แซนวิชขนมปังโฮมเมดตะวันตกเจ้าแรกเมืองคอน Yummy to my Tummy

สวัสดีค่าาา วันนี้เรามาอยู่กันในเมืองอีกแล้วค่ะ ร้านที่เราจะแนะนำวันนี้นะคะก็คือร้าน Yummy to my Tummyค่ะ เป็นร้านแซนวิชขนมปังตะวันตกเจ้าแรกของเมืองคอนเลยค่ะ

บรรยากาศภายในร้านก็ให้ความรู้สึกเป็นกันเองนะคะ มีโซนนั่งเล่น ซึ่งร้านYummy to my Tummy เป็นร้านเล็กๆนะคะเพราะส่วนใหญ่ลูกค้าเน้นสั่งกลับไปรับประทานที่บ้าน

แต่ถ้าสำหรับใครที่อยากรับประทานพิซซ่านะคะต้องมาทานที่ร้านเลย พิซซ่าทางร้านจะทำแป้งใหม่ตลอดเพราะฉะนั้นใครที่อยากทานต้องสั่งก่อนล่วงหน้า 2 ชั่วโมงนะคะเพื่อให้ทางร้านเตรียมแป้งไว้เมื่อลูกค้ามาถึงก็จะได้รับประทานเลย โดยพิซซ่าของทางร้านแป้งก็จะมีความบางกรอบนะคะ ซึ่งต้องมารับประทานที่ร้านเท่านั้นไม่ได้มีส่งนะคะเพราะว่าต้องใช้เวลาในการทำ ทางร้านใช้วัตถุดิบอย่างดีนะคะ ตัวซอสที่ใช้ทางร้านก็ทำเอง ซึ่งบอกเลยว่าอร่อยมาก แป้งนะคะมีความกรอบและหอมมาก แนะนำให้ทานเลยนะคะเพราะว่าถ้าทิ้งไว้นานตัวแป้งจะมีความแข็งเล็กน้อยค่ะแต่ก็สามารถทานได้อร่อยเหมือนเดิมเลยค่ะ ส่วนวัตถุดิบอื่นๆที่โรยด้านบนนะคะก็บอกเลยว่าทางร้านก็ให้แน่นๆเลยนะคะ ไม่ผิดหวังแน่นอนค่ะ

ต่อมานะคะเป็นสลัดผักค่ะ แนะนำสำหรับสายสุขภาพเลยนะคะ เพราะเมนูนี้ทางร้านทำน้ำซอสเอง ตัวมายองเนสทางร้านก็ทำเองหมดนะคะโดยทางร้านการันตีเลยว่าไม่มีน้ำตาล กินคู่กับผักสดๆกรอบๆนะคะบอกเลยว่าเข้ากันมากตัดเลี่ยนได้พอดีเลย

เมนูต่อมานะคะไม่พูดถึงไม่ได้เลยนะคะ เมนูแนะนำของทางร้าน แซนวิชเย็นไก่ เบคอน ซอสแรนช์  ซึ่งซอสจะมีรสชาติมันเค็มเปรี้ยว ตัวแป้งก็มีความกรอบอร่อยเข้ากันพอดี

ส่วนพิกัดของร้านอยู่ตรงถนนประตูลอด อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช ติดกับโรงเรียนสอนดนตรีบ้านตัวโน๊ตใครผ่านไปผ่านมานะคะอย่าลืมแวะมาชิมกันเยอะๆแต่สำหรับใครที่ไม่สะดวกทางร้านก็มีบริการส่งนะคะเข้าไปสั่งกันได้ แต่สำหรับใครที่อยากลองทานพิซซ่าด้วยแนะนำให้กินที่ร้านค่ะ ต้องสั่งไว้ก่อนนะคะ บอกเลยสำหรับใครที่เป็นคอขนมปังนะคะร้านนี้พลาดไม่ได้เลย

ตะลุยกินร้านเก่าแก่ “ท่าวัง”

ตะลุยกินร้านเก่าแก่”ท่าวัง”

สวัสดีค่า วันนี้เราจะมาตะลุยกินกันที่ท่าวังเป็นชุมชนที่มีแต่ของกินของฝากมากมายถือว่าเป็นแหล่งชุมชนและการค้าของชาวนครศรีธรรมราชอีกที่หนึ่งเลยก็ว่าได้ เราก็เลยอยากจะพาทุกคนไปกินร้านอาหาร เก่าแก่ที่ตั้งอยู่ท่าวังกัน ซึ่งเราได้เลือกมาด้วยกัน 4 ร้าน จะมีร้านไหนกันบ้างไปดูกันเลยยย!

ท่าวัง

มาเริ่มกันที่ร้านแรก “ก๋วยเตี๋ยวเรือร้อยชาม” ก๋วยเตี๋ยวเรือร้อยชามมีบรรยากาศกลิ่นอายของความ เป็นไทยในรูปแบบของก๋วยเตี๋ยวเรือ โดยมีเมนูให้เลือกหลากหลายครบจบในที่เดียว ซึ่งเมนูที่ขึ้นชื่อของทางร้าน ก็จะมี ก๋วยเตี๋ยวเรือ ผัดไทยกุ้งสด หอยทอดกระทะร้อน สุกี้น้ํา สุกี้แห้ง หมูสะเต๊ะและน้ําจิ้มสูตรเด็ดของทาง ร้าน มาถึงตรงนี้มีใครสนใจอยากจะลองไปชิมกันแล้วใช่ไหมคะ สําหรับใครที่สนใจนะคะร้านก็จะตั้งอยู่ที่ถนน พัฒนาการคูขวาง ใจกลางเมืองนครศรีธรรมราช หลังห้างโรบินสันโอเชี่ยน

ก๋วยเตี๋ยวร้อยชาม

ก๋วยเตี๋ยวร้อยชาม

ซึ่งเมนูที่แอดมินลองสั่งมารับประทานวันนี้ก็จะมี ก๋วยเตี๋ยวเรือและลวกจิ้ม ลวกจิ้มก็จะมีหมู ลูกชิ้นปลา ตับและน้ําจิ้มสูตรเด็ดของทางร้าน ซึ่งก๋วยเตี๋ยวเรือนะคะก็จะมีรสชาติไปทางหวานค่ะ หมูมีความ นุ่มเด้งค่ะ ใครที่เป็นสายก๋วยเตี๋ยวนะคะก็คือพลาดร้านนี้ไมไ่ ด้เลยนะคะ ไปลองชิมกันเยอะๆนะคะ

ไอศกรีมเด่นชัย

 

มาต่อกันที่ร้านที่ 2 เลยค่ะ “ร้านไอศกรีมเด่นชัย” เป็นร้านที่เก่าแก่ดั้งเดิมของเมืองนครเลยก็ว่าได้ ซึ่งร้านจะมีขนาดเล็กแต่ลูกค้าเข้าออกร้านอยู่ตลอดโดยทางร้านก็จะขายเฉพาะไอศกรีมเท่านั้นซึ่งราคาก็จะอยู่ที่ 20-30บาท รสชาติของไอศกรีมนะคะก็จะมีความหวานและหอมกะทิมากเลยค่ะ

ไอศกรีมเด่นชัย

เรามาต่อกันที่ร้านที่ 3 “ร้านนครโอชา” เป็นอีกหนึ่งร้านที่เก่าแก่เปิดมานานหลาย 10 ปีของ นครศรีธรรมราชเลยค่ะ ร้านก็จะตั้งอยู่หลังธนาคารกรุงไทย สาขาท่าวัง ร้านก็จะเปิดให้บริการตั้งแต่เช้า ซึ่งเมนู ของทางร้านก็จะมีก๋วยเตี๋ยว ข้าวหมูแดง ข้าวมันไก่ หมูสะเต๊ะ ทีเด็ดของที่ร้านที่พลาดไม่ได้เลยนะคะก็คือเส้น บะหมี่ค่ะ เพราะเส้นบะหมี่จะมีความหอมและอร่อยมาก

นครโอชา

สุดท้ายเราก็มาตบท้ายกันที่ร้านของหวานกันเลย “ร้านแป้งกรอบ 2502”ร้านแป้งกรอบเป็นอีกหน่ึง ตํานานร้านขนมหวานท่ีสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีเอกลักษณ์ที่นําบะหมี่หวานและแป้งกรอบมารังสรรค์ เป็นของหวานที่ขึ้นชื่อ เมนูของทางร้านก็มีให้เลือกมากมายนะคะ แถมราคาไม่แพงอีกด้วย ร้านแป้งกรอบ ตั้งอยู่ถนนเอกนคร ข้างกับสหไทยพลาซ่าหรือบิ๊กซีนครศรีธรรมราช

แป้งกรอบ 2502

ร้านแป้งกรอบ 2502

สําหรับใครที่สนใจอย่าลืมไปชิมกันนะคะ บอกเลยว่าพลาดไม่ได้จริงๆ ครั้งหน้าจะไปรีวิวที่ ไหนอย่าลืมติดตามกันนะคะ

 

 

 

รีวิวงาน “มหกรรมสินค้าท้องถิ่นใต้” ณ อาคารสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มาแล้วค่าา…มหกรรมดีๆ โดนใจสายกินสายช้อปกับงานมหกรรมสินค้าท้องถิ่นใต้ มหกรรมด้านการอนุรักษ์ความเป็นปักษ์ใต้ โดยจะจัดขึ้นในวันที่ 19 กันยายน – 25 กันยายน 2565 ภายในงาน มหกรรมสินค้าท้องถิ่นใต้เต็มไปด้วยสินค้า OTOP มากกว่า 100 ร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่มสุดอร่อย ผ้าและเครื่องแต่งกายที่ทันสมัย ผสมผสานอัตลักษณ์ของไทยได้อย่างลงตัว รวมไปถึงของใช้ ของตกแต่ง ของที่ระลึกต่าง ๆที่ทำขึ้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารที่ได้รับการแปรรูปอย่างสร้างสรรค์จนเกิดเป็นสินค้า OTOP ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ของเอกลักษณ์พื้นเมืองของภาคใต้

ภายในงานก็จะมี…ของกินให้เลือกมากมาย อาหารฮาลาลก็มีของกินพื้นเมืองของคนปักษ์ใต้อย่างขนมจีนเส้นสด ผัดไท หอยทอดร้อนๆ ทะเลดองสดๆ  ไก่กอแระ ไข่ปลาหมึก ขนมเบื้อง ข้าวหลาม ขนมหม้อแกง โรตี เครื่องดื่มต่างๆ มีทั้งของคาวของหวานให้เลือกซื้อกันเพียบ

