คุณ จิรเดช เพ็งรัตน์ สืบสานมโนราห์ ดำรงคุณค่าศิลปเมืองนคร  คนต้นแบบเมืองนคร

โนรา หรือมโนราห์ มรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ศิลปะการแสดงที่มีมานานกว่าร้อยปี โดดเด่นด้วยท่วงท่าที่อ่อนช้อยแต่แฝงไปด้วยความแข็งแกร่ง กว่าที่จะเป็นโนราได้นั้นต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อให้การแสดงออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด คนต้นแบบเมืองนครที่ทางนครศรีสเตชั่นอยากแนะนำให้ทุกท่านรู้จัก เป็นผู้ก่อตั้งคณะโนราเยาวชนในนครศรีธรรมราช คนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับรางวัลการันตีความสามารถ มากมาย ศิลปินรางวัลพระราชทาน “เยาวชนแห่งชาติ” ประจำปี 2562 คุณ จิรเดช เพ็งรัตน์ กับบทบาทในการสืบสานมโนราห์ ดำรงคุณค่าศิลปเมืองนคร

พรสวรรค์ด้านการขับร้อง และความชื่นชอบที่มีต่อศิลปะการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้

ช่วงเวลาในวัยเด็ก บ่อยครั้งที่คุณแม่มักจะร้องเพลงลูกทุ่งให้ฟัง ทำให้คุณจิรเดชค่อยๆ ซึมซับและชื่นชอบในการร้องเพลง เมื่อแถวบ้านมีการจัดงานรื่นเริงต่างๆ มักจะได้รับโอกาสให้ร้องเพลงเป็นประจำ จนทำให้กลายเป็นคนที่กล้าแสดงออกตั้งแต่เด็ก เมื่อคุณตาเห็นพรสวรรค์ทางด้านนี้ก็อยากที่จะพาคุณจิรเดชไปฝากตัวกับคณะมโนราห์ที่รู้จักกัน ทั้งที่ในตอนนั้นคุณจิรเดชก็ไม่รู้ว่ามโนราห์คืออะไร

จนวันหนึ่งมีโอกาสได้ดูเทปการแสดงของคณะมโนราห์เพ็ญศรี ยอดระบำ ก็รู้สึกชื่นชอบการแสดงนั้นทันที จนต้องขอยืมเทปกลับมาดูที่บ้านซ้ำๆ หลายรอบ สามารถจดจำเนื้อร้องได้ขึ้นใจทั้งๆ ที่ตัวเองก็พูดภาษาใต้ไม่ได้ ช่วงที่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ขณะที่คุณจิรเดชกำลังร้องเพลงโนราห์ในคาบพักกลางวันของโรงเรียนอยู่นั้น

คุณครูที่ได้ยินจึงเดินตามหาเจ้าของเสียง และชักชวนให้คุณจิรเดชเข้าชมรมนาฏศิลป์ เมื่อทางโรงเรียนได้รับเชิญให้ไปร่วมงานที่จังหวัดกาญจนบุรี ชมรมนาฏศิลป์จึงทำการคัดตัวนักเรียนเพื่อเข้าร่วมการแสดง ในครั้งนั้นคุณจิรเดชไม่ได้รับการคัดเลือกเนื่องจากยังรำมโนราห์ไม่เป็น จึงได้เริ่มแกะท่ารำมโนราห์จากเทปการแสดงแล้วฝึกฝนด้วยตนเอง พร้อมทั้งฝึกรำกับทางชมรมนาฏศิลป์ที่ได้เชิญวิทยากรมาเป็นผู้ฝึกสอน และมีโอกาสได้ขึ้นเวทีร่วมกับเพื่อนๆ ในชมรม

ทักษะการร้องอันเป็นพรสวรรค์ของคุณจิรเดช จึงได้รับการชักชวนจากคณะมโนราห์ให้ไปทำการแสดงตามงานต่างๆ นอกเหนือจากการแสดงของทางโรงเรียน ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสพูดคุยทักทายกับโนราห์แม่เพ็ญศรี ศิลปินที่คุณจิรเดชชื่นชอบเป็นการส่วนตัวและยังเป็นญาติของตัวเองอีกด้วย

จนมาถึงโอกาสครั้งสำคัญที่สร้างความตื่นเต้นให้คุณจิรเดชอย่างมาก เมื่อรู้ว่ากำลังจะได้ทำการแสดงบนเวลาเดียวกันกับโนราห์แม่เพ็ญศรี บทกลอนที่ใช้ขับร้องในวันนั้นแน่นอนว่าเป็นของศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ

หลังจากนั้นไม่นานคุณจิรเดชก็ได้รับการทาบทามให้เข้าร่วมกับทางคณะมโนราห์เพ็ญศรี ซึ่งงานแรกที่ได้ร่วมแสดงจัดขึ้นที่จังหวัดสงขลา การที่ได้ดูการแสดงของแต่ละคณะบนเวทีทำให้คุณจิรเดชค่อยๆ ซึมซับบทกลอนทีละน้อย ความพิเศษของบทกลอนมโนราห์อยู่ตรงที่ภาษาถิ่นที่ใช้จะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

คุณจิรเดชเล่าว่า ช่วงแรกที่เข้าสู่วงการมโนราห์ ตนเองไม่ได้รับการยอมรำในเรื่องของการร่ายรำสักเท่าไหร่ คนส่วนใหญ่มักจะโฟกัสไปที่เสียงร้องมากกว่า เรียกได้ว่าในตอนนั้นยังไม่มีต้นแบบในการรำ จนเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนต้น มีโอกาสได้เข้าฝากตัวเป็นศิษย์กับ “แม่สำเนา” ครูคนแรกที่ฝึกสอนการร่ายรำให้กับคุณจิรเดช ซึ่งการร่ายรำมโนราห์ไม่ใช่แค่ท่วงท่าที่ต้องตรงตามจังหวะเท่านั้น

แต่ต้องรำแบบมีจริตจะก้าน เพื่อให้แสดงออกมาได้อย่างสวยงาม จากนั้นได้แสดงคู่กับแม่สำเนาตามงานต่างๆ คุณจิรเดชให้ความเห็นว่าโนราห์พัทลุงและสงขลามีท่ารำที่งดงามอ่อนช้อย ส่วนโนราห์นครศรีธรรมราชจะเด่นทางด้านบทกลอน จากนั้นจึงเริ่มฝึกฝนการร่ายรำอย่างจริงจัง

สืบสานมโนราห์ ดำรงคุณค่าศิลปเมืองนคร

เมื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาสักระยะ คุณจิรเดชตัดสินใจตั้งคณะโนราเยาวชนในนครศรีธรรมราช (คณะโนรามอส ยอดระบำ) ซึ่งนักแสดง นักดนตรี เป็นเยาวชนทั้งหมด นอกจากการแสดงตามงานต่างๆ ที่ได้รับเชิญแล้ว คุณจิรเดชได้ใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงคนจำนวนมากในการเผยแพร่วัฒนธรรมการแสดงมโนราห์ อย่างการลงคลิปใน TiKTok และ Facebook  มีคนเข้ามาชมและคอมเม้นต์กันไม่น้อย

การชมมโนราห์ให้สนุกนั้น คุณจิรเดชแนะนำว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการรำมโนราห์ ท่วงท่าการร่ายรำจะผสมผสานระหว่างความอ่อนช้อยและความแข็งแรงทะมัดทะแมง ถือเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะการแสดงชนิดนี้ เครื่องดนตรีโนราห์ที่ให้จังหวะหนักแน่น โดยเฉพาะเสียงปี่ที่สามารถสะกดผู้ฟังได้อยู่หมัด ใช่ว่าคนใต้ทุกคนจะฟังมโนราห์กันรู้เรื่อง แต่อยากให้เปิดใจรับชมด้วยความเพลิดเพลิน ไม่ต่างกับการฟังเพลงของศิลปินต่างประเทศทั้งที่บางทีเราเองก็ไม่เข้าใจความหมายของเนื้อร้องด้วยซ้ำ แต่กลับชื่นชอบในท่วงทำนองและการแสดงได้แม้รับชมแค่ครั้งแรกเท่านั้น

คุณจิรเดชให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้คนดูมโนราห์กันน้อยลง จำนวนนักแสดงมีสัดส่วนมากกว่าผู้ชมเสียอีก จึงอยากให้ศิลปะการแสดงของภาคใต้อย่างมโนราห์เป็นที่รู้จักในภาคอื่นๆ เช่นกัน ปัจจุบันการแสดงมโนราห์มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย มีการสอดแทรกมุกตลกผ่านทางบทกลอน เพื่อเพิ่มความสนุกสนานให้แก่ผู้ชม ในแง่ของการแสดงโนราห์ในยุคนี้ผู้ชมสามารถเข้าใจได้ง่ายกว่าในอดีต ในส่วนของพิธีกรรมยังคงแบบฉบับดั้งเดิมไว้อยู่

ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรที่สังคมมีการรับวัฒนธรรมต่างชาติ ในขณะที่การแสดงพื้นบ้านบางอย่างได้รับความนิยมน้อยลงเรื่อยๆ จำนวนผู้สืบทอดก็ลดลงเช่นกัน คงเป็นเรื่องที่น่าเสียใจและน่าเสียดายอย่างมาก หากปล่อยให้ศิลปะการแสดงพื้นบ้านอย่างมโนราห์สูญหายไปจากวัฒนธรรมไทย เราทุกคนควรช่วยกันส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนี้ไว้ให้คงอยู่สืบทอดต่อไป

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

PEA​ บรรเทาภาระค่าไฟฟ้า​ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อย่างต่อเนื่อง และครอบคลุมผู้มีบัตรฯ ให้สามารถได้รับประโยชน์จากมาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาเป็นระยะเวลา 12 เดือน ตั้งแต่ค่าไฟฟ้าเดือนตุลาคม 2564 ถึงเดือนกันยายน 2565

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 315 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน (1 ครัวเรือนใช้ได้เพียง 1 สิทธิ) กรณีใช้เกินวงเงินที่กำหนด ผู้มีบัตรฯ เป็นผู้รับภาระค่าไฟฟ้าทั้งหมดและหากใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 เดือน ให้ใช้สิทธิค่าไฟฟ้าฟรีตามมาตรการที่มีอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับผู้ที่มีบัตรฯ และประสงค์จะขอรับสิทธิ สามารถลงทะเบียน ขอรับสิทธิได้ที่ สำนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA Shop PEA Mobile Shop Application PEA Smart Plus และ www.pea.co.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1129 PEA Contact Center ตลอด 24 ชั่วโมง (ผู้ที่เคยลงทะเบียนแล้ว ไม่ต้องลงทะเบียนอีก)

ข่าว : กองสื่อสารองค์กร ฝ่ายประชาสัมพันธ์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

สังเกตไหม ? ทำไมในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช น้ำไม่เคยท่วมถึง

สังเกตไหม ?

ทำไมในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช

น้ำไม่เคยท่วมถึง

 

