Skip to content

ประวัติวัดหน้าพระลาน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ประวัติวัดหน้าพระลาน
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

หน้าพระลาน

“หน้าพระลาน” ภูมินามนี้ สอดคล้องกับผังเมืองโบราณ ที่เมืองสำคัญย่อมมี “พระลาน” ไว้สำหรับประกอบพระราชพิธี แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเมืองโบราณอื่นในภาคกลาง ได้แก่ กรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ กลับพบว่า นครศรีธรรมราชมีตำแหน่งแห่งที่ของพระลานในทิศตรงกันข้าม กล่าวคือ หน้าพระลานของกรุงเทพฯ ปัจจุบันคือถนนหน้าพระลาน ด้านทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกันกับอยุธยา ที่มีวัดหน้าพระเมรุราชิการามวรวิหารเป็นอนุสรณ์ของรอยพระราชพิธี ก็มีตำแหน่งอยู่ทางทิศนี้ ในขณะที่หน้าพระลานของนครศรีธรรมราชกลับอยู่ทางทิศใต้ของเมือง

.

ประเด็นนี้ อาจนำไปสู่ข้อสังเกตได้ ๒ ประการคือ ประการแรก หากอ้างอิงตามหลักการที่หน้าพระลานควรอยู่ทางทิศเหนือ หน้าพระลานของนครศรีธรรมราช จึงไม่ใช่หน้าพระลานที่เป็นของเมืองในยุคกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีกำแพงล้อมเอาพระบรมธาตุเจดีย์เอาไว้ภายในเมือง แต่ควรเป็นของเมืองโบราณพระเวียง ที่อยู่ทางทิศใต้ลงไป ประการต่อมา หากอ้างอิงตามคติทิศสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่ว่าทิศใต้เป็นทิศแสดงปฐมเทศนา ข้อนี้สอดคล้องกับตำแหน่งของธรรมมาสน์ด้านทิศใต้ในพระวิหารทับเกษตร อันเป็นจุดรวมศูนย์ของเหล่าภาพจิตรกรรมคอเสา ที่ต่างกระทำอัญชลีหันหน้าไปสู่ คล้ายกับการจำลองฉากพระบรมศาสดาประทับนั่งใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ทักษิณสาขา แล้วเหล่าพุทธสาวกมาประชุมพร้อมกันที่ลานเบื้องหน้าพระพุทธองค์ หากเป็นไปตามข้อนี้ ก็จะเป็น “หน้าพระลาน” ได้ เหตุและปัจจัยดังกล่าวจึงอาจแสดงลักษณะเฉพาะของเมืองนครศรีธรรมราช

.

วัดหน้าพระลาน

วัดหน้าพระลาน สร้างขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช ๑๘๐๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี ๒๔๙๓ เดิมเป็นวัดสำหรับพระราชาคณะที่ “พระสังฆราชาลังการาม” มีหน้าที่ดูแลรักษาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ทางทิศใต้ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีวัดในการปกครอง ๙๐ วัด เจ้าคณะแขวงขึ้นตรง ๗ แขวง

.

แต่เดิมเนื่องจากวัดพระมหาธาตุฯ เป็นเขตพุทธาวาสไม่มีพระสงฆ์ เพิ่งเริ่มมีการปลูกกุฎีในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เมื่อทรงนิมนต์พระครูวินัยธร (นุ่น) จากวัดเพชรจริกมาปกครองวัดพระมหาธาตุฯ วัดหน้าพระลานจึงเป็นวัดสำหรับคณะสงฆ์จะได้พำนักเพื่อรักษาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ทำให้เป็นเสมือนเป็นแหล่งตักศิลาเพราะเป็นที่อันรวมพระภิกษุสงฆ์ผู้มีความรู้ความสามารถในเชิงช่างต่าง ๆ อาทิ ช่างหล่อ, ช่างปั้น, ช่างเขียน, ช่างไม้ แม้กระทั้งช่างทำเรือ จำพรรษาอยู่เป็นอันมาก

.

มีเกร็ดเรื่องเล่าในหมู่ชาวนครศรีธรรมราชว่า ครั้นถึงฤดูลมว่าว ราวเดือนสามเดือนสี่ ช่วงนั้นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะหอบเอาความหนาวเย็นมาจากไซบีเรียและจีนแผ่ลงมา ลมบนแรงเหมาะแก่การเล่นว่าวจนเป็นชื่อเรียกลมท้องถิ่น สมัยก่อนมีคนเล่นว่าวกันทั่วไปแม้พระทั่งพระสงฆ์ โดยเฉพาะวัดหน้าพระลาน มีชื่อเสียงในการทำว่าวมาก จนครั้งหนึ่ง สายป่านพานไปถูกยอดพระบรมธาตุเจดีย์เข้าทำให้เอียงมากระทั่งทุกวันนี้

.