 

ของใช้สินค้า OTOP เสื้อผ้าแฟชั่นสวยๆราคาถูก ต้นไม้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

 

อย่าลืมไปเที่ยวโซนเครื่องเล่นเอาใจเด็กๆ อย่าง ชิงช้าสวรรค์ม้าหมุน ยิงปืน สไลเดอร์

นอกจากนี้ยังมีการจัดเวทีเพื่อแสดงศิลปะพื้นบ้าน ดนตรีและที่พลาดไม่ได้มีศิลปินมาให้ชมตลอดวันงาน มีลานจอดรถและมีการปิดถนนเพื่อให้คนเดินงานได้เดินอย่างสะดวกสบาย

และสุดท้ายนี้แอดมินมีภาพบรรยากาศภายในงานมาฝากทุกคนด้วยค่ะ

บรรยากาศงานมหกรรมสินค้าท้องถิ่นใต้ในครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทางศูนย์ประสานงานโครงการอพ.สธ. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ได้จัดงานดีๆแบบนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับนครศรีธรรมราชหากปีหน้ามีงานดีดีแบบนี้อีก ทุกคนห้ามพลาดกันน้า

 

 

 

ประวัติศาสตร์ จากวรรณกรรมเมืองนครศรีธรรมราช

ประวัติศาสตร์
จากวรรณกรรมเมืองนครศรีธรรมราช

เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 2 เมษายน 2561 ได้มีโอกาสไปร่วมเสวนาว่าด้วยวรรณกรรมเมืองนครศรีธรรมราช ที่หอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช ถ้าจำไม่ผิดคงเป็นห้วงสัปดาห์อนุรักษ์มรดกไทย ในกำหนดการปลายเปิดไว้สำหรับการแสดงทัศนะของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ได้ร่างทัศนะประพันธ์เป็นร้อยกรองและร้อยแก้วแล้วขึ้นแลกเปลี่ยนด้วย ซึ่งยังหลวมๆ ไม่วิชาการ อาจดูทะเล่อทะล่าแสดงความเขลาตามประสาเด็กซนบ้างก็กราบขออภัย มีว่าดังนี้

                                              เดียวเดียวโดดเดี่ยวด้อย               ความเดียว

                                    สืบสายสาวความเหลียว                            จึ่งแจ้ง

                                    แดดบ่แค่แผดเกี้ยว                                  สว่างเคียง มานา

                                    ใคร่แดดฤาแดดแกล้ง                                ใคร่สว่าง สว่างมา

                                                ในหนึ่งมีที่สองมองให้ถ้วน             คลี่สำนวนพบเท็จจริงทิ้งปุจฉา

                                    ความสำคัญในบรรทัดคือวิสัชนา                ปริศนาใดด้อยค่อยคลี่คลาย

                                                เอาความงามได้งามตามที่ว่า          เอาภาษาได้กลเม็ดเด็ดดังหมาย

                                    เอาเนื้อความได้ตามหวังตั้งอภิปราย           เอาเกร็ดกรายประวัติศาสตร์มิพลาดเอย

นอกจากการศึกษาวรรณกรรมเพื่อสุนทรียรส คุณค่าสำคัญอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือแง่งามของเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ทิ้งไว้ในแต่ละวรรค ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากการค้นคว้าข้อมูลทางโบราณคดีจากหลักฐานชั้นต้นและหลักฐานชั้นรองต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น ข้อมูลที่ได้จากงานวรรณกรรมร่วมสมัยหรือเกี่ยวข้อง กลับเป็นสารสนเทศที่สังเคราะห์คำตอบในมุมที่อาจจะค้นหาไม่ได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่น

.

จังหวัดนครศรีธรรมราช มีวรรณกรรมที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญอยู่ทุกกระเบียดนิ้ว ครอบคลุมทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะทะเล ภูเขา ผืนป่า หรือทุ่งนา ทั้ง เขา ป่า นา เล ล้วนมีการบันทึกภาพจำในมิติของประวัติศาสตร์ไว้กับ เพลงกล่อมเด็ก ซึ่งบ้างเรียก “ร้องเรือ” หรือบ้างก็เรียก “ช้าน้อง”

.

ตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า “เพลงช้าน้อง” ให้คุณค่าในมิติทางประวัติศาสตร์ควบคู่ไปกับสุนทรียรสทางด้านภาษา เช่น

                                                ลูกสาวเหอ        ลูกสาวชาวปากพนัง

                                    เอวกลมนมตั้ง                 นั่งทำเคยแผ่น

                                    ปั้นให้กลมกลม               ข่มให้แบนแบน

                                    นั่งทำเคยแผ่น                ให้แบนเหมือนเหรียญเงิน

.

การใช้พรรณนาโวหาร อธิบายลักษณะของหญิงสาวชาวปากพนังในยุคหนึ่ง และกรรมวิธีการทำ “เคยแผ่น” ซึ่งหาเห็นได้ยากแล้วในปัจจุบัน ผนวกเข้ากับอุปมาโวหารในบาทสุดท้ายที่เปรียบความแบนของเคยแผ่น ไว้เท่ากับเหรียญเงิน ทำให้สามารถจินตนาการภาพลักษณ์ของมรดกทางวัฒนธรรมที่เกือบสูญหายไปแล้วนี้ได้ชัดเจนขึ้น ที่สำคัญคืออาจตีความได้ว่าในยุคที่มีการทำเคยแผ่นนั้นเป็นยุคเดียวกันกับที่มีการใช้เหรียญเงินในพื้นที่ปากพนัง ดังนั้น นอกจากฉันทลักษณ์ของเพลงช้าน้อง ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแล้ว เราแทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าวรรณกรรมท้องถิ่นประเภทนี้ให้คุณค่าในมิติประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างมหาศาลเช่นเดียวกัน

บรรยากาศงาน OTOP ภูมิภาค ความสุขผลิบานทั่วไทย ชวนมาช็อป มาชิมสินค้าของดีระดับ5ดาว

นครศรีสเตชชั่นแนะนำที่เที่ยวครั้งนี้  เราจะชวนพี่ๆน้อง ๆ และนักท่องเที่ยวทุกท่านไปเที่ยวกันที่ งานOTOPภูมิภาค นครศรีธรรมราช ที่จัดขึ้นวันที่ 19-25กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา วันนี้ทางแอดมินเลยเก็บภาพบรรยากาศมาให้ทุกคนชมกันค้า ภายในงานจะมีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย…

 

งานOTOPภูมิภาค ความสุขผลิบานทั่วไทย ครั้งนี้จัดขึ้นที่ตังหวัดนครศรีธรรมราช ณ ลานตลาดเสาร์-อาทิตย์ ถนน พัฒนาการคูขวาง เป็นงานที่รวบรวมของกิน ของใช้ เครื่องประดับ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ความงาม น้ำมัน สมุนไพรนวดต่างๆไว้ที่งานนี้งานเดียว และไม่เพียงแต่เป็นสินค้าจังหวัดนครศรีธรรมราชเท่านั้น ยังมีอีกหลากหลายจังหวัดทั่วประเทศไทยที่มาออกบูธขายของ นำสินค้าOTOPของดีระดับ5ดาวประจำจังหวัดตนเองมาอวดคุณสมบัติ ความอร่อยกันที่งานนี้ เรียกได้ว่ามางานนเดียวเที่ยวทั่วไทยเลยก็ว่าได้ค่ะ

ทางผู้จัดงานได้มีมาตรการเรื่องป้องกันโรคระบาดอย่างเคร่งครัดมากๆเลยทีเดียวค่ะ  มีการวัดอุณหภูมิก่อนเข้างาน และที่สำคัญมากๆ ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนโควิด19 (อย่างน้อย 2 เข็ม) กับเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง และนอกจากนี้ภายในงานยังมีการแสดงจากหลากหลายภูมิภาคในประเทศไทย มีการสาธิตและการแสดงทางวัฒนธรรม พร้อม ไฮไลท์พิเศษกับการแสดงแสงเสียงในระบบ Multimedia อีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ผู้ที่มาร่วมชม ช้อป ชิม กับกิจกรรมภายในงาน ซื้อสินค้าครบ 500 บาท สามารถลุ้นรับโชคกับรางวัลพิเศษในทุกวันและรางวัลใหญ่ประจำสัปดาห์ รวมมูลค่ากว่า 100,000 บาท แอดมินการันตีความปังอลังการของงานแน่นอนค่า

งานจะจัดขึ้นในเต้นท์โดมมีแอร์ และแบ่งที่เป็นโซนต่างๆให้ง่ายต่อการเลือกชมและลือกซื้อสินค้า นอกจากนี้ภายในงานมีพ่อค้าแม่ค้าขนของดีมาสาธิตกันเห็นๆถึงสรรพคุณที่ดีเลิศจากสินค้าOTOPของจังหวัดตนเอง ไม่ธรรมดากันใช่มั้ยคะ และภายในงานยังมีของกินเพียบ คนมาจากทุกๆจังหวัด อาธิเช่น ผลไม้ตามฤดูกาลจากเชียงราย อโวคาโดสดๆ เสาวรสลูกโตๆ น้ำพริกหนุ่ม แคปหมู มาจากทางสงขลา คือไข่ครอบำเนื้ออวบๆเด้งๆ ชาชักจากยะลา ข้าวยำน้ำบูดูจังหวัดปัตตานี หมูยอไร้แป้งอุบลราชธานี น้ำมันนวดจากนครศรีธรามราช ผลติภัณฑ์เสริมความงามจากไข่มุกสงขลา เครื่องจักรสานจังหวัดชัยภูมิ ผ้ายก ผ้าทอจากจังหวัดต่างๆ ข้าวสีออแกนิคจากนครปฐม พ่อค้าเเม่ค้าในงานเป็นกันเอง น่ารัก แนะนำทุกอย่างดีมากเลย พูดคุยเป็นกันเอง แอดมินเดินเพลินเลยค่า

 

สินค้าของดีจากหลากหลายภูมิภาค หลากหลายจังหวัดในประเทศไทย นำสินค้ามาให้เลือกช้อปในราคาไม่แพง รวบรวมไว้ที่ งานOTOP ภูมิภาค ประจำปี2564 งานนี้งานเดียวเท่านั้น หากใครที่พลาดงานครั้งนี้ แอดมินรวบรวมมาให้ทุกคนชมแล้ว งานหน้าห้ามพลาดที่จะไปอุดหนุนสินค้าOTOPของดีระดับ5ดาวกันเยอะๆน้า

บรรยากาศในงาน แอดมินเก็บรูปมาฝากค่า..

