แม่ชีนมเหล็ก ตำนานท้องถิ่นโมคลาน

แม่ชีนมเหล็ก
ตำนานท้องถิ่นโมคลาน

 

ตำนานท้องถิ่น

ความสนุกของการได้ลงพื้นที่โมคลานอย่างหนึ่งคือ การได้ฟังเรื่องเล่าแบบไม่ซ้ำ แม้บางครั้งจะเป็นเรื่องเดียวกันแต่อนุภาคน้อยใหญ่ภายในกลับขยายบ้าง หดบ้าง ไปตามสิ่งแวดล้อมที่เรื่องเล่านั้น ๆ เข้าไปขออาศัย ความจริงอาจไม่ได้เป็นเฉพาะบ้านโมคลาน ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชนี้เท่านั้น แต่พื้นที่ใดที่เรื่องเล่าทำหน้าที่มากกว่าเรื่องที่ถูกเล่าแล้ว ก็เป็นอันจะได้เห็นอาการหดขยายที่ว่าไปตามกัน

.

ความจริงเคยได้ยิน “พระพวยนมเหล็ก” มาก่อน “แม่ชีนมเหล็ก” ตอนนั้นอาสาเป็นยุวมัคคุเทศก์อยู่ในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช จำได้ว่าเป็นเรื่องกระซิบที่ผู้ใหญ่ท่านห้ามหยิบมาเล่าด้วยสรุปความไว้ตรงนั้นว่า “เหลวไหล”

.

ก็ไม่ได้สนใจอะไรต่อ จนมาได้สัมภาษณ์ชาวโมคลานจึงถึงบางว๊าว (ถัดจากบางอ้อไปหลายบาง) ว่าเรื่องกระซิบที่ “ในพระ” มามีมั่นคงในดง “โมก” เล่ากันว่า

.

เศรษฐีจีนนายหนึ่งพร้อมบริวารพร้อมพรั่ง

ลงสำเภาใช้ใบแล่นเข้าปากน้ำ

แล้วล่องมาตามคลองปากพยิงถึงแผ่นดินโมคลาน

สมัยนั้นมีลำน้ำสัญจรได้สองสายหนึ่งคือคลองปากพยิงที่ว่ากับอีกหนึ่งคือคลองท่าสูง

.

เศรษฐีจีนขึ้นฝั่งมาพบรักกับนางพราหมณีนาม “สมศักดิ์” หากนามนี้เป็นชื่อตัวก็คงชี้ความเป็นคนมีฐานะอันพอจะสมเหตุสมผลให้สามารถร่วมวงศ์วานเป็นเมียผัวกับเศรษฐีนายนั้นได้ นางพราหมณ์สมศักดิ์เป็นคนในตระกูลไวศยะ ทำค้าขายมีตั้งลำเนาอยู่ในท้องที่มาช้านาน ลือกันในย่านว่ารูปงามหานางใดเปรียบ ด้วยผูกพันฉันคู่ชีวิตประกอบกับกิจของทั้งสองครัวไม่ต่างกัน เศรษฐีจีนผู้รอนแรมมาจึงปักหลักตั้งบ้านขึ้นที่นี่

.

ขณะนั้น พระพุทธคำเภียร หัวหน้าสมณะทูตจากลังกา กำลังบวชกุลบุตรสถาปนาคณะสงฆ์ลังกาวงศ์อยู่ที่เมืองเวียงสระ แล้วเผยแผ่พระธรรมต่อมายังโมคลานสถานซึ่งขณะนั้นร้างอยู่ บังเกิดให้เศรษฐีจีนเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา ประกาศจะบริจาคทรัพย์สร้างกุฎี โบสถ์ วิหาร และ ศาสนสถานอันควรแก่สงฆ์บริโภค กับมีใจจะบูรณะสิ่งปรักหักพังขึ้นให้งามตาอย่างแต่ก่อน

.
เหตุเกิดเมื่อนางพราหมณ์ไม่ยอม จะมีปากเสียงมากน้อยไม่ได้ยินเล่า แต่ผลคือเมื่อเศรษฐีจีนถูกขัดใจหนึ่งว่าเรือขวางน้ำที่กำลังเชี่ยว ก็ตัดสินใจทิ้งสมบัติพัสถาน ทั้งลูก เมีย บริวาร หนีลงสำเภาของสหายกลับไปเมืองจีนเสีย

.

นางเมียผู้อยู่ข้างหลัง ครั้นเป็นหม้ายผัวหนีก็สำนึกผิด โศกเศร้า ตรอมใจ หนึ่งว่ามิ่งไร้ขวัญ ชีวิตไร้วิญญาณ พร่ำเพ้อ ละเมอเหม่อลอย ลางทีก็หวีดร้องขึ้นปานว่าชีวิตจะแหลกสลาย นางเฝ้าคอยทางที่ผัวจากไปและคอยถ้าฟังข่าวผัวอยู่ปีแล้วปีเล่าก็ยังไม่กลับมา

.

นางอ้อนวอนเทพเจ้าทุกองค์บรรดามีในลัทธิของนาง เพื่อหวังให้ช่วยดลจิตดลใจผู้ผัวให้คืนสู่ครัวแต่ก็เปล่าประโยชน์ แม้จะตั้งบัตรพลีบวงสรวงประกอบเป็นพิธีอย่างยิ่งอย่างถูกต้องบริบูรณ์ ทุกอย่างก็ว่างเปล่าดั่งสายลม

.

ในท้ายที่สุด นางก็ทิ้งลัทธิเดิมปลงผมบวชเข้าเป็นชีพุทธ คงด้วยหวังว่าจะเอารสพระธรรมมาเป็นที่พึ่ง สมบัติทั้งสิ้นถูกจัดสรรปันแบ่งให้ลูกไปตามส่วน เหลือนั้นเอามาทำกุฎี โบสถ์ วิหาร พระเจดีย์ตามอย่างเจตนาผัวแต่ก่อน

.
ใจหนึ่งก็หวังว่าแรงบุญจะหนุนส่งให้ได้ผัวกลับ ความอาลัยอาวรณ์ติดตามตัวนางเข้าไปเคล้าคลึงถึงในชีเพศ นางเฝ้าพะวงหลงคอยอยู่ชั่วนาตาปี จนจิตใจของนางวิปริตคลุ้มคลั่งเข้า จึงในที่สุด นางก็ผูกคอตาย

.

แม่ชีนมเหล็ก

สังขารของนางเมื่อเผา

ปรากฎเป็นอัศจรรย์ว่า

ส่วนอื่นไหม้เป็นจุลไปกับไฟ

เว้นแต่นมสองเต้าไฟที่ไม่ไหม้และกลับแข็งเป็นเหล็ก

.

แต่นั้น แม่ชีสมศักดิ์ก็ถูกเรียก “แม่ชีนมเหล็ก” และเรียกสืบมาจนทุกวันนี้

.

พระพวย

เล่าต่อว่า

ลูกและญาติพี่น้องของแม่ชีนมเหล็กได้หล่อพระพุทธรูปขึ้นองค์หนึ่ง

บรรจุอัฐิและนมเหล็กทั้งสองเต้าเข้าไว้ในองค์พระ

พระพุทธรูปองค์นี้ อยู่ในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช

คือองค์ที่เรียกว่า “พระพวย” สถิต ณ พระวิหารโพธิ์ลังกา

.

ความจริงเห็นอะไรหลายอย่างจากเรื่องนี้ ทั้งความสัมพันธ์ระหว่างโมคลานกับเมืองนครที่คลี่ปากคำมามากกว่าลายแทง “ตั้งดินตั้งฟ้า” ที่เคยเขียนไว้ครั้งก่อน การเป็นเมืองท่าสำคัญที่รับอารยธรรมจากทั้งจีนและอินเดีย โดยมีเศรษฐีจีนและนางพราหมณีในเรื่องเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ทั้งสองฟากฝั่ง อีกอันคงเป็น “นมเหล็ก” ที่เหลือจากการเผา ดูเหมือนว่าจะเคยได้ยิน “ตับเหล็ก” ในทำนองคล้ายกันด้วย เหตุที่เหลือ เชื่อกันว่าด้วยคุณวิเศษของผู้ตาย แต่ก็เหมือนจะมีผู้รู้ท่านลองอนุมานอยู่กลาย ๆ ว่าน่าจะได้แก่ก้อนเนื้อร้ายพวกมะเร็งด้วยเหมือนกัน

.

จาก “แม่ชีนมเหล็ก” ถึง “พระพวย”

ชีหนึ่งเดี๋ยวนี้มีรูปหล่อให้ได้ระลึกถึงตำนาน

ประดิษฐานไว้ในศาลาการเปรียญวัดโมคลาน ตำบลโมคลาน อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช

ส่วนพระนั้น ปัจจุบันเป็นสรณะของผู้ไร้บุตรจะได้บนบานศาลกล่าวร้องขอ

ว่ากันว่าจะบันดาลให้ตามบุคลิกลักษณะในคำอธิษฐาน

.

จากนมเหล็กแม่ชี มาเป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธรูป

แม้ว่า “ความจริง” คงเป็นสิ่งที่เค้นเอาได้ยากจาก “ความเชื่อ”

แต่ทุก “ความเชื่อ” ควรมีสิทธิ์ที่จะได้รับการเคารพ

เพราะอย่างน้อยที่สุด เขาก็ต่างเชื่อกันว่ามันจริงฯ

 

คุณ ศิริกมล แก้วแสงอ่อน ส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์วัฒนธรรม นำรายได้สู่ชุมชน คนต้นแบบเมืองนคร

นครศรีธรรมราชมีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย ที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากจะมาเยี่ยมเยือนสักครั้งหนึ่ง แต่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก สถานการณ์การท่องเที่ยวของนครศรีธรรมราชจะเป็นอย่างไร คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้เป็นผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับธุรกิจโรงแรม จะมาบอกเล่าเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของนครศรีธรรมราช คุณ ศิริกมล แก้วแสงอ่อน นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช กับการส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์วัฒนธรรม นำรายได้สู่ชุมชน

ความชื่นชอบภาษาอังกฤษ งานบริการ และจุดเริ่มต้นของธุรกิจโรงแรม

คุณศิริกมล เกิดที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เนื่องจากคุณพ่อทำงานราชการทำให้ชีวิตวัยเด็กของคุณศิริกมลมีโอกาสได้เดินทางไปหลายจังหวัด ส่วนตัวชื่นชอบภาษาอังกฤษและงานบริการจึงตัดสินใจเรียนระดับปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจ ปริญญาโทด้านการท่องเที่ยวและการโรงแรมที่ประเทศอังกฤษ นอกเหนือจากงานในภาคปฏิบัติแล้ว ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานบริหารจัดการสำหรับผู้ประกอบการ การเรียนที่ประเทศอังกฤษทำให้คุณศิริกมลเจอเพื่อนจากหลากหลายประเทศ ได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการท่องเที่ยว รวมถึงวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ

เริ่มงานแรกในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการแผนกขายและการตลาด จากนั้นย้ายไปทำงานที่โรงแรมดุสิตธานีนานถึง 12 ปี แม้จะชื่นชอบงานด้านการโรงแรม แต่เรื่องของระบบศึกษาเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณศิริกมลให้ความสำคัญเช่นกัน และมีความใฝ่ฝันว่าอยากจะเปิดโรงเรียนที่มีรูปแบบการศึกษาเน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง เรียนรู้ผ่านการเล่น สามารถคิดอย่างเป็นระบบ กล้าที่จะแสดงออก เด็กๆ สามารถแสดงความคิดเห็น ซักถาม หรือมีข้อโต้แย้งในชั้นเรียนได้

