ประวัติอำเภอปากพนัง ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค
- วันพระ สืบสกุลจินดา
- December 22, 2021
- 4:01 am
ประวัติอำเภอปากพนัง
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค
เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา
.
หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
.
ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอปากพนังนั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)
.
หลักฐานตามทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชสมัยรัชกาลที่ 2 ระบุว่าท้องที่ปากพนังก่อนตั้งเป็นอำเภอมีสถานะเป็นหัวเมืองฝ่ายขวา ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของเมืองนครศรีธรรมราช
.
อำเภอปากพนัง
หัวเมืองที่มารวมตั้งเป็นอำเภอปากพนังนั้น ได้แก่ เมืองพนัง เมืองพิเชียร ที่เบี้ยซัด และที่ตรง
.
ในสมัยปฏิรูปการปกครอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชวินิจฉัยเห็นว่า ภายหลังที่เจ้าพระยานคร (น้อย) ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว เจ้าเมืองนครถัดมาไม่เข้มแข็งในการปกครองเท่าที่ควร เป็นเหตุให้หัวเมืองมลายูอันเป็นประเทศราชกระด้างกระเดื่อง ขณะเดียวกันอังกฤษก็เข้ามามีเมืองขึ้นประชิดพรมแดน และได้ดำเนินการแทรกแซงกิจการภายในเมืองไทรบุรีมากขึ้น พระองค์ทรงเห็นว่าลักษณะและเหตุการณ์เช่นนี้ ย่อมจะเป็นอันตรายต่อสยามอย่างแน่นอน จึงมีพระราชดำรัสให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ ในฐานะเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จัดการแก้ไขการปกครองหัวเมืองปักษ์ใต้โดยรีบด่วน
.
มณฑลนครศรีธรรมราช
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพฯ เสนอให้รวมเมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองสงขลาเข้าเป็นมณฑลเดียวกัน เรียกว่า “มณฑลนครศรีธรรมราช” ที่ว่าการมณฑลตั้งอยู่ที่เมืองสงขลา พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลได้จัดการปกครองเมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา เข้าสู่ระเบียบแบบแผนสมัยใหม่ ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116
.
การจัดการปกครองท้องที่ในสมัยนั้น ได้ตั้งกรมการอำเภอ ให้มีการเลือกตั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกตำบล หมู่บ้าน เมืองนครศรีธรรมราชแบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ คือ อำเภอกลางเมือง เบี้ยซัด ร่อนพิบูลย์ กลาย สิชล ลำพูน ฉวาง ทุ่งสง และเขาพังไกร
.
อำเภอเบี้ยซัด
อำเภอเบี้ยซัด ตั้งขึ้นโดยรวบรวมหัวเมืองฝ่ายขวา 4 ตำบล คือเมืองพนัง พิเชียร ที่ตรง และที่เบี้ยซัด ตั้งเป็นอำเภอเมื่อพุทธศักราช 2440 นายอำเภอคนแรกคือหลวงพิบูลย์สมบัติ ที่ว่าการอำเภอชั่วคราวตั้งที่โรงสีเอี่ยมเส็ง ตำบลปากพนัง แล้วย้ายไปตั้งที่ตลาดสด ครั้งที่ 3 ย้ายมาตั้งที่กองกำกับตำรวจน้ำปากพนัง
.
ความในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 9 กรกฎาคม ร.ศ.124 ว่า
.
“
วันที่ 9 กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก 124 ถึงมกุฎราชกุมาร ในที่ประชุมรักษาพระนคร เพื่อจะให้รายงานการที่มาเที่ยวครั้งนี้ให้สำเร็จบริบูรณ์ตามที่ควรจะบอก จึงเขียนบอกฉบับนี้อีกฉบับหนึ่ง
.
