ประวัติวัดหน้าพระลาน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ประวัติวัดหน้าพระลาน
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

หน้าพระลาน

“หน้าพระลาน” ภูมินามนี้ สอดคล้องกับผังเมืองโบราณ ที่เมืองสำคัญย่อมมี “พระลาน” ไว้สำหรับประกอบพระราชพิธี แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเมืองโบราณอื่นในภาคกลาง ได้แก่ กรุงศรีอยุธยาและกรุงเทพฯ กลับพบว่า นครศรีธรรมราชมีตำแหน่งแห่งที่ของพระลานในทิศตรงกันข้าม กล่าวคือ หน้าพระลานของกรุงเทพฯ ปัจจุบันคือถนนหน้าพระลาน ด้านทิศเหนือของพระบรมมหาราชวัง เช่นเดียวกันกับอยุธยา ที่มีวัดหน้าพระเมรุราชิการามวรวิหารเป็นอนุสรณ์ของรอยพระราชพิธี ก็มีตำแหน่งอยู่ทางทิศนี้ ในขณะที่หน้าพระลานของนครศรีธรรมราชกลับอยู่ทางทิศใต้ของเมือง

.

ประเด็นนี้ อาจนำไปสู่ข้อสังเกตได้ ๒ ประการคือ ประการแรก หากอ้างอิงตามหลักการที่หน้าพระลานควรอยู่ทางทิศเหนือ หน้าพระลานของนครศรีธรรมราช จึงไม่ใช่หน้าพระลานที่เป็นของเมืองในยุคกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีกำแพงล้อมเอาพระบรมธาตุเจดีย์เอาไว้ภายในเมือง แต่ควรเป็นของเมืองโบราณพระเวียง ที่อยู่ทางทิศใต้ลงไป ประการต่อมา หากอ้างอิงตามคติทิศสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่ว่าทิศใต้เป็นทิศแสดงปฐมเทศนา ข้อนี้สอดคล้องกับตำแหน่งของธรรมมาสน์ด้านทิศใต้ในพระวิหารทับเกษตร อันเป็นจุดรวมศูนย์ของเหล่าภาพจิตรกรรมคอเสา ที่ต่างกระทำอัญชลีหันหน้าไปสู่ คล้ายกับการจำลองฉากพระบรมศาสดาประทับนั่งใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ทักษิณสาขา แล้วเหล่าพุทธสาวกมาประชุมพร้อมกันที่ลานเบื้องหน้าพระพุทธองค์ หากเป็นไปตามข้อนี้ ก็จะเป็น “หน้าพระลาน” ได้ เหตุและปัจจัยดังกล่าวจึงอาจแสดงลักษณะเฉพาะของเมืองนครศรีธรรมราช

.

วัดหน้าพระลาน

วัดหน้าพระลาน สร้างขึ้นเมื่อปี พุทธศักราช ๑๘๐๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี ๒๔๙๓ เดิมเป็นวัดสำหรับพระราชาคณะที่ “พระสังฆราชาลังการาม” มีหน้าที่ดูแลรักษาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ทางทิศใต้ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีวัดในการปกครอง ๙๐ วัด เจ้าคณะแขวงขึ้นตรง ๗ แขวง

.

แต่เดิมเนื่องจากวัดพระมหาธาตุฯ เป็นเขตพุทธาวาสไม่มีพระสงฆ์ เพิ่งเริ่มมีการปลูกกุฎีในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) เมื่อทรงนิมนต์พระครูวินัยธร (นุ่น) จากวัดเพชรจริกมาปกครองวัดพระมหาธาตุฯ วัดหน้าพระลานจึงเป็นวัดสำหรับคณะสงฆ์จะได้พำนักเพื่อรักษาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ทำให้เป็นเสมือนเป็นแหล่งตักศิลาเพราะเป็นที่อันรวมพระภิกษุสงฆ์ผู้มีความรู้ความสามารถในเชิงช่างต่าง ๆ อาทิ ช่างหล่อ, ช่างปั้น, ช่างเขียน, ช่างไม้ แม้กระทั้งช่างทำเรือ จำพรรษาอยู่เป็นอันมาก

.

มีเกร็ดเรื่องเล่าในหมู่ชาวนครศรีธรรมราชว่า ครั้นถึงฤดูลมว่าว ราวเดือนสามเดือนสี่ ช่วงนั้นลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะหอบเอาความหนาวเย็นมาจากไซบีเรียและจีนแผ่ลงมา ลมบนแรงเหมาะแก่การเล่นว่าวจนเป็นชื่อเรียกลมท้องถิ่น สมัยก่อนมีคนเล่นว่าวกันทั่วไปแม้พระทั่งพระสงฆ์ โดยเฉพาะวัดหน้าพระลาน มีชื่อเสียงในการทำว่าวมาก จนครั้งหนึ่ง สายป่านพานไปถูกยอดพระบรมธาตุเจดีย์เข้าทำให้เอียงมากระทั่งทุกวันนี้

.

ดูเหมือนว่าคณะสงฆ์วัดหน้าพระลานแต่ก่อน จะมีบทบาทอย่างมากในเมืองนครศรีธรรมราช ความตอนหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้ในพระราชพิธี ๑๒ เดือน เกี่ยวกับการสวดภาณวารและภาณยักษ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า “…ข้าพเจ้าไปเมืองนครศรีธรรมราชคราวนี้ก็ได้ลองให้พระสงฆ์ที่วัดหน้าพระลานสวดภาณวารและภาณยักษ์ฟังดู ทํานองภาณวารมีเสียงเม็ดพราย ทํานองครุคระมากขึ้นกว่าทํานองภาณวารในกรุงเทพฯ นี้มาก นโมขึ้นคล้ายๆ ภาณยักษ์ แต่ภาณยักษ์เองนั้นสู้ที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ ที่กรุงเทพฯ เอามาตกแต่งเพิ่มเติมเล่นสนุกสนานกว่ามาก แต่คงยังได้เค้าคล้ายๆ กันทั้งสองอย่าง…”

.

นอกจากนี้ ความในความในตำรา ๑๒ เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ ก็ระบุเค้ารอยบางประการไว้เป็นสำคัญว่า “พระตำราพระราชพิธีสำหรับเมืองนครฯ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชา วัดหน้าพระลานเมืองนครฯ คัดส่งเข้ามาถวายพระสังฆราช วัดบางหว้าใหญ่”

.

