“ไดโนเสาร์” เรื่องเล่าชาวกรุงหยัน

ไดโนเสาร์นับเป็นสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ ซึ่งเชื่อได้เลยว่ามีมนุษย์จำนวนไม่น้อยที่ปรารถนาใคร่อยากจะประสบพบเจอ เพื่อสัมผัสกับความยิ่งใหญ่และท้าทายดังเช่นที่ปรากฏในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่อง สำหรับประเทศไทยนั้นมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น โดยเฉพาะอำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่นนั้นมีซากดึกดำบรรพ์มากมาย เช่น สยามโมรันนัส อิสานเอนซิส, ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน, สยามโมซอรัส สุธีธรณี ฯลฯ

หากพิจารณาจากลักษณะทางธรณีของนครศรีธรรมราช พบว่าชั้นหินบางแห่งจัดอยู่ในยุค Triassic, Upper Triassic, Lower Jurassic, Jurassic, Cretaceous ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ไดโนเสาร์ได้มีชีวิตอยู่บนโลก

ถ้าอย่างนั้นในพื้นที่ของนครศรีธรรมราชต้องมีซากไดโนเสาร์?

ข้อสงสัยนี้ปรากกฎอยู่ ณ ถ้ำเพดาน (ถ้ำกระดูก) บริเวณทะเลสองห้อง (ทะเลปรน) มีลักษณะเป็นถ้ำที่ตั้งอยู่ภายในภูเขาขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยสวนยางพารา สวนผลไม้ของชาวบ้าน และภูเขาหินปูนลูกโดดสลับกับที่ราบลุ่ม โดยมีเขาหน้าแดงอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งใกล้กับคลองสังข์ซึ่งไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกลงไปสู่ทะเลปรนทางทิศเหนือ

ภายในถ้ำพบเศษซากกระดูกสัตว์จำนวนมหาศาลที่กระจัดกระจาย ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพชำรุด เนื่องจากชาวบ้านได้กะเทาะเพื่อเอาชิ้นส่วนของกระดูกออกด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และนำเศษกระดูกบางส่วนมากองไว้ที่พื้นถ้ำปะปนกับหินปูนและก้อนแร่

บริเวณพื้นที่แห่งนี้ถูกแบ่งออกเป็นหลายถ้ำ ปรากฏทางน้ำโบราณ และร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์

ชาวบ้านในพื้นที่ (บางส่วน) มีความเชื่อว่าซากกระดูกสัตว์ที่ปรากฏอยู่ภายในถ้ำ คือ ซากกระดูกของไดโนเสาร์

แต่หาเป็นความจริงไม่ เนื่องจากการสำรวจของนักโบราณคดีและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่ากระดูกสัตว์ที่พบเป็นกระดูกของวัว/ควาย กวาง ละอง/ละมั่ง เนื้อทราย และเก้ง และได้พบฟันสัตว์กินเนื้อซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว โดยสันนิษฐานในเบื้องต้นว่าน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่าหมื่นปี

ผนวกกับข้อมูลจากนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจว่าเขาหินปูนแห่งนี้เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาน้ำทะเลในยุค Permian เมื่อประมาณ 230 ล้านปีมาแล้ว เมื่อเขาหินปูนเกิดการยกตัวขึ้นจะเกิดเป็นโพรงหรือซอกหลืบมากมายภายใน ส่วนสัตว์ป่าที่อาศัยบริเวณโดยรอบซึ่งเป็นสัตว์กินเนื้อได้นำชิ้นส่วนของสัตว์มาทิ้งไว้ ต่อมาเกิดฝนตกหนักทำให้กระดูกสัตว์และตะกอนทับถมรวมกัน และเนื่องจากน้ำที่ไหลผ่านถ้ำหินปูนจะมีตะกอนของแคลเซียมคาร์บอเนตมากไม่นานก็จับตัวกันเป็นแผ่นแข็ง กำหนดอายุคร่าว ๆ ได้ประมาณ 100,000 – 10,000 ปีมาแล้ว ไม่ใช่ชิ้นส่วนของสัตว์ที่มีชีวิตร่วมกับไดโนเสาร์ ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วกว่า 65 ล้านปี อย่างที่ชาวบ้านเข้าใจ

ดังนั้นถึงแม้ว่าชั้นหินในบางพื้นที่ของนครศรีธรรมราชจะอยู่ร่วมสมัยกับไดโนเสาร์ก็ใช่ว่าจะมีไดโนเสาร์อาศัยอยู่ เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้มีการพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นเชิงประจักษ์ ไดโนเสาร์ที่เราปรารถนาให้มีอยู่จริงหลังบ้านก็ไม่มีทางเป็นไปได้

 