ถ้าเว้นเสียจากอาการที่น้ำฝนปริมาณมาก ถูกถนน บ้านเรือน และอาคารสถานที่ขวางกั้นทางไหลตามธรรมชาติ กับปฏิกูลมูลฝอยดักร่องรูท่อจนทำให้ต้องเจิ่งนองรอการระบายตามระบบของมนุษย์แล้ว เราจะไม่เคยเห็นสภาพของพื้นที่ภายในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในสถานะน้ำท่วมเลย พื้นที่ที่ว่านี้ ในปัจจุบันมีแนวถนนศรีธรรมโศกด้านทิศตะวันออก ถนนศรีธรรมราชด้านทิศตะวันตก แนวกำแพงริมคลองหน้าเมืองด้านทิศเหนือ และซอยราชดำเนิน ๕๔ ต่อ ๗๕ ด้านทิศใต้ เป็นขอบเขต
.
เคยตั้งข้อสังเกตไว้ครั้งหนึ่งจากปัจจัยการเลือกภูมิสถานข้อสำคัญในการสร้างบ้านแปงเมือง คือเรื่องการจัดการน้ำ เพราะน้ำ เป็นตัวแปรที่สื่อแสดงถึงความมั่งคั่งด้านทรัพยากรธรรมชาติของบ้านเมือง อาจกล่าวได้ว่า ถ้าน้ำดี บ้านเมืองก็จะดี ประชากรก็อยู่ดีมีสุข ดังจะเห็นได้จากพงศาวดารโยนก เมื่อพญาเม็งรายเชิญพญาร่วงแห่งสุโขทัยกับพญางำเมืองแห่งพะเยามาช่วยหาที่ตั้งเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ก็ได้อาศัยศุภนิมิตชัยมงคลประการที่ ๕ (จากทั้งหมด ๗ ประการ) มาเป็นข้อพิจารณา ดังว่า “…อนึ่ง อยู่ที่นี่เห็นน้ำตกแต่เขาอุสุจบรรพต คือดอยสุเทพไหลลงมาเป็นลำน้ำ…เป็นชัยมงคลประการที่ ๕…” ส่วนเมืองสุโขทัยของพญาร่วงเองก็สร้างโดยศุภนิมิตชัยมงคลเช่นเดียวกันนี้ เพราะมีเขาหลวงเป็นแหล่งต้นน้ำใกล้ตัวเมือง เพียงแต่ทำสรีดภงค์กั้นระหว่างซอกเขา ก็ทำให้มีน้ำกินน้ำใช้บริบูรณ์ตลอดปี ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างเมืองทางภาคเหนือนั้นต้องอิงภูเขาเป็นภูมิศาสตร์สำคัญ ส่วนการสร้างเมืองในภาคกลางซึ่งเป็นที่ราบลุ่มห่างไกลจากภูเขานั้น ก็ต้องอิงแม่น้ำและลำคลองเป็นเครื่องประกันความอุดมสมบูรณ์
.
แต่ภายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ กลับไม่มีสายคูคลองที่จะใช้สอยเพื่อประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค ตลอดจนการเป็นเส้นทางคมนาคม นั่นก็เพราะว่าเมืองนครศรีธรรมราชมีแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษอย่าง “น้ำซับ” จากตาน้ำและเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่มีตลอดสันทรายนี้ คือตั้งแต่ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ เรื่อยขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงอำเภอสิชล
.
ลักษณะของดินปนทรายภายในเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเครื่องมือกรองน้ำตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการมีเทือกเขาหลวงอยู่ทางทิศตะวันตกและมีทะเลอยู่ทางทิศตะวันออก ทำให้น้ำจากที่สูงซึ่งมีปกติไหลลงสู่ทะเลนี้ ผ่านเข้ามากรองด้วยสันทรายดังกล่าวแล้วสะสม ซึมซับ อุดมอยู่ในชั้นดินชั่วนาตาปี เราจึงเห็นบ่อน้ำที่ปัจจุบันถูกสถาปนาให้เป็นแหล่งน้ำสำคัญและศักดิ์สิทธิ์อยู่รายไปสองฟากถนนราชดำเนิน ทว่าหากขุดนอกสันทรายลงไปด้านทิศตะวันออกแล้วจะได้น้ำกร่อย เช่นครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายู เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๘ ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในที่ประชุมรักษาพระนคร ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ ความว่า “…ที่ตำบลนี้ (ปากพนัง) ลำบากอยู่แต่ด้วยน้ำ ถ้าขุดบ่อในที่ซึ่งเป็นดินเลนใกล้แม่น้ำๆ เปรี้ยวใช้ไม่ได้ ถ้าออกไปขุดริมชายทะเล ห่างทะเลขึ้นมาสัก ๓๐ เส้น กลับได้น้ำจืด…”
.
บนสันทรายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ จึงเป็นชัยภูมิเหมาะสมที่สุด เพราะแหล่งน้ำสมบูรณ์ ทั้งนี้ นอกจากประเด็น “น้ำมี” แล้ว อีกข้อที่ต้องพิจารณาร่วมกันคือ เมื่อถึงคราว “น้ำมาก” หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า “น้ำพะ” เล่า จะจัดการอย่างไร ?
.
น้ำฝนหลั่งหล่นลงมาในเขตกำแพงเมืองก็ซึมซาบลงผิวดินไปสะสมเป็นน้ำซับ ถือเป็นการเติมเต็มส่วนที่พร่องลงจากการใช้สอยมาตลอดทั้งปี ส่วนน้ำเขาที่ไหลบ่าเข้ามาสมทบจากเหนือ โดยมีคลองท่าดีเป็นเส้นลำเลียงนั้น เมื่อถึงหัวท่าก็ถูกแยกออก แพรกหนึ่งขึ้นเหนือไปเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตกและเหนือ แพรกหนึ่งตรงไปเป็นคลองป่าเหล้า อีกแพรกแยกลงใต้ไปเป็นคลองสวนหลวง เมื่อพ้นรัศมีที่จะทำให้น้ำท่วมเมืองแล้ว ทั้งสามแพรกก็กลับมารวมกันเป็นหัวตรุดหมุดหมายของคลองปากนครก่อนจะไหลออกสู่ทะเลหลวง
.
สิ่งที่ต้องสังเกตใหม่กันใหญ่อีกครั้งคือ เมื่อปลายพฤศจิกายนต่อธันวาคม ๒๕๖๓ หลายคนหลายวัยต่างจำกัดเอาไว้ว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบชีวิต” โดยเฉพาะในช่วงค่ำของวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ ที่มวลน้ำทั้งดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ เม็ดฝน และล้นทะลักมาจากคลองท้ายวังชายกำแพงแพงตะวันตกเข้าท่วมถนนราชดำเนินซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตกำแพงเมืองแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด
.
พื้นที่ที่ชาวนครเพิ่งได้มีโอกาสร่วมทรงจำกันว่าน้ำท่วมไปถึงในครั้งนั้นมี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดซึ่งน้ำใช้ถนนเทวบุรี ต่อนางงาม ไหลไปสู่ประตูลอด อีกจุดคือหอพระอิศวร ตรงนี้เส้นทางน้ำขาดช่วงไม่ต่อเนื่องจากคูเมืองทิศตะวันตก เข้าใจว่าเป็นน้ำฝนและที่ดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ ส่วนสุดท้ายคือแยกพานยมอาการคล้ายตรงหอพระอิศวร จุดนี้ใกล้พระธาตุที่สุดซึ่งส่วนของในพระนั้น ยังคงรักษาความเป็น “โคกกระหม่อม” ไว้ได้
.
มาถึงบริเวณที่เรียกว่า “โคกกระหม่อม” นี้ มีทฤษฎีการให้ชื่อบ้านนามเมืองข้อหนึ่งว่าด้วยเรื่องทำเลที่ตั้งซึ่งมักบัญญัติให้สอดคล้องตามภูมินาม สังเกตได้จากชุมชนที่ออกชื่อขึ้นต้นด้วย เขา ป่า นา เล ห้วย หนอง คลอง บึง โคก สวน ควน ไร่ ฯลฯ แล้วตามด้วยความจำเพาะบางประการของภูมิประเทศนั้นๆ สิ่งอันบรรดามีในพื้นที่ หรือเหตุการณ์สำคัญที่มีอิทธิพลต่อสำนึกร่วมของผู้คน
.
ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างบ้าน “ตลิ่งชัน” อาจไม่อยู่ในกลุ่มคำขึ้นต้นที่ยกตัวอย่าง แต่ใช้ทฤษฎีเดียวกันคือว่าด้วยการกำหนดชื่อด้วยภูมิประเทศได้ โดยอรรถแล้ว ความชันของตลิ่งตามแนวคลองในจุดนี้ อาจเป็นที่สุดกว่าจุดอื่น จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จนถูกกำหนดใช้เป็นชื่อชุมชนรวมถึงเป็นแลนด์มาร์คของการคมนาคมทางน้ำในอดีต
.
ไม่ว่าตลิ่งจะชันเพราะเป็นที่สูงหรือระดับน้ำในสายคลองก็ตาม โดยนัยแล้วชื่อนี้สื่อชัดว่าตลิ่งชันเป็นที่ “พ้นน้ำ”
.

