จาก “วัดใหม่กาแก้ว” สู่ “วัดสวนป่าน” ประวัติวัดฉบับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

จาก “วัดใหม่กาแก้ว” สู่ “วัดสวนป่าน”

ประวัติวัดฉบับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ

 

เป็นเรื่องชวนให้ตั้งข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า

บ่อยครั้งที่ผู้เขียนจะได้รับการทาบทามหรือการตั้งคำถามทำนองว่า

“พอจะทราบประวัติตั้งนั้น ตรงนี้ไหม ?”

ทั้งที่จริงแล้ว ผู้ถามก็เป็น “คนในนั้น”

.

ข้อสังเกตอันแรก คงเป็นความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “ประวัติ” ที่เราถูกหล่อหลอมผ่านระบบการศึกษาว่ามักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสงคราม ราชวงศ์ และราชการ ทำให้ “ความทรงจำ” ของ “คนใน” ถูกกีดออกจากคำว่า “ประวัติ” ทั้งที่จริงแล้วล้วนเป็น “ประวัติศาสตร์สังคม” ที่สำคัญมาก และส่วนใหญ่มักสะท้อนให้เห็น “วิถี” และ “ชีวิต” ของผู้คนอีกด้วย

.

ข้อสองคงเป็นเพราะความเกร็งและเกรงใจภาษาราชการ ทำให้เมื่อจำเป็นต้องถ่ายทอดออกเป็นลายลักษณ์อักษร ประเด็น นัยและใจความสำคัญมักหล่นหาย เพราะติดกับดักโครงสร้างการเขียนประวัติศาสตร์อย่างทางการ

.

เมื่อวันอังคาร ที่ 18 มกราคม 2565 มีเหตุให้เจดีย์อนุสรณ์พระสหชาติ พ.ศ. 2487 แห่งวัดสวนป่านทลายลง ผู้เขียนมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับท่านสมภารเจ้าวัด นอกจากการฟื้นคืนสภาพของเจดีย์อนุสรณ์ดังกล่าวแล้ว ยังอาจต้องมีแผนสำหรับการจัดการข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนสถาน โดยได้เสนอไป 3 ประเด็นอย่างคร่าว ๆ ว่า

 

ส่วนอดีต

ควรมีแผนการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับศาสนสถาน-วัตถุ

โดยอาจเริ่มที่การรวบรวมแล้วเรียบเรียงเป็นฐานทำสารบบ

รวมถึงการประเมินสภาพและความเสี่ยง

 

ส่วนปัจจุบัน

ควรมีแผนการพัฒนาพื้นที่โดยคำนึงถึงแผนแรก

ควบคู่ไปกับแผนการบริหารจัดการพื้นที่โดยอาจจัดแบ่งเป็นเขตตามความสำคัญหรือลักษณะการใช้สอย

 

ส่วนอนาคต

ควรมีแผนจัดการความเสี่ยง

การทบทวนและประเมินสภาพรอบปี

 

ประวัติวัด ทั่วราชอาณาจักร

มีคู่มือเบื้องต้นสำหรับการศึกษาประวัติวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติดำเนินการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช มีในเล่มที่ 23 ฉบับพิมพ์ ปี พ.ศ. 2547 ข้อมูลที่ได้ส่วนใหญ่มาจากการรวบรวมจากเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะตำบล ในส่วนของวัดสวนป่านปรากฏอยู่ในหน้าที่ 510 โดยจะขอคัดมาเพื่อจะได้เป็นประโยชน์ในการสืบความกันต่อไป ดังนี้

 

วัดสวนป่าน ตั้งอยู่เลขที่ 153 ถนนพระบรมธาตุ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 15 ไร่ 2 งาน 47 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 2100 มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ 1 งาน 9 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 990

 

อาณาเขต

ทิศเหนือจดถนนโรงช้าง

ทิศใต้จดซอยเหมชาลา

ทิศตะวันออกจดถนนพระบรมธาตุ

ทิศตะวันตกจดถนนวัดสวนป่าน

 

อาคารเสนาสนะ

อุโบสถ

กว้าง 23 เมตร ยาว 39 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514

เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก

 

พระประธานประจำอุโบสถ

ปางสะดุ้งมาร

หน้าตักกว้าง 58 นิ้ว

สูง 79 นิ้ว

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2525

 

ศาลาการเปรียญ (อาคารทรงไทย ชั้นเดียว)

