แม่ชีนมเหล็ก ตำนานท้องถิ่นโมคลาน

แม่ชีนมเหล็ก
ตำนานท้องถิ่นโมคลาน

 

ตำนานท้องถิ่น

ความสนุกของการได้ลงพื้นที่โมคลานอย่างหนึ่งคือ การได้ฟังเรื่องเล่าแบบไม่ซ้ำ แม้บางครั้งจะเป็นเรื่องเดียวกันแต่อนุภาคน้อยใหญ่ภายในกลับขยายบ้าง หดบ้าง ไปตามสิ่งแวดล้อมที่เรื่องเล่านั้น ๆ เข้าไปขออาศัย ความจริงอาจไม่ได้เป็นเฉพาะบ้านโมคลาน ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชนี้เท่านั้น แต่พื้นที่ใดที่เรื่องเล่าทำหน้าที่มากกว่าเรื่องที่ถูกเล่าแล้ว ก็เป็นอันจะได้เห็นอาการหดขยายที่ว่าไปตามกัน

.

ความจริงเคยได้ยิน “พระพวยนมเหล็ก” มาก่อน “แม่ชีนมเหล็ก” ตอนนั้นอาสาเป็นยุวมัคคุเทศก์อยู่ในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช จำได้ว่าเป็นเรื่องกระซิบที่ผู้ใหญ่ท่านห้ามหยิบมาเล่าด้วยสรุปความไว้ตรงนั้นว่า “เหลวไหล”

.

ก็ไม่ได้สนใจอะไรต่อ จนมาได้สัมภาษณ์ชาวโมคลานจึงถึงบางว๊าว (ถัดจากบางอ้อไปหลายบาง) ว่าเรื่องกระซิบที่ “ในพระ” มามีมั่นคงในดง “โมก” เล่ากันว่า

.

เศรษฐีจีนนายหนึ่งพร้อมบริวารพร้อมพรั่ง

ลงสำเภาใช้ใบแล่นเข้าปากน้ำ

แล้วล่องมาตามคลองปากพยิงถึงแผ่นดินโมคลาน

สมัยนั้นมีลำน้ำสัญจรได้สองสายหนึ่งคือคลองปากพยิงที่ว่ากับอีกหนึ่งคือคลองท่าสูง

.

เศรษฐีจีนขึ้นฝั่งมาพบรักกับนางพราหมณีนาม “สมศักดิ์” หากนามนี้เป็นชื่อตัวก็คงชี้ความเป็นคนมีฐานะอันพอจะสมเหตุสมผลให้สามารถร่วมวงศ์วานเป็นเมียผัวกับเศรษฐีนายนั้นได้ นางพราหมณ์สมศักดิ์เป็นคนในตระกูลไวศยะ ทำค้าขายมีตั้งลำเนาอยู่ในท้องที่มาช้านาน ลือกันในย่านว่ารูปงามหานางใดเปรียบ ด้วยผูกพันฉันคู่ชีวิตประกอบกับกิจของทั้งสองครัวไม่ต่างกัน เศรษฐีจีนผู้รอนแรมมาจึงปักหลักตั้งบ้านขึ้นที่นี่

.

ขณะนั้น พระพุทธคำเภียร หัวหน้าสมณะทูตจากลังกา กำลังบวชกุลบุตรสถาปนาคณะสงฆ์ลังกาวงศ์อยู่ที่เมืองเวียงสระ แล้วเผยแผ่พระธรรมต่อมายังโมคลานสถานซึ่งขณะนั้นร้างอยู่ บังเกิดให้เศรษฐีจีนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ประกาศจะบริจาคทรัพย์สร้างกุฎี โบสถ์ วิหาร และ ศาสนสถานอันควรแก่สงฆ์บริโภค กับมีใจจะบูรณะสิ่งปรักหักพังขึ้นให้งามตาอย่างแต่ก่อน

.
เหตุเกิดเมื่อนางพราหมณ์ไม่ยอม จะมีปากเสียงมากน้อยไม่ได้ยินเล่า แต่ผลคือเมื่อเศรษฐีจีนถูกขัดใจหนึ่งว่าเรือขวางน้ำที่กำลังเชี่ยว ก็ตัดสินใจทิ้งสมบัติพัสถาน ทั้งลูก เมีย บริวาร หนีลงสำเภาของสหายกลับไปเมืองจีนเสีย

.

