ตลาดท่าชี ที่ถูกชาวนครเรียกใหม่ว่า “ถนนตักบาตร”

“นครมีท่า-ตรังมีนา-สงขลามีบ่อ” สำนวนโบราณที่บอกเล่าความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งทรัพยากรธรรมชาติบนผืนแผ่นดินภาคใต้ฝั่งตะวันออกนี้ เป็นเครื่องชี้ชัดว่า “เรื่องปากท้อง” ของผู้คน เป็นหลักเกณฑ์สำคัญในการเลือกทำเลที่ตั้งเพื่อสร้างบ้านแปงเมือง ดังประกอบเข้ากับอีกสำนวนว่า “แค่บ่อ แค่ท่า แค่นา แค่วัด”

ท่าชี เป็นหนึ่งในหลายท่าน้ำที่ยังคงปรากฏชื่ออยู่ในปัจจุบัน แต่อาจเป็นเพียง ‘ท่า’ เดียว ที่หลงเหลือกลิ่นอายความเป็นอารยชนของเมืองนครศรีธรรมราช

ปัจจุบันแม้จะไม่มีร่องรอยความเป็นท่าน้ำแล้ว แต่ท่าชีก็ฝ่ากระแสโลกาภิวัตน์ประหนึ่งไม้ใหญ่ที่หยั่งรากลึกลงยืนต้นต้านลมแรง แม้โลกเปลี่ยนแปลงแต่นัยยะสำคัญของท่าชียังไม่เคยเปลี่ยนไป

ท่าชี แวดล้อมไปด้วยแหล่งโบราณสถานสำคัญ ซึ่งหากลำดับตามคติความเชื่อแล้วอาจถือได้ว่าเป็น ‘ใจเมือง’ ในชั้นแรกๆ ด้วยว่ามี ‘สถานพระเสื้อเมือง’ เป็นที่เคารพสักการะในฐานะเทวดาอารักษ์ ‘เสื้อ’ ภาษาโบราณแปลว่า ‘ผี’ พระเสื้อเมืองจึงหมายถึง ‘ผีบ้าน ผีเมือง’ ซึ่ง ‘ผี’ ในที่นี้ ดั้งเดิมมีความหมายเดียวกับ ‘เทวดา’

การนับถือผีนี้ เป็นความเชื่อแรกสุดของมนุษยชาติ เป็นระบบความคิดที่นักวิชาการหลายท่านยอมรับว่าเป็น ‘ศาสนา’ ของคนพื้นถิ่นก่อนรับศาสนาพราหมณ์-ฮินดูรวมถึงพระพุทธศาสนา ดังนั้น การเป็นสถานที่ที่มีการเคารพนับถือด้วยคติความเชื่อดั้งเดิม จึงอาจเชื่อได้ว่าต้องมีความสัมพันธ์กับความเป็นพื้นถิ่นก่อนการสถาปนาเมืองนครศรีธรรมราชในฐานะเมืองแห่งพระพุทธศาสนาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ท่าชี ยังมีแหล่งโบราณสถานสำคัญที่เนื่องในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย คือ “ฐานพระสยมภูวนาถ” กรมศิลปากรกำหนดอายุสมัยอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ สันนิษฐานว่าละแวกดังกล่าว เคยเป็นแหล่งชุมชนพราหมณ์ดั้งเดิม โดยมีฐานพระสยมฯ เป็นเทวาลัยประกอบศาสนกิจ ปัจจุบันเป็นแหล่งโบราณสถานที่ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๙

การเป็นชุมชนพราหมณ์ดั้งเดิมแต่โบราณนี้เอง เป็นที่มาของชื่อ ‘ท่าชี’ ด้วยว่า ‘ชี’ คำนี้ มาจาก ‘ชีพราหมณ์’ ผู้ถือพรตบวชในศาสนาพราหมณ์นั่นเอง

เดี๋ยวนี้ ท่าชีเป็นที่รู้จักกันในนาม ‘ตลาดท่าชี’ การเปลี่ยนรูปจากชุมชนศูนย์กลางทางศาสนาพราหมณ์มาเป็นชุมชนการค้าท้องถิ่น ไม่ได้ทำให้กลิ่นอายความเป็นท่าชีสูญสิ้นไป เพราะทุกเช้า เรายังสามารถเห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่ทยอยกันเดินทางไปทำบุญตักบาตร สักการะขอพรพระเสื้อเมือง และบูชาพระสยมภูวนาถกันไม่ขาดสาย

