หญ้าเข็ดมอน ที่มีมาพร้อมกับการตั้งดิน-ฟ้า ลายแทงลายใจในความทรงจำชาวโมคลาน

หญ้าเข็ดมอน
ที่มีมาพร้อมกับการตั้งดิน-ฟ้า
ลายแทงลายใจในความทรงจำชาวโมคลาน

 

เป็นเวลาสักระยะแล้ว ที่จ่อมจมอยู่กับปริศนาลายแทงโมคลาน ทวนสอบตัวเองดูอย่างจริงจังรู้สึกว่า ลึก ๆ ที่ย้ำคิดย้ำทำอยู่ตรงนั้น ก็เพราะอยากแก้ลายแทงเป็นเหตุหลัก แต่ด้วยความรับรู้เดิมที่ถูกกักขังไว้ว่า ลายแทงมักไม่มีใครแก้ได้ ส่วนที่แก้ๆ กันไปอย่างนั้นอย่างนี้ ก็หมิ่นเหม่ว่าจะคลาดเคลื่อนเลื่อนลอย พลอยให้ต่างคนต่างแก้ไปนานา ลายแทงจึงยังคงเป็นอาหารอร่อย ที่เว้นแต่ผู้ปรุงแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่ารสชาติแท้จริงเป็นอย่างไร

.

ลายแทงโมคลาน

ลองดู “ลายแทงโมคลาน”

ตามกันไปอีกครั้ง

 

“…ตั้งดินตั้งฟ้า

ตั้งหญ้าเข็ดมอน

โมคลานตั้งก่อน

เมืองนครตั้งหลัง

ข้างหน้าพระยัง

ข้างหลังพระภูมี

ต้นศรีมหาโพธิ์

ห้าโบสถ์หกวิหาร

เจ็ดทวาร

แปดเจดีย์…”

 

โมคลาน

ดูเหมือนว่าความในตอนท้ายจะคล้ายกับสารบัญนำชมศาสนสถานในข้างพุทธ อันประกอบด้วย พระศรีมหาโพธิ์ โบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ส่วนถ้าจะยึดเอาวรรคนำเรื่องก็คงชี้ลงว่า ศาสนสถานที่กำลังแทงลายลงไปนี้ คือ “โมคลาน” ที่เมื่อครั้งผูกลายแทง คงมีสถานะเป็น “วัด” ในพระพุทธศาสนาแล้ว ส่วนคำว่า “แล้ว” ซึ่งห้อยท้ายอยู่นั้น ก็เพราะว่า วรรคนำเรื่องอย่าง “ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอน” เป็นร่องรอยความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างโลกของพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ การมาแสดงเป็นข้อเท้าความอยู่ตรงนี้ จึงอาจเป็นไปได้ว่า ลายแทงกำลังแสดงความหลงเหลืออยู่ของคติพราหมณ์ในความทรงจำชาวโมคลาน ซึ่งทำให้เห็นว่า พราหมณ์คงเป็นเจ้าของเดิมอยู่ก่อน จากนั้นพุทธจึงค่อยเข้าใช้สอยพื้นที่เป็นลำดับ

.

การสร้างโลกมีในคัมภีร์พราหมณ์ กล่าวว่าเป็นเทวกิจของพระพรหม ประเด็นนี้ ดิเรก พรตตะเสน ให้รายละเอียดว่า

“…โลกของเรานี้ พระพรหมผู้เป็นใหญ่ของพราหมณ์เขาเป็นผู้สร้าง

แรกก็สร้างน้ำก่อน สร้างน้ำแล้วก็ตั้งดินตั้งฟ้า

ต่อจากนั้นจึงหว่านพืชลงในดิน พืชอันดับแรก

คือที่เราเรียกหญ้าเข็ดมอนนี้เอง

พืชอันที่สองคือหญ้าคา อันดับที่สามหญ้าแซมไซ…”

.

