ประเพณีชิงเปรต แต่ก่อน ใคร ? ชิงเปรต ! เดี๋ยวนี้ยัง “สาเสด เวดนา” กันไหมหนอ ?

ทำบุญเหอ
ทำบุญวันสารท
ยกหมรับดับถาด
ไปวัดไปวา

พองลาหนมแห้ง
ตุกแตงตุกตา
ไปวัดไปวา
สาเสดเวดนา เปรตเหอฯ

หลังเพลงช้าน้องที่ยกมา
เรามาเข้าเรื่องกันเลยที่คำถามเปิดหัวว่า แต่ก่อน ใคร ? ชิงเปรต !
ใจจริงก็สงสัยว่าทำไมต้องไป “ชิง” ของ “เปรต” ด้วย
ในเมื่อตั้งใจจะ “อุทิศ” ไปให้เปรตเหล่านั้นแล้วตั้งแต่ต้น
พบบันทึกของท่านขุนอาเทศคดีฉบับนี้ เป็นอันถึงบางอ้อ…
“…เคยเห็นแต่นักโทษที่เรือนจำ
ปล่อยให้เที่ยวหากินตามลำพัง
กับพวกขอทานต่างแย่งชิงกันเก็บเอาไป
เรียกกันว่า ชิงเปรต เด็กๆ ชอบดูกันเห็นเป็นการสนุกสนาน…”
.

ประเพณีชิงเปรต

“ชิงเปรต” ในปัจจุบันเข้าใจกันว่าเป็นส่วนหนึ่งในประเพณีบุญเดือนสิบ ที่เริ่มต้นด้วยการ “ตั้งเปรต” คือการนำ “หมรับ” (อ่านว่า หฺมฺรับ) อันได้แก่ สำรับกับข้าวคาว-หวาน ขนมเดือนสิบ เช่น พอง ลา บ้า ดีซำ ไข่ปลา รวมถึง ผลไม้ หมาก พลู เงิน และ ดอกไม้ ธูป เทียน ไปอุทิศรวมกันไว้ที่ “ร้านเปรต” หรือบางวัดจัดไว้เป็น “หลาเปรต” เชื่อกันว่าคือการให้ทานโดยสาธารณะแก่วิญญาณเปตะชน(ผู้ละโลกนี้ไปแล้ว)ที่ไม่มีญาติหรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญ

.การชิงเปรตจะเริ่มขึ้นหลังจากพระสงฆ์ดึงสายสิญจ์ซึ่งเดิมโยงจากบรรดาหมรับที่ตั้งเปรตไว้เพื่อเป็นอาณัติสัญญาณว่า พิธีทางศาสนาได้สมบูรณ์แล้วประการหนึ่ง กับถึงเวลาที่จะสามารถ “ชิงเปรต” กันได้แล้วประการหนึ่ง บรรดาคนหนุ่ม คนสาว ไม่เว้นแม้แต่พ่อเฒ่ามีแก่ที่ต่างจดจ่อรอเวลาอยู่รอบร้านเปรตหลาเปรต ก็กรูกันเข้าฉก ชิง แย่ง ยื้อ กันชุลมุน

.ในพริบตาก็เหลือร้างไว้เพียงหลาหรือร้านที่ว่างเปล่ากับร้อยยิ้ม เสียงหัวเราะ และถ้อยคำอธิษฐานก่อนแบ่งปันกันรับประทาน เพราะต่างก็มีความเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคล บ้างก็เก็บไว้เพื่อนำไปโปรยในไร่นาหวังให้ผลอาสินผลิช่อออกลูกอุดมสมบูรณ์ ลูกหลานบ้านไหนป่วยไข้บ่อย บนบานกันไว้ว่าหากหายจะพาไปชิงเปรต ก็มี (ข้อมูลจากคณะทำงาน U2T ตำบลโมคลาน)