บ่อน้ำศักสิทธิ์ วัดหน้าพระลาน

วัดหน้าพระลาน เป็นวัดเดียวที่ตั้งอยู่ปละหัวนอนหรือทิศใต้ขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ติดปากประตูชัยสิทธิ์ เข้าใจว่าแต่โบราณนั้น ปากประตูทางเข้า – ออกหลักของเมืองนครศรีธรรมราช จะมีวัดที่มีแหล่งน้ำสำคัญไว้ทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมและดื่มกินสำหรับเหล่าทแกล้วทหาร โดยที่ประตูชัยศักดิ์ด้านทิศเหนือเป็นทางออกมีบ่อน้ำวัดเสมาชัย ดังกวีประพันธ์กลอนไว้ความว่า “ดื่มกินครั้งใด มีชัยอำนาจ” ถือเป็นฤกษ์เป็นชัยและขวัญกำลังใจ ส่วนเมื่อกลับจากการศึกก็เข้าเมืองทางประตูชัยสิทธิ์แล้วต้องดื่มกินน้ำจากบ่อน้ำวัดหน้าพระลานเสียเพื่อแก้กฤติยาซึ่งถูกฝังเป็นอารรพ์กำกับไว้กับประตู ด้วยการ “กลบบัตร” ด้วยน้ำ จะเรียก “กลบบัตรรดน้ำ” เพื่อให้เข้ากันกับ “กลบบัตรสุมไฟ” ด้วยหรือไม่อย่างไรไม่ทราบ

.

แต่โบราณนั้นปรากฏว่ามี “พระราชพิธีนครถาน” ที่ว่าด้วยเมื่อพราหมณาจารย์ลงยันต์ถมเวทย์อาถรรพ์แผ่นเงิน แผ่นทองแดง แผ่นศิลา ตุ๊กตารูปราชสีห์ ช้าง และเต่า ตั้งศาลบูชาเทวดาตามลัทธิ เจริญพระเวทย์ครบพิธีฝ่ายพราหมณ์แล้ว ฝ่ายพุทธจะต้องเชิญเครื่องอาถรรพ์เหล่านี้เข้าสู่ปริมณฑลในโรงพิธี ให้สงฆ์ผู้ใหญ่นั่งปรกและเจริญพระพุทธมนต์ถึงสามวันสามคืน รุ่งขึ้นวันที่สี่ ซึ่งเป็นวันกำหนดฤกษ์จึงเชิญเครื่องอาถรรพ์ลงหลุมตั้งเสาประตู พราหมณ์ร่ายเวทย์ สงฆ์สวดมหาชัยปริตร ประโคมปี่พาทย์ ฆ้องชัย แตรสังข์ โห่ร้องยิงปืนเป็นฤกษ์ พร้อมกันนั้นพระสงฆ์จะเชิญน้ำพระพุทธมนต์ และทรายซึ่งนำเข้าปริมณฑลเจริญพระเวทย์และสวดพระปริตรพร้อมกับแผ่นอาถรรพ์และตุ๊กตาโปรยปรายไปตามแนวที่จะสร้างกำแพงเมืองโดยรอบทั้งสี่ทิศแล้วขุดวางรากสร้างกำแพงเมืองแล้ววางเสาประตู ข้างฝ่ายเมืองนครศรีธรรมราชก็มีพิธีที่เนื่องด้วยการโปรย “เงินเล็กปิดตรานะโม” และพรมน้ำพระพุทธมนต์รอบขอบเขตพระนครในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราชซึ่งน่าจะเข้าเค้า

.

ประตูชัยเมืองนครศรีธรรมราช มีมุขปาถะว่าอาถรรพ์ประตูเมืองนครศรีธรรมราชนั้น นอกจากฝังอยู่ตรงเสาสองข้างและใต้ธรณีประตูเป็นแนวยาวแล้วยังฝังไว้เหนือประตูด้วย คนเฒ่าคนแก่ยืนยันว่าอาถรรพ์ประตูชัยเมืองนครศรีธรรมราชนั้น แม้ใครจะเรืองฤทธิ์ขมังเวทย์อยู่ยงคงกระพันอย่างไร ถ้าลอดผ่านประตูนี้แล้ว ก็เป็นอันสิ้นเวทย์เสื่อมฤทธิ์ทันที ไม่เว้นแม้แต่คนเมืองนครศรีธรรมราชเอง แต่ก็มีของแก้ นั่นคือน้ำบ่อวัดหน้าพระลานนี้ คนเมืองนครศรีธรรมราชสมัยโบราณจะมีน้ำจากบ่อวัดหน้าพระลานติดตัวสำหรับล้างหน้าสระเกล้าแก้อาถรรพ์ติดตัวอยู่เสมอ

.

ความศักดิ์สิทธิ์ของบ่อน้ำวัดหน้าพระลานหาได้รู้จักกันแต่ในหมู่ชาวบ้านเมืองนครศรีธรรมราชแห่งเดียวไม่ ยังถูกเล่าเป็นที่เชื่อถือของชาวต่างบ้านต่างเมืองด้วย ปรากฏว่าเมื่อมาเยือนเมืองนครศรีธรรมราชก็ต้องเอาน้ำบ่อวัดหน้าพระลานติดตัวกลับเสมอ ผู้ที่ไม่มีโอกาสมาก็ไหว้วานให้นำไปเป็นของฝาก เพราะนอกจากเรื่องการแก้อาถรรพ์แล้ว บ่อน้ำวัดหน้าพระลานนี้ เชื่อสืบกันมาว่าหากใครได้ดื่มกินจะมีปัญญาเฉียบแหลม มีบุญวาสนาสูง และมีโอกาสได้เป็นขุนน้ำขุนนาง แม้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันอังคาร เดือน ๑๐ ขึ้น ๖ ค่ำ รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๗ (๑๑ กันยายน ๒๔๓๑) ในสมัยเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช (หนูพร้อม) เป็นเจ้าเมือง พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดหน้าพระลาน ทรงใช้หมาจากเป็นภาชนะสำหรับตักน้ำมาเสวยด้วยพระองค์เอง แล้วทรงรับสั่งถามสมภารศรีจันทร์ เจ้าอาวาสวัดหน้าพระลานขณะนั้นว่า ศิษย์วัดหน้าพระลานเมื่อได้ดื่มกินน้ำในบ่อนี้แล้วจะได้เป็นใหญ่เป็นโตจริงหรือ สมภารฯ ได้ถวายพระพรตอบว่า ศิษย์วัดหน้าพระลาน ถ้าได้ดื่มน้ำในบ่อนี้แล้ว อย่างเลวก็สามารถที่จะคาดว่าวขึ้น

.

คำเปรียบเปรยเพื่อให้เห็นภาพที่ว่า แม้เด็กวัดอย่างเลวก็ “คาดว่าวขึ้น” นี้ การคาดว่าวคือการผูกสายซุงที่อกว่าว ซึ่งต้องใช้ความชำนาญส่วนบุคคล จัดว่าเป็นทักษะเฉพาะด้านที่ต้องผ่านการฝึกฝน ในที่นี้เด็กวัดอย่างเลว หมายถึงเด็กวัดทั่วไปที่ไม่สันทัดในเรื่องนี้ เมื่อได้กินน้ำในบ่อนี้แล้วก็สามารถที่จะทำได้ ทั้งนี้ก็มีข้อปฏิบัติเป็นเคล็ดคือต้องตักทางทิศอีสานของบ่อจึงจะถือว่าดีและได้ผล

.