แม่น้ำปากพนังใหญ่เท่าเจ้าพระยา
วันที่ 8 เวลาเช้า 3 โมง ได้ลงเรือมาด (ไม่ใช่เพราะน้ำตื้น แต่เพราะเพื่อจะหาความสุข) เรือไฟเล็กลากออกมาจากเรือมหาจักรี ที่จอดอยู่ในเมืองปากพนัง ซึ่งอยู่ท้ายอ่าวตะลุมพุกนี้ 3 ชั่วโมงหย่อน ถึงปากพนัง แม่น้ำโตราวสักแม่น้ำเจ้าพระยากรุงเทพฯ บ้านนายอำเภอตั้งอยู่ใกล้ปากน้ำ ต่อนั้นขึ้นไปเป็นบ้านเรือนทั้งสองฟากแน่นหนา เพราะมีพลเมืองถึง 46,000 คนเศษ มีจีนมาก เป็นจีนไหหลำเป็นพื้น รองจำนวนจีนไหหลำเป็นจีนฮกเกี้ยน แต้จิ๋วมีน้อย เสียงจุดประทัดสนั่นไป
.
ที่ว่าการอำเภอหลังเก่า
มีเรือยาวสำปั้นราษฎรลงมารับที่ปากอ่าวประมาณสัก 80 ลำ โห่ร้องตามมาสองข้าง ได้ขึ้นไปตามลำน้ำหลายเลี้ยว จึงถึงโรงสีไฟจีนโค้วหักหงี ซึ่งตั้งชื่อใหม่ (คือโรงสีไฟยี่ห้อเตาเซ้ง) มีความปรารถนาจะให้เปิดโรงสีนั้น เมื่อไปถึงจีนหักหงี น้อง แลบุตรหลายคนและราษฎรซึ่งอยู่ในคลองริมโรงสีนั้นเป็นอันมาก ได้ต้อนรับโดยแข็งแรง ตั้งแต่ไปจากเรือมหาจักรีจนถึงโรงสีนั้นกินเวลาเกือบ 4 ชั่วโมง ได้ขึ้นเดินดูโรงสีทั่วไป และไต่ถามถึงการงานที่ค้าขายแล้ว กลับมาขึ้นที่บ้านนายอำเภอ เพราะที่ว่าการอำเภอเก่าตั้งอยู่เหนือน้ำขึ้นไป ที่ว่าการอำเภอใหม่ทำยังไม่แล้ว หลังที่ทำใหม่นี้เท่ากับที่ว่าการอำเภอเมืองตานี กินข้าวบนเรือนนั้น จีนหักหงีเลี้ยงเกาเหลาอย่างจีน ข้าหลวงเทศาภิบาลเลี้ยงอย่างไทย
.
ไทย จีน แขก
แล้วเดินไปดูร้านซึ่งข้าราชการและราษฎรมาตั้งอย่างขายของ แต่ที่แท้เป็นของถวายทั้งนั้น มีพันธุ์ข้างต่าง ๆ น้ำตามต่าง ๆ เครื่องสาน ผลไม้ ขนม ยา เลี้ยงขนเรือที่ไป พวกราษฎรเฝ้าพร้อมกันทั้งบกทั้งน้ำแน่นหนามาก บรรดาการเล่นอันมีอยู่ในตำบลนั้นได้มาเล่นทั้งไทย จีน แขก เวลาบ่าย 3 โมงเครึ่ง จึงได้ลงเรือมหาจักกรีเกือบจะ 2 ทุ่ม
.
ปากแพรก
อำเภอปากพนังนี้ ได้ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นที่สำคัญอย่างไร แต่เมื่อไปถึงที่ยังรู้สึกว่าตามที่คาดคะเนนั้นผิดไปเป็นอันมาก ไม่นึกว่าจะใหญ่โตมั่งมีถึงเพียงนี้ น้ำตื้นมีอยู่แต่ที่ตอนปากน้ำประมาณ 200 เส้น เข้าข้างในน้ำลึกตลอด จนถึงหน้าโรงสีน้ำยังลึกถึง 3 วา ถ้าเวลาน้ำมากเรือขนาดพาลีและสุครีพเข้าไปได้ ต่อโรงสีขึ้นไปไม่มากถึงปากแพรก ซึ่งเป็นแม่น้ำสองแยก ๆ หนึ่งเลียบไปตามทะเลถึงตำบลทุ่งพังไกร ซึ่งเป็นที่นาอุดมดี ข้างจีนกล่าวกันว่าดีกว่านาคลองรังสิต และมีที่ว่างเหลืออยู่มาก จะทำนาขึ้นได้ใหม่กว่าที่มีอยู่แล้วเดี๋ยวนี้อีก 10 เท่า เขากะกำลังทุ่งนั้นว่า ถ้ามีนาบริบูรณ์จะตั้งโรงสีได้ประมาณ 10 โรง ขาดแต่คนเท่านั้น นาทั้งมณฑลนครศรีธรรมราชไม่มีที่ไหนสู้ ลำน้ำนั้นเรือกลไฟขนาดศรีธรรมราชขึ้นไปได้ตลอดถึงพังไกรเวลาหน้าแล้ง ต่อพังไกรไปเป็นลำคลองเล็ก แต่ถ้าหน้าน้ำเรือศรีธรรมราชไปได้ถึงอำเภอระโนด แขวงสงขลา ตกทะเลสาบ
.