นางเมียผู้อยู่ข้างหลัง ครั้นเป็นหม้ายผัวหนีก็สำนึกผิด โศกเศร้า ตรอมใจ หนึ่งว่ามิ่งไร้ขวัญ ชีวิตไร้วิญญาณ พร่ำเพ้อ ละเมอเหม่อลอย ลางทีก็หวีดร้องขึ้นปานว่าชีวิตจะแหลกสลาย นางเฝ้าคอยทางที่ผัวจากไปและคอยถ้าฟังข่าวผัวอยู่ปีแล้วปีเล่าก็ยังไม่กลับมา

.

นางอ้อนวอนเทพเจ้าทุกองค์บรรดามีในลัทธิของนาง เพื่อหวังให้ช่วยดลจิตดลใจผู้ผัวให้คืนสู่ครัวแต่ก็เปล่าประโยชน์ แม้จะตั้งบัตรพลีบวงสรวงประกอบเป็นพิธีอย่างยิ่งอย่างถูกต้องบริบูรณ์ ทุกอย่างก็ว่างเปล่าดั่งสายลม

.

ในท้ายที่สุด นางก็ทิ้งลัทธิเดิมปลงผมบวชเข้าเป็นชีพุทธ คงด้วยหวังว่าจะเอารสพระธรรมมาเป็นที่พึ่ง สมบัติทั้งสิ้นถูกจัดสรรปันแบ่งให้ลูกไปตามส่วน เหลือนั้นเอามาทำกุฎี โบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ตามอย่างเจตนาผัวแต่ก่อน

.
ใจหนึ่งก็หวังว่าแรงบุญจะหนุนส่งให้ได้ผัวกลับ ความอาลัยอาวรณ์ติดตามตัวนางเข้าไปเคล้าคลึงถึงในชีเพศ นางเฝ้าพะวงหลงคอยอยู่ชั่วนาตาปี จนจิตใจของนางวิปริตคลุ้มคลั่งเข้า จึงในที่สุด นางก็ผูกคอตาย

.

แม่ชีนมเหล็ก

สังขารของนางเมื่อเผา

ปรากฎเป็นอัศจรรย์ว่า

ส่วนอื่นไหม้เป็นจุลไปกับไฟ

เว้นแต่นมสองเต้าไฟที่ไม่ไหม้และกลับแข็งเป็นเหล็ก

.

แต่นั้น แม่ชีสมศักดิ์ก็ถูกเรียก “แม่ชีนมเหล็ก” และเรียกสืบมาจนทุกวันนี้

.

พระพวย

เล่าต่อว่า

ลูกและญาติพี่น้องของแม่ชีนมเหล็กได้หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง

บรรจุอัฐิและนมเหล็กทั้งสองเต้าเข้าไว้ในองค์พระ

พระพุทธรูปองค์นี้ อยู่ในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

คือองค์ที่เรียกว่า “พระพวย” สถิต ณ พระวิหารโพธิ์ลังกา

.

ความจริงเห็นอะไรหลายอย่างจากเรื่องนี้ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างโมคลานกับเมืองนครที่คลี่ปากคำมามากกว่าลายแทง “ตั้งดินตั้งฟ้า” ที่เคยเขียนไว้ครั้งก่อน การเป็นเมืองท่าสำคัญที่รับอารยธรรมจากทั้งจีนและอินเดีย โดยมีเศรษฐีจีนและนางพราหมณีในเรื่องเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ทั้งสองฟากฝั่ง อีกอันคงเป็น “นมเหล็ก” ที่เหลือจากการเผา ดูเหมือนว่าจะเคยได้ยิน “ตับเหล็ก” ในทำนองคล้ายกันด้วย เหตุที่เหลือ เชื่อกันว่าด้วยคุณวิเศษของผู้ตาย แต่ก็เหมือนจะมีผู้รู้ท่านลองอนุมานอยู่กลาย ๆ ว่าน่าจะได้แก่ก้อนเนื้อร้ายพวกมะเร็งด้วยเหมือนกัน

.