คุณศิริกมลเล่าว่า การทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ เวลาที่มีการประชุมหรือพูดคุยถึงประเด็นอะไรก็ตาม ทุกคนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะ แม้จะเห็นต่างแต่ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปร่วมกัน ช่วยให้การทำงานต่อจากนี้เป็นไปด้วยดี ซึ่งต่างจากรูปแบบการทำงานที่ทีมงานไม่กล้าแสดงความเห็นของตัวเองหรือไม่มีการเคลียร์อย่างชัดเจน

ในช่วงที่คุณพ่อของคุณศิริกมลใกล้เกษียณอายุราชการ ได้มีการพูดคุยกับทางครอบครัวว่าจะทำธุรกิจอะไรดี ธุรกิจโรงแรมกับธุรกิจโรงเรียนอินเตอร์คือสองทางเลือกที่อยู่ในความสนใจ เมื่อทำการสำรวจการตลาด (เมื่อ 14 ปีที่แล้ว) พบว่าธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ครบวงจรที่มีทั้งห้องพัก ห้องสัมมนา ห้องจัดเลี้ยงมีแค่ไม่กี่แห่ง ยังมีช่องวางทางตลาดค่อนข้างสูง ตอบโจทย์การลงทุนในระยะยาว ซึ่งการบริหารจัดการต้องเป็นไปตามบริบทของพื้นที่นั้น

คุณศิริกมลเล่าว่า หากนำเอาประสบการณ์การบริหารโรงแรมระดับ 5 ดาวมาใช้ทั้งหมดก็คงไม่เหมาะเท่าไหร่ อย่างการเทรนพนักงานก็เป็นเรื่องที่ต้องปรับและใช้เวลากันพอสมควร แม้เป็นโรงแรมเปิดใหม่ก็ใช่ว่าจะหาพนักงานง่าย ต้องทำให้พนักงานมีความรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี้

การทำธุรกิจโรงแรมที่นครศรีธรรมราช คุณศิริกมลให้เหตุผลว่า ส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างความเจริญให้กับจังหวัด ชื่อโรงแรมควรเป็นมงคลกับธุรกิจและเมืองที่อาศัย พยายามดึงอัตลักษณ์ของความเป็นนครศรีธรรมราช กลุ่มลูกค้าที่ตอบโจทย์คือ ลูกค้าที่เดินทางมาเข้าพักเพื่อสัมผัสประสบการณ์และกลิ่นอายของเมืองคอน ซึ่งในส่วนของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเมื่อ 14 ปีที่แล้วต่างจากปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง การเข้าหาลูกค้าจะต้องเดินทางไปพบด้วยตัวเองเพื่อนำเสนอบริการและโปรโมชั่นจากทางโรงแรม ปัจจุบันลูกค้าสามารถเปรียบเทียบราคาที่พักผ่านทางเว็บไซต์ที่ให้บริการได้ ส่งผลให้การแข่งขันทางการตลาดของธุรกิจโรงแรมสูงขึ้น อย่างการออกบูธตามงานท่องเที่ยวต่างๆ ราคาที่นำเสนอในงานต้องเป็นราคาที่ถูกกว่า Walk in

บทบาทของนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช กับการส่งเสริมการท่องเที่ยว อนุรักษ์วัฒนธรรม นำรายได้สู่ชุมชน

ในช่วงที่คุณศิริกมลเป็นเลขาธิการสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในส่วนของผู้ประกอบการภาคีเครือข่ายท่องเที่ยวมีการช่วยคิดช่วยทำ ร่วมงานกับทางเทศบาล ออกแบบการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์กับนักท่องเที่ยวในกรณีที่มาเยือนนครศรีธรรมราชภาคธุรกิจโรงแรมจะเป็นในส่วนของห้องพักงานและงานจัดเลี้ยง ภาคการท่องเที่ยวชุมชนจะมุ่งไปที่การท่องเที่ยวในท้องถิ่น ไม่มีส่วนกลางเข้ามาช่วยประสานงาน บางครั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นนั้นอาจไม่เป็นที่ต้องการสำหรับนักท่องเที่ยวก็ได้ หรือมีรายละเอียดบางอย่างที่อาจลืมนึกถึง เพราะนักท่องเที่ยวแต่ละชาตินั้นมีอุปนิสัยต่างกัน ทางคุณศิริกมลและทีมงานได้เข้าไปช่วยเหลือในส่วนของการท่องเที่ยวชุมชนให้กับชาวบ้าน เช่น การจัดกิจกรรม ออกแบบแพคเกจการท่องเที่ยว และส่งเสริมสินค้าท้องถิ่น สามารถวัดผลได้จากตัวเลขของยอดขายสินค้าที่ระลึก บ่อยครั้งที่ลูกค้าเห็นแค่สินค้าแต่ไม่ซื้อ ควรจะต้องแสดงให้เห็นถึงกระบวนการผลิต บอกเล่าที่มาที่ไปของสินค้าชิ้นนั้น เมื่อลูกค้าเข้าใจในเรื่องราวและเห็นถึงคุณค่า ทำให้ตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น

คุณศิริกมลให้ความเห็นว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวของนครศรีธรรมราชจากอดีตถึงปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ขึ้นอยู่กับว่าในช่วงเวลานั้นอะไรคือสิ่งที่กำลังอยู่ในความสนใจ อย่างช่วงที่กระแสของ “จตุคามรามเทพ” เคยโด่งดัง ส่งผลให้ระยะเวลาในการเข้าพักของนักท่องเที่ยวนานขึ้น แต่พอมาถึงช่วง “ไอ้ไข่ วัดเจดีย์” กลายเป็นว่าคนแวะมาไหว้แล้วเดินทางกลับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจที่มาบนขอพรไว้ ไม่มีเหตุที่จะต้องพักค้างคืน เมื่อความต้องการของนักท่องเที่ยวเป็นเช่นนี้ จึงไม่สามารถที่จะขายโปรแกรมเพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวอยู่นานกว่าเดิมได้ ผู้ประกอบการโรงแรม ร้านอาหาร และบริษัททัวร์ ก็ต้องมาช่วยกันออกแบบว่าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวพักค้างคืนและเที่ยวชมสถานที่อื่นๆ ภายในจังหวัด

จากโครงการงานวิจัยของทางมหาวิทยาลัยที่คุณศิริกมลเข้าไปมีส่วนร่วม ทำให้มีโอกาสเข้าถึงกระบวนการสร้างชิ้นงานต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของนครศรีธรรมราช อย่างเครื่องถมก็ต้องเป็นคนที่ตั้งใจจริงถึงจะเดินทางไปชม เมื่อปรึกษากับทาง DMC (Destination Management Company ) เมืองท่องเที่ยว และเอเจนซี่ก็ได้ให้ไอเดียเกี่ยวกับการทำ Work shop เช่น ภายในเวลา 1 ชม. นักท่องเที่ยวสามารถจะทำอะไรได้บ้าง ขณะเดียวกันเป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชน

ความพร้อมของนครศรีธรรมราชกับการเป็น MICE City

MICE City ไมซ์ซิตี้ คือ เมืองแห่งการจัดประชุมและนิทรรศนาการ ไมซ์ (MICE) ย่อมาจากคำว่า Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibitions (หรือบางครั้ง C หมายถึง Conferencing และ E หมายถึง Events) ซึ่งมีกรอบในการประเมินมาตรฐาน 8 ด้าน คุณศิริกมลให้ความเห็นว่า ในส่วนของผู้ประกอบการโรงแรม การขอเข้าประเมินไม่น่าจะเป็นเรื่องยาก แต่ต้องดูบริบทของภาคีเครือข่ายร่วมด้วย ซึ่งต้องเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะกลุ่มของไมซ์ส่วนใหญ่เป็นระดับผู้บริหาร โปรแกรมการประชุมจะมีการท่องเที่ยวและกิจกรรมแทรกอยู่ด้วย ปัจจุบันบริษัททัวร์หลายที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น แต่เป็นการท่องเที่ยวชุมชนที่อาจไม่ตอบโจทย์กลุ่มตลาดไมซ์ อย่างในนครศรีธรรมราช อำเภอพรหมคีรีมีการทำในส่วนของไมซ์กับโจทย์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับเครือข่ายใกล้เคียง นำสินค้ามาแชร์กัน ด้านการออกแบบการท่องเที่ยวไม่จำเป็นต้องพาลูกค้าไปในทุกที่ แต่ต้องทำให้ลูกค้าอยากที่จะกลับมาเที่ยวอีกครั้ง

แม้ช่วงโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการโรงแรมและการท่องเที่ยว แต่การร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สามารถช่วยกันประคับประคองให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไปได้  หลังจากนี้ต้องสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน เชื่อว่าหลังผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไป นครศรีธรรมราชจะกลับมาคึกคักอีกครั้งอย่างแน่นอน

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

เรื่องเล่าชาวเชียรใหญ่ ว่าด้วย “กาบดำ” พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

เรื่องเล่าชาวเชียรใหญ่
ว่าด้วย “กาบดำ” พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

โดย ปรมัตถ์ แบบไหน

 

ข้าวกาบดำ

ข้าวกาบดำเป็นพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่สามารถพบได้แพร่หลายแถบอำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และพื้นที่ใกล้เคียงก็อาจจะพบได้ แต่ด้วยผมเป็นคนอำเภอเชียรใหญ่จึงรับรู้และสัมผัสกับข้าวพันธุ์นี้ตั้งแต่เด็ก

.

เชียรใหญ่

เรื่องราวความทรงจำของผมกับข้าวกาบดำคงจะเริ่มที่เห็นยายปลูกในตอนเด็ก ๆ และผู้คนละแวกบ้านก็ปลูกข้าวพันธุ์นี้ไว้กินกัน แต่ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจแบบเงินตราที่เน้นกำไรสูงสุดในระยะเวลาที่เร็วที่สุด ชาวนาแถวบ้านเลยต้องหันไปปลูกข้าว กข.15 , หอมปทุม ซึ่งเป็นข้าวไวแสงที่ใช้ระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวเพียงแค่ 100 – 120 วัน ที่กรมส่งเสริมวิชาการเกษตรสนับสนุน แทนการปลูกข้าวกาบดำ ซึ่งข้าวพันธุ์นี้เป็นข้าวนาปีที่ใช้เวลาในการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวนานเกือบค่อนปี โดยอาศัยฤดูกาลเป็นตัวกำหนดการเพาะปลูก

.

จากประสบการณ์ที่เคยเห็นยายปลูกข้าวพันธุ์นี้ ยายจะเริ่มหวานข่าวช่วงเข้าพรรษา ยายจะบอกว่า “หว่านข้าวรับหัวษา” ความหมายคือหว่านข้าว ช่วงต้นของการเข้าพรรษา ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงที่จะมีฝนโปรยพอให้หน้าดินชุ่มชื้นหลังจากที่ฝนทิ้งช่วงมาหลายเดือน แต่จะเป็นฝนจากอิทธิพลมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมาจากทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ชาวบ้านละแวกนี้จะเรียกฝนที่ตกในช่วงนี้ว่า “ฝนพลัด” ผมสันนิฐานที่มาของชื่อฝนนี้ว่า เพราะเป็นฝนที่ตกเพียงเล็กน้อย และเป็นฝนที่หลงเหลือจากการตกในฝั่งภาคใต้ตะวันตกที่มีเทือกเขานครศรีธรรมราช เป็นตัวแบ่ง หรือเขตเงาฝนของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้นั้นแหละ

.