 

น้ำท่วมเมืองนครบอกอะไร ? เมื่อประวัติศาสตร์สามารถใช้เป็นเครื่องมือจัดการภัยพิบัติ

น้ำท่วมเมืองนครบอกอะไร ?
เมื่อประวัติศาสตร์สามารถใช้เป็นเครื่องมือจัดการภัยพิบัติ

 

น้ำขึ้นเหอ

ขึ้นมาคลักคลัก

อย่าเล่นน้ำนัก

น้ำเหอมันอิพาเจ้าไป

 

ถ้าเข้ขบเจ้า

ร้องเร่าหาใคร

น้ำเหอมันอิพาเจ้าไป

ตอใดได้มาเล่าเหอฯ

 

เช้านี้ หลายคนคงง่วนอยู่กับการติดตามสถานการณ์ “น้ำ” ในพื้นที่นครศรีธรรมราชอย่างใจจดใจจ่อ พี่น้องข้างเหนือ(ลานสกา)ก็อัพเดทน้ำเหนือที่บ่าลงมา “คลัก ๆ” โหมในพระ(เมืองนครศรีธรรมราช)ทางน้ำผ่าน ก็ติดตามระดับน้ำจากกล้อง CCTV ชนิดนาทีต่อนาที ในขณะที่ชาวนอก(ปากพนัง)กำลังกุลีกุจอยกข้าวของขึ้นที่สูงเพราะน้ำใหญ่(น้ำทะเลหนุนสูง)

.

ราวสิบปีให้หลังมานี้ เราจะสังเกตเห็นว่า เมื่อน้ำท่วมภาคเหนือและอีสาน มันหมายถึงการส่งสัญญาณมาถึงภาคใต้ไปโดยปริยาย ไม่ได้หมายความว่าน้ำก้อนเดียวกันจะไหลต่อเนื่องเรื่อยลงมา แต่คือความ “ปกติใหม่” ที่แปลจากภาษาหรั่งว่า New Normal ของธรรมชาติที่เราอาจไม่ทันได้ทำความเข้าใจ

.

เราซ้อมหนีไฟ

แต่ไม่เคยมีการทำความเข้าใจน้ำ

.

ดูเหมือนว่าอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันตกเฉียงใต้ จะทำให้ฝนเริ่มตั้งเค้าตกแล้วท่วมจากภาคเหนือก่อน ไล่มาภาคกลาง แล้วค่อยเป็นคิวของภาคใต้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือไม่ก็ธันวาคม

.

มันสอดคล้องต้องกันกับฤดูกาลเก็บเกี่ยวและบรรดาวัฒนธรรมที่เนื่องกับน้ำ ที่เห็นว่ามักจะมีลำดับตั้งแต่ เหนือ อีสาน กลาง แล้วมาสู่ใต้

.

การศึกษาธรรมชาติของน้ำ

ความสามารถในการรักษาพื้นที่ไว้ไม่ให้ท่วม

หรือท่วมในระดับที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

จึงคือการจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ

แม้ว่าจะท่วม แต่ก็พอจะรับมือได้

.

ความจริง ชาวเราผูกพันกับสายน้ำมาแต่ไหนแต่ไร “ฤดูน้ำหลาก” หรือที่ชาวนครเรียกกันว่า “น้ำพะ” หรือ “น้ำพ่า” จึงไม่ใช่เรื่องน่าตระหนกตกใจเช่นทุกวัน เพราะบ้านในที่ราบที่ลุ่มแต่แรกมักทำใต้ถุนสูง ที่สำคัญคือเราเตรียมซ่อมแซมเรือประจำบ้านของเราแล้วตั้งแต่เข้าพรรษา

.

ข้าวซังลอย

ผลิตผลทางการเกษตรก็ดูใช่ว่าจะน่าห่วงเพราะข้าวพันธุ์ “ซังลอย” ทนน้ำท่วมสูงได้ดี น้ำมากก็พายเรือชมทุ่ง พายละล่องท่องไปเยี่ยมเรือกสวนของเพื่อนบ้าน เจอเรือสาวฟากหัวนอน ก็ขยับลูกกระเดือกกระเอมเกรียวเกี้ยวกัน น่ามองก็ตอนพระท่านพายเรือรับบาตรแทนการเดินบนหัวนาเมื่อคราวหน้าแล้ง นี่ยังไม่ได้พูดถึงปลาแปลกที่เที่ยวแหวกว่ายมาล้อเรือ น้ำนี่ใสแจ๋วจนมองเห็นความแวววาวของเกล็ดปลาเลยจริงเทียว

.

อย่างเพลงช้าน้องที่ยกมาจั่วหัว ก็สะท้อนภาพการ “เข้าใจธรรมชาติ” ของคน ในลักษณะแสดงความรู้สึกร่วมมากกว่าความเป็นปฏิปักษ์ น้ำขึ้นคลัก ๆ นัยว่าน้ำแรงน้ำเชี่ยว ก็อย่าลงไปเล่นน้ำ ทั้งแรงน้ำและสัตว์ร้ายจะหมายเอาชีวิตเสีย นอกจากนี้ยังมีคติโบราณที่สะท้อนการเข้าใจธรรมชาติของคนยุคก่อนอีกมาก เช่นในสวัสดิรักษาคำกลอนตอนหนึ่งว่า

 

“อนึ่งอย่าด่าว่าแดดแลลมฝน

อย่ากังวลเร่งวันให้พลันดับ

เมื่อเช้าตรู่สุริยงจะลงลับ

จงคำนับสุริยันพระจันทรฯ”

.

กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช

ถ้าเว้นเสียจากอาการที่น้ำฝนปริมาณมาก ถูกถนน บ้านเรือน และอาคารสถานที่ขวางกั้นทางไหลตามธรรมชาติ กับปฏิกูลมูลฝอยดักร่องรูท่อจนทำให้ต้องเจิ่งนองรอการระบายตามระบบของมนุษย์แล้ว เราจะไม่เคยเห็นสภาพของพื้นที่ภายในเขตกำแพงเมืองนครศรีธรรมราชอยู่ในสถานะน้ำท่วมเลย พื้นที่ที่ว่านี้ ในปัจจุบันมีแนวถนนศรีธรรมโศกด้านทิศตะวันออก ถนนศรีธรรมราชด้านทิศตะวันตก แนวกำแพงริมคลองหน้าเมืองด้านทิศเหนือ และซอยราชดำเนิน ๕๔ ต่อ ๗๕ ด้านทิศใต้ เป็นขอบเขต

.

เคยตั้งข้อสังเกตไว้ครั้งหนึ่งจากปัจจัยการเลือกภูมิสถานข้อสำคัญในการสร้างบ้านแปงเมือง คือเรื่องการจัดการน้ำ เพราะน้ำ เป็นตัวแปรที่สื่อแสดงถึงความมั่งคั่งด้านทรัพยากรธรรมชาติของบ้านเมือง อาจกล่าวได้ว่า ถ้าน้ำดี บ้านเมืองก็จะดี ประชากรก็อยู่ดีมีสุข ดังจะเห็นได้จากพงศาวดารโยนก เมื่อพญาเม็งรายเชิญพญาร่วงแห่งสุโขทัยกับพญางำเมืองแห่งพะเยามาช่วยหาที่ตั้งเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ ก็ได้อาศัยศุภนิมิตชัยมงคลประการที่ ๕ (จากทั้งหมด ๗ ประการ) มาเป็นข้อพิจารณา ดังว่า “…อนึ่ง อยู่ที่นี่เห็นน้ำตกแต่เขาอุสุจบรรพต คือดอยสุเทพไหลลงมาเป็นลำน้ำ…เป็นชัยมงคลประการที่ ๕…” ส่วนเมืองสุโขทัยของพญาร่วงเองก็สร้างโดยศุภนิมิตชัยมงคลเช่นเดียวกันนี้ เพราะมีเขาหลวงเป็นแหล่งต้นน้ำใกล้ตัวเมือง เพียงแต่ทำสรีดภงค์กั้นระหว่างซอกเขา ก็ทำให้มีน้ำกินน้ำใช้บริบูรณ์ตลอดปี ข้อนี้ชี้ให้เห็นว่าการสร้างเมืองทางภาคเหนือนั้นต้องอิงภูเขาเป็นภูมิศาสตร์สำคัญ ส่วนการสร้างเมืองในภาคกลางซึ่งเป็นที่ราบลุ่มห่างไกลจากภูเขานั้น ก็ต้องอิงแม่น้ำและลำคลองเป็นเครื่องประกันความอุดมสมบูรณ์

.

แต่ภายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ กลับไม่มีสายคูคลองที่จะใช้สอยเพื่อประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค ตลอดจนการเป็นเส้นทางคมนาคม นั่นก็เพราะว่าเมืองนครศรีธรรมราชมีแหล่งน้ำธรรมชาติซึ่งมีคุณลักษณะพิเศษอย่าง “น้ำซับ” จากตาน้ำและเป็นแหล่งน้ำใต้ดินที่มีตลอดสันทรายนี้ คือตั้งแต่ตำบลการะเกด อำเภอเชียรใหญ่ เรื่อยขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงอำเภอสิชล

.

สันทรายนครศรีธรรมราช

ลักษณะของดินปนทรายภายในเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเครื่องมือกรองน้ำตามธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการมีเทือกเขาหลวงอยู่ทางทิศตะวันตกและมีทะเลอยู่ทางทิศตะวันออก ทำให้น้ำจากที่สูงซึ่งมีปกติไหลลงสู่ทะเลนี้ ผ่านเข้ามากรองด้วยสันทรายดังกล่าวแล้วสะสม ซึมซับ อุดมอยู่ในชั้นดินชั่วนาตาปี เราจึงเห็นบ่อน้ำที่ปัจจุบันถูกสถาปนาให้เป็นแหล่งน้ำสำคัญและศักดิ์สิทธิ์อยู่รายไปสองฟากถนนราชดำเนิน ทว่าหากขุดนอกสันทรายลงไปด้านทิศตะวันออกแล้วจะได้น้ำกร่อย เช่นครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสแหลมมลายู เมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๘ ได้พระราชทานพระราชหัตถเลขาถึงพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งดำรงพระอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ในที่ประชุมรักษาพระนคร ลงวันที่ ๙ กรกฎาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๔ ความว่า “…ที่ตำบลนี้ (ปากพนัง) ลำบากอยู่แต่ด้วยน้ำ ถ้าขุดบ่อในที่ซึ่งเป็นดินเลนใกล้แม่น้ำๆ เปรี้ยวใช้ไม่ได้ ถ้าออกไปขุดริมชายทะเล ห่างทะเลขึ้นมาสัก ๓๐ เส้น กลับได้น้ำจืด…”

.

บนสันทรายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชโบราณ จึงเป็นชัยภูมิเหมาะสมที่สุด เพราะแหล่งน้ำสมบูรณ์ ทั้งนี้ นอกจากประเด็น “น้ำมี” แล้ว อีกข้อที่ต้องพิจารณาร่วมกันคือ เมื่อถึงคราว “น้ำมาก” หรือที่เรียกกันในท้องถิ่นว่า “น้ำพะ” เล่า จะจัดการอย่างไร ?

.

น้ำฝนหลั่งหล่นลงมาในเขตกำแพงเมืองก็ซึมซาบลงผิวดินไปสะสมเป็นน้ำซับ ถือเป็นการเติมเต็มส่วนที่พร่องลงจากการใช้สอยมาตลอดทั้งปี ส่วนน้ำเขาที่ไหลบ่าเข้ามาสมทบจากเหนือ โดยมีคลองท่าดีเป็นเส้นลำเลียงนั้น เมื่อถึงหัวท่าก็ถูกแยกออก แพรกหนึ่งขึ้นเหนือไปเป็นคูเมืองด้านทิศตะวันตกและเหนือ แพรกหนึ่งตรงไปเป็นคลองป่าเหล้า อีกแพรกแยกลงใต้ไปเป็นคลองสวนหลวง เมื่อพ้นรัศมีที่จะทำให้น้ำท่วมเมืองแล้ว ทั้งสามแพรกก็กลับมารวมกันเป็นหัวตรุดหมุดหมายของคลองปากนครก่อนจะไหลออกสู่ทะเลหลวง

.

สิ่งที่ต้องสังเกตใหม่กันใหญ่อีกครั้งคือ เมื่อปลายพฤศจิกายนต่อธันวาคม ๒๕๖๓ หลายคนหลายวัยต่างจำกัดเอาไว้ว่าเป็นสิ่งที่ “ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบชีวิต” โดยเฉพาะในช่วงค่ำของวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๖๓ ที่มวลน้ำทั้งดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ เม็ดฝน และล้นทะลักมาจากคลองท้ายวังชายกำแพงแพงตะวันตกเข้าท่วมถนนราชดำเนินซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตกำแพงเมืองแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด

.

น้ำท่วมเมืองนครศรีธรรมราช

พื้นที่ที่ชาวนครเพิ่งได้มีโอกาสร่วมทรงจำกันว่าน้ำท่วมไปถึงในครั้งนั้นมี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดซึ่งน้ำใช้ถนนเทวบุรี ต่อนางงาม ไหลไปสู่ประตูลอด อีกจุดคือหอพระอิศวร ตรงนี้เส้นทางน้ำขาดช่วงไม่ต่อเนื่องจากคูเมืองทิศตะวันตก เข้าใจว่าเป็นน้ำฝนและที่ดันขึ้นจากท่อระบายน้ำ ส่วนสุดท้ายคือแยกพานยมอาการคล้ายตรงหอพระอิศวร จุดนี้ใกล้พระธาตุที่สุดซึ่งส่วนของในพระนั้น ยังคงรักษาความเป็น “โคกกระหม่อม” ไว้ได้

.

มาถึงบริเวณที่เรียกว่า “โคกกระหม่อม” นี้ มีทฤษฎีการให้ชื่อบ้านนามเมืองข้อหนึ่งว่าด้วยเรื่องทำเลที่ตั้งซึ่งมักบัญญัติให้สอดคล้องตามภูมินาม สังเกตได้จากชุมชนที่ออกชื่อขึ้นต้นด้วย เขา ป่า นา เล ห้วย หนอง คลอง บึง โคก สวน ควน ไร่ ฯลฯ แล้วตามด้วยความจำเพาะบางประการของภูมิประเทศนั้นๆ สิ่งอันบรรดามีในพื้นที่ หรือเหตุการณ์สำคัญที่มีอิทธิพลต่อสำนึกร่วมของผู้คน

.

ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างบ้าน “ตลิ่งชัน” อาจไม่อยู่ในกลุ่มคำขึ้นต้นที่ยกตัวอย่าง แต่ใช้ทฤษฎีเดียวกันคือว่าด้วยการกำหนดชื่อด้วยภูมิประเทศได้ โดยอรรถแล้ว ความชันของตลิ่งตามแนวคลองในจุดนี้ อาจเป็นที่สุดกว่าจุดอื่น จนเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป จนถูกกำหนดใช้เป็นชื่อชุมชนรวมถึงเป็นแลนด์มาร์คของการคมนาคมทางน้ำในอดีต

.

ไม่ว่าตลิ่งจะชันเพราะเป็นที่สูงหรือระดับน้ำในสายคลองก็ตาม โดยนัยแล้วชื่อนี้สื่อชัดว่าตลิ่งชันเป็นที่ “พ้นน้ำ”

.

เมื่อมรสุมระลอกนั้น ตลิ่งชันกลับเป็นพื้นที่แรกๆ ของนครศรีธรรมราชที่ถูกน้ำท่วมถึง สภาพการณ์เช่นนี้อาจชี้ให้เห็นว่า คุณสมบัติดั้งเดิมของภูมิประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรบางอย่าง การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่ละเลยต้นทุนและการดำรงอยู่ซึ่งตัวตน อาจส่งผลให้คุณค่าของภูมิสังคมถูกล็อคดาวน์ให้หลงเหลืออยู่เพียงแค่ชื่อท่ามกลางสภาพภูมิอากาศของโลกที่ไม่เคยหยุดเปลี่ยนแปลง

.

แล้วมรสุมระลอกนี้ รวมถึงระลอกต่อ ๆ ไป

เราจะเลือกถือและทิ้งเครื่องมือจัดการภัยพิบัติอะไรเป็นของสามัญประจำเมืองฯ

 

 

เดือนสิบให้เห็นหน้า เดือนห้าให้เห็นตัว รวมเรื่องเดือนสิบเมืองนครศรีธรรมราช

เดือนสิบให้เห็นหน้า เดือนห้าให้เห็นตัว รวมเรื่องเดือนสิบ ฉบับเมืองนครศรีธรรมราช

นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีความผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนา  บทบาททางพระพุทธศาสนาแฝงอยู่ในวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับประเพณีและพิธีกรรม  ดังจะเห็นว่ามีประเพณีที่นับเนื่องในพระพุทธศาสนาถูกเคล้าเข้าด้วยคตินิยมและธรรมเนียมท้องถิ่นอย่างลงตัว เช่น ประเพณีบุญเดือนห้า ชักพระ (บางแห่งเรียกลากพระ) โดยเฉพาะประเพณีบุญสารทเดือนสิบซึ่งถือว่าโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช

ประเพณีเดือนสิบจังหวัดนครศรีธรรมราช หลักฐานเก่าสุดในเอกสารโบราณตำรา 12 เดือน คัดแต่สมุดขุนทิพมนเทียรชาววังไว้ เรียก “พิธีสารท” เป็นประเพณีที่สำคัญอยู่คู่กับเมืองนครศรีธรรมราชมาตั้งแต่เมื่อใดยังไม่มีข้อสรุป แต่ในปี พ.ศ. 2466 ได้มีการสนับสนุนคุณค่ายกระดับขึ้นเป็นเทศกาลและเป็นวิถีปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน มีการสืบทอดในเรื่องทัศนคติที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน ความเชื่อเรื่องกรรม สวรรค์ นรก และวิญญาณ ผู้ทำดีเมื่อถึงแก่กรรมย่อมสู่สุคติภูมิบนสวรรค์ ส่วนผู้ที่ทำความชั่ว เมื่อถึงแก่ความตายย่อมสู่แดนแห่งทุกข์ตกอยู่ในนรก รับผลกรรมที่ก่อ ต้องอาศัยผลบุญที่ลูกหลานทำให้แต่ละปีมายังชีพ

ประเพณีทำบุญเดือนสิบจะเริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่พญายมปล่อยตัวผู้ล่วงลับที่เรียกว่า “เปรต” ให้ขึ้นมาจากนรก และจะเรียกตัวกลับไปในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10  ดังนั้นในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 ชาวนครจะจัดภัตตาหารไปทำบุญที่วัดเพื่อเป็นการต้อนรับญาติที่ขึ้นมาจากนรกเรียกวันนี้ว่า “วันรับตายาย” หรือ “วันหมรับเล็ก” (หมรับ อ่านว่า หฺมฺรับ มาจากคำว่า สำรับ แปลว่า ของหรือคนที่รวมกันเข้าได้ไม่ผิดหมู่ผิดพวกเป็นชุดเป็นวง)และในวันแรม 15 ค่ำ เรียกว่านี้ว่า “วันส่งตายาย” หรือ  “วันหมรับใหญ่” ด้วยการจัดหมรับโดยการนำเครื่องอุปโภค บริโภค และขนมอันเป็นสัญลักษณ์ที่ขาดไม่ได้ 5 อย่าง คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมกง (ขนมไข่ปลา) ขนมดีซำ และขนมบ้า

เมื่อจัดหมรับเรียบร้อยจึงยกหมรับไปวัด ฉลองหมรับและบังสุกุล ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไป หลังจากนั้นจะเป็นการตั้งเปรต แต่เดิมทำโดยเอาอาหารอีกส่วนหนึ่ง ที่ขาดไม่ได้คือขนม 5 อย่างข้างต้น ไปวางไว้ตามตรงทางเข้าวัด ริมกำแพงวัด หรือตามโคนต้นไม้

ภายหลังมีการสร้างร้านขึ้นสูงพอสมควรเรียกว่า “หลาเปรต” แล้วนำสายสิญจน์ที่พระสงฆ์จับเพื่อสวดบังสุกุลมาผูกไว้กับหลาเปรตเพื่อแผ่ส่วนกุศล เมื่อเสร็จพิธี ประธานสงฆ์ก็จะชักสายสิญจน์เป็นสัญญาณให้ลูกหลานเข้าไปเสสัง มังคะลาฯ บรรดาของที่ตั้งไว้นั้นกันตามธรรมเนียม และด้วยว่าเป็นประเพณีประจำปีที่มีคนหมู่มากรวมตัวกันร่วมพิธี