จาก “แม่ชีนมเหล็ก” ถึง “พระพวย”

ชีหนึ่งเดี๋ยวนี้มีรูปหล่อให้ได้ระลึกถึงตำนาน

ประดิษฐานไว้ในศาลาการเปรียญวัดโมคลาน ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่วนพระนั้น ปัจจุบันเป็นสรณะของผู้ไร้บุตรจะได้บนบานศาลกล่าวร้องขอ

ว่ากันว่าจะบันดาลให้ตามบุคลิกลักษณะในคำอธิษฐาน

.

จากนมเหล็กแม่ชี มาเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธรูป

แม้ว่า “ความจริง” คงเป็นสิ่งที่เค้นเอาได้ยากจาก “ความเชื่อ”

แต่ทุก “ความเชื่อ” ควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับการเคารพ

เพราะอย่างน้อยที่สุด เขาก็ต่างเชื่อกันว่ามันจริงฯ

 

คุณ ศิริกมล แก้วแสงอ่อน ส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์วัฒนธรรม นำรายได้สู่ชุมชน คนต้นแบบเมืองนคร

นครศรีธรรมราชมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากจะมาเยี่ยมเยือนสักครั้งหนึ่ง แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก สถานการณ์การท่องเที่ยวของนครศรีธรรมราชจะเป็นอย่างไร คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้เป็นผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจโรงแรม จะมาบอกเล่าเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของนครศรีธรรมราช คุณ ศิริกมล แก้วแสงอ่อน นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช กับการส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์วัฒนธรรม นำรายได้สู่ชุมชน

ความชื่นชอบภาษาอังกฤษ งานบริการ และจุดเริ่มต้นของธุรกิจโรงแรม

คุณศิริกมล เกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากคุณพ่อทำงานราชการทำให้ชีวิตวัยเด็กของคุณศิริกมลมีโอกาสได้เดินทางไปหลายจังหวัด ส่วนตัวชื่นชอบภาษาอังกฤษและงานบริการจึงตัดสินใจเรียนระดับปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจ ปริญญาโทด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมที่ประเทศอังกฤษ นอกเหนือจากงานในภาคปฏิบัติแล้ว ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานบริหารจัดการสำหรับผู้ประกอบการ การเรียนที่ประเทศอังกฤษทำให้คุณศิริกมลเจอเพื่อนจากหลากหลายประเทศ ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ

เริ่มงานแรกในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการแผนกขายและการตลาด จากนั้นย้ายไปทำงานที่โรงแรมดุสิตธานีนานถึง 12 ปี แม้จะชื่นชอบงานด้านการโรงแรม แต่เรื่องของระบบศึกษาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณศิริกมลให้ความสำคัญเช่นกัน และมีความใฝ่ฝันว่าอยากจะเปิดโรงเรียนที่มีรูปแบบการศึกษาเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เรียนรู้ผ่านการเล่น สามารถคิดอย่างเป็นระบบ กล้าที่จะแสดงออก เด็กๆ สามารถแสดงความคิดเห็น ซักถาม หรือมีข้อโต้แย้งในชั้นเรียนได้

คุณศิริกมลเล่าว่า การทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ เวลาที่มีการประชุมหรือพูดคุยถึงประเด็นอะไรก็ตาม ทุกคนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ แม้จะเห็นต่างแต่ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปร่วมกัน ช่วยให้การทำงานต่อจากนี้เป็นไปด้วยดี ซึ่งต่างจากรูปแบบการทำงานที่ทีมงานไม่กล้าแสดงความเห็นของตัวเองหรือไม่มีการเคลียร์อย่างชัดเจน