น้ำท่วมนครศรีธรรมราช

เมื่อมรสุมระลอกนั้น ตลิ่งชันกลับเป็นพื้นที่แรกๆ ของนครศรีธรรมราชที่ถูกน้ำท่วมถึง สภาพการณ์เช่นนี้อาจชี้ให้เห็นว่า คุณสมบัติดั้งเดิมของภูมิประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรบางอย่าง การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่ละเลยต้นทุนและการดำรงอยู่ซึ่งตัวตน อาจส่งผลให้คุณค่าของภูมิสังคมถูกล็อคดาวน์ให้หลงเหลืออยู่เพียงแค่ชื่อท่ามกลางสภาพภูมิอากาศของโลกที่ไม่เคยหยุดเปลี่ยนแปลงฯ

“เพลงบอก” ทอกหัวได บอกแตกบ้านไหน ซวยกันไปทั้งปี

“เพลงบอก” ทอกหัวได
บอกแตกบ้านไหน ซวยกันไปทั้งปี

 

ผ่านหูบ่อยครั้งว่า “เพลงบอก” มีที่มาสองกระแส หนึ่งว่ามาจากกิริยาบอกศก บอกนักษัตร บอกลักษณะนางสงกรานต์ อีกข้างว่ามาจากนามเต็มคือ “กระบอก” ก่อนจะกร่อนเหลือ “บอก” ตามวิสัยชาวเรา แล้วเรื่องก็ห้วนอยู่เทียมนั้น

.