หญ้าเข็ดมอน

ดินและฟ้าจะยังไม่กล่าวถึงในที่นี้ จะขอชวนให้ใคร่ครวญกันเฉพาะสามหญ้าในฐานะพืชแรกบนโลกตามคติพราหมณ์ เล่าว่า “…เมื่อคราวเทวดากวนเกษียรสมุทร ให้เป็นน้ำทิพย์สำหรับเทวดาจำได้กินกันให้เป็น “อมร” นั้น พญาครุฑฉวยโอกาสโฉบเอาน้ำทิพย์บินหนี ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องออกขัดขวาง ขณะที่รบชิงน้ำทิพย์กันอุตลุตบนท้องฟ้านั้น กระออมใส่น้ำทิพย์กระฉอก น้ำทิพย์กระเซ็นตกลงมายังโลกมนุษย์ เผอิญให้ถูกเอาหญ้าเข็ดมอน หญ้าคา และหญ้าแซมไซ…”

.
เหตุนี้จึงทำให้ความอมฤตไปเป็นเครื่องทวีความศักดิ์สิทธิ์ให้กับหญ้าทั้งสาม จากที่เป็นหญ้าที่เกิดก่อนพืชทั้งปวงบนโลกแล้ว ยังมีความ “ไม่ตาย” เป็นคุณวิเศษอีกชั้น ที่แม้น้ำจะท่วมโลกหรือเกิดไฟบัลลัยกัลป์เผาผลาญล้างโลกก็ทำอะไรสามหญ้านี้ไม่ได้

.

หญ้าคา:

โบราณเอามาถักเข้าเป็นเส้น

วงรอบเรือนหรือปริมณฑลที่ต้องการเป็นมงคล

กันผี กันอุบาทว์ จัญไรได้ทุกชนิด

.

หญ้าแซมไซ:

ยังค้นไม่พบสรรพคุณเฉพาะ

แต่ “เข้ายา” รวมกับอีกสองหญ้าได้

ว่ากันว่าหากต้มใช้กินประจำ

จะทำให้อายุยืน คงกระพันชาตรี

.

หญ้าเข็ดมอน:

โบราณนิยมเอารากมาถักสำหรับผูกข้อมือเด็ก

กันผีแก้แม่ซื้อรังควาญ

ต้มกินก็จะสามารถแก้พิษร้อนได้

.
การมี “หญ้าเข็ดมอน” เป็นบทนำของลายแทง จึงถือเป็นภาพสะท้อนทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมของโมคลานได้อย่างหลวมๆ ว่า พื้นที่แห่งนี้แต่เดิมเป็นที่อยู่ที่อาศัยของบรรดาพราหมณ์ผู้มี “ภูมิ” ซึ่งนอกจากจะรู้พระคัมภีร์อยู่เฉพาะตนแล้ว อาจได้ถ่ายทอดสู่ศาสนิกโดยเฉพาะเนื้อหาที่ว่าด้วยการสร้างโลกและสรรพสิ่งของพระผู้เป็นเจ้า ที่เอาเข้าจริงก็มีการกล่าวถึงการกำเนิดโลกและมนุษย์อยู่ในทุกศาสนา ความหมายเกี่ยวกับการสร้างโลกของแต่ละศาสนาจึงถือเป็นปฏิบัติการทางวาทกรรมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะที่กระทำในดินแดนโมคลาน พื้นที่ซึ่งปัจจุบันมีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ในละแวกที่ปรากฏเทวลัยอันเนื่องในศาสนาพราหมณ์และครอบครองโดยวัดของพระพุทธศาสนา

.

บทกาดครูโนรา

ความจริงควรจะจบตรงนี้ แต่ด้วยว่าได้คัดเอาบทกาดครูโนราที่แสดงฉากสร้างโลกซึ่งมีการกล่าวถึงหญ้าเข็ดมอนมาด้วยแล้ว จึงขอส่งท้ายกับสิ่งที่ว่านั้น กับทั้งข้อสังเกตว่า “ผู้สร้าง” ในบทนี้เป็น “พระอิศวร” ต่างจากที่ร่ายมาข้างบน ซึ่งอาจทำให้เห็นว่า ไม่เฉพาะระหว่างศาสนาเท่านั้นที่มีปรากฏการณ์ของการช่วงชิงความหมาย แต่ภายในเองก็มีสิ่งละอันพันละน้อยที่แทรกซ่อนอยู่ไม่ต่างกัน กับที่ส่วนตัวเห็นว่าการผลิตซ้ำคติสร้างโลกของพราหมณ์ลงบนมรดกทางวัฒนธรรมของภาคใต้อย่างมีนัยยะสำคัญเช่นนี้ ควรค่ายิ่งแก่การค้นคว้าเพื่อสร้างชุดความรู้สู่สาธารณะ

.

