กล้วยไข่กรอบแก้ว ของดี ของฝาก ผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อ ต.เกาะขันธ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช

กล้วยไข่กรอบ ใครไม่มานครฯแล้วไม่ได้ลองชิมลองทานถือว่าพลาดอย่างแรง !!

หากกล่าวถึง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช หลายๆ อาจจะคิดถึง กระเป๋ากระจูด ซึ่งเป็นสินค้างานหัตกรรม สร้างอาชีพ ทำเงินให้กับชุมชนมากมายทว่า อ.ชะอวด ไม่ได้มีของดีเฉพาะผลิตภัณฑ์จากกระจูดเท่านั้น เพราะที่ ต.เกาะชันธ์ อ.ชะอวด ยังมีของดี ที่อยากเชิญชวนทุกท่านมาลองชิมลองทานกัน เรียกว่า ผู้ใหญ่ทานได้ เด็กทานดี มีประโยชน์ ซื้อกินเองก็อร่อย ซื้อเป็นของฝาก ก็โดนใจคนรับแน่นอน

 

ความเป็นมา กล้วยกรอบไข่แก้ว บ้านเกาะร้าว

คุณป้า กุศล สุกใส หรือ ป้าน้อย ประธานกลุ่มกล้วยไข่กรอบแก้วบ้านเกาะร้าว ได้เล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของกลุ่มกล้วยไข่กรอบแก้วบ้านเกาะร้าว เดิมก่อนที่จะเกิดเป็นกลุ่มกล้วยไข่กรอบแก้วบ้านเกาะร้าว เป็นกลุ่ม 60 พรรษามหาราชินี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2536  และเมื่อปี พ.ศ.2542 ได้เกิดเหตุการณ์ฟองสบู่แตก ทางวิสาหกิจชุมชนจึงได้มีการแจ้งให้มีการจัดตั้งกลุ่มขึ้น

ในครั้งนั้นได้จัดตั้งกลุ่มถั่วเคลือบน้ำตาลแต่เนื่องด้วยขาดวัตถุดิบในการผลิตสินค้าจึงไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้  ต่อมาในปี พ.ศ.2542 มีสมาชิกกลุ่มทั้งหมด 20 คน ทางวิสาหกิจชุมชมจึงปรับเปลี่ยนมาทำผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากกล้วย เพราะเห็นว่าในหมู่บ้านทุกบ้านจะมีต้นกล้วย เลยเริ่มผลิตกล้วยฉาบ โดยได้ไปศึกษาดูงานจากกล้วยฉาบแม่แดง จังหวัดพัทลุง  นำมาปรับเปลี่ยนพัฒนาสูตรเป็นสูตรเฉพาะของกลุ่มกล้วยไข่กรอบแก้ว จากที่ใช้กล้วยน้ำหว้าในการทำกล้วยฉาบเลยเปลี่ยนมาใช้กล้วยไข่แทน และได้ขอ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) อย่างถูกต้องและในปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มทั้งหมด 60 คน

รางวัล และผลงาน กล้วยกรอบไข่แก้ว บ้านเกาะร้าว

  • ในปี พ.ศ.2544 ได้รับรางวัลกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นอันดับ 2 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
  • ปีพ.ศ.2545 และ ปีพ.ศ. 2562 ได้รางวัลกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นอันดับ 1 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
  • ส่วนปัจจุบันในปี พ.ศ. 2564 ก็ได้รับรางวัลกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นอันดับ 2 ของจังหวัดนครศรีธรรมราช
  • อีกหลายหลากรางวัล ที่เป็นเครื่องการันตี ทั้งความสด อร่อย และสะอาด

ขั้นตอนการผลิต กล้วยกรอบไข่แก้ว บ้านเกาะร้าว

ขั้นตอนที่ 1 จะเริ่มจากการปอกเปลือกกล้วยและนำมาล้างน้ำ หลังจากนั้นตั้งให้กล้วยสะเด็ดน้ำจนแห้ง