ท่าชี จึงอาจเป็นภาพโดยย่อของคติไทยได้อย่างดี เพราะภายในสถานที่เดียวสามารถเห็นความสัมพันธ์กันของระบบความเชื่อทั้งศาสนาผี พราหมณ์ และพุทธฯ

ขนมจีนดารา ชื่อนี้มีอะไรมากกว่าฉายาในวงการ

ขนมจีนดารา

เรื่องอาหารการกิน คงเป็นคำถามแรกๆ ของนักท่องเที่ยวเมื่อตัดสินใจเดินทางไปในสถานที่ต่าง ๆ หลายคนมองหาร้านที่เป็น Signature ของสถานที่นั้น ๆ ในขณะที่อีกหลายคนต้องการจะเข้าถึงในระดับ Local การมาเยือนนครศรีธรรมราชของสมาชิกครอบครัว Nakhonsistation.com ในวันนี้ เราขอเสนออาหารท้องถิ่น ร้าน Original สัญชาตินครศรีธรรมราชแท้ ๆ แถมยังมีชื่อสะดุดตาสะกิดใจอย่างร้าน “ขนมจีนดารา”

ขนมจีนดารา ชื่อนี้มีอะไรมากกว่าฉายาในวงการ

หลายคนอาจคิดว่า เจ้าของร้านคงเป็นดารา หรือไม่ก็ต้องมีคนในวงการบันเทิงมาเกี่ยวข้องกับร้านนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เฉลยไว้เลยว่าไม่เกี่ยวอะไรกับคนในวงการทั้งนั้น เพราะ “ดารา” เป็นชื่อของเจ้าของร้าน

พี่ดารา เจ้าของร้านขนมจีนดารา
ย่านถนนท่าชี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

“ขนมจีนดารา” เปิดกิจการอยู่ในเรือนหลังคากระเบื้องโบราณทรงปั้นหยา ๒ ชั้น ย่านถนนท่าชี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้กลิ่นอายความเป็นพื้นถิ่นปักษ์ใต้ทั้งร้านซึ่งก็คือที่เดียวกันกับที่ “พี่ดารา” ใช้เป็นบ้าน ร้านเปิดตั้งแต่ ๖ โมงเช้าเรื่อยไปจนถึงบ่ายแก่ๆ จนกว่าเส้นขนมจีนหรือน้ำแกงจะหมด ที่นี่ถือเป็นจุดนัดพบของนักเลงขนมจีนในท้องที่ ซึ่งจะใช้เวลาหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจตักบาตร หรือจับจ่ายซื้อของที่ตลาดท่าชีมารองท้องก่อนอาหารมื้อหลัก

“ขนมจีน” และ “ผักเหนาะ” คำมอญในภาษาถิ่นใต้

“ขนมจีน” ไม่มีในประเทศจีน นั่นก็เพราะคำว่า “จีน” ไม่ได้หมายถึงชื่อประเทศ แต่มาจากคำในภาษามอญว่า “จิน” แปลว่า “สุก” ส่วน “ขนม” ก็มาจากคำว่า “คนอม” แปลว่า จับเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นที่มาให้ บำรุง คำเอก จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สันนิษฐานว่าขนมจีนนั้น เดิมเป็นอาหารของชาวมอญ ซึ่งก็มาประจวบเหมาะกับที่เมืองนครศรีธรรมราชในอดีตเป็นเมืองสิบสองชาติสิบสองภาษา มีชุมชนนานาชาติตั้งรกรากกระจายตัวรอบเขตเมือง ทั้งตลาดแขก คลองลาว บ้านท่าจาม และที่ตรงตัวสุดเห็นจะเป็น “ท่ามอญ” ถัดลงไปจากคลองท่าวังตรงที่เป็น “วัดศรีทวี” เดี๋ยวนี้

ขนมจีน ที่มาจาก “คนอม” และ “จิน” ในภาษามอญ

ขนมจีนไม่ได้มีเฉพาะปักษ์ใต้ แต่เป็นวัฒนธรรมร่วมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเภทอาหาร แต่ที่มาขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักในนครศรีธรรมราชอาจด้วยเพราะเอกลักษณ์ของ “น้ำแกง” ที่หลายคนคงคุ้นหูว่า “น้ำยา” นั้น ให้รสชาติจัดจ้าน เด็ด ดี ด้วยเครื่องเทศพื้นถิ่น เฉพาะขนมจีนดารามีน้ำแกงให้เลือก ๓ อย่าง ๓ Levels ความเผ็ด