ทุ่งใหญ่ : เทวดาหนาน และ ศาสนาผีท้องถิ่น

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสยอดนิยมของสังคมออนไลน์คงหนีไม่พ้นเรื่องราวของสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างพระสยามเทวาธิราชและเรื่องเล่าหลอน ๆ จากทวิตเตอร์ที่ยังไม่ทราบเค้าโครงความจริง แต่ประเด็นของพระสยามเทวาธิราชทำให้การศึกษาประวัติศาสตร์ในมิติของความเชื่อพื้นเมืองผ่านศาสนาดั้งเดิมที่เรียกกันว่า “ศาสนาผี” และเมื่อลองมองย้อนกลับมาในพื้นที่ของอำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็มีเรื่องเล่าตำนานมากมายซึ่งเกี่ยวเนื่องกับศาสนาผี ในที่นี้ขอกล่าวถึง “เทวดาหนาน” เป็นการเฉพาะ

เทวดาหนานเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพื้นที่แถบตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยชาวบ้านบางท่านเชื่อกันว่าเทวดาหนานก็คือทวดงูบองหลา (จงอาง) ประกอบด้วยสององค์ คือ เทวดาฝ่ายชายทำหน้าที่ปกปักรักษาหนานรูปและหนานใหญ่ ส่วนเทวดาฝ่ายหญิงทำหน้าที่พิทักษ์ดูแลหนานนุ้ย  บางท่านเชื่อว่าเทวดาหนานทั้งสามถูกแยกออกเป็นเอกเทศ จึงได้มีการสร้างศาลไว้เฉพาะ กล่าวคือ ศาลเทวดาหนานใหญ่ประดิษฐานอยู่ใกล้กับถนนสายหลักหมายเลข ๔๑ เทวดาหนานนุ้ยประดิษฐานอยู่ใกล้กับวัดขนานทางด้านทิศตะวันตก และเทวดาหนานรูป ซึ่งไม่ได้มีการสร้างศาลเคารพ เนื่องจากชาวบ้านเชื่อกันว่าภาพสลักนั้นคือหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเคยมีร่างทรงประทับเป็นสื่อแทนเทวดาหนานรูป เพื่อบ่งบอกว่าหากมีเรื่องบนบานสานกล่าวสามารถบนบานตนเองได้ แต่หากจะเชิญไปด้วยไกล ๆ นั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตนต้องอยู่พิทักษ์ทรัพย์สมบัติ ณ ที่แห่งนี้ และบางท่านเชื่อว่าเทวดาหนานทั้งสามเป็นองค์เดียวกัน เพียงแต่ถูกนับแยกเมื่อมีการแยกพื้นที่หินหนานออกเป็นหนานใหญ่ หนานนุ้ย และหนานรูป

แต่ไม่ว่าเทวดาหนานจะเป็นองค์เดียวกันหรือไม่ มันก็ทำให้เราได้มองเห็นภาพสะท้อนของความเชื่อของคนในพื้นที่ที่ยังคงนับถือ “ศาสนาผี” ซึ่งมีความเชื่อผูกพันกับ “ทวด” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอิทธิฤทธิ์ เดชานุภาพ สามารถให้คุณให้โทษได้

ความศักดิ์สิทธิ์ของเทวดาหนานถูกเล่าต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยความเชื่อหนึ่งเล่าว่า หากสัตว์เลี้ยงเกิดล้มป่วย หรือผู้คนปรารถนาสิ่งอื่นใดในทางที่ดีเป็นประโยชน์ก็ให้บนถึงเทวดาหนาน ไม่นานสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง และผู้คนก็มักจะสมหวังตามปรารถนา แต่หากผู้ใดลบหลู่ดูหมิ่น จะได้รับการลงโทษจนต้องรีบทำพิธีขอขมาเป็นการใหญ่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดที่ว่าทวดจะให้คุณเมื่อบวงสรวงบูชาและเอาใจ และจะให้โทษเมื่อถูกกระทำการลบหลู่ดูหมิ่น ซึ่งเทวดาหนานน่าจะจัดอยู่ในรูปลักษณ์ของทวดแบบสัตว์

และหากพิจารณาต่อไปอีกจากงานเขียนของ อาจารย์สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่กล่าวว่า “ผีบรรพบุรุษอาศัยหลักฐานจากจารึกในท้องถิ่นที่มีการระบุถึงชื่อของเทวะ เดาว่าเป็นผีพื้นบ้าน แต่สะกดแบบบาลีสันสกฤต เช่นที่วัดภู สมัยชัยวรมันที่สอง มีเทพชื่อ Vrah Thkval เดาว่าเป็นเทพหรือผีท้องถิ่น” ดังนั้นเทวดากับผีท้องถิ่นก็คือสิ่งเดียวกัน เพียงแต่มีรากฐานของคำแตกต่างกัน