การเข้าไปขอคืนเศษภัตตาหารอันมงคลที่เหลือเหล่านั้นจึงติดไปข้างชุลมุนจนต้องแย่งต้องชิงกัน กิจนี้จึงมีคำเรียกว่า  “ชิงเปรต” ตามอาการที่เป็น เพราะล้วนมีความเชื่อว่าของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถ้าใครได้กินจะได้กุศลแรงเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว

ประเพณีบุญสารทเดือนสิบเป็นการทำบุญใหญ่ประจำปีที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช  เมื่อถึงเทศกาลประเพณีบุญสารทเดือนสิบ ชาวนครศรีธรรมราชต่างกลับถิ่นฐานบ้านเกิดเพื่อร่วมพิธีกรรมอุทิศกุศลให้บรรพบุรุษ เป็นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ทั้งนี้ประเพณีบุญสารทเดือนสิบมีการจัดในหลายพื้นที่ของภาคใต้  ส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช นับว่ามีการจัดแบบประเพณีประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ เช่น ขบวนแห่หมรับที่งดงามจากหลายอำเภอในจังหวัดนครศรีธรรมราชเข้าร่วมงานประเพณี มีการประกวดหมรับซึ่งคนในพื้นที่เขตอำเภอต่างๆ จะรวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มร่วมกันจัดทำรถหมรับที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตวัฒนธรรมของกลุ่มตนเองโดยแบ่งเป็นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มลุ่มน้ำตาปี  กลุ่มที่ราบเชิงเขา กลุ่มฝั่งทะเลตอนบน เป็นต้น

อีกสิ่งหนึ่งในขบวนแห่ที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ เปรต ในขบวนแห่หมรับมีการจัดทำหุ่นเปรต รวมไปถึงยมทูต ยมบาลที่อยู่ในนรก เพื่อแสดงให้ลูกหลานเกรงกลัว และไม่ประพฤติตนผิดศีลธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา  ด้านศิลปวัฒนธรรมก็มีการประกวดประชันหลายกิจกรรม เช่น หนังตะลุง มโนห์รา เพลงร้องเรือ กลอนสด หลายกิจกรรมมีการอนุรักษ์สืบทอดมาตั้งแต่อดีต

ยุทธศาสตร์การพัฒนาขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช  ได้ให้ความสำคัญยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบก็เป็นอีกหนึ่งในนั้นที่ส่งเสริมด้านการศึกษา ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม จารีตประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชได้จัดกิจกรรม   ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อสร้างและสื่อสารอัตลักษณ์ความเป็นนครศรีธรรมราชให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น  แต่ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมไว้เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดมีดังต่อไปนี้ 

สถานที่จัดงาน

งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช เริ่มต้นครั้งแรกใน ปีพ.ศ. 2466 โดยใช้สถานที่จัดงานบริเวณสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช  และจัดติดต่อกันจนกระทั่งปี พ.ศ.2535  จึงได้ย้ายไปจัดบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด)  ในปี พ.ศ.2549 มีการจัดงานเป็นกรณีพิเศษเพื่อเป็นการฉลองเนื่องในมหามงคลฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของในหลวงรัชกาลที่ 9  ซึ่งทางจังหวัดได้กำหนดรูปแบบการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

โดยกำหนดสถานที่จัดงาน 3 แห่งคือ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร  ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช  และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด)  และต่อมาได้มีการลดสถานที่ในการจัดลงเหลือเพียงแค่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช และสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด)  สำหรับปี พ.ศ. 2563 นี้  ทางจังหวัดได้กำหนดรูปแบบการจัดงานเป็นสถานที่เดียวกันคือ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ 84 (ทุ่งท่าลาด) 

ระยะเวลาในการจัดงาน

งานประเพณีบุญสารทเดือนสิบในช่วงแรกๆ  มีการจัดเพียง 3 วัน 3 คืน  คือเริ่มตั้งแต่  วันแรม 13 ค่ำ เดือน 10  ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 จัดขึ้นเพียงเพื่อจำหน่ายสินค้าที่จำนำไปใช้ประกอบพิธีกรรมในประเพณีบุญสารทเดือนสิบ  แต่ในปัจจุบันได้เพิ่มระยะเวลาในการจัดงานขึ้นมาเป็น 10 วัน 10 คืน  และได้เพิ่มเติมในส่วนกิจกรรมต่างๆมากมาย  เพื่อแสดงถึงอัตลักษณ์ของความเป็นนครศรีธรรมราช  ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น สำหรับประจำปี พ.ศ. 2563 นี้  กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 11 – 20 กันยายน 2563 

กิจกรรมภายในงาน

นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นมากมาย องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องการอนุรักษ์และสืบทอดสิ่งเหล่านี้จึงได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆขึ้น ดังนี้

กิจกรรม วันที่จัดงาน เงินรางวัล หน่วยงานรับผิดชอบ
1. การประชันหนังตะลุงอาชีพชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รอบคัดเลือก

13–15 กันยายน 2563

รอบคัดเลือก

20 กันยายน 2563

อบจ.นศ. ร่วมกับ

วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช

2. การประกวดเพลงร้องเรือชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ระดับเยาวชนรุ่นอายุ              ไม่เกิน 19 ปี

17 กันยายน 2563

ระดับอุดมศึกษาและประชาชนทั่วไป รุ่นอายุ 19 ปีขึ้นไป

18 กันยายน 2563

อบจ.นศ. ร่วมกับ

อาศรมวัฒนธรรมมหาวิทยาลัย                  วลัยลักษณ์

3. การประชันหนังตะลุงเยาวชน   อบจ.นศ.
4. การประกวดมโนห์ราเยาวชน   อบจ.นศ.
5.การประกวดกลอนสด   อบจ.นศ. ร่วมกับศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฎนครศรีธรรมราช
6. การประกวดหุ่นเปรต  และขบวนแห่หุ่นเปรต 15 กันยายน 2563 อบจ.นศ. ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าว                 จ.นครศรีธรรมราช
7. ขบวนแห่หมรับ 16 กันยายน 2563

 

อัตลักษณ์ของงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ

4.1 ขบวนแห่หมรับ

ในอดีตคือการที่คนในหมู่บ้านร่วมกันแห่เพื่อนำหมรับไปกอบพิธีกรรมที่วัดคือ  ชาวบ้านจะช่วยกันตั้งขบวนการจัดจนไปถึงขั้นตอนการนำหมรับไปประกอบพิธีกรรม  แต่การแห่หมรับในปัจจุบันทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ร่วมจัดขบวนแห่หมรับขึ้นเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงตัวตนรวมถึงอัตลักษณ์ของคนในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งสะท้อนผ่านขบวนแห่ในหลายๆ ด้าน เช่น

1) ศิลปวัฒนธรรม นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีศิลปะและวัฒนธรรมมากมาย ทั้งหนังตะลุง มโนห์รา  รวมไปถึงประเพณีต่างๆของจังหวัด  เช่น ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุซึ่งเป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด  ในขบวนแห่ก็มีการแสดงให้เห็นถึงประเพณีโดยมีการสร้าง พระบรมธาตุเจดีย์จำลองขึ้นมาร่วมกันแห่ในขบวนแห่หมรับ มีการเชิดหนังตะลุง  มโนห์รา เป็นต้น จากที่ยกตัวอย่างมาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราชต้องการสื่อให้เห็นว่าจังหวัดนครศรีธรรมราชยังคงอนุรักษ์และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างดี

2) วิถีชีวิต  และความเป็นอยู่ ของคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้สะท้อนให้เห็นว่านครศรีธรรมราชเป็นเมืองเกษตรกรรม  มีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์อยู่กับการทำเกษตร  ทั้งการประกอบอาชีพ  ทำนา ทำสวนยาง เป็นต้น  ทั้งที่ในปัจจุบันคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชเองก็มีการปรับเปลี่ยนการประกอบอาชีพ ตามภาวะทางเศรษฐกิจ มีการเข้าไปทำงานในระบบอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น การทำการเกษตรก็ลดน้อยลง  แต่ก็ยังคงมีคนในหลายอำเภอที่ยังคงยึดการประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม  และผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของจังหวัด เช่น มังคุด คีรีวงที่มีการส่งออกไปยังต่างประเทศ  และส้มโอทับทิมสยาม เป็นต้น

3) การอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมมือกันเพื่อพัฒนาให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดมากขึ้น  ทั้งนี้จังหวัดนครศรีธรรมราชได้มีการรวมกลุ่มเพื่อจัดทำผลิตภัณฑ์หรือสินค้าเพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย  ของใช้ และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหารที่แสดงถึงศักยภาพ มีคุณค่า  และเอกลักษณ์  ยกตัวอย่างเช่น ผ้ายกเมืองนคร  หัตถกรรมกระจูด  ปลาดุกรา  จักสานย่านลิเภา  เป็นต้น สินค้าและผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้มีการนำมาร่วมในขบวนแหม่หมรับด้วย

4) ความร่วมมือร่วมใจของคนนครศรีธรรมราช  ที่ได้รับความร่วมมือจากหลาย ภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานต่างๆในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีขบวนจากเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา โรงเรียน ห้างร้าน เทศบาลนครนครศรีธรรมราช  องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช  และคนในเขตพื้นที่อำเภอต่างๆ  ซึ่งจะรวมตัวกันก่อตั้งเป็นกลุ่มจะร่วมกันจัดทำรถหมรับ และสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มจนเองผ่านขบวนที่จัดทำขึ้น  โดยแบ่งเป็นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มลุ่มน้ำตาปี  กลุ่มที่ราบเชิงเขา  กลุ่มฝั่งทะเลตอนบน เป็นต้น

4.2 เปรต 

ประเพณีบุญสารทเดือนสิบมีอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ก็คือ เปรต  มีการจัดทำหุ่นเปรต ในขบวนแห่ รวมถึงการประกวดหุ่นเปรตและขบวนแห่ เพื่อแสดงให้เกรงกลัว และไม่ประพฤติตนที่ไม่ดี ซึ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องการสอนให้ลูกหลานประพฤติตนตามหลักธรรมอันดีงามของพระพุทธศาสนา