ในช่วงที่คุณพ่อของคุณศิริกมลใกล้เกษียณอายุราชการ ได้มีการพูดคุยกับทางครอบครัวว่าจะทำธุรกิจอะไรดี ธุรกิจโรงแรมกับธุรกิจโรงเรียนอินเตอร์คือสองทางเลือกที่อยู่ในความสนใจ เมื่อทำการสำรวจการตลาด (เมื่อ 14 ปีที่แล้ว) พบว่าธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ครบวงจรที่มีทั้งห้องพัก ห้องสัมมนา ห้องจัดเลี้ยงมีแค่ไม่กี่แห่ง ยังมีช่องวางทางตลาดค่อนข้างสูง ตอบโจทย์การลงทุนในระยะยาว ซึ่งการบริหารจัดการต้องเป็นไปตามบริบทของพื้นที่นั้น

คุณศิริกมลเล่าว่า หากนำเอาประสบการณ์การบริหารโรงแรมระดับ 5 ดาวมาใช้ทั้งหมดก็คงไม่เหมาะเท่าไหร่ อย่างการเทรนพนักงานก็เป็นเรื่องที่ต้องปรับและใช้เวลากันพอสมควร แม้เป็นโรงแรมเปิดใหม่ก็ใช่ว่าจะหาพนักงานง่าย ต้องทำให้พนักงานมีความรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี้

การทำธุรกิจโรงแรมที่นครศรีธรรมราช คุณศิริกมลให้เหตุผลว่า ส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างความเจริญให้กับจังหวัด ชื่อโรงแรมควรเป็นมงคลกับธุรกิจและเมืองที่อาศัย พยายามดึงอัตลักษณ์ของความเป็นนครศรีธรรมราช กลุ่มลูกค้าที่ตอบโจทย์คือ ลูกค้าที่เดินทางมาเข้าพักเพื่อสัมผัสประสบการณ์และกลิ่นอายของเมืองคอน ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเมื่อ 14 ปีที่แล้วต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง การเข้าหาลูกค้าจะต้องเดินทางไปพบด้วยตัวเองเพื่อนำเสนอบริการและโปรโมชั่นจากทางโรงแรม ปัจจุบันลูกค้าสามารถเปรียบเทียบราคาที่พักผ่านทางเว็บไซต์ที่ให้บริการได้ ส่งผลให้การแข่งขันทางการตลาดของธุรกิจโรงแรมสูงขึ้น อย่างการออกบูธตามงานท่องเที่ยวต่างๆ ราคาที่นำเสนอในงานต้องเป็นราคาที่ถูกกว่า Walk in

บทบาทของนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช กับการส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์วัฒนธรรม นำรายได้สู่ชุมชน

ในช่วงที่คุณศิริกมลเป็นเลขาธิการสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในส่วนของผู้ประกอบการภาคีเครือข่ายท่องเที่ยวมีการช่วยคิดช่วยทำ ร่วมงานกับทางเทศบาล ออกแบบการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์กับนักท่องเที่ยวในกรณีที่มาเยือนนครศรีธรรมราชภาคธุรกิจโรงแรมจะเป็นในส่วนของห้องพักงานและงานจัดเลี้ยง ภาคการท่องเที่ยวชุมชนจะมุ่งไปที่การท่องเที่ยวในท้องถิ่น ไม่มีส่วนกลางเข้ามาช่วยประสานงาน บางครั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นนั้นอาจไม่เป็นที่ต้องการสำหรับนักท่องเที่ยวก็ได้ หรือมีรายละเอียดบางอย่างที่อาจลืมนึกถึง เพราะนักท่องเที่ยวแต่ละชาตินั้นมีอุปนิสัยต่างกัน ทางคุณศิริกมลและทีมงานได้เข้าไปช่วยเหลือในส่วนของการท่องเที่ยวชุมชนให้กับชาวบ้าน เช่น การจัดกิจกรรม ออกแบบแพคเกจการท่องเที่ยว และส่งเสริมสินค้าท้องถิ่น สามารถวัดผลได้จากตัวเลขของยอดขายสินค้าที่ระลึก บ่อยครั้งที่ลูกค้าเห็นแค่สินค้าแต่ไม่ซื้อ ควรจะต้องแสดงให้เห็นถึงกระบวนการผลิต บอกเล่าที่มาที่ไปของสินค้าชิ้นนั้น เมื่อลูกค้าเข้าใจในเรื่องราวและเห็นถึงคุณค่า ทำให้ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น