กว้าง 13.50 เมตร

ยาว 18.25 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2507

 

พระประธานประจำศาลาการเปรียญ

ปางสมาธิ

หน้าตักกว้าง 35.50 นิ้ว

สูง 51 นิ้ว

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2507

พระพุทธรูปเนื้อเงิน 2 องค์

สูง 65 นิ้ว และ 45 นิ้ว

 

กุฏิสงฆ์ จำนวน 10 หลัง

เป็นอาคารไม้ 4 หลัง

ครึ่งตึกครึ่งไม้ 3 หลัง

และตึก 3 หลัง

 

วิหาร (อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก)

กว้าง 14.60 เมตร

ยาว 21 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2480

 

ศาลาอเนกประสงค์ (อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ชั้นเดียว)

กว้าง 6.30 เมตร

ยาว 12.50 เมตร

สร้างเมื่อ พ.ศ. 2540

 

ศาลาบำเพ็ญกุศล

จำนวน 1 หลัง

เป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้

 

นอกจากนี้มี หอระฆัง โรงครัว กุฏิเจ้าอาวาส และเรือนรับรอง

.

จาก “วัดใหม่กาแก้ว” สู่ “วัดสวนป่าน”

วัดสวนป่าน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2452 วัดตั้งมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ในช่วงเปลี่ยนการปกครองเป็นสมุหเทศาภิบาล ต่อมาเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีศรีธรรมราช ได้ยกถวายให้ท่านเจ้าคุณพระรัตนธัชมุนี (ม่วง) และได้ตั้งวัดให้ชื่อว่า “วัดใหม่กาแก้ว” แต่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดสวนป่าน” เพราะเรียกตามชื่อคนดูแลสวนของท่านเจ้าพระยาสุธรรมมนตรีเดิม

.

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2525

เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 23 เมตร ยาว 39 เมตร

.

ลำดับเจ้าอาวาส

พ.ศ. 2442 – 2449 พระครูกาแก้ว

พ.ศ. 2449 – 2460 พระญาณเวที

พ.ศ. 2460 – 2478 พระครูโภธาภิรามมุนี

พ.ศ. 2478 – 2489 พระครูวินัยธร

พ.ศ. 2489 – 2500 พระปลัดส่อง โชติกโร

พ.ศ. 2500 – ไม่ระบุ พระครูจิตรการประสาท

 

เดิมตั้งแต่ พ.ศ.2505 เปิดเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมด้วย

.

จะเห็นว่ายังมีศาสนสถานและวัตถุอีกหลายรายการที่ไม่ได้ระบุไว้ในเล่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจดีย์อนุสรณ์พระสหชาติที่เพิ่งทลายลงไปนี้ด้วย กับทั้งข้อวิเคราะห์ต่าง ๆ เช่นว่า ความสำคัญและบทบาทต่อชุมชน เส้นเวลา ภูมินาม ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจเป็นเรื่องที่ต้องรอผู้สนใจใฝ่รู้เติมเต็มต่อในอนาคต

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

คุณ ไพโรจน์ เนาว์สุวรรณ เปลี่ยนลูกไม้ เป็นงานศิลป์ สร้างรายได้ชุมชม คนต้นแบบเมืองนคร

สิ่งรอบตัวที่เรามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่สำหรับบางคนที่มองเห็นคุณค่าก็สามารถสร้างโอกาสที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตเลยก็ว่าได้ จากจุดเริ่มต้นในการนำวัสดุธรรมชาติมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานที่สร้างความภูมิใจให้แก่ตนเอง และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ผลงานต้นแบบของคนต้นแบบเมืองนคร คุณไพโรจน์ เนาว์สุวรรณ ผู้ก่อตั้งกลุ่มลูกไม้คีรีวง เปลี่ยนลูกไม้ เป็นงานศิลป์ สร้างรายได้ชุมชม