เปรตมีการแบ่งเป็น 4 ประเภท 12 ตระกูล 21 ชนิด

ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนามีการกล่าวถึง “เปรต” อยู่หลายแห่ง อย่างในไตรภูมิพระร่วง   อันเป็นพระราชนิพนธ์ของพญาลิไท (พระธรรมราชาที่ 3) ที่สอนให้คนกลัวบาปและทำความดี ได้มีการกล่าวถึง  “เปรตภูมิ” ว่าเป็นหนึ่งในอบายภูมิ 4 ซึ่งคนชั่วตายแล้วต้องไปเกิดเพื่อชดใช้กรรม ภูมิทั้ง ๔ ได้แก่ นรกภูมิ ติรัจฉานภูมิ เปรตภูมิ และอสุรกายภูมิ โดยเปรตภูมิ นั้น เป็นดินแดนของผู้ที่ต้องรับกรรมด้วยความทุกข์ทรมานจากความหิวโหยอดอยากบ้าง จากความร้อนหนาวอย่างที่สุดบ้าง จากความเจ็บปวดอย่างที่สุดบ้าง และเปรตมีอยู่หลายจำพวกอาศัยอยู่ตามที่ต่างๆ ทั้งบนเขา ในน้ำ ในป่า ตามต้นไม้ใหญ่ บางพวกข้างแรมเป็นเปรต ข้างขึ้นเป็นเทวดา บางพวกเป็นเปรตไฮโซ ได้อยู่ปราสาทแก้ว มีกำแพงแก้ว คูแก้วที่สวยงามล้อมรอบ บางพวก ก็มีข้าทาสบริวาร มียวดยานพาหนะขี่ท่องเที่ยวไปในอากาศได้ และมีบางพวกที่มีลักษณะน่าเกลียดน่ากลัว  น่าเวทนา ต้องทรมานเพราะอดข้าวอดน้ำ ต้องกินสิ่งสกปรกโสโครก กินเนื้อหนังของตนเอง ซึ่งความแตกต่างนี้ก็ขึ้นกับความหนักเบาของกรรมชั่วที่ก่อนั่นเอง ดังตัวอย่างเช่น เปรตบางตนตัวงามดั่งทอง แต่ปากเหม็นมาก มีหนอนเต็มปาก เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะเคยรักษาศีลมาก่อนตัวจึงงาม แต่เพราะได้ติเตียนยุยงพระสงฆ์ให้แตกแยก ปากจึงเหม็นมีหนอนเจาะไช เปรตบางตนเคยเป็นนายเมืองตัดสินความโดยรับสินบน กลับผิดเป็นถูก ไม่มีความยุติธรรม เมื่อตายไป จะเป็นเปรตที่มีวิมานเหมือนเทวดา มีเครื่องประดับแก้วแหวนเงินทองมีนางฟ้าเป็นบริวาร แต่จะได้รับความลำบากคือไม่มีอาหารจะกิน ต้องเอาเล็บขูดเนื้อหนังตัวเองมากิน เปรตบางพวกกระหายน้ำ แต่ดื่มไม่ได้ เพราะน้ำจะกลายเป็นไฟเผาตน พวกนี้ตอนมีชีวิตอยู่ชอบรังแกคนที่อ่อนแอลำบากกว่าเอาของเขามาเป็นของตน และชอบใส่ร้ายคนอื่น

ส่วนในพระไตรปิฎกก็มีการกล่าวถึงพระสาวกว่าได้พบเห็นและมีโอกาสสนทนากับเปรตโดยเปรตแต่ละตนก็จะเล่าว่าตนได้ทำกรรมอะไรบ้างสมัยเป็นมนุษย์ ครั้นตายลงจึงต้องมาเสวยผลกรรมดังที่เห็น

สำหรับเปรตที่มีการแบ่งเป็นหลายพวกหลายประเภทและมีชื่อเรียกต่างๆ ส่วนใหญ่ จะอยู่ในอรรถกถา ซึ่งเป็นคำภีร์ที่รวบรวมคำอธิบายความในพระไตรปิฎกในภาษาบาลี เรียกว่า คัมภีร์อรรถกถา บ้าง ปกรณ์อรรถกถาบ้าง แต่ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรง เพียงแต่เป็นการอธิบายความหรือคำยากเพื่อให้เข้าใจง่ายและชัดเจนยิ่งขึ้น

หนึ่งในอรรถกถาได้พูดถึง เปตวัตถุ (วัตถุที่นี้ แปลว่า เรื่อง เปตวัตถุ = เรื่องของเปรต) ว่าแบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่

1. ปรทัตตูปชีวิกเปรต (ปอ-ระ-ทัด-ตู-ปะ-ชี-วิก-กะ-เปด) คือ เปรตที่มีชีวิตอยู่ด้วยการรับอาหารที่ผู้อื่นให้ โดยการเซ่นไหว้ เป็นต้น และเป็นเปรตประเภทเดียวเท่านั้นที่สามารถรับส่วนบุญส่วนกุศล ที่มนุษย์อุทิศให้

2. ขุปปีปาสิกเปรต (ขุบ-ปี-ปา-สิก-กะ-เปด) คือ เปรตที่อดอยาก จะหิวข้าวหิวน้ำอยู่ตลอดเวลา

3. นิชฌามตัณหิกเปรต (นิ-ชา-มะ-ตัน-หิ-กะ-เปด) คือ เปรตที่ถูกไฟเผาไหม้ให้เร่าร้อนอยู่เสมอ

กาลกัญจิกเปรต (กา-ละ-กัน-จิ-กะ-เปด) คือ เปรตจำพวกอสุรกาย มีร่างกายใหญ่โต    แต่กลับไม่มีเรี่ยวแรง มีปากเล็กเท่ารูเข็มอยู่บนกลางศีรษะ ตาโปนเหมือนตาปู

นอกจากแบ่งตามข้างต้นแล้ว ในคัมภีร์โลกบัญญัติปกรณ์ (คัมภีร์ที่อธิบายถึงการเกิดของมนุษย์และภพภูมิต่างๆ) รวมถึง ฉคติทีปนีปกรณ์ (คัมภีร์ว่าด้วยความรู้แจ้งแห่งภพทั้ง 6) ได้แบ่งเปรตออกเป็น 12 ตระกูลและได้พูดถึงกรรมที่ทำให้ไปเป็นเปรตแต่ละตระกูล ดังนี้

1. วันตาสาเปรต เป็นเปรตที่กินน้ำลาย เสมหะและอาเจียนเป็นอาหาร กรรมคือ ชาติก่อนเป็นคนตระหนี่ถี่เหนียว เห็นใครมาขออาหารก็ถ่มน้ำลายใส่ด้วยความรังเกียจ หรือเข้าไปในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แล้วไม่เคารพสถานที่ ถ่มน้ำลายเสลดในสถานที่เหล่านั้น

2. กุณปาสทาเปรต เป็นเปรตที่กินซากศพคนหรือสัตว์เป็นอาหาร กรรมคือ เคยเป็นคนตระหนี่ ใครมาขอบริจาคทาน ก็แกล้งให้ของที่ไม่ควรให้ ด้วยต้องการแกล้งประชด ไม่เคารพในทานที่ทำ

3. คูถขาทกเปรต เป็นเปรตที่กินอุจจาระเป็นอาหาร กรรมคือ ตระหนี่จัด เมื่อญาติตกทุกข์ได้ยากหรือมีใครมาขอความช่วยเหลือขอข้าว ขอน้ำ จะเกิดอาการขุ่นเคืองทันที แล้วชี้ให้คนที่มาขอไปกินมูลสัตว์แทน

4. อัคคิชาลมุขเปรต เป็นเปรตที่มีเปลวไฟลุกในปากตลอดเวลา กรรมคือ ตระหนี่เหนียวแน่น ใครมาขอ อะไร ครั้นจะไม่ให้ก็กลัวเขาดูแคลน จึงแกล้งให้สิ่งของร้อนๆ เพื่อหวังกลั่นแกล้งให้ผู้รับเข็ดหลาบและเลิกมาขอ

5. สุจิมุขเปรต เป็นเปรตที่มีเท้าใหญ่โต คอยาวมาก แต่ปากเท่ารูเข็ม จะกินแต่ละทีต้องทุกข์ทรมานมาก กรรมคือ ใครมาขออาหารก็ไม่อยากให้ และไม่มีศรัทธาจะถวายทานแก่สมณพราหมณ์หรือผู้ทรงศีล หวงทรัพย์

6. ตัณหัฏฏิตเปรต เป็นเปรตที่หิวข้าวหิวน้ำอยู่ตลอดเวลา แม้จะมองเห็นแหล่งน้ำแล้ว พอไปถึงก็กลับกลายเป็นสิ่งอื่นดื่มกินไม่ได้ กรรมคือ เป็นคนหวงข้าวหวงน้ำ เที่ยวปิดสระ ปิดบ่อหม้อข้าว ไม่ให้คนอื่นกิน

7. นิชฌามกเปรต เป็นเปรตที่มีตัวดำเหมือนตอไม้ที่ถูกเผา ตัวสูงชะลูด มือเท้าเป็นง่อย ปากเหม็น กรรมคือ เป็นคนใจหยาบ เห็นสมณพราหมณ์ผู้มีศีลจะโกรธเคือง มีอกุศลจิตคิดว่าท่านเหล่านั้นจะมาขอของๆ ตน จึงแสดงกิริยาหยาบคายและขับไล่ท่านเหล่านั้นให้ได้รับความอับอาย หรือเห็นพ่อแม่แก่เฒ่าเกิดโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ก็แกล้งให้ท่านตายไว ตัวจะได้ครองสมบัติของท่าน

8. สัพพังคเปรต เป็นเปรตที่มีเล็บมือเล็บเท้าคมเหมือนมีดและงอเหมือนตะขอ ได้แต่ก้มหน้าก้มตาข่วนร่างกายเป็นแผลและกินเลือดเนื้อตัวเองเป็นอาหาร กรรมคือ ชอบขูดรีดหรือเอาเปรียบชาวบ้าน หรือชอบรังแกหยิกข่วนพ่อแม่

9. ปัพพตังคเปรต เป็นเปรตที่มีร่างกายใหญ่โตเหมือนภูเขา แต่ต้องถูกไฟเผาคลอกอยู่ตลอดเวลา กรรมคือ เมื่อเป็นมนุษย์ได้เอาไฟไปเผาบ้านเผาเรือนผู้อื่น