ฝนพลัด ฝนออก

เมื่อข้าวที่หวานไว้ได้ความชื้นจาก “ฝนพลัด” ก็เติบโตขึ้น แต่ในช่วง 1-2 เดือนแรก ข้าวจะสูงประมาณหัวเข่า ความสูงระดับนี้ถ้าเป็นข้าวไวแสงถือว่าสูงมากแล้วนะ แต่สำหรับข้าวกาบดำถือว่ายังเตี้ยมาก ๆ เพราะ หลังจากฝนพลัดหมดไป ทิศทางลมของภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะเปลี่ยนไป โดยในช่วงเดือน 11 เดือน 12 ชาวบ้านจะเรียกฝนที่ตกช่วงนี้ว่า “ฝนออก” ความหมายคือฝนที่มาทางทิศตะวันออกเป็นฝนจากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ฝนในช่วงนี้จะทำให้เกิดปริมาณน้ำที่มาก และท่วมได้แล้วแต่ปี

.

ถึงตอนนี้การที่ข้าวกาบดำจะทำตัวเองให้เตี้ยไม่ยอมสูงก็จะจมน้ำตายไป ข้าวกาบดำเลยยืดลำต้นสูงขึ้นสูงที่สุดอาจจะสูงถึง 150 ซม. ประมาณจากส่วนสูงของยายที่ต้นข้าวสูงถึงระดับศีรษะของท่าน ยายก็สูงประมาณ 150 – 160 ซม. ครับ

.

แกะ รวง เลียง ลอม

กว่าจะได้เก็บข้าวก็โน้นเดือน 4 กว่าจะเสร็จก็เดือน 5

เพราะยายเก็บกับ “แกะ”

เก็บที่ละ “รวง”

หลายๆรวงมัดรวมเป็น “เลียง”

หลายๆเลียงกองรวมกันเป็น “ลอม”

.

สุดท้ายนี้จะบอกว่า

ผมยุให้แม่ปลูกข้าวกาบดำ

แม่ใช้วิธีเพาะข้าวในที่ดอนก่อน

แล้วเอาไปดำ

แม่ดำนาเสร็จไปช่วงก่อนออกพรรษา

ตอนนี้ข้าวได้น้ำจาก “ฝนออก” คงกำลังเติบและโต

ปัญหาที่แม่บ่นให้ฟังคือ….

“มึงยอนให้กูปลูกข้าวกาบดำเวลาเก็บไม่รู้เก็บพรือเวทนาจัง”

___

ภาพปก
เพจ ไร่ ณ นคร – Na Nakhon Integrated Farming.

พระนามพระเจ้าแผ่นดินเมืองนคร บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์

พระนามพระเจ้าแผ่นดินเมืองนคร
บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์

นครศรีธรรมราช มีสถานะซึ่งพัฒนาการจากมหานครสู่การเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย สิ่งนี้นำมาสู่มรดกทางศิลปวัฒนธรรมจำนวนมหาศาล ต้องอาศัยการค้นคว้าเพื่อนำไปสู่การตีความหลักคิด วิเคราะห์รูปการณ์ และเชื่อมเหตุโยงผลกันด้วยทฤษฎีต่างๆ
.

ปาฏลีบุตร

สมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรวบรวมบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้ว นครศรีธรรมราชถูกยกให้เป็นเมืองประเทศราช มีนามเรียกขานในโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ปาฏลีบุตร” ช่วงปลายรัชสมัยทรงสถาปนาผู้ครองใหม่แทนที่เจ้านราสุริยวงศ์ที่สวรรคาลัย มีฐานะตามปรากฎในสำเนากฏเรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรีว่าให้เป็นผู้ “ผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสีมา” หรืออีกวรรคหนึ่งว่า “ผ่านแผ่นดินเมืองนครเป็นกษัตริย์ประเทศราช” ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “ขัติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช” กับทั้งในกฎดังกล่าว มีพระบรมราชโองการกำชับเรื่องการบริหารเมือง ธรรมนิยมเกี่ยวกับการอัญเชิญตราตั้ง และเครื่องประกอบพระอิสริยยศ เป็นต้น

.

หากจะลองแจกแจงพระนามในพระสุพรรณบัฏ จะได้ว่า

ขัตติยะ
แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน, พระเจ้าอยู่หัว, กษัตริย์, เป็นชาตินักรบ, เป็นวรรณะที่ ๑ ใน ๔ วรรณะ หรือเจ้านาย

ราชะ
แปลว่า พระราชา (รากศัพท์มาจากคำว่า รช แปลว่าพอใจ)

นิคม
แปลว่า ย่านการค้า, หนทางพ่อค้า, ตลาด, หมู่บ้าน, หมู่บ้านใหญ่ , ตำบล, บาง หรือ นคร

สมมติ
แปลว่า ต่างว่า, ถือเอาว่า หรือ ที่ยอมรับกันเองโดยปริยาย

มไหสวรรย์
แปลว่า อำนาจใหญ่, สมบัติใหญ่ หรือ ความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

พระเจ้า
หมายถึง คำนำหน้านามของผู้เป็นใหญ่

นครศรีธรรมราช
หมายถึง เมืองนครศรีธรรมราช

พระเจ้านครศรีธรรมราช

อาจแปลรวมความได้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวผู้ยังความพึงใจให้แก่แผ่นดิน อำนาจบารมี(ของพระองค์)เป็นที่ยอมรับ (ทรง)เป็นใหญ่ในเมืองนครศรีธรรมราช”

เมืองนครศรีธรรมราช พบจารึกพระนามของเจ้าประเทศราชพระองค์นี้ บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ เลขที่ จ.๑๕ ซึ่งเป็นอักษรขอมธนบุรี ภาษาไทย ดังที่ คุณก่องแก้ว วีระประจักษ์ และคุณเทิม มีเต็ม ได้ปริวรรตไว้ ความว่า

“ศุภมัศดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๒๑ พระวัสสา
วันศุกร์ เดือนแปด แรมสองค่ำ ปีจอ สัมฤทธิ์ศก
สมเด็จเจ้าพระสังฆราชาคณะลังกาชาด ว่าที่คณะลังการาม วัดประตูขาว
แลสมเด็จพระเจ้าขัตติยประเทศราชฐานพระนคร
แลเจ้ากรมฝ่ายในราชเทวะ
ได้ชักชวนสัปปุรุษ ทายก เรี่ยไร ได้ทองชั่งเศษ
หุ้มลงมาถึงบัวได้รอบหนึ่ง วงลวดอกไก่บัวรอบหนึ่งเป็นสองรอบพลอยด้วยแหวน”

จารึกระบุพระนามแตกต่างจากในพระสุพรรณบัฏ คือมีคำนำหน้าพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้า” ตามอย่างที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ได้ให้ความเห็นว่าเป็นคำทางการที่ใช้นำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์ในสมัยธนบุรี และคำต่อท้ายว่า “ประเทศราชฐานพระนคร” ซึ่งระบุฐานะของเมืองนครศรีธรรมราชว่าเป็น “ประเทศราช” กับทั้งตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ “ฐานพระนคร”

ซึ่งหากเป็นไปตามทฤษฎีของอาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ที่ว่าพระนามนั้นมักปรากฏ ๓ ส่วน คือส่วนที่เป็นพระนามเดิม สร้อยพระนาม และ พระนามแผ่นดิน ในที่นี้ ตรวจดูอย่างง่ายอาจได้ว่า สมเด็จพระเจ้าขัตติยราชนิคม เป็นพระนามเดิม สมมติมไหศวรรย์ เป็นสร้อยพระนาม และ พระเจ้านครศรีธรรมราช (ประเทศราชฐานพระนคร) เป็นพระนามแผ่นดิน

ส่วนของพระนามเดิมนี้ ปรากฏเหมือนกันทั้งในพระสุพรรณบัฏกับจารึก คือคำว่า “ขัตติยะ” แต่ด้วยคำแปลที่มีความหมายว่าพระเจ้าแผ่นดิน กับทั้งหลักฐานว่าทรงมีพระนามว่า “หนู” แล้ว ในชั้นนี้จึงสันนิษฐานไว้พลางก่อนว่า พระนามที่ปรากฏทั้งสองแห่งนี้ เป็นสมัญญานามที่ล้วนไม่ระบุพระนามเดิม

___

ภาพจากปก :
ส่วนหนึ่งของภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติหมายเลข na๐๑d-img๐๐๐๐๑๓๒-๐๐๔๕

วังวัว • จานเรียว • ในเหลิง • วัวหลุง เรื่องเล่าภูมินามที่มาจาก “วัว” ตัวเดียวกัน

วังวัว • จานเรียว • ในเหลิง • วัวหลุง
เรื่องเล่าภูมินามที่มาจาก “วัว” ตัวเดียวกัน

 

เรื่องเล่าเป็นงานสร้างสรรค์อันมีผู้สร้าง

ใน “เรื่องเล่า” จึงมี “ผู้เล่า” ปรากฏตัวอยู่ไม่ที่ใดก็ที่หนึ่งหรือทั้งหมด

สิ่งที่ถูกส่งออกมาพร้อมกับภาษาคือ “สาร” และ “ความหมาย”

ซึ่งอนุญาตให้ผู้อ่านมีเสรีภาพในการ “ตีความ”

เรื่องเล่าหนึ่ง ๆ จึงมีได้มากกว่าหนึ่งความหมาย

เพราะทันทีที่เรื่องถูกเล่า หน้าที่ของผู้เล่าก็จบลง

.

บ้านวังวัว

ปัจจุบัน วังวัว เป็นชื่อบ้านในเขตอำเภอพระพรหม จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนอีกสามบ้าน ได้แก่ จานเรียว ในเหลิง และวัวหลุง ติดเขตอำเภอร่อนพิบูลย์ ทั้งสี่บ้านอยู่คนละปละ แต่ยังพอทำเนาได้ว่าเป็นหยอมเดียวกัน

.

เรื่องเล่าของทั้งสี่บ้านถูกเคล้าให้อยู่ในนิทานพื้นถิ่นเรื่องเดียวกัน โดยมี “วัว” เป็น “ตัวเดินเรื่อง” อากัปกิริยาและพฤติการณ์ในนั้นเป็นเหตุของชื่อบ้าน ดังจะเล่าตามที่ ดิเรก พรตตะเสน เล่าไว้ในสารนครศรีธรรมราช ต่อไปนี้

.

“เล่ากันว่า วันดีคืนดี จะมีวัวตัวผู้สีทองตัวหนึ่งผุดจากส่วนลึกของวังน้ำขึ้นมาร้องอย่างคึกคะนองอยู่บนฝั่ง ถ้าใครพบเห็น เจ้าวัวตัวนั้นก็จะหันบั้นท้ายของมันให้ แล้วยกหางขึ้นสูง แย้มลิ่มทองสุกปลั่งออกมาให้เห็นทางรูทวารหนัก และทันทีมันจะกระโจนตูมลงในวังน้ำ ดำมุดหายไปต่อหน้าต่อตา ตำแหน่งนั้นรู้จักกันในชื่อ “วังวัว” “วัง” ในที่นี่ไม่ได้หมายถึงวังเจ้านาย หากหมายถึงแหล่งน้ำลึกของลำคลอง หรือแม่น้ำลำธารต่าง ๆ ส่วน “วัว” ก็คืออย่างเดียวกับที่คนนครออกเสียงว่า “งัว”

.