เรื่องเล่า ขุนอาเทศคดี

มีเรื่องเล่ากันมาว่า ครั้งหนึ่ง เจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช (หนูพร้อม) เคยสั่งให้ถมบ่อแล้วสร้างหอไตรทับไว้ เพราะเห็นว่าชาวบ้านไปอาบ – กินน้ำบ่อนี้กันมาก เกรงว่าจะมีผู้มีปัญญามีบุญวาสนาขึ้นจนเป็นภัยต่อการปกครอง เรื่องนี้ ขุนอาเทศคดี (กลอน มัลลิกะมาส) ได้กล่าวถึงในบทความเรื่อง “น้ำศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช” ในหนังสือจุฬาฯ นครศรีธรรมราช ๒๓ ตุลาคม ๒๕๑๔ ว่า “…เมื่อประมาณ ๕๐ กว่าปีมานี้ ข้าพเจ้าได้ไปดูหอไตรที่วัดหน้าพระลาน เห็นหอไตรที่ว่านั้นมีอยู่จริง อยู่ทางทิศอีสานของวัด แต่ชำรุดทรุดโทรมด้วยความเก่าแก่คร่ำคร่า คงมีแต่ฐานกับเสาอิฐปูนหักๆ ส่วนเรื่องที่เล่าลือกันไม่ปรากฏว่ามีใครเชื่อถือเป็นจริงเป็นจังนัก เพราะยังมีชาวบ้านชาวต่างเมืองไปอาบกินลูบตัวลูบหน้าประพรมศีรษะด้วยความนิยมนับถือกันอยู่ ครั้นเมื่อประมาณ ๓๐ ปีมานี้ พระครูการาม (ดี สุวณฺโณ) เจ้าอาวาส ได้ขุดรื้อฐานหอไตร ถามถึงการถมบ่อ ท่านบอกว่าท่านก็ได้ขุดค้นหาซากบ่อน้ำเพื่อพิสูจน์ความจริงกัน แต่ก็ไม่พบร่องรอยเลย ท่านเข้าใจว่าเป็นเรื่องใส่ร้ายป้ายสีทับถมกันมากกว่า และบัดนี้ ท่านได้ก่อปากบ่อให้สูงขึ้น ทำกำแพงล้อม ถมพื้นคอนกรีตข้างๆ บ่อ บำรุงรักษาทำความสะอาดอย่างดีแล้ว บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้อยู่ทางทิศตะวันออกพระอุโบสถ…”

.

ที่เล่าลือกันไปนี้ มีข้อปลีกย่อยที่หนักเข้าถึงขั้นบ้างว่าเป็นพระประสงค์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่รับสั่งให้ถมก็มี อย่างที่ชาวนครศรีธรรมราชบางจำพวกพยายามทำหน้าที่เป็นศาลเตี้ย โยนความและตั้งแง่เป็นเรื่องซุบซิบโปรยไปประกอบรูปการณ์ของบ้านเมืองจนคล้ายกับว่าเป็นเรื่องจริงใส่ความผู้มีอำนาจเพื่อแสดงความชอบธรรมบางประการของตนในฐานะผู้เป็นเจ้าของพื้นที่อยู่เนืองๆ

.

น้ำบ่อหน้าพระลานนี้ ตรี อมาตยกุล ได้พรรณนาไว้ในบทความ “นครศรีธรรมราช”จากหนังสือรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ ว่า “…เป็นบ่อที่ขุดมาช้านานแล้ว น้ำในบ่อนั้นใสสะอาด รับประทานดีมีรสจืดสนิท ชาวนครศรีธรรมราชพากันมาตักไปรับประทานกันเสมอ…” ซึ่งในปัจจุบันก็ยังเป็นเช่นนั้นหากแต่ลดวิถีของการบริโภคน้ำบ่อลงไปตามยุค ส่วนการอุปโภคก็ด้วยเหตุเดียวคือเพื่อความเป็นสิริมงคลแก้อาอรรพ์คุณไสยและเสริมปัญญาบารมี

.

มากไปกว่านั้นทั้งหมด บ่อนี้เป็นบ่อเดียวในทุกแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ปรากฏประวัติว่า พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาเพื่อพิสูจน์ความศักดิ์สิทธิ์ด้วยพระองค์เอง จึงควรค่าแก่การจารึกไว้เป็นอนุสรณ์เป็นที่ยิ่ง

.

พระพุทธรูปสำริดประทับยืน ปางประทานอภัย

พระพุทธรูปยืนปางประธานอภัย ทรงเครื่อง เนื้อสำริด ศิลปะอยุธยา สูงรวมฐาน ๒๖๒ เซนติเมตร องค์พระและฐานสามารถถอดแยกออกจากกันได้ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๐๖ หน้าที่ ๗๒๙ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒ และบริเวณรอบขอบฐานพระพุทธรูปซึ่งเป็นฐานแปดเหลี่ยมมีจารึกอักษรไทย ภาษาไทยด้านละ ๒บรรทัดเว้นด้าน ๗ และ ๘ มีด้านละ ๑ บรรทัด การอ่านจารึกนี้จะต้องอ่านบรรทัดบนจะมีอักษรจารึกอยู่ ๖ ด้าน บรรทัดล่างมีอักษรจารึกอยู่ ๘ ด้านมีการจารึกเรียงตามลักษณะการอ่านดังนี้

 

ด้านที่ ๑ บรรทัดบน             พุทศกราชใด ๒๒๔๐ พระพรณสา

ด้านที่ ๒ บรรทัดที่บน           เสคสังยา ๓ เดือน ๕ วัน ณ วัน ๔+๙

ด้านที่ ๓ บรรทัดบน             คำ ฉลู นพศก ออกขุนทิพภักดีศีรสำพุด

ด้านที่ ๔ บรรทัดบน             มีไจโสมนัด………………………………………

ด้านที่ ๕ บรรทัดบน             …………………พระพุทธเจ้าไวไนสาศนาจวน

ด้านที่ ๖ บรรทัดบน             ๕๐๐๐ พระพรณสา เปน ๕๐๐ ชั่ง ทั้งถาน

ด้านที่ ๑ บรรทัดล่าง            นางคงจันเป็นช่าง และพระพุทธรูปอ่ง

ด้านที่ ๒ บรรทัดล่าง            นิง สูง ๕ ศอกเสด เปนดีบุก ๒๘๐ ชั่ง พระ

ด้านที่ ๓ บรรทัดล่าง            อรหัน ๒ รูป เปนดีบุก ๑๖๐ ชั่ง เทกบเปน

ด้านที่ ๔ บรรทัดล่าง            ดีบุก ๔๔๐ ชั่ง……………………………………….

ด้านที่ ๕ บรรทัดล่าง            ………………………………ไว้ด้วยกันเป็นดุจนี้

ด้านที่ ๖ บรรทัดล่าง            ไสชร ไวตราบเทานิภภาร แลแผ่บุนนี้ไปแดมา

ด้านที่ ๗ บรรทัดล่าง            ดาบิดาลูกหลานภรรญายาดิทั้งหลายให้

ด้านที่ ๘ บรรทัดล่าง            พ้นทุกเถิด

.