คุณศิริกมลให้ความเห็นว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวของนครศรีธรรมราชจากอดีตถึงปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับว่าในช่วงเวลานั้นอะไรคือสิ่งที่กำลังอยู่ในความสนใจ อย่างช่วงที่กระแสของ “จตุคามรามเทพ” เคยโด่งดัง ส่งผลให้ระยะเวลาในการเข้าพักของนักท่องเที่ยวนานขึ้น แต่พอมาถึงช่วง “ไอ้ไข่ วัดเจดีย์” กลายเป็นว่าคนแวะมาไหว้แล้วเดินทางกลับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจที่มาบนขอพรไว้ ไม่มีเหตุที่จะต้องพักค้างคืน เมื่อความต้องการของนักท่องเที่ยวเป็นเช่นนี้ จึงไม่สามารถที่จะขายโปรแกรมเพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวอยู่นานกว่าเดิมได้ ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และบริษัททัวร์ ก็ต้องมาช่วยกันออกแบบว่าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวพักค้างคืนและเที่ยวชมสถานที่อื่นๆ ภายในจังหวัด

จากโครงการงานวิจัยของทางมหาวิทยาลัยที่คุณศิริกมลเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการสร้างชิ้นงานต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของนครศรีธรรมราช อย่างเครื่องถมก็ต้องเป็นคนที่ตั้งใจจริงถึงจะเดินทางไปชม เมื่อปรึกษากับทาง DMC (Destination Management Company ) เมืองท่องเที่ยว และเอเจนซี่ก็ได้ให้ไอเดียเกี่ยวกับการทำ Work shop เช่น ภายในเวลา 1 ชม. นักท่องเที่ยวสามารถจะทำอะไรได้บ้าง ขณะเดียวกันเป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชน

ความพร้อมของนครศรีธรรมราชกับการเป็น MICE City

MICE City ไมซ์ซิตี้ คือ เมืองแห่งการจัดประชุมและนิทรรศนาการ ไมซ์ (MICE) ย่อมาจากคำว่า Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions (หรือบางครั้ง C หมายถึง Conferencing และ E หมายถึง Events) ซึ่งมีกรอบในการประเมินมาตรฐาน 8 ด้าน คุณศิริกมลให้ความเห็นว่า ในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรม การขอเข้าประเมินไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก แต่ต้องดูบริบทของภาคีเครือข่ายร่วมด้วย ซึ่งต้องเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะกลุ่มของไมซ์ส่วนใหญ่เป็นระดับผู้บริหาร โปรแกรมการประชุมจะมีการท่องเที่ยวและกิจกรรมแทรกอยู่ด้วย ปัจจุบันบริษัททัวร์หลายที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น แต่เป็นการท่องเที่ยวชุมชนที่อาจไม่ตอบโจทย์กลุ่มตลาดไมซ์ อย่างในนครศรีธรรมราช อำเภอพรหมคีรีมีการทำในส่วนของไมซ์กับโจทย์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับเครือข่ายใกล้เคียง นำสินค้ามาแชร์กัน ด้านการออกแบบการท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องพาลูกค้าไปในทุกที่ แต่ต้องทำให้ลูกค้าอยากที่จะกลับมาเที่ยวอีกครั้ง

แม้ช่วงโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยว แต่การร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สามารถช่วยกันประคับประคองให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้  หลังจากนี้ต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน เชื่อว่าหลังผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไป นครศรีธรรมราชจะกลับมาคึกคักอีกครั้งอย่างแน่นอน

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