สวนวลัยลักษณ์และ5กิจกรรมในสวนวลัยลักษณ์

นครศรีสเตชชั่นแนะนำที่เที่ยวครั้งนี้  เราจะพาพี่ๆน้อง ๆ และนักท่องเที่ยวทุกท่านไปเที่ยวกันที่สวนวลัยลักษณ์ หรือ WU PARK และวันนี้แอดมินจะมานำเสนอ5กิจกรรมที่ทำเมื่อไปสวนวลัยลักษณ์มีกิจกรรมอะไรบ้างไปดูกันเลย..

ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับสวนวลัยลักษณ์ว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ?

 

ด้วยแนวคิดหลักของ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นแผ่นดินแห่งความรุ่งโรจน์ Walailak Land of Glory จึงเกิดเป็นสวนวลัยลักษณ์  สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2560-2561 เป็นสวนสาธารณะที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของบุคลากรของมหาวิทยาลัย ทั้งคณาจารย์ พนักงานและนักศึกษา พี่น้องประชาชนชาวอำเภอท่าศาลา ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและใกล้เคียง ตลอดจนผู้ที่มาเยี่ยมเยียนมหาวิทยาลัยจากในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้มีการเปิดโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ สวนวลัยลักษณ์จะเป็นแหล่งให้ผู้มาใช้บริการของโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ฯ ได้พักผ่อน สร้างความสดชื่นได้ทั้งกายและใจ

 

สวนวลัยลักษณ์ ตั้งอยู่บริเวณถนนทางเข้ามหาวิทยาลัย ตรงข้ามกับโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 255 ไร่ แบ่งเป็นผืนน้ำ 130 ไร่และผืนดิน 125 ไร่ โดยภายในสวนวลัยลักษณ์จะมีจุดเด่นอยู่ที่ลานมโนราห์สีทอง มีระเบียงน้ำให้ผู้มาเยี่ยมเยียนได้นั่งพักผ่อน ให้อาหารปลา พร้อมนั่งชมพระอาทิตย์ตกดินผ่านภูเขาหลวงซึ่งเป็นทัศนียภาพ ที่งดงามยิ่งเป็นเบื้องหลัง

 

นอกจากนี้ยังมีความร่มรื่นเขียวขจีของต้นไม้นานาชนิดและไม้ดอกไม้ประดับนานาพรรณ มีการจัดสวนรูปแบบต่างๆ สวนอังกฤษ สวนญี่ปุ่น ลานมโนราห์สี รูปปั้นโขลงช้าง น้ำพุนกฮูก เส้นทางการวิ่ง เส้นทางการปั่นจักรยาน และที่โด่งดังและท้าทายมากคือ เขาวงกต “เข้าแล้ว ออกได้หรือไม่?”

5กิจกรรมที่ทำเมื่อมาเที่ยวสวนวลัยลักษณ์

กิจกรรมที่1 วิ่งออกกำลังกาย

เปิดให้ผู้คนทั่วไปได้วิ่งออกกำลังชมความเขียวขจีของต้นไม้และรับอากาศบริสุทธ์ของสวนวลัยลักษณ์ มีทั้งเส้นทางการเดิน-วิ่งทั่วทั้งสวน เหมาะแก่การไปออกกำลังกายชิวสุดๆ

กิจกรรมที่ 2 ปั่นจักรยาน

 

ปั่นจักรยานผ่านสวนวลัยลักษณ์ชมความเขียวขจีขแงต้นไม้นานาชนิดและรับลมธรรมชาติทั่วทั้งสวน มีเส้นทางจักณยานพาดทั่วทั้งสวนเป็นแนวยาวตลอดสายจะมีวิวทิวทัศน์ที่ทำให้เพลิดเพลินกับการปั่นจักรยานสุดๆ

กิจกรรมที่ 3 ปั่นเรือเป็ดและให้อาหารปลา

เป็นอีก 1 กิจกรรมสำหรับการมาพักผ่อนหย่อนใจของผู้ที่มาเที่ยวสวน กิจกรรมที่สนุกและท้าทาย มีทั้งการให้อาหารปลาควบคู่ไปกับวิวที่สวยงามของทะเลสาบในสวน และปล่อยใจให้ผ่อนคลายกับสถานที่พักผ่อน มีร้านขายขนมให้ได้เบือกซื้อนั่งทานชมความสวยงาม