ขั้นตอนที่ 2 เมื่อกล้วยแห้งดีแล้วจึงนำมาสไลซ์เป็นแผ่นบางๆ ลงในกระทะ

ขั้นตอนที่ 3 ทอดกล้วยในกระทะ คนให้เข้ากันจนสุกทั่วทุกแผ่น

ขั้นตอนที่ 4 ตักกล้วยที่ทอดสุกแล้วขึ้นมาจุ่มน้ำตาล เมื่อจุ่มเสร็จก็นำไปทอดอีกครั้ง (หากกล้วยฉาบรสชาติปกติหรือรสชาติจืด ไม่ต้องนำกล้วยไปจุ่มน้ำตาล สามารถทอดจนสุกและทำตามขั้นตอนต่อไปได้เลย)

ขั้นตอนที่5 ตักกล้วยที่ทอดจนสุกแล้วขึ้นมาตั้งและพักไว้ให้เย็น หลังจากนั้นนำมาแพ๊คใส่ถุง เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำกล้วยไข่กรอบแก้ว

 

เห็นวิธีการทำกันแล้วเริ่มน้ำลายไหลกันแล้วใช่ไหมคะ ขนาดแอดมินได้ชิมกล้วยไข่ฉาบของคุณป้า ก็ยังติดใจจนต้องซื้อกลับมากินเพิ่มเลยค่ะ กล้วยไข่ฉาบสไลซ์แผ่นพอดีคำ น้ำตาลที่เคลือบอยู่มีรสชาติที่พอดีไม่หวานมาก บวกกับความมันของกล้วยไข่ กัดชิมคำแรกคือทั้งกรอบและรสชาติดี กินเพลินกินมันส์จนหยุดไม่อยู่เลย นึกงถึงภาพนั่งทำงาน นั่งเรียนออนไลน์ ดูซีรี่ย์ แล้วหยิบกล้วยไข่กรอบแก้ว เข้าปากไป ซิลเลย

กล้วยไข่กรอบแล้วมีให้เลือกหลายรสตามความชอบ ไม่ว่าจะเป็นรสดั้งเดิม รสหวาน รสเค็ม รสปาปริก้า ราคาของกล้วยไข่กรอบแก้วก็ไม่ได้แพงเลยนะคะ มีทั้ง ขนาดถุงเล็ก 20 บาท ขนาดถุงกลาง 60 บาท และขนาด 1 กิโลกรัมราคา 120 บาท เหมาะมากๆ เลยค่ะ สำหรับจะซื้อไปเป็นของฝาก หรือหากใครชอบเผือก ที่นี่เขาก็มีเผือกกรอบแก้วให้ได้ลอง รับรองถูกใจสายเผือกเช่นกันอย่างแน่นอนจ้า

 

คุณป้ายังฝากมาบอกอีกนะคะว่า ถ้าทุกท่านมีโอกาสได้มาเที่ยวที่อำเภอชะอวด เชิญชวนแวะมาซื้อกล้วยไข่กรอบแก้วไปเป็นของฝากกันเยอะๆนะคะ คุณป้าใจดีมาก มีแถมกล้วยไข่กรอบแก้วไปให้กับทุกท่านทุกออเดอร์ แบบว่าคุ้มค่าแน่นอนค่ะ

แวะอุดหนุน กล้วยกรอบไข่แก้ว บ้านเกาะร้าวแล้วแนะนำมานั่งทานกันต่อที่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส

อีกหนึ่งสิ่งที่ไม่อยากให้ทุกท่านพลาดถ้าหากได้มาเที่ยวอำเภอชะอวด นั่นก็คือเข้าไปเที่ยว นั่งกินลมชมวิวพระอาทิตย์ตกที่อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใสมีวิวและทัศนียภาพที่สวยงามมากนะคะ โอบล้อมไปด้วยขุนเขา มีจุดที่ทุกท่านสามารถจอดรถไปนั่งปิกนิกนำอาหารและเครื่องดื่มไปนั่งทานได้ หรือจะนำกล้วยไข่กรอบแก้วไปนั่งทานไปพร้อมๆกับการชมวิว รับรองเลยค่ะว่าทุกท่านจะได้รับทั้งความอิ่มกายและอิ่มใจไปพร้อมๆกันแน่นอน อย่าลืมแวะมา ชม ชิม ช้อปกันที่อำเภอชะอวดกันเยอะๆนะคะ

ครูเฟิร์ส ปิยะพัฒน์ รักษ์บางบูรณ์ แนะนำการเรียน ชี้ทางชีวิต คนต้นแบบเมืองนคร

วัยมัธยมเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ผู้ปกครองหลายคนมักกังวล ช่วงเวลาที่เด็กๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงเรียน ความคาดหวังต่างๆ จึงตกอยู่ที่ครูผู้สอน สำหรับครูบางท่านมองว่า บทบาทหน้าที่ไม่ใช่แค่การให้ความรู้ทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาชีวิตเช่นกัน  คนต้นแบบเมืองนครท่านนี้เป็นบุคคลที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชน ครูที่คอยแนะนำการเรียน ชี้ทางชีวิตแก่ลูกศิษย์ ครูเฟิร์ส ปิยะพัฒน์ รักษ์บางบูรณ์ หัวหน้างานแนะแนวและประชาสัมพันธ์ โรงเรียนจรัสพิชากร

จุดเริ่มต้นจากเด็กกิจกรรมโรงเรียนสู่โครงการเพื่อชุมชน

ครูเฟิร์สเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนจรัสพิชา ชีวิตในวัยเด็กช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์มักจะไปช่วยคุณแม่และคุณยายขายขนมและผลไม้ที่ตลาด ชื่นชอบการพบปะพูดคุยกับผู้คนและการทำกิจกรรมกับทางโรงเรียน ช่วงวัยมัธยมต้นมีโอกาสเข้าร่วมอบรมมัคคุเทศก์ และได้ฝึกงานเป็นมัคคุเทศก์อาสาที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งทางกลุ่มมัคคุเทศก์ได้รับการสนับสนุนจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดในตอนนั้น ทำให้มีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือกับทางกลุ่ม

ครูเฟิร์สมีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมสันทนาการที่จัดขึ้นตามที่ต่างๆ เมื่อเข้าสู่มัธยมปลายทางโรงเรียนได้ส่งครูเฟิร์สและเพื่อนๆ เข้าอบรมในโครงการ “แผนที่สุขภาพ เพื่อเพิ่มพี้นที่ดี ลดพื้นที่เสี่ยง รอบโรงเรียน” โดยมีโจทย์ว่าหลังจบการอบรมแล้ว ต้องสามารถสร้างเครือข่ายในโรงเรียนให้ได้ ครูเฟิร์สและเพื่อนๆ ได้พูดคุยน้องๆ นักเรียนที่พักอาศัยอยู่ใกล้โรงเรียน เพื่อพัฒนาให้ชุมชนบริเวณนั้นน่าอยู่ขึ้น ดูว่าพื้นที่ตรงไหนที่เป็นพื้นที่เสี่ยงในความคิดสำหรับเด็กๆ โดยให้ความสำคัญกับน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการเป็นสำคัญ ให้ช่วยกันวางแผนและจัดการงานด้วยตัวเอง

จากนั้นเริ่มมีผู้ปกครองให้ความสนใจ และเข้าร่วมเครือข่าย ในวันแรกของการเปิดงานได้รับความสนใจจากคนในชุมชนไม่น้อย เมื่อทางนายกเทศมนตรีทราบข่าวก็ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือในการปรับปรุงพื้นที่

บทบาทหน้าที่ของการเป็น “ครู”