ไหว้พระอิศวรพ่อทองเนื้อนิล

พ่อได้ตั้งแผ่นดินตั้งแผ่นฟ้า

พ่อตั้งแผ่นดินเท่าลูกหมากบ้า

ตั้งแผ่นฟ้าโตใหญ่เท่าใบบอน

พ่อตั้งสมุทรพ่อตั้งสายสินธุ์

ตั้งเขาคีรินทร์เขาอิสินธร

พ่อตั้งไว้สิ้นพ่อตั้งไว้เสร็จ

ตั้งหญ้าคาชุมเห็ดหญ้าเข็ดมอน

พ่อตั้งหญ้าคาเอาไว้ก่อน

หญ้าเข็ดมอนตั้งไว้เมื่อภายหลัง

พ่อได้ตั้งพฤกษาตั้งป่าชะมัว

พ่อได้ตั้งบัวนาบัวครั่ง

เข็ดมอนตั้งไว้เมื่อภายหลัง

ตั้งดวงอาทิตย์ดวงพระจันทร์

พระจันทร์เดินกลางเดินกลางคืน

พระอาทิตย์งามชื่นเดินกลางวัน

ตั้งดวงอาทิตย์ดวงพระจันทร์

สว่างฉันทั่วโลกชโลกา

พ่อได้ตั้งสิ้นตั้งสุด

ตั้งเหล่าชาวมนุษย์ไว้ใต้หล้า

พ่อตั้งหญิงคนชายคน

ให้เป็นพืดยืดผลต่อกันมา

พ่อตั้งนางเอื้อยให้เป็นเจ้าที่

พ่อตั้งนางอีเป็นเจ้านา

พ่อตั้งนายคงเป็นเจ้าดิน

พ่อตั้งนายอินเป็นเจ้าป่า

พ่อตั้งนายทองเป็นเจ้าแดน

ตั้งนายไกรพลแสนเฝ้ารักษาฯ

5 จุดเช็คอินสุดปัง @Street Art ท่าศาลา

ท่าศาลาและไอเทมใหม่ เเห่งการเช็คอิน นั่นก็คือ Street Art ท่าศาลา ถนนเเห่งศิลป์ ที่ผู้คนผ่านไปผ่านมาจะต้องไม่พลาดที่จะมาปักหมุดถ่ายรูปเช็คอินกัน โดยจะมีจุดที่เป็นแลนด์มาร์คในการถ่ายรูป ตามตรอกซอกซอยซอยต่างๆ ของ ถนนศรีท่าศาลา
แต่ละภาพนั้นก็คือ มีเอกลักษณ์ และได้แรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่นั่นเอง โดยศิลปิน 3 ท่านก็คือ คุณเจมส์ คุณนิ่มแห่งบ้านสีดิน พรหมคีรี และ คุณเชิด ศรีธรรมราช ค่ะ มีที่ไหนบ้างตามมาดูกันเลยค่ะ

จุดที่1 ปูม้า และเรือสำเภา

ปูม้า ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างหนึ่งของ อำเภอท่าศาลา แขกไปใครมาก หากไม่ได้มีโอกาสลงชิมรสชาติปูม้าสดๆ ถือว่าพลาดในการที่มาเที่ยว ท่าศาลา ด้วยเหตุนี้เอง ปูม้าจึงถูกนำมาสร้างเป็นงานศิลปะฝาผนัง Street Art เพื่อบ่งบอกถึงรูปแบบการทำอาชีพของชาวท่าศาลาในอดีตและปัจจุบัน


สำหรับเรือสำเภานั้น มีเรื่องเล่ากันมาว่า สมัยก่อนท่าศาลา เป็นเมืองท่าแห่งหนึ่งสำหรับการค้าขาย ด้วยท่าศาลาติดกับชายฝั่งทะเล มีปากแม่น้ำ ซึ่งเรือสำเภาจากประเทศจีนจะนำข้าวของเครื่องใช้มาค้าขาย รวมทั้งซื้อข้าวปลาอาหารกลับขึ้นลำเรือเพื่อไปขายต่อ
ทั้งสองภาพนี้เป็นจุดที่บอกเล่าวิถีชีวิต การทำอาชีพชาวเล และพ่อค้า ของชาวท่าศาลาได้เป็นอย่างดี นอกจากจะได้ถ่ายภาพเก๋ๆ แล้ว ท่านยังจะได้รับรู้ถึงเรื่องราวของชาวท่าศาลา