เมื่อเจ้าวัวสีทองประพฤติในทางยั่วมนุษย์ให้เกิดโลภะโทสะอยู่เป็นนิจดังนี้ ชาวบ้านก็เกิดกระตือรือร้นที่จะจับวัวสีทองตัวนั้นเอาทองมาให้ประโยชน์ให้ได้ จึงรวมกันเข้าเป็นหมู่ใหญ่ วางแผนพิชิตวังทองอย่างรัดกุม แผนสำคัญที่จะพลาดไม่ได้คือ เมื่อเจ้าวัวสีทองปรากฏตัวขึ้นบนฝั่ง คนหมู่หนึ่งจะต้องรวมกำลังกันขึงพืดริมฝั่ง พยายามกันไม่ให้เจ้าวัวสีทองกระโจนกลับลงวังน้ำของมัน ซึ่งถ้ากันให้เจ้าวัวสีทองค้างอยู่บนบกได้ ถึงมันจะเตลิดไปไหน ๆ ก็ตามจับได้เป็นแน่นอน

.

ครั้นแล้ววันหนึ่ง เจ้าวัวสีทองปรากฏตัวขึ้นบนฝั่งตามเคย และแล้วความพยายามของมนุษย์ในอันที่จะกันไม่ให้เจ้าวัวสีทองกระโจนกลับลงวังน้ำก็สำเร็จตามแผน แต่เจ้าวัวสีทองตัวนั้นไม่ใช่วัวธรรมดาที่จะจับกันได้ง่าย ๆ เมื่อหนทางที่มันจะกระโจนกลับวังน้ำถูกกีดกัน มันก็แหวกวงล้อมเตลิดไปทางตะวันตก ข้างชาวบ้านก็ฮือไล่ตามอย่างกระชั้นชิด

.

ครั้งหนึ่ง วัวสีทองไปจนมุมที่ซอกเขาแห่งหนึ่ง ริมริมจะจับได้แล้วทีเดียว แต่เนื่องจากชาวบ้านที่ตามประชิดติดพันในตอนนั้นน้อยตัวเกินไป จึงไม่สามารถจะตีวงล้อมเข้าถึงตัวมันได้ สิ่งสำคัญที่จะใช้จับวัวคือเชือกก็ไม่ติดมา หลังจากเล่นเอาเถิดเจ้าล่อชุลมุนกันพักใหญ่ ก็ตกลงใจกันจะจับตาย ชาวบ้านคนหนึ่งมีฝีมือในทางเขวี้ยงพร้า ก็เขวี้ยงพร้าในมือหวือไปทันที หมายตัดขาหน้าเจ้าวัวทองให้ขาดหกคะเมนตีแปลงลงตรงนั้น แต่ก็อัศจรรย์ ฝีมืออันเคยฉมังกลับพลาด พร้าหมุนติ้วตัดอากาศเหนือหลังวัวสีทอง หวือหายไปในความลึกของซอกเขา เจ้าวัวสีทองสบโอกาสแหวกวงล้อมหลุดออกไปได้อีก เล่นเอาพวกตามพิชิตวัวเกือบสิ้นพยายาม ต่างทรุดลงนั่งลงอย่างหมดแรง และทั้งนี้ เพื่อจะรอเพื่อนคนเขวี้ยงพร้า ซึ่งเดินดุ่มเข้าไปเก็บพร้าของตนในซอกเขาลึกด้วย

.

เกือบหนึ่งชั่วยาม กะทาชายนายเจ้าของพร้าจึงได้พร้าของตนกลับมา เพื่อน ๆ ที่นั่งรอจนหายเหนื่อยตั้งนานแสนนานและกำลังร้อนใจจะแกะรอยวัวทองต่อไป พากันกระชากเสียงถามด้วยความขุ่นเคืองเป็นเสียงเดียวกันว่า

 

“เข้าไปถึงไหนวะ”

“ถึงเหลิงเว้ย” เจ้าของพร้าตอบแล้วชวนกันแกะรอยวัวทองต่อไป

.

บ้านในเหลิง

เหตุนี้เอง ซอกเขาแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “เหลิง” หรือเขียนตามสำเนียงใต้ได้เป็น “เลิ่ง” หมายถึง ที่สุดแห่งความลึกเว้าของซอกเขา ในที่นี้คือในวงโอบของเขาหมากกับเขาแดง

.

เนื่องจากทิ้งระยะกันนานเกินไป จากในเหลิงพวกชาวบ้านต้องวกไปวนมา หาเส้นทางเดินของเจ้าวัวทองหลายตลบ จนกระทั่งพบรอย “จานเยี่ยว” ของมันเข้ารอยหนึ่ง จึงแกะรอยตามติดไปตามเส้นทางอันถูกต้องได้ต่อไป

.

บ้านจานเรียว

ที่เจ้าวัวทอง “จานเยี่ยว” แห่งนี้ ในสภาพภูมิประเทศปัจจุบันก็คือตรงที่ตั้งที่ว่าการอำเภอร่อนพิบูลย์นั้นเอง หมู่บ้านแถบนี้ชื่อหมู่บ้าน “จานเรียว” ว่ากันว่า “เยี่ยว” ถูกแปลงให้สุภาพเป็น “เรียว” ความหมายเลยวิบัติไปจากเดิม

.

ถึงตอนนี้ เห็นจะต้องทำความเข้าใจ “จาน” กันสักหน่อย “จาน” ที่ประกอบ “เยี่ยว” ไม่ได้หมายถึงภาชนะหรือคำกร่อนจาก “ประจาน” ที่บ่นถึงการประกาศความชั่ว “จาน” เป็นคำไทยโบราณที่ชาวปักษ์ใต้ออกเสียงใกล้เคียงสำเนียงภาคกลางอย่างที่สุด และยังใช้ติดปากอยู่ในความหมายเดิมไม่ลืมเลือน โดยแปลว่า “เจือด้วยน้ำ” เช่นหากคนภาคกลางพูดว่า “ขอน้ำแกงราดข้าว” คนปักษ์ใต้ก็จะพูดเป็น “ขอน้ำแกงจานข้าว” ใช้ “จาน” แทน “ราด” เพราะมันเป็นคำติดปาก ที่อำเภอร่อนพิบูลย์นี้ ยังมีทุ่งกว้างแห่งหนึ่งเรียกกันว่า “ทุ่งน้ำจาน” เพราะว่าทุ่งแห่งนั้นมีน้ำเอิบซึมเปียกอยู่เป็นนิจ

.

บ้านวัวหลุง

กลุ่มชาวบ้านตามวัวทองซึ่งบ่ายหน้าไปตะวันตกจนกระทั่งทัน และล้อมติดจับได้ที่บ้าน “วัวหลุง” อีกครั้งหนึ่ง “หลุง” คือคำกร่อนจาก “ถลุง” พวกชาวบ้านจับวัวทองได้ก็จัดแจงหาฟืนมาติดไฟขึ้นคิดจะเผาวัวเอาทอง หรือ “ถลุงวัว” ให้เป็นทองกันโดยไม่ชักช้า แต่ก็ไม่สำเร็จ วัวทองเจ้ากรรมหลุดไปได้ บ้าน “วัวหลุง”

.

วัวทองดิ้นหลุดมือมนุษย์ได้อย่างหวุดหวิดแล้วก็มุ่งกลับไปตะวันออก นัยว่าจะกลับวังน้ำของมัน แต่ชาวบ้านรู้จึงสกัดไว้ วัวทองบ่ายหน้าขึ้นเหนือ ในที่สุดก็ถูกล้อมจับได้อีกที่บ้าน “หลุงทอง” ครั้งนี้วัวทองถูกล้อมตีด้วยไม้กระบองสั้นยาวจนตาย แต่แล้วในขณะที่พวกชาวบ้านบ้างหาฟืนบ้านติดไปชุลมุนอยู่นั้นเอง เจ้าวัวทองซึ่งถูกรุมตีจนน่วมขาดใจตายไปแล้วกลับฟื้นขึ้นและเผ่นหนีไปได้อีก แต่พวกมนุษย์ก็ยังหายอมแพ้เดียรัจฉานวิเศษตัวนี้ไม่ กรูเกรียวกันตามกันต่อไปอีกอย่างไม่ลดละ ในที่สุดก็ไปถึงภูเขาสูงชันในถ้ำแห่งหนึ่ง วัวทองพรวดพราดเข้าไปในถ้ำแห่งหนึ่งในเชิงภูเขานั้น ชาวบ้านก็ตามติดเข้าไปด้วย แต่เมื่อก้นถ้ำซึ่งทึบตัน เข้าไปทางไหนก็ต้องออกทางนั้นทุกซอกทุกมุม จนอ่อนใจไม่หาวัวทองตัวนั้นไม่ วัวทองสูญหายไร้ร่องรอยไปอย่างอัศจรรย์” เรื่องก็จบลงแต่เท่านี้

.

มีข้อสังเกตน่าสนใจเกี่ยวกับ “บ้านวังวัว” อยู่สองประการ อย่างแรกคือการมีทำเลอยู่ในกลุ่มชุมชนพราหมณ์โบราณเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่ บ้านหนองแตน บ้านพระเพรง และบ้านแพร่ ละแวกนี้พบหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพราหมณ์หลายชิ้น รวมถึงซากที่เข้าใจกันว่าเป็นเทวสถานหลายจุด สอดคล้องกับข้อสังเกตประการที่สอง คือเรื่องเล่าว่า เทวาลัยแห่งหนึ่งมี “วัวทองคำ” เป็นเครื่องมหรรฆภัณฑ์ นัยว่าจะนับถือเป็นโคนนทิพาหนะพระอิศวร ครั้นเมื่อห่าลงเมือง บรรดาพราหมณ์ทั้งหลายได้อัญเชิญวัวทองจำเริญลงฝากไว้กับพระแม่คงคา ส่วนจะเป็นวัวเดียวกับที่มีในนิทานดังเล่ามาแล้วหรือไม่นั้น คิดว่าคงเข้าเค้าฯ

หญ้าเข็ดมอน ที่มีมาพร้อมกับการตั้งดิน-ฟ้า ลายแทงลายใจในความทรงจำชาวโมคลาน

หญ้าเข็ดมอน
ที่มีมาพร้อมกับการตั้งดิน-ฟ้า
ลายแทงลายใจในความทรงจำชาวโมคลาน

 

เป็นเวลาสักระยะแล้ว ที่จ่อมจมอยู่กับปริศนาลายแทงโมคลาน ทวนสอบตัวเองดูอย่างจริงจังรู้สึกว่า ลึก ๆ ที่ย้ำคิดย้ำทำอยู่ตรงนั้น ก็เพราะอยากแก้ลายแทงเป็นเหตุหลัก แต่ด้วยความรับรู้เดิมที่ถูกกักขังไว้ว่า ลายแทงมักไม่มีใครแก้ได้ ส่วนที่แก้ๆ กันไปอย่างนั้นอย่างนี้ ก็หมิ่นเหม่ว่าจะคลาดเคลื่อนเลื่อนลอย พลอยให้ต่างคนต่างแก้ไปนานา ลายแทงจึงยังคงเป็นอาหารอร่อย ที่เว้นแต่ผู้ปรุงแล้วก็ไม่มีใครรู้ว่ารสชาติแท้จริงเป็นอย่างไร

.