กิจกรรมที่4 มาพักผ่อนกับครอบครัว

สวนวลัยลักษณ์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถมาเที่ยวกับครอบครัวได้ มาทำกิจกรรมร่วมกันไม่ว่าจะเป็นการทานข้าวข้างนอก ริมทะเลสาบในสวน การพาเด็กๆมาวิ่งเล่น จนกระทั่งผู้สูงอายุ พามาผ่อนคลายความเครียด หรือเปลี่ยนที่ถ่ายรูป รับลมเย็นๆกับบรรยากาศที่ร่มรื่นเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อยเลยค่ะ

กิจกรรมที่ 5 ชมวิวพระอาทิตย์ตก

เป็นอีกที่ในสวนที่ห้ามพลาดเด็ดขาดเนื่องจากวิวตรงนี้สวยมากๆแอดมินแนะนำสุดๆ ระเบียงริมทะเลสาบกับวิวพระอาทิตย์ตกดินที่สีสวยมากๆพักผ่านเทือกเขาหลวงที่เห็นได้ชัดสุดๆ

ใครผ่านไปผ่านมาอย่าลืมแวะเวียนเข้ามาเที่ยวสวนวลัยลักษณ์ ปักหมุดที่เที่ยวใหม่ๆ เตรียมกล้อง สะพายกระเป๋าแล้วมาเที่ยวกันที่สวนวลัยลักษณ์กันนะคะ

 

ข้อปฏิบัติการใช้สวนวลัยลักษณ์

  1. วันเวลาเปิด-ปิดทำการ เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ถึงเวลา 20.00 น.
  2. สวนวลัยลักษณ์แห่งใช้เพื่อการออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ หรือทำกิจกรรมนันทนาการตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
  3. การใช้วัสดุอุปกรณ์ในการออกกำลังกาย สวน เพื่อการออกกำลังกายให้ระวังอุบัติเหตุพลัดตกลงไปในบ่อน้ำ หรืออุบัติเหตุอื่น หากเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินมหาวิทยาลัยจะไม่รับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น
  4. ให้ช่วยกันรักษาความสะอาดบริเวณสวน และทรัพย์สินทุกชนิดภายในสวนและไม่ทำลายทรัพย์สินด้วยประการใดๆ
  5. ให้ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อห้าม หลักเกณฑ์ คำแนะนำของเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยโดยเคร่งครัด

ข้อห้าม

  • ห้ามนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าในพื้นที่สวนวลัยลักษณ์โดยเด็ดขาด
  • ห้ามเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ตกแต่งสวนและต้นไม้ภายในสวน
  • ห้ามปล่อยปลาชะโดลงในแหล่งน้ำ
  • ห้ามเข้าในห้องปั๊มหลังน้ำตก
  • ห้ามปีนช้างและห้าเข้าในบริเวณช้าง
  • ห้ามปีนมโนราห์
  • ห้ามจับสัตว์น้ำทุกชนิด
  • ห้ามเข้าเขาวงกตในช่วงเวลา 18.00 – 08.00 น.
  • ห้ามปีนต้นไม้ และเก็บลูกมะพร้าว
  • ห้ามนำต้นไม้และอุปกรณ์ตกแต่งสวนออกจากสวนโดยเด็ดขาด
  • ห้ามเปิดน้ำพุ น้ำตก ระบน้ำในสวนและระบบไฟหากไม่ได้รับอนุญาติ
  • ห้ามใช้สวนวลัยลักษณ์หลังเวลา 20.00 – 05.00 น.
  • ห้ามผู้ใด ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยที่อยู่ภายในสวน
  • ห้ามผู้ใด เล่นฟุตบอล ตะกร้อ หรือกีฬาใดๆในสวน เว้นแต่เป็นการเล่นในสถานที่จัดไว้โดยเฉพาะ
  • ห้ามผู้ใด เล่นการพนัน เสพสุรา ของมึนเมาและสารเสพติดทุกชนิดในบริเวณที่สวน
  • ห้ามผู้ใด นำ พกพา อาวุธ ทุกชนิด ยิงปืน หรือใช้ดินระเบิด จุดปะทัด หรือก่อการทะเลาะวิวาทในบริเวณสวน
  • ห้ามผู้ใด ลักขโมยทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยภายในบริเวณสวน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ส่วนสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