เพราะฉะนั้นเมื่อพระพุทธศาสนาได้เดินทางเข้ามาในพื้นที่ ก็จำต้องปะทะกับความเชื่อพื้นเมือง และเกิดการต่อรองอำนาจ เพื่อเชื่อมความเชื่อระหว่างศาสนา จนกระทั่งความเป็นพุทธและผี ถูกหลอมรวมจนเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกัน ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมและอัตลักษณ์เฉพาะพื้นที่มาจวบจนทุกวันนี้

หนานรูปทุ่งใหญ่ ที่กำลังถูกพูดถึงในติ๊กต็อก

ค่ำวันก่อน ครูแอนส่งลิงก์ติ๊กต็อกมาทางเมสเซนเจอร์
หลังจากดูจบผมตอบไปทันทีว่า “กรมศิลป์เคยลงพื้นที่แล้วครับ” ในนั้นเป็นคลิปความยาวไม่ถึงนาทีแต่ดูเหมือนว่ากำลังเป็นที่กล่าวถึงและส่งต่อกันในสังคมออนไลน์ ถัดนั้นในวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เพจสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราชก็ได้เผยแพร่องต์ความรู้เกี่ยวกับสถานที่ดังกล่าว
.
ผมผ่านตาเรื่องนี้ครั้งหนึ่งเมื่อครูแพน ธีรยุทธ บัวทอง เคยส่งบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ลงตีพิมพ์ในสารนครศรีธรรมราช โดยใช้ชื่อ “จากพื้นที่รกร้างบนลานหินหนาน สู่เส้นทางประวัติศาสตร์ตำบลทุ่งใหญ่” ก่อนผมจะปรับเป็น “หนานใหญ่ • หนานนุ้ย • หนานรูป: เรื่องเล่าและเรื่องราวของชาวทุ่งใหญ่” แล้วนำลงเผยแพร่ในเพจสารนครศรีธรรมราชเมื่อวันที่ ๔​ พฤษภาคม ปีก่อน
.
ดังจะได้ยกมารีโพสต์ผ่านนครศรีสเตชั่นอีกคำรบ ดังนี้
.
วัดขนานตั้งอยู่ในพื้นที่ของตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเรื่องราวของพื้นที่แห่งนี้เป็นที่รู้จัก (สำหรับผม) ก็เมื่อช่วงปี พ.ศ. ๒๕๖๐ เนื่องจากมีการค้นพบภาพสลักบนหิน และได้ออกข่าวหลายสำนักจนทำให้กระผมใคร่อยากเดินทางมาเห็นด้วยตาของตนเอง แต่ทว่าด้วยเวลาและระยะทางจึงไม่มีโอกาสเดินทางมาเยี่ยมชม
.
จนเวลาล่วงเลยผ่านไปนานกว่า ๒ ปี การสอบบรรจุครูผู้ช่วยสำเร็จก็ชักนำให้กระผมขยับเข้ามาสู่พื้นที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้ และกระทำการลงพื้นที่ เก็บรวบรวมข้อมูล พร้อมบันทึกเรื่องราวเพื่อเผยแพร่ให้ผู้คนภายนอกได้รับทราบมากยิ่งขึ้น
.
สำหรับบทความครั้งนี้กระผมจะขอนำเสนอข้อมูลอันประกอบด้วย ๕ ประเด็น คือ
๑. ลักษณะทางธรณีวิทยา
๒. ประวัติความเป็นมา
๓. ความเชื่อและมุขปาฐะ
๔. ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต
๕. แนวทางในการอนุรักษ์
.

๑. ลักษณะทางธรณีวิทยา

วัดขนาน ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นหินทราย หรือที่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า “หินหนาน” อันหมายถึงพื้นที่ต่างระดับที่มีทางน้ำไหลผ่าน ซึ่งตามหลักธรณีวิทยานั้น หินแถบนี้จัดอยู่ในหมวดหินพุนพิน (Kpp) ประกอบไปด้วยหินทรายอาร์โคส (Arkosic Sandstone) สีแดงม่วง ชั้นหนา มีหินดินดานและหินทรายแป้งสลับเป็นชั้นบาง ๆ เนื้อของหินทรายค่อนข้างร่วนและมีไมกา (Mica) อยู่บ้าง มีชั้นเฉียงระดับแบบ Trough Cross Bedding อยู่ด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสะสมตัวในลำน้ำแบบ Braided Stream ความหนาไม่เกิน ๕๐ เมตร ไม่พบซากบรรพชีวิน
.
และมีความสัมพันธ์กับหมวดหินเขาสามจอม (JKsc) ซึ่งมีลักษณะเป็นหินกรวดมน วางตัวอย่างต่อเนื่องอยู่บนหมวดหินลำทับ ตอนล่างของหมวดหินนี้เป็นหินทรายสลับหินกรวดมนและหินโคลน ปริมาณของหินกรวดมนเพิ่มมากขึ้นจนกลายเป็นชั้นหนา แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นหินทรายอาร์โคสเนื้อหยาบ ร่วนมาก ความหนาทั้งหมดประมาณ ๑๐ เมตร คาดว่าเกิดจากการสะสมตัวของตะกอนแม่น้ำในยุค Jurassic-Cretaceous
.
และจากการทับถมรวมกันจนกลายเป็นหินทรายที่มีความเปราะบาง ง่ายต่อการผุพังสลายอันเนื่องมาจากการกัดเซาะของน้ำ ดังนั้นเราจึงมักเห็นพื้นที่ด้านล่างของหินมีลักษณะเป็นโพรง (บางแห่งเชื่อมต่อกัน) คล้าย ๆ ถ้ำ โพรงเหล่านี้เป็นทางไหลผ่านของน้ำ และบางแห่งก็ตื้นเขินจนสามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ได้

