Skip to content

ประวัติอำเภอลานสกา ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

ประวัติอำเภอลานสกา
ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค

เหตุที่ได้จั่วหัวว่าเป็น “ฉบับมหาดไทยส่วนภูมิภาค” นั้น ด้วยคัดมาจากหนังสือ “ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเข้าใจเอาจากคำนำในเล่มว่าเป็นข้อสั่งการจากกระทรวงมหาดไทยถึงจังหวัดทุกจังหวัด ให้รวบรวมและเรียบเรียงเหตุการณ์สำคัญ เอกสาร ความเป็นมา ภูมิประเทศ สถานที่และบุคคลสำคัญของจังหวัดต่าง ๆ เป็นสารบบ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการท้องถิ่น ได้แก่ วิมล ดำศรี, วิเชียร ณ นคร, ประหยัด เกษม, สมพุทธ ธุระเจน และฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ เป็นคณะทำงาน โดยที่ น้อม อุปรมัย, กระจ่าง คีรินทร์นนท์ และขุนพันธรักษ์ราชเดช เป็นที่ปรึกษา

.

หนังสือดังกล่าว แบ่งเป็น 8 บท ได้แก่ ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ลักษณะการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติความเป็นมา ประวัติเทศบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช บุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช ประวัติสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และทำเนียบนามผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

.

ส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำเภอลานสกานั้น ปรากฏอยู่ในบทที่ 3 “ประวัติอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยจะได้คัดมาเผยแพร่ดังต่อไปนี้ (แบ่งวรรคตอนและย่อหน้าใหม่รวมถึงปรับคำบางช่วงตอนเพื่อสะดวกต่อการอ่าน แต่ยังคงสาระสำคัญไว้ตามต้นฉบับทุกประการ ประกอบกับในชั้นนี้จะยังไม่มีบทวิเคราะห์ข้อมูลใดๆ)

.

ลานสกา จากเขาแก้ว

เดิมเป็นหมู่บ้านที่ขึ้นกับอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาเมื่อทางราชการได้แบ่งการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล บริเวณอำเภอลานสกานี้ก็ถูกกำหนดให้เป็นกิ่งอำเภอ เรียกว่า “กิ่งอำเภอเขาแก้ว” เพราะที่ว่าการอำเภอตั้งอยู่ในตำบลเขาแก้ว ต่อมาได้ยุบตำบลเขาแก้วมาขึ้นกับตำบลลานสกา ที่ว่าการอำเภอก็ติดอยู่ในตำบลลานสกา ถึงแม้ว่าจะแยกตำบลเขาแก้วออกจากตำบลลานสกาแล้วในปัจจุบัน และที่ว่าการอำเภอจะตั้งอยู่ในตำบลเขาแก้วก็ตาม ก็ยังคงเรียกว่า “กิ่งอำเภอลานสกา” ตามเดิมตลอดมา

.

อำเภอลานสกา

ต่อมาเมื่อ พ.ศ.2500

ทางราชการได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอลานสกา

เป็น “อำเภอลานสกา” จนถึงทุกวันนี้

.

ลานสกา

คำว่า “ลานสกา” อธิบายได้เป็นสามนัย ดังนี้

 

1.

ชื่อมาจากภาษาของชาวหมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งได้นำศาสนาฮินดูและพุทธเข้ามาครั้งแรก เรียกว่า “แลงกา” แปลว่า “หุบเขา” “หว่างเขา” ซึ่งก็ตรงกับภูมิประเทศ แล้วก็เรียกเพี้ยนไปจนเป็น “ลานสกา”

 

2.

ชื่อนี้เป็นไทยแท้ คือ ลาน หมายถึง ที่ราบหรือที่เตียน เล่ากันว่าในครั้งก่อน ฝูงกาลงมารวมพวกพ้องส่งเสียงร้องกันสนุกสนานเป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกสถานอันโล่งเตียนนั้นว่า “ลานสกา”

.

ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชมาสร้างเมือง “ศิริธรรมนคร” ที่หาดทรายแก้วนั้น ช่วงหนึ่งได้เกิดไข้ห่าหรือโรคระบาดขึ้นในเมือง พระองค์จึงอพยพราษฎรไปตั้งชั่วคราวอยู่ในเขตตำบลลานสการาวห้าปี เมื่อโรคระบาดได้สงบลงแล้วจึงอพยพกลับมาอยู่ที่หาดทรายแก้วตามเดิม จากหลักฐานนี้อาจเป็นไปได้ที่ว่าฝูงกาลงมากินซากศพของคนตาย เมื่อครั้งที่เกิดโรคระบาด

 

3.

สกา เป็นเครื่องเล่นการพนันที่ใช้ลูกเต๋าทอด “ลานสกา” จึงมีความหมายไปในทางเล่นการพนันสกา

___
คัดจาก

นครศรีธรรมราช, จังหวัด. (2527). ประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดนครศรีธรรมราช. นครศรีธรรมราช: จังหวัดนครศรีธรรมราช.