ดูเหมือนว่าคณะสงฆ์วัดหน้าพระลานแต่ก่อน จะมีบทบาทอย่างมากในเมืองนครศรีธรรมราช ความตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้ในพระราชพิธี ๑๒ เดือน เกี่ยวกับการสวดภาณวารและภาณยักษ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “…ข้าพเจ้าไปเมืองนครศรีธรรมราชคราวนี้ก็ได้ลองให้พระสงฆ์ที่วัดหน้าพระลานสวดภาณวารและภาณยักษ์ฟังดู ทํานองภาณวารมีเสียงเม็ดพราย ทํานองครุคระมากขึ้นกว่าทํานองภาณวารในกรุงเทพฯ นี้มาก นโมขึ้นคล้ายๆ ภาณยักษ์ แต่ภาณยักษ์เองนั้นสู้ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ที่กรุงเทพฯ เอามาตกแต่งเพิ่มเติมเล่นสนุกสนานกว่ามาก แต่คงยังได้เค้าคล้ายๆ กันทั้งสองอย่าง…”

.

นอกจากนี้ ความในความในตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ ก็ระบุเค้ารอยบางประการไว้เป็นสำคัญว่า “พระตำราพระราชพิธีสำหรับเมืองนครฯ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชา วัดหน้าพระลานเมืองนครฯ คัดส่งเข้ามาถวายพระสังฆราช วัดบางหว้าใหญ่”

.

บ่อน้ำศักสิทธิ์ วัดหน้าพระลาน

วัดหน้าพระลาน เป็นวัดเดียวที่ตั้งอยู่ปละหัวนอนหรือทิศใต้ขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดปากประตูชัยสิทธิ์ เข้าใจว่าแต่โบราณนั้น ปากประตูทางเข้า – ออกหลักของเมืองนครศรีธรรมราช จะมีวัดที่มีแหล่งน้ำสำคัญไว้ทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมและดื่มกินสำหรับเหล่าทแกล้วทหาร โดยที่ประตูชัยศักดิ์ด้านทิศเหนือเป็นทางออกมีบ่อน้ำวัดเสมาชัย ดังกวีประพันธ์กลอนไว้ความว่า “ดื่มกินครั้งใด มีชัยอำนาจ” ถือเป็นฤกษ์เป็นชัยและขวัญกำลังใจ ส่วนเมื่อกลับจากการศึกก็เข้าเมืองทางประตูชัยสิทธิ์แล้วต้องดื่มกินน้ำจากบ่อน้ำวัดหน้าพระลานเสียเพื่อแก้กฤติยาซึ่งถูกฝังเป็นอารรพ์กำกับไว้กับประตู ด้วยการ “กลบบัตร” ด้วยน้ำ จะเรียก “กลบบัตรรดน้ำ” เพื่อให้เข้ากันกับ “กลบบัตรสุมไฟ” ด้วยหรือไม่อย่างไรไม่ทราบ

.

แต่โบราณนั้นปรากฏว่ามี “พระราชพิธีนครถาน” ที่ว่าด้วยเมื่อพราหมณาจารย์ลงยันต์ถมเวทย์อาถรรพ์แผ่นเงิน แผ่นทองแดง แผ่นศิลา ตุ๊กตารูปราชสีห์ ช้าง และเต่า ตั้งศาลบูชาเทวดาตามลัทธิ เจริญพระเวทย์ครบพิธีฝ่ายพราหมณ์แล้ว ฝ่ายพุทธจะต้องเชิญเครื่องอาถรรพ์เหล่านี้เข้าสู่ปริมณฑลในโรงพิธี ให้สงฆ์ผู้ใหญ่นั่งปรกและเจริญพระพุทธมนต์ถึงสามวันสามคืน รุ่งขึ้นวันที่สี่ ซึ่งเป็นวันกำหนดฤกษ์จึงเชิญเครื่องอาถรรพ์ลงหลุมตั้งเสาประตู พราหมณ์ร่ายเวทย์ สงฆ์สวดมหาชัยปริตร ประโคมปี่พาทย์ ฆ้องชัย แตรสังข์ โห่ร้องยิงปืนเป็นฤกษ์ พร้อมกันนั้นพระสงฆ์จะเชิญน้ำพระพุทธมนต์ และทรายซึ่งนำเข้าปริมณฑลเจริญพระเวทย์และสวดพระปริตรพร้อมกับแผ่นอาถรรพ์และตุ๊กตาโปรยปรายไปตามแนวที่จะสร้างกำแพงเมืองโดยรอบทั้งสี่ทิศแล้วขุดวางรากสร้างกำแพงเมืองแล้ววางเสาประตู ข้างฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชก็มีพิธีที่เนื่องด้วยการโปรย “เงินเล็กปิดตรานะโม” และพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบขอบเขตพระนครในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชซึ่งน่าจะเข้าเค้า

.