จุดที่2 ปลากุเลาและโกโก้และน้องควายบนผืนนา

สำหรับจุดนี้เป็นอีกหนึ่งใน Street Art ท่าศาลา ที่บอกเรื่องเล่าผ่านตัวการ์ตูน น้องไข่แลน เป็นชื่อเรียกแทนเด็กผู้ชายในภาคใต้ ที่ผู้วาดตั้งใจวาดเพื่อบ่งบอกตัวตนแทนจินตนาการของศิลปินผู้วาดที่นำเสนอความเป็นเมืองท่าศาลาผ่านภาพบนผนังแห่งนี้
มีนกกรงหัวจุกหรือมีอีกชื่อหนึ่งคือนกปรอดหางแดง เป็นนกที่คนใต้นิยมเลี้ยงฟังเสียงขันยามเช้าเรียกหาคู่ นอกจากนี้นกกรงหัวจุกยังนิยมเลี้ยงแข่งขันเสียงร้อง เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมพื้นบ้านชาวท่าศาลา ที่แทบทุกบ้านจะต้องมีกรงนกหัวจุกแขวนหน้าบ้าน นกตัวไหนเสียงดีชนะรางวัลมีค่าตัวค้าขายนกกรงหัวจกกันเรือนหมื่น เรือนแสน

กรงนกหัวจุกก็เป็นอีก 1 งานหัตกรรมพื้นบ้านที่ได้รับความนิยม ด้วยกรงที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะของบ้าน และตำแหน่งความสามารถของนก ตัวไหนร้องดีมีรางวัล กรงก็จะมีการประดับตกแต่งสวยงาม กรงนกจึงกลายเป็นสินค้าทำเงินอีกหนึ่งอย่างให้กับชาวท่าศาลา นอกจากขายในประเทศแล้วยังส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

สำหรับภาพโกโก้ ในพื้นที่ท่าศาลาได้มีการเพาะปลูกโกโก้สวนและโกโก้แห่งแรกในนครศรีธรรมราชอีกด้วย เนื่องด้วยโกโก้เป็นพืชท้องถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการนำโกโก้มาแปรรูปเป็นช็อคโกแลตซึ่งให้รสชาติที่อร่อยและแตกต่างเฉพาะของท่าศาลา มีหลายชุมชนนำโกโก้มาแปรรูป ตัวอย่างเช่น One More Thai craft ร้านชื่อดังเมืองนคร ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวนำโกโก้มาผลิตเป็นช็อคโกแลต รวมทั้งทำเป็นคราฟโซดา จนกลายเป็น Welcome Drink ที่มานครต้องได้ลองลิ้มชมรส
สำหรับน้องควายบนผืนนาแสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์ของสมัยก่อนที่บ่งบอกได้ว่า ในทะเลมีปลาในนามีข้าว ของพื้นที่ในอำเภอท่าศาลาที่ไม่ได้มีเพียงแค่ทะเลเท่านั้นค่ะ

จุดที่3 ปลาคู่ ปลากุเลาและปลาจวด

ทั้งปลากุเลาและปลาจวดถือได้ว่า เป็นสัตว์เศรษฐกิจของน่านน้ำอ่าวไทย ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทะเลในอำเภอท่าศาลา ลายที่ปรากฏในปลาก็สอดแทรกลายลูกปัดมโนราห์ที่มีความเอกลักษณ์และแสดงให้เห็นถึงความเป็นปักษ์ใต้ที่แท้จริง เป็นสิ่งที่แสดงออกให้เห็นว่าชาวภาคใต้ตลอดจนชาวนครศรีธรรมราชควรรักษาการแสดงมโนราห์ให้คงอยู่สืบไป