10. อชครเปรต เป็นเปรตที่มีรูปร่างคล้ายสัตว์เดียรัจฉาน และจะถูกเผาไหม้ทั้งวันทั้งคืน กรรมคือ ตอนเป็นมนุษย์เป็นคนตระหนี่ เห็นผู้มีศีลมาเยือนก็มักด่าเปรียบเปรยว่าท่านเป็นสัตว์ เพราะไม่อยากทำทาน

11. มหิทธิกเปรต เป็นเปรตที่มีฤทธิ์มากและรูปงามเหมือนเทวดา แต่อดอยากหิวโหยตลอดเวลา เมื่อเจอของสกปรกก็จะดูดกินเป็นอาหาร กรรมคือ ตอนเป็นมนุษย์เคยบวชเรียน และพยายามรักษาศีล จึงมีรูปงาม แต่เกียจคร้านต่อการบำเพ็ญธรรม จิตใจจึงยังเต็มไปด้วยความโลภ โกรธ หลง

12. เวมานิกเปรต เป็นเปรตที่มีวิมานคล้ายเทวดา แต่จะเสวยสุขได้เฉพาะกลางวัน พอกลางคือก็จะเสวยทุกข์ กรรมคือ เมื่อเป็นมนุษย์มีศรัทธาทำบุญกุศลไว้มาก แต่ไม่รักษาศีลให้บริสุทธิ์

นอกเหนือจากเปรตข้างต้นแล้ว ในพระวินัยและลักขณสังยุตต์พระบาลี ยังได้พูดถึงเปรตอีก   21 จำพวก ได้แก่

1. อัฏฐีสังขสิกเปรต เปรตที่มีกระดูกติดกันเป็นท่อนๆ แต่ไม่มีเนื้อ

2. มังสเปสิกเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นชิ้นๆ แต่ไม่มีกระดูก

3. มังสปิณฑเปรต เปรตที่มีเนื้อเป็นก้อนๆ

4. นิจฉวิเปรต เปรตที่ไม่มีหนังหุ้ม

5. อสิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นพระขรรค์

6. สัตติโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นหอก

7. อุสุโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นลูกธนู

8. สูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็ม

9. ทุติยสูจิโลมเปรต เปรตที่มีขนเป็นเข็มอีกแบบ

10. กุมภัณฑเปรต เปรตที่มีอัณฑะใหญ่โตมาก

11. คูถกูปนิมุคคเปรต เปรตที่จมอยู่ในอุจจาระ

12. คูถขาทกเปรต เปรตที่กินอุจจาระ

13. นิจฉวิตกิเปรต เปรตหญิงที่ไม่มีหนัง

14. ทุคคันธเปรต เปรตที่มีกลิ่นเหม็นเน่า

15. โอคิลินีเปรต เปรตที่มีร่างกายเป็นถ่านไฟ

16. อลิสเปรต เปรตที่ไม่มีศีรษะ

17. ภิกขุเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนพระ

18. ภิกขุนีเปรตเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนภิกษุณี

19. สิกขมานเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนสิกขมานา (สามเณรีที่ได้รับการอบรมเป็น

เวลา 2 ปี เพื่อบวชเป็นภิกษุณี)

20. สามเณรเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนสามเณร

21. สามเณรีเปรต เปรตที่มีรูปร่างเหมือนสามเณรี

จะเห็นว่า เปรตในพระคัมภีร์แต่ละฉบับนั้นใช้หลักเกณฑ์ในการแบ่งประเภทแตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ใน พระคัมภีร์อรรถกถาแบ่งตามฐานะ พระคัมภีร์โลกบัญญัติปกรณ์แบ่งตามกรรม และพระวินัยลักขณะสังยุตต์พระบาลีแบ่งตามลักษณะ

 กิจกรรมและประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับเปรตของนครศรีธรรมราชที่มีและใช้กันในปัจจุบันมีหลายลักษณะ  เช่น

ด้านสำนวนภาษา  มีสำนวนที่เกี่ยวกับเปรตอยู่มาก  โดยนำมาเปรียบเทียบให้เป็นรูปธรรมขึ้น  และมักจะเป็นความหมายในแง่ไม่ดี  เช่น

สูงเหมือนเปรต               :   สูงผอมชะลูดเกินไปจนผิดส่วน

ผอมเหมือนเปรต             :   ผอมมากจนผิดปกติ

กินเหมือนเปรต              :   กินตะกละอย่างตายอดตายอยากมานาน

เสียงเหมือนเปรต            :   เสียงแหลม เล็ก สูง เกินคนธรรมดา

ขี้คร้านเหมือนเปรต         :   ไม่ค่อยทำอะไร  คอยแต่จะพึ่งผู้อื่น  (คอยรับส่วนบุญ)

อยู่เหมือนเปรต               :   รูปไม่งาม  (โหมระ)  จนผิดปกติ

การทำอาหาร  ขนมเดือน 10  จะเห็นได้ว่าชาวนครศรีธรรมราชมีภูมิปัญญาในการถนอมอาหารเป็นอย่างดี  ขนมที่นำไปในพิธีรับส่งเปรตจะเป็นประเภทเก็บไว้ได้นาน  โดยไม่ต้องมีตู้เย็น  เช่น ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมซำ  และขนมไข่ปลา  ล้วนเป็นประเภทไม่เสียง่าย สามารถเก็บไว้ได้นานพอสมควร

สะท้อนให้เห็นวิธีการอบรมความประพฤติและพฤติกรรมของคนในสังคมให้ประพฤติและปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควร  ไม่ทำชั่ว  โดยอาศัยความเชื่อเรื่อง  กรรม  บาปบุญคุณโทษ  ควบคุมกาย วาจา และใจ  ให้ปฏิบัติและสิ่งที่ดี  ละชั่ว  โดยใช้เปรตเป็นสัญลักษณ์ของการลงโทษผู้กระทำผิด ขู่ให้เกรงกลัวไม่อยากเป็นและอยู่ในภาวะของเปรตทำให้สังคมสงบสุขได้ ความคิดความเชื่อเรื่องเปรต  จึงมีประโยชน์ต่อคนในจังหวัดนครศรีธรรมราชพอสมควร 

 4.3 ขนมที่ใช้ในประเพณีบุญสารทเดือนสิบ

ขนมเดือนสิบที่สำคัญและขาดไม่ได้เลย มี 5 ชนิด  คือ  ขนมพอง  ขนมลา  ขนมบ้า  ขนมดีซำ  และขนมไข่ปลา  ขนมทั้ง 5 ชนิดนี้นำไปเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการจัดหมรับ  ซึ่งขนมทุกชนิดมีความหมายในการที่จะให้บรรพบุรุษนำไปใช้เป็นสิ่งของแทนสิ่งต่างๆ ในนรกภูมิ มีการใช้เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงเครื่องใช้ที่แตกต่างกันดังนี้

ขนม ความหมายที่ใช้สื่อโดยรวม ความหมายอื่นๆ
ขนมลา แพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม  – ห้วงมหรรณพ

– อาหารของเปรตปากเท่ารูเข็มเนื่องจากขนมลามีเส้นเล็ก เชื่อว่าเปรตปากเท่ารูเข็มจะสามารถกินได้

ขนมพอง แพ  สำหรับล่องข้ามห้วงมหรรณพ  หมายถึงการนำไปสู่การเข้านิพพาน  – เรือ

– เครื่องประดับ

– ยานพาหนะ

ขนมบ้า สะบ้า เหรียญเงิน
ขนมกง

หรือขนมไข่ปลา

เครื่องประดับ
ขนมดีซำ

ขนมเบซำ

ขนมเจาะรู

ขนมเจาะหู

–   เงินเบี้ย

–  เงิน

ต่างหู

นอกจากขนมเดือนสิบ  5 อย่างที่ระบุข้างต้นแล้ว  ยังมีขนมอื่นๆ  ที่ใช้อีกเช่นกันคือ

ขนม ความหมายที่ใช้สื่อโดยรวม
ขนมเทียน หมอนหนุน
ขนมต้ม เสบียงในการเดินทาง
ขนมรังมด
ขนมก้านบัว
ขนมฉาวหาย
ขนมขาไก่
ขนมจูจน

ขนมจูจุน

ขนมจู้จุน

ประเพณีบุญสารทเดือนสิบเป็นประเพณีที่สำคัญยังคงปฏิบัติสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันมีเอกลักษณ์ความเป็นตัวตนของนครศรีธรรมราช ทั้งคนในจังหวัดนครศรีธรรมราช  และบุคคลภายนอกต่างหลั่งไหลเข้ามาร่วมงานเป็นจำนวนมาก  เนื่องจากมีกิจกรรมมากมายทั้งในส่วนที่เป็นจารีตดั้งเดิมและเทศกาลเพื่อสนับสนุนประเพณี จนเมื่อกล่าวถึงงานบุญสารทเดือนสิบแล้ว ใครๆ ก็ต่างต้องนึกถึงเมืองนครศรีธรรมราช

_____

ขอบพระคุณข้อมูลจาก สารนครศรีธรรมราช ฉบับเดือนสิบ’๖๓

มรดกคณะราษฎรในเมืองนครศรีธรรมราช

มรดกคณะราษฎรเป็นผลผลิตภายหลังจากการปฏิวัติในช่วง พ.ศ. 2475 ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยระยะแรกการดำเนินงานนั้นต้องอยู่ภายใต้กรอบของหลัก 6 ประการ ได้แก่ หลักเอกราช หลักความปลอดภัย หลักเศรษฐกิจ หลักเสมอภาค หลักเสรีภาพ และหลักการศึกษา ซึ่งมรดกคณะราษฎรถูกสร้างขึ้นในรูปลักษณ์ที่สามารถจับต้องได้ และแอบแฝงอยู่อย่างมีนัยยะ กระจายไปเกือบทั่วทุกพื้นที่ของสังคมไทย

“จังหวัด” นครศรีธรรมราชถูกจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งได้มีการจัดระเบียบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคออกเป็นจังหวัดและอำเภอ ทำให้ระบบมณฑลเทศาภิบาลทั่วประเทศเป็นอันต้องถูกยกเลิกเสีย

