Skip to content

ตำนานพระธาตุเมืองนคร ฉบับจิตรกรรมศาลาประโชติศาสนกิจ

ตำนานพระธาตุเมืองนคร
ฉบับจิตรกรรมศาลาประโชติศาสนกิจ

 

ไม้คู่หนึ่งเกลียว ส่วนที่เหลือเป็นต้นเดี่ยวแบ่งฉาก

ว่าด้วยเรื่องทำพระธาตุ ที่ศรีธรรมราชมหานคร

.

วัดวังตะวันตก

วัดวังตะตก มีนานาเรื่องเล่าสำคัญเป็นของตัวเองอยู่ในมือ แต่เหตุใดไม่ร่ายเพิ่มเป็นตำนานประวัติศาสตร์ห้อยท้ายตำนานปรัมปราตามอย่างขนบการแต่งตำนานเหมือนสำนวนอื่นๆ ในท้องถิ่น เรื่องทำพระธาตุฉบับใดและเพราะเหตุใดที่จิตรกรเลือกใช้เป็นตัวแบบ สิ่งละอันพันละน้อยที่ปรากฎในภาพ แสดงสัญลักษณ์หรือเข้ารหัสความคิด-ความรู้ใดเอาไว้บ้าง

.

เหล่านี้ เป็นคำถาม

เพื่อกระตุ้นความสนใจส่วนตัว

.

ฟังว่าเป็นภาพวาดสีพาสเทลเมื่อราว 40 ปีก่อน ฝีมือครูอุดร มิตรรัญญา ได้ต้นเค้ามาจากคัมภีร์พระนิพพานโสตรไม่สำนวนใดก็สำนวนหนึ่ง ฉากต้นยกเมื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระขึ้นแสดง ฉากปลายทำรูปสองกษัตริย์ (พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชกับพระเจ้าอู่ทอง) ปันแดนที่ไม้แกวก

.

ตำนานพระบรมธาตุ

ถ้าไม่นับบทละครตำนานพระบรมธาตุและเมืองนครศรีธรรมราช ฉบับพุทธศักราช 2513 บทประกอบการแสดงแสงเสียง เรื่อง ตำนานพระบรมธาตุ ประจำปี 2537 และบทพากษ์ประกอบแสง สี เสียง มินิไลท์ แอนด์ ซาวด์ ในห้วงทศวรรษ 2550 แล้ว จิตรกรรมชิ้นนี้ถือเป็น “ภาคแสดง” ของทั้งเรื่องราวและเรื่องเล่าที่ว่าด้วยการ “ทำพระธาตุ” ผ่านภาพวาดที่น่าศึกษา และสำหรับเรื่องนี้ คงเป็นหนึ่งเดียวในนครศรีธรรมราช จึงไม่พักจะพรรณนาว่าล้ำค่าสักปานใด

.

กราบอนุโมทนากับจิตรกรผู้ล่วงลับอย่างที่สุด เสียดายที่ไม่มีโอกาสได้สนทนา-สัมภาษณ์ จึงถือเป็นหน้าที่ส่วนที่เหลือของผู้ชมโดยสมบูรณ์ ตามว่า The Death of the Author (แต่อันนี้ Death จริงใช่เพียงแค่เปรียบเปรย)

.

ในฉากมีอะไรให้ตื่นตาอยู่มาก จึงละเสียมาสังเกตของกั้นฉากทั้ง 27 ที่ทำเป็นไม้ยืนต้น ยังดูไม่ค่อยออกว่าเป็นต้นอะไร ในหนังสือ “คัมภีร์พระนิพพานโสตร ตำนานแห่งพระธาตุเมืองนคร นานาของดีกลางเมืองนคร” ยกว่ามี สะตอ ทุเรียน ขนุน เป็นพื้น

.

ไม้คู่เกลียวหนึ่ง

สังเกตเห็นไม้คู่เกลียวหนึ่ง ในท่ามกลางของกั้นอื่นๆ ที่เป็นต้นเดี่ยวทั้งหมด ฉากซ้ายมือหนังสือนั้นว่าเป็น “ฉากที่ 6 พระนางเหมชาลา พระทนธกุมารขึ้นฝั่งที่หาดทรายแก้ว” ส่วนทางขวาเป็น “ฉากที่ 7 พระนางเหมชาลา พระทนธกุมารได้รับความช่วยเหลือจากเรือพ่อค้า”

.

หากไม้เกลียวคู่นี้ถูกเข้ารหัส

และมาแสดง ณ เหตุการณ์ที่สองกษัตริย์ขึ้นหาดทรายแก้ว

มีข้อพิจารณาใดที่พอจะถอดความได้บ้าง ?

.

ตั้งแต่ฉากแรกมาจนถึงฉากทางซ้ายของไม้คู่นี้ เป็นเรื่องเดียวกันกับที่มีกล่าวในมหาปรินิพพานสูตร แล้วมาต่อกับตำนานพระเขี้ยวแก้วหรือทาฐาวังสะฝ่ายลังกา ส่วนถัดแต่ฉากไม้คู่ไป ว่าด้วยเหตุการณ์เรือแตก ร่ายไปจนทำพระธาตุบนหาดทรายแก้ว แล้วตั้งนครศรีธรรมราชเป็นกรุงเมือง

.

ไม่เคยอ่านต้นฉบับตำนานพระเขี้ยวแก้วของลังกา ผ่านตาเฉพาะในหนังสือ “มหาธาตุ” ของ ดร.ธนกร กิตติกานต์ ที่สรุปไว้ในตอนที่เกี่ยวข้องนี้ว่า สองกษัตริย์ (พระเหมชาลากับพระทนธกุมาร) เดินทาง “นำพระเขี้ยวแก้วไปถวายแด่พระเจ้าสิริเมฆวรรณแห่งลังกา” ในนั้นปราศจากอนุภาค “เรือแตก”

.

“ไม้คู่” แบ่งฉากตรง “เรือแตก” นี้

ต้นหนึ่งจึงอาจสื่อว่าข้างซ้ายเป็นของรับปฏิบัติมา

อีกหนึ่งบอกว่าขวาคือของเราที่ขอเคล้าด้วย

อาการเกลียวนี้จึงกำลังบอกตำแหน่งเริ่ม “เกี่ยวพัน”

.

ตำแหน่งไม้คู่

จึงอาจเป็นความพยายามของจิตรกร

ที่จะแสดงให้เห็นว่า “ตำนาน” นี้ มีต้นทางมา

กับการแตกเรื่องออกไปเป็นของท้องถิ่น

ทำนอง Oicotypification

เพื่อสร้างและอธิบายความหมาย

ขององค์พระบรมธาตุเจดีย์

(ในที่นี้จะยังไม่ขอกล่าวเพิ่ม)

.

เรื่องหาด “ทรายแก้ว” นี้ก็น่าสนใจ เพราะเพิ่งรู้ว่าแปลมาจาก “รุวันเวลิ” ชื่อเรียกมหาสถูปแห่งเมืองอนุราธปุระฯ