๒. ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากการพบภาพสลักบนหินทราย (หินหนาน) ก็ช่วยไขอดีตได้ในระดับหนึ่ง
.
โดยภาพสลักที่ถูกค้นพบและเป็นข่าวออกไปในปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นั้น แท้ที่จริงคือการค้นพบซ้ำบนพื้นที่เดิม เนื่องจากในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรได้เข้าไปสำรวจ และมีรายงานระบุว่า
“อำเภอทุ่งใหญ่รับแจ้งจากนายสมชาย ศรีกาญจน์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ ๔ ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่าได้พบภาพแกะสลักบนเพิงผามีลักษณะเป็นรูปพญาครุฑจับนาค ทางอำเภอจึงมีหนังสือที่ นศ.๑๑๒๗/๒๔๔๗ ลงวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๓๘ แจ้งให้หน่วยศิลปากรที่ ๘ (ปัจจุบันคือสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครศรีธรรมราช) ดำเนินการตรวจสอบ
.
วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๓๘ สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช ส่งเจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการสำรวจพบว่าตัวแหล่งอยู่บริเวณเนินดินตั้งอยู่เชิงเนินเขาหินทรายซึ่งลาดลงสู่ลำน้ำเก่า มีลักษณะเป็นถ้ำลึกเข้าไปในเพิงผาหินทรายแดง ซึ่งตัดตรงเกือบจะตั้งฉากกับพื้น (ลักษณะนี้ท้องถิ่นเรียกว่า หนาน)
.
ปากถ้ำถูกดินปิดทับเหลือช่องว่างประมาณ ๒๐ เซนติเมตร บริเวณด้านบนของปากถ้ำมีการสลักลักษณะคล้ายซุ้มประตูด้านซ้ายและขวาของปากถ้ำมีร่องรอยการสกัดหินทรายให้มีลักษณะเป็นเกล็ดยกออกมา แต่มองเห็นได้ไม่ชัดเจนเนื่องจากถูกพงไม้ปกคลุมอยู่เกือบทั้งหมด
.
รายละเอียดของรูปแกะสลักจากด้านซ้ายมือแกะสลักเป็นรูปกลีบบัว ๒ กลีบ ระหว่างกลีบเจาะช่องเป็นรูปสี่เหลี่ยมคล้ายเลียนแบบเครื่องไม้ ขอบบนและขอบล่างของกลีบบัวแกะสลักเป็นเส้นลวดคาดไว้ เหนือเส้นลวดขอบบนแกะสลักเป็นรูปกลีบบัวขนาดเล็กหรือกระจังสามเหลี่ยม ถัดมาเกือบตรงกลางแผ่นหินสลักเป็นรูปบุคคลเคลื่อนไหวคล้ายกำลังเต้นรำ ยกมือทั้งสองจับคันศร หรือพญานาคไว้เหนือศีรษะ ถัดจากภาพบุคคลไปทางขวาแกะสลักเป็นรูปคล้ายเศียรพญานาค ส่วนลำตัวเห็นไม่ชัดเจน และจากการสำรวจที่วัดขนานยังได้พบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์หมิง เครื่องถ้วยยุโรปผลิตในประเทศเนเธอแลนด์ และเครื่องทองเหลืองจำนวนมากด้วย”
.
และผลการสำรวจเพิ่มเติมเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ มีรายละเอียดระบุไว้ว่า