.เอาเข้าจริงแล้ว

บุญเดือนสิบของเมืองนครศรีธรรมราช
ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ
.
ส่วนที่ระบุว่าเป็นอะไรๆ เทือกนี้
หากมองให้ชัดจะเห็นว่าเป็นเพียงการสร้างความสนใจต่อสิ่งที่งอกขึ้นใหม่
ทั้งนี้ยังคงต้องมีคำว่าบุญเดือนสิบ หรืออะไรที่มีอยู่ในนั้น เพื่อสร้างความชอบธรรมในการปฏิบัติตามระบบ
.
จะเห็นว่าบุญนี้เริ่มต้นที่ครอบครัว
โดยใช้วัดเป็นสื่อกลางประกอบพิธี
ดังนั้นเมื่อเอาเข้าจริงจะมีก็เพียงบ้านกับวัดเท่านั้น
ที่ควรเป็นพื้นที่เป้าหมาย
.
ก็ยังไม่เคยเห็น
ว่าหน่วยงานใดจับจุดเสริมแรงได้ถึงแก่นพิธีกรรมในวัด
ซึ่งส่วนตัวมองว่า
การไร้แรงแห่งรัฐลงถึงแก่นสาระของบุญเดือนสิบนี้
เป็นเรื่องที่ดี และดีมากด้วย
เพราะทุกบ้าน – ทุกวัด
จะยังสามารถรักษาขนบธรรมเนียม
จารีตรูปรอยของแต่ละพื้นที่ได้อย่างมั่นคง
.
มาถึงตรงนี้จะเห็นว่าสิ่งนี้มีคุณจริง
จึงไม่มีทีท่าว่าจะเลื่อนลอย
ถูกค้ำยันด้วยจิตสำนึกของผู้คน
มิหนำซ้ำตัวมันเองก็หยั่งรากนี้ลงถึงก้นบึ้งของวิญญาณ
กับทั้งยังมีกลไกทลายเปลือกปลอมบางประการ
และสถาปนาความเป็นลูกหลานอย่างเสมอตัวถ้วนหน้า
ใครจะยิ่งใหญ่คับฟ้ามาจากไหน
กลับบ้าน ถึงวัด ก็ต้องกลายเป็นลูกหลานไปโดยปริยาย
ติดระบบระเบียบ อุกอาจหาญกล้าอย่างไร
ก็ต้องจำนนต่อลักษณะวิธีของสาธารณชนอยู่นั่นเอง
.
บุญเดือนสิบจึงตัดขาดจากงานเดือนสิบ
การรื่นเริงที่ละเลงละลานอยู่ทั่วไปนี้เป็นอย่างหลัง
มองแง่ดีเป็นการรองรับผู้คนที่เดินทางกลับบ้าน
ให้ได้ทำกิจกรรมร่วมกันนอกบ้าน
.
เมื่อแรกคิดการเมื่อเกือบร้อยปีก่อน
ท่านผู้ริเริ่มอาจคิดเห็นว่าวิถีนี้ไม่ควรจะแตะก็เป็นได้
จึงเลือกพื้นที่จัดงานครั้งแรกที่สนามหน้าเมือง
และคงเป็นกุศลที่ท่านทั้งหลายนั้นเลือกถูก
.
บุญเดือนสิบจึงยังคงเป็นบุญเดือนสิบ
และงานเดือนสิบก็ปล่อยให้เป็นส่วนของงานเดือนสิบไป
เพราะบางอย่าง ยิ่งส่งเสริม ยิ่งสาบสูญฯ

