Skip to content

หงส์หามเต่า ที่ถูกเล่าไว้บนพระธาตุเมืองนคร

เมื่อวันอาทิตย์ก่อน (๘ ส.ค. ๒๕๖๔) ได้หนังสือมือหลังมา ๔ เล่ม ล้วนของเก่า ทุกเล่มมีเค้าว่าเป็นสมบัติจากหอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช(หช.นศ.) รูปการณ์บางอย่างเป็นพิรุธให้ต้องสงสัย แรกเห็นหน้าต้นฉีกขาดไปเหมือนกัน พลอยให้ฉุกคิดถึงคดีหนังสือบุด ที่อันตรธานจากศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราชเมื่อปีสองปีก่อน แต่ด้วยว่าสภาพชำรุดมาก กับทั้งบางเล่มในกองมีตราประทับว่า “จำหน่าย” จึงยังคงพอให้เป็นไปได้ที่ ๔ เล่มในมือจะอาศัยช่องทางตามระเบียบราชการอย่างเดียวกันออกมา

เพื่อให้แน่ใจอย่างที่สุด
ได้หารือกับท่านผู้อำนวยการ หช.นศ. เพื่อให้ตรวจสอบ
จนได้ความว่าเป็นดังนั้น จึงลงมือเปิดอ่านตามที่สนใจ

เรื่องหงส์หามเต่าที่ไปปรากฏทำเป็นรูปไว้ที่มาลัยก้านฉัตรองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เท่าที่ค้นหาดูอย่างคร่าวๆ ไม่พบผู้ศึกษาอย่างจริงจังหรือมีกล่าวถึงในที่ใด ทั้งมุขปาฐะและลายลักษณ์อักษร เป็นความท้าทายอันยิ่งที่จะศึกษาค้นคว้าไว้เป็นความรู้พื้นฐานกระทั่งต่อยอดทางวิชาการ อย่างน้อยที่สุดอาจเริ่มที่การทบทวนสถานภาพความรู้เกี่ยวกับเรื่อง “หงส์หามเต่า” นี้

ย้อนกลับไปที่เหล่าหนังสือทั้งติดมือมา ๑ ในนั้น เป็นนิทานอิหร่านราชธรรม (ประชุมปกรณัม) เล่ม ๒ ที่มีเล่า “นิทาน” เรื่อง “หงส์หามเต่า” ไว้เป็นลำดับที่ ๓๗ ในหน้า ๑๗๗-๑๗๘ ซึ่งเราอาจเริ่มต้นทบทวนกันตรงนี้

“กาลก่อนมีสุวรรณราชหงส์คู่ ๑ ชื่อสุวรรณตรุมตัว ๑ ชื่อบรมระนิบุบ สถิตอยู่ ณ สถานแทบดัษคิรีสิงขรเหนือกูฏบรรพตอัน ๑ แลสุวรรณหงส์นั้นพากันไปหาอาหารถึงสถานสระ ๆ นั้นมีเต่าตัว ๑ ชื่อตรุมมาเป็นมิตรสันถวะด้วยสุวรรณหงส์ ตรุมก็ถามถึงถ้ำเถื่อนสถานที่อยู่ ดัษหงส์ก็แจ้งว่าสถานอันอาตมะสถิตแทบดัษคิรีสระเหนือกูฏบรรพตโพ้น สนุกสนานมีเบญจอุบลตระการด้วยผกาเกสร สรรพมัจฉาวารีสัญจรเป็นผาสุกภิรมย์หาภยันตรายมิได้ ตรุมก็ติดใจจักใคร่ไปอยู่จึงอ้อนวอนว่า สหายได้พาอาตมาไปอยู่ ณ เขาดัษคิรีสระนั้นเถิด

สุวรรณหงส์จึงตอบว่า เออก็ตามเถิด แต่ถ้าว่าสหายยังจะสงวนจิตใจจะระงับโทโสได้แล้วหรือ ตรุมรับว่าโทษจิตอาตมะจะระงับได้ จะสงวนจิตดุษณีอยู่ สหายจงมีมุทุจิตจินดาพาอาตมะไปในกาลบัดนี้ด้วยเถิด

สุวรรณหงส์ทั้งคู่ก็คาบทัณฑท่อนไม้หามหาบ ตรุมก็คาบในท่ามกลางท่อนไม้ระเห็จเหาะมาในนภากาศ พาลสิงคาลจิ้งจอกหมู่ ๑ จรมา แลเห็นก็ร้องว่า ไฉนพญาหงส์มาโหดหืนนี่นักหนา มาพาอ้ายตรุมขึ้นสวรรค์ไปดังนี้ ตรุมได้ยินเสียงสิงคาลร้องว่า มิอดทนโทโสโมโหได้อ้าโอษฐ์ออกบริภาษนา ก็หันตกลงมาอุระก็ตีลงกับพื้นปัฐพี มังสะก็แตกกระเด็นออกจากกระดอง สิงคาลก็ล้อมกันกินเป็นอาหาร

ดูกรวายุภักษ์ ผู้ใดมีจิตกล้าด้วยโทโสโมโหมหันธการหาประโยชน์มิได้ ยังภัยพินาศให้บังเกิดมีเหมือนตรุมอันมิได้สงวนจิตวจีนั้น ดูกรวายุภักษ์สังวทันต์ อย่างธรรมเนียมโบราณยังมีดังนี้อีกฯ”

เรื่องหงส์หามเต่าถูกเล่ากันในหลายพื้นที่ของไทย รวมถึงเอเชีย ส่วนข้างนครศรีธรรมราช แม้จะมีปรากฏอยู่บนองค์พระบรมธาตุเจดีย์ แต่อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้นว่ายังสืบหาข้อมูลไม้ได้ จึงอาจต้องทยอยตะล่อมเอาจากแหล่งอื่นที่พบก่อนเพื่อทบทวน