ประตูชัยเมืองนครศรีธรรมราช มีมุขปาถะว่าอาถรรพ์ประตูเมืองนครศรีธรรมราชนั้น นอกจากฝังอยู่ตรงเสาสองข้างและใต้ธรณีประตูเป็นแนวยาวแล้วยังฝังไว้เหนือประตูด้วย คนเฒ่าคนแก่ยืนยันว่าอาถรรพ์ประตูชัยเมืองนครศรีธรรมราชนั้น แม้ใครจะเรืองฤทธิ์ขมังเวทย์อยู่ยงคงกระพันอย่างไร ถ้าลอดผ่านประตูนี้แล้ว ก็เป็นอันสิ้นเวทย์เสื่อมฤทธิ์ทันที ไม่เว้นแม้แต่คนเมืองนครศรีธรรมราชเอง แต่ก็มีของแก้ นั่นคือน้ำบ่อวัดหน้าพระลานนี้ คนเมืองนครศรีธรรมราชสมัยโบราณจะมีน้ำจากบ่อวัดหน้าพระลานติดตัวสำหรับล้างหน้าสระเกล้าแก้อาถรรพ์ติดตัวอยู่เสมอ

.

ความศักดิ์สิทธิ์ของบ่อน้ำวัดหน้าพระลานหาได้รู้จักกันแต่ในหมู่ชาวบ้านเมืองนครศรีธรรมราชแห่งเดียวไม่ ยังถูกเล่าเป็นที่เชื่อถือของชาวต่างบ้านต่างเมืองด้วย ปรากฏว่าเมื่อมาเยือนเมืองนครศรีธรรมราชก็ต้องเอาน้ำบ่อวัดหน้าพระลานติดตัวกลับเสมอ ผู้ที่ไม่มีโอกาสมาก็ไหว้วานให้นำไปเป็นของฝาก เพราะนอกจากเรื่องการแก้อาถรรพ์แล้ว บ่อน้ำวัดหน้าพระลานนี้ เชื่อสืบกันมาว่าหากใครได้ดื่มกินจะมีปัญญาเฉียบแหลม มีบุญวาสนาสูง และมีโอกาสได้เป็นขุนน้ำขุนนาง แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๗ (๑๑ กันยายน ๒๔๓๑) ในสมัยเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช (หนูพร้อม) เป็นเจ้าเมือง พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดหน้าพระลาน ทรงใช้หมาจากเป็นภาชนะสำหรับตักน้ำมาเสวยด้วยพระองค์เอง แล้วทรงรับสั่งถามสมภารศรีจันทร์ เจ้าอาวาสวัดหน้าพระลานขณะนั้นว่า ศิษย์วัดหน้าพระลานเมื่อได้ดื่มกินน้ำในบ่อนี้แล้วจะได้เป็นใหญ่เป็นโตจริงหรือ สมภารฯ ได้ถวายพระพรตอบว่า ศิษย์วัดหน้าพระลาน ถ้าได้ดื่มน้ำในบ่อนี้แล้ว อย่างเลวก็สามารถที่จะคาดว่าวขึ้น

.

คำเปรียบเปรยเพื่อให้เห็นภาพที่ว่า แม้เด็กวัดอย่างเลวก็ “คาดว่าวขึ้น” นี้ การคาดว่าวคือการผูกสายซุงที่อกว่าว ซึ่งต้องใช้ความชำนาญส่วนบุคคล จัดว่าเป็นทักษะเฉพาะด้านที่ต้องผ่านการฝึกฝน ในที่นี้เด็กวัดอย่างเลว หมายถึงเด็กวัดทั่วไปที่ไม่สันทัดในเรื่องนี้ เมื่อได้กินน้ำในบ่อนี้แล้วก็สามารถที่จะทำได้ ทั้งนี้ก็มีข้อปฏิบัติเป็นเคล็ดคือต้องตักทางทิศอีสานของบ่อจึงจะถือว่าดีและได้ผล

.