“…ภาพสลักบนผนังหินทราย มีความยาวประมาณ ๑.๔ เมตร สูงประมาณ ๘๐ เซนติเมตร สันนิษฐานว่าเป็นแท่นสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป เนื่องจากส่วนบนปรากฏลักษณะเป็นรูปกลีบบัวขนาดเล็กเรียงกันจำนวน ๑๑ กลีบ… อาจตีความว่าเป็นช่องหน้าต่าง ส่วนด้านล่างเป็นขาโต๊ะ และตรงกลางเป็นลายผ้าทิพย์…(ส่วนภาพสลักที่เคยระบุว่าเป็นรูปบุคคลนั้น อาจไม่ใช่) หากพิจารณาจากเท้าซ้าย พบว่าเป็นลักษณะของสัตว์ประเภทลิง… ทำให้นึกถึงภาพของตัวละครในหนังใหญ่ เช่น วานรยุดนาค… ในเบื้องต้นกำหนดอายุภาพสลักจากลวดลายที่ปรากฏ สันนิษฐานว่าน่าจะทำขึ้นในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือต้นรัตนโกสินทร์…”
.
ดังนั้นจึงสามารถตั้งข้อสันนิษฐานได้ว่าพื้นที่ของหินหนาน (บริเวณวัดขนาน) คงมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนอย่างน้อยในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมีลักษณะเป็นชุมชนโบราณขนาดเล็ก อาศัยเส้นทางคมนาคมหลัก คือ คลองวัดขนาน ซึ่งเชื่อมต่อไปยังคลองเหรียง พื้นที่ของท่าเรือโบราณ และออกสู่แม่น้ำตาปีในที่สุด ตลอดจนผู้คนที่อาศัยอยู่คงมีความรู้ความสามารถด้านศิลปกรรมประเภทประติมากรรมบนแผ่นหิน และมีความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่มาแต่ดั้งแต่เดิม
.
แต่ภาพสลักวานรยุดนาคนั้นยังคงไม่ชัดเจนมากนัก เพราะบางคนเชื่อว่าเป็นอสูรตามคติความเชื่อของพราหมณ์ และบางคนก็เชื่อว่าเป็นอาฬวกยักษ์ตามเรื่องราวพุทธประวัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จนผมตั้งความเป็นไปได้ไว้ ๓ ประการ (ให้ช่วยกันพิจารณา) ด้วยกันดังนี้
.
หากเป็นภาพสลักรูปอสูรยุดนาค อันเป็นเรื่องราวเหตุการณ์ตอนเกษียรสมุทร (กูรมาวตาร) ก็จะมีความคล้ายคลึงกับภาพที่ปรากฏหลักฐานอยู่ ณ ซุ้มประตูเมืองนครธมแห่งอาณาจักรขอม ฉะนั้นผู้สร้างคงเป็นชาวขอมหรือไม่ก็ได้รับอิทธิพลมาจากขอม ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ อีกทั้งยังช่วยระบุถึงลักษณะของผู้คนแรกเริ่มในบนลานหินหนานได้อีกด้วย
.
แต่หากเป็นภาพสลักรูปอาฬวกยักษ์ ก็จะสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของพุทธศาสนาในท้องถิ่นแห่งนี้ ซึ่งได้รับมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย (สอดคล้องกับเหตุการณ์ภายหลังสร้างเจดีย์ศรีวิชัยขึ้นที่เขาหลัก)
.
และหากเป็นภาพวานรยุดนาค ซึ่งเป็นการแสดงมหรสพที่ปรากฏหลักฐานค่อนข้างชัดเจนในสมัยอยุธยาตอนต้น ก็จะสะท้อนให้เราเห็นถึงอิทธิพลของหนังใหญ่ในพื้นที่แห่งนี้ได้เฉกเช่นเดียวกัน
.
แต่ไม่ว่าภาพสลักนั้นจะเป็นรูปแสดงถึงสิ่งใด ความชัดเจนในเรื่องความรู้ความสามารถด้านประติมากรรมบนแผ่นหินอันเกี่ยวเนื่องกับศาสนาก็ยังคงเด่นชัดอยู่เสมอ แม้การสรรสร้างอาจไม่แล้วเสร็จ และยังคงเป็นปริศนาที่รอการค้นคว้าก็ตาม
.