ความชื่นชอบเครื่องประดับ ประสบการณ์ค้าขาย และความท้าทายในชีวิต

หากพูดถึงหมู่บ้านคีรีวง อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช ไม่ได้ขึ้นชื่อแค่เรื่องการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ที่นั่นมีการจัดตั้งกลุ่มชุมชนที่หลากหลาย เป็นภาคีเครือข่ายร่วมกัน ซึ่งกลุ่มลูกไม้คีรีวงที่คุณไพโรจน์เป็นประธานกลุ่มก็เป็นหนึ่งในนั้น คุณไพโรจน์เล่าว่า ช่วงอายุประมาณ 20 ต้นๆ หลังจากเรียนจบจากกรุงเทพมหานคร คุณไพโรจน์ได้เดินทางกลับนครศรีธรรมราช เพื่อเริ่มต้นอาชีพทำสวนสานต่ออาชีพของครอบครัว แต่ด้วยความชื่นชอบด้านค้าขาย และชื่นชอบการแต่งตัว จึงตัดสินใจขายของตามงานเทศกาลต่างๆ ที่จัดขึ้นทั่วภาคใต้ สินค้าส่วนใหญ่เป็นกระเป๋าหนัง สร้อยคอ แหวน และเคื่องประดับอื่นๆ ชีวิตที่เต็มไปด้วยการเดินทาง ทำให้คุณไพโรจน์รู้จักผู้คนเป็นจำนวนมากและได้รับประสบการณ์ในชีวิตมากมาย ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ เมื่อเดินทางไปต่างถิ่น เจอกับสังคมใหม่ ต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และต้องหาวิธีที่ทำให้ขายสินค้าได้ เพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง จนถึงวันที่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง เมื่อไม่มีอะไรแน่นอน ในวันที่ต้องเจอมรสุมชีวิตคุณไพโรจน์จึงตัดสินใจเลิกค้าขาบ และกลับไปทำสวนของครอบครัว ระหว่างนั้นก็คิดทบทวนไปด้วยว่าต่อจากนี้ชีวิตจะดำเนินไปทิศทางใด สวนของคุณไพโรจน์ตั้งอยู่บนเขารายล้อมไปด้วยพืชพันธุ์หลากหลายชนิด ทำให้คุณไพโรจน์ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในป่าเขา

จนมาถึงช่วงที่หมู่บ้านคีรีวงเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะหมู่บ้านท่องเที่ยว ในชุมชนมีการทำผ้ามัดย้อมสีธรรมชาติ ทำสบู่สมุนไพรจากเปลือกมังคุด ทำทุเรียนกวนห่อกาบหมาก และแปรรูปสินค้าเกษตรอื่นๆ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ ในปี 2543 คุณไพโรจน์เริ่มต้นจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มบ้านสมุนไพร ทำหน้าที่ช่วยเหลือประสานงานด้านต่างๆ พยายามฝึกทักษะภาษาอังกฤษเพื่อใช้สื่อสารกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในช่วงที่มีโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ประธานกลุ่มบ้านสมุนไพรแนะนำให้แต่ละครัวเรือนทำผลิตภัณฑ์ของตัวเองแล้วนำมารวมกันเพื่อจำหน่ายที่กลุ่ม คุณไพโรจน์จึงว่าตัวเองจะทำอะไรดี จากความชื่นชอบการแต่งตัวและเครื่องประดับ ประกอบกับตอนที่อาศัยอยู่บนเขาคุณไพโรจน์เห็นลูกไม้ป่า (เมล็ดพืช) ตกหล่นบนพื้นเป็นจำนวนมาก มีรูปร่างแตกต่างกัน จึงเก็บลูกไม้มาทำเป็นพวงกุญแจ เพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึก จากที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะขายได้ ปรากฏว่าขายได้ มีคนชื่นชอบ นี่จึงเป็นตัวจุดประกายไอเดียให้คุณไพโรจน์มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ชิ้นงานอื่นๆ อยากที่จะดีไซน์ให้สวยงาม และสร้างแบรนด์ของตัวเอง