“น้ำพริก” เผ็ดน้อย หลายคนอาจรู้จักกันในชื่อ “น้ำพริกหวาน”
“น้ำทิ” เผ็ดกลาง น้ำทิ คือน้ำแกงเนื้อปลาป่นใส่กะทิ
“น้ำเผ็ด” เผ็ดมาก คือน้ำแกงปลาป่นไม่ใส่กะทิ น้ำเผ็ดนี้ เด็กๆ หรือใครๆ ที่ชอบความหอมของน้ำแกงแต่ไม่สันทัดในความเผ็ด สามารถสั่งเป็น “น้ำใส” ได้ พี่ดาราก็จะช้อนเอาเฉพาะความใสด้านบนราดลงจนฉ่ำเส้น เหยาะน้ำปลานิดหน่อย หอมอร่อยอย่าบอกใครเลยทีเดียว

น้ำพริก” = “เผ็ดน้อย”
“น้ำทิ” = “เผ็ดกลาง”
“น้ำเผ็ด” = “เผ็ดมาก”

มาถึงสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการทานขนมจีน นั่นคือ “ผักเหนาะ” คำนี้ก็เช่นกันที่มาจากคำว่า “กะน่อบ” ในภาษามอญ ให้ความหมายเดียวกันกับผักจิ้มหรือผักแนม ซ้ำ Admin อาโด๊ด จากเพจ รามัญคดี – MON Studies ยังให้ความเห็นว่านอกจากคำที่ยืมมาแล้ว ร้านอาหารใต้ของไทยและใต้ของพม่าแถบเมาะลำเลิง (มะละแหม่ง) รี (เย) ย่างกุ้ง หงสาวดี ซึ่งก็คืออาณาจักรมอญเดิม เมื่อเข้าไปนั่งปุ๊บ บนโต๊ะจะมีผักจิ้มหรือผักเหนาะให้ลูกค้าแบบเติมฟรีไม่อั้น จะต่างกันตรงที่ทางใต้ของไทยแกล้มน้ำพริกมะนาว แต่ทางใต้ของพม่าหรือเมืองมอญนั้นแกล้มปลาร้าอย่างเมื่อพันปีที่ผ่านมายังไงยังงั้น

ผักเหนาะร้านขนมจีนดารา

ผักเหนาะร้านขนมจีนดารา มีทั้งที่เป็นผักพื้นบ้านสดๆ อย่างสะตอเบา ยอดหมุย ยอดยาร่วง ใบแมงลัก ถั่ว แตงกวา มะเขือ ถั่วงอก ฯลฯ ที่อร่อยและแนะนำคือเมนูผักลวกอย่างผักบุ้งลวกกะทิ แนมด้วยไข่ต้ม ส่วนผักผักดองก็มีทั้งมะละกอดองน้ำส้มสายชู ผักกาดดอง ทั้งใครที่ยังเผ็ดไม่จุใจ ก็มีแกงพุงปลาแถมให้เติมเผ็ดกันได้ตามใจชอบ

ขนมหวานลบเผ็ดประจำการร้านขนมจีนดารา
ได้แก่ วุ้นดำ ขนมซั้ง และบวดคง

“ลบเผ็ด” กันด้วยขนมหวาน

เมนูล้างปาก หรือที่ชาวนครศรีธรรมราชเรียกกันว่า “ลบเผ็ด” ที่คอยถ้าประจำการอยู่หน้าร้านทุกวันได้แก่ “วุ้นดำ” “ขนมซั้ง” และ “บวดคง” แล้วเช็คบิลกันได้เลย ที่ร้านขนมจีนดารา เริ่มต้นที่จานละ ๒๐ บาททุกน้ำแกง ขนมจีนเปล่าจานละ ๑๐ บาท เท่ากับราคาขนมหวาน ส่วนถ้าใครอยากสั่งเป็นชุดยกกิโลกรัม ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ ๑๔๐ บาทพร้อมน้ำแกงครบชุด ผักเหนาะชุดใหญ่กันเลยทีเดียว