เรื่องเล่า ขุนอาเทศคดี

มีเรื่องเล่ากันมาว่า ครั้งหนึ่ง เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช (หนูพร้อม) เคยสั่งให้ถมบ่อแล้วสร้างหอไตรทับไว้ เพราะเห็นว่าชาวบ้านไปอาบ – กินน้ำบ่อนี้กันมาก เกรงว่าจะมีผู้มีปัญญามีบุญวาสนาขึ้นจนเป็นภัยต่อการปกครอง เรื่องนี้ ขุนอาเทศคดี (กลอน มัลลิกะมาส) ได้กล่าวถึงในบทความเรื่อง “น้ำศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช” ในหนังสือจุฬาฯ นครศรีธรรมราช ๒๓ ตุลาคม ๒๕๑๔ ว่า “…เมื่อประมาณ ๕๐ กว่าปีมานี้ ข้าพเจ้าได้ไปดูหอไตรที่วัดหน้าพระลาน เห็นหอไตรที่ว่านั้นมีอยู่จริง อยู่ทางทิศอีสานของวัด แต่ชำรุดทรุดโทรมด้วยความเก่าแก่คร่ำคร่า คงมีแต่ฐานกับเสาอิฐปูนหักๆ ส่วนเรื่องที่เล่าลือกันไม่ปรากฏว่ามีใครเชื่อถือเป็นจริงเป็นจังนัก เพราะยังมีชาวบ้านชาวต่างเมืองไปอาบกินลูบตัวลูบหน้าประพรมศีรษะด้วยความนิยมนับถือกันอยู่ ครั้นเมื่อประมาณ ๓๐ ปีมานี้ พระครูการาม (ดี สุวณฺโณ) เจ้าอาวาส ได้ขุดรื้อฐานหอไตร ถามถึงการถมบ่อ ท่านบอกว่าท่านก็ได้ขุดค้นหาซากบ่อน้ำเพื่อพิสูจน์ความจริงกัน แต่ก็ไม่พบร่องรอยเลย ท่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องใส่ร้ายป้ายสีทับถมกันมากกว่า และบัดนี้ ท่านได้ก่อปากบ่อให้สูงขึ้น ทำกำแพงล้อม ถมพื้นคอนกรีตข้างๆ บ่อ บำรุงรักษาทำความสะอาดอย่างดีแล้ว บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้อยู่ทางทิศตะวันออกพระอุโบสถ…”

.

ที่เล่าลือกันไปนี้ มีข้อปลีกย่อยที่หนักเข้าถึงขั้นบ้างว่าเป็นพระประสงค์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่รับสั่งให้ถมก็มี อย่างที่ชาวนครศรีธรรมราชบางจำพวกพยายามทำหน้าที่เป็นศาลเตี้ย โยนความและตั้งแง่เป็นเรื่องซุบซิบโปรยไปประกอบรูปการณ์ของบ้านเมืองจนคล้ายกับว่าเป็นเรื่องจริงใส่ความผู้มีอำนาจเพื่อแสดงความชอบธรรมบางประการของตนในฐานะผู้เป็นเจ้าของพื้นที่อยู่เนืองๆ

.

น้ำบ่อหน้าพระลานนี้ ตรี อมาตยกุล ได้พรรณนาไว้ในบทความ “นครศรีธรรมราช”จากหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ ว่า “…เป็นบ่อที่ขุดมาช้านานแล้ว น้ำในบ่อนั้นใสสะอาด รับประทานดีมีรสจืดสนิท ชาวนครศรีธรรมราชพากันมาตักไปรับประทานกันเสมอ…” ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นหากแต่ลดวิถีของการบริโภคน้ำบ่อลงไปตามยุค ส่วนการอุปโภคก็ด้วยเหตุเดียวคือเพื่อความเป็นสิริมงคลแก้อาอรรพ์คุณไสยและเสริมปัญญาบารมี

.

มากไปกว่านั้นทั้งหมด บ่อนี้เป็นบ่อเดียวในทุกแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏประวัติว่า พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาเพื่อพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ด้วยพระองค์เอง จึงควรค่าแก่การจารึกไว้เป็นอนุสรณ์เป็นที่ยิ่ง

.