เพลงบอก

รศ.ประพนธ์ เรืองณรงค์ เล่าความไว้ในหนังสือตำนานการละเล่น และภาษาชาวใต้อย่างน่าสนใจหลายเรื่อง ที่เกี่ยวกับวรรคแรกท่านตั้งชื่อว่า “เพลงบอก การละเล่นที่กำลังจะสูญ”

.

เมื่อแรกไปรำโนราที่ปัตตานี ได้ยินลูกคู่รับบทเพลงทับเพลงโทนแบบเดียวกับที่ทอยเพลงบอก ตั้งข้อสังเกตไว้เดี๋ยวนั้นว่า เพลงบอกนี้ต้องแสดงความสัมพันธ์อะไรบางประการระหว่างชุมชนในรัฐโบราณเป็นแน่ รอยจางๆ ข้างปัตตานี อาจเป็นเค้าลางในประเด็นนี้ได้อย่างดี

.

“คณะเพลงบอกมีอย่างน้อย ๖-๗ คน

ประกอบด้วยแม่เพลง ลูกคู่

เครื่องดนตรีมี ฉิ่ง กรับ ปี่ ขลุ่ย และทับ”

.

วรรคนี้ของ รศ.ประพนธ์ฯ ทำให้ผุดภาพลูกคู่โนราขึ้นมาเทียบเคียง กับอีกอันคือเคยได้ยินว่ามีการแสดง “เพลงบอกทรงเครื่อง” เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งภาพที่ผุดและข้อความที่ยกมา เข้าใจว่าคงออกรสไม่ต่างกันนัก เว้นเสียแต่เสียงกลองและโหม่ง ข้อนี้แสดงเส้นเวลาอย่างหยาบและพลวัตของเพลงบอกที่ชวนให้ต้องศึกษาต่อ

.

แปดบท

ในเล่มแสดงผังไว้แต่ไม่ได้ระบุชื่อฉันทลักษณ์ ด้วยเหตุที่จับด้วยฉันทลักษณ์ในหลักภาษาไทยใดไม่ลง จึงจะตู่เอาตามที่เคยได้ยินมาอีกว่าเป็นฉันทลักษณ์ที่เรียกกันในนครศรีธรรมราชว่า “แปดบท” อย่างเดียวกับที่เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ให้นายเรือง นาใน นั่งท้ายช้างขับไปตามระยะทางตีเมืองไทรบุรีสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แปดบทนี้ก็น่าสนใจใช่ย่อย ว่ากันว่าเป็นการละเล่นโต้ตอบแบบด้นสดกันไปมา ว่าแล้วก็ช่างมาคล้ายกับความทรงจำของหลายคนถึงการประชันปฏิภาณของเพลงบอกชั้นครูอย่าง “ปานบอด-รอดหลอ” และ “ปานบอด-เพลงบอกรุ้ง” ที่ รศ.ประพนธ์ฯ ยกในเล่มว่า

 

เพลงบอกปาน – เพลงบอกรุ้ง

เพลงบอกรุ้ง:

เราเปรียบปานเหมือนชูชก

มันสกปรกอยู่กลางบ้าน

เรื่องหัวไม้ขอทาน

ใครใครไม่รานหมัน

.

คนด้นเขาไม่เกรง

สำหรับนักเลงทุกวัน

แต่ว่าคนด้านเหมือนปานนั้น

ถึงฉันก็เกรงใจ

.

พัทลุงเมืองสงขลา

ตลอดมาถึงเมืองนคร

ถ้าปล่อยให้ปานขอก่อน

คนอื่นไม่พักไขว่

.

เพราะมันเป็นเชื้อพงศ์ชูชก

มันสกปรกจนเกินไป

จะไปที่ไหนเขาทั้งลือทั้งยอ

เรื่องที่หมันขอทาน

.

เพลงบอกปาน:

ฟังเสียงรุ้งคนรู้

พิเคราะห์ดูช่างหยิบยก

(ขาดวรรค)

.

เป็นชูชกก็รับจริง

เพราะว่ายิ่งเรื่องขอทาน

ทั้งพี่น้องชาวบ้าน

ทุกท่านก็เข้าใจ

.

แต่จะเปรียบรุ้งผู้วิเศษ

ให้เป็นพระเวสสันดร

ปานชูชกเข้ามาวอน

รุ้งให้ไม่เหลือไหร

.