ลายแทงโมคลาน

ลองดู “ลายแทงโมคลาน”

ตามกันไปอีกครั้ง

 

“…ตั้งดินตั้งฟ้า

ตั้งหญ้าเข็ดมอน

โมคลานตั้งก่อน

เมืองนครตั้งหลัง

ข้างหน้าพระยัง

ข้างหลังพระภูมี

ต้นศรีมหาโพธิ์

ห้าโบสถ์หกวิหาร

เจ็ดทวาร

แปดเจดีย์…”

 

โมคลาน

ดูเหมือนว่าความในตอนท้ายจะคล้ายกับสารบัญนำชมศาสนสถานในข้างพุทธ อันประกอบด้วย พระศรีมหาโพธิ์ โบสถ์ วิหาร และเจดีย์ ส่วนถ้าจะยึดเอาวรรคนำเรื่องก็คงชี้ลงว่า ศาสนสถานที่กำลังแทงลายลงไปนี้ คือ “โมคลาน” ที่เมื่อครั้งผูกลายแทง คงมีสถานะเป็น “วัด” ในพระพุทธศาสนาแล้ว ส่วนคำว่า “แล้ว” ซึ่งห้อยท้ายอยู่นั้น ก็เพราะว่า วรรคนำเรื่องอย่าง “ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอน” เป็นร่องรอยความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างโลกของพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาพราหมณ์ การมาแสดงเป็นข้อเท้าความอยู่ตรงนี้ จึงอาจเป็นไปได้ว่า ลายแทงกำลังแสดงความหลงเหลืออยู่ของคติพราหมณ์ในความทรงจำชาวโมคลาน ซึ่งทำให้เห็นว่า พราหมณ์คงเป็นเจ้าของเดิมอยู่ก่อน จากนั้นพุทธจึงค่อยเข้าใช้สอยพื้นที่เป็นลำดับ

.

การสร้างโลกมีในคัมภีร์พราหมณ์ กล่าวว่าเป็นเทวกิจของพระพรหม ประเด็นนี้ ดิเรก พรตตะเสน ให้รายละเอียดว่า

“…โลกของเรานี้ พระพรหมผู้เป็นใหญ่ของพราหมณ์เขาเป็นผู้สร้าง

แรกก็สร้างน้ำก่อน สร้างน้ำแล้วก็ตั้งดินตั้งฟ้า

ต่อจากนั้นจึงหว่านพืชลงในดิน พืชอันดับแรก

คือที่เราเรียกหญ้าเข็ดมอนนี้เอง

พืชอันที่สองคือหญ้าคา อันดับที่สามหญ้าแซมไซ…”

.

หญ้าเข็ดมอน

ดินและฟ้าจะยังไม่กล่าวถึงในที่นี้ จะขอชวนให้ใคร่ครวญกันเฉพาะสามหญ้าในฐานะพืชแรกบนโลกตามคติพราหมณ์ เล่าว่า “…เมื่อคราวเทวดากวนเกษียรสมุทร ให้เป็นน้ำทิพย์สำหรับเทวดาจำได้กินกันให้เป็น “อมร” นั้น พญาครุฑฉวยโอกาสโฉบเอาน้ำทิพย์บินหนี ร้อนถึงพระนารายณ์ต้องออกขัดขวาง ขณะที่รบชิงน้ำทิพย์กันอุตลุตบนท้องฟ้านั้น กระออมใส่น้ำทิพย์กระฉอก น้ำทิพย์กระเซ็นตกลงมายังโลกมนุษย์ เผอิญให้ถูกเอาหญ้าเข็ดมอน หญ้าคา และหญ้าแซมไซ…”

.
เหตุนี้จึงทำให้ความอมฤตไปเป็นเครื่องทวีความศักดิ์สิทธิ์ให้กับหญ้าทั้งสาม จากที่เป็นหญ้าที่เกิดก่อนพืชทั้งปวงบนโลกแล้ว ยังมีความ “ไม่ตาย” เป็นคุณวิเศษอีกชั้น ที่แม้น้ำจะท่วมโลกหรือเกิดไฟบัลลัยกัลป์เผาผลาญล้างโลกก็ทำอะไรสามหญ้านี้ไม่ได้

.

หญ้าคา:

โบราณเอามาถักเข้าเป็นเส้น

วงรอบเรือนหรือปริมณฑลที่ต้องการเป็นมงคล

กันผี กันอุบาทว์ จัญไรได้ทุกชนิด

.

หญ้าแซมไซ:

ยังค้นไม่พบสรรพคุณเฉพาะ

แต่ “เข้ายา” รวมกับอีกสองหญ้าได้

ว่ากันว่าหากต้มใช้กินประจำ

จะทำให้อายุยืน คงกระพันชาตรี

.

หญ้าเข็ดมอน:

โบราณนิยมเอารากมาถักสำหรับผูกข้อมือเด็ก

กันผีแก้แม่ซื้อรังควาญ

ต้มกินก็จะสามารถแก้พิษร้อนได้

.
การมี “หญ้าเข็ดมอน” เป็นบทนำของลายแทง จึงถือเป็นภาพสะท้อนทั้งทางสังคมและวัฒนธรรมของโมคลานได้อย่างหลวมๆ ว่า พื้นที่แห่งนี้แต่เดิมเป็นที่อยู่ที่อาศัยของบรรดาพราหมณ์ผู้มี “ภูมิ” ซึ่งนอกจากจะรู้พระคัมภีร์อยู่เฉพาะตนแล้ว อาจได้ถ่ายทอดสู่ศาสนิกโดยเฉพาะเนื้อหาที่ว่าด้วยการสร้างโลกและสรรพสิ่งของพระผู้เป็นเจ้า ที่เอาเข้าจริงก็มีการกล่าวถึงการกำเนิดโลกและมนุษย์อยู่ในทุกศาสนา ความหมายเกี่ยวกับการสร้างโลกของแต่ละศาสนาจึงถือเป็นปฏิบัติการทางวาทกรรมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะที่กระทำในดินแดนโมคลาน พื้นที่ซึ่งปัจจุบันมีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ในละแวกที่ปรากฏเทวลัยอันเนื่องในศาสนาพราหมณ์และครอบครองโดยวัดของพระพุทธศาสนา

.

บทกาดครูโนรา

ความจริงควรจะจบตรงนี้ แต่ด้วยว่าได้คัดเอาบทกาดครูโนราที่แสดงฉากสร้างโลกซึ่งมีการกล่าวถึงหญ้าเข็ดมอนมาด้วยแล้ว จึงขอส่งท้ายกับสิ่งที่ว่านั้น กับทั้งข้อสังเกตว่า “ผู้สร้าง” ในบทนี้เป็น “พระอิศวร” ต่างจากที่ร่ายมาข้างบน ซึ่งอาจทำให้เห็นว่า ไม่เฉพาะระหว่างศาสนาเท่านั้นที่มีปรากฏการณ์ของการช่วงชิงความหมาย แต่ภายในเองก็มีสิ่งละอันพันละน้อยที่แทรกซ่อนอยู่ไม่ต่างกัน กับที่ส่วนตัวเห็นว่าการผลิตซ้ำคติสร้างโลกของพราหมณ์ลงบนมรดกทางวัฒนธรรมของภาคใต้อย่างมีนัยยะสำคัญเช่นนี้ ควรค่ายิ่งแก่การค้นคว้าเพื่อสร้างชุดความรู้สู่สาธารณะ

.

ไหว้พระอิศวรพ่อทองเนื้อนิล

พ่อได้ตั้งแผ่นดินตั้งแผ่นฟ้า

พ่อตั้งแผ่นดินเท่าลูกหมากบ้า

ตั้งแผ่นฟ้าโตใหญ่เท่าใบบอน

พ่อตั้งสมุทรพ่อตั้งสายสินธุ์

ตั้งเขาคีรินทร์เขาอิสินธร

พ่อตั้งไว้สิ้นพ่อตั้งไว้เสร็จ

ตั้งหญ้าคาชุมเห็ดหญ้าเข็ดมอน

พ่อตั้งหญ้าคาเอาไว้ก่อน

หญ้าเข็ดมอนตั้งไว้เมื่อภายหลัง

พ่อได้ตั้งพฤกษาตั้งป่าชะมัว

พ่อได้ตั้งบัวนาบัวครั่ง

เข็ดมอนตั้งไว้เมื่อภายหลัง

ตั้งดวงอาทิตย์ดวงพระจันทร์

พระจันทร์เดินกลางเดินกลางคืน

พระอาทิตย์งามชื่นเดินกลางวัน

ตั้งดวงอาทิตย์ดวงพระจันทร์

สว่างฉันทั่วโลกชโลกา

พ่อได้ตั้งสิ้นตั้งสุด

ตั้งเหล่าชาวมนุษย์ไว้ใต้หล้า

พ่อตั้งหญิงคนชายคน

ให้เป็นพืดยืดผลต่อกันมา

พ่อตั้งนางเอื้อยให้เป็นเจ้าที่

พ่อตั้งนางอีเป็นเจ้านา

พ่อตั้งนายคงเป็นเจ้าดิน

พ่อตั้งนายอินเป็นเจ้าป่า

พ่อตั้งนายทองเป็นเจ้าแดน

ตั้งนายไกรพลแสนเฝ้ารักษาฯ

5 จุดเช็คอินสุดปัง @Street Art ท่าศาลา

ท่าศาลาและไอเทมใหม่ เเห่งการเช็คอิน นั่นก็คือ Street Art ท่าศาลา ถนนเเห่งศิลป์ ที่ผู้คนผ่านไปผ่านมาจะต้องไม่พลาดที่จะมาปักหมุดถ่ายรูปเช็คอินกัน โดยจะมีจุดที่เป็นแลนด์มาร์คในการถ่ายรูป ตามตรอกซอกซอยซอยต่างๆ ของ ถนนศรีท่าศาลา
แต่ละภาพนั้นก็คือ มีเอกลักษณ์ และได้แรงบันดาลใจมาจากวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่นั่นเอง โดยศิลปิน 3 ท่านก็คือ คุณเจมส์ คุณนิ่มแห่งบ้านสีดิน พรหมคีรี และ คุณเชิด ศรีธรรมราช ค่ะ มีที่ไหนบ้างตามมาดูกันเลยค่ะ

จุดที่1 ปูม้า และเรือสำเภา

ปูม้า ได้ชื่อว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจอย่างหนึ่งของ อำเภอท่าศาลา แขกไปใครมาก หากไม่ได้มีโอกาสลงชิมรสชาติปูม้าสดๆ ถือว่าพลาดในการที่มาเที่ยว ท่าศาลา ด้วยเหตุนี้เอง ปูม้าจึงถูกนำมาสร้างเป็นงานศิลปะฝาผนัง Street Art เพื่อบ่งบอกถึงรูปแบบการทำอาชีพของชาวท่าศาลาในอดีตและปัจจุบัน