ว่าด้วย “หมรับ” คำอ่าน ภาษาเขียน และข้อเรียนรู้

หมรับเอยแห่เลยเช้าเข้าหว่างเพล
ยกประเคนเครื่องประกอบชอบกุศล
ตามแต่มีบรรดาได้ในเรือนตน
สาละวนประดับประดาสาระพัน
.
ตองตานีถี่เย็บเก็บวงรอบ
รับทรงสอบลู่รี่ชี้สวรรค์
สลักพองรองไข่ปลาลาลอยมัน
ชะลูดหลั่นอย่างมหามงกุฎชัย
.
ทำมุขทิศบิดทางข้างละจั่ว
จำหลักตัวนาดสะดุ้งพยุงไหว
ทำช่อฟ้าแต่งระกาด้วยมาลัย
หน้าบันในแสดงเห็นเป็นเรื่องทอง
.
ปางประสูติพระสัมมาหน้าที่หนึ่ง
ตรัสรู้จึงแจกแจงไว้แห่งสอง
แสดงธรรมเทศนาที่สามรอง
ที่สี่ของดับขันธปรินิพานฯ
(วันพระ สืบสกุลจินดา, 2560)
.
บทสนทนาระหว่างสีแก้วและยอดทอง
(โหมดภาษาใต้)
(สีแก้ว)
เฮ คำนี้เขียนพรือหละไอ้ทอง ?
.
(ยอดทอง)
บอกว่า “หมรับ” กะ “หมรับ” ตะ !
แหลงมาก เจ็บคอจังแล้ว
พจนานุกรมภาษาถิ่นกะมีอยู่โทงๆ
หลักการทางภาษาศาสตร์ก็ยืนยันอยู่เห็นๆ
อิมาทำพี่พอได้บัญญัติให้หรอยแต่คำว่าหมรับพรือ
.
คันพันนั้นกะใส่ หฺมฺรัก เสียกันตะ
สากลัวคนอิอ่านว่า หม – รัก
ถึงนู้อีกหลายคำกะใส่พินทุเสียให้ฉาด
สากลัวว่าอิอ่านว่า หม – รัง, หม – รา, หม – ราบ
.
ใครอ่านโถกไม่โถกกะปล่อยให้ขึ้นอยู่กับปัญญาตะ
คำอื่นอ่านยากอิอับสับเห็นยังแข้นอ่านกันออก
แม่เหยแม่คันคำเดียวเท่านี้ ทำมาหวังเหวิด
แลใหม่ให้ดีตะ มันคืออัตลักษณ์ที่ไม่จำเป็นต้องไปปรับให้ผิดหลักผิดแบบเอื้อกับไอ้ไหร่ๆ นิ
ดีเสียเหลยจะได้พากันพยายามเข้าใจความเป็นเรา ความเป็นตัวตนของเรา
.
อย่าดูถูกผู้อ่านด้วยการเขียนคำว่า “หมรับ” ด้วยคำอ่านอีกเลย
เขียนไปเป็นคำเขียนนี้แหละ
จากมเหยงคณ์ อิอ่านเป็น มะ – เหยง กะช่างหัวมันแหละทีนี้หึ
บอกเพื่อนว่าเมืองนักปราชญ์
คันคำเดียวเท่านี้อ่านไม่โถกกะไม่ที่ทำพรือ
ฮาโรย !!!!
.
(โหมดภาษากลาง)
ควรเขียนว่า “หมรับ” แล้วอ่านว่า “หฺมฺรับ”
เหตุที่ควรเขียนโดยไม่มีพินทุนั้นก็เพราะว่าการใส่พินทุเป็นการแสดงคำอ่านไม่ใช่การเขียน โดยใส่พินทุข้างล่างพยัญชนะเพื่อใช้ระบุอักษรนำและอักษรควบกล้ำ เช่นคำว่า สุเหร่า (สุ – เหฺร่า) หรือ ปรากฏการณ์ (ปฺรา – กด – กาน) อย่างคำว่า หมรับ มีพยัญชนะ ๓ ตัว คือ ห นำ ม แล้วนำ ร อีกที จึงวางพินทุที่ ห และ ม เพื่อชี้ว่า ทั้ง ๒ ตัวนี้ทำหน้าที่เป็นอักษรนำ
.
(สีแก้ว)
ฮาเอาทองเอา ถูกเอาหมลักแม่เหยแม่
.
ความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเขียนคำว่า “หมรับ” และวัฒนธรรมใหม่ที่มีจุดกำเนิดมาจากความแพร่หลายของความคลาดเคลื่อนนี้ ส่งผลให้ในยุคปัจจุบันสำรวจไม่พบคำอธิบายของการเขียนในลักษณะอื่นๆ เช่น หฺมฺรับ, หฺมรับ, หมฺรับ, หฺมฺรบ, หมฺรบ, หมฺรบฺ, หมรบฺ เป็นต้น
.
จากการค้นคว้าพบว่า คำว่า “หมรับ” นี้ ไม่มีปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานอย่างที่มีเอกสารหลายฉบับได้อ้างถึงว่าเขียนไว้ว่า “หฺมฺรับ” แต่กลับปรากฏอยู่ในพจนานุกรมภาษาถิ่นภาคใต้ระบุการเขียนไว้ว่า “หมรับ” และคำอ่านแบบเทียบเป็นภาษาอังกฤษกำกับไว้ว่า “Mrap”
หากจะอธิบายถึงจุดด้านล่างตัวอักษร (เครื่องหมายพินทุ) นั้น สามารถอธิบายได้ว่า เครื่องหมายพินทุมีหลักการใช้ ๒ กรณี คือใช้เป็นเครื่องหมายระบุอักษรนำในการเขียนคำอ่าน เช่น คำว่า สุเหร่า (สุ – เหฺร่า) หรือ ปรากฏการณ์ (ปฺรา – กด – กาน) อีกกรณีคือการเขียนกำกับตัวสะกดในภาษาบาลี เช่นคำว่า สัมมาสัมพุทโธ (สมฺมาสมฺพุทฺโธ) ทั้งนี้หากเขียนคำว่า “หมรับ” เป็นคำอ่าน ก็จะเขียนได้ว่า “หฺมฺรับ” และเขียนเป็นภาษาบาลีจะได้ว่า หมรบฺ
.
จึงใคร่ขอทำความเข้าใจใหม่ในความถูกต้องที่มีมาแต่ก่อนเก่า เกี่ยวกับคำสำคัญอันมีที่มาจากประเพณีสำคัญซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวของโลกของเรานี้ ตามหลักการเขียนที่ถูกต้องว่า “หมรับ” ไม่ใช่ตามหลักการอ่านด้วยพินทุหรือรูปแบบการเขียนในภาษาบาลีที่พบเห็นเป็นความคลาดเคลื่อนอยู่โดยทั่วไปในปัจจุบัน
.
ก็เหตุที่การเขียนต้องเขียนด้วยภาษาเขียนประการหนึ่ง แลหมรับคำนี้เป็นการรวบคำมาจากคำว่า “สำรับ” จึงเป็นบาลีไปเสียไม่ได้อีกหนึ่ง