นอกจากนี้การค้นพบเครื่องถ้วยยังช่วยยืนยันประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์กับโลกภายนอกได้อีกด้วย โดยเครื่องถ้วยซึ่งกระผมได้เห็นมากับดวงตาตัวเองนั้น มีอยู่ ๓ ใบ (ของเก่า ๒ ของใหม่ ๑) ใบหนึ่งเป็นเครื่องถ้วยจีน เพราะปรากฏอักษรจีนอยู่ภายนอก ส่วนอีกใบเป็นของสกอตแลนด์ ซึ่งภายนอกใต้ก้นชามได้มีข้อความเขียนไว้ว่า
.
WILD ROSE
COCHRAN GLASGOW
D
.
พร้อมมีตราประจำแผ่นดินสกอตแลนด์ รูปราชสีห์ & ยูนิคอร์น (Dieu Et Mon Droit) ประทับอย่างสวยงาม
.
จากหลักฐานประเภทเครื่องถ้วยข้างต้น จึงสอดรับกับการตั้งถิ่นฐานของผู้คนในชุมชนโบราณแถบหินหนาน และยืนยันความสัมพันธ์ทางด้านการค้ากับผู้คนภายนอกในพื้นที่ริมคลองเหรียง ซึ่งเป็นเขตของท่าเรือโบราณในช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา
.
ต่อมาด้วยเหตุใดมิอาจทราบได้แน่ชัด จึงเกิดการร้างของผู้คน จนทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นป่ารก เหมาะแก่การธุดงค์ของเหล่าพระภิกษุสงฆ์และนักปฏิบัติธรรม จนกระทั่งปีใน พ.ศ. ๒๔๕๙ หลวงพ่อนาค (พระครูอานนท์สิกขากิจ) ได้เข้ามาจัดสร้างเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมขึ้น
.
ถัดจากนั้นอีก ๑๐ ปี หลวงพ่อหมื่นแผ้ว ได้เดินทางมาจากสถานที่อื่น และเข้ามาจำพรรษา พร้อมทั้งชักชวนชาวบ้านให้ช่วยกันหักร้างถางพงบริเวณริมคลองบ้านหัวสะพาน (คลองวัดขนาน) เพื่อก่อสร้างเป็นวัดหนาน (วัดขนาน) ขึ้น ตลอดจนได้สร้างโรงเรียนขึ้นอีกด้วย ซึ่งสถานที่ดังกล่าวในปัจจุบันชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดเก่า โรงเรียนเก่า”
.
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ หลวงพ่อรื่นได้เข้ามาจำพรรษาปฏิบัติธรรม และชอบพอสถานที่ทางด้านทิศตะวันออกของสถานที่ตั้งโรงเรียนวัดหนานเก่า ซึ่งเป็นที่เนินสูงและเป็นสถานที่สถิตของเทวดาหนานนุ้ย โดยทางด้านทิศตะวันออกของเนินสูงมีลักษณะเป็นตาน้ำซึ่งผุดขึ้นมาจากหินหนาน และมีความแรงของน้ำตลอดทั้งปี
.
ถัดจากนั้นก็ได้มีพระภิกษุสงฆ์หลายรูปเข้ามาจำพรรษา ได้แก่ หลวงพ่อเลื่อน ศรีสุขใส (พระครูไพศาลธรรมโสภณ) หลวงพ่อแสง ชูชาติ อดีตพระภิกษุสงฆ์แห่งวัดภูเขาหลัก หลวงพ่อส้วง ดาวกระจาย หลวงพ่อเริ่ม แสงระวี หลวงสวาท อโสโก ผู้สร้างโรงธรรมไม้หลังเก่า พระสมุห์ประสิทธ์ จิตตฺโสภโณ ตามลำดับ
.
และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ และได้เปลี่ยนชื่อจากวัดหนานมาเป็นวัดขนาน
.
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทางวัดขนานได้อนุญาตให้โรงเรียนทุ่งใหญ่เฉลิมราชอนุสรณ์ รัชมังคลาภิเษก ใช้พื้นที่ทางด้านทิศเหนือเป็นโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาคู่วัดคู่บ้านตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ส่วนเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน คือ พระครูพิศาลเขตคณารักษ์
.