คลองอีกแยกหนึ่งแต่ปากแพรกนั้น ไปทิศตะวันตกถึงอำเภอปราน ที่อำเภอปรานนี้มีไม้เคี่ยม ไม้ตะเคียน และไม่กระยาเลยต่าง ๆ จีนหักหงีได้ขออนุญาตตั้งโรงเลื่อยจักรขึ้นที่ริมโรงสีไฟใช้หม้ออันเดียวกัน แต่ยังไม่ได้ตั้งเครื่อง มีไม้จอดอยู่ริมตลิ่งมาก
.
ไม่มีแห่งใดดีเท่าปากพนัง
ทางไปอำเภอกลางเมือง มาตามคลองปากพญาแล้วมาคลองบางจาก ออกทะเลหน่อยหนึ่งจงเข้าปากพนัง แต่พระยาสุขุมฯ ได้ขุดคลองตั้งแต่ระหว่างหมู่บ้านคนไปถึงคลองบางจาก เดินทางในมีเรือลูกค้ามาแต่กลางเมืองและร่อนพิบูลย์จอดอยู่หลายร้อยลำ ในลำนั้นมเรือกำปั่นแขก สำเภาจีนค้าขายทอดอยู่กลางน้ำเกือบ 30 ลำ เหล่านี้มาแต่เมืองสิงคโปร์และเมืองแขกโดยมาก ห้างอีสต์อินเดียตั้งเอเย่นไว้สำหรับรับสินค้าไปบรรทุกลงเรือเมล์ด้วยเหมือนกัน ข้าวกลับไปเข้ากรุงเทพฯ ก็มี เพราะเหตุแต่ก่อนมีแต่ลำฝั่งน้ำตลอดมีหลายสิบโรง เมื่อจะคิดว่าตำบลนี้มีราคาเท่าใด เทียบกับเมืองสงขลา เงินผลประโยชน์แต่อำเภอเดียวนี้ น้อยกว่าเมืองสงขลาอยู่ 20,000 บาทเท่านั้น บรรดาเมืองท่าในแหลมมลายูฝั่งตะวันออก เห็นจะไม่มีแห่งใดดีเท่าปากพนัง
.
มีขัดก็แต่ปากอ่าวตื้นเรือใหญ่เข้าไม่ได้ พวกลูกค้ามีความประสงค์ที่จะให้ขุดมาก จีนหักหงีนี้เองได้ยื่นเรื่องราวว่า ถ้าจะขุด ตัวจะขอออกเงินให้ 80,000 บาท พวกจีนลูกค้าที่นี่เห็นพร้อมกันว่าจะต้องขุดทุกปียอมให้เก็บค่าขุดตามกำลังเรือ เพราะเหตุว่าเวลานี้ลำบากด้วย เครื่องลำเลียงข้าวมาบรรทุกเรือใหญ่เสียค่าจ้างเป็นอันมาก โดยจะต้องเสียค่าขุดยังจะถูกกว่าค่าจ้างเรือลำเลียง และขอให้ปิดคลองบางจากซึ่งเป็นทางน้ำเค็มเข้าคลองสุขุมนั้นเสีย น้ำในคลองนั้นจะแรงขึ้นอีก และจะได้น้ำจืดมาใช้ในปากพนัง ตำบลปากพนังนี้คงเป็นท่าเรือของเมืองนครศรีธรรมราช ปากอื่น ๆ ปิดหมดอยู่เองเพราะเข้าออกลำบาก
.