พระพุทธรูปสำริดประทับยืน ปางประทานอภัย (ห้ามญาติ)

พระพุทธรูปยืนปางประทานอภัย (ห้ามญาติ) เนื้อสำริด ศิลปะอยุธยา สูง ๑๘๒ เซนติเมตร กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ ๑๐๖ ตอนที่ ๑๖ หน้า ๗๒๙ วันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๒

.

พระพุทธรูปสำริดประทับนั่ง

 ฐานพระพุทธรูปนั่ง เนื้อสำริด ลักษณะฐานสิงห์แบบย่อมุมไม้สิบสอง ซ้อนกันสองชุด ต่อด้วยท้องไม้ประดับลายกระจัง กึ่งกลางด้านหน้าฐานพระ มีผ้าทิพย์ทำเป็นชายผ้าซ้อนกันสองชั้น มีลายอย่างกากบาท อยู่กลาง และลายเฟื่องอุบะอยู่ใกล้ชายผ้า ด้านหน้ามีอักษรจารึกอยู่ ๑ แถว โดยจารึกไปตามลักษณะของพื้นที่เป็นฐานย่อมุม  ด้านหลังเป็นฐานโค้งอย่างพระพุทธรูปทั่วไปตอนบนมีจารึก ๕ บรรทัด ใต้ฐานนั้นเป็นลายพรรณ พฤกษา อักษรจารึกมีดังนี้

 

จารึกบริเวณด้านหน้า

          พุท ศักราช…หไ… ….แล้ว ใด้ ๒๒๕๓ พระพรร ณี สาจุล ศักราช…๑๐๗๒…กุน

 

จารึกบริเวณด้านหลัง

บรรทัดที่ ๑    คำ ปีขาน โทศก บาทเจาพระเชนเปนประทานโดยคชาปิฎก

บรรทัดที่ ๒    แลสำเมร็จผ่านปีชวด อนุโมทนา ทอง…ชั่ง แลนิมนบาดเจา

บรรทัดที่ ๓    พระพร แลบาทเจ้าจึงให้…เปนช่างสทำพระพุทปักติมากรเปนทอง

บรรทัดที่ ๔    ๒๒๐ ชั่ง เปนฃี้ผิง ๖๒๐ ชั่ง อุทิศไว้ในพระสาศนาตราบเทา ๕๐๐๐ พระ

บรรทัดที่ ๕    พรัมสาฃอใหสำเมร็จบุญตราบเท่านิพานเถิด

***ในส่วนของคำอธิบายเกี่ยวกับจารึกยังคงเป็นกระทู้สำคัญที่รอการค้นคว้าศึกษาเพิ่มเติมกันต่อไป

เปิดจดหมายจากเด็กชายบ้านศรีธรรมราช ถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

เปิดจดหมายจากเด็กชายบ้านศรีธรรมราช
ถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

จากแหลมตะลุมพุก
ถึงบ้านศรีธรรมราช

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรที่ประสบวาตภัยจากพายุโซนร้อนแฮเรียต เมื่อปีพุทธศักราช 2505 ซึ่งเป็นภาพจำสำคัญของ “แหลมตะลุมพุก” อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช พระองค์ทรงมีความห่วงใยในความเดือดร้อนของราษฎรผู้ประสบภัยในครั้งนี้เป็นอย่างมาก จึงพระราชทานทุนทรัพย์จากเงินโดยเสด็จพระราชกุศล จำนวน 910,000.-บาท ให้กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงมหาดไทย เพื่อใช้เป็นทุนจัดตั้งสถานสงเคราะห์เด็กขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ในการให้การอุปการะเด็กที่บิดามารดาหรือผู้ปกครองเสียชีวิต หรือได้รับความเดือดร้อนจากวาตภัยครั้งนั้น

.

หมายความว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช คือผู้พระราชทานกำเนิดสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านศรีธรรมราชนั่นเอง จึงทำให้ทุกคนที่ผ่านการดูแลอุปการะจากบ้านหลังนี้ ต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นเหลือจะประมาณและพรรณนา เพราะตระหนักดีว่า ถ้า “ไม่มีพ่อ ก็ไม่มีบ้าน”

.

จนเมื่อเสด็จสู่สวรรคาลัย ยังความโศกเศร้ามาสู่พสกนิกรถ้วนไทยประเทศ กลุ่มนักเรียนทุนพระราชทาน ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงได้เชื้อเชิญชาวนครศรีธรรมราชจัด“พิธีจุดเทียนศรัทธาถวายความอาลัย” เพื่อร่วมน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ กับทั้งรวมใจชาวนครศรีธรรมราชน้อมส่งเสด็จพระธรรมราชาสู่สวรรคาลัย ในวันเสาร์ ที่ 5 พฤศจิกายน 2559 เวลา 18.00 น.

.

พิธีดังกล่าวเป็นไปตามกำหนดการ จนดำเนินมาถึงช่วงที่ผู้แทนเด็กจากสถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านศรีธรรมราช จะออกมาอ่าน “จดหมายถึงพ่อ” ดูเหมือนว่าเนื้อความในจดหมายจะเป็นบทสนทนาจาก “ลูก” ถึง “พ่อ” ที่สื่อสารบางอย่างถึงกัน และผู้ร่วมพิธีทั้งหมดก็ต่างรู้สึกร่วม ในจดหมายฉบับนั้น เขียนไว้สั้น ๆ แต่มันมากพอที่จะทำให้ทุกคนที่ได้ยิน ณ ขณะนั้นใจสั่นเครือ ในนั้นเขียนว่า…

 

“พ่อครับ
ผมยังจำได้ดีว่าพ่อเคยบอกกับผมและน้องๆ ในบ้าน ว่าพ่อจะอยู่ถึงอายุ 120 ปี
ในตอนนั้นผมคงจะโตเป็นหนุ่ม เรียนจบ มีงานทำและคงแบ่งเบาภาระของพ่อได้บ้างแล้ว

พ่อครับ
ตั้งแต่ผมเกิดมา ทั้งที่คนอื่นมองว่าผมกำพร้า ขาดความอบอุ่น และด้อยโอกาส
แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เลย

พ่อครับ
ทุกคนในบ้าน ทั้งพ่อใหญ่ แม่บ้าน พ่อบ้าน บอกผมและน้องๆ เสมอ
ว่าบ้านนี้พ่อสร้างให้ พ่อคือคนที่คอยดูแลเอาใจใส่ในความเป็นอยู่ อาหารการกิน การศึกษา พ่อห่วงแม้กระทั่งชีวิตในอนาคตเมื่อเราโตเป็นหนุ่ม