สำหรับเรือสำเภานั้น มีเรื่องเล่ากันมาว่า สมัยก่อนท่าศาลา เป็นเมืองท่าแห่งหนึ่งสำหรับการค้าขาย ด้วยท่าศาลาติดกับชายฝั่งทะเล มีปากแม่น้ำ ซึ่งเรือสำเภาจากประเทศจีนจะนำข้าวของเครื่องใช้มาค้าขาย รวมทั้งซื้อข้าวปลาอาหารกลับขึ้นลำเรือเพื่อไปขายต่อ
ทั้งสองภาพนี้เป็นจุดที่บอกเล่าวิถีชีวิต การทำอาชีพชาวเล และพ่อค้า ของชาวท่าศาลาได้เป็นอย่างดี นอกจากจะได้ถ่ายภาพเก๋ๆ แล้ว ท่านยังจะได้รับรู้ถึงเรื่องราวของชาวท่าศาลา

จุดที่2 ปลากุเลาและโกโก้และน้องควายบนผืนนา

สำหรับจุดนี้เป็นอีกหนึ่งใน Street Art ท่าศาลา ที่บอกเรื่องเล่าผ่านตัวการ์ตูน น้องไข่แลน เป็นชื่อเรียกแทนเด็กผู้ชายในภาคใต้ ที่ผู้วาดตั้งใจวาดเพื่อบ่งบอกตัวตนแทนจินตนาการของศิลปินผู้วาดที่นำเสนอความเป็นเมืองท่าศาลาผ่านภาพบนผนังแห่งนี้
มีนกกรงหัวจุกหรือมีอีกชื่อหนึ่งคือนกปรอดหางแดง เป็นนกที่คนใต้นิยมเลี้ยงฟังเสียงขันยามเช้าเรียกหาคู่ นอกจากนี้นกกรงหัวจุกยังนิยมเลี้ยงแข่งขันเสียงร้อง เป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมพื้นบ้านชาวท่าศาลา ที่แทบทุกบ้านจะต้องมีกรงนกหัวจุกแขวนหน้าบ้าน นกตัวไหนเสียงดีชนะรางวัลมีค่าตัวค้าขายนกกรงหัวจกกันเรือนหมื่น เรือนแสน

กรงนกหัวจุกก็เป็นอีก 1 งานหัตกรรมพื้นบ้านที่ได้รับความนิยม ด้วยกรงที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นเครื่องบ่งบอกฐานะของบ้าน และตำแหน่งความสามารถของนก ตัวไหนร้องดีมีรางวัล กรงก็จะมีการประดับตกแต่งสวยงาม กรงนกจึงกลายเป็นสินค้าทำเงินอีกหนึ่งอย่างให้กับชาวท่าศาลา นอกจากขายในประเทศแล้วยังส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย

สำหรับภาพโกโก้ ในพื้นที่ท่าศาลาได้มีการเพาะปลูกโกโก้สวนและโกโก้แห่งแรกในนครศรีธรรมราชอีกด้วย เนื่องด้วยโกโก้เป็นพืชท้องถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีการนำโกโก้มาแปรรูปเป็นช็อคโกแลตซึ่งให้รสชาติที่อร่อยและแตกต่างเฉพาะของท่าศาลา มีหลายชุมชนนำโกโก้มาแปรรูป ตัวอย่างเช่น One More Thai craft ร้านชื่อดังเมืองนคร ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวนำโกโก้มาผลิตเป็นช็อคโกแลต รวมทั้งทำเป็นคราฟโซดา จนกลายเป็น Welcome Drink ที่มานครต้องได้ลองลิ้มชมรส
สำหรับน้องควายบนผืนนาแสดงออกถึงความอุดมสมบูรณ์ของสมัยก่อนที่บ่งบอกได้ว่า ในทะเลมีปลาในนามีข้าว ของพื้นที่ในอำเภอท่าศาลาที่ไม่ได้มีเพียงแค่ทะเลเท่านั้นค่ะ

จุดที่3 ปลาคู่ ปลากุเลาและปลาจวด

ทั้งปลากุเลาและปลาจวดถือได้ว่า เป็นสัตว์เศรษฐกิจของน่านน้ำอ่าวไทย ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทะเลในอำเภอท่าศาลา ลายที่ปรากฏในปลาก็สอดแทรกลายลูกปัดมโนราห์ที่มีความเอกลักษณ์และแสดงให้เห็นถึงความเป็นปักษ์ใต้ที่แท้จริง เป็นสิ่งที่แสดงออกให้เห็นว่าชาวภาคใต้ตลอดจนชาวนครศรีธรรมราชควรรักษาการแสดงมโนราห์ให้คงอยู่สืบไป

ดังนั้นการนำมาผสมผสานกันกับงานศิลปะบนผนังแห่งนี้ทำให้ดูทันสมัยและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
และด้วยความแปลกใหม่ของลายปลาทั้งสองและสีสันที่จี๊ดจ๊าดทำให้ผนังนี้ถ่ายภาพออกมาได้สวยสุดๆเลยค่ะ และเช็คอิน Street Artท่าศาลา เรียกยอดไลค์รัวๆค่ะ

จุดที่4 ปลาหมึกวาย หรือปลาหมึกยักษ์ กับม้าน้ำ

ภาพปลาหมึกยักษ์ หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่าปลาหมึกวาย และม้าน้ำที่บ่งบอกถึงสภาพทางภูมิศาสตร์ว่าอำเภอท่าศาลาเป็นอำเภอที่ติดทะเล ที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ โดยศิลปินผู้สร้างต้องการถ่ายทอดภาพออกมาบนผนังใน Street Art ท่าศาลา แผ่นนี้ให้แสดงถึงสัตว์น้ำ 2 ชนิดนี้กำลังลดน้อยจนเกือบสูญหายไป


ทำให้ผู้ที่พบเห็นได้ตระหนักและอนุรักษ์สัตว์ใต้ท้องทะเลอันสมบูรณ์ให้มีอยู่ต่อไป ด้วยความที่ศิลปินถ่ายทอดออกมาได้อย่างมีศิลปะที่สวยงาม ถ่ายภาพได้เก๋ๆกับม้าน้ำพ่นสีและปลาหมึกสีสันละลานตาให้ลงเช็คอินแบบปังๆได้เลย

จุดที่5 ภาพกราฟิตี้ที่ถนนธุรการ

ในส่วนของภาพกราฟิตี้ส่วนนี้เป็นการออกแบบจินตนาการผ่านตัวการ์ตูนของศิลปินระดับแนวหน้า อย่างเช่น คุณป๊อก ไพโรจน์ พิเชฐเมธากุล มาร่วมแต่งแต้มสีสัน ร่วมกับศิลปินผู้รักบ้านเกิดอย่างคุณหนุ่ม คนท่าศาลา ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นคาแรคเตอร์ ของศิลปินแต่ละท่าน โดยบอกเล่าเรื่องราวผ่านความอุดมสมบูรณ์ของอ่าวท่าศาลาซึ่งเปรียบเสมือนว่าเป็น ทองคำที่มีมูลค่ามากมาย เป็นภาพน่ารักสดใส สีสันสะดุดตาชวนมองให้เห็นอยากถ่ายรูปและงานในส่วนนี้ได้รังสรรค์บนผนังที่มีความสูง 6 เมตรให้มีลูกเล่นต่างๆ มากมายทำให้จากผนังว่างเปล่ากลายเป็นผนังที่ดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที
ทำให้ผู้ที่ผ่านไปผ่านมาเกิดความสนใจมากขึ้น ดึงดูดผู้คนเข้ามาท่องเที่ยวในอำเภอท่าศาลาได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น สีสันที่กิ๊บเก๋ขนาดนี้ สร้างจุดสังเกตให้ Street Art ท่าศาลา เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

แรงบันดาลใจการสร้างงานศิลปะสวย ๆ แนวกราฟิตี้ และสร้างความเเปลกใหม่ให้กับคนในพื้นที่หรือระแวกใกล้เคียงได้เป็นอย่างมาก และเป็นจุดดึงดูดอีกหนึ่งจุดในท่าศาลาที่สามารถทำให้สถานที่แห่งนี้ไม่ได้เงียบเหงาอีกต่อไป นอกจากนี้ท่าศาลายังมี คาเฟ่ ร้านอาหารซีฟู้ด และชายหาดสงบๆให้ได้พักผ่อนหย่อนใจกันอีกด้วย
เพราะฉะนั้นหากผ่านมาเที่ยวนครศรีธรรมราช แนะนำให้แวะถ่ายรูปกันสักนิด ทานของอร่อยในท่าศาลาสักหน่อย และจะต้องไม่พลาดที่จะมาเช็คอิน @Street Art ท่าศาลา กันซักครั้งนะคะ

ข้อมูลติดต่อ

• ที่อยู่ : ถนนศรีท่าศาลา ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
• พิกัด : https://goo.gl/maps/4HDXwogQuP6JJGL57
• เปิดให้เข้าชม : สามารถเที่ยวชมได้ตลอดทั้งวัน
• โทร : ชมรมการท่องเที่ยว ท่าศาลา 09-4586-9519
• เว็บไซต์ : https://www.facebook.com/Thasala-District

คุณ เจริญ โต๊ะอิแต ผู้นำชุมชนอนุรักษ์ พิทักษ์สัตว์ทะเล คนต้นแบบเมืองนคร

เมื่อความต้องการบริโภคอาหารทะเลสูงขึ้น ส่งผลให้ทรัพยากรทางทะเลนับวันจะยิ่งลดลงและถูกทำลายไปเรื่อยๆ การฟื้นฟูทรัพยากรทางธรรมชาติที่ต้องอาศัยระยะเวลานาน จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องจัดการให้เร็วที่สุด เช่นเดียวกับที่บุคคลต้นแบบเมืองนครท่านนี้ได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่า จากบทบาทการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูชายฝั่ง จนเกิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้าและประมงชายฝั่งบ้านในถุ้ง เพื่อให้ลูกหลานได้มีทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์บริโภคกันต่อไป คุณเจริญ โต๊ะอิแต (บังมุ) ผู้นำชุมชนอนุรักษ์ พิทักษ์สัตว์ทะเล

ผู้อนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาประมงพื้นบ้าน

ครอบครัวของคุณเจริญอพยพมาจากรัฐตรังกานู หนึ่งในรัฐของประเทศมาเลเซีย ย้ายมาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดนครศรีธรรมราช คุณเจริญเกิดที่อำเภอท่าศาลาเติบโตมากับวิถีชาวประมงพื้นบ้าน เมื่ออายุประมาณ 10-11 ปี มีโอกาสได้ออกทะเล จากนั้นจึงชื่นชอบการออกทะเล อยากรู้ว่าทะเลที่กว้างใหญ่นั้นมีอะไรบ้าง คุณเจริญเล่าว่า การที่จะออกทะเลได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ต้องทำความคุ้นชินกับทะเลก่อน อย่างน้อยก็ต้องไม่เมาคลื่น จากนั้นก็เรียนรู้เรื่องกระแสน้ำ กระแสลม สภาพอากาศ อย่างศาสตร์ในการฟังเสียงปลา ที่เรียกว่า “ดูหลำ” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ในการตรวจจับหาฝูงปลา ต้องอาศัยความชำนาญและการฝึกฝน อย่างทิศทางลมของนครศรีธรรมราชมี 8 ทิศ ธรรมชาติของลมจะเปลี่ยนทิศทางทุก 3 เดือน

