ทุ่งใหญ่ : เทวดาหนาน และ ศาสนาผีท้องถิ่น
- วันพระ สืบสกุลจินดา
- August 12, 2021
- 3:40 am
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสยอดนิยมของสังคมออนไลน์คงหนีไม่พ้นเรื่องราวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างพระสยามเทวาธิราชและเรื่องเล่าหลอน ๆ จากทวิตเตอร์ที่ยังไม่ทราบเค้าโครงความจริง แต่ประเด็นของพระสยามเทวาธิราชทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ในมิติของความเชื่อพื้นเมืองผ่านศาสนาดั้งเดิมที่เรียกกันว่า “ศาสนาผี” และเมื่อลองมองย้อนกลับมาในพื้นที่ของอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็มีเรื่องเล่าตำนานมากมายซึ่งเกี่ยวเนื่องกับศาสนาผี ในที่นี้ขอกล่าวถึง “เทวดาหนาน” เป็นการเฉพาะ
เทวดาหนานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพื้นที่แถบตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยชาวบ้านบางท่านเชื่อกันว่าเทวดาหนานก็คือทวดงูบองหลา (จงอาง) ประกอบด้วยสององค์ คือ เทวดาฝ่ายชายทำหน้าที่ปกปักรักษาหนานรูปและหนานใหญ่ ส่วนเทวดาฝ่ายหญิงทำหน้าที่พิทักษ์ดูแลหนานนุ้ย บางท่านเชื่อว่าเทวดาหนานทั้งสามถูกแยกออกเป็นเอกเทศ จึงได้มีการสร้างศาลไว้เฉพาะ กล่าวคือ ศาลเทวดาหนานใหญ่ประดิษฐานอยู่ใกล้กับถนนสายหลักหมายเลข ๔๑ เทวดาหนานนุ้ยประดิษฐานอยู่ใกล้กับวัดขนานทางด้านทิศตะวันตก และเทวดาหนานรูป ซึ่งไม่ได้มีการสร้างศาลเคารพ เนื่องจากชาวบ้านเชื่อกันว่าภาพสลักนั้นคือหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเคยมีร่างทรงประทับเป็นสื่อแทนเทวดาหนานรูป เพื่อบ่งบอกว่าหากมีเรื่องบนบานสานกล่าวสามารถบนบานตนเองได้ แต่หากจะเชิญไปด้วยไกล ๆ นั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตนต้องอยู่พิทักษ์ทรัพย์สมบัติ ณ ที่แห่งนี้ และบางท่านเชื่อว่าเทวดาหนานทั้งสามเป็นองค์เดียวกัน เพียงแต่ถูกนับแยกเมื่อมีการแยกพื้นที่หินหนานออกเป็นหนานใหญ่ หนานนุ้ย และหนานรูป
แต่ไม่ว่าเทวดาหนานจะเป็นองค์เดียวกันหรือไม่ มันก็ทำให้เราได้มองเห็นภาพสะท้อนของความเชื่อของคนในพื้นที่ที่ยังคงนับถือ “ศาสนาผี” ซึ่งมีความเชื่อผูกพันกับ “ทวด” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิฤทธิ์ เดชานุภาพ สามารถให้คุณให้โทษได้
ความศักดิ์สิทธิ์ของเทวดาหนานถูกเล่าต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยความเชื่อหนึ่งเล่าว่า หากสัตว์เลี้ยงเกิดล้มป่วย หรือผู้คนปรารถนาสิ่งอื่นใดในทางที่ดีเป็นประโยชน์ก็ให้บนถึงเทวดาหนาน ไม่นานสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง และผู้คนก็มักจะสมหวังตามปรารถนา แต่หากผู้ใดลบหลู่ดูหมิ่น จะได้รับการลงโทษจนต้องรีบทำพิธีขอขมาเป็นการใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าทวดจะให้คุณเมื่อบวงสรวงบูชาและเอาใจ และจะให้โทษเมื่อถูกกระทำการลบหลู่ดูหมิ่น ซึ่งเทวดาหนานน่าจะจัดอยู่ในรูปลักษณ์ของทวดแบบสัตว์
และหากพิจารณาต่อไปอีกจากงานเขียนของ อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่กล่าวว่า “ผีบรรพบุรุษอาศัยหลักฐานจากจารึกในท้องถิ่นที่มีการระบุถึงชื่อของเทวะ เดาว่าเป็นผีพื้นบ้าน แต่สะกดแบบบาลีสันสกฤต เช่นที่วัดภู สมัยชัยวรมันที่สอง มีเทพชื่อ Vrah Thkval เดาว่าเป็นเทพหรือผีท้องถิ่น” ดังนั้นเทวดากับผีท้องถิ่นก็คือสิ่งเดียวกัน เพียงแต่มีรากฐานของคำแตกต่างกัน
เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธศาสนาได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ ก็จำต้องปะทะกับความเชื่อพื้นเมือง และเกิดการต่อรองอำนาจ เพื่อเชื่อมความเชื่อระหว่างศาสนา จนกระทั่งความเป็นพุทธและผี ถูกหลอมรวมจนเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกัน ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมและอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่มาจวบจนทุกวันนี้
- วันพระ สืบสกุลจินดา
- August 12, 2021
- 3:40 am