เครื่องประดับจากวัสดุธรรมชาติ สู่การสร้างรายได้ในชุมชน

ในปี 2547 คุณไพโรจน์จัดตั้งกลุ่มลูกไม้บ้านคีรีวง ในช่วงแรกของการตั้งกลุ่ม สมาชิกสามารถสร้างรายได้เสริมเป็นจำนวนไม่น้อย ในปีเดียวกันทางกลุ่มลูกไม้บ้านคีรีวงส่งผลิตภัณฑ์เข้าประกวดโอท็อปได้ระดับ 4 ดาว และมีโอกาสเข้าร่วมงานแสดงสินค้าระดับประเทศ นอกจากพวงกุญแจ ยังมีสินค้าอื่น เช่น สร้อยคอ กำไล และเครื่องประดับ โดยการนำลูกไม้มาถักทอร้อยด้วยเชือกเทียน จากพวงกุญแจธรรมดา เริ่มมีการนำศิลปะเข้ามาทำให้ชิ้นงานดูสวยขึ้น การถักเชือกเทียนล้อมรอบลูกไม้นอกจากจะทำให้ลูกไม้ไม่หลุดแล้ว ยังไม่ต้องเจาะลูกไม้ให้เกิดรอย และยังป้องกันแมลงเข้าไปกัดกินลูกไม้ผ่านรอยเจาะอีกด้วย คุณไพโรจน์เล่าว่า การที่ตัวเองมองเห็นปัญหาของหลายๆ กลุ่ม ส่วนใหญ่มาจากการแบ่งสัดส่วนรายได้ ทางกลุ่มลูกไม้ใช้วิธีแจกจ่ายงานให้สมาชิกนำกลับไปทำที่บ้าน ใช้เวลาว่างในการทำ เมื่อทำเสร็จแล้วจึงนำมาส่ง

ในส่วนของการทำการตลาดเป็นเรื่องที่คุณไพโรจน์ให้ความสำคัญอย่างมาก ได้นำประสบการณ์ค้าขายก่อนหน้านี้มาประยุกต์ใช้กับการจำหน่ายสินค้าของทางกลุ่ม มองหาจุดเด่นเพื่อนำเสนอสินค้า ทำอย่างไรให้สินค้ามีมูลค่า อย่างการออกแบบแพคเกจจิ้งสำหรับใส่พวงกุญแจที่ทำจากลูกสวาท ก็ทำออกมา 2 แบบ ซึ่งขายในราคาต่างกัน เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ต่างกัน นอกจากนำลูกไม้ท้องถิ่นภาคใต้มาทำเป็นเครื่องประดับแล้ว คุณไพโรจน์ได้ติดต่อขอซื้อลูกไม้จากภาคอื่น เช่น ลูกพระเจ้าห้าพระองค์ มาสร้างสรรค์ชิ้นงานเช่นกัน มีการสร้างสตอรี่ให้กับแบรนด์โดยเชื่อมโยงเข้ากับความเชื่อ คุณไพโรจน์ให้ความเห็นว่า การขายสินค้าต้องมีจรรยาบรรณ อย่าหลอกลวง ลูกค้าที่เข้าใจหรือชอบเกี่ยวกับความเชื่อก็ยินดีที่จะจ่าย

ใช้ช่องทางออนไลน์สร้างรายได้เพิ่มโควิดระบาด

ช่องทางการขายก่อนช่วงโควิด-19 สินค้าวางจำหน่ายที่โฮมสเตย์ของคุณไพโรจน์ ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยว คณะศึกษาดูงานกลุ่มนักเรียนนักศึกษา และบุคคลทั่วไป ส่วนนักท่องเที่ยวคนไหนที่สนใจอยากจะทำเครื่องประดับ ทางกลุ่มก็สามารถสอนให้ได้ เพียงแต่มีค่าใช้จ่ายในส่วนของอุปกรณ์ สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในปัจจุบัน ทางกลุ่มหันมาใช้ช่องทางออนไลน์ในการจำหน่าย เช่น เพจกลุ่มลูกไม้ วิธีไลฟ์สด Facebook  และทางไลน์ อย่างในช่วงโควิด-19 ทางกลุ่มลูกไม้คีรีวงได้ผลิตสินค้าใหม่ให้ทันกระแสความต้องการของผู้คนในช่วงนี้ คือ สายคล้องหน้ากากอนามัย โดยใช้วัสดุอื่นที่มีความเหมาะสมต่อการใช้งาน และเพิ่มสีสันให้สวยงามยิ่งขึ้น

หากไม่แน่ใจว่าอยากทำอะไร ให้มองหาว่าชอบหรือถนัดด้านไหน  การได้ทำในสิ่งที่ชอบ เมื่อได้เริ่มก้าวแรกแล้ว มักจะมีก้าวต่อไปเสมอ จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ก็สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้ สำคัญคือ การตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง อย่างการขายสินค้า การตลาดคือสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ต้องเรียนรู้ที่จะขายให้ได้ ทำการตลาดให้เป็น เมื่อเกิดวิกฤตต้องปรับตัวให้ทัน เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจอยู่รอดต่อไป

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