คนสมัยก่อนจะออกเรือโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ อาศัยแรงลมในการพาเรือเข้าและออกจากฝั่ง ทรัพยากรสัตว์น้ำมีเยอะมาก สามารถจับปูได้บริเวณหน้าหาด ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำประมงเพื่อยังชีพ นำสัตว์น้ำที่จับได้ไปแลกกับข้าวสารหรือสิ่งของอื่นๆ จากประสบการณ์ที่สะสมมาเรื่อยๆ และความชื่นชอบเกี่ยวกับทะเล ทำให้คุณเจริญไม่อยากที่จะไปทำอาชีพอื่น เมื่อการทำประมงเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องใช้เครื่องมือเพื่อให้จับสัตว์น้ำได้มากขึ้น หากขาดการควบคุมและระบบการจัดการที่ดี จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในท้องทะเลและทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว

บทบาทการเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการฟื้นฟูชายฝั่ง และการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้าและประมงชายฝั่งบ้านในถุ้ง

คุณเจริญเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนงานการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล เพราะเห็นว่ามีการลักลอบทำประมงอย่างผิดกฏหมายในเขตพื้นที่ ต้องการเพียงแค่หอยลาย แต่กลับใช้เครื่องมือที่กอบโกยเอาทรัพยากรอื่นๆ ทางทะเลไปด้วย การใช้ตะแกรงเหล็กกวาดเอาทุกอย่างออกไป ทำให้หน้าโคลนถูกขุดขึ้นมา เกิดแก๊สไข่เน่าบนผิวน้ำ สัตว์น้ำบริเวณนั้นจึงไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ต้องอพยพไปหาแหล่งที่อยู่ใหม่ ชาวบ้านแถวนั้นจึงไม่สามารถทำประมงได้ ต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูนานหลายปี จึงอยากให้ชาวบ้านทุกคนตระหนักถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและจะส่งผลอย่างไรในอนาคตหากไม่ร่วมมือกัน น่าเศร้าที่เสียงของชาวบ้านไม่ดังพอที่จะเรียกความสนใจจากหน่วยงานรัฐให้เข้ามาช่วยเหลือ ชาวประมงท้องถิ่นจึงประสบกับปัญหาเรื่อยมา

อุดมการณ์ที่อยากจะปกป้องท้องทะเลของคุณเจริญ จึงทำให้หาวิธีการเพื่อให้สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ จนมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาแนะนำว่าให้ไปเรียนรู้งานจากพื้นที่อื่น  คุณเจริญและชาวบ้านคนอื่นๆ ได้เดินทางไปเรียนรู้เกี่ยวกับงานอนุรักษ์ฟื้นฟูที่จังหวัดสตูล ซึ่งได้มีการนำไม้ไผ่ไปปักในทะเล หลังจากนั้นก็จะมีสัตว์น้ำเข้ามาอาศัย ทำให้ชาวบ้านสามารถหากินบริเวณนั้นได้ จึงนำวิธีนี้มาปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง เป็นกิจกรรมทำบ้านปลาที่ทำในช่วงต้นเดือนมีนาคม เมื่อจำนวนสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ผู้คนที่เคยไปทำงานที่อื่นก็เริ่มทยอยกลับสู่ชุมชน คุณเจริญเล่าว่า เราต้องปกป้องแหล่งอาหารของบ้านเรา ทำแนวเขตอนุรักษ์ เริ่มลงมือทำตั้งแต่ปี 2545 เรื่อยมา ซึ่งชาวบ้านในกลุ่มอนุรักษ์บางคนมีหนี้นอกระบบ จึงเกิดความคิดที่ว่าจะทำอย่างไรให้ปลดภาระหนี้สิน สามารถบริหารจัดการเงินได้ง่ายขึ้น ช่วยเหลือสมาชิกที่ประสบกับปัญหาทางการเงิน ทางกลุ่มจึงจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา โดยฝากเงินเดือนละ 50 บาท ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิก 200 คน มีเงินหมุนเวียนล้านกว่าบาท

คุณเจริญเล่าว่า ในช่วงปี 2535 – 2540  จำนวนปูม้าเยอะมาก สามารถจับได้ถึง 100 กิโลกรัมต่อวัน ราคาสูงสุดในตอนนั้นอยู่ที่กิโลกรัมละ 16 บาท จนมาถึงปี 2548 จำนวนปูม้าลดลงอย่างเห็นได้ชัด ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไปในอนาคตอาจไม่มีปูม้าให้กิน คุณเจริญจึงตัดสินใจหาข้อมูลและไปดูงานที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในช่วง 2-3 ปีแรกที่ทำกระชังปูลอยน้ำ แม้ไม่ประสบผลสำเร็จตามที่คาดไว้แต่คุณเจริญก็ไม่ย่อท้อ จากนั้นมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และหน่วยงานรัฐเข้ามาให้การช่วยเหลือในการทำธนาคารเลี้ยงปูมา ช่วงแรกค่อนข้างยุ่งยากพอสมควร ต้องใช้อุปกรณ์ค่อนข้างเยอะ ต้องใช้เวลากว่าที่ชาวบ้านจะเข้าใจแนวคิดนี้ เมื่อธนาคารปูม้าเริ่มไปได้ดี ทำให้คุณเจริญมีกำลังใจในการที่จะขับเคลื่อนงานมากขึ้น ปัจจุบันมีเครือข่ายธนาคารปูม้า 22 จังหวัด การทำธนาคารปูม้า ทำให้มีจำนวนปูม้าเพิ่มขึ้น เมื่อชาวประมงจับปูได้ก็สร้างรายได้ให้กับครอบครัว

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารปูม้าและประมงชายฝั่งบ้านในถุ้ง เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ในการให้ความรู้เชิงวิชาการ และประสบการณ์ของชาวบ้านที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำประมง อย่างโรงเรียนชาวประมงในหมู่บ้าน เกิดจากแนวคิดที่อยากให้เด็กๆ รู้จักสัตว์น้ำ เรียนรู้เรื่องลม การใช้เครื่องมือต่างๆซึ่งข้อมูลเหล่านี้ไม่มีสอนในห้องเรียน ส่วนบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปเรียนรู้วิถีชาวประมง ท่องเที่ยวเที่ยวเชิงนิเวศน์ได้เช่นกัน โดยที่ทางศูนย์การเรียนรู้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์แหล่งอาหารมาเป็นอันดับแรก ในอนาคตมีโครงการเปิดร้านอาหารลุยเล เพื่อให้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองรู้จักตัวตนของชุมชนมากขึ้น อยากให้ผู้บริโภคทานอาหารทะเลอย่างปลอดภัยและมีความสุข

ชาวประมงพื้นบ้านเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ทะเล แต่ทรัพยากรทางทะเลเป็นของเราทุกคน ดังนั้นทุกคนควรมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ในฐานะผู้บริโภคสามารถมีส่วนช่วยในการปกป้องทะเลด้วยการไม่สนับสนุนสัตว์น้ำวัยอ่อน งดการกินปูไข่นอกกระดอง เป็นการส่งสารจากคนกินถึงผู้ขายกลับไปสู่ชาวประมง และที่สำคัญควรบริโภคแต่พอดี เพื่อรักษาสมดุลในระบบนิเวศ และส่งต่อทรัพยากรทางทะเลไปสู่คนรุ่นหลังอย่างยั่งยืน

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ

วัดเจ้านคร ที่ไปอยู่ถึงเมืองสงขลา

วัดเจ้านคร
ที่ไปอยู่ถึงเมืองสงขลา

ความจริงไม่ใช่ครั้งแรกที่แวะเข้ามา
แต่ความรู้สึกยังเหมือนครั้งก่อนนั้น
คือไม่ได้รู้อะไรไปมากกว่าเดิม

.

คำว่า “เจ้านคร” นี้ ทำให้ปฏิเสธได้ยากว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเมืองนคร และพระองค์เดียวที่มีสถานะเป็นเจ้าในยุคที่ยังคงตกค้างชื่อเรียกว่าอย่างนั้นอยู่ก็ได้แก่ “พระเจ้าขัตติยราชนิคม สมมติมไหสวรรค์ พระเจ้านครศรีธรรมราช” ผู้ผ่านฟ้าเมืองนครในสมัยกรุงธนบุรี

.

เรื่องพระเจ้านครศรีธรรมราชนี้เป็นที่น่าค้นคว้าและสนใจอยู่มาก จนถึงกับได้ตั้งชื่อหนังสือไว้ตามพระนามนั้น แต่ก็ยังหากำหนดคลอดไม่ได้ ด้วยค้างมืออยู่หลายสิ่ง กับดูเหมือนว่าต้องตั้งหลักหาเอกสารอีกหลายฉบับ

.

วัดเจ้านคร

วัดเจ้านครนี้ ว่ากันว่าเจ้านครทรงสร้างเมื่อครั้งถูกตามตัวจากปัตตานีให้ขึ้นมาเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขณะนั้นทรงประทับอยู่ที่พลับพลาตำบลแหลมสน มีกำหนด ๑ เดือนก่อนเสด็จนิวัต เจ้านครเห็นว่าการที่ทรงพระกรุณาให้พ้นราชภัยในครั้งนั้นเป็นบุญแก่ตัวและวงศ์วาน จึงได้อุทิศถวายสร้างวัดแห่งนี้ไว้เป็นอนุสรณ์

.

เดี๋ยวนี้เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมถนนท่าช้าง – อ่างเก็บน้ำกระเสียว หมู่ที่ ๖ ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา มีพระอธิการสมชาย สุจิตโต เป็นเจ้าอาวาส

.

ภายในรั้วรอบขอบชิด มีพระอุโบสถหลังหนึ่งตั้งอยู่บนลูกควน เพิ่งผ่านงานผูกพัทธสีมาไปเมื่อ ๘ – ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ที่ชานควนมีศาลาไม้หลังงาม คงเป็นสถานเก่าสุดในบรรดามี ข้างกันมีโรงธรรมถือปูนใต้ร่มไม้ กับหอบูรพาจารย์ มีสมเด็จเจ้าพะโคะเป็นประธาน พ่อท่านคล้าย สมเด็จฯ โต พระครูวิจารณ์ศาสนกิจ (เลื่อน ปานังกะโร) และตาปะขาวชีหนึ่ง ตีนควนเป็นสังฆาวาสกับพื้นที่ใช้สอยเป็นฮวงซุ้ยจีนและเปรวไทย

.

ไม้ใหญ่ยืนต้นอยู่ร่มรื่น แถวต้นพิกุลคงเคยทำหน้าที่รั้ววัดมาแต่เดิม ถามทุกคนที่พบไม่มีใครทรงจำและรับรู้ไปมากกว่านี้ เห็นคงจะมีก็แต่สะตอต้นหนึ่งเท่านั้น ที่โยกหัวโหม้งไปมาตามแรงลม ประหนึ่งจะเย้าว่า เท่านี้ก็ถมไปแล้วไอ้นุ้ยเหอ

.

พระเจ้านครศรีธรรมราช

ย้อนไปสมัยกรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรวบรวมบ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคงแล้ว นครศรีธรรมราชถูกยกให้เป็นเมืองประเทศราช มีนามเรียกขานในโคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรีว่า “ปาฏลีบุตร” ช่วงปลายรัชสมัยทรงสถาปนาผู้ครองใหม่แทนที่เจ้านราสุริยวงศ์ที่สวรรคาลัย มีฐานะตามปรากฎในสำเนากฏเรื่องตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราชครั้งกรุงธนบุรีว่าให้เป็นผู้ “ผ่านแผ่นดินเป็นเจ้าขัณฑสีมา” หรืออีกวรรคหนึ่งว่า “ผ่านแผ่นดินเมืองนครเป็นกษัตริย์ประเทศราช” ทรงพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “ขัติยราชนิคม สมมติมไหศวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช” กับทั้งในกฎดังกล่าว มีพระบรมราชโองการกำชับเรื่องการบริหารเมือง ธรรมนิยมเกี่ยวกับการอัญเชิญตราตั้ง และเครื่องประกอบพระอิสริยยศ เป็นต้น

หากจะลองแจกแจงพระนามในพระสุพรรณบัฏ จะได้ว่า

.