คุณ สุภาวดี ขำเกิด  รักษาวัฒนธรรม นำความทันสมัย มาใช้ส่งต่อคุณค่า

นับเป็นเรื่องดีที่เยาวชนไทยเริ่มหันมาสนใจอนุรักษ์ สืบสาน ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น หลายคนมีจุดเริ่มต้นจากความชอบสู่การประกวดแข่งขัน บางคนสามารถต่อยอดสร้างอาชีพและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่คนอื่นๆ ได้ คนต้นแบบเมืองนครที่ทางนครศรีสเตชั่นอยากแนะนำให้ทุกท่านได้รู้จัก เป็นคนรุ่นใหม่ที่สืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของบ้านเกิด การันตีด้วยรางวัลระดับประเทศ คุณ สุภาวดี ขำเกิด  รักษาวัฒนธรรม นำความทันสมัย มาใช้ส่งต่อคุณค่า

จุดเริ่มต้นจากความรักในการร้องเพลงลูกทุ่ง สู่เล่านิทานพื้นบ้าน การร้องเพลงบอก และเพลงร้องเรือ

คุณสุภาวดี หรือน้องเตย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5โรงเรียนปากพนัง เยาวชนที่มีความสามารถในการแสดงและสืบสานศิลปวัฒนธรรม จุดเริ่มต้นจากครอบครัวที่มีเชื้อสายมโนราห์ ทำให้น้องเตยค่อยๆ ซึมซับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นตั้งแต่เด็ก ทุกครั้งที่มีเวลาว่าง น้องเตยมักจะเปิดดูซีดีการแสดงมโนราห์จากศิลปินที่ชื่นชอบ เมื่อเข้าสู่วัยประถมศึกษาได้รับเลือกจากคุณครูที่โรงเรียนให้ร้องเพลงหน้าชั้นเรียน พรสวรรค์ด้านการร้องที่ฉายแววออกมาทำให้น้องเตยได้เป็นนักร้องของโรงเรียน โดยมีคุณครูช่วยฝึกสอนร้องเพลงมาเรื่อยๆ

จนมีโอกาสได้เข้าประกวดร้องเพลงเป็นครั้งแรก แม้จะไม่ชนะการประกวดแต่ก็ไม่รู้สึกเสียใจ จากเวทีแรกน้องเตยได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการประกวดร้องเพลงมาโดยตลอด จนถึงวัยมัธยมก็ได้เป็นนักร้องประจำโรงเรียนปากพนัง ได้รับการชักชวนจากคุณครูวิชาภาษาไทยให้ไปฝึกซ้อมเพื่อแข่งขันเล่านิทานพื้นบ้าน เมื่อน้องเตยเห็นว่ามีรุ่นพี่กำลังซ้อมเพลงบอกเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน (เพลงบอกเป็นการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ที่สืบเนื่องมาแต่โบราณ) ก็เกิดความสนใจขึ้นทันที ซึ่งส่วนตัวน้องเตยรู้จักกับเพลงบอกเพียงแต่ทอกเพลงไม่เป็น (ทอก หมายถึง การทำซ้ำ การย้ำ เพลงบอกคือการร้องแบบซ้ำๆ)

จากวันนั้นน้องเตยเริ่มศึกษาการร้องเพลงบอกผ่านช่อง Youtube จนเมื่อโอกาสมาถึงน้องเตยเริ่มแข่งเพลงบอกในขณะที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  และไม่ว่าทางคุณครูจะเสนอกิจกรรมอะไรก็ตาม น้องเตยมักจะตอบรับเสมอ เรียกได้ว่าเป็นเด็กกิจกรรมตัวยง ซึ่งน้องเตยมองว่าการที่ได้ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ ทำให้มีประสบการณ์มากขึ้นทั้งในด้านการทำงาน การใช้ชีวิต เรียนรู้ที่จะวางตัวตัวให้เหมาะสม

ก้าวสู่เวทีการประกวดแข่งขันระดับประเทศ

จากจุดเริ่มต้นของการประกวดในระดับท้องถิ่นตั้งแต่วัยประถมจนถึงปัจจุบัน น้องเตยได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ นำเอาข้อผิดพลาดมาปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น ความกระตือรือร้นในการฝึกซ้อม บวกกับการขอคำแนะนำจากผู้อื่น ช่วยเพิ่มพูนทักษะในการร้องให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาน้องเตยเคยก้าวสู่เวทีการประกวดร้องเพลงในรายการไมค์ทองคำ (รายการประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง) ซึ่งตัวเธอเองมีดีกรีเป็นถึงแชมป์ 2 สมัยในการแข่งขันเพลงร้องเรือ ที่จัดขึ้นในงานทำบุญสารทเดือนสิบของนครศรีธรรมราช ในส่วนของเพลงบอก ซึ่งเป็นการละเล่นประเภทการขับร้องที่ต้องใช้สำเนียงภาษาถิ่นใต้ในการร้องบท

