Skip to content

ชักพระ(ไม่ได้)มีหนเดียว ตำนานพระลาก ตะเฆ่ และเกลียวเชือก

ชักพระ(ไม่ได้)มีหนเดียว
ตำนานพระลาก ตะเฆ่ และเกลียวเชือก

ประเพณีชักพระ

หลังจากได้ฟังที่มาของประเพณีชักพระจากผู้ร่วมเสวนาทั้ง ๒ ท่าน ผู้เขียนก็เปิดประเด็นด้วยการลองตั้งข้อสังเกตดูเล่นๆ ไว้ เป็นหลายขยัก เช่นว่า คำถามที่ควรจะมีกับประเพณีชักพระอาจต้องต่อออกไปอีก ๒ ข้อ จากที่ตั้งลูกขี้ไว้ที่ ชักพระทำไม ? เพิ่มด้วย ชักอย่างไร ? และ ชักแล้วจะได้อะไร ? ขยักต่อมาเป็นรอยที่เห็นเติมขึ้นเป็นสาม คือ พราหมณ์ พุทธ และพื้นถิ่น สุดท้ายคือขยักเรื่องวาระและเวลาในการชักที่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่แค่เดือนสิบเอ็ด แรมค่ำ อย่างที่เราเคยเข้าใจไว้

.

เมื่อฟังว่าไอเดียของชักพระมาแต่พิธีแห่เทพเจ้าของพราหมณ์ ก็พลอยทำให้เป็นข้อมูลไปสนับสนุนว่า แต่เดิมเรื่องของหมุดเวลาคงยืดหยุ่นไปตามบริบทด้วย คล้ายกับที่พราหมณ์จะอารตีเทพเจ้าพระองค์ใดก็ต้องเนื่องมาจากฉากในเทพปกรณัมของเทพเจ้าพระองค์นั้น ๆ ตานี้เมื่อคนพื้นเมืองยังนับถือผีและธรรมชาติอยู่ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า หมุดหมายของเวลาที่จะแห่พระจึงต้องขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ การผลิช่อออกรวงของบรรดาผลอาสิน หรือฤดูกาลเก็บเกี่ยว เป็นต้น ตรงส่วนนี้เองทำให้เราพอเห็นเค้าลางของการลากพระเดือนห้า และเมื่อคืนก่อนที่เพิ่งได้ยินมาจากท่านอาจารย์เฉลิม จิตรามาศ ประชาสัมพันธ์วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ตอนสัมภาษณ์ความทรงจำว่าด้วยเรื่องลากพระ ท่านก็เปรยว่า เดือนสิบสองตอนน้ำทรง สมัยเด็กยังเคยเห็นเรือพระลอยลำอยู่กลางน้ำ ซึ่งไม่ได้เป็นการค้างไว้จากเดือนสิบเอ็ด แต่เป็นการชักลากออกมาในเดือนสิบสองเพื่อส่งน้ำ ลากพระจึงยืดหยุ่นได้ตามเป้าประสงค์ของคนและเจตจำนงของการลาก

.

ความสนุกอยู่ตรงที่ เราจะเริ่มเห็นเส้นเวลาคร่าว ๆ ของชักพระ

จากรอยพรามณ์ ถึงคนพื้นเมือง แล้วมาสู่วิถีพุทธในแบบฉบับชาวใต้

รอยพราหมณ์ ก็จากเค้าโครงของพิธีกรรมการแห่เทพเจ้า

มาถึงคนพื้นเมือง ก็ที่เชื่อมเอาธรรมชาติเข้าไปผูกโยง

ส่วนวิถีพุทธในแบบฉบับชาวใต้ ก็คือการสร้างชุดความรู้ว่าด้วยการจำลองพุทธประวัติฉากเสด็จจากดาวดึงส์ไปเป็นความหมายให้กับประเพณี

.

ทั้งสามส่วนนี้ จะมีส่วนของคติชนเข้าไปจับ แต่ถ้าจะลองเลาะออกให้เห็นเพียงแค่ปฏิบัติการในชีวิตประจำวันดูอย่างสามัญๆ เลย ก็ให้ความน่าสนใจไม่แพ้กัน ถ้าลองเอากรอบของพิธีกรรมออก เราก็จะเห็นทักษะในการเคลื่อนย้ายสิ่งของของมนุษย์ ชักพระบก คือการเคลื่อนย้ายพระไปทางบก ชักพระน้ำก็คือการเคลื่อนย้ายไปทางน้ำ พออธิบายมาถึงตอนนี้หลายท่านคงนึกขึ้นได้หรือไม่ก็เคยผ่านตาข้อมูลการชะลอพระพุทธรูปสำคัญจากกรุงเก่าลงมากรุงเทพ อันนั้นก็ถือว่าลากพระ ที่เอกสารโบราณเรียกอาการอย่างนั้นว่า “ชัก”

.