ขัตติยะ
แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน, พระเจ้าอยู่หัว, กษัตริย์, เป็นชาตินักรบ, เป็นวรรณะที่ ๑ ใน ๔ วรรณะ หรือเจ้านาย
.

ราชะ
แปลว่า พระราชา (รากศัพท์มาจากคำว่า รช แปลว่าพอใจ)
.
นิคม
แปลว่า ย่านการค้า, หนทางพ่อค้า, ตลาด, หมู่บ้าน, หมู่บ้านใหญ่ , ตำบล, บาง หรือ นคร
.
สมมติ
แปลว่า ต่างว่า, ถือเอาว่า หรือ ที่ยอมรับกันเองโดยปริยาย
.
มไหสวรรย์
แปลว่า อำนาจใหญ่, สมบัติใหญ่ หรือ ความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
.
พระเจ้า
หมายถึง คำนำหน้านามของผู้เป็นใหญ่
.
นครศรีธรรมราช
หมายถึง เมืองนครศรีธรรมราช
.
อาจแปลรวมความได้ว่าพระเจ้านครศรีธรรมราชพระองค์นี้เป็น “พระเจ้าอยู่หัวผู้ยังความพึงใจให้แก่แผ่นดิน อำนาจบารมี(ของพระองค์)เป็นที่ยอมรับ (ทรง)เป็นใหญ่ในเมืองนครศรีธรรมราช”

.

เมืองนครศรีธรรมราช พบจารึกพระนามของเจ้าประเทศราชพระองค์นี้ บนจารึกแผ่นทองคำปลียอดพระบรมธาตุเจดีย์ เลขที่ จ.๑๕ ซึ่งเป็นอักษรขอมธนบุรี ภาษาไทย ดังที่ คุณก่องแก้ว วีระประจักษ์ และคุณเทิม มีเต็ม ได้ปริวรรตไว้ ความว่า

“ศุภมัศดุ พระพุทธศักราชล่วงแล้ว ๒๓๒๑ พระวัสสา
วันศุกร์ เดือนแปด แรมสองค่ำ ปีจอ สัมฤทธิ์ศก
สมเด็จเจ้าพระสังฆราชาคณะลังกาชาด ว่าที่คณะลังการาม วัดประตูขาว
แลสมเด็จพระเจ้าขัตติยประเทศราชฐานพระนคร
แลเจ้ากรมฝ่ายในราชเทวะ
ได้ชักชวนสัปปุรุษ ทายก เรี่ยไร ได้ทองชั่งเศษ
หุ้มลงมาถึงบัวได้รอบหนึ่ง วงลวดอกไก่บัวรอบหนึ่งเป็นสองรอบพลอยด้วยแหวน”

จารึกระบุพระนามแตกต่างจากในพระสุพรรณบัฏ คือมีคำนำหน้าพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้า” ตามอย่างที่ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.กาญจนา นาคสกุล ได้ให้ความเห็นว่าเป็นคำทางการที่ใช้นำหน้าพระนามพระมหากษัตริย์ในสมัยธนบุรี และคำต่อท้ายว่า “ประเทศราชฐานพระนคร” ซึ่งระบุฐานะของเมืองนครศรีธรรมราชว่าเป็น “ประเทศราช” กับทั้งตำแหน่งที่ตั้งที่อยู่ “ฐานพระนคร”
.
ซึ่งหากเป็นไปตามทฤษฎีของอาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ที่ว่าพระนามนั้นมักปรากฏ ๓ ส่วน คือส่วนที่เป็นพระนามเดิม สร้อยพระนาม และ พระนามแผ่นดิน ในที่นี้ ตรวจดูอย่างง่ายอาจได้ว่า สมเด็จพระเจ้าขัตติยราชนิคม เป็นพระนามเดิม สมมติมไหศวรรย์ เป็นสร้อยพระนาม และ พระเจ้านครศรีธรรมราช (ประเทศราชฐานพระนคร) เป็นพระนามแผ่นดิน

.

ส่วนของพระนามเดิมนี้ ปรากฏเหมือนกันทั้งในพระสุพรรณบัฏกับจารึก คือคำว่า “ขัตติยะ” แต่ด้วยคำแปลที่มีความหมายว่าพระเจ้าแผ่นดิน กับทั้งหลักฐานว่าทรงมีพระนามว่า “หนู” แล้ว ในชั้นนี้จึงสันนิษฐานไว้พลางก่อนว่า พระนามที่ปรากฏทั้งสองแห่งนี้ เป็นสมัญญานามที่ล้วนไม่ระบุพระนามเดิมฯ

 

ตำนานร่อนพิบูลย์: พระลากสองกษัตริย์ วัดหนา และเจ้าฟ้าทรงจระเข้

ตำนานร่อนพิบูลย์:
พระลากสองกษัตริย์ วัดหนา และเจ้าฟ้าทรงจระเข้

เมื่อแรกขึ้นล่องด้วยรถไฟ มักเลือกที่นั่งให้ติดหน้าต่างไว้เสมอ ทัศนะตอนมองออกไประหว่างโดยสารอยู่บนราง ทำให้สองข้างทางดูคล้ายภาพที่กำลังถูกดอลลี่ ส่วนเพลงประกอบและคำบรรยายแล่นแปลบปลาบอยู่แล้วในหูในหัวตามนิสัยพวกมีจินตนาการสูง

.

เส้นทางรถไฟสายแยกจากเขาชุมทองขึ้นไปจนสุดที่นครศรีธรรมราชนั้น ว่ากันว่าเป็นคุณอันประเสริฐของท่านเจ้าคุณผู้เฒ่าเมื่อสถิตที่พระรัตนธัชมุนีศรีธรรมราช สองฟากยังเพียบพร้อมดีด้วยรอยเจริญแรกนั้นกับที่ตกค้างอยู่ก่อนหน้า ทั้งชุมชน โรงเรียน และวัดวาอาราม

.

วัดหนา

วัดหนา อยู่ในเขตหมู่ที่ ๕ ตำบลเสาธง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ปัจจุบันมีชื่ออย่างไทยๆ ว่า “วัดสระแก้ว” คำว่า “หนา” นี้ ได้ความจากพระครูปลัดธงชัย วิปุโล เจ้าอาวาส ว่ามาจากรูปการณ์ที่มีคนอาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น

.

ท่านครูยังเล่าต่อไปอีกว่า บริเวณตั้งวัดนี้เป็นโคกสูง แต่ก่อนเป็นที่รกร้างช้างนอนมีน้ำรอบ คลองโคกครามเป็นเส้นสัญจรหลักเข้านอกออกใน มีเขามหาชัยเป็นหัวท่ากับทะเลหลวงเป็นปากบาง ดูเหมือนว่าคลองมีชื่อนี้จะเป็นที่มาของตำนานคู่วัดเสียด้วย

.

เล่าว่า สองเจ้าฟ้าพระนามลำลองว่าวิเวกและวิวง หนีราชภัยเมื่อสิ้นแผ่นดินพระเจ้าไสยลือไทผู้พระราชบิดาลงสำเภาใช้ใบมาจนถึงอ่าวนครศรีธรรมราช ล่องขึ้นไปจนถึงอู่ตะเภาแล้วแยกลงโคกคราม

.

ครั้นเห็นตำบลหนึ่ง เป็นที่สัปปายะสถานก็ผนวชบวชพระองค์ลงทรงศีล ส่วนเจ้าฟ้าวิวงผู้น้องล่องไปตะวันออกต่อแล้วจึงเลือกดอนหนึ่งขึ้นกอปรกิจเดียวกัน

.

เจ้าฟ้าทรงจระเข้

ลือกันติดปากจนเดี๋ยวนี้ ว่าพระน้องพระพี่เมื่อจะไปมาหาสู่กันนั้น ต่างกำหนดจิตเรียกเอาพระยากุมภีลชาติขึ้นมาเป็นพาหนะ ด้วยว่าคลองโคกครามนี้ก็เช่นเดียวกันกับทุกคลอง คือเป็นที่อาศัยของจระเข้ และดูเหมือนว่ายิ่งใกล้บ้านเรือนผู้คนก็ยิ่งชุกชุม บุญญานุภาพที่ต่อปากกันไปในเรื่องนี้ ทำให้ทั้งสองพระองค์เป็นที่เคารพนับถือโดยดุษณี

.

ท่าน้ำหน้าบ้านต่างผูกกระดิ่งไว้ เมื่อเจ้าขุนดำจระเข้ทรงว่ายไปถึงก็จะกระทบกระแทกพอให้กระดิ่งสั่นเป็นสัญญาณว่าเสด็จออกรับบิณฑบาตถึงหน้าเรือนแล้ว ส่วนเมื่อฤดูแล้งเล่ากันว่าทรงเสือ แต่ไม่ได้บอกว่าจะมีอะไรเป็นสัญญาณ คงเป็นเสียงคำรนอ่อนๆ ในลำคออย่างวิสัยแมวใหญ่กระมัง

.

โพธิ์พุ่มหนึ่งเล่าว่าเคยเป็นที่ปักกลดทรงศีล แต่แรกเป็นต้น “บองยักษ์” เมื่อตายลงโพธิ์และไทรขึ้นโอบแทน โบสถ์หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ภายในประดิษฐานพระประธานองค์หนึ่ง กับองค์ปูนปั้นขนาดย่อมอีก ๔ มีแผ่นสังกะสีจารึกว่าซ่อมใหญ่หลังพายุแฮเรียต

หน้าโบสถ์มีพระเจดีย์งามอยู่สามองค์ หัวนอนย่อมุมว่าเป็นที่เก็บกระดูกเจ้าขุนดำจระเข้ทรง องค์กลางทรงพระอัฐิเจ้าฟ้าวิเวกเป็นอย่างพระธาตุนครแต่เอวคอดไร้เสาหาน เบื้องตีนนอนรักษาเถ้าอังคารของพระอุปัชฌาย์ทัด

.

พระลากสองกษัตริย์

มรดกตกทอดสำคัญคือพระลากคู่ขวัญ มีชื่ออย่างทางการว่า “พระพุทธชัยมงคล” เล่าว่าแรกนั้นมีอยู่ ๓ ทอง ๑ เงิน ๑ สำริด ๑ องค์ทองเสด็จโดยสารรถไฟไปวัดพระมหาธาตุเสียนานแล้ว องค์สำริดทรงเทริดถมเงินอย่างนคร องค์เงินหล่อตันทั้งองค์ มีจารึกฐานระบุบอกว่าหลวงพรหมสุภา สร้างไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐

.

ฟังไปเพลินไป ประเด็นที่ค้างใจเก็บตั้งไว้เป็นข้อสังเกตส่วนตัว เช่นว่า เส้นทางน้ำ ความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยกับนครศรีธรรมราช ตัวตนของเจ้าฟ้ามีชื่อทั้ง ๒ วัดพี่ – วัดน้อง และสถาปัตยกรรมที่พบ เป็นอาทิฯ