๓. ความเชื่อและมุขปาฐะ

ผู้คนซึ่งอยู่อาศัยในบริเวณหินหนานล้วนมีความเชื่อที่สืบต่อกันมาในเรื่องของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกกันว่า “เทวดาหนาน” ชาวบ้านเชื่อกันว่าเทวดาหนาน คือ ผู้พิทักษ์รักษาประจำท้องถิ่น จึงได้สร้างศาลเคารพบูชา โดยแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือ

เทวดาหนานใหญ่

ตั้งอยู่ใกล้กับถนนสายหลักหมายเลข ๔๑

เทวดาหนานนุ้ย

ตั้งอยู่ใกล้กับวัดขนาน ทางด้านทิศตะวันตก

เทวดาหนานรูป

ซึ่งพบภาพสลักข้างต้น แต่หนานรูปไม่ได้มีการสร้างศาลเคารพ เนื่องจากชาวบ้านเชื่อกันว่าภาพสลักนั้นคือหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และเคยมีร่างทรงประทับเป็นสื่อแทนเทวดาหนานรูป เพื่อบ่งบอกว่าหากมีเรื่องบนบานสานกล่าวสามารถบนบานตนเองได้ แต่หากจะเชิญไปด้วยไกล ๆ นั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะตนต้องอยู่พิทักษ์ทรัพย์สมบัติ ณ ที่แห่งนี้
.
ความศักดิ์สิทธิ์ของเทวดาหนานทั้งสามถูกเล่าต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยความเชื่อหนึ่งเล่าว่า หากสัตว์เลี้ยงเกิดล้มป่วย หรือผู้คนปรารถนาสิ่งอื่นใดในทางที่ดีเป็นประโยชน์ก็ให้บนถึงเทวดาหนาน ไม่นานสัตว์เลี้ยงเหล่านั้นก็จะหายเป็นปลิดทิ้ง และผู้คนก็มักจะสมหวังตามปรารถนา แต่หากผู้ใดลบหลู่ดูหมิ่น จะได้รับการลงโทษจนต้องรีบทำพิธีขอขมาเป็นการใหญ่
.
นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีความเชื่อเรื่องพญานาค (งูใหญ่) เพราะถือว่าเป็นยานพาหนะของเทวดา และเนื่องด้วยลักษณะที่เป็นแอ่งหินและโพรงถ้ำขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นที่รองรับน้ำ จึงช่วยเสริมความเชื่อเรื่องที่อยู่อาศัยของพญานาคมากยิ่งขึ้น โดยเชื่อกันว่าพญานาคจะโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำในบางครั้งบางครา และปรากฏแก่สายตามผู้มีบุญญาธิการ
.
นอกจากนั้นเรื่องพญานาคยังคงปรากฏให้เห็นในนิทานพื้นบ้านเรื่อง “พระลอตามไก่” แต่เอ๊ะ ! นี่มันคือนิทานพื้นบ้านของเมืองแพร่ ซึ่งเราเคยร่ำเคยเรียนกันมา แต่เหตุไฉนจึงมาปรากฏ ณ ที่แห่งนี้
.
ไม่แน่ชัดว่าพระลอตามไก่ของทุ่งใหญ่มีที่มาที่ไปเช่นไร แต่สันนิษฐานว่าคงได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากคนภาคเหนือหรือลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้เข้ามาอาศัยอยู่ในช่วงสมัยอยุธยา (อาจจะถูกกวาดต้อนหรืออพยพเข้ามาเองก็มิอาจทราบได้) ส่วนเรื่องราวของพระลอตามไก่ฉบับทุ่งใหญ่ จะมีความแตกต่างกับของเมืองสรองอย่างชัดเจน ดังมีเรื่องราวดังต่อไปนี้
.
“พระลออาศัยอยู่บริเวณพื้นที่ของหินหนาน พระองค์มียศเป็นพระยา ชอบเลี้ยงไก่ป่าเป็นกิจวัตรประจำวัน อยู่มาวันหนึ่งท่านได้ออกล่าไก่ป่า โดยใช้วิธีการต่อไก่ให้มาติดกับดักสำหรับจับไก่ป่า และได้แอบซ่อนตัวอยู่ใกล้ ๆ เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง ซึ่งยังไม่ท่าที่ที่ไก่ป่าจะผ่านมา ก็ปรากฏว่าได้มีมูสัง เข้ามาหมายจะกินไก่เป็นอาหาร พระลอเห็นดังนั้นก็โกรธมาก จึงหยิบเอาไม้ทัง (ไม้ลำทัง ) ขว้างไปถูกมูสัง จนทำให้มันชักดิ้นกระเสือกกระสนด้วยความเจ็บปวด ซึ่งการดิ้นของมูสังในครั้งนั้นทำให้ป่าแถบนั้นเตียนโล่งเป็นเนื้อที่กว้างขวางกลายเป็นทุ่งนา เรียกกันว่า ทุ่งสัง
.
ส่วนไม้ทังนั้นได้กระเด็นกระดอนออกไปจนกลายเป็นภูเขา เรียกว่า เขาลำทัง ส่วนเจ้าตัวมูสังที่ตายได้กลายมาเป็นเขา(มู)สัง และไก่ต่อของพระยาลอซึ่งผูกติดอยู่กับหลัก ก็ตายและกลายเป็นภูเขาเรียกว่า เขาหลัก ตามตำนานเล่าขานสืบต่อกันมา”
.