จากการที่ได้เห็นรุ่นพี่ที่โรงเรียนฝึกซ้อมเพลงบอก บวกกับความสนใจส่วนตัว ทำให้น้องเตยมีโอกาสได้ฝึกซ้อมเป็นลูกคู่ ความยากอยู่ตรงที่คีย์ร้องที่ต่างกันระหว่างเสียงของผู้ชายและผู้หญิง ซึ่งเพลงบอกส่วนใหญ่จะร้องโดยผู้ชาย เป็นเสียงต่ำกว่าผู้หญิง น้องเตยจึงต้องปรับเสียงคีย์ร้องของตัวเองให้ต่ำลงกว่าเสียงปกติ และอีกหนึ่งผลงานที่น่าภาคภูมิใจของน้องเตยและสมาชิกในทีมคือ การได้เข้าร่วมการแข่งขันเพลงบอกเยาวชนโล่พระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี น้องเตยเล่าว่า บรรยากาศการแข่งขันในตอนนั้น ทางกรรมการมีญัตติมาให้ (ได้ญัตติหัวข้อ “ถ้าฉันได้เป็นนายกรัฐมนตรี”) ซึ่งทีมผู้เข้าแข่งขันต้องเตรียมเนื้อร้องกันเอง การแข่งขันแบ่งออกเป็น 2 รอบ คัดเหลือ 5 ทีมสุดท้ายเพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ผลการตัดสินทีมของน้องเตยได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1

รักษาวัฒนธรรม นำความทันสมัย มาใช้ส่งต่อคุณค่า

น้องเตยเล่าว่า ทางครอบครัวน้องเตยมีเชื้อสายมโนราห์มาตั้งแต่รุ่นปู่ทวดยายทวด จากจุดนี้ทำให้ตัวเธอมีความชื่นชอบศิลปการแสดงภาคใต้ แม้ไม่เก่งในศาสตร์มโนราห์ แต่ทุกครั้งที่มีโอกาสได้แสดงความสามารถ น้องเตยมักจะนำเสนอศิลปะการแสดงท้องถิ่นใต้สอดแทรกเข้าไปด้วย การที่เติบโตมากับศิลปวัฒนธรรม น้องเตยจึงรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะทอดทิ้งสิ่งเหล่านี้ไปได้ และอยากที่จะอนุรักษ์ไว้ เธอจึงรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสืบสานศิลปวัฒนธรรมภาคใต้ อย่างโนราห์นั้นเพิ่งจะได้รับการขึ้นทะเบียนจาก องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ สร้างความภูมิใจให้กับชาวไทยทั่วทุกภาคไม่เฉพาะแค่ภาคใต้เท่านั้น

ส่วนในอนาคตหลังจากเรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษา น้องเตยมีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะศึกษาต่อทางครุศาสตร์ เอกภาษาไทย เธอให้ความเห็นว่าอย่างน้อยก็มีในเรื่องของกาพย์ โคลง กลอน ซึ่งเป็นสิ่งที่น้องเตยคุ้นเคยสามารถนำไปถ่ายทอดสู่นักเรียนของเธอได้ โดยผ่านการทำกิจกรรม เป็นการช่วยให้คนรุ่นใหม่ต่อจากนี้รับรู้ถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมภาคใต้

ไม่ใช่แค่ความชื่นชอบเท่านั้นที่จะพาเราไปสู่โอกาสในชีวิต แต่การเตรียมพร้อมสำหรับโอกาสที่เข้ามาในชีวิต ฝึกฝนทักษะให้กับตัวเองอยู่เสมอต่างหากที่เป็นแรงผลักดันให้เราอยากที่จะแสวงหาโอกาสนั้น ซึ่งน้องเตยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพรสวรรค์ ความชอบ บวกกับความทุ่มเทนั้น ทำให้เธอเดินทางมาไกลแค่ไหน ที่สำคัญคือ การไม่ลืมที่จะระลึกถึงรากเหง้าทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของตัวเอง ที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษ และอยากที่จะรักษาของเก่าไว้ นำเสนอให้เข้ากับยุคสมัย พร้อมที่จะส่งต่อคุณค่ามรดกทางวัฒนธรรมล้ำค่านี้สู่คนรุ่นหลังสืบไป

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