พ่ออาจจะไม่รู้
ว่าทุกครั้งก่อนกินข้าว คนแรกที่พวกเราคิดถึงคือพ่อ
เราขอบคุณพ่อทุกครั้งก่อนที่จะตักข้าวคำแรกเข้าปาก
เราพูดว่า “อาหารมื้อนี้ ที่อยู่ตรงหน้าของข้าพเจ้า ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”
ไม่มีน้องๆ ในบ้านคนไหนไม่รู้จักพ่อ ทุกหอพักมีรูปของพ่อ เกือบทุกมุมในบ้านมีรูปของพ่อ

พ่อครับ
ลูกรู้ว่าพ่อแค่อยากทำให้ลูกสบายใจว่าพ่อจะอยู่กับลูกตลอดไป สัญญาที่พ่อบอกมันมีคุณค่า พ่อไม่ได้อยู่กับลูกเพียงแค่ 120 ปีหรอกครับ พ่อจะอยู่กับลูก และน้องๆ ในบ้านตลอดไป

รักพ่อเท่าชีวิต
ลูกของพ่อ”

น้ำท่วมเมืองนครบอกอะไร ? เมื่อประวัติศาสตร์สามารถใช้เป็นเครื่องมือจัดการภัยพิบัติ

น้ำท่วมเมืองนครบอกอะไร ?
เมื่อประวัติศาสตร์สามารถใช้เป็นเครื่องมือจัดการภัยพิบัติ

 

น้ำขึ้นเหอ

ขึ้นมาคลักคลัก

อย่าเล่นน้ำนัก

น้ำเหอมันอิพาเจ้าไป

 

ถ้าเข้ขบเจ้า

ร้องเร่าหาใคร

น้ำเหอมันอิพาเจ้าไป

ตอใดได้มาเล่าเหอฯ

 

เช้านี้ หลายคนคงง่วนอยู่กับการติดตามสถานการณ์ “น้ำ” ในพื้นที่นครศรีธรรมราชอย่างใจจดใจจ่อ พี่น้องข้างเหนือ(ลานสกา)ก็อัพเดทน้ำเหนือที่บ่าลงมา “คลัก ๆ” โหมในพระ(เมืองนครศรีธรรมราช)ทางน้ำผ่าน ก็ติดตามระดับน้ำจากกล้อง CCTV ชนิดนาทีต่อนาที ในขณะที่ชาวนอก(ปากพนัง)กำลังกุลีกุจอยกข้าวของขึ้นที่สูงเพราะน้ำใหญ่(น้ำทะเลหนุนสูง)

.

ราวสิบปีให้หลังมานี้ เราจะสังเกตเห็นว่า เมื่อน้ำท่วมภาคเหนือและอีสาน มันหมายถึงการส่งสัญญาณมาถึงภาคใต้ไปโดยปริยาย ไม่ได้หมายความว่าน้ำก้อนเดียวกันจะไหลต่อเนื่องเรื่อยลงมา แต่คือความ “ปกติใหม่” ที่แปลจากภาษาหรั่งว่า New Normal ของธรรมชาติที่เราอาจไม่ทันได้ทำความเข้าใจ

.

เราซ้อมหนีไฟ

แต่ไม่เคยมีการทำความเข้าใจน้ำ

.

ดูเหมือนว่าอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ จะทำให้ฝนเริ่มตั้งเค้าตกแล้วท่วมจากภาคเหนือก่อน ไล่มาภาคกลาง แล้วค่อยเป็นคิวของภาคใต้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือไม่ก็ธันวาคม

.

มันสอดคล้องต้องกันกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวและบรรดาวัฒนธรรมที่เนื่องกับน้ำ ที่เห็นว่ามักจะมีลำดับตั้งแต่ เหนือ อีสาน กลาง แล้วมาสู่ใต้

.

การศึกษาธรรมชาติของน้ำ

ความสามารถในการรักษาพื้นที่ไว้ไม่ให้ท่วม

หรือท่วมในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

จึงคือการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ

แม้ว่าจะท่วม แต่ก็พอจะรับมือได้

.

ความจริง ชาวเราผูกพันกับสายน้ำมาแต่ไหนแต่ไร “ฤดูน้ำหลาก” หรือที่ชาวนครเรียกกันว่า “น้ำพะ” หรือ “น้ำพ่า” จึงไม่ใช่เรื่องน่าตระหนกตกใจเช่นทุกวัน เพราะบ้านในที่ราบที่ลุ่มแต่แรกมักทำใต้ถุนสูง ที่สำคัญคือเราเตรียมซ่อมแซมเรือประจำบ้านของเราแล้วตั้งแต่เข้าพรรษา

.

ข้าวซังลอย

ผลิตผลทางการเกษตรก็ดูใช่ว่าจะน่าห่วงเพราะข้าวพันธุ์ “ซังลอย” ทนน้ำท่วมสูงได้ดี น้ำมากก็พายเรือชมทุ่ง พายละล่องท่องไปเยี่ยมเรือกสวนของเพื่อนบ้าน เจอเรือสาวฟากหัวนอน ก็ขยับลูกกระเดือกกระเอมเกรียวเกี้ยวกัน น่ามองก็ตอนพระท่านพายเรือรับบาตรแทนการเดินบนหัวนาเมื่อคราวหน้าแล้ง นี่ยังไม่ได้พูดถึงปลาแปลกที่เที่ยวแหวกว่ายมาล้อเรือ น้ำนี่ใสแจ๋วจนมองเห็นความแวววาวของเกล็ดปลาเลยจริงเทียว

.

อย่างเพลงช้าน้องที่ยกมาจั่วหัว ก็สะท้อนภาพการ “เข้าใจธรรมชาติ” ของคน ในลักษณะแสดงความรู้สึกร่วมมากกว่าความเป็นปฏิปักษ์ น้ำขึ้นคลัก ๆ นัยว่าน้ำแรงน้ำเชี่ยว ก็อย่าลงไปเล่นน้ำ ทั้งแรงน้ำและสัตว์ร้ายจะหมายเอาชีวิตเสีย นอกจากนี้ยังมีคติโบราณที่สะท้อนการเข้าใจธรรมชาติของคนยุคก่อนอีกมาก เช่นในสวัสดิรักษาคำกลอนตอนหนึ่งว่า

 

“อนึ่งอย่าด่าว่าแดดแลลมฝน

อย่ากังวลเร่งวันให้พลันดับ

เมื่อเช้าตรู่สุริยงจะลงลับ

จงคำนับสุริยันพระจันทรฯ”

.

กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช

ถ้าเว้นเสียจากอาการที่น้ำฝนปริมาณมาก ถูกถนน บ้านเรือน และอาคารสถานที่ขวางกั้นทางไหลตามธรรมชาติ กับปฏิกูลมูลฝอยดักร่องรูท่อจนทำให้ต้องเจิ่งนองรอการระบายตามระบบของมนุษย์แล้ว เราจะไม่เคยเห็นสภาพของพื้นที่ภายในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในสถานะน้ำท่วมเลย พื้นที่ที่ว่านี้ ในปัจจุบันมีแนวถนนศรีธรรมโศกด้านทิศตะวันออก ถนนศรีธรรมราชด้านทิศตะวันตก แนวกำแพงริมคลองหน้าเมืองด้านทิศเหนือ และซอยราชดำเนิน ๕๔ ต่อ ๗๕ ด้านทิศใต้ เป็นขอบเขต

.