๔. ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต

จากความเชื่อความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ท้องถิ่นในข้างต้น ทำให้ผู้คนรู้สึกผูกพันและเคารพนอบน้อมโดยผ่านการแสดงออกเชิงพฤติกรรม และพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น การทำพิธีขอขมาเทวดาหนาน การสร้างศาลเคารพบูชา การทำพิธีบนบานสานกล่าวและแก้บนเทวดา เป็นต้น
.
อีกทั้งการเลี้ยงไก่แจ้ของชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังสอดคล้องกับนิทานพื้นบ้านเรื่องพระลอตามไก่อีกด้วย ถึงแม้การเลี้ยงไก่เหล่านี้อาจจะเข้ามาภายหลังก็ตาม แต่ทว่าไก่แจ้ก็ได้กลายเป็นอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นทุ่งใหญ่ไปเสียแล้ว
.
นอกจากนี้ในพื้นที่ของตำบลทุ่งใหญ่ยังได้มีประเพณีอีกอย่างหนึ่งซึ่งมีลักษณะเฉพาะถิ่น คือ ประเพณีแห่จาดสารทเดือนสิบ ซึ่งมีความแตกต่างจากประเพณีสารทเดือนสิบที่อื่นตรงที่ชาวบ้านจะนำไม้มาประกอบกันให้มีลักษณะเหมือนบ้านหรือปราสาท โดยขึ้นโครงด้วยไม้เนื้ออ่อนน้ำหนักเบา ประดับประดาด้วยกระดาษสีที่แกะเป็นลวดลายต่างๆสลับกัน ตกแต่งด้วยดอกไม้ประดิษฐ์หลากสีหลายรูปแบบ ส่วนพื้นที่ภายในจาดจะมีที่ว่างไว้สำหรับใส่ของเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เช่น ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมบ้า ขนมกง (ขนมไข่ปลา) รวมทั้งผลไม้ตามฤดู และข้าวสารอาหารแห้งทั้งหลาย ไม่เว้นแม้แต่เงิน
.
ซึ่งการทำจาดมิได้มีเพียงพื้นที่ของตำบลทุ่งใหญ่เท่านั้น หากแต่สามารถพบได้ทั่วไปในเขตอำเภอทุ่งใหญ่ อำเภอฉวาง และอำเภอใกล้เคียง ตลอดจนพื้นที่ของจังหวัดกระบี่ ซึ่งบางแห่งก็อ้างว่าต้นฉบับความคิดเรื่องการทำจาดมาจากพื้นที่ของตน ซึ่งนั้นมิใช่สิ่งสำคัญเลย เพราะวัฒนธรรมมันสามารถถ่ายทอดและผสมผสานจนกลายมาเป็นวัฒนธรรมร่วมกันได้ ความภูมิใจและความร่วมไม่ร่วมมือเพื่อร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามเหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญกว่า
.

๕. แนวทางในการอนุรักษ์

ข้อเสนอแนะในการอนุรักษ์เป็นแนวทางสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ และชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระผมได้ลองนั่งใคร่ครวญและพิจารณาถึงหนทางซึ่งจะนำไปสู่การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นในอนาคต ๔ ประการ ดังนี้
.

ประการแรก

คงต้องเริ่มจาก “การศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูล” ให้เยอะ (มากกว่าบทความนี้) โดยข้อมูลที่ได้อาจมาจากเอกสารหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร คำบอกเล่า หรือหลักฐานทางโบราณคดี แต่ก็ต้องไม่ลืมวิเคราะห์และประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐานด้วย
.

ประการที่สอง

“เผยแพร่ข้อมูล” การเผยแพร่ข้อมูลเป็นการนำเสนอเรื่องราวให้บุคคลภายนอกได้รับทราบ และป้องกันการสูญหายของข้อมูลเชิงลายลักษณ์อักษร โดยในปัจจุบันเราสามารถเลือกนำเสนอข้อมูลได้หลากรูปแบบหลายช่องทาง เช่น บทความ หนังสือเล่มเล็ก Videos แผนที่ โมเดลจำลอง เป็นต้น
.

ประการที่สาม

“ปรับปรุงพื้นที่และสร้างแหล่งเรียนรู้” พื้นที่บางพื้นที่เหมาะแก่การปรับปรุงทัศนียภาพโดยรอบ และสร้างเป็นศูนย์การเรียนรู้ขนาดเล็ก เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นในพื้นที่ และให้ความรู้แก่บุคคลภายนอก อีกทั้งยังสามารถรองรับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ได้ในอนาคต
.

ประการที่สุดท้าย

“สร้างเยาวชนผู้สืบสาน” การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และสืบสานที่สำคัญลำดับต้น ๆ คือ การสร้างเยาวชนผู้สืบสานขึ้นมา เสมือนมัคคุเทศก์น้อยในพื้นที่ ซึ่งอาจจะรวมตัวกันในรูปแบบของชมรม องค์กร หรือคณะอื่นใด เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ และเป็นสื่อกลางระหว่างชุมชนกับบุคคลภายนอก โดยใช้วิธีการถ่ายทอดชุดความรู้ของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นให้แก่บุคคลที่สนใจผ่านช่องทางต่าง ๆ
.
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการดำเนินการดังกล่าวไว้ข้างต้นจะสำเร็จได้นั้น คงต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชน ผู้นำทางศาสนา หน่วยงานรัฐในท้องถิ่น เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร หน่วยงานรัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนชาวบ้านและเยาวชนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์และสืบสานประวัติศาสตร์ของตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราชในอนาคตอย่างยั่งยืน
ภาพจากปก : เพจสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช

ชมรายการ Live สด  “รวมเรื่องเมืองนคร” ได้ทุกวันพฤหัสบดี เวลา ๑๙.๓๐-๒๐.๓๐ น. ได้ที่นี่

*****************************************

ร่วมสนับสนุนผลิตสื่อ “สร้างรายได้ชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว” ติดต่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ 092-6565-298 คุณ เกียรติ