นอกจากนี้การจัดตั้งโรงเรียนหรือสถานศึกษาบางแห่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชก็มีความเกี่ยวเนื่องกับคณะราษฎร ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนฝึกหัดครูนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการตั้งกระทู้ถามของนายน้อม อุปรมัย ในช่วง พ.ศ. 2498 ต่อความไม่เสมอภาคของการจัดการศึกษาในภาคใต้ จนกระทั่ง พ.ศ. 2500 รัฐบาลจึงอนุมัติให้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูขึ้นที่นครศรีธรรมราช และสำหรับโรงเรียนชุมชนพิบูลสงคราม แม้จะถูกตั้งขึ้นมาจากพระในพื้นที่ แต่ภายหลังก็ถูกเปลี่ยนแปลงชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

ในด้านเอกราชและความปลอดภัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้จัดหน่วยทหารในภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา และได้ย้ายมณฑลทหารบกที่ 5  กองพันทหารปืนใหญ่ที่ 15  จากจังหวัดราชบุรี มาตั้งที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อครั้งญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่นครศรีธรรมราช ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็นค่ายวชิราวุธและกองทัพภาคที่ 4 ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวของรำวงเวียนครก รำโทน รำนกพิทิด ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรื้อฟื้นและสร้างขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ไม่นาน และในด้านความเสมอภาคและเสรีภาพมองเห็นได้ชัดจากกรณีของการยกเลิกพิธีไล่แม่มด ดังนั้นหากเราลองพิจารณาแล้วก็จะพบว่าคณะราษฎรได้สร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ขึ้นมากมายในจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึงอุดมการณ์การปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน การสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ จึงต้องยึดโยงกับประชาชน เพื่อประชาชนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นการทำลายมรดกคณะราษฎรอย่างใดอย่างหนึ่ง (อย่างเช่นหอนาฬิกาเก่าที่ทุ่งสง) จึงอาจเทียบได้กับการปฏิเสธอุดมการณ์ของระบอบประชาธิปไตยและเป็นการกระทำที่พยายามปกปิดประวัติศาสตร์บางส่วนของประชาชน ทำให้ประวัติศาสตร์เกิดความบิดเบือนและคลาดเคลื่อนอย่างไม่น่าให้อภัย

____

ขอบพระคุณภาพจากปก www.nstru.ac.th

นครศรีธรรมราชแปลว่าอะไร ? มีนัยยะอย่างไรแฝงอยู่ ?

นครศรีธรรมราช แปลว่าอะไร ?

นครศรีธรรมราชแปลว่าอะไร ? มีนัยยะอย่างไรแฝงอยู่ ?
ตามหลักการตั้งชื่อบ้านนามเมืองแต่โบราณ มักใช้ลักษณะภูมิประเทศ ทรัพยากรในท้องถิ่น หรือจุดเวลาที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นเกณฑ์ตามธรรมชาติในการกำหนดเรียก ดังนั้น ชื่อบ้านนามเมืองจึงถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สามารถใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้นๆ ได้ในขั้นต้น

นครศรีธรรมราช ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยวโดยปราศจากการปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก ชื่อนี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารภาพลักษณ์เพื่อแสดงความเป็นตัวตนต่อชุมชนและเมืองอื่น ซึ่งมีทั้งความหมายและนัยยะบางประการแฝงอยู่

แปลว่าอะไร ?
นครศรีธรรมราช เป็น ๑ คำที่ประกอบด้วย ๔ พยางค์ คือ นคร + ศรี + ธรรม + ราช
นคร (น.) แปลว่า เมืองใหญ่
ศรี (น.) แปลว่า สิริมงคล, มิ่งขวัญ, ความรุ่งเรื่อง, ความงาม, ความเจริญ, ประเสริฐ
ธรรม (น.) หมายถึง พระธรรม แปลว่า คุณความดี
ราช (น.) แปลว่า พระเจ้าแผ่นดิน (รากศัพท์มาจากคำว่า รช แปลว่าพอใจ)

ทั้งนี้ คำว่า ศรี สามารถใช้เป็นคำนำหน้าคำนามอื่นเพื่อแสดงความยกย่อง เช่น (ศรี)ลังกา และพระยา(ศรี)สุนทรโวหาร เป็นต้น ในที่นี้จะเห็นว่าคำว่า “ศรี” ถูกวางไว้หน้าคำว่า “ธรรม” เพื่อต้องการชี้ว่าพระธรรมหรือคุณความดีที่สถิต ณ เมืองนี้ เป็นที่ยิ่ง เป็นมิ่งขวัญแก่เมือง จึงจัดกลุ่มคำใหม่เป็น นคร + (ศรี)ธรรม + ราช

แปลรวมความได้ว่า “เมืองใหญ่อันปกครองด้วยพระราชาผู้ทรงธรรมอันประเสริฐ”

มีนัยยะอะไรแฝงอยู่ ?
นคร = ชาติตามตำนานเมืองและตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช พบว่ามีการสถาปนาความเป็นเมืองขึ้นแล้ว สิ่งที่ให้ความสำคัญเป็นประการแรก คือการประดิษฐานสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาคือองค์พระบรมธาตุเจดีย์ก่อนจะขยายพระราชอาณาจักรเป็นเมือง ๑๒ นักษัตร ทั้งนี้อาจเพราะเพื่อการประกาศการเปลี่ยนผ่านจากพราหมณ์เป็นพุทธอย่างเป็นทางการของพระมหานครใหม่ ตามรูปแบบการปกครองและศาสนาที่กำลังได้รับความนิยมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพ (Unity) ภายใต้หลักคิดและความเชื่อเดียวกัน

(ศรี)ธรรม = ศาสนาหาก “ตามพรลิงค์” อันแปลว่าศิวลึงค์ทองแดง จะสื่อแสดงถึงสถานะของการที่มีศาสนาพราหมณ์ครอบครองแล้ว การสถาปนาเป็น “นครศรีธรรมราช” จึงให้นัยยะใหม่ของการเป็นเมืองแห่งพระพุทธศาสนา

ราช = พระมหากษัตริย์ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗ – ๑๘ นั้น นอกจากพระพุทธศาสนา ลัทธิเถรวาท ลังกาวงศ์ จะเข้ามามีบทบาทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว รูปแบบการเมืองการปกครองและพระราชอำนาจของพระเจ้าอโศกมหาราชยังเป็นที่เลื่องลือและยอมรับนับถือกันโดยทั่วไป ทั้งมอญ ละโว้ สะเทิม และหริภุญไชย ดังนั้นการสถาปนาราชวงศ์ใหม่ขึ้นในพระราชอิสริยยศเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ “พระเจ้าศรีธรรมโศกราช” จึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นมั่นคงได้อย่างรวดเร็ว

ดังนั้น นัยยะที่แฝงอยู่ในชื่อเมืองนครศรีธรรมราช คือการประกาศความเป็นอาณาจักรที่ประกอบไปด้วยสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ โดยสมบูรณ์

สาเหตุที่ตรงโน้น ตรงนี้ ต่างก็มีตำนานเท้าความถึงเมื่อแรกสร้างพระธาตุ

เรามักมองว่าการสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์จำลอง ณ สถานที่ใดในปากใต้ หรือโครงเรื่องทำนองที่ทรัพย์สมบัติเหล่าหนึ่งหมายมาสมทบทำพระธาตุแต่การเสร็จลงเสียก่อน จึงทำอนุสรณ์สถานไว้ตรงนั้นตรงนี้ เป็นสัญลักษณ์แสดงเครือข่ายความศรัทธาของผู้คนที่มีต่อองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เมืองนครศรีธรรมราช ในฐานะศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา

นั่นก็จริง แต่มีข้อสังเกตบางประการที่ควรมองเพิ่มคือ เจดียสถานเหล่านั้น ไม่ได้มีอายุร่วมสมัยกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนคร แต่มักจะถูกสร้างขึ้นในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ เรื่อยมาจนปัจจุบันก็ยังเห็นมี.ในระยะเวลาตั้งแต่ขอบล่างดังกล่าว เป็นช่วงเดียวกันกับที่อำนาจจากรัฐลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่เดิมมีแต่เพียงในนาม พยายามเข้าแทรกแซงและมีอิทธิพลเหนือเมืองนครศรีธรรมราชภายหลังการประกาศตนเป็น “เมืองสิบสองนักษัตร” ปกครองเมืองน้อยใหญ่รายรอบได้เบ็ดเสร็จ

เมื่อพระบรมธาตุเจดีย์เป็นเครื่องมือสำคัญของการผนึกความรู้สึกของผู้คนให้เป็นปึกแผ่น การจะควบคุมศูนย์กลางได้สำเร็จ จึงต้องมุ่งไปที่การสลายผนึกนั้นลงอย่างแยบคายและอาศัยจังหวะที่เหมาะสม

การสถาปนาพระบรมธาตุเจดีย์จำลองและตำนานอนุสรณ์สถานที่เกี่ยวโยงกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครที่แพร่หลายในคาบสมุทรนี้ อีกมุมหนึ่งจึงอาจเป็นวิธีการตามนโยบายแยกแล้วปกครอง ที่กรุงศรีอยุธยาใช้ในการถ่ายโอนอำนาจจากเมืองใหญ่มาสู่ราชสำนัก

โดยจังหวะที่อาศัยนั้น น่าเชื่อว่าเป็นระลอกของการบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์แต่ละคราว อย่างครั้งเก่าสุดที่พบจารึกศักราชบนแผ่นทองคำหุ้มปลียอด ตกในพุทธศักราช ๒๑๕๕ ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ในแผ่นดินเดียวกันนี้ มาคู่ขนานกับเหตุการณ์การพระราชทานพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาที่ภูมิทานเลณฑุบาตถวายข้าพระโยมสงฆ์เมืองพัทลุง

การกัลปนาครั้งนั้น ถือเป็นการกัลปนาวัดในหัวเมืองปักษ์ใต้ครั้งใหญ่ ที่ได้รวมเอาวัดทั้งหมดตั้งแต่หัวเขาแดงเรื่อยไปตามสันทรายจนถึงเขาพังไกรขึ้นกับวัดหลวง

ศาสนาและการเมืองจึงเป็นเครื่องมือให้แก่กัน เมื่อศาสนามีคุณวิเศษในการรวบรวมศรัทธา ผู้ปกครองที่ต้องการสิ่งเดียวกันนี้หรือประสงค์จะแยกออกจากศูนย์รวมในจุดใด ก็จำเป็นต้องผลิตซ้ำแล้วอาศัยความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดศูนย์รวมศรัทธาในที่แห่งใหม่ โดยผู้คนแทบจะไม่รู้สึกแปลกแยกออกจากฐานคิดเดิมของตนฯ