เคยตั้งข้อสังเกตไว้ครั้งหนึ่งจากปัจจัยการเลือกภูมิสถานข้อสำคัญในการสร้างบ้านแปงเมือง คือเรื่องการจัดการน้ำ เพราะน้ำ เป็นตัวแปรที่สื่อแสดงถึงความมั่งคั่งด้านทรัพยากรธรรมชาติของบ้านเมือง อาจกล่าวได้ว่า ถ้าน้ำดี บ้านเมืองก็จะดี ประชากรก็อยู่ดีมีสุข ดังจะเห็นได้จากพงศาวดารโยนก เมื่อพญาเม็งรายเชิญพญาร่วงแห่งสุโขทัยกับพญางำเมืองแห่งพะเยามาช่วยหาที่ตั้งเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ก็ได้อาศัยศุภนิมิตชัยมงคลประการที่ ๕ (จากทั้งหมด ๗ ประการ) มาเป็นข้อพิจารณา ดังว่า “…อนึ่ง อยู่ที่นี่เห็นน้ำตกแต่เขาอุสุจบรรพต คือดอยสุเทพไหลลงมาเป็นลำน้ำ…เป็นชัยมงคลประการที่ ๕…” ส่วนเมืองสุโขทัยของพญาร่วงเองก็สร้างโดยศุภนิมิตชัยมงคลเช่นเดียวกันนี้ เพราะมีเขาหลวงเป็นแหล่งต้นน้ำใกล้ตัวเมือง เพียงแต่ทำสรีดภงค์กั้นระหว่างซอกเขา ก็ทำให้มีน้ำกินน้ำใช้บริบูรณ์ตลอดปี ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างเมืองทางภาคเหนือนั้นต้องอิงภูเขาเป็นภูมิศาสตร์สำคัญ ส่วนการสร้างเมืองในภาคกลางซึ่งเป็นที่ราบลุ่มห่างไกลจากภูเขานั้น ก็ต้องอิงแม่น้ำและลำคลองเป็นเครื่องประกันความอุดมสมบูรณ์

.

แต่ภายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ กลับไม่มีสายคูคลองที่จะใช้สอยเพื่อประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค ตลอดจนการเป็นเส้นทางคมนาคม นั่นก็เพราะว่าเมืองนครศรีธรรมราชมีแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษอย่าง “น้ำซับ” จากตาน้ำและเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่มีตลอดสันทรายนี้ คือตั้งแต่ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ เรื่อยขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงอำเภอสิชล

.

สันทรายนครศรีธรรมราช

ลักษณะของดินปนทรายภายในเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเครื่องมือกรองน้ำตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการมีเทือกเขาหลวงอยู่ทางทิศตะวันตกและมีทะเลอยู่ทางทิศตะวันออก ทำให้น้ำจากที่สูงซึ่งมีปกติไหลลงสู่ทะเลนี้ ผ่านเข้ามากรองด้วยสันทรายดังกล่าวแล้วสะสม ซึมซับ อุดมอยู่ในชั้นดินชั่วนาตาปี เราจึงเห็นบ่อน้ำที่ปัจจุบันถูกสถาปนาให้เป็นแหล่งน้ำสำคัญและศักดิ์สิทธิ์อยู่รายไปสองฟากถนนราชดำเนิน ทว่าหากขุดนอกสันทรายลงไปด้านทิศตะวันออกแล้วจะได้น้ำกร่อย เช่นครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายู เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๘ ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในที่ประชุมรักษาพระนคร ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ ความว่า “…ที่ตำบลนี้ (ปากพนัง) ลำบากอยู่แต่ด้วยน้ำ ถ้าขุดบ่อในที่ซึ่งเป็นดินเลนใกล้แม่น้ำๆ เปรี้ยวใช้ไม่ได้ ถ้าออกไปขุดริมชายทะเล ห่างทะเลขึ้นมาสัก ๓๐ เส้น กลับได้น้ำจืด…”

.

บนสันทรายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ จึงเป็นชัยภูมิเหมาะสมที่สุด เพราะแหล่งน้ำสมบูรณ์ ทั้งนี้ นอกจากประเด็น “น้ำมี” แล้ว อีกข้อที่ต้องพิจารณาร่วมกันคือ เมื่อถึงคราว “น้ำมาก” หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า “น้ำพะ” เล่า จะจัดการอย่างไร ?

.

น้ำฝนหลั่งหล่นลงมาในเขตกำแพงเมืองก็ซึมซาบลงผิวดินไปสะสมเป็นน้ำซับ ถือเป็นการเติมเต็มส่วนที่พร่องลงจากการใช้สอยมาตลอดทั้งปี ส่วนน้ำเขาที่ไหลบ่าเข้ามาสมทบจากเหนือ โดยมีคลองท่าดีเป็นเส้นลำเลียงนั้น เมื่อถึงหัวท่าก็ถูกแยกออก แพรกหนึ่งขึ้นเหนือไปเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตกและเหนือ แพรกหนึ่งตรงไปเป็นคลองป่าเหล้า อีกแพรกแยกลงใต้ไปเป็นคลองสวนหลวง เมื่อพ้นรัศมีที่จะทำให้น้ำท่วมเมืองแล้ว ทั้งสามแพรกก็กลับมารวมกันเป็นหัวตรุดหมุดหมายของคลองปากนครก่อนจะไหลออกสู่ทะเลหลวง

.

สิ่งที่ต้องสังเกตใหม่กันใหญ่อีกครั้งคือ เมื่อปลายพฤศจิกายนต่อธันวาคม ๒๕๖๓ หลายคนหลายวัยต่างจำกัดเอาไว้ว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบชีวิต” โดยเฉพาะในช่วงค่ำของวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ ที่มวลน้ำทั้งดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ เม็ดฝน และล้นทะลักมาจากคลองท้ายวังชายกำแพงแพงตะวันตกเข้าท่วมถนนราชดำเนินซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตกำแพงเมืองแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

.

น้ำท่วมเมืองนครศรีธรรมราช

พื้นที่ที่ชาวนครเพิ่งได้มีโอกาสร่วมทรงจำกันว่าน้ำท่วมไปถึงในครั้งนั้นมี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดซึ่งน้ำใช้ถนนเทวบุรี ต่อนางงาม ไหลไปสู่ประตูลอด อีกจุดคือหอพระอิศวร ตรงนี้เส้นทางน้ำขาดช่วงไม่ต่อเนื่องจากคูเมืองทิศตะวันตก เข้าใจว่าเป็นน้ำฝนและที่ดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ ส่วนสุดท้ายคือแยกพานยมอาการคล้ายตรงหอพระอิศวร จุดนี้ใกล้พระธาตุที่สุดซึ่งส่วนของในพระนั้น ยังคงรักษาความเป็น “โคกกระหม่อม” ไว้ได้

.