ตานี้ในปัจจุบันจะมาเป็น “ลาก” หรือกำลังมีการถกกันว่าควรใช้คำใด อันนี้ก็สุดแท้แต่จะมีฉันทามติ  เพราะฝ่ายที่ใช้ “ชัก” ก็จะมีหลักฐานจากปากคำที่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนฝ่าย “ลาก” ก็อ้างอิงจากคำเรียก “พระลาก” จึงว่าควรเป็น “ลากพระ” แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ในภาษาพูดเดี๋ยวนี้ ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรายังใช้ปนกันอยู่ รวมถึงตัวผู้เขียนเองก็ตาม

.

ตานี้กลับมาที่ ชักพระที่ไม่ได้เนื่องในประเพณีกัน โดยจะขอละของทางภูมิภาคอื่นไว้ ที่นครศรีธรรมราชมีหลักฐานฉบับหนึ่งเป็นพระราชหัตเลขาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามกุฎราชกุมาร ซึ่งถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราวปีพุทธศักราช ๒๔๕๒ กล่าวถึงการเชิญพระบรมราชาไว้อย่างน่าสนใจว่า

.

“เมื่อวันอังคาร ที่ ๒๕ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๘ เวลาบ่ายได้ขับรถไปตามถนนรอบกำแพงเมือง ไปนั่งมุขพระธรรมศาลา ในวัดพระบรมธาตุ ดูแห่พระพุทธรูป ซึ่งเรียกว่าพระบรมราชา พระนั้นได้เชิญขึ้น “บุษบกวางบนตะเค่” ให้คนฉุดมา คนที่ฉุดนั้นไม่ใช่แต่เฉพาะชายฉกรรจ์ ทั้งคนชรา เด็ก และผู้หญิงก็ช่วยกันฉุดด้วยเพื่อเอาบุญ เดิมพระองค์นี้ฝังอยู่ในกลางทุ่ง มีผู้ไปขุดพบเข้า จึงเอาไปประดิษฐานไว้ที่วัดนอกเมือง พระองค์นี้มีชื่อเสียงว่าปฏิบัติสับประดนต่างๆ มีขึ้นล่วงเรือนเขาบ้าง ขึ้นหาลูกสาวเขาบ้าง ตามเรื่องว่าไล่กันมาถึงวัด เห็นผู้ร้ายหายเข้าไปในพระวิหารพระบรมราชา ผู้ที่ไล่วิ่งตามเข้าไปยังได้เห็นโคลนเปื้อนพระบาทอยู่ ถึงกับล่ามโซ่ไว้ ต่อมาเมื่อเร็วๆ นี้ จึงจับตัวผู้ร้ายได้ เรื่องราวก็จบลง แต่ที่แลไม่เห็นนั้น คือเหตุไฉนจึงอุสาหะมีคนเชื่อได้ ดูไม่น่าเชื่อเลยว่าพระพุทธรูปจะเที่ยวเล่นซุกซนได้เช่นนั้น ฝ่ายเจ้าผู้เป็นต้นคิด ซัดพระพุทธรูปขึ้นด้วยนั้น ก็ควรจะยอมรับว่ามันช่างรู้อัทยาไศรยของเพื่อนกันดีจริงๆ”

.

ประเด็นที่เห็นจากบันทึกฉบับนี้ มีหลายประการ เช่นว่า

 

“บุษบกวางบนตะเค่”

อันนี้หมายถึง “พนมพระ” เหตุที่ไม่เรียกอย่างนั้นเพราะเข้าใจว่าไม่มีผู้ถวายรายงาน จึงทรงพรรณนาลักษณะไว้ตามที่ได้ทอดพระเนตรและทรงคุ้นเคย ข้อนี้เป็นประโยชน์มาก เพราะแม้จะไม่ได้เห็นรูปพนมพระนั้น แต่ทำให้เข้าใจว่าครึ่งล่างคือ “ตะเฆ่” ที่ในพจนานุกรมออนไลน์หลายแหล่งให้ความหมายไว้ค่อนข้างใกล้เคียงกันว่า “เครื่องลาก เข็น หรือบรรทุกของหนัก รูปเตี้ย ๆ มีล้อ ราง หรือเลื่อน,แม่แรงชนิดหนึ่ง” (LONGDO Dict) และครึ่งบนเป็นบุษบก

.

“คนที่ฉุดนั้นไม่ใช่แต่เฉพาะชายฉกรรจ์ ทั้งคนชรา เด็ก และผู้หญิงก็ช่วยกันฉุดด้วยเพื่อเอาบุญ

บรรยากาศของการ “เอาบุญ” ร่วมกัน เห็นความคึกคักคึกครื้น เกลียวเชือกกลายเป็นพื้นที่ทางสังคมที่ใช้ “บุญ” เป็นเครื่องทลายเส้นแบ่งด้านเพศสภาพโดยสมบูรณ์

.

“เดิมพระองค์นี้ฝังอยู่ในกลางทุ่ง มีผู้ไปขุดพบเข้า จึงเอาไปประดิษฐานไว้ที่วัดนอกเมือง

.