หลังจากครูเฟิร์สจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่จังหวัดสงขลา ครูเฟิร์สมีโอกาสทำงานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่คณะการจัดการการท่องเที่ยว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กรุงเทพมหานคร จากนั้นเดินทางกลับนครศรีธรรมราช และได้รับการทาบทามจากท่านผู้อำนวยการโรงเรียนจรัสพิชากรให้มาช่วยงาน ทำให้ครูเฟิร์สนึกถึงคุณครูท่านหนึ่งที่ให้หนังสือที่ชื่อว่า “ทำแค่นี้ก็มีความสุข” ทำให้ภาพในวันปัจฉิมนิเทศน์ได้ย้อนกลับมา ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ครูเฟิร์สมีความผูกพันธ์อย่างมาก

ในตอนนั้น ครูเฟิร์สเป็นคุณครูที่อายุน้อยที่สุด บทบาทในวันวานจากนักเรียนสู่อาชีพครู ครูเฟิร์สเล่าว่า ค่อนข้างกดดันพอสมควร เนื่องจากต้องร่วมงานกับคุณครูท่านอื่นซึ่งเคยสอนครูเฟิร์สมาก่อน ในวันที่ต้องแนะนำตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรก ครูเฟิร์สกล่าวว่า แม้ตัวเองเป็นเพื่อนร่วมงานกับอาจารย์ แต่ความเคารพนั้นยังคงอยู่เสมอ แต่ในฐานะเพื่อนร่วมงานก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด รังฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมพัฒนาองค์กร ด้วยช่องว่างระหว่างวัยของครูเฟิร์สกับนักเรียนไม่ห่างกันมาก ซึ่งวิชาแนะแนวเป็นหนึ่งในวิชาที่ครูเฟิร์สสอน ต้องมีการพูดคุยกับนักเรียน  ทำให้นักเรียนกล้าที่จะเปิดใจคุยมากขึ้น สำคัญคือ ต้องทำให้นักเรียนไว้ใจเรา

วิชาแนะแนว วิชาทักษะชีวิต แนะนำการเรียน ชี้ทางชีวิต

ในมุมมองของครูเฟิร์สสำหรับวิชาแนะแนวและวิชาทักษะชีวิตที่ตัวเองเป็นผู้สอนนั้น ครูเฟิร์สให้นิยามว่า เป็นวิชาแห่งความเข้าใจซึ่งกันและกัน นักเรียนมีความต้องการอะไรก็ขอให้บอก ครูทำหน้าที่เป็นผู้ที่คอยรับฟัง ช่วยเหลือ ให้คำแนะนำและส่งเสริม แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและเหมาะสม บางเรื่องที่เรารู้สึกว่าไม่ถูกต้องก็อย่าเพิ่งไปตัดสิน พยายามพูดในเชิงบวก เพื่อเสริมแรง เสริมสร้างกำลังใจแก่นักเรียนที่เข้ามาปรึกษาวิธีนี้ทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจ รู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเอง อย่างนักเรียนบางคนที่มีปัญหาทางการเงิน ทางโรงเรียนก็ให้การสนับสนุนอาหารกลางวัน หรือขอความอนุเคราะห์จากทางผู้ประกอบการในชุมชนให้ช่วยรับนักเรียนเข้าทำงานหลังเลิกเรียน เป็นการช่วยลดภาระทางบ้าน คลายความกังวลใจของนักเรียน

ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนสามารถมาโรงเรียนได้ตามปกติอย่างที่ควรจะเป็น ครูเฟิร์สเล่าว่า เพราะเด็กทุกคนนั้นแตกต่างกัน แต่ละคนมีมุมมองความคิด การเข้าถึงโอกาส และปัญหาที่ต่างกัน เด็กบางคนที่มีโอกาสที่ดีทางโรงเรียนจะช่วยส่งเสริมผลักดันอย่างเต็มที่ ส่วนคนที่มีภาระต้องช่วยงานทางบ้านแล้วเข้าเรียนสายก็สามารถแจ้งเหตุผลกับทางโรงเรียนได้ อย่างช่วงสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการศึกษาอย่างมาก เมื่อต้องเปลี่ยนรูปแบบการเรียนมาเป็นออนไลน์ ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมีความพร้อมด้านอุปกรณ์ ทางคุณครูเองก็ต้องปรับตัวไม่น้อยเช่นกัน จนเกิดความกังวลว่าเด็กจะได้รับประโยชน์จากการเรียนออนไลน์มากน้อยแค่ไหน เด็กคนไหนที่ไม่พร้อม ทางโรงเรียนสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร การวัดผลก็ต้องคำนึงถึงตรงนี้เช่นกัน ต้องปรับไปตามรายบุคคล

แรงบันดาลใจที่อยากเป็นครู กับบทบาทของครูที่ช่วยเหลือสังคม

ครูเฟิร์สเล่าว่า นักเรียนส่วนใหญ่มักจะมีบุคคลที่ชื่นชอบอยู่ในใจ ใฝ่ฝันว่าอยากจะเดินตามเส้นทางนั้นและประสบความสำเร็จ เหตุผลของการเป็น “ครู” สำหรับครูเฟิร์สนั้นเพราะอยากที่จะทำงานร่วมกับเด็กๆ อยากที่จะรับฟังพวกเขา อย่างบางเรื่องที่เด็กๆ ไม่สามารถเล่าให้ใครฟังได้  ครูเฟิร์สอยากจะเป็นคนที่เด็กสามารถเล่าให้ฟังได้ พร้อมที่จะช่วยเหลือและให้โอกาสอยู่เสมอ เช่นเดียวกับที่ครูเฟิร์สเคยได้รับโอกาสจากครูผู้สอนในวัยเด็ก เมื่อทางสมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ทราบว่าคุณครูเฟิร์สได้มาเป็นคุณครูที่โรงเรียนจรัสพิชากร จึงได้ยื่นเรื่องโครงการแผนที่สุขภาพ ปีที่ 2 จากที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นนักเรียนแกนนำโครงการ

ปัจจุบันได้มาเป็นครูที่ปรึกษาโครงการ ปล่อยให้นักเรียนได้มีอิสระทางความคิด ครูมีหน้าที่คอยให้คำแนะนำ ครูเฟิร์สเล่าว่า โครงการแผนที่สุขภาพ ไม่ใช่แค่การพัฒนาพื้นที่เท่านั้น แต่ยังช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้การทำงานที่ได้รับมอบหมาย ฝึกทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทักษะการแก้ปัญหา บางคนค้นพบว่าตัวเองชอบอะไรและอยากที่จะศึกษาต่อด้านไหนจากการเข้าร่วมโครงการนี้ ครูเฟิร์สมองว่า การทำงานลักษณะนี้ทำให้ทั้งเด็กและครูต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

การเปิดใจรับฟัง ฟังอย่างเป็นกลาง ไม่ตัดสิน คอยชี้แนะในสิ่งที่ถูกที่ควร พยายามช่วยเหลือและให้กำลังใจ เป็นสิ่งที่ช่วยให้เด็กและเยาวชนเติบโตด้วยความมั่นใจ เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่เดินในเส้นทางที่ทำให้ตัวเองและคนที่รักเราต้องเสียใจ ขอเพียงมีใครสักคนเข้าใจและมอบโอกาสให้ คอยอยู่เคียงข้างในวันที่ท้อแท้ แม้ต้องเผชิญกับอุปสรรคก็สามารถจัดการกับปัญหาและกลับมาเดินได้อย่างมั่นคงอีกครั้ง

ชมรายการ Live สด  “ฅนต้นแบบ งานต้นแบบ เมืองนคร” ได้ทุกวันจันทร์ เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ นำสินค้ามาขายร่วมกัน Nakhonsistation 092-6565-298 คุณ เกียรติ