มาถึงบริเวณที่เรียกว่า “โคกกระหม่อม” นี้ มีทฤษฎีการให้ชื่อบ้านนามเมืองข้อหนึ่งว่าด้วยเรื่องทำเลที่ตั้งซึ่งมักบัญญัติให้สอดคล้องตามภูมินาม สังเกตได้จากชุมชนที่ออกชื่อขึ้นต้นด้วย เขา ป่า นา เล ห้วย หนอง คลอง บึง โคก สวน ควน ไร่ ฯลฯ แล้วตามด้วยความจำเพาะบางประการของภูมิประเทศนั้นๆ สิ่งอันบรรดามีในพื้นที่ หรือเหตุการณ์สำคัญที่มีอิทธิพลต่อสำนึกร่วมของผู้คน

.

ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างบ้าน “ตลิ่งชัน” อาจไม่อยู่ในกลุ่มคำขึ้นต้นที่ยกตัวอย่าง แต่ใช้ทฤษฎีเดียวกันคือว่าด้วยการกำหนดชื่อด้วยภูมิประเทศได้ โดยอรรถแล้ว ความชันของตลิ่งตามแนวคลองในจุดนี้ อาจเป็นที่สุดกว่าจุดอื่น จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จนถูกกำหนดใช้เป็นชื่อชุมชนรวมถึงเป็นแลนด์มาร์คของการคมนาคมทางน้ำในอดีต

.

ไม่ว่าตลิ่งจะชันเพราะเป็นที่สูงหรือระดับน้ำในสายคลองก็ตาม โดยนัยแล้วชื่อนี้สื่อชัดว่าตลิ่งชันเป็นที่ “พ้นน้ำ”

.

เมื่อมรสุมระลอกนั้น ตลิ่งชันกลับเป็นพื้นที่แรกๆ ของนครศรีธรรมราชที่ถูกน้ำท่วมถึง สภาพการณ์เช่นนี้อาจชี้ให้เห็นว่า คุณสมบัติดั้งเดิมของภูมิประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรบางอย่าง การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่ละเลยต้นทุนและการดำรงอยู่ซึ่งตัวตน อาจส่งผลให้คุณค่าของภูมิสังคมถูกล็อคดาวน์ให้หลงเหลืออยู่เพียงแค่ชื่อท่ามกลางสภาพภูมิอากาศของโลกที่ไม่เคยหยุดเปลี่ยนแปลง

.

แล้วมรสุมระลอกนี้ รวมถึงระลอกต่อ ๆ ไป

เราจะเลือกถือและทิ้งเครื่องมือจัดการภัยพิบัติอะไรเป็นของสามัญประจำเมืองฯ

 

 

อาชีวะสร้างคน เด็กอาชีวะสร้างชื่อเมืองนคร คุณ ณภัทร มาศเมฆ และ คุณ เสกสรร ขันเพชร พร้อมคณะอาจารย์

“อาชีวะสร้างคน คนสร้างชาติ” คือวลีหนึ่งที่สะท้อนถึงความสำคัญของระบบการเรียนและบุคลากรในหลักสูตรการศึกษาในสายอาชีพ แต่ทว่าในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นเด็กอาชีวะกลับกลายเป็นกลุ่มเด็กที่ไม่ค่อยได้รับโอกาสมากอย่างที่ควรจะเป็น ด้วยเพราะค่านิยมที่เรามักจะปลูกฝังให้ลูกหลานเข้าศึกษาต่อในสายสามัญเพื่อเป้าหมายที่สูงขึ้นในระดับอุดมศึกษาต่อไปนั่นเอง แม้จะเป็นกลุ่มคนที่ถูกมองข้ามความสำคัญแต่เมื่อโอกาสมาถึงก็ยังมีเด็กอาชีวะคู่หนึ่งที่สามารถคว้าโอกาสสำคัญนั้นเอาไว้ได้และต่อยอดไปสู่ความสำเร็จเป็นรางวัลชนะเลิศถ้วยพระราชทานในระดับประเทศ ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับเด็กอาชีวะที่สามารถสร้างชื่อเสียงในระดับประเทศและเป็นคนต้นแบบทั้ง 2 คนคือ น้องแคน ณภัทร มาศเมฆและน้องน็อต เสกสรร ขันเพชร รวมถึงอาจารย์ผู้คุมการฝึกซ้อมอย่างอาจารย์อรอุมา ทองโอ อาจารย์ประจำแผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราช

ทำความรู้จักกับ 2 คนเก่งผู้สร้างชื่อในระดับประเทศและผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

2 คนเก่งผู้เป็นต้นแบบที่สร้างความภูมิใจให้กับชาวนครศรีธรรมราชจากผลงานชนะเลิศการแข่งขันสุดยอดทักษะสายสัญญาณและเน็ตเวิร์คก็คือน้องแคน ณภัทร มาศเมฆ ซึ่งก่อนที่จะมาเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราชนั้นน้องแคนเคยศึกษาที่โรงเรียนเฉลิมราชประชาอุทิศซึ่งหลังจากเรียนจบในระดับชั้น ม.3 น้องแคนได้เลือกที่จะศึกษาต่อที่วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราชโดยได้แรงบันดาลใจมาจากน้าชายที่เป็นศิษย์เก่าจากที่วิทยาลัยการอาชีพแห่งนี้

ในขณะที่น้องน็อต เสกสรร ขันเพชร เองก็เลือกที่จะศึกษาต่อที่วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราชเมื่อจบการศึกษาระดับชั้น ม.6 จากการแนะนำของเพื่อนฝูงที่เรียนที่วิทยาลัยการอาชีพแห่งนี้อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งทั้งสองได้เลือกเรียนในสาขาช่างอิเล็กทรอนิกส์

อาจารย์อรอุมา ทองโอ อาจารย์ประจำแผนกวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราชและ เป็นผู้ประสานงานและควบคุมการฝึกซ้อมให้กับทีมนี้เองก็เป็นศิษย์เก่าของวิทยาลัยแห่งนี้เช่นกัน ด้วยความรักในสถาบันอาจารย์อรอุมาเองจึงเลือกที่จะกลับมาเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่วิทยาลัยแห่งนี้เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์ผู้ที่เปรียบได้ดั่งรุ่นน้องของอาจาราย์อรอุมาเช่นกัน