ดังนั้นการนำมาผสมผสานกันกับงานศิลปะบนผนังแห่งนี้ทำให้ดูทันสมัยและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
และด้วยความแปลกใหม่ของลายปลาทั้งสองและสีสันที่จี๊ดจ๊าดทำให้ผนังนี้ถ่ายภาพออกมาได้สวยสุดๆเลยค่ะ และเช็คอิน Street Artท่าศาลา เรียกยอดไลค์รัวๆค่ะ

จุดที่4 ปลาหมึกวาย หรือปลาหมึกยักษ์ กับม้าน้ำ

ภาพปลาหมึกยักษ์ หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่าปลาหมึกวาย และม้าน้ำที่บ่งบอกถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ว่าอำเภอท่าศาลาเป็นอำเภอที่ติดทะเล ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ โดยศิลปินผู้สร้างต้องการถ่ายทอดภาพออกมาบนผนังใน Street Art ท่าศาลา แผ่นนี้ให้แสดงถึงสัตว์น้ำ 2 ชนิดนี้กำลังลดน้อยจนเกือบสูญหายไป


ทำให้ผู้ที่พบเห็นได้ตระหนักและอนุรักษ์สัตว์ใต้ท้องทะเลอันสมบูรณ์ให้มีอยู่ต่อไป ด้วยความที่ศิลปินถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีศิลปะที่สวยงาม ถ่ายภาพได้เก๋ๆกับม้าน้ำพ่นสีและปลาหมึกสีสันละลานตาให้ลงเช็คอินแบบปังๆได้เลย

จุดที่5 ภาพกราฟิตี้ที่ถนนธุรการ

ในส่วนของภาพกราฟิตี้ส่วนนี้เป็นการออกแบบจินตนาการผ่านตัวการ์ตูนของศิลปินระดับแนวหน้า อย่างเช่น คุณป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล มาร่วมแต่งแต้มสีสัน ร่วมกับศิลปินผู้รักบ้านเกิดอย่างคุณหนุ่ม คนท่าศาลา ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นคาแรคเตอร์ ของศิลปินแต่ละท่าน โดยบอกเล่าเรื่องราวผ่านความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวท่าศาลาซึ่งเปรียบเสมือนว่าเป็น ทองคำที่มีมูลค่ามากมาย เป็นภาพน่ารักสดใส สีสันสะดุดตาชวนมองให้เห็นอยากถ่ายรูปและงานในส่วนนี้ได้รังสรรค์บนผนังที่มีความสูง 6 เมตรให้มีลูกเล่นต่างๆ มากมายทำให้จากผนังว่างเปล่ากลายเป็นผนังที่ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที
ทำให้ผู้ที่ผ่านไปผ่านมาเกิดความสนใจมากขึ้น ดึงดูดผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวในอำเภอท่าศาลาได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น สีสันที่กิ๊บเก๋ขนาดนี้ สร้างจุดสังเกตให้ Street Art ท่าศาลา เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

แรงบันดาลใจการสร้างงานศิลปะสวย ๆ แนวกราฟิตี้ และสร้างความเเปลกใหม่ให้กับคนในพื้นที่หรือระแวกใกล้เคียงได้เป็นอย่างมาก และเป็นจุดดึงดูดอีกหนึ่งจุดในท่าศาลาที่สามารถทำให้สถานที่แห่งนี้ไม่ได้เงียบเหงาอีกต่อไป นอกจากนี้ท่าศาลายังมี คาเฟ่ ร้านอาหารซีฟู้ด และชายหาดสงบๆให้ได้พักผ่อนหย่อนใจกันอีกด้วย
เพราะฉะนั้นหากผ่านมาเที่ยวนครศรีธรรมราช แนะนำให้แวะถ่ายรูปกันสักนิด ทานของอร่อยในท่าศาลาสักหน่อย และจะต้องไม่พลาดที่จะมาเช็คอิน @Street Art ท่าศาลา กันซักครั้งนะคะ

ข้อมูลติดต่อ

• ที่อยู่ : ถนนศรีท่าศาลา ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
• พิกัด : https://goo.gl/maps/4HDXwogQuP6JJGL57
• เปิดให้เข้าชม : สามารถเที่ยวชมได้ตลอดทั้งวัน
• โทร : ชมรมการท่องเที่ยว ท่าศาลา 09-4586-9519
• เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/Thasala-District