น้ำ
ตำบลนี้ลำบากอยู่แต่ด้วยน้ำ ถ้าขุดบ่อในที่ซึ่งเป็นดินเลนใกล้แม่น้ำ ๆ เปรี้ยวใช้ไม่ได้ ถ้าออกไปขุดริมชายทะเล ห่างทะเลขึ้นมาสัก 30 เส้น กลับได้น้ำจืด แต่ระยะทางไกล เดี๋ยวนี้ราษฎรได้อาศัยน้ำในคลองสุขุม แต่น้ำคลองบางจากมักทำให้เค็ม จึงอยากขอปิดคลองบางจากนั้น
.
การปิดคลองบางจาก นึกมีบ้านที่จะต้องลำบากอยู่ตำบลเดียว เพราะอยู่ปากคลองสุขุมออกมา เขากล่าวติเตียนกันอยู่ว่า จีนที่มาอยู่แต่ก่อนเป็นพวกไหหลำมาก มักไม่ใคร่จะคิดทำการหาเงินใหญ่โต ได้ประมาณพันหนึ่งสองพันเหรียญก็กลับบ้าน แต่บัดนี้จีนแต้จิ๋วกำลังรู้ว่าที่นี้ดี เห็นจะมีมาอีกมาก ไม่ช้าตำบลนี้จะเจริญใหญ่โตสู้เมืองสงขลาได้ในทางผลประโยชน์ ทุกวันนี้มีแต่โทรศัพท์ พวกลูกค้าจีนต้องการจะให้มีโทรเลข ถ้าจะมีผู้อื่นใช้โทรเลขนอกราชการแล้ว จะมีที่นี่มากกว่ากลางเมือง
.
ดิน
อนึ่งดินที่นี่ดี เผาอิฐแกร่งเหมือนอิฐสงขลา ที่ว่าการอำเภอหลังใหญ่ ซึ่งทำใหม่ได้ใช้เงินงบประมาณ 2,000 บาท นอกนั้นใช้แรงคนโทษซึ่งจ่ายมาแต่เมืองนครศรีธรรมราชทำอิฐ ราษฎรพากันมาแลกสิ่งของซึ่งต้องการเป็นไม้เป็นเหล็ก แรงที่ทำใช้แรงคนโทษ พื้นล่างเสาก่ออิฐ ข้างบนเป็นไม้มึงจาก ยังขาดแต่ฝาไม่แล้วเสร็จ แต่ถึงว่ามีสิ่งที่ดีอยู่หลายอย่างเช่นนี้ ก็มีสิ่งที่ไม่ดีคือยุงชุมเกินประมาณ”
.
ที่ว่าการอำเภอดังกล่าวนี้ปรากฏว่าได้เกิดไฟไหม้ 2 ครั้ง ครั้งหลังสุดเกิดไฟไหม้เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2494 จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอไปสร้างในที่ใหม่คือที่ตั้งที่ว่าการอำเภอปัจจุบัน ริมถนนสายปากพนัง – ชายทะเล หมู่ที่ 3 ตำบลปากพนังฝั่งตะวันออก เขตการปกครองของอำเภอปากพนัง เมื่อตั้งเป็นอำเภอครั้งแรกได้รวมท้องที่อำเภอเชียรใหญ่ด้วย
.
ช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงเขตการปกครอง
กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ “อำเภอเบี้ยซัด” เป็น “อำเภอปากพนัง” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2460
.
พ.ศ. 2467 ลดฐานะอำเภอเขาพังไกร ลงเป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า “กิ่งอำเภอหัวไทร” ให้ขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอปากพนัง
.
พ.ศ. 2480 แบ่งท้องที่ด้านทิศใต้ของอำเภอปากพนังตั้งเป็นกิ่งอำเภอเรียกชื่อว่า “กิ่งอำเภอเชียรใหญ่” ในเขตการปกครองของอำเภอปากพนัง
.
พ.ศ. 2481 ยกฐานะกิ่งอำเภอหัวไทรเป็น “อำเภอหัวไทร” แยกออกจากการปกครองของอำเภอปากพนัง
.
พ.ศ. 2490 ยกฐานะกิ่งอำเภอเชียรใหญ่เป็น “อำเภอเชียรใหญ่” แยกออกจากการปกครองของอำเภอปากพนัง
.
กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศเปลี่ยนชื่อ “อำเภอเบี้ยซัด” เป็น “อำเภอปากพนัง” เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2460
___
นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.
- วันพระ สืบสกุลจินดา
- December 22, 2021
- 4:01 am