การเรียนการสอนที่ประดุจดั่งคนในครอบครัวกับความภูมิใจของชาวการอาชีพ

ที่วิทยาลัยการอาชีพนครศรีธรรมราชนี้คือสถานศึกษาแห่งโอกาส เป็นสถานศึกษาแห่งแรงบันดาลใจที่ทุกคนพร้อมจะประคับประคองให้นักเรียนอาชีวะจากที่นี่ทุกคนได้เติบโตออกไปอย่างมีคุณภาพ โดยตลอดระยะเวลาในการเรียนที่นี่ อาจารย์ทุกท่านจะมุ่งเน้นการเรียนการสอนทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติที่ให้นักเรียนอาชีวะทุกคนได้รับประสบการณ์จริงที่แสนจะล้ำค่า รวมไปถึงการออกปฏิบัติงานจริงเพื่อเพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ให้กับนักเรียนอาชีวะทุกคนของสถาบัน ด้วยรากฐานแห่งความรัก ความผูกพันประดุจดั่งคนในครอบครัวเดียวกันของแผนกช่างอิเล็กทรอนิกส์จึงเป็นเบ้าหลอมที่สำคัญที่ทำให้น้อง ๆ ทั้ง 2 คนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับทั้งวิทยาลัยและกับจังหวัดนครศรีธรรมราชได้อย่างเต็มภาคภูมิ

การแข่งขันระดับชาติกับโจทย์สุดหินและสถานการณ์โควิดคืออุปสรรคสำคัญที่ทั้ง 2 คนต้องก้าวผ่าน

การแข่งขันสุดยอดทักษะสายสัญญาณและเน็ตเวิร์คซึ่งจัดโดยบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นครั้งที่ 9 ในปีนี้ การแข่งขันนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อคัดเลือกนักเรียนนักศึกษาทั้งระดับอาชีวะและระดับอุดมศึกษาเพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันอาเซียนสกิลทางด้านทักษะสายสัญญาณและเน็ตเวิร์ก โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องแข่งรอบคัดเลือกในระดับภูมิภาคเพื่อหาตัวแทนเข้าแข่งขันรอบสุดท้ายที่จังหวัดนครนายก โดยจากสถานการณ์โควิดทำให้การแข่งขันรอบคัดเลือกต้องแข่งกันผ่านระบบ Zoom ซึ่งน้อง ๆ ทั้ง 2 คนก็สามารถผ่านเข้าไปสู่รอบสุดท้ายได้สำเร็จ

และโจทย์สุดหินในรอบสุดท้ายคือการติดตั้งระบบ UTP กับ fiber optic ซึ่งมีความซับซ้อนเป็นอย่างมากและน้องทั้ง 2 คนก็ไม่ทำให้ทุกคนต้องผิดหวังโดยน้องแคนสามารถทำผลงานได้คะแนนสูงสุดจนได้ตำแหน่งชนะเลิศและคว้าถ้วยพระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมาได้สำเร็จในขณะที่น้องน็อตเองก็สามารถคว้ารางวัลชมเชยและความภูมิใจมาให้กับสถาบันได้เช่นกัน

ความร่วมมือและความเกื้อกูลระหว่างครูอาจารย์ ผู้บริหารและรุ่นพี่คือองค์ประกอบของความสำเร็จในครั้งนี้

โจทย์ที่สุดหินนี้ก็เกือบจะทำให้อาจารย์อรอุมาและน้อง ๆ ต้องถอดใจกันแล้วเพราะการเชื่อมต่อสาย fiber optic จำเป็นที่จะต้องใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อสายที่มีราคาแพงมาก แต่ด้วยเพราะมีศิษย์เก่าที่ทำงานในด้านนี้ให้ยืมเครื่องมือมาเพื่อให้น้องทั้ง 2 คนได้ใช้ฝึกซ้อมเพื่อเตรียมตัวในการแข่งขัน และมีรุ่นพี่ศิษย์เก่าที่เคยมีประสบการณ์ในการแข่งขันรายการนี้มาก่อนมาช่วยฝึกซ้อมและแนะนำแนวทางในการแข่งขันโดยจะเน้นการวางแผนเพื่อทำคะแนนให้ดีที่สุด ช่วยสอนวิธีคิด ฝึกทักษะกระบวนการคิดและการวางแผนให้กับน้อง ๆ ทั้งสองคน บวกกับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารวิทยาลัยที่สนับสนุนการแข่งขันนี้เพื่อให้นักเรียนสามารถพัฒนาทักษะและความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่และยังได้รับความช่วยเหลือจากคณะครูในวิทยาลัยอาชีพหลาย ๆ ท่าน ทำให้การแข่งขันครั้งนี้ประสบความสำเร็จก็ด้วยเพราะความร่วมมือของบุคลากรทุกฝ่ายที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นมีส่วนสำคัญมาจากความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อของน้องทั้งสองคน

แม้ความร่วมมือของทุกฝ่ายจะผลักดันให้เกิดความสำเร็จนี้ขึ้นมา แต่พระเอกของงานนี้ก็จะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากน้องทั้ง 2 คนทั้งน้องแคนและน้องน็อต โดยน้องทั้งสองคนต้องใช้ความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้อในการฝึกซ้อมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในการแข่งรอบสุดท้ายที่การซ้อมในแต่ละครั้งล้วนกินเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง แต่ก่อนที่จะมาถึงจุดนี้นั้นน้องแคนเองก็เคยพยายามมาหลายครั้งที่จะเป็นตัวแทนของวิทยาลัยให้ได้แต่ก็ไม่ผ่านสักทีจนมาประสบความสำเร็จในครั้งนี้ ในขณะที่น้องน็อตเองก็เพิ่งเข้ามาสู่การเรียนในสายอาชีพได้เพียง 1 ปี เท่านั้นการฝึกซ้อมที่เกิดขึ้นจึงสร้างแรงกดดันให้กับน้องทั้งสองไม่น้อยทีเดียว แต่ด้วยกำลังใจจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ ครูอาจารย์ที่อยู่เบื้องหลังและศิษย์เก่าที่เข้ามาช่วยสอนรวมถึงการสนับสนุนจากผู้บริหารจึงทำให้น้องทั้งสองคนสามารถก้าวผ่านแรงกดดันจนนำไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด

พยายามสร้างโอกาสให้ตัวเอง

และคว้าโอกาสเอาไว้ให้ได้คือแนวคิดที่สำคัญที่น่าเอาเป็นแบบอย่าง

คนเราไม่ได้มีโอกาสดี ๆ เข้ามาบ่อยครั้ง แม้จะต้องพบเจอความล้มเหลวมากมายหลายครั้งก็อย่าย่อท้อ อย่าหมดหวังแต่ให้มองเป็นแรงผลักดันที่จะใช้สร้างโอกาสให้กับตัวเองให้ได้ และเมื่อใดที่โอกาสนั้นมาถึงแล้วก็จงพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทำทุกอย่างให้เต็มที่เพื่อที่จะคว้าโอกาสสำคัญนั้นเอาไว้ให้ได้คือแนวคิดที่สำคัญที่ทำให้น้องนักเรียนอาชีวะทั้งสองประสบความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงระดับประเทศให้กับตนเอง ให้กับสถานศึกษาและจังหวัดบ้านเกิดและเหมาะสมแล้วที่จะเป็นบุคคลต้นแบบที่น่ายกย่องในครั้งนี้

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