ตำนานพระลาก

วรรคนี้อาจเป็นวรรคทองที่ทำให้เห็นว่าตำนานพระลากมีการใช้โครงเรื่องที่ใกล้เคียงกัน คือเริ่มที่เป็นของสำคัญสมบัติของชนชั้นสูงแล้วมีเหตุให้อันตราธาน จนไปพบในพื้นถิ่นใดพื้นถิ่นหนึ่ง บ้างก็ว่าผุดขึ้นกลางท้องไร่ท้องนา บ้างก็ว่าลอยน้ำ จากนั้นมีพิธีกรรมของคนพื้นถิ่นนั้นเพื่อเชิญขึ้นประดิษฐาน ณ ที่อันควร แล้วถวายพระนามให้กับพระพุทธรูป ลางองค์เป็นสตรีนาม ในขณะที่ลางองค์เป็นบุรุษนาม

.

อย่างที่ได้จั่วหัวไว้แต่ต้นจากข้อสังเกตเรื่องรอยทั้งสามแล้ว ถ้าลองคลี่โครงเรื่องตำนานพระลากออกดู เราจะเห็นมือของคนพื้นถิ่นที่พยายามเข้ามากระชับความหมาย ด้วยวิธีการนิยามความหมายของรูปสัญญะขึ้นใหม่ ซึ่งแต่เดิม  “พระพุทธรูป” หมายถึง “พระพุทธเจ้า” แต่เมื่อผ่านพิธีกรรมตั้งแต่การเชิญขึ้น บางแห่งว่ามีทำขวัญ แล้วถวายนาม พระพุทธรูปนั้นก็จะหมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพื้นถิ่นนั้นๆ ไปทันที ส่วนข้อที่ว่าลางองค์เป็นสตรีนามนั้น ก็อาจตอบอย่างเร็วและลวกไว้ว่าคงขึ้นอยู่กับการเคารพนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของแต่ละถิ่นไป หรือจะใช้แนวคิดเรื่องคติผู้หญิงเป็นใหญ่และเคยเป็นหัวหน้าผู้ประกอบพิธีกรรมก็ยังไม่ขัด เพราะส่วนตัวยังไม่ได้ศึกษาอย่างลึกซึ้งจริงจังมากพอ

.

สิ่งที่เห็นต่อหลังจากการถวายนาม คือธรรมเนียมเรื่อง “คู่” ของพระลาก ทั้งคู่ขวัญและคู่พี่น้อง ที่ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่กันในลักษณะใดก็คงสื่อแสดงเครือข่ายความสัมพันธ์ในระดับพื้นที่ ส่วนจะเกี่ยวดองกันในรูปแบบอย่างหัวเกลอ คู่การค้า หรือเครือญาติ อันนี้อาจต้องลองเจาะกรณีศึกษาเป็นแห่ง ๆ ไป

.

ประเด็นสุดท้ายคือวันที่ที่ลงไว้ว่าตรงกับ “วันอังคาร ที่ ๒๕ พฤษภาคม ร.ศ.๑๒๘” ลองเปิดปฏิทินร้อยปีแล้วไปตกเอาเดือนเจ็ด ซึ่งไม่ใช่ทั้งเดือนสิบเอ็ด เดือนห้า หรือเดือนสิบสอง ส่วนตัวคิดว่าประเด็นนี้น่าสนใจมาก เพราะสาระสำคัญของชักพระก็คือการ “ชักพระ” แต่ดูเหมือนว่าชักพระที่เรารับรู้และเข้าใจกันเดี๋ยวนี้ จะเป็นชักพระที่ผ่านกระบวนการ “เลือก” ซึ่งหมายความว่าอีกหลายชักพระถูก “ตีตก” และทำให้กลายเป็นชักพระของคนเล็กคนน้อย หากจะลองย้อนกลับไปมองประเด็นการถวายนามอย่างสามัญให้กับพระพุทธรูปและตำนานพระลาก เป็นไปได้หรือไม่ที่วิธีการนี้ จะถูกใช้เป็นกลยุทธ์ของคนพื้นถิ่นในการสร้างตัวตนและแย่งชิงเอาความหมายของชักพระกลับมาสู่คนพื้นเมืองเดิม ในท่ามกลางการขับเน้นด้วยฉากจำลองเสด็จดาวดึงส์เพื่อยื้อหมุดเวลาไว้ที่แรมค่ำหนึ่งเดือนสิบเอ็ดของพระพุทธศาสนาที่มาใหม่ฯ

 

ปล. บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งและผลจากการประมวลความคิดหลังจากการเสวนาออนไลน์เรื่อง “ประเพณีชักพระ” เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ ที่ได้รับเชิญจากอาจารย์ธีรพันธุ์ จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จึงมีข้อจำกัดในการคิดและเขียนอยู่มาก และหากธุระเรื่องวิทยานิพนธ์ทุเลาลง คงได้เวลาค้นและเรียบเรียงใหม่อย่างตั้งใจฯ