ทั้งลูกทั้งเมียและเหลนหลาน

ครั้นชูชกปานขอไป

จะขอสิ่งใดรุ้งนาย

แกต้องให้เป็นรางวัล

.

เพลงบอกรุ้ง:

ก็ไม่เป็นพระเวสสันดร

เพราะจะเดือดร้อนที่สุด

กูจะเป็นนายเจตบุตร

ที่ร่างกายมันคับขัน

.

ควยยิงพุงชูชก

ที่สกปรกเสียครัน

ถือเกาทัณฑ์ขวางไว้

มิให้หมึงเข้าไป

.

เพลงบอกปาน:

ดีแล้วนายเจตบุตร

เป็นผู้วิสุทธิ์สามารถ

เป็นบ่าวพระยาเจตราช

ที่เขาตั้งให้เป็นใหญ่

.

ถือธนูหน้าไม้

คอยทำลายคนเข้าไป

เขาตั้งให้เป็นใหญ่

คอยเฝ้าอยู่ปากประตูปาน

.

คนอื่นมีชื่อเสียง

เขาได้เลี้ยงวัวควาย

แต่เจตบุตรรุ้งนาย

เขาใช้ให้เลี้ยงหมาฯ

.

มุตโต

เชาวน์ไวไหวพริบชนิดปัจจุบันทันด่วนนี้ ในวงศิลปินเรียกกันว่ามุตโต เข้าใจว่าหากแปลตามบริบทการใช้งานว่าคือการใช้ความสามารถในการแสดงแบบไม่ต้องเตรียมตัว ร้องกลอนกันสดๆ เล่นสด รำสด รากศัพท์เดิมของคำนี้คงมาจากภาษาบาลีว่า “มุทโธ” อันแปลว่า ศีรษะหรือเหงือก การแสดงชนิดด้นกลอนสด รำสด จึงบ่งบอกถึงการใช้ “ศีรษะ” อวดสติปัญญาและความสามารถของผู้แสดงกระมัง ที่สำคัญคือ จะเห็นว่าในการเปรียบเปรยนั้น ศิลปินต้องมีภูมิรู้ในเรื่องราวนั้นๆ อย่างดีและแตกฉานจึงจะสามารถแก้แง่ที่ถูกตั้งขึ้นให้คลายได้อย่างงดงาม

.

นอกจากบทเพลงบอกที่จำและถ่ายทอดกันมาแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิเชฐ แสงทอง ได้กรุณาเล่าผ่านช่องแสดงความคิดเห็นในเฟซบุ๊คว่า “สมัยเด็กมีเพลงร้องตลกๆ กันว่า “เพลงบอกมาทอกหัวได มดคันข็อบไข หวาไหรเพลงบอก””

.

ตานี้มาที่ชื่อของ “เพลงบอก” เดิมส่วนตัวเทไปข้าง “บอกศักราช” มากกว่า “กระบอก” แต่ถัดนี้ไปอาจกลับลำด้วยจำนนต่อข้อมูลของ รศ.ประพนธ์ฯ บวกเข้ากับรูปการณ์บางอย่าง ดังจะได้กล่าวต่อไป

.

“คณะเพลงบอกจะมีกระบอกไม้ไผ่นัยว่าบรรจุน้ำมนต์ (อาจจะเป็นเมรัยก็ได้) ถือไปในวงด้วย…พวกเพลงบอกจะนำกระบอกไม้ไผ่ ไปกระแทกกระทุ้งตรงบันไดบ้าน เพื่อปลุกเจ้าของบ้านให้ตื่น ถ้ากระบอกแตกที่บ้านใด ถือว่าปีใหม่นั้นเจ้าของบ้านซวยตลอดปี”

.

วรรคของ รศ.ประพนธ์ฯ นี้ มาขมวดเข้ากับรูปการณ์เท่าที่สังเกตได้ ๒ อย่าง หนึ่งคือการเรียกการแสดงเพลงบอกว่า “ทอก” ซึ่งคืออาการพรรค์อย่างเดียวกับกระทุ้งที่ท่านว่า กับสองคือสำนวนที่คงค้างอยู่ในปัจจุบันที่ว่า “เพลงบอกทอกหัวได” ที่ช่างมาตรงกับขนบวิธีของนักเลงเพลงบอกแต่แรกนักฯ