พระพุทธรูปสำริดประทับยืน ปางประทานอภัย

พระพุทธรูปยืนปางประธานอภัย ทรงเครื่อง เนื้อสำริด ศิลปะอยุธยา สูงรวมฐาน ๒๖๒ เซนติเมตร องค์พระและฐานสามารถถอดแยกออกจากกันได้ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๐๖ หน้าที่ ๗๒๙ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒ และบริเวณรอบขอบฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นฐานแปดเหลี่ยมมีจารึกอักษรไทย ภาษาไทยด้านละ ๒บรรทัดเว้นด้าน ๗ และ ๘ มีด้านละ ๑ บรรทัด การอ่านจารึกนี้จะต้องอ่านบรรทัดบนจะมีอักษรจารึกอยู่ ๖ ด้าน บรรทัดล่างมีอักษรจารึกอยู่ ๘ ด้านมีการจารึกเรียงตามลักษณะการอ่านดังนี้

 

ด้านที่ ๑ บรรทัดบน             พุทศกราชใด ๒๒๔๐ พระพรณสา

ด้านที่ ๒ บรรทัดที่บน           เสคสังยา ๓ เดือน ๕ วัน ณ วัน ๔+๙

ด้านที่ ๓ บรรทัดบน             คำ ฉลู นพศก ออกขุนทิพภักดีศีรสำพุด

ด้านที่ ๔ บรรทัดบน             มีไจโสมนัด………………………………………

ด้านที่ ๕ บรรทัดบน             …………………พระพุทธเจ้าไวไนสาศนาจวน

ด้านที่ ๖ บรรทัดบน             ๕๐๐๐ พระพรณสา เปน ๕๐๐ ชั่ง ทั้งถาน

ด้านที่ ๑ บรรทัดล่าง            นางคงจันเป็นช่าง และพระพุทธรูปอ่ง

ด้านที่ ๒ บรรทัดล่าง            นิง สูง ๕ ศอกเสด เปนดีบุก ๒๘๐ ชั่ง พระ

ด้านที่ ๓ บรรทัดล่าง            อรหัน ๒ รูป เปนดีบุก ๑๖๐ ชั่ง เทกบเปน

ด้านที่ ๔ บรรทัดล่าง            ดีบุก ๔๔๐ ชั่ง……………………………………….

ด้านที่ ๕ บรรทัดล่าง            ………………………………ไว้ด้วยกันเป็นดุจนี้

ด้านที่ ๖ บรรทัดล่าง            ไสชร ไวตราบเทานิภภาร แลแผ่บุนนี้ไปแดมา

ด้านที่ ๗ บรรทัดล่าง            ดาบิดาลูกหลานภรรญายาดิทั้งหลายให้

ด้านที่ ๘ บรรทัดล่าง            พ้นทุกเถิด

.

พระพุทธรูปสำริดประทับยืน ปางประทานอภัย (ห้ามญาติ)

พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย (ห้ามญาติ) เนื้อสำริด ศิลปะอยุธยา สูง ๑๘๒ เซนติเมตร กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๐๖ ตอนที่ ๑๖ หน้า ๗๒๙ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒

.

พระพุทธรูปสำริดประทับนั่ง

 ฐานพระพุทธรูปนั่ง เนื้อสำริด ลักษณะฐานสิงห์แบบย่อมุมไม้สิบสอง ซ้อนกันสองชุด ต่อด้วยท้องไม้ประดับลายกระจัง กึ่งกลางด้านหน้าฐานพระ มีผ้าทิพย์ทำเป็นชายผ้าซ้อนกันสองชั้น มีลายอย่างกากบาท อยู่กลาง และลายเฟื่องอุบะอยู่ใกล้ชายผ้า ด้านหน้ามีอักษรจารึกอยู่ ๑ แถว โดยจารึกไปตามลักษณะของพื้นที่เป็นฐานย่อมุม  ด้านหลังเป็นฐานโค้งอย่างพระพุทธรูปทั่วไปตอนบนมีจารึก ๕ บรรทัด ใต้ฐานนั้นเป็นลายพรรณ พฤกษา อักษรจารึกมีดังนี้

 

จารึกบริเวณด้านหน้า

          พุท ศักราช…หไ… ….แล้ว ใด้ ๒๒๕๓ พระพรร ณี สาจุล ศักราช…๑๐๗๒…กุน

 

จารึกบริเวณด้านหลัง

บรรทัดที่ ๑    คำ ปีขาน โทศก บาทเจาพระเชนเปนประทานโดยคชาปิฎก

บรรทัดที่ ๒    แลสำเมร็จผ่านปีชวด อนุโมทนา ทอง…ชั่ง แลนิมนบาดเจา

บรรทัดที่ ๓    พระพร แลบาทเจ้าจึงให้…เปนช่างสทำพระพุทปักติมากรเปนทอง

บรรทัดที่ ๔    ๒๒๐ ชั่ง เปนฃี้ผิง ๖๒๐ ชั่ง อุทิศไว้ในพระสาศนาตราบเทา ๕๐๐๐ พระ

บรรทัดที่ ๕    พรัมสาฃอใหสำเมร็จบุญตราบเท่านิพานเถิด

***ในส่วนของคำอธิบายเกี่ยวกับจารึกยังคงเป็นกระทู้สำคัญที่รอการค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป