ชาวนครโบราณ จัดการ “โรคระบาด” กันอย่างนี้

“…เสด็จออกไปตรวจราชการเมืองนครศรีธรรมราช…
ได้ทรงสืบสวนได้ความว่า ราษฎรแถวนั้น
เขามีธรรมเนียมป้องกันโรคติดต่อเช่นนี้มาเป็นอย่างหนึ่ง
คือถ้าบ้านใดเกิดไข้ทรพิศม์ก็ดี เกิดอหิวาตกะโรคก็ดี
เจ้าของบ้านปักเฉลวที่ประตูบ้าน
แลไม่ไปมาหาสู่ผู้หนึ่งผู้ใด
ส่วนเพื่อนบ้านเมื่อเห็นเฉลวแล้วก็ไม่ไปมาหาสู่จนกว่าโรคจะสงบ
ต่อเมื่อทำเช่นนี้ไม่มีผลแล้ว
ชาวบ้านจึงได้อพยพไปอยู่อื่นเสียชั่วคราว
เป็นธรรมเนียมมาอย่างนี้…”

รายงานประชุมเทศาภิบาล ร.ศ. ๑๓๑

จากวิธีปฏิบัติสู่ “ธรรมเนียม” ชาวนคร

ความตอนหนึ่งจากรายงานข้างต้น ทำให้ทราบ “ธรรมเนียม” ของชาวนครศรีธรรมราชว่า เจ้าบ้านต้องปัก “เฉลว” ไว้ที่ประตูบ้านประการหนึ่ง กับ “ไม่ไปมาหาสู่ผู้ใด” อีกหนึ่งประการ ทั้งสองเป็นวิธีปฏิบัติที่อาจได้ผลในยุคนั้น จึงถูกยอมรับและใช้เป็นธรรมเนียมสำหรับการจัดการสังคมทั้งในระดับปัจเจกและส่วนรวมท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค ซึ่งห้วงพุทธศักราช ๒๔๕๕ ในรายงานนั้น โรคที่เป็นที่รู้จักและมักแพร่ระบาดคือ “ไข้ทรพิษ” กับ “อหิวาตกโรค”

“…เจ้าของบ้าน
ปักเฉลวที่ประตูบ้าน…”

เฉลว อ่านว่า ฉะเหฺลว พจนานุกรมศัพท์แพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายว่า เฉลวเป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ทำด้วยตอกหรือหวายหักขัดกันเป็นมุม ตั้งแต่ ๓ มุมข้ึนไป แพทย์แผนไทยใช้เป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์สำหรับปักหม้อยา เพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ และป้องกันการละลาบล้วงเครื่องยาในหม้อ มักทำกัน ๔ แบบ คือ

เฉลว ๓ มุม หมายถึง ไตรสรณคมน์ (มะ-มหาปุริสะ, อะ-อะโลโก, อุ-อุตมปัญญา) 
เฉลว ๔ มุม หมายถึง ธาตุทั้ง ๔ (ปถวี อาโป วาโย และเตโช)
เฉลว ๕ มุม หมายถึง พระเจ้าห้าพระองค์ (นะโมพุทธายะ)
และเฉลว ๘ มุม หมายถึง ทิศแปด (อิติปิโสแปดทิศ – บูรพา อาคเณย์ ทักษิณ หรดี ประจิม พายัพ อุดร อีสาน)

นอกจากนี้ แต่โบราณยังใช้เฉลวหรือในบางท้องที่เรียก “ฉลิว” หรือ “ตาเหลว” ปักเป็นเครื่องหมายที่สิ่งของซึ่งจะขาย ปักบอกเขต หรือด่านเสียค่าขนอน จึงเป็นที่รู้กันว่าเฉลวคือสัญลักษณ์ในการสื่อความอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นกับบริบทของที่อยู่แห่งเฉลว เช่นว่า ถ้าอยู่ที่หม้อยา ก็หมายถึงยาหม้อนั้นปรุงสำเร็จแล้ว ห้ามมิให้ผู้ใดปรับแปลงอีกต่อไป กับทั้งเป็นเครื่องกันคุณไสยด้วยพุทธานุภาพตามพระคาถาที่แสดงอยู่ด้วยจำนวนแฉก และที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ เฉลว เป็นสัญลักษณ์บอกว่าในบ้านนั้นมีคนป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งที่กำลังรักษาและอาจแพร่ระบาดกับผู้ไปมาหาสู่

“…ไม่ไปมาหาสู่ผู้ใด…”

เมื่อเป็นที่เข้าใจร่วมกันแล้วถึง “สัญญะ” ของ “เฉลว” จึงอาจตีความได้ว่า “เฉลว” คือนวัตกรรมอย่างหนึ่งของคนในยุคโบราณ เพื่อแสดงเขตกักกันผู้ติดเชื้อ การไปมาหาสู่ซึ่งอาจทำให้เป็นเหตุของการติดเชื้อเพิ่มจึงเป็นข้อห้ามไว้ใน “ธรรมเนียม” เมื่อ “มาตรการทางสังคม” มีพื้นฐานบนความเชื่อทางไสยศาสตร์ แล้วเชื่อมโยงกับหลักคิดทางพระพุทธศาสนา สิ่งนี้อาจเป็นคำตอบของประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคระบาดในอดีตของชาวนครศรีธรรมราชได้อย่างดี

วันพระ สืบสกุลจินดา

๑๓ เมษายน ๒๕๖๔

กระเป๋ากระจูด งานหัตถกรรมเพิ่มมูลค่า เก๋ไก๋ทันสมัย ของดีเมืองนคร

“กระจูด” หรือ “จูด” เป็นเป็นพันธุ์ไม้จำพวก “กก” ลำต้นมีลักษณะกลม สีเขียวอ่อน สูงประมาณ 1-2 เมตร ออกดอกเป็นกระจุกแน่นคล้ายกับดอดกระเทียม เจริญเติบโตเป็นกลุ่มใหญ่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ หรือในระบบนิเวศพื้นที่ตามแนวชายฝั่ง ชอบขึ้นในพื้นที่ที่มีน้ำขังหรือป่าพรุที่มีน้ำขังตลอดปีที่ระดับความลึกประมาณ 1-2 เมตร แพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว มีถิ่นกำเนิดมาจากเกาะมาดากัสการ์ ลังกา สุมาตรา มอริเซียส หมู่เกาะต่างๆ ในแหลมมลายู ฮ่องกง บอร์เนียว รวมไปถึงทวีปออสเตรเลียฝั่งตะวันออก ส่วนในประเทศไทยพบได้แถบภาคตะวันออกและภาคใต้

กระเป๋ากระจูดจากหญ้าไร้ราคา เพิ่มมูลค่าด้วยหัถศาสตร์ภูมิปัญญาชาวบ้าน

การสานกระจูด เครดิตภาพ smartsme.co.th

ประเทศไทยพบกระจูดมากในพื้นที่ป่าพรุของตำบลเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งของกระจูดที่มีคุณภาพดี เหนียวและทนทาน ชาวบ้านมักจะนำกระจูดมาจักสานเป็นข้าวของเครื่องใช้ภายในครัวเรือน โดยใช้ภูมิปัญญาที่ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นของปู่ย่าตายาย ซึ่งชาวบ้านสานกันเป็นแทบทุกคนอยู่แล้ว งานสานที่นิยมทำกันมากก็คือ “เสื่อกระจูด” ที่เอาไว้ใช้สำหรับปูนอน และทำขายด้วยแต่กลับไม่มีตลาดรองรับ

ทว่าในปัจจุบันได้มีการพัฒนาต่อยอดดัดแปลงจนกลายมาเป็นกระเป๋ากระจูดสานแฟชั่น ที่มีดีไซน์สวยเก๋ และมีลวดลายต่างๆ หลายแบบให้เลือกมากขึ้น รวมทั้งมีหลายสีให้เลือกด้วยเพราะมีการนำกระจูดมาย้อมสีด้วยสีย้อมจากธรรมชาติ เหตุผลที่ชาวบ้านเลือกใช้สีย้อมจากธรรมชาติแทนที่จะใช้สีย้อมจากสารเคมีนั้นก็เพราะว่าการใช้สีย้อมจากสารเคมีจะส่งกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลร้ายต่อสุขภาพของชาวบ้านเองด้วย

นอกจากการสานกระจูดจะมีการพัฒนาในเรื่องของสีสันแล้ว ยังมีการพัฒนาในเรื่องของลวดลายที่สานอีกด้วย โดยการนำกระจูดที่ย้อมสีแล้วมาสานเพื่อทำให้เกิดลวดลายที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งลวดลายที่สานนั้นก็มีทั้งลายดั้งเดิม ได้แก่ ลายขัดหนึ่ง ลายขัดสอง และลายขัดสาม ซึ่งเป็นลายพื้นฐาน เมื่อสานลายพื้นฐานเหล่านี้จนชำนาญก็สามารถประยุกต์ไปเป็นลายขั้นสูงได้ เช่น ลายตอกคู่ ลายขัดตาหมากรุก ลายดอกพิกุล เป็นต้น

ลายขัดสอง หรือลายสอง เป็นลายที่นิยมมาสานเป็นลายของเสื่อมากที่สุด เพราะสานง่าย สร้างความแข็งแรงให้กับเสื่อ และสวยงามกว่า และยังสามารถดัดแปลงเป็นลายอื่นๆ  ได้อีกหลายลาย เช่น ลายลูกแก้ว ลายดาวล้อมเดือน ลายดาวกระจาย เป็นต้น

