่ทะเลหลวงในทิศบูรพา เป็นต้นว่า

พระเหมชาลา

ภาพที่ ๑ พระพุทธรูปทรงเครื่องเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา ทางห้ามสมุทร
ประดิษฐานในวิหารท้ายจรนำ พระวิหารพระธรรมศาลา วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

พระอัฏฐารสปางห้ามสมุทร ประดิษฐานในวิหารท้ายจรนำพระวิหารพระธรรมศาลา วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ซึ่งพระวิหารหลังนี้หากเทียบกับตำนานพระบรมธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช ก็จะได้แก่ “เรือสำเภา” ที่เชิญพระบรมสารีริกธาตุมาแต่ลังกา ด้วยว่าพระวิหารได้ถูกแบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ

๑.) เฉลียงด้านหน้า ประดิษฐาน “พระทนธกุมาร” พระพุทธรูปทรงเครื่องปางประทานอภัย ส่วนนี้แทนหัวเรือสำเภาอันมีเจ้าฟ้าชายธนกุมาร แห่งทันตบุรี ประทับอยู่

๒.) โถงประธานในพระวิหาร ประดิษฐาน “พระตาเขียว” พระพุทธรูปปางมารวิชัย นัยน์ตาประดับกระจกสีเขียว ส่วนนี้แทนพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประดิษฐานมากลางลำเรือ

๓.) วิหารท้ายจรนำ ส่วนนี้ยื่นเข้าไปในเขตพุทธวาสคร่อมพระวิหารพระระเบียงคด ประดิษฐาน “พระเหมชาลา” พระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามสมุทร ส่วนนี้แทนท้ายเรือสำเภาอันมีเจ้าฟ้าหญิงเหมชาลา แห่งทันตบุรี ประทับอยู่ 

พระพิงเสาดั้ง

ภาพที่ ๒ พระพิงเสาดั้ง พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร
ประดิษฐานภายในพระวิหารทับเกษตร (ด้านทิศตะวันออก) วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

มีเพลงกล่อมเด็กบทหนึ่งว่า

ไปคอนเหอ…

ไปแลพระนอนพระนั่ง

พระพิงเสาดั้ง

หลังคามุงเบื้อง

เข้าไปในห้อง

ไปแลพระทองทรงเครื่อง

หลังคามุงเบื้อง

ทรงเครื่องดอกไม้ไหวเหอ…

คำว่า “พระพิงเสาดั้ง” นั้น ได้แก่พระพุทธรูปประทับยืนปางห้ามสมุทร ๒ องค์ ที่ด้านหลังมี “เสาดั้ง” ค้ำยันให้มั่นคงเอาไว้ ปัจจุบันประดิษฐานในพระวิหารทับเกษตร สันนิษฐานว่าเสาดั้งนี้นำมาค้ำไว้เมื่อครั้งพระครูเทพมุนีศรีสุวรรณถูปาภิบาล (พ่อท่านปาน) บูรณะครั้งใหญ่พระบรมธาตุเจดีย์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระพุทธรูปปางห้ามสมุทรทุกพระองค์จะประดิษฐานให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกสู่ทะเลหลวง แม้พระพิงเสาดั้งเองที่สามารถเลือกมุมประดิษฐานได้โดยรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ก็ตามที

เมื่อ พ.ศ.๒๔๔๙ คราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรปนั้น มิได้ทรงอัญเชิญพระพุทธรูปอื่นใดนอกจาก “พระห้ามสมุทรเมืองนคร” ที่ทรงประดิษฐานไว้ประจำห้องพระบรรทม บนเรือพระที่นั่งนอร์ทเยอรมันลอยด์ (ซักเซน) ด้วยพระราชศรัทธาหวังเป็นเครื่องปัดเป่าภยันตรายในท้องทะเล คู่กับพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา ตามความในพระราชหัตถเลขาที่มีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล ลงวันพุธ ที่ ๓ เมษายน ร.ศ.๑๒๖ ความว่า “…พ่อจัดหลังตู้ตั้งพระห้ามสมุทเมืองนครมุมหนึ่ง ต้นไม้ยี่ปุ่นปลูกกระถางกราบเขาจัดสำหรับเรือ ๒ กระถาง กับพระรูปทูลกระหม่อมปู่…”

ส่วนพระห้ามสมุทรเมืองนครที่ทรงเชิญไปนั้น อาจได้รับการทูลเกล้าถวายเมื่อคราวเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราชไม่คราวใดก็คราวหนึ่ง เพราะเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช ถึง ๕ ครั้ง

นอกจากนี้ยังพบว่าพระห้ามสมุทร มีการเขียนในเอกสารโบราณเป็นห้าม “สมุทย” ซึ่งคนละความหมายกับ “สมุทร” คำโบราณในดังกล่าวคือสมุทัย องค์หนึ่งในอริยสัจจ์ ๔ หมายถึงเหตุให้เกิดทุกข์ ห้ามสมุทัยจึงคือห้ามเหตุให้เกิดทุกข์ เหตุดับทุกข์ก็ไม่เกิด อีกนัยหนึ่งพระห้ามสมุทรเมืองนครศรีธรรมราช จึงอาจคือตัวแทนคำสอนโดยย่อของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ที่ว่า “ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะทรงสั่งสอนอย่างนี้