การสานกระจูด เครดิตภาพ kajood.com

ส่วนลายประยุกต์ หรือลายที่มีการพัฒนาเพื่อปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย และความต้องการของผู้บริโภคเพื่อทำการขยายตลาดเพิ่มนั้น ได้แก่ ลายตัวแอล ลายสก๊อต ลายฟันปลา ลายรองจาน เป็นต้น

ปัจจุบันนี้ชื่อเสียงของเครื่องจักสานกระจูดจากเมืองนครศรีธรรมราชเริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากขึ้นเนื่องจากเป็นแหล่งผลิตสินค้าจากต้นกระจูดแท้ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพราะต้นกระจูดเป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในท้องถิ่นและมีความชุกชุมมาก ทำให้หาได้ง่าย ไม่ต้องลงมือปลูกเองเลย ดังนั้นชาวบ้านจึงสามารถแปรรูปกระจูดตั้งแต่การเก็บกระจูดสดไปจนถึงขั้นตอนของการทำกระจูดสานโดยที่ยังใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมอยู่ได้ แค่ปรับจากการสานไว้ใช้งานเองในครัวเรือนมาเป็นการสานกระจูดในเชิงของธุรกิจแทน

ซึ่งนอกจากจะมีกระเป๋าสานกระจูดแล้ว ยังสามารถสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้มากยิ่งขึ้น เช่น พัด กระเป๋าสะพาย กระเป๋าถือ รองเท้าแตะ ที่ใส่โน้ตบุ้กหรือไอแพด หรือของตกแต่งบ้านต่างๆ เช่น ปลอกคลุมเก้าอี้ ที่รองแก้ว ที่รองจาน ที่ปูโต๊ะ เป็นต้น

และจุดเด่นของกระเป๋าสานจากกระจูดอยู่ที่ยิ่งใช้ก็ยิ่งทน และกระจูดยิ่งเก่าก็จะออกสีเหลืองทอง มีความเหนียว ทนทาน การเก็บรักษาก็ง่ายไม่ยุ่งยากเพียงแค่วางเก็บไว้ในที่ร่ม และถ้าเป็นไปได้ยิ่งใช้กระเป๋าได้บ่อยเท่าไหร่กระเป๋าก็จะยิ่งนิ่มขึ้นเท่านั้นอีกด้วย

กระเป๋ากระจูดหัตกรรมพื้นบ้าน ปรับตัวเฉิดฉายสร้างรายได้ออนไลน์เป็นกอบเป็นกำ

Live ขายกระเป๋ากระจูด เครดิตภาพ กระจูดไทย [Krajoodthai]

ปัจจุบันช่องทางในการจัดจำหน่ายก็มีมากมายหลากหลายช่องทางเพื่อให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อตามความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นช่องทางออฟไลน์ที่วางขายผ่านหน้าร้าน และที่ทำการไปรษณีย์ รวมไปถึงช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น Shopee, Facebook Page, Lazada, Instagram โดยเฉพาะการไลฟ์สดขายของได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เพราะสามารถสื่อสารโดยตรงกับลูกค้าได้ทันทีในขณะที่ทำการไลฟ์สด ทำให้การเปิดขายผ่านไลฟ์สดในแต่ละครั้งนั้นสามารถที่จะปิดการขายได้มากกว่า 100 ชิ้นเลยทีเดียว ส่งผลให้ในแต่ละเดือนมียอดจำหน่ายมากกว่าหนึ่งแสนบาทต่อเดือน และกลายเป็นช่องทางหลักในการกระจายสินค้าให้ส่งตรงถึงมือลูกค้าในช่วงที่โควิด-19 ระบาดด้วย

นอกจากจะจัดจำหน่ายในสถานที่ต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังส่งไปจำหน่ายแก่กลุ่มลูกค้าในจังหวัดเชียงใหม่ หนองคาย ภูเก็ต หน่วยงานต่างๆ เช่น โรงแรม รวมทั้งยังส่งออกไปยังประเทศจีนมาได้ 2-3 ปีแล้วด้วย ซึ่งรูปแบบผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดที่คนจีนนิยมคือ “กล่องตะกร้า” และ “กระเป๋าสาน” อีกทั้งลูกค้ายังมีทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา คนวัยทำงาน และข้าราชการ ซึ่งราคาของสินค้าก็เริ่มต้นที่ 100 บาทไปจนถึงราคาหลักพัน

ดังนั้นงานจักสานกระจูดจึงไม่ใช่แค่งานภูมิปัญญาที่ถูกถ่ายทอดมายังรุ่นต่อรุ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